๓. องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
๓.๑ องค์ประกอบ
๑) กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย
- ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน
- ประธานศาลปกครองสูงสุด
- หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร
- ประธานศาลอื่น (ในกรณีที่มีการจัดตั้งศาลอื่นเพิ่มขึ้น)
๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย
- ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน ๑ คน
- ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน ๑ คน
- ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการพระธรรมนูญ
ในศาลทหารสูงสุด จำนวน ๑ คน
- ผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านกฎหมายที่มิใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมของกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว จำนวน ๑ คน
คณะกรรมการฯ มีเลขานุการศาลฎีกาเป็นเลขานุการคณะกรรมการ
มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี นับแต่วันประกาศรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน
ราชกิจจานุเบกษา (มาตรา ๘)
๓.๒ อำนาจหน้าที่
หลักการตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ กำหนดให้การขัดกันในเรื่องเขตอำนาจศาล
ยุติที่ศาลชั้นต้น ดังนั้น ในมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง จึงกำหนดให้การยื่นคำร้อง
โต้แย้งเขตอำนาจศาลกระทำได้เฉพาะช่วงก่อนวันสืบพยาน (ศาลยุติธรรมหรือ
ศาลทหาร) หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก (ศาลปกครองหรือศาลอื่น) และในวรรคสองได้กำหนดห้ามศาลสูงไม่ว่าในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา หยิบยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นพิจารณาอีก
๓.๒.๑ พิจารณาวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขัดกันของอำนาจศาล
๓ ลักษณะ คือ
๑) กรณีมีปัญหาว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด 7
๒) กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน 8
๓) กรณีอื่นที่อำนาจหน้าที่ระหว่างศาลขัดแย้งกัน คือ กรณีที่มีการขัดแย้งกันระหว่างศาลในเรื่องวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา การยื่นคำร้องต่อศาลก่อนฟ้องคดีตามที่กฎหมายบัญญัติ การสืบพยานหลักฐานไว้ก่อนฟ้องคดี และบังคับตาม
คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล และการปฏิบัติการตามหน้าที่ประการอื่นของศาลตามมาตรา ๑๕ 9
๓.๒.๒ ออกข้อบังคับโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ (ม. ๑๗ วรรคสอง) 10
๒.๑) วิธีการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ
๒.๒) การพิจารณาของคณะกรรมการ
๒.๓) การวินิจฉัยของคณะกรรมการ
๒.๔) การอื่นที่จำเป็น
๓.๓ ลักษณะการขัดกันของอำนาจศาลและการส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัย
๓.๓.๑ ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลอาจมีได้ ๒ ลักษณะ คือ
ลักษณะแรก ก่อนมีคำพิพากษาของศาล ซึ่งอาจมีปัญหาโต้แย้ง
เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลว่าคดีที่ฟ้องควรอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลใด
ลักษณะที่สอง หลังจากมีคำพิพากษาของศาลแล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นจาก
คู่ความ หรือคู่กรณี หรือศาล ไม่หยิบยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจไว้ตั้งแต่ก่อนมี
คำพิพากษาของศาล และได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดในคดีที่มีการฟ้อง ๒ ศาล ขัดแย้งกันจนคู่ความหรือคู่กรณี หรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจาก
คำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติตามได้
๓.๓.๒ ลักษณะการขัดกันของอำนาจศาล มี ๔ กรณี คือ
๑) การขัดแย้งในลักษณะที่ศาลเห็นว่าตนมีอำนาจ
การขัดแย้งกันในลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการยื่นฟ้อง และศาลเห็นว่าตนมีอำนาจจึงรับฟ้อง ซึ่งแยกเป็น ๒ กรณี คือ
ก. กรณีฟ้องคดีต่อศาลใดศาลหนึ่ง (มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง)
แต่คู่ความหรือคู่กรณีฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เช่น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีและศาลยุติธรรมรับฟ้องไว้แล้ว แต่จำเลยเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง หรือต่อมาศาลที่รับฟ้องเห็นเองว่าตนไม่มีอำนาจ
ข. กรณีนำข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลตั้งแต่สองศาลขึ้นไป(มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๑๐)
แต่คู่ความหรือคู่กรณีฝ่ายที่ถูกฟ้องในทุกศาลโต้แย้งว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น หรือคู่ความหรือคู่กรณีฝ่ายที่ฟ้องคดีไว้ต่อศาลหนึ่ง แต่ตกเป็นผู้ถูกฟ้องคดีในอีกศาลหนึ่งโต้แย้งว่าคดีที่ตนถูกฟ้องนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่นหรือต่อมาศาลที่รับฟ้องเห็นว่าตนไม่มีอำนาจ
