กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ตอนที่ 1) โดย ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ |
|
|
|
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ |
|
27 พฤศจิกายน 2548 22:52 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
1
|
2
|
|
บทที่ 2 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539
แนวความคิดเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถูกนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ดังที่ได้ทำการนำเสนอไปแล้วในบทที่ 1 แต่จากการศึกษากฎหมายทั้ง 3 ฉบับข้างต้นพบว่า กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มิได้มีการกำหนดรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจน จะมีก็แต่เพียงพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 เท่านั้นที่กำหนดรายละเอียดและขั้นตอนการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2539 จึงมีการจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ขึ้น ระเบียบฉบับนี้นับได้ว่าเป็นระเบียบฉบับแรกที่ได้กำหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ระเบียบฉบับนี้ได้นำแนวความคิดในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ และประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น มากำหนดไว้ นั่นก็คือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ (public hearing) การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนจนกระทั่งถึงกลางปี พ.ศ.2548 ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว จึงขอนำเสนอกระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ในบทนี้
2.1 ความเป็นมาของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539
การจัดทำประชาพิจารณ์ในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนชุมชนบ้านครัว อันเนื่องมาจากโครงการทางด่วนแยกอุรุพงษ์ - ราชดำริ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยชาวชุมชนบ้านครัวได้ร่วมกับชุมชนเพื่อนบ้านใกล้เคียงต่อสู้คัดค้านโครงการดังกล่าวมานานกว่า 4 ปี นักวิชาการ 2 คน คือ คุณแก้วสรร-คุณขวัญสรวง อติโพธิ เห็นว่า ควรจะหาเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่งมาระงับความขัดแย้งดังกล่าวก่อนที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น จึงเสนอให้มีการนำแนวคิด วิธีการและรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของต่างประเทศที่เรียกว่า public hearing มาใช้ระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว โดยชุมชนบ้านครัวตกลงที่จะใช้กลไกตามที่นักวิชาการทั้ง 2 ท่านเสนอมา จึงเสนอต่อ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งรับผิดชอบการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้ใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อพิจารณาถึงความสมประโยชน์และความจำเป็นของโครงการเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2536 โดยเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางขึ้นชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริง และให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยประกาศชี้แจงแผนงาน เอกสารข้อเท็จจริง พร้อมทั้งขอมีส่วนร่วมในการไต่ถามและเสนอพยานหลักฐานและข้อมูลโต้แย้ง ตลอดจนให้การดำเนินการดังกล่าวกระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน และเสนอผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือรัฐบาลตัดสินชี้ขาดอีกครั้ง โดยไม่ผูกพันตามความคิดเห็นของฝ่ายใด แต่ให้ชี้แจงเหตุผลอย่างชัดเจนและครบถ้วน หลังจากนั้น พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 243/2536 ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2536 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาประโยชน์ของถนนรวมและกระจายการจราจรต่อระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ขึ้น โดยคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย(27)
(1) ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ
(2) ดร.อัมมาร์ สยามวาลา กรรมการ
(3) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
(ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือผู้แทน) กรรมการ
(4) นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย
หรือผู้แทน กรรมการ
(5) ดร.ครรชิต ผิวนวล กรรมการ
(6) ผศ.ดร.นิพันธ์ วิเชียรน้อย กรรมการ
(7) ผศ.พรพจน์ สุขเกษม กรรมการ
(8) ผู้อำนวยการกองการข่าว กรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการชุดนี้ได้ใช้เวลาในการรับฟังความคิดเห็นประมาณ 2 เดือน มีการประชุมทั้งสิ้น 9 ครั้ง แบ่งเป็นการรับฟังข้อมูลและความเห็นเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชนโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนจำนวน 6 ครั้ง และประชุมเฉพาะคณะกรรมการเพื่อหาข้อสรุป และยกร่างรายงาน 3 ครั้ง ภายหลังการรับฟังความคิดเห็น คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้สรุปผลส่ง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2536 โดยคณะกรรมการมีมติชี้ขาดว่า โครงการดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์กับการจราจร และไม่เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังสร้างผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนบ้านครัว โดยภาระที่เกิดจะตกแก่ชุมชนบ้านครัวมากจนไม่เป็นธรรม แต่เงื่อนไขของโครงการนี้คือ หากรัฐบาลตัดสินใจไม่สร้างจะต้องเจรจาขอแก้ไขสัญญากับบริษัททางด่วนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) (BECL) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่รัฐทำสัญญาด้วยเสียก่อน จึงทำให้ฝ่ายการเมืองตัดสินใจใด ๆ ออกมา ในขณะที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่ยอมรับความเห็นของคณะกรรมการ โดยอ้างว่าข้อมูลที่คณะกรรมการนำมาพิจารณาเป็นข้อมูลเก่า จากข้อขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้ไม่สามารถหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าวได้ ทำให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นรอบที่ 2 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการชุดเดิม แต่ประธานคณะกรรมการได้ลาออก ดร.อัมมาร์ สยามวาลา ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่แทน ในการรับฟังความคิดเห็นในรอบที่ 2 นี้ คณะกรรมการได้ยืนยันในมติเดิมว่าควรยกเลิกโครงการ แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 ให้ก่อสร้างต่อไปได้ โดยเลี่ยงลงไปในคลองเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด(28) แม้ว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ รัฐบาลจะมีมติแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการก็ตาม แต่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ก็เป็นกลไกหนึ่งที่สามารถลดความขัดแย้งโดยสันติวิธีระหว่างภาครัฐกับประชาชนได้ ส่งผลให้กระบวนการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณชน หากพิจารณาถึงการดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ตามโครงการนี้แล้ว จะพบว่าเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีโดยที่มิได้มีกฎหมายหรือระเบียบใด ๆ รองรับเลย การจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ตามโครงการนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์มาใช้ในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลในขณะนั้นก็ได้ดำเนินการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ ระเบียบฉบับนี้มีที่มาจากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ในข้อ 1.8.2 ดังนี้
1.8 การมีส่วนร่วมของประชาชน
ฯลฯ ฯลฯ
1.8.2 ส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นในปัญหาสำคัญของชาติที่มี
ข้อโต้เถียงหลายฝ่ายโดยวิธีประชาพิจารณ์เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของรัฐในการดำเนินงาน
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงได้แต่งตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง โดยมีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธานกรรมการ มีนายโภคิน พลกุล เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 และ นายลิขิต ธีรเวคิน เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ
(1) จัดทำแผนพัฒนาการเมืองให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมทั้งเสนอแนวทางและวิธีการปฏิรูปการเมืองต่อคณะรัฐมนตรี
(2) พิจารณาแนวทางการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 211
(3) ตรวจสอบ รวบรวม ศึกษาวิเคราะห์กฎหมายที่ไม่สนองตอบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แล้วดำเนินการยกร่างหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกำหนดแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ให้สนองตอบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
เพื่อให้การดำเนินงานตาม (3) เป็นไปอย่างรอบคอบ และมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมือง โดยมีนายโภคิน พลกุล เป็นประธานอนุกรรมการ ฯ คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้ศึกษาเรื่องการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (public hearing) แล้วจึงจัดทำ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พ.ศ. .
ขึ้น โดยได้นำเสนอ คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง เพื่อพิจารณาซึ่งคณะกรรมปฏิรูปการเมืองพิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการเสนอมา จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ต่อมา คณะรัฐมนตรีก็ได้พิจารณาและอนุมัติหลักการร่างระเบียบดังกล่าว และมอบให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) ร่วมกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาในรายละเอียด ทั้งสองท่านได้พิจารณาร่างระเบียบและได้ปรับปรุงชื่อเสียใหม่เป็น ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.
. หลังจากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539(29) ระเบียบฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังการแสดงความคิดเห็นในปัญหาสำคัญของชาติที่มีข้อโต้เถียงหลายฝ่าย สำหรับเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของรัฐในการดำเนินงานอันมีผลกระทบต่อประชาชน(30)
ภายหลังการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 แล้ว ได้มีการดำเนินการเพื่อรองรับระเบียบดังกล่าวในเรื่องที่สำคัญ คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ และคณะทำงานเพื่อยกร่างหลักเกณฑ์แนวทางการปฏิบัติงานตามระเบียบ ตามที่ระเบียบดังกล่าวได้กำหนดไว้ในข้อ 4 ให้มี คณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกำหนดให้กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 4 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่น อีก 4 คน นั้น นายกรัฐมนตรี (นายบรรหาร ศิลปอาชา) ได้มีคำสั่งที่ 83/2539 ลงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2539 แต่งตั้งบุคคลดังต่อไปนี้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
(1) นายลิขิต ธีรเวคิน
(2) นายประณต นันทิยกุล
(3) นายเสรี วงษ์มณฑา
(4) คุณหญิงชดช้อย โสภณพานิช
หลังจากได้รับแต่งตั้งแล้ว คณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ได้มีคำสั่งที่ 1/2539 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2539 แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่งโดยมีนายสุธี สุทธิสมบูรณ์ เป็นประธานคณะทำงาน และมีรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์) กับคุณหญิงชดช้อย โสภณพานิช เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน เพื่อพิจารณายกร่างหลักเกณฑ์และแนวทางในการปฏิบัติงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการ
รับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 เพื่อเสนอคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์พิจารณา และคณะทำงานดังกล่าวได้จัดทำร่างประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ และหัวข้อการจัดทำคู่มือการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ ในการประชุมครั้งที่ 3/2539 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษา ฯ ได้พิจารณาแล้ว ได้มีมติมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ ฯ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศ และหัวข้อการจัดทำคู่มือ ฯ ไปให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องพิจารณาและเสนอข้อคิดเห็นเพื่อนำมาประมวลข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงให้สมบูรณ์และชัดเจนยิ่งขึ้น(31) จนกระทั่งในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ ครั้งที่ 2/2540 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ได้มีมติที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ และเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2540 จึงได้ประกาศใช้บังคับประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว
2.2 การจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539(32)
การจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 มีสาระสำคัญดังนี้
2.2.1 เหตุที่จะจัดให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์
เรื่องที่จะจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์นั้น กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 7 ว่า การดำเนินงานตามโครงการของรัฐ(33) เรื่องใดซึ่งหน่วยงานของรัฐในสังกัดจัดให้มีขึ้น อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม อาชีพ ความปลอดภัย วิถีชีวิต หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนหรือสังคม และอาจนำไปสู่ขอโต้เถียงหลายฝ่าย อาจจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ได้
2.2.2 ช่วงเวลาในการจัดทำประชาพิจารณ์
การจัดทำประชาพิจารณ์อาจมีขึ้นได้ในหลาย ๆ ช่วงระยะเวลา กล่าวคือ ในระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการของรัฐ การพิจารณาทางเลือกอื่นที่เหมาะสม การศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ หรือในระหว่างขั้นตอนใดก็ได้ก่อนที่รัฐจะตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการของรัฐ นอกจากนี้ การจัดทำประชาพิจารณ์จะไม่กระทบกระเทือนต่อการที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการอื่นไปพลางเท่าที่จำเป็น แต่จะตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการของรัฐก่อนที่คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะรายงานและแจ้งผลให้รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี ทราบมิได้ เว้นแต่จะเป็นการตัดสินใจโดยมติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นกรณีที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายหรือพันธะกรณีระหว่างประเทศ หรือหากล่าช้าจะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติหรือประชาชน(34)
2.2.3 คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำประชาพิจารณ์
ระเบียบฉบับนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ และคณะกรรมการประชาพิจารณ์
2.2.3.1 คณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์(35) ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ประธานกรรมการ) ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสี่คน และผู้ที่ไม่เป็นข้าราชการ สมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น สมาชิกหรือเจ้าหน้าที่หรือที่ปรึกษาพรรคการเมืองอีกสองคน รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (กรรมการและเลขานุการ) โดยคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้ คือ
(ก) กำกับดูแลการรับฟังความคิดเห็นให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการทำประชาพิจารณ์
(ข) วินิจฉัยหรือตอบข้อหารือตามที่กำหนดในระเบียบ
(ค) จัดทำรายงานประจำปีสรุปการทำประชาพิจารณ์ตามที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการประชาพิจารณ์ พร้อมข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะเสนอคณะรัฐมนตรีปีละครั้ง
2.2.3.2 คณะกรรมการประชาพิจารณ์
เมื่อมีการจัดทำประชาพิจารณ์โครงการใด รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ของโครงการนั้นขึ้นเพื่อทำหน้าที่จัดประชาพิจารณ์โครงการนั้น ๆ โดยคณะกรรมการประชาพิจารณ์ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสามคน โดยประธานกรรมการและกรรมการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการของรัฐในเรื่องนั้น กรรมการอย่างน้อยหนึ่งในสามให้ตั้งจากผู้ที่มิได้เป็นข้าราชการ สมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะเป็นผู้ควบคุม และดำเนินการจัดประชาพิจารณ์โครงการที่ได้รับแต่งตั้งจนแล้วเสร็จ โดยคณะกรรมการประชาพิจารณ์มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้(38) คือ
(ก) กำหนดสถานที่และเวลาในการจัดทำประชาพิจารณ์
(ข) ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ
(ค) ประกาศให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้แทนหน่วยงานของรัฐตลอดจนผู้ชำนาญการมาลงทะเบียนภายในเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ในกรณีจำเป็นให้แต่งตั้งที่ปรึกษาได้
(ง) นัดวันประชุมครั้งแรกโดยแจ้งให้ผู้ลงทะเบียนทราบ
(จ) นัดวันประชุมครั้งแรกเพื่อกำหนดประเด็นประชาพิจารณ์
และปิดประกาศประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งวัน เวลาที่จะประชุมครั้งต่อ ๆ ไปให้ประชาชนทราบ
(ฉ) ให้ผู้แทนหน่วยงานของรัฐแถลงข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับโครงการของรัฐก่อน แล้วจึงให้ผู้ชำนาญการหรือที่ปรึกษาแถลง ต่อด้วยผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเสร็จสิ้นแล้วคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะกำหนดให้ฝ่ายใดแถลงชี้แจงหรือซักถามก่อนหลังก็ได้และจะเปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นด้วยก็ได้
(ช) ทำรายงานเสนอต่อผู้สั่งให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์
2.2.4 ผู้ริเริ่มให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์
การจัดประชาพิจารณ์เกิดขึ้นได้จาก 3 กรณี คือ
