ภาคผนวก
สารบัญ
การชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลของประเทศฝรั่งเศส
ศาลชี้ขาดคดีขัดกัน (Le Tribunal des conflits)
การชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลของประเทศฝรั่งเศส
๑. ความเป็นมาและโครงสร้างของศาล
๑.๑ ความเป็นมา
๑.๒ ลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบของศาล
๒ อำนาจหน้าที่และวิธีพิจารณาทั่วไป
๒.๑ อำนาจหน้าที่
๒.๒ วิธีพิจารณาทั่วไป
๓ กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาในคดีแต่ละประเภท
๓.๑ กรณีคดีขัดแย้งในลักษณะที่ศาลเห็นว่าตนเอง
มีอำนาจ (le conflit positif)
๓.๒ กรณีขัดแย้งในลักษณะที่ศาลต่างปฏิเสธ
อำนาจของตน (le conflit positif)
๓.๓ กรณีขัดแย้งกันในคำพิพากษา (le conflit dedécisions au fond)
๓.๔ กรณีการส่งประเด็นข้อขัดแย้งเรื่องอำนาจศาล
ในระหว่างพิจารณา (le conflit de décisions au fond)
การชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลของประเทศฝรั่งเศส
ศาลชี้ขาดคดีขัดกัน (Le Tribunal des conflits)13
ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีระบบศาลยุติธรรมและศาลปกครองแยกต่างหากจากกัน ที่เรียกว่า ระบบศาลคู่ (la dualité juridictionnelle) ดังนั้น ปัญหาการขัดกันในเรื่องอำนาจศาลต่างระบบกันดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อแก้ปัญหานี้จึงได้มีการจัดตั้งศาลที่มีลักษณะพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาชี้ขาดในเรื่องดังกล่าว เรียกว่า ศาลชี้ขาดคดีขัดกัน (le Tribunal des conflits)
๑. ความเป็นมาและโครงสร้างของศาล
๑.๑ ความเป็นมา
ก่อนปี ค.ศ. ๑๘๔๘ การแก้ปัญหาการขัดกันของอำนาจศาล ๒ ระบบนี้ เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะประมุขฝ่ายบริหารไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือประมุขของรัฐโดยผ่านการพิจารณาของสภาแห่งรัฐ (le Conseil d Etat) ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๔๘ มาตรา ๘๙ ของรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๑๘๔๘ ได้บัญญัติให้มีการจัดตั้ง ศาลชี้ขาดคดีขัดกัน (le Tribunal des conflits) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้มีการกำหนดโครงสร้างการจัดองค์กรตลอดจนวิธีพิจารณาเป็นไปตามกฎการบริหารราชการ (le règlement d administration publique) ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๑๘๔๙ และรัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๑๘๕๐ ต่อมา ภายหลังจากสาธารณรัฐที่ ๒ ได้สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๑๘๕๑
ศาลชี้ขาดคดีขัดกันก็ถูกล้มเลิกไป โดยในช่วงสมัยจักรวรรดิที่ ๒ ประเทศฝรั่งเศส
ได้กลับไปใช้วิธีปฏิบัติเช่นเดิมกล่าวคือ ประมุขของรัฐเป็นผู้ใช้อำนาจในการชี้ขาดอำนาจศาล หลังจากนั้น ศาลชี้ขาดคดีขัดกันได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่โดยรัฐบัญญัติ
ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๑๘๗๒ (กฎหมาย Dufaure) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มอบอำนาจให้สภาแห่งรัฐ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองโดยมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ที่มีผลบังคับได้ในตัวเอง (la justice déléguée ระบบมอบอำนาจชี้ขาด) มิใช่
ระบบเดิมที่ให้สภาแห่งรัฐเสนอความเห็นไปยังประมุขของรัฐเพื่อชี้ขาด (la justice retenue ระบบสงวนอำนาจชี้ขาด) อีกต่อไป ซึ่งบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ
