หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 142
3 กันยายน 2549 22:15 น.
ครั้งที่ 142
       สำหรับวันจันทร์ที่ 4 กันยายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2549
       
       “สายเคเบิลใต้น้ำไปเกาะสมุย”
       
       สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเดินทางไปราชการต่างประเทศ 2 ภารกิจด้วยกัน ภารกิจแรกในฐานะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งผมได้ไปตรวจดูการจัดทำสายเคเบิลใต้น้ำที่ประเทศนอร์เวย์ จากนั้นในภารกิจที่สองที่ต่อเนื่องกันไปผมได้ร่วมเดินทางกับอัยการสูงสุดไปยังประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีการจัดการประชุมสมาคมอัยการระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 ที่กรุงปารีส ในระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมาครับ ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจึงไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยที่ยังคง “ร้อนแรง” ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานพอสมควรเพราะผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยครับ ด้วยเหตุนี้เองที่ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจะขอเล่าให้ฟังถึงเรื่องที่ผมได้ไปดูงานเกี่ยวกับสายเคเบิลใต้น้ำที่เราสั่งทำที่ประเทศนอร์เวย์เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าจากสุราษฎร์ธานีไปยังเกาะสมุย ที่แม้เรื่องดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนเลยแต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจและก็เป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยได้ทราบข่าวกันครับ
       เราคงรู้จักเกาะสมุยกันดีอยู่แล้ว ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเกาะสมุยมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมากซึ่งผลที่ตามมาก็คือประชาชนบนเกาะสมุยมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เดิมได้มีการสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปยังเกาะสมุยเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าอยู่แล้ว 2 เส้น แต่ก็ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอจึงทำให้เกิดปัญหาขาดไฟอยู่ตลอดเวลาและนอกจากนี้สายเคเบิลสายที่ 2 ก็มีปัญหามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงรอยต่อของสายเคเบิล เนื่องจากการลากสายเคเบิลจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปยังเกาะสมุยนั้นมีความยาวถึง 26 กิโลเมตรครับ! ด้วยเหตุนี้เองการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในฐานะผู้รับผิดชอบในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจึงมีโครงการที่จะวางสายเคเบิลใต้น้ำขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีก 1 สาย
       โครงการก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำไปเกาะสมุยเส้นที่ 3 นี้ใช้เวลานานมากกว่าจะสำเร็จเป็นรูปร่าง จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2546 ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) โดยแผนพัฒนาดังกล่าวก็มีเรื่องโครงการก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะต่าง ๆ ที่มีไฟฟ้าใช้แล้วซึ่งก็มีโครงการที่เกาะสมุยรวมอยู่ด้วย หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติไปแล้วคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ได้ให้ความเห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะสมุยซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีก็ได้ให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 ภายหลังจากที่ได้รับความเห็นของกระทรวงพลังงานว่าโครงการดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำไปเกาะสมุยนี้มีรายละเอียดที่สำคัญคือ การก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำจำนวน 1 วงจร ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร โดยใช้เงินลงทุนทั้งหมด 922 ล้านบาท ซึ่งมีที่มาจากเงินกู้ภายในประเทศ 690 ล้านบาท และจากรายได้ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 232 ล้านบาทครับ
       ในโลกของเรานี้มีโรงงานผลิตสายเคเบิลใต้น้ำ (submarine cable) อยู่ไม่กี่แห่ง ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในยุโรป คือ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และอิตาลี ส่วนในเอเชียก็มีที่ญี่ปุ่น เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ทำการก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปยังเกาะสมุย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็หาผู้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวด้วยวิธีการประกวดราคา ซึ่งในที่สุดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ได้ทำสัญญาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 ว่าจ้างบริษัท The Consortium of Italian-Thai Development Public Company Limited and Nexans Norway AS ด้วยวงเงิน 898 ล้านบาทเศษ โดยมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 540 วันครับ
       ผมได้เดินทางไปชมการผลิตสายเคเบิลใต้น้ำที่โรงงานของ Nexans Norway มาครับ ก็รู้สึก “ตื่นเต้น” มากที่ได้เห็นสายเคเบิลเส้นใหญ่ขนาดนั้น โดยผมจะขอเล่าอย่างสรุปให้ฟังก็แล้วกันครับ สายเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่นี้มีความยาว 26 กิโลเมตรและ “ไม่มีรอยต่อ” ครับ ที่ว่าไม่มีรอยต่อนี้หมายความว่าตัว “สายไฟ” ที่อยู่ข้างในนั้นมีรอยต่ออยู่แล้วแต่ฉนวนหุ้มสายเคเบิลด้านนอกนั้นไม่มีรอยต่อใด ๆ เพราะในการผลิตสายเคเบิลนั้น บริษัทผู้ผลิตได้ทำการผลิตอย่างต่อเนื่องกันไปเรื่อยตั้งแต่เริ่มต้นจนครบ 26 กิโลเมตร จึงทำให้ฉนวนหุ้มสายเคเบิลไม่มีรอยต่อครับ เมื่อทำการผลิตเสร็จก็ขดสายเคเบิลทั้ง 26 กิโลเมตรให้เป็นม้วนเดียวกันแล้วส่งลงเรือเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อดำเนินการวางสายต่อไป ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูการผลิตสายเคเบิลช่วง 2-3 กิโลเมตรสุดท้ายในโรงงานและได้เห็นเครื่องจักรทำการพันฉนวนหุ้มสายเคเบิลหลายชั้นแล้วก็เคลือบด้วยยางมะตอยด้านนอก จากนั้นก็พันด้วยลวดแล้วก็เคลือบด้วยยางมะตอยอีกชั้นหนึ่ง โดยพอเคลือบเสร็จ เครื่องจักรก็จะนำสายเคเบิลไปม้วนรวมไว้ด้วยกันเพื่อส่งลงเรือนำมาประเทศไทยต่อไปครับ



สายเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่นี้บริษัทผู้ผลิตรับรองว่ามีอายุการใช้งานตามปกติประมาณ 30 ปี แต่ก็มี “ความเสี่ยง” อยู่บ้างเหมือนกันเพราะอาจเป็นไปได้ที่จะมีเรือบางลำทอดสมอลงไปโดนสายเคเบิลทำให้สายเสียหายได้ ด้วยเหตุนี้เอง การวางสายเคเบิลใต้น้ำไปเกาะสมุยในครั้งนี้จึงได้กำหนดให้ต้องฝังสายเคเบิลใต้น้ำลึกลงไปใต้พื้นทราย 1.50 เมตร โดยบริษัทผู้ดำเนินการก่อสร้างและวางสายได้ทำการสำรวจพื้นที่บริเวณดังกล่าวแล้วพบว่า หากมีเรือมาทอดสมอในบริเวณดังกล่าว สมอก็จะไม่มีทางลงไปกระทบหรือทำความเสียหายให้กับสายเคเบิลซึ่งอยู่ลึกลงไปถึง 1.50 เมตรได้ครับ แต่อย่างไรก็ดี เพื่อความไม่ประมาทและเพื่อความปลอดภัย เมื่อวางสายเคเบิลเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีการแสดงเครื่องหมายห้ามทอดสมอตลอดแนวของสายเคเบิลครับ ส่วนความปลอดภัยด้ายอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี “ไฟฟ้ารั่ว” นั้น ถ้าเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นก็จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะทันทีที่เกิดไฟฟ้ารั่ว กระแสไฟก็จะถูกตัดโดยอัตโนมัติครับ โดยบริษัทผู้ผลิตได้ทำการรับประกัน “คุณภาพ” ของสายเคเบิลดังกล่าวไว้เป็นระยะเวลา 5 ปีครับ