กรณีที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ถูกฟ้องคดีต้องยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหารหรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครอง หรือศาลอื่น ในการนี้ศาลที่รับฟ้องต้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความหรือคู่กรณีร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว สำหรับกรณีศาลที่รับฟ้องไว้แล้วเห็นเองภายหลังว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่นก่อนมีคำพิพากษาก็ต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน (มาตรา ๑๐ วรรคสาม)
ความเห็นระหว่างศาลนั้น อาจมีได้ ๒ ลักษณะ คือ
(๑) กรณีสองศาลเห็นพ้องกัน
กรณีนี้จะไม่มีการขัดแย้งกันเรื่องเขตอำนาจศาล จึงไม่ต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัย คือ เมื่อได้รับความเห็นจากศาลที่ส่งความเห็นว่าคดี
อยู่ในอำนาจของศาลที่ส่งความเห็นแล้ว และศาลที่รับความเห็น เห็นพ้องด้วยก็จะแจ้ง
ความเห็นของตนไปยังศาลที่ส่งความเห็น เพื่อให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป หรือหากศาลที่ส่งความเห็น เห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลอีกศาลหนึ่ง
และศาลที่รับความเห็น เห็นพ้องด้วยกับศาลที่ส่งความเห็น ก็จะแจ้งไปยังศาล
ที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลที่รับความเห็น หรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้
คู่ความไปฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป (มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๑) หรือ (๒))
(๒) กรณีสองศาลเห็นแตกต่างกัน
ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกัน ศาลที่ส่งความเห็นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ต่อไป เช่น ศาลยุติธรรมเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองและได้ส่งความเห็นไปให้ศาลปกครองแล้ว แต่ศาลปกครองเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม หรือศาลยุติธรรม
เห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม และส่งความเห็นไปให้ศาลปกครอง
แต่ศาลปกครองเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง เป็นต้น (มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และมาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง)
๒) การขัดแย้งในลักษณะที่ศาลเห็นว่าตนไม่มีอำนาจ (มาตรา ๑๒ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓))
การขัดแย้งในลักษณะนี้ศาลที่มีการฟ้องคดีเห็นว่าตนเองไม่มีอำนาจ จึงไม่รับฟ้อง แยกได้เป็น ๒ กรณี คือ
ก. กรณีศาลที่มีการฟ้องคดีเห็นว่าตนไม่มีอำนาจ
การโต้แย้งทำได้โดยการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป หรือ
นำคดีไปฟ้องยังศาลที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจ กรณีนี้จะไม่มีการขัดแย้งกันเรื่องเขตอำนาจศาล จึงไม่มีกรณีที่จะมาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ
ข. กรณีทั้งสองศาลที่มีการฟ้องคดีเห็นว่าตนไม่มีอำนาจ (มาตรา ๑๒ วรรคสอง)
การขัดแย้งกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในกรณีนี้เกิดขึ้นเพราะ เมื่อมี
การฟ้องคดีต่อศาลหนึ่งแล้ว ศาลนั้นไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าตนไม่มีอำนาจ เมื่อ
ผู้ฟ้องคดีนำคดีไปฟ้องอีกศาลหนึ่ง ศาลดังกล่าวก็ไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าตนไม่มีอำนาจรับฟ้องเช่นกัน ศาลที่มีการฟ้องคดีครั้งหลังต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยต่อไป โดยที่คู่ความหรือคู่กรณีไม่ต้องโต้แย้งดังเช่นกรณีที่ศาล
รับฟ้องเพราะเป็นหน้าที่ของศาลที่จะดำเนินการ เช่น มีการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม แต่ศาลยุติธรรมไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ต่อมาเมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้ว ศาลปกครองก็เห็นว่า คดีดังกล่าวไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองเช่นกัน กรณีนี้ ศาลปกครองต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัย โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจะเป็นที่สุด ศาลที่อยู่ในลำดับสูงขึ้นไปของศาลนั้น จะยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นพิจารณาอีกไม่ได้
๓) กรณีปัญหาคำพิพากษาขัดแย้งกัน
กรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดของศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริง
เป็นเรื่องเดียวกัน (มาตรา ๑๔) คู่ความหรือคู่กรณี หรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบ
โดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลขัดแย้งกัน สามารถยื่นคำร้องต่อ
คณะกรรมการได้โดยตรงภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด โดยคณะกรรมการมีอำนาจกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษา
ที่ขัดแย้งนั้น เพื่อให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติให้เป็นผลต่อไปได้ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวถือเป็นที่สุด
๔) กรณีอื่น ๆ
การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนอกเหนือจาก ๓ กรณีแรกที่กล่าวมา ได้แก่กรณีต่อไปนี้ คือ วิธีการชั่วคราว
ก่อนพิพากษา การยื่นคำร้องต่อศาลก่อนการฟ้องคดี การสืบพยานหลักฐานไว้
ก่อนฟ้องคดี การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล และการปฏิบัติการ
ตามอำนาจหน้าที่ประการอื่นของศาล โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีการตามมาตรา ๑๐ ถึงมาตรา ๑๔ มาใช้โดยอนุโลม
๓.๓.๓ การเสนอปัญหาและการวินิจฉัยของคณะกรรมการ
(ก) การยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาล
คู่ความหรือคู่กรณีฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีสามารถหยิบยกขึ้น
ดังได้กล่าวมาแล้ว โดยต้องยื่นคำร้องเสียตั้งแต่เริ่มคดีเพื่อมิให้คดีล่าช้า แต่เนื่องจากวิธีพิจารณาของแต่ละศาลแตกต่างกัน โดยในศาลยุติธรรมและศาลทหารจะต้องยื่น
คำร้องก่อนวันสืบพยาน ส่วนในศาลปกครองหรือศาลอื่นต้องยื่นก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก สำหรับกรณีที่ศาลเห็นเองนั้น ศาลอาจหยิบยกเขตอำนาจศาลขึ้นได้
ตลอดเวลาก่อนมีคำพิพากษา ทั้งนี้ เพื่อมิให้มีการพิพากษาคดีโดยศาลรู้อยู่ว่าคดี
ไม่อยู่ในเขตอำนาจของตน
(ข) เอกสารและวิธีการเสนอเรื่อง
(๑) กรณีที่ศาลเป็นผู้ส่ง (มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๕)
ศาลต้องจัดส่งคำร้อง คำชี้แจงของคู่ความหรือคู่กรณีฝ่ายที่ถูกฟ้อง ความเห็นของศาล
ที่เกี่ยวข้อง และเอกสารอื่นใดในสำนวนความที่จำเป็นต่อการพิจารณาวินิจฉัย
ของคณะกรรมการไปยังเลขานุการคณะกรรมการ โดยผ่านหน่วยธุรการกลาง
ของศาลนั้น
(๒) กรณีที่คู่ความหรือคู่กรณีหรือผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจาก
คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดของศาลเป็นผู้ร้อง (มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕) ต้องยื่นคำร้องต่อเลขานุการคณะกรรมการพร้อมสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ขัดแย้งกันและสำเนาเอกสารในสำนวนความที่จำเป็น
(ค) รูปแบบคำร้อง
คำร้องต้องทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ และอย่างน้อย
ต้องมีชื่อและที่อยู่ของผู้ร้อง ชื่อและที่อยู่ของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลผู้มีส่วน
ได้เสีย เหตุแห่งการยื่นคำร้อง คำขอพร้อมเหตุผลสนับสนุน และลายมือชื่อผู้ร้อง
การที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องหรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโต้แย้งเขตอำนาจศาลไว้ในคำให้การ จะไม่ถือเป็นการยื่นคำร้องตามมาตรา ๑๐ หรือ
ตามมาตรา ๑๒
(ง) การพิจารณาของคณะกรรมการ
คณะกรรมการใช้วิธีพิจารณาวินิจฉัยในรูปแบบของ
คณะกรรมการ จึงไม่มีการสืบพยานหรือดำเนินกระบวนพิจารณาในห้องพิจารณาคดี การรวบรวมความเห็น คำร้อง คำชี้แจงและเอกสารทั้งปวงที่จำเป็นต่อการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการ จะกระทำโดยเลขานุการแล้วทำบันทึกสรุปข้อเท็จจริง
และข้อกฎหมายพร้อมเสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาวินิจฉัยต่อ
คณะกรรมการ (ข้อบังคับข้อ ๒๕) เมื่อมีการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาโดยเลขานุการคณะกรรมการจะมีมติก่อนว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้ารับเรื่องคณะกรรมการต้องวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง (มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓)) คณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด การวินิจฉัยชี้ขาดในที่ประชุมถือเสียงข้างมาก โดยคณะกรรมการจะพิจารณาจากความเห็น คำร้อง คำชี้แจงและเอกสารที่คู่ความหรือคู่กรณีหรือศาล
ที่เกี่ยวข้องเสนอผ่านเลขานุการคณะกรรมการ คณะกรรมการจะมีคำสั่งยกคำร้อง (กระทำโดยมีเจตนาที่จะประวิงคดีให้ล่าช้า หรือการร้องขอให้วินิจฉัยซ้ำในเรื่องที่ได้วินิจฉัยไว้แล้ว เป็นต้น) หรือมีคำสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ (ผู้ร้องขอถอนคำร้อง หรือการส่งเรื่องให้คณะกรรมการมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น) หรือมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีที่ฟ้องอยู่ในอำนาจของศาลใด และเมื่อมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแล้ว ให้ศาลเดิมพิจารณาคดีต่อไปหรือสั่งโอนคดีหรือจำหน่ายคดี ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการต่อไป ซึ่ง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจะมีผลเมื่อศาลได้อ่านให้ผู้ร้องและบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว คำวินิจฉัยดังกล่าว นอกจากจะมีผลผูกพันในคดีนั้นแล้ว ยังมีผลผูกพัน
ศาลในลำดับสูงขึ้นไปของศาลนั้นด้วย คือ จะยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นพิจารณาอีกไม่ได้ ดังได้กล่าวมาแล้ว
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2545
|