ศาลชี้ขาดคดีขัดกันที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายดังกล่าว ได้รับการปรับปรุง
ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๑๙๖๐
๑.๒ ลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบของศาล
๑.๒.๑ ลักษณะทั่วไป
ศาลชี้ขาดคดีขัดกันเป็นศาลที่เป็นอิสระ (la juridiction autonome) มิได้ขึ้นอยู่กับศาลฎีกา (la Cour de cassation) ซึ่งเป็นศาลสูงสุดในระบบศาลยุติธรรมหรือสภาแห่งรัฐในฐานะศาลปกครองสูงสุด หลักการสำคัญในเรื่องโครงสร้างและองค์ประกอบของศาลเป็นไปโดยถือหลักองค์ประกอบที่มีจำนวนเท่ากันของตัวแทนจากศาลทั้งสองระบบ (le principe mixte et paritaire) เป็นเกณฑ์
๑.๒.๒ องค์ประกอบ
ศาลชี้ขาดคดีขัดกันประกอบด้วย
๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (le garde des Sceaux, ministre de la Justice) เป็นประธานโดยตำแหน่ง
๒) ผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน ๓ คน และกรรมการสภาแห่งรัฐประเภทสามัญจำนวนเท่ากัน ซึ่งได้รับเลือกจากผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือกรรมการสภาแห่งรัฐด้วยกันเอง แล้วแต่กรณี
๓) ผู้พิพากษาศาลฎีกาอื่นอีก ๑ คน และกรรมการสภาแห่งรัฐอื่นอีก ๑ คน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากบุคคลตาม ๒)
๔) สมาชิกสำรอง (le suppléant) อีก ๒ คน ซึ่งเลือกจากผู้พิพากษาศาลฎีการะดับ Conseiller référendaire ๑ คน และเจ้าหน้าที่สภาแห่งรัฐ ระดับ MaÎtre des requêtes ๑ คน โดยสมาชิกตาม ๒) และ ๓) เป็นผู้เลือก
สมาชิกของศาลชี้ขาดคดีขัดกันที่ได้รับเลือกมาดังกล่าว
มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๓ ปี และสมาชิกเหล่านั้นจะเป็นผู้เลือกสมาชิกด้วยกันเองเป็นรองประธานศาลชี้ขาดคดีขัดกัน โดยปกติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ซึ่งเป็นประธานโดยตำแหน่งจะไม่มาประชุม เว้นเสียแต่เป็นกรณีการประชุมครั้งแรกหลังจากมีการเลือกสมาชิกใหม่ทุก ๓ ปี และกรณีที่ไม่อาจหาเสียงข้างมากได้ในการลงมติก็จะมาทำหน้าที่หรือลงคะแนนเสียงชี้ขาด (ดังจะได้กล่าวต่อไป) ซึ่งเท่าที่ผ่านมา
มีน้อยครั้งมากที่รัฐมนตรีฯ จะมาเป็นประธานในที่ประชุม โดยทั่วไปจึงเป็นหน้าที่ของรองประธานฯ ที่จะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทน
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ทำหน้าที่ฝ่ายคดีประจำศาล
(le ministère public) ประกอบด้วยพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวน (le commissaire du gouvernement) ๒ คน และเจ้าหน้าที่สำรอง (le suppléant) อีก ๒ คน ซึ่งเลือกมาจากพนักงานอัยการ (l avocat général) ในศาลฎีกาและเจ้าหน้าที่สภาแห่งรัฐระดับ MaÎtre des requêtes จำนวนเท่าๆ กัน
๒. อำนาจหน้าที่และวิธีพิจารณาทั่วไป
๒.๑ อำนาจหน้าที่
ศาลชี้ขาดคดีขัดกันมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากรณีที่มีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจของศาลและการขัดแย้งกันของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในระบบศาลยุติธรรมกับศาลในระบบศาลปกครอง เพื่อมิให้เกิดกรณีของการปฏิเสธความยุติธรรม (le déni de justice) โดยศาลเพิ่งจะมีอำนาจหน้าที่ประการหลังนี้ตามรัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ๑๙๓๒ เป็นต้นมา อย่างไรก็ดี อำนาจพิจารณาคดีของศาลชี้ขาดคดีขัดกันจะมีเพียงเท่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น และโดยที่ศาลนี้มีอำนาจพิจารณาคดีเฉพาะกรณีที่มีการขัดแย้งกันของอำนาจศาลตลอดจนคำพิพากษาของศาลต่างระบบ หากเป็นกรณีที่มีการขัดแย้งกันในเรื่อง
