|
|
|
|
|
ครั้งที่ 141
สำหรับวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2549
นโยบายพรรคการเมือง
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เริ่มนำเสนอ นโยบาย พรรคการเมืองของตนผ่านสื่อหลาย ๆ ประเภทซึ่งก็คงผ่านตาพวกเราไปบ้างไม่มากก็น้อย ไม่กี่วันหลังจากนั้นก็มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ว่า คล้าย กับนโยบายของพรรคไทยรักไทย คือ เน้น ประชานิยม จากนั้น ก็ตามมาด้วยการวิวาทะทางความคิดของกลุ่มคนต่าง ๆ เกี่ยวกับ ความคล้ายคลึง ของนโยบายของพรรคการเมืองทั้งสองพรรคอย่างต่อเนื่องผ่านทางสื่อต่าง ๆ เช่นเดียวกัน ในฐานะ คอการเมือง คนหนึ่งผมคงไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ อย่างเต็มที่ ไว้ในขณะนี้เพราะที่ถูกแล้วเราควร รอ ดูนโยบายพรรคการเมืองทุกพรรคที่จะส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ก่อนว่าเป็นอย่างไร จากนั้นค่อยมานั่งพูดจากันจะเหมาะสมกว่าครับ อย่างไรก็ดี สืบเนื่องมาจากนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้นำเสนอไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมมีความเห็นทั่วไปอยู่ 2 เรื่องที่อยากจะนำมาเขียนในบทบรรณาธิการครั้งนี้ โดยเรื่องแรกก็เป็นเรื่องของการจัดทำนโยบายพรรคการเมือง กับเรื่องที่สองเป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอแนวความคิดในเรื่องความผิดฐานทุจริตคอรัปชั่นเป็นคดีไม่มีอายุความ
ในเรื่องแรก คือเรื่องการจัดทำนโยบายพรรคการเมืองนั้น ก่อนอื่นเราคงต้องตอบคำถามในเบื้องต้นให้ได้เสียก่อนว่า นโยบายพรรคการเมืองคืออะไร เพราะโดยหลักแล้ว เมื่อมีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา พรรคการเมืองก็ย่อมจะต้องมี อุดมการณ์ทางการเมือง ตามวัตถุประสงค์ของผู้ที่จัดตั้งพรรคการเมืองนั้น เช่น เป็นพรรคการเมืองของผู้ที่นิยมชมชอบระบบสังคมนิยม อนุรักษ์นิยม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งคอมมิวนิสต์ เป็นต้น เมื่อตั้งพรรคการเมืองสำเร็จ อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองดังกล่าวก็จะกลายมาเป็น ที่มา ที่สำคัญของนโยบายพรรคการเมืองนั้นครับ และนโยบายพรรคการเมืองนี้เองก็จะกลายเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองนำเสนอให้กับประชาชนเพื่อให้ประชาชนพิจารณาในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่าจะ เลือก พรรคการเมืองใดเพื่อให้พรรคการเมืองนั้นนำนโยบายพรรคการเมืองของตนเข้ามาบริหารประเทศ นโยบายพรรคการเมืองจึงไม่ใช่สิ่งที่เขียนขึ้นมา ลอย ๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัด เพราะนโยบายของพรรคการเมืองก็คือวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งพรรคการเมือง แล้วต่อมาก็กลายมาเป็นแนวทางในการบริหารประเทศครับ
การจัดทำนโยบายพรรคการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อน นโยบายพรรคการเมืองที่ดีควรจะต้อง ครอบคลุม ภารกิจทุกประเภทของรัฐทั้งที่เป็นภารกิจ ถาวร เช่น ระบบการปกครองประเทศ ระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา และการสาธารณสุข เป็นต้น และภารกิจ พิเศษ ที่มีขึ้นเป็นการเฉพาะครั้งเฉพาะคราวเพื่อ แก้ปัญหา ของประเทศ เช่น ในยามที่ประเทศประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ นโยบายพรรคการเมืองก็ต้องนำเสนอ ทางออก ของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเอาไว้ด้วย เป็นต้น และนอกจากนี้แล้ว ในส่วนของการจัดทำนโยบายพรรคการเมือง เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่านโยบายพรรคการเมืองยังจะต้องจัดทำด้วยวิธีการพิเศษที่ผ่านการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบโดย ผู้ชำนาญ แต่ละศาสตร์ เพราะการดำเนินนโยบายของประเทศและการแก้ปัญหาของประเทศจะต้องจัดทำโดยผู้มีประสบการณ์สูงและผ่านการคิดไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือเกิดความล้มเหลวขึ้นเมื่อพรรคการเมืองเจ้าของนโยบายเข้าบริหารประเทศแล้วไม่สามารถทำตามนโยบายของพรรคการเมืองของตนได้หรือหากทำตามนโยบายของพรรคการเมืองของตนแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประโยชน์สาธารณะ (public interest) อย่างร้ายแรงครับ
เมื่อเราทราบถึง ความสำคัญ ของนโยบายพรรคการเมืองแล้ว เราลองมาพิจารณาดูนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ที่นำเสนอไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมากันบ้าง พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอนโยบายต่าง ๆ หลาย ๆ เรื่อง เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น การตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงในระดับหมู่บ้าน การส่งเสริมให้ประชาชนออมเงินผ่านโครงการหรือสหกรณ์โดยรัฐจะเข้าร่วมสมทบทุนในโครงการหรือสหกรณ์นั้น ๆ การเพิ่มงบอุดหนุนด้านการศึกษาให้เรียนฟรี 12 ปี ความผิดฐานทุจริตคอรัปชั่นเป็นคดีไม่มีอายุความ การให้ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับนักการเมืองที่คดโกงได้ เป็นต้น นโยบายต่าง ๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการนำเสนอผ่านสื่อทุกประเภทอยู่ในเวลานี้ ดู ๆ แล้วก็คงไม่มีอะไรแตกต่างจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทยในวันนี้เท่าไหร่นัก เพราะหากเราจะถือว่าพรรคไทยรักไทยเป็นผู้สร้างระบบ ประชานิยม ขึ้นมา นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ก็มีกลิ่นของ ประชานิยม อยู่เต็มไปหมด (เว้นแต่ 2 กรณีหลังที่จะได้กล่าวถึงต่อไปครับ) ซึ่งผมได้สังเกตเห็นว่า นโยบายพรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นนโยบายที่จัดทำขึ้นมาเพื่อ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดย รับ เอาส่วนดีของพรรคไทยรักไทยที่ทำไว้มา ต่อยอด ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เองก็มุ่งที่จะ แก้ปัญหา อันเกิดจากการทำงานการเมืองในรอบ 5 ปีเศษที่ผ่านมาของพรรคไทยรักไทย จึงได้ใส่เรื่องสำคัญไว้ 2 เรื่อง คือ ความผิดฐานทุจริตไม่มีอายุความและการให้ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับนักการเมืองที่คดโกงได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ครบวงจร ครับ
ผมคงไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไรมากมายนักเพราะผมคิดว่านโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอนั้นไม่มีความเป็นรูปธรรมเท่าไรแล้วก็คล้าย ๆ กับนโยบายของพรรคการเมืองพรรคอื่นด้วยครับ จริง ๆ แล้วในช่วงเวลา 5 ปีกว่าที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์น่าจะมองเห็นปัญหาและข้อบกพร่องต่าง ๆ อันเกิดจากรัฐบาลไทยรักไทยแล้วก็หาเวลาจัดทำนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ให้ดีกว่านี้มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นพรรคเก่าแก่และเคยจัดตั้งรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์จึง น่าจะ สานต่อนโยบายเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ก่อนที่จะมีรัฐบาลพรรคไทยรักไทยครับ เพราะในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 2 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ.2535 และในปี พ.ศ.2540 โดยในปี พ.