2.2.4.1 ผู้มีอำนาจในหน่วยงานนั้น ๆ เมื่อรัฐมนตรีสำหรับราชการบริหารส่วนกลาง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับราชการบริหารส่วนภูมิภาคหรือราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับราชการของกรุงเทพมหานคร เห็นว่าการดำเนินงานตามโครงการของรัฐเรื่องใดซึ่งหน่วยงานของรัฐในสังกัดจัดให้มีขึ้น อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม อาชีพ ความปลอดภัย วิถีชีวิต หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนหรือสังคม และอาจนำไปสู่ข้อโต้เถียงหลายฝ่าย สมควรรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานของรัฐและบุคคลอื่น ๆ เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของรัฐ ผู้มีอำนาจดังกล่าวไปแล้วอาจสั่งให้มีประชาพิจารณ์ได้(39)
2.2.4.2 ผู้มีส่วนได้เสีย การจัดประชาพิจารณ์ตามกรณีที่สองนี้จะเกิดขึ้นเนื่องจากที่ผู้มีส่วนได้เสียเห็นว่า โครงการของรัฐเรื่องใดหากดำเนินการไปแล้วอาจมีผลกระทบเช่นเดียวกับกรณีแรก และประสงค์จะให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะต้องจัดทำหนังสือไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการเพื่อสอบถามหรือขอคำชี้แจง หากหน่วยงานของรัฐมิได้ตอบหรือชี้แจงเป็นหนังสือภายใน 30 วัน หรือหน่วยงานของรัฐตอบหรือชี้แจงแล้ว แต่ผู้มีส่วนได้เสียยังไม่พอใจและประสงค์จะโต้แย้งหรือคัดค้านการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวบางส่วนหรือทั้งหมด ก็สามารถยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อรัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เพื่อขอให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ จากนั้นผู้มีอำนาจในหน่วยงานนั้น ๆ จะพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวสมควรที่จะจัดให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์หรือไม่ หากกรณีที่เสนอมาเป็นกรณีที่อาจมีผลกระทบเช่นเดียวกับกรณีที่หนึ่ง ซึ่งยังไม่เคยมีการจัดทำประชาพิจารณ์ในประเด็นดังกล่าวมาก่อน และการจัดทำประชาพิจารณ์จะเป็นประโยชน์ต่อการประชาสัมพันธ์ การตรวจสอบเหตุผลและความจำเป็นหรือการแก้ปัญหาในการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ ก็อาจสั่งให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ได้(40)
2.2.4.3 หน่วยงานของรัฐ เห็นควรให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ หากหน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่าการจัดให้มีประชาพิจารณ์จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ ก็สามารถเสนอความเห็นต่อผู้มีอำนาจในหน่วยงาน ซึ่งก็คือรัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เพื่อกลั่นกรองหรือตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วสั่งให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ ในกรณีที่เห็นสมควรได้(41)
2.2.5 กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์
การจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนก่อนวันจัดทำประชาพิจารณ์ ขั้นตอนในวันจัดทำประชาพิจารณ์ และขั้นตอนภายหลังการจัดทำประชาพิจารณ์
2.2.5.1 การดำเนินการก่อนวันจัดทำประชาพิจารณ์
เมื่อผู้มีอำนาจซึ่งก็คือ รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสั่งให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์แล้วก็จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์โครงการนั้น ๆ ขึ้น เพื่อที่คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะได้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ กำหนดสถานที่ และเวลาในการจัดทำประชาพิจารณ์ โดยก่อนที่จะจัดทำประชาพิจารณ์นั้น คณะกรรมการประชาพิจารณ์ต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการของรัฐที่จะจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ และประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียที่ประสงค์จะเสนอความเห็นและผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนผู้ชำนาญการมาลงทะเบียนไว้กับคณะกรรมการประชาพิจารณ์ภายในเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน รวมทั้งนัดวันประชุมครั้งแรกให้บรรดาผู้ลงทะเบียนได้ทราบ(42)
นอกจากนี้ ตามประกาศของคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องการประชาสัมพันธ์การจัดทำประชาพิจารณ์ไว้ โดยมีสาระสำคัญคือ(43) ในการประชาสัมพันธ์การจัดทำประชาพิจารณ์ให้คณะกรรมการประชาพิจารณ์ดำเนินการเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลในเรื่องที่จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ โดยการปิดประกาศล่วงหน้าก่อนวันลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 30 วัน นอกจากจะต้องมีการประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ในท้องที่ที่จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ รวมทั้ง
โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันของท้องถิ่นก่อนการลงทะเบียนจัดทำประชาพิจารณ์อย่างน้อย 7 วัน เมื่อมีการลงทะเบียนแล้ว คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะต้องแจ้งให้ผู้ลงทะเบียนทราบถึงประเด็นที่จะประชาพิจารณ์ การแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ และช่วงเวลาของการประชาพิจารณ์ของกลุ่มต่าง ๆ หลังจากที่มีการลงทะเบียนแล้วไม่เกิน 7 วัน จากนั้นให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียแจ้งรายชื่อตัวแทนของกลุ่มต่อคณะกรรมการประชาพิจารณ์ภายใน 15 วัน นับจากวันลงทะเบียน รวมทั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ต้องรวบรวมเอกสารโครงการที่จะจัดให้มีการประชาพิจารณ์ และแจ้งนัดวันประชุมประชาพิจารณ์ให้ผู้ลงทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน นับจากวันลงทะเบียน
2.2.5.2 การดำเนินการในวันจัดทำประชาพิจารณ์
ในการจัดทำประชาพิจารณ์ ให้ประธานกรรมการประชาพิจารณ์เป็นประธานที่ประชุมในการจัดทำประชาพิจารณ์ โดยมีอำนาจควบคุมการประชุมประชาพิจารณ์ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 และตามประกาศของคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ ทั้งยังมีอำนาจขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดูแลความสงบเรียบร้อยในการประชาพิจารณ์ หากประธานไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการประชาพิจารณ์ที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในการประชาพิจารณ์
ในส่วนของวิธีการประชาพิจารณ์นั้น ในวันจัดทำประชาพิจารณ์ให้ประธานที่ประชุมประชาพิจารณ์ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมประชาพิจารณ์ตามลำดับดังนี้ คือ เริ่มจากให้ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐแถลงข้อเท็จจริงและความเห็น เกี่ยวกับโครงการตามประเด็นที่กำหนดไว้ แล้วจึงให้ ผู้ชำนาญการหรือที่ปรึกษาแถลง หลังจากนั้นจึงให้ ผู้มีส่วนได้เสียหรือตัวแทนของผู้มีส่วนได้เสียแถลง ตามประเด็นการประชาพิจารณ์ที่กำหนดไว้ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะกำหนดให้ฝ่ายใดแถลง ชี้แจง หรือซักถามก่อนหลังก็ได้ และอาจจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นด้วย โดยในการดำเนินการประชาพิจารณ์ คณะกรรมการประชาพิจารณ์ต้องคำนึงถึงข้อโต้เถียงของทุกฝ่าย ตลอดจนผลกระทบในด้านต่าง ๆ และให้ดำเนินการด้วยความยืดหยุ่น สุจริต และเป็นธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลประกอบการตัดสินใจของตนที่ชัดเจนและถูกต้อง ตรงตามหลักวิธีการและสภาพความเป็นจริงมากที่สุด หลังจากเสร็จสิ้นการประชาพิจารณ์แล้ว คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะจัดประชุมลงมติให้ประเด็นที่มีการประชาพิจารณ์(44)
2.2.5.3 การดำเนินการภายหลังการจัดทำประชาพิจารณ์
หลังจากที่คณะกรรมการประชาพิจารณ์ได้รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายเสร็จแล้ว จะต้องจัดทำรายงานประชาพิจารณ์ ภายใน 45 วัน นับแต่สิ้นสุดการประชุมประชาพิจารณ์ ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ซึ่งก็คือ รัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี อาจขยายระยะเวลาการจัดทำรายงานการประชาพิจารณ์ได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวอย่างน้อยต้องประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้ คือ