ดังกล่าวของศาลระบบเดียวกัน กรณีย่อมต้องชี้ขาดโดยศาลสูงของศาลในระบบนั้นๆ
ภารกิจของศาลชี้ขาดคดีขัดกันถือเป็นงานทางตุลาการ (une mission juridictionnelle) กล่าวคือเป็นการชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายว่ากรณีเรื่องใดเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลในระบบศาลใดใน ๒ ระบบดังกล่าว ดังนั้น แม้ว่างานของศาลชี้ขาดคดีขัดกันจะเป็นการทำงานในหน้าที่ของตุลาการเช่นเดียวกับศาลอื่นๆ แต่ก็เป็นภารกิจที่มีความสำคัญยิ่งเพราะเมื่อศาลได้พิพากษาหรือชี้ขาดอย่างใดแล้ว ย่อมเป็นการจำกัดอำนาจโดยทั่วไปของศาลในระบบนั้นๆ ที่จะพิจารณาพิพากษาคดีประเภทหรือลักษณะเดียวกันนั้นได้หรือไม่แค่ไหนเพียงไร
๒.๒ วิธีพิจารณาทั่วไป
๒.๒.๑ เจ้าหน้าที่ธุรการศาล (le greffe) ของศาลชี้ขาดคดีขัดกันจะเป็นผู้รับคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับคดีขัดกันที่เสนอต่อศาล โดยสำนวนคดีจะถูกส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่เจ้าของสำนวน (le rapporteur) ซึ่งอาจจะเป็นสมาชิกของสภาแห่งรัฐหรือศาลฎีกาก็ได้ เพื่อจัดทำบันทึกของเจ้าหน้าที่เจ้าของสำนวนส่งต่อไปยังพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนเพื่อพิจารณาจัดทำคำแถลงการณ์ ในกรณีนี้พนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนจะต้องมาจากต่างสังกัดกับเจ้าหน้าที่เจ้าของสำนวน (เช่น ถ้าเจ้าหน้าที่เจ้าของสำนวนมาจากสภาแห่งรัฐ พนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนก็จะต้องมาจากศาลฎีกา หรือในทางกลับกัน)
๒.๒.๒ องค์คณะพิจารณาจะประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย ๕ คน โดยสมาชิกในองค์คณะดังกล่าวไม่อาจถูกคัดค้านใดๆ ได้ (TC, ๔ nov. ๑๘๘๐, Marquigny, Rec ; ๗๙๕ ; TC. ๑๓ janv. ๑๙๕๘, Alioune Kane, Rec. ๗๙๐) และบ่อยครั้งที่สมาชิกของศาลจะนั่งเป็นองค์คณะครบทุกคน
๒.๒.๓ หลังจากที่ได้มีการฟังการอ่านบันทึกของเจ้าหน้าที่เจ้าของสำนวนรวมทั้งบันทึกคำชี้แจงของคู่กรณี ศาลก็จะฟังการแถลงด้วยวาจาของทนายความตลอดจนคำแถลงการณ์ของพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวน
การประชุมพิจารณาปรึกษาโดยการทำคำพิพากษานั้นจะกระทำเป็นการลับ
แต่การอ่านคำพิพากษาจะต้องกระทำโดยเปิดเผย และไม่ว่าในกรณีใดๆ
คำพิพากษาของศาลชี้ขาดคดีขัดกันถือเป็นที่สุด คู่กรณีที่ไม่พอใจไม่สามารถจะอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลได้อีก (TC, ๒๘ févr. ๑๙๕๒, Ministre des Anciens Combattants, Rec. ๖๑๘)
๒.๒.๔ ในกรณีที่การออกเสียงลงมติในการทำคำพิพากษามี
คะแนนเสียงเท่ากัน คดีนั้นจะได้รับการพิจารณาชี้ขาดชั้นที่สุดในองค์คณะซึ่งจะมี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๗๒ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีเพียงประมาณ ๑๕ คดี เท่านั้นที่ต้องใช้วิธีการชี้ขาดในลักษณะ
ดังกล่าว และส่วนใหญ่ในบรรดาคดีเหล่านี้ได้มีการชี้ขาดในลักษณะที่โน้มเอียงไป
ในทางที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจเหนือคดีที่เป็นปัญหา
๓. กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาในคดีแต่ละประเภท
แต่เดิมมานั้นศาลชี้ขาดคดีขัดกันมีอำนาจพิจารณากรณีขัดแย้งกัน