ศ. 2535 นั้น คุณชวน หลีกภัย เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 23 กันยายน 2535 และเป็นรัฐบาลอยู่ได้ 3 ปี ก็ต้องยุบสภาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2538 โดยมีเหตุสำคัญคือมีการนำเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 แจกจ่ายให้เศรษฐีที่ดินในจังหวัดภูเก็ต ต่อมาคุณชวน หลีกภัย ก็ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 หลังจากที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีลาออก ในครั้งหลังนี้ รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์มีผลงานหลายอย่างที่ยัง ค้างคา ใจของผู้คนจำนวนมากอยู่ คือ การลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การประกาศใช้กฎหมายล้มละลาย การตั้งองค์กรเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาดูนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้แล้ว ก็ไม่เห็น ความเชื่อมโยง ระหว่างการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล 2 ครั้งหลังสุด กับนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ที่นำเสนอในวันนี้ครับ เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยควรจะต้องตอบคำถามสำคัญแล้วว่านโยบายหลักของพรรคประชาธิปัตย์นั้นคืออะไร มีอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ และนโยบายพิเศษเพื่อแก้ปัญหาของประเทศเฉพาะคราวนั้นจัดทำโดยใช้เกณฑ์ใดเพราะอย่างเช่นกรณีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็เริ่มต้นในสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล หากพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาลในวันนี้จะทำอย่างไรต่อไปกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จะใช้กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจต่อไปหรือไม่ รวมทั้งจะแก้ปัญหาความ ไม่โปร่งใส ที่เกิดจากการดำเนินการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจโดยรัฐบาลไทยรักไทยอย่างไรครับ ! สิ่งเหล่านี้คงต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้กับประชาชนครับ
ก่อนจะจบเรื่องแรกคือ เรื่องการจัดทำนโยบายพรรคการเมืองนั้น ผมคิดว่าขณะนี้คงมีคนจำนวนมากที่อยากเห็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมของพรรคการเมืองมากกว่านโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยครับเพราะ 5 ปีที่ผ่านมา พรรคไทยรักไทยทำได้แค่เพียงนโยบายประชานิยม ส่วนเรื่องอื่น ๆ รวมถึงเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นถือได้ว่า ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น นโยบายพรรคการเมืองที่น่าจะนำเสนอมากที่สุดจึงไม่ควรเป็นเรื่องประชานิยมแต่ควรจะเป็นประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องกล่าวถึงอย่างเป็น รูปธรรม ไว้ในนโยบายพรรคการเมืองของตน เช่น จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไรที่ไม่ใช่การเอาตัวรอดไปวัน ๆ จะแก้ปัญหาภาคใต้ได้อย่างไร จะปฏิรูปการเมืองประเด็นไหนบ้าง รวมไปถึงนโยบายด้านการศึกษา การสาธารณสุข สาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ ด้วย เพราะอย่างที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้นว่านโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยนั้นตอนนี้ทุกพรรคการเมืองคง ปฏิเสธ ได้ยากเพราะประชาชน ติด กับสิ่งเหล่านั้นแล้ว ที่พรรคการเมืองพรรคอื่นสามารถทำได้ก็คือสานต่อนโยบายประชานิยมแล้วก็คงต้องเข้าไปหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายบางอย่างที่เข้าไป บิดเบือน กลไกของตลาด เช่น การลดราคาน้ำมัน เป็นต้น