(ก) รายชื่อกรรมการ ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ
ผู้ชำนาญการ ที่ปรึกษา
(ข) ข้อเท็จจริงโดยสรุปเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่และการ
ประชุมประชาพิจารณ์
(ค) ความเป็นมาและรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการของรัฐ
(ง) ข้อโต้เถียงของทุกฝ่ายและประเด็นที่กำหนดให้ประชาพิจารณ์
(จ) ข้อสรุปหรือผลที่ได้จากประชาพิจารณ์ในด้านความ
เหมาะสม ผลกระทบ ทางเลือกอื่น ถ้าหากมี และข้อสังเกตในการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ(45)
เมื่อคณะกรรมการจัดทำรายงานประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะเสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี และส่งรายงานให้คณะกรรมการที่ปรึกษาด้วย(46) นอกจากนี้ให้เก็บรายงานประชาพิจารณ์ไว้ที่หน่วยงานของรัฐที่จัดให้มีประชาพิจารณ์อย่างน้อย 1 ชุด(47) ในส่วนของการเปิดเผยรายงานประชาพิจารณ์นั้น ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เห็นสมควรจะเปิดเผยรายงานที่ได้รับให้ประชาชนทราบก็ได้(48)
2.2.6 ค่าใช้จ่ายในการจัดทำประชาพิจารณ์
ในการจัดทำประชาพิจารณ์นั้น หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโครงการที่จัดให้มีการประชาพิจารณ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดจากการจัดทำประชาพิจารณ์ เช่น ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ การเตรียมเอกสาร เป็นต้น(49)
2.2.7 ผลของการจัดทำประชาพิจารณ์
หลังจากการจัดประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของโครงการจะต้องรับข้อสรุปและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชาพิจารณ์มาใช้(50) เป็นเพียงแนวทางหรือข้อมูลประกอบการพิจารณาและตัดสินใจในการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว แต่ ไม่มีผลผูกพันว่ารัฐต้องตัดสินใจตามผลที่ได้จากการจัดทำประชาพิจารณ์ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจะตัดสินใจดำเนินการตามผลที่ได้จากการประชาพิจารณ์หรือไม่ก็ได้
2.3 กรณีศึกษาการจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539
นับแต่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 มีผลใช้บังคับ ได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ในกิจการที่สำคัญ ๆ หลายเรื่องด้วยกัน ในที่นี้จะขอนำมาเสนอเป็นกรณีศึกษารวม 3 กรณีด้วยกัน คือ
2.3.1 กรณีศึกษาที่ 1 : การจัดทำประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.
. (51)
2.3.1.1 ความเป็นมา
ในปี พ.ศ. 2532 ในภาคเหนือได้มีการเคลื่อนไหวในเรื่องป่าชุมชนโดยเน้นให้คนอยู่กับป่าได้ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือนอกเขตป่าอนุรักษ์ โดยได้มีการจัดประชุมร่วมกันหลายครั้ง อาทิ การประชุม เวทีชาวบ้าน ทางออกในการจัดทำป่าชุมชน เมื่อวันที่ 13-14 กันยายน พ.ศ. 2534 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจากการประชุมดังกล่าวได้มีการสรุปความเห็นเป็นข้อเสนอแนะต่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.
. ซึ่งในขณะนั้นกรมป่าไม้กำลังยกร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.
. เพื่อให้สิทธิแก่ชุมชนในการจัดการป่าอย่างเหมาะสมเช่นกัน จึงทำให้การยกร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายและมีความเห็นแตกต่างกันไปในหลายประเด็น คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 จึงได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชะลอการนำเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีไว้ก่อนพร้อมกับมอบให้ คณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น (กนภ.) เร่งยกร่างกฎหมายเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วน ซึ่งได้มีการประชุมยกร่างกฎหมายที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7-9 เมษายน พ.ศ. 2539 โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเวศ วะสี เป็นประธาน พร้อมด้วยกลุ่มผู้แทนส่วนที่เกี่ยวข้องและได้มีการนำร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับหลักการในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2539 พร้อมมอบให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) รับไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียด แต่ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างจากองค์กรพัฒนาภาคเอกชนและกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติบางกลุ่มจึงได้มีการประชุมร่วมกันแล้วมีความเห็นว่า ควรจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์กรณีร่างกฎหมายว่าด้วยป่าชุมชนใน 3 ประเด็น แต่เนื่องจากขณะนั้น มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 อยู่แล้ว แต่คณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประชาพิจารณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) จึงได้มีการเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เพื่อขออนุมัติการจัดทำประชาพิจารณ์และมีมติเป็นการเฉพาะให้วางระเบียบปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการจัดทำประชาพิจารณ์กรณีกฎหมายป่าชุมชนดังนี้
(1) ให้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์กรณีกฎหมายป่าชุมชนในปัญหาสามประเด็น
(2) ให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) ร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์โดยพิจารณาจากบุคคลที่มีความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับป่าชุมชน ทรัพยากรป่าไม้ หรือปัญหาของบุคคลที่อาศัยอยู่ในป่า แต่ต้องไม่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของกรมป่าไม้ หรือผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตป่า ทั้งนี้โดยไม่อยู่ในบังคับของข้อ 12 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539
(3) ผู้มีส่วนได้เสียที่จะเสนอความคิดเห็นในการประชาพิจารณ์ ได้แก่ ผู้ดำเนินกิจการป่าชุมชน หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตป่า หรือนิติบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการป่าชุมชน หรือนิติบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ หรือนิติบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำกิจกรรมส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า หรืออาจารย์หรือผู้บรรยายในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือมีบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการประชาพิจารณ์เห็นสมควร
(4) ให้คณะกรรมการประชาพิจารณ์กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประชาพิจารณ์ การประชุมปรึกษา การซักถามผู้เสนอความคิดเห็น การลงมติ และการทำรายงานของคณะกรรมการประชาพิจารณ์ แต่ถ้าต่อมาคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประชาพิจารณ์ตามข้อ 17 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 และประสงค์จะให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการนั้น ก็ให้คณะกรรมการประชาพิจารณ์ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวด้วย
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) และ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 110/2539 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 แต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์
กรณีร่างกฎหมายป่าชุมชน โดยมีนายแก้วสรร อติโพธิ เป็นประธานกรรมการ แต่เนื่องจากในเวลาต่อมามีการยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงทำให้คณะกรรมการดังกล่าวได้สิ้นสภาพลงพร้อมกับรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา ต่อมาในสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัชชาคนจนได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอข้อเรียกร้องหลายเรื่อง รวมถึงกรณีร่างกฎหมายป่าชุมชนที่ได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์และนำร่างกฎหมายป่าชุมชนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็ว จนกระทั่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรอบการตกลงการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน จึงได้มีการนำร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.