ของอำนาจศาล เพียง ๒ กรณีเท่านั้น โดยกรณีแรกเป็น การขัดแย้งในลักษณะ
ที่ศาลเห็นว่าตนเองมีอำนาจ (le conflit positif) กล่าวคือ การที่ศาลในระบบ
ศาลยุติธรรมมีความเห็นว่าตนเองมีอำนาจเหนือคดีใดคดีหนึ่ง ในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดี (ฝ่ายปกครอง) เห็นว่า คดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลในระบบศาลปกครอง และกรณี
ที่สองเป็น การขัดแย้งในลักษณะที่ศาลต่างปฏิเสธอำนาจของตน (le conflit négatif) อันเป็นการที่ศาลทั้งสองระบบต่างก็เห็นว่าศาลในอีกระบบหนึ่งมีอำนาจเหนือคดีใดคดีหนึ่ง ต่อมา ได้มีการปรับปรุงกฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลขยายขอบเขตกว้างขึ้นและเหมาะสมยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ๑๙๓๒ ได้เพิ่มอำนาจให้ศาลชี้ขาดคดีขัดกันมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาในเนื้อหา (le fond) ของคดีได้สำหรับคดีที่เป็น การขัดแย้งกันในคำพิพากษา (le conflit de décisions au fond) นอกจากนี้ รัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๑๙๖๐ ยังได้บัญญัติถึง การส่งประเด็นที่ขัดแย้งในระหว่างพิจารณา (les procédures de renvoi) ให้ศาลชี้ขาดคดีขัดกันพิจารณาชี้ขาดก่อนที่ศาลนั้นๆ จะมีคำพิพากษาได้อีกด้วย ดังนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงกระบวนพิจารณาและคำพิพากษาของศาลชี้ขาดคดีขัดกันในคดีแต่ละประเภทดังกล่าวตามลำดับ ดังนี้
๓.๑ กรณีคดีขัดแย้งในลักษณะที่ศาลเห็นว่าตนเองมีอำนาจ
(le conflit positif)
๓.๑.๑ เงื่อนไขในการเสนอข้อขัดแย้ง
- ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและ
ศาลอุทธรณ์ในระบบศาลยุติธรรมเท่านั้นที่มีอำนาจรับคำร้องเกี่ยวกับข้อขัดแย้งในเรื่องนี้ (ไม่อาจเสนอคำร้องดังกล่าวต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา (ยกเว้นในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา) หรือต่อศาลฎีกาได้)
- คำร้องดังกล่าวต้องเสนอก่อนสิ้นสุดการพิจารณา กล่าวคือ ต้องเสนอก่อนที่ศาลนั้นจะมีคำพิพากษาชี้ขาดในเนื้อหาหรือในส่วนที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาล
๓.๑.๒ กระบวนพิจารณาข้อขัดแย้งในศาลยุติธรรม
- ผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (le préfet) เท่านั้นที่มีอำนาจเสนอคำร้อง
- คำร้องดังกล่าวเรียกว่า หนังสือปฏิเสธอำนาจของศาล (un déclinatoire de compétence) เหนือคดี ซึ่งต้องยื่นต่อศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีนั้น
- ศาลดังกล่าวต้องพิจารณาและมีความเห็นในปัญหาเรื่องเขตอำนาจของตนเหนือคดีนั้นก่อน
- ในกรณีที่ศาลสั่งยกคำร้อง ให้ศาลรอการพิจารณาคดีในเนื้อหาไว้เป็นเวลา ๑๕ วัน
- ในระหว่างเวลาดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมมีสิทธิยื่นคำโต้แย้งคำสั่งศาลดังกล่าว (un arrêté de conflit) ได้
- ในกรณีเช่นนี้ศาลต้องหยุดการพิจารณาคดีนั้นไว้ก่อนและต้องส่งคำโต้แย้งนั้นไปยังศาลชี้ขาดคดีขัดกันเพื่อพิจารณา
๓.๑.๓ คำพิพากษาของศาลชี้ขาดคดีขัดกัน
- ศาลชี้ขาดคดีขัดกันต้องพิจารณาพิพากษาให้แล้วเสร็จ
ภายใน ๓ เดือน โดยดำเนินการตามวิธีพิจารณาที่กล่าวมาในข้อ ๒.๒ ข้างต้น
- ในกรณีที่ศาลพิพากษายกคำโต้แย้ง (l arrêté de conflit) ของผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นการรับรองให้ศาลยุติธรรมนั้นมีอำนาจเหนือคดีดังกล่าวโดยอัตโนมัติ
- ในทางตรงกันข้าม ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษา
เห็นชอบด้วยกับคำโต้แย้งของผู้ว่าราชการจังหวัด ย่อมเป็นผลให้ศาลยุติธรรมนั้นไม่มีอำนาจเหนือคดีดังกล่าว อย่างไรก็ดี ย่อมเป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่ต่อศาลปกครองต่อไป
๓.๒ กรณีคดีขัดแย้งในลักษณะที่ศาลต่างปฏิเสธอำนาจของตน (le conflit négatif)
๓.๒.๑ เงื่อนไขในการเสนอข้อขัดแย้ง
- ศาลทั้งสองระบบต่างก็มีคำสั่งปฏิเสธการมีอำนาจเหนือคดีเดียวกันซึ่งมีคู่ความเดียวกันและมีประเด็นที่พิจารณาเกี่ยวกับอำนาจศาลมาจากเหตุเดียวกัน
- ศาลทั้งสองระบบดังกล่าวต้องมีความเห็นด้วยว่า
คดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลอีกระบบหนึ่ง กรณีเช่นนี้ย่อมหมายความอยู่ในตัวว่าจะต้องมีศาลใดศาลหนึ่งปฏิเสธโดยผิดพลาด (เว้นแต่กรณีที่ศาลทั้งสองระบบต่างปฏิเสธอำนาจของตนโดยอ้างว่าเป็นคดีเกี่ยวกับ การกระทำของรัฐบาล (acte de gouvernement) ทั้งนี้ เนื่องจากศาลทั้งสองระบบต่างก็ไม่มีอำนาจเหนือคดีดังกล่าว จึงมิใช่การขัดแย้งในลักษณะนี้)
๓.๒.๒ คำพิพากษาของศาลชี้ขาดคดีขัดกัน
- คู่ความทั้งสองฝ่ายมีสิทธิโต้แย้งคำสั่งของศาลดังกล่าว
ข้างต้นต่อศาลชี้ขาดคดีขัดกันได้โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา
- ในการดำเนินคดีจำเป็นต้องมีทนายความประจำ
ศาลฎีกาและสภาแห่งรัฐ (l avocat aux Conseils) ร่วมด้วย
- ศาลชี้ขาดคดีขัดกันมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอน
คำสั่งไม่รับคดีของศาลที่ปฏิเสธอำนาจของตนเหนือคดีโดยผิดพลาด
ในปัจจุบันจะพบกรณีขัดแย้งในลักษณะนี้น้อยมาก เนื่องจาก
รัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๑๙๖๐ ได้กำหนดวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวโดยอาศัยกระบวนการส่งประเด็นข้อขัดแย้งเรื่องอำนาจศาลในระหว่างพิจารณาซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในข้อ ๓.๔
๓.๓ กรณีคดีขัดแย้งกันในคำพิพากษา (le conflit de décisions au fond)
กรณีเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ๑๙๓๒
กระบวนพิจารณา คู่ความฝ่ายที่ไม่พอใจในคำพิพากษาของ
ศาลระบบใดระบบหนึ่งในสองระบบซึ่งได้พิพากษาในเนื้อหาคดีโดยให้เหตุผล
ในเรื่องอำนาจศาลที่ปรากฏจากข้อเท็จจริงที่ได้มาในคดีที่แตกต่างจากที่ปรากฏใน
คำพิพากษาของศาลอีกระบบหนึ่งในคดีเดียวกันป14 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล
ชี้ขาดคดีขัดกันได้ภายในกำหนดระยะเวลา ๒ เดือน นับจากวันที่คำพิพากษาในคดีหลังมีผล ในคดีเช่นนี้ศาลชี้ขาดคดีขัดกันย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาในเนื้อหาคดีนั้นได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องส่งคดีกลับไปให้ศาลที่พิจารณาผิดพลาดพิจารณาพิพากษาใหม่แต่อย่างใด
๓.๔ กรณีการส่งประเด็นข้อขัดแย้งเรื่องอำนาจศาลในระหว่างพิจารณา (les procédures de renvoi)
กรณีเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๑๙๖๐
เงื่อนไขและรูปแบบ
๑) กรณีที่ไม่บังคับให้ต้องส่งประเด็น (le renvoi facultatif)
ศาลฎีกาหรือสภาแห่งรัฐอาจร้องขอให้ศาลชี้ขาดคดีขัดกันพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับ
อำนาจศาลในคดีที่ตนพิจารณาอยู่ได้
๒) กรณีที่บังคับให้ต้องส่งประเด็น (le renvoi obligatoire)
ในกรณีที่ศาลใดศาลหนึ่งในระบบศาลยุติธรรมหรือระบบศาลปกครองพิจารณาเห็นว่า คดีที่ตนพิจารณาไม่อยู่ในอำนาจของตน แต่อยู่ในอำนาจของศาลอีกระบบหนึ่ง และ