และนอกจากนี้แล้ว ผมอยากจะฝากเป็นข้อสังเกตสำคัญเอาไว้ด้วยว่าเป็นที่เข้าใจต้องตรงกันแล้วว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้เป็นการเลือกตั้งเพื่อ ปฏิรูปการเมือง โดยรัฐบาลและรัฐสภาชุดใหม่จะเข้ามาผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อดำเนินการเสร็จรัฐบาลก็จะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ตามกติกาใหม่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้น การปฏิรูปการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่ในนโยบายพรรคการเมืองทุกพรรคที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยในนโยบายดังกล่าวจะต้อง อธิบาย อย่างละเอียดถึงกระบวนการ ขั้นตอน และผู้ที่จะเข้ามาทำการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสพิจารณาว่าจะเลือกรูปแบบในการปฏิรูปการเมืองของพรรคการเมืองใดครับ รวมถึงประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ด้วยครับ
เรื่องที่สองที่ผมจะขอกล่าวถึงในบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็คือ สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอเรื่องความผิดฐานทุจริตคอรัปชั่นเป็นคดีไม่มีอายุความ จริง ๆ แล้วจะว่าผมเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวก็ไม่ค่อยตรงนัก เพราะว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผมเองเป็นผู้เสนอครับ แฟนประจำของ www.pub-law.net คงเคยผ่านตากันไปบ้างแล้วกับข้อเขียนของผมในเรื่องความผิดฐานโกงแผ่นดินไม่ควรมีอายุความ โดยข้อเขียนดังกล่าวปรากฏอยู่ในบทบรรณาธิการหลาย ๆ ครั้ง เช่น บทบรรณาธิการครั้งที่ 69 วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2546 หรือบทบรรณาธิการครั้งที่ 91 วันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2547 และนอกจากนี้แล้วก็ยังมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ได้นำเอาบทบรรณาธิการและความคิดของผมออกไปเผยแพร่ รวมทั้งตัวผมเองก็ได้มีโอกาสบรรยายในหลายเวทีด้วยกันในหัวข้อดังกล่าวด้วย ดังนั้น ในวันนี้ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์นำเสนอวิธีคิดในเรื่องความผิดฐานทุจริตคอรัปชั่นเป็นคดีไม่มีอายุความต่อสาธารณชน จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่ ความคิด ดังกล่าวได้รับความสนใจและอาจกลายเป็นมาตรการที่ เป็นจริง ขึ้นมาได้ แต่จะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนก็คงต้องรอดูกันต่อไป รวมทั้งรอดู คำอธิบาย และ เงื่อนไข ของประเด็นที่กล่าวนี้จากพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เพราะคำว่า ไม่มีอายุความ ที่ผมเสนอนั้นหมายถึงในกรณีที่เราแก้รัฐธรรมนูญและบรรจุเรื่องการดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เอาไว้ในลักษณะไม่มีอายุความ ก็จะหมายความว่า ต่อไปนี้อายุความ 10 ปีก็จะหมดไป ถ้าใครจะหนีคดีก็หมายความถึงต้องหนีตลอดชีวิต ทรัพย์สมบัติที่โกงมาหรือได้มาโดยไม่ชอบเหล่านั้นจะต้องถูก ตามล่า เอากลับคืนมาเป็นของประเทศไม่ว่าจะตกอยู่ในมือลูกหรือหลานในเวลาใดก็ตาม และนอกจากนี้แล้ว คำว่าไม่มีอายุความที่ผมนำเสนอยังหมายถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ด้วย กล่าวคือ เมื่อแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวก็สมควรที่จะเขียนให้ชัดเจนเลยว่า การดำเนินคดีกับผู้โกงแผ่นดินให้ใช้กับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนการแก้รัฐธรรมนูญด้วยครับ!!! เรียกได้ว่าต้องย้อนกลับไปเอาผิดได้ไม่ว่าจะทำผิดเมื่อใดกันเลยทีเดียวครับ ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเช่น สมมติว่า หากเราตรวจสอบพบว่า มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณี ส.