. ฉบับที่คณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น (กนภ.) เป็นผู้ดำเนินการยกร่างและคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2540 มาดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์แล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อตราเป็นกฎหมายใช้บังคับโดยเร็ว
2.3.1.2 การแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์
นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 93/2540 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 แต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ กรณีร่างกฎหมายป่าชุมชน จำนวน 7 คน ประกอบด้วย
(1) นายมนตรี รูปสุวรรณ ประธานกรรมการ
(2) นายบุญวงค์ ไทยอุตส่าห์ กรรมการ
(3) นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กรรมการ
(4) นายมาร์ค ตามไท กรรมการ
(5) นายพูนศักดิ์ ไวสำรวจ กรรมการ
(6) นายสุนทร มณีสวัสดิ์ กรรมการ
(7) นายโสภณ สุภาพงษ์ กรรมการ
เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีประกาศของคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ คณะกรรมการประชาพิจารณ์จึงได้กำหนดแนวทางในการจัดทำประชาพิจารณ์ขึ้น คือ
(1) หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น (กนภ.) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานตอบข้อซักถามหรืออาจเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือกลุ่มองค์กรต่าง ๆ มาให้คำปรึกษาได้
(2) ข้อมูลข่าวสารที่จัดให้ ข้อมูลประกอบการชี้แจงของทุกฝ่ายให้ส่งมอบคณะกรรมการประชาพิจารณ์เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาและคณะกรรมการประชาพิจารณ์มีอำนาจขอให้ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐและคณะกรรมการอื่นที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารข้อมูล ชี้แจงข้อเท็จจริงและผลการดำเนินงาน
(3) ขั้นตอนการลงทะเบียน ผู้ประสงค์เข้าร่วมประชาพิจารณ์ให้ลงทะเบียนตามวัน เวลา และสถานที่ ตลอดจนวิธีการที่กำหนดโดยระบุประเด็นที่จะซักถาม ท้วงติงหรือเสนอแนะพร้อมวิธีการนำเสนอ เมื่อเสร็จสิ้นกำหนดลงทะเบียน คณะกรรมการประชาพิจารณ์ จะศึกษาคำขอทั้งหมดแล้วแบ่งเป็นประเด็นประชาพิจารณ์ แจ้งและประกาศกำหนดการให้ทราบต่อไป
(4) การดำเนินการประชาพิจารณ์ เป็นไปตามประเด็นที่กำหนดไว้ ผู้เข้าร่วมอาจต้องเข้าร่วมในหลายนัด พิจารณาตามประเด็นที่ตนแสดงความจำนงไว้ ตลอดกระบวนการนั้น การประชาพิจารณ์จะทำโดยเปิดเผย เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนถ่ายทอดหรือผู้สนใจใด ๆ เข้าฟังได้เสมอ รวมถึงระยะเวลาในการจัดทำประชาพิจารณ์ให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง
(5) คณะกรรมการประชาพิจารณ์ มีสิทธิที่จะซักถามหรือเชิญ
ผู้ทรงคุณวุฒิเข้าชี้แจงในกระบวนการได้ และคำชี้แจง คำถาม ข้อท้วงติง ข้อเสนอทุกประเด็นจะต้องรวบรวมไว้ในรายงาน การสรุปความเห็นของคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะต้องมาจากข้อความต่าง ๆ ในรายงานเท่านั้น จะนำความเห็นหรือข้อมูลนอกกระบวนการมาใช้มิได้
(6) การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี ยังคงมีอิสระที่จะเห็นเป็นอย่างอื่นซึ่งแตกต่างไปจากความเห็นของคณะกรรมการประชาพิจารณ์ได้ แต่ต้องวินิจฉัยในกรอบของประเด็นที่ปรากฏพร้อมทั้งให้เหตุผลด้วยเช่นกัน
2.3.1.3 การจัดทำประชาพิจารณ์
คณะกรรมการประชาพิจารณ์ ได้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.
. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล จำนวน 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2540
2.3.2 กรณีศึกษาที่ 2 : การจัดทำประชาพิจารณ์โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (หินกรูด) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์(52)
2.3.2.1 ความเป็นมา
ใน พ.ศ. 2535 รัฐบาลได้ประกาศนโยบายที่จะสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมกระแสไฟฟ้าเพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้เสนอให้ภาคเอกชนผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรีสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนการดำเนินโครงการรับซื้อกระแสไฟฟ้าดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 หลังจากนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2537 มีบริษัทยื่นข้อเสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพิจารณาจำนวน 32 ราย ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตกลงทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเอกชนตามโครงการตัวอย่างดังกล่าว 7 ราย แยกเป็นโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนในพื้นที่ชลบุรี 2 ราย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2 ราย จังหวัดระยอง 1 ราย จังหวัดสมุทรปราการ 1 ราย และจังหวัดราชบุรี 1 ราย
สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจำนวน 2 โครงการที่จะก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทเอกชน 2 บริษัท คือ
(1) บริษัทกัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) โดยมีพื้นที่ก่อสร้างบริเวณบ้านบ่อนอก ตำบลบ่อนอก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
(2) บริษัทยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (หินกรูด) โดยมีพื้นที่ก่อสร้างบริเวณบ้านโคกตาหอม ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (หินกรูด) นั้นถูกต่อต้านจากประชาชนเรื่อยมา จนกระทั่งประชาชนได้รวมตัวกันชุมนุมคัดค้านและปิดกั้นการจราจรบนถนนเพชรเกษม ในระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการและประชาชน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนที่เกิดจากโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2541 มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหารือร่วมกันจัดประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นร่วมกันให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) รับผิดชอบในการจัดประชาพิจารณ์ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539
2.3.2.2 การแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ได้มี
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 19/2542 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 แต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย
(1) ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ประธานกรรมการ
(2) ศาสตราจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ กรรมการ
(3) รองศาสตราจารย์ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ กรรมการ
(4) พลเรือเอกเกาะหลัก เจริญรุกข์ กรรมการ
(5) นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ กรรมการ
(6) นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กรรมการ
(7) ศาสตราจารย์พิชิต สกุลพราหมณ์ กรรมการ
(8) นายวิชช์ จีระแพทย์ กรรมการ
(9) นายวรินทร์ เทียมจรัส กรรมการ
(10) ศาสตราจารย์ ดร.สุจิต บุญบงการ กรรมการ
(11) นายอานุภาพ สุนอนันต์ กรรมการ
ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการประชาพิจารณ์ของทั้ง 2 โครงการ
2.3.2.3 การจัดทำประชาพิจารณ์
คณะกรรมการประชาพิจารณ์ได้จัดทำประชาพิจารณ์โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) เมื่อวันที่ 10-12 กันยายน พ.ศ. 2542 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (หินกรูด) เมื่อวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543
2.3.3 กรณีศึกษาที่ 3 : การจัดทำประชาพิจารณ์โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย(53)
2.3.3.1 ความเป็นมา
ก่อนปี พ.ศ. 2522 ประเทศไทยและประเทศมาเลเซียต่างอ้างสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกัน ภายหลังได้แก้ปัญหาดังกล่าวโดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียได้ตกลงร่วมกันแสวงประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวในสัดส่วนที่เท่ากัน และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการพัฒนาพื้นที่เหลื่อมล้ำเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Development Area หรือ MTJD) เพื่อรวมสิทธิแทนรัฐบาลทั้งสองในการดูแลการสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ได้เห็นชอบให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิเข้าทำสัญญากับองค์กรร่วมเพื่อสำรวจพื้นที่ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2537 ประกอบด้วย 1) แปลง A 18 พื้นที่ประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด ผู้ถือหุ้นคือบริษัทไตรตันออยล์จากประเทศไทย (50%) กับบริษัทเปโตรนาส ชาริกาลี จากประเทศมาเลเซีย (50%) โดย 2 บริษัทดังกล่าวได้ตั้งบริษัทดำเนินงานในแปลงสำรวจคือ บริษัท Carigali Triton Operating Company Sdn. Bhd. (CTOC) 2) แปลงสำรวจหมายเลข B-17 และ C-19 ผู้ถือหุ้นคือบริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) สำรวจและผลิตปิโตรเลียม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดจากประเทศไทย (50%) กับบริษัทเปโตรนาส คาริกาลี จากประเทศมาเลเซีย (50%) โดยบริษัททั้ง 2 ได้ตั้งบริษัทดำเนินงานในแปลงสำรวจคือ Carigali PTTEPI Operating Company Sdn,. Bhd. (CPOC)บริษัทผู้ดำเนินงานได้เจาะหลุมสำรวจทั้งสิ้น 16 หลุมพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ 8 แหล่ง ปริมาณก๊าซไม่ต่ำกว่า 9.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต จึงมีการเจรจาซื้อขายก๊าซกัน กระทั่งวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2541 คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้ ปตท. ร่วมซื้อก๊าซธรรมชาติกับเปโตรนาสจากพื้นที่พัฒนาร่วมบนหลักการ 50% ต่อ 50% โดยมีนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามใน Head of Agreement Gas Sale Agreement (GSA-HOA)