ขณะนี้ สายเคเบิลใต้น้ำที่จะใช้กับเกาะสมุยผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วและออกเดินทางจากประเทศนอร์เวย์แล้วเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยม้วนลงเรือขนาดใหญ่มาครับ สายเคเบิลใต้น้ำความยาว 26 กิโลเมตรนี้มีน้ำหนักรวมกันถึง 1200 ตัน เรือบรรทุกสายเคเบิลใต้น้ำจะเดินทางมาถึงจังหวัดสงขลาประมาณวันที่ 1 ตุลาคม จากนั้นก็จะมีการเปลี่ยนเรือโดยจะย้ายสายเคเบิลจากเรือที่ขนมา มาใส่ไว้ในเรือที่จะใช้ในการวางสาย ส่วนการวางสายเคเบิลใต้น้ำก็จะดำเนินการในระหว่างวันที่ 7-26 ตุลาคม ซึ่งผมก็คงจะต้องหาเวลาไปดูการวางสายครั้งนี้ด้วยครับ การวางสายดังกล่าวจะเริ่มจากการเดินสายไฟลึกลงไปใต้ดินประมาณ 1 เมตร ในระยะทาง 1 กิโลเมตร จากสถานีไฟฟ้าแรงสูงขนอม ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอขนอม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อลงใต้ทะเลในระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตรไปขึ้นที่สถานีจ่ายไฟที่เกาะสมุยครับ
       โครงการเดินสายเคเบิลใต้น้ำนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อยู่อาศัยและผู้ไปเที่ยวเกาะสมุยอย่างมาก ส่วนโครงการต่อ ๆ ไปที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะดำเนินการก็มีอยู่อีกหลายโครงการด้วยกัน เช่น โครงการเดินสายเคเบิลใต้น้ำระยะทาง 40 กิโลเมตรไปยังเกาะเต่า ระยะทาง 5 กิโลเมตรไปยังเกาะช้าง และระยะทาง 22 กิโลเมตรไปยังเกาะพีพีครับ ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นการ “แบ่งปัน” ประสบการณ์กันก็แล้วกันนะครับ อย่าเพิ่งต่อว่าผมว่าบทบรรณาธิการครั้งนี้ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับกฎหมายมหาชนเลย!!!
       ผมอยู่ต่างประเทศ 18 วัน ทำให้ติดตามข่าวสารการเมืองของประเทศไทยไม่ได้มากเท่าที่ควร ที่ทราบข่าวก็รู้สึกห่วงบ้านเมืองเหลือเกินเพราะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีกับประเทศชาติเกิดขึ้นมากมายเหลือเกินในขณะที่ปัญหาเก่าก็ยังแก้ไขไม่ได้ มานั่งคิด ๆ ดูแล้วเห็นว่าไม่มีทางออกอะไรมากมายนักในเวลานี้ เพราะแม้ว่าในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะถึงวันเลือกตั้ง แต่พอดูๆ ไปแล้วก็ไม่แน่ใจเลยว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่เพราะจนถึงวันนี้เรายังไม่มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผมไม่ทราบว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ต้องใช้เวลาเตรียมตัวและเตรียมการนานเท่าไรสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสำหรับการรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่จนป่านนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จเสียที! สถานการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองก็ยังไม่อยู่ในสภาพที่ “นิ่ง” ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรตามมาในวันข้างหน้าและจะมี “ทางออก” อย่างไรให้กับเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นครับ โดยส่วนตัวนั้น ผมเห็นว่าทางออกที่จะทำให้เรื่องยุ่งๆทั้งหลาย “จบลง” ก็คือ การยุบพรรคการเมืองกับการที่นายกรัฐมนตรีลาออกและ “เลิก” เล่นการเมืองครับ อย่างหลังคิดว่าคงเป็นไปได้แต่ก็ไม่ง่ายนักเพราะนายกรัฐมนตรี “อดทน” กับเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองมาเกิน 6 เดือนแล้ว ซึ่งผมก็ต้องยอมรับว่านายกรัฐมนตรีของเราเป็นบุคคลที่ “อึด” จริง ๆ ครับ ส่วนเรื่องการยุบพรรคการเมืองก็เป็นอีกทางออกหนึ่งซึ่งแม้ผมจะไม่อยากแสดงความคิดเห็นที่มีลักษณะเป็นการ “ชี้นำ” แต่ผมก็อดคิดไม่ได้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “ยุบ” พรรคการเมืองที่มีปัญหา “ก่อน” การเลือกตั้ง ก็น่าจะทำให้บรรยากาศต่าง ๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้ครับ เรื่องนี้เราคงต้องหาโอกาสพูดคุยกันต่อในบทบรรณาธิการครั้งต่อ ๆ ไปครับ
       
       ในที่สุด หนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 5” ก็ได้จัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในเล่ม 5 นี้ มีบทความดี ๆ จำนวน 25 บทความ และหนังสือมีความหนาถึง 454 หน้าครับ ก็เช่นเดียวกับทุก ๆ ปีคือ เราจะแจกให้กับผู้สนใจโดยขอให้ดำเนินการตามรายละเอียดที่ได้นำเสนอไว้ในกรอบด้านข้างของบทบรรณาธิการนี้ครับ ก็คงต้องรีบ ๆ กันหน่อยนะครับเพราะผมได้รับหนังสือมาประมาณ 500 เล่มครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอรวม 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง "คนขี่เสือ” ; He Who Rides a Tiger” บทความที่สองเป็นบทความของคุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี นักศึกษาระดับปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยปารีส 12 ที่เขียนเรื่อง “สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน” ส่วนบทความที่สามเป็นบทความเรื่อง “คดีเลือกตั้งตอนที่ 2 การตรวจสอบการเลือกตั้งโดยองค์กรตุลาการ” ของคุณจรูญ ศรีสุขใส ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพชรบุรีที่ส่งเข้ามาร่วมเผยแพร่กับเราโดยผ่านมาทาง webmaster ครับ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้ง 3 ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2549
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544