ในขณะเดียวกันก็ปรากฏว่าศาลในอีกระบบศาลหนึ่งนั้นได้เคยมีคำพิพากษาว่า
คดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของตนมาก่อนแล้ว ประกอบกับคำสั่งของศาลในคดี
หลังนี้เป็นคำสั่งที่ไม่อาจอุทธรณ์โต้แย้งกันต่อไปได้ ในกรณีเช่นนี้ศาลในคดีหลัง
จะต้องรอการพิจารณาคดีนั้นไว้ก่อนพร้อมกับส่งประเด็นปัญหาเรื่องอำนาจศาลดังกล่าวไปยังศาลชี้ขาดคดีขัดกันเพื่อพิจารณา
กระบวนพิจารณาในกรณีเช่นนี้จึงเป็นวิธีการสำคัญที่จะหลีกเลี่ยง
การขัดกันเกี่ยวกับอำนาจศาลในลักษณะปฏิเสธ (le conflit négatif) ที่จะมีขึ้นนั่นเอง
การจัดตั้งศาลชี้ขาดคดีขัดกัน (le Tribunal des conflits) ของประเทศฝรั่งเศสดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นพอเป็นสังเขปนั้น เป็นกรณีตัวอย่างที่แสดง
ให้เห็นถึงแนวความคิด วิธีการ ตลอดจนวิวัฒนาการในการแก้ไขปัญหาการขัดแย้งกันของอำนาจศาลตลอดจนคำพิพากษาของศาลทั้งสองระบบได้เป็นอย่างดี ในฐานะที่ปัจจุบันประเทศไทยของเราเพิ่งเริ่มใช้ระบบศาลคู่โดยมีการจัดตั้งระบบศาลปกครองแยกต่างหากจากระบบศาลยุติธรรม และได้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพื่อทำหน้าที่ทำนองเดียวกับ ศาลชี้ขาดคดีขัดกัน ทั้งนี้ ตามมาตรา ๒๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้องค์กรและวิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการขัดแย้งกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลในประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะมีความแตกต่างในรายละเอียดไปจากกรณีของประเทศฝรั่งเศสก็ตาม แต่ลักษณะสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีศาล ๒ ระบบ แยกจากกันนี้ ย่อมมีความคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย จึงหนีไม่พ้นกับการที่ต้องศึกษาโดยเทียบเคียงวิธีการแก้ไขปัญหาจากประเทศที่มีวิวัฒนาการในเรื่องนี้มานับร้อยปี
ดังเช่นประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะปรับปรุงวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของประเทศไทยให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของเราต่อไป
เชิงอรรถ
13. เรียบเรียงจาก André DE LAUBADERE, Jean Claude VENEZIA, Yves GAUDEMET, Droit administratif, L.G.D.J. (Manuel), 16e éd., 1999 ; Jean RIVERO, Jean WALINE, Droit administratif, Dalloz, 18e éd., 2000 ; Charles DEBBASCH, Institutions et droit administratifs, PUF. (Thémis), t.2, 4e éd, 1998 ; Olivier GOHIN, Contentieux administratif, Litec, 2e éd., 1999 ; Marie Aimée LATOURNERIE, Tribunal des conflits : Répertoire de contentieux administratif, Dalloz ; Gustave PEISER, Droit administratif, Dalloz (Mémentos), 15 e éd., 1991
[กลับไปที่บทความ]
14. กรณีตัวอย่าง เช่น คดีเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรถยนต์รายหนึ่ง ศาลยุติธรรมพิพากษาว่าโจทก์ได้รับบาดเจ็บจากรถยนต์ของทหาร คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ในขณะที่ศาลปกครองพิพากษาโดยฟังข้อเท็จจริงได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากรถยนต์ของเอกชนซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง เป็นต้น (คดี Rosay) คดีนี้เป็นที่มาของการตรารัฐบัญญัติ ลงวันที่ 20 เมษายน 1932 เพื่อให้ศาลชี้ขาดคดีขัดกันมีอำนาจพิจารณาเรื่องในลักษณะนี้
[กลับไปที่บทความ]
|
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2545
|