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยร่วมทุนกับบริษัท PETROLIAM NASIONAL BERHAD หรือ เปโตรนาส เพื่อดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีที่ให้จัดทำประชาพิจารณ์โครงการดังกล่าว ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539
2.3.3.2 การแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์
กระทรวงอุตสาหกรรม (นายสุวัจน์ ลิมปตพัลลภ) ได้มีคำสั่งที่ 53/2543 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 แต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เพื่อทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย เสนอต่อรัฐบาลตามกระบวนการตัดสินใจต่อไป โดยคณะกรรมการประชาพิจารณ์โครงการดังกล่าวประกอบด้วย
(1) พลเอกจรัล กุลละวณิชย์ ประธานกรรมการ
(2) นายวิชช์ จีระแพทย์ กรรมการ
(3) นายไพโรจน์ อินทรศิริสวัสดิ์ กรรมการ
(4) นายอัมพร ด้วงปาน กรรมการ
(5) นายอาศีส พิทักษ์คุมพล กรรมการ
(6) นายอุดม ศุภกิจ กรรมการ
(7) นายวิทยา งานทวี กรรมการ
(8) นายมนัส สงวนดีกุล กรรมการ
(9) คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต กรรมการ
ทั้งนี้ ให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการประชาพิจารณ์โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย
2.3.3.3 การจัดทำประชาพิจารณ์
คณะกรรมการประชาพิจารณ์ได้จัดทำประชาพิจารณ์ทั้ง 2 โครงการเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 และวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2543
2.4 ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539
การศึกษากรณีศึกษาการจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ทำให้ทราบว่า การจัดทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวประสบปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ซึ่งสามารถสรุปประเด็นปัญหาที่สำคัญ ๆ ได้ดังนี้ คือ
2.4.1 ปัญหาที่เกิดจากการตัดสินใจก่อนการจัดทำประชาพิจารณ์
ในทุก ๆ โครงการของรัฐที่จัดให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์นั้น รัฐบาลได้ตัดสินใจอนุมัติโครงการดังกล่าวไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.
. คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2539 ได้พิจารณาและรับหลักการร่างกฎหมายป่าชุมชน ซึ่งเสนอโดยคณะกรรมการนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น (กนภ.) แต่ได้จัดทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ถึง 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจนเนอร์เรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2540 แต่ได้จัดทำประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 10 ถึง 12 กันยายน พ.ศ. 2542 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (หินกรูด) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทยูเนี่ยนเพาเวอร์ดีเวลลอปเมนท็ จำกัด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2540 แต่ได้จัดประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 24 ถึง 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และโรงแยกธรรมชาติก๊าซไทย-มาเลเซีย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้ทำสัญญากับบริษัทเปโตรนาส โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีการลงนามในสัญญาร่วม 4 ฉบับ อาทิ การร่วมทุนระหว่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สัญญาซื้อขายก๊าซแปลง A-18 เป็นต้น เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2542 แต่ได้จัดประชาพิจารณ์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 และ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2543(54)
การที่รัฐบาลได้ตัดสินใจอนุมัติโครงการต่าง ๆ ไปก่อนแล้วจึงจัดให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์นั้น ส่งผลให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการเห็นว่า การจัดทำประชาพิจารณ์เป็นการดำเนินการทางพิธีการและการจัดทำประชาพิจารณ์ก็เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินต่อไปได้โดยอ้างว่าได้จัดทำประชาพิจารณ์แล้ว ประชาชนตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียจึงไม่ให้ความสำคัญการจัดทำประชาพิจารณ์โครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ
2.4.2 ปัญหาในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารก่อนการจัดทำประชาพิจารณ์
ในการจัดทำประชาพิจารณ์โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (หินกรูด) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) โครงการท่อก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียนั้น ประสบปัญหาหนึ่งทำนองเดียวกัน
คือ เรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องที่จะจัดประชาพิจารณ์ เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดประชาทำพิจารณ์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่าจะจัดให้มีการประชาพิจารณ์เรื่องใด ประเด็นใด และจะจัดประชาพิจารณ์เรื่องดังกล่าวในวัน เวลา และสถานที่ใด นอกจากนี้ ก่อนการจัดทำประชาพิจารณ์ คณะกรรมการประชาพิจารณ์ก็ไม่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการทั้งหมดรวมทั้งรายงานผลการศึกษา EIA ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียได้ทราบอย่างตรงไปตรงมา ข้อมูลที่เผยแพร่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์โครงการซึ่งมีลักษณะพื้น ๆ และชี้ให้เห็นเฉพาะข้อดีของโครงการ อันทำให้ฝ่ายคัดค้านขาดข้อมูลสำหรับการพิจารณาตรวจสอบก่อนที่จะเข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์ (55)
2.4.3 ปัญหาในเรื่องผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์และความเป็นกลางของคณะกรรมการประชาพิจารณ์
ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาใช้ในการคัดค้านคณะกรรมการประชาพิจารณ์คือ ความไม่เป็นกลางของคณะกรรมการประชาพิจารณ์ เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 12 กำหนดให้ หน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นผู้เสนอเรื่องให้รัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ขึ้น ดังนั้น กลุ่มผู้คัดค้านจึงเกิดความไม่เชื่อมั่นว่าคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะมีความเป็นกลางหรือไม่ ดังที่เกิดขึ้นกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทั้ง 2 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (หินกรูด) โดยหลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2541 มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หารือร่วมการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น รัฐมนตรีทั้ง 3 กระทรวงได้พิจารณาแล้วมีความเห็นร่วมกันให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) รับผิดชอบในการจัดทำประชาพิจารณ์ ซึ่งต่อมารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 19/2542 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 แต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 11 คน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นประธานกรรมการประชาพิจารณ์ และมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการประชาพิจารณ์(56) หลังจากการแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์กลุ่มผู้คัดค้านได้ทำหนังสือเรียกร้องให้ถอดถอนกรรมการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการออก คือ ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ประธานกรรมการประชาพิจารณ์ เนื่องจากเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งมีส่วนผลักดันโครงการดังกล่าว(57) เป็นต้น หรือกรณีโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย และ โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย จังหวัดสงขลา การจัดทำประชาพิจารณ์โครงการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ) เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำประชาพิจารณ์ โดยได้มีคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 53/2543 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 แต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย จำนวน 10 คน โดยมี พลเอกจรัล กุลละวณิชย์ เป็นประธานกรรมการประชาพิจารณ์ และให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการประชาพิจารณ์(58) แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้พลเอกจรัล กุลละวณิชย์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการได้เคยให้สัมภาษณ์โดยชี้ให้เห็นถึงข้อดีของโครงการนี้ จึงทำให้มีการคัดค้านการแต่งตั้งประธานกรรมการประชาพิจารณ์(59)
2.4.4 ปัญหาที่เกิดจากการคัดเลือกผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์
การคัดเลือกผู้เข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ตลอดจนผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมในการประชุมประชาพิจารณ์ไว้ จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการประชาพิจารณ์ที่จะพิจารณาผู้ที่จะเข้าร่วมประชาพิจารณ์ เช่น กรณีโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (หินกรูด) คณะกรรมการประชาพิจารณ์กำหนดว่า ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก คือกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบด้วย บริษัทเจ้าของโครงการกับชาวบ้านที่คัดค้าน กับอีกกลุ่มคือ ผู้ไม่มีส่วนได้เสียได้แก่ ประชาชนทั่วประเทศ จากการกำหนดข้างต้นมีประชาชนจำนวนมากมาลงทะเบียนเพื่อขอเข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์ ดังนั้น คณะกรรมการประชาพิจารณ์จึงจำเป็นต้องคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมที่จะเข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์ หลังจากที่คณะกรรมการประชาพิจารณ์ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์แล้ว ฝ่ายคัดค้านได้ทักท้วงว่ามีรายชื่อคนตายได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์ด้วย หรือในกรณีโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียนั้น มีผู้ประสงค์แจ้งความจำนงเข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์จำนวนไม่ต่ำกว่า 13,613 คน ฝ่ายเลขานุการจึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมประมาณ 1,800 คน การคัดเลือกผู้เข้าร่วมด้วยวิธีการคัดเลือกกันเองของผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 680 คน ส่วนที่เหลือใช้วิธีจับสลาก อย่างไรก็ตามฝ่ายคัดค้านได้ทักท้วงเช่นเดียวกันว่ามีรายชื่อคนตายได้คัดเลือกให้เข้าประชุมประชาพิจารณ์อีกเช่นกัน(60)
2.4.5 ปัญหาที่เกิดจากฝ่ายเลขานุการ
การจัดทำประชาพิจารณ์นั้น ฝ่ายเลขานุการก็ถือว่ามีความสำคัญเนื่องจากเป็นผู้บริหารจัดการการจัดทำประชาพิจารณ์ จากการจัดทำประชาพิจารณ์ที่ผ่าน ๆ มา ฝ่ายเลขานุการประชาพิจารณ์จะใช้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเจ้าของโครงการมารับหน้าที่ดังกล่าว เช่น กรณีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (หินกรูด) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ หรือกรณีโครงการท่อก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย สำนักงานกระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ ทำให้การทำงานของฝ่ายเลขานุการประชาพิจารณ์เป็นไปอย่างไม่เต็มที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องทำงาน 2 หน้าที่ คือ ทำงานประจำในหน่วยงานของตน และทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการประชาพิจารณ์โครงการนั้น ๆ ด้วย ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการของโครงการจึงประสบปัญหาต้องแบ่งเวลาจากการทำงานประจำมาทำหน้าที่จัดประชาพิจารณ์ จึงทำให้การบริหารจัดการการจัดทำประชาพิจารณ์เป็นไปอย่างไม่เต็มที่ และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะต้องรับผิดชอบทำงานทั้ง 2 หน้าที่ในเวลาเดียวกัน
2.4.6 ปัญหาในเรื่องงบประมาณ
ในการจัดทำประชาพิจารณ์แต่ละโครงการจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ตามประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 5 ได้กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณในการจัดทำประชาพิจารณ์ จึงเกิดภาระกับหน่วยงานเจ้าของโครงการในการจัดสรรงบประมาณมาใช้ในการจัดทำประชาพิจารณ์ เพราะการจัดทำประชาพิจารณ์แต่ละโครงการนั้นจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งในบางครั้งหน่วยงานเจ้าของโครงการมิได้ตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ จึงต้องของบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น เช่น กรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) และโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (หินกรูด) หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการไม่มีงบประมาณจึงต้องใช้งบประมาณจากหน่วยงานอื่น คือ งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค (กภจ.) เป็นต้น
2.4.7 ปัญหาที่เกิดจากการไม่เข้าร่วมในการจัดทำประชาพิจารณ์
การไม่เข้าร่วมประชาพิจารณ์เป็นปัญหาที่ทำให้การจัดประชาพิจารณ์ไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เพราะทำให้ไม่ทราบถึงความเห็นของกลุ่มผู้ไม่เข้าร่วมประชาพิจารณ์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มผู้คัดค้านมักจะเป็นกลุ่มที่ไม่เข้าร่วมในการประชาพิจารณ์ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) กำหนดให้มีการจัดประชาพิจารณ์ในวันที่ 10 ถึง 12 กันยายน พ.ศ. 2542 รวมระยะเวลา 3 วัน เมื่อถึงวันประชาพิจารณ์คือวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2542 ก่อนที่ถึงเวลาประชุมประชาพิจารณ์ กลุ่มผู้คัดค้านซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านจากตำบลบ่อนอก ตำบลคลองงาน อำเภอเมือง และตำบลกุยเหนือ อำเภอกุยบุรี ได้มาชุมนุมกันที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นเดินไปตามถนนในเขตเทศบาลเมืองโดยถือแผ่นป้ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและการจัดทำประชาพิจารณ์ และได้ใช้รถยนต์เปิดปรายศรัยโจมตีการจัดทำประชาพิจารณ์ นอกจากนี้ หลังจากที่ประธานคณะกรรมการประชาพิจารณ์ (ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต) และคณะได้เปิดประชุมเพื่อจัดทำประชาพิจารณ์ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงประมาณ 30 หน่วยงาน เช่น ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมประมง กรมเจ้าท่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นต้น โดยในระหว่างการทำประชาพิจารณ์ นายสุชิน ช่อระหงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อนอก พร้อมด้วยสมาชิกได้ขอเข้าพบประธานกรรมการประชาพิจารณ์ เพื่อยื่นหนังสือมติองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อนอก ที่ได้มีการประชุมสมัยที่ 2/2542 เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2542 ไม่เห็นชอบการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) ให้แก่ประธานคณะกรรมการประชาพิจารณ์ จากนั้น นายประเทือง สุขสม แกนนำกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกได้ชี้แจงเจตนาในการยื่นมติว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) เป็นสิ่งที่ชาวบ้านในท้องถิ่นและบริเวณใกล้เคียงไม่ต้องการ รวมทั้งการทำประชาพิจารณ์ผิดหลักการ ไม่โปร่งใสและผิดขั้นตอน ประธานคณะกรรมการประชาพิจารณ์ได้ชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำประชาพิจารณ์โครงการนี้แล้วไม่พบว่าดำเนินการผิดกฎหมายหรือขัดต่อหลักการใด ๆ และอนุญาตให้ชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านเข้าร่วมประชาพิจารณ์เป็นกรณีพิเศษ แต่ชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านก็ยังไม่เข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์ นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านการจัดทำประชาพิจารณ์ นำโดยนายฉอย ตันติวรธรรม กำนันตำบลบ่อนอก ได้รวมตัวคัดค้านและเปิดเวทีปราศรัยบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับหอประชุมที่จัดทำประชาพิจารณ์(61) การที่ประชาชนกลุ่มผู้คัดค้านไม่เข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์ ทำให้ไม่ทราบถึงรายละเอียดต่างๆ ของโครงการที่หน่วยราชการนำมาชี้แจงและทำให้กลุ่มผู้คัดค้านไม่สามารถแสดงความคิดเห็นของตนให้กรรมการประชาพิจารณ์และผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานต่าง ๆ ทราบ ตลอดจนกลุ่มผู้คัดค้านไม่สามารถซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการได้ ดังนั้นการไม่เข้าร่วมกระบวนการประชาพิจารณ์ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้การจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่บรรลุตามบรรจุประสงค์ของการจัดทำประชาพิจารณ์
2.4.8 ปัญหาที่เกิดจากผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจ
หลังจากจัดทำประชาพิจารณ์แล้ว คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะทำรายงานเสนอต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้มีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งจากที่ผ่านๆ มาปรากฏว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจมักจะไม่ให้ความสำคัญต่อรายงานดังกล่าว และไม่ให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจ และตัดสินใจตรงข้ามกับรายงานผลการจัดทำประชาพิจารณ์ สำหรับกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (บ่อนอก) และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (หินกรูด) นั้น คณะกรรมการประชาพิจารณ์ไม่ได้มีการวินิจฉัยอย่างเด็ดขาดในรายงานผลการจัดประชาพิจารณ์ว่า โครงการดังกล่าวควรสร้างหรือไม่ควรสร้าง แต่เสนอแนวทางกว้าง ๆ ไว้ 3 ทางเลือก คือ ให้สร้างได้ สร้างไม่ได้ และจะรอไปก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจ ตัดสินใจตามรายงานผลการประชาพิจารณ์หรือไม่(62) กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกกรณีหนึ่งคือ โครงการทางด่วนแยกอุรุพงษ์ ราชดำริ เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามโครงการนี้เป็นการนำรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยที่ในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบกำหนดรูปแบบและวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นโดยวิธีประชาพิจารณ์ไว้เลย โครงการดังกล่าวได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ถึง 2 รอบ ซึ่งรายงานผลการจัดทำประชาพิจารณ์ของคณะกรรมการประชาพิจารณ์ในรอบแรกนั้น คณะกรรมการประชาพิจารณ์มีมติชี้ขาดว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์กับการจราจรและไม่เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ขณะที่จะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน และภารกิจจะตกแก่ชุมชนบ้านครัวมากจนไม่เป็นธรรม หลังจากที่รัฐบาลได้รับรายงานดังกล่าวแล้วมิได้ตัดสินใจใด ๆ ทั้งสิ้น จนต้องมีการจัดประชาพิจารณ์ในรอบที่สอง ซึ่งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ก็ยังยืนยันในมติเดิมให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว แต่ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 ให้ก่อสร้างต่อไปได้ โดยเลือกลงไปในคลองเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด(63) จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ให้ความสำคัญต่อรายงานประชาพิจารณ์โดยการตัดสินใจตรงกันข้ามกับรายงานผลการจัดทำประชาพิจารณ์และไม่ได้ให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจดังกล่าว
การศึกษาที่ผ่านมาทั้งหมดทำให้ทราบว่า แม้ว่าจะได้มีการบัญญัติเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในกฎหมายและมีการบัญญัติเรื่องการจัดทำประชาพิจารณ์ไว้ในระเบียบก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ก็ตาม แต่การจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ก็ประสบปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ทำให้การจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ใช้บังคับและมีบทบัญญัติรับรองสิทธิในการเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้เป็นครั้งแรกในมาตรา 59 จึงสมควรทำการศึกษาถึงการดำเนินการเพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ในบทต่อไป
เชิงอรรถ
สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, ประชาพิจารณ์ : บน เวที หรือ ท้องถนน วารสารโลกสีเขียว, ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม มิถุนายน 2543) : หน้า 35.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 22.
โภคิน พลกุล, การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ : การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน, (กรุงเทพมหานคร : บริษัทกราฟฟิคฟอร์แมท, 2540), หน้า 14-15.
คำขึ้นต้นของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539.
ชาญชัย แสวงศักดิ์, การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ : การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน, (กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน, 2540), หน้า 30-31.
ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 113 ตอนพิเศษ 2 ง (วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539).
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 3 ได้ให้นิยาม โครงการของรัฐ ไว้ว่า หมายความถึง การดำเนินงานไม่ว่าในลักษณะใด ๆ ตามนโยบายหรือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือการบริหารราชการ ในกิจการของรัฐ หรือโครงการที่จะต้องได้รับสัมปทาน การอนุญาต อนุมัติ หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐ และตามประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 1 หมายความรวมถึง โครงการของภาคเอกชนที่จะต้องได้รับสัมปทาน การอนุญาต อนุมัติ หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐด้วย.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 ข้อ11.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณา พ.ศ. 2539 ข้อ 4.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 ข้อ 5.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 ข้อ 12.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 ข้อ 13 ถึงข้อ 15.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 7.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 8.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 9.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 12 ถึงข้อ 14.
ประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 3.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 14 และประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 3.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 15 และประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 4.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 16.
ประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 4.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 16.
ประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 5.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 21.
สรุปจาก จรัล ดิษฐาอภิชัย และคณะ, รายงานการวิจัย แนวทางการจัดทำประชาพิจารณ์ในสังคมไทย, เสนอต่อมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (TDRI) กรุงเทพมหานคร : กรมวิเทศสหการ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ, 2544, หน้า 46-51. ประกอบกับ โภคิน พลกุล, การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ : การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน, (กรุงเทพมหานคร : บริษัทกราฟฟิคฟอร์แมท, 2540), หน้า 28-32.
สรุปจาก จรัล ดิษฐาอภิชัย และคณะ, รายงานการวิจัย แนวทางการจัดทำประชาพิจารณ์ในสังคมไทย, หน้า 77-81. ประกอบกับ เฉลิมชัย หิรัญญะสิริ การประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539,หน้า 104-106.
สรุปจาก จรัญ ดิษฐาอภิชัย และคณะ, รายงานการวิจัย แนวทางการจัดทำประชาพิจารณ์ในสังคมไทย, หน้า 110. เฉลิมชัย หิรัญญะศิริ การประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 หน้า 112. และสาระสำคัญการจัดทำประชาพิจารณ์ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย, หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2543), หน้า 5.
จรัญ ดิษฐาอภิชัย และคณะ, รายงานการวิจัย แนวทางการจัดประชาพิจารณ์ในสังคมไทย, หน้า 131.
สมศักดิ์ สามัคคีธรรม, ประชาพิจารณ์ : เครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการสะสมทุนของรัฐไทย วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 19-20 ฉบับที่ 3 (2543) : หน้า 65.
เฉลิมชัย หิรัญญะสิริ, การประชาพิจารณ์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539, หน้า 105-106.
สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, ประชาพิจารณ์ : บน เวที หรือ ท้องถนน วารสารโลกสีเขียว, หน้า 30.
เฉลิมชัย หิรัญญะสิริ, การประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539, หน้า 113.
จรัญ ดิษฐาอภิชัย และคณะ, รายการการวิจัย แนวทางการจัดทำประชาพิจารณ์ในสังคมไทย, 140.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 137-138.
หวั่นมือที่สามก่อกวนประชาพิจารณ์โรงไฟฟ้า, (หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2542). อ้างใน จรัล ดิษฐาอภิชัย และคณะ, รายงานการวิจัย แนวทางการจัดประชาพิจารณ์ในสังคมไทย, หน้า 87-89.
จรัล ดิษฐาอภิชัย และคณะ, รายงานการวิจัย แนวทางการจัดประชาพิจารณ์ในสังคมไทย, หน้า 143.
สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, ประชาพิจารณ์ : บน เวที หรือ ท้องถนน, วารสารโลก
สีเขียว : หน้า22-23.
|
|
|
|
|
1
|
2
|
|
|
|
|
|
|
|
|