ป.ก.4-01 ในปี พ.ศ.2538 ที่ร่ำรวยขึ้นมามากมายจากการนั้น วันนี้ แม้พ้นอายุความ 10 ปีไปแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังสามารถ ลากตัว ผู้ทำผิดมาลงโทษได้ รวมไปถึงทำให้ผลประโยชน์ที่ได้มาโดยมิชอบตกเป็นของแผ่นดินได้ในปี พ.ศ.2549 นี้ด้วยครับ หากทำอย่างนี้ได้แล้วก็มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ผมว่าประชาชนจำนวนมากคง เทคะแนน ให้กับพรรคประชาธิปัตย์เป็นแน่ครับ แต่ผมก็รู้สึกกลัวเหมือนกันที่เสนอแนวคิดนี้ไปเพราะไม่แน่ว่าจะมีใครยอมทำตามไหม เพราะดู ๆ แล้ว รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมาต่างก็มีปัญหาเรื่อง ความโปร่งใส และก็ถูกกล่าวหากันทุกรัฐบาลนะครับว่า ไม่ตรงไปตรงมา ก็คงต้องรอดูกันต่อไปแล้วกันว่า ในที่สุดแล้ว ประชาชนจะได้อะไรจากการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้นอกเหนือไปจากการได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนโยบายที่ไม่ตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะครับ
ก่อนจะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็ต้องบอกกล่าวกันอีกรอบหนึ่งว่า ที่เขียนมาทั้งหมดมิใช่ว่าจะมีเจตนาไม่ดีกับพรรคประชาธิปัตย์แต่เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์เสนอนโยบายของพรรคเป็นพรรคแรกสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมในฐานะประชาชนก็ขอ นำเสนอ ความคิดและความประสงค์ของผมเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้จัดทำนโยบายทั้งของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่น ๆ ด้วย โดยจะขอสรุปสั้น ๆ ก็คือ อยากเห็นนโยบายของพรรคการเมือง 2 ส่วน นโยบาย ถาวร ที่จะนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนและแน่นอน กับนโยบาย เฉพาะกิจ ที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศที่มีอยู่หลายต่อหลายเรื่องเพื่อให้วิกฤติทั้งหลายจบลงได้อย่างดีและรวดเร็วครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ 3 บทความมานำเสนอ บทความแรก เป็นบทความของนักกฎหมายมหาชนผู้โด่งดังที่ หยุด จับปากกาไปเสียนานเพราะมัวแต่ไปคว้า ไมโครโฟน อยู่กับกลุ่มพันธมิตร กลับมาใหม่ในครั้งนี้นอกจากจะยัง คม เหมือนเดิมแล้วยังได้รับการเปลี่ยนตำแหน่งทางวิชาการมาเป็น รองศาสตราจารย์ อีกด้วยครับ ก็ต้องขอแสดงความปิติยินดีกับรองศาสตราจารย์คนใหม่ไว้ ณ ที่นี้ด้วย บทความดังกล่าวเขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ แห่งสำนักท่าพระจันทร์ เรื่องบทวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549) ส่วนบทความที่สองเป็นบทความเรื่อง การกระทำของรัฐบาลกับการออกพระราชกำหนด โดย นาวาอากาศตรี พงศธร สัตย์เจริญ และบทความที่สามคือบทความเรื่อง ฤาว่าโลกเรานี้แบน โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง ขาประจำอีกคนหนึ่งของเรา ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้ง 3 ไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ นอกจากนี้แล้ว เราก็มีการแนะนำหนังสือใหม่ที่น่าสนใจอีกจำนวนหนึ่งด้วย ลองเข้าไปสำรวจดูได้ครับ
ผมเดินทางไปราชการต่างประเทศในระหว่างวันที่ 16 สิงหาคมถึงวันที่ 2 กันยายน 2549 โดยในช่วงสัปดาห์แรกจะไปประเทศเนเธอร์แลนด์ รัสเซีย และฟินแลนด์ ส่วนสัปดาห์ที่สองก็จะอยู่ที่อังกฤษกับฝรั่งเศสครับ
หนังสือรวมบทความกฎหมายมหาชนจาก www.pub-law.net เล่ม 5 พร้อมที่จะแจกให้แก่ผู้ใช้บริการได้ปลายเดือนสิงหาคมนี้แล้วนะครับ ใครสนใจก็ต้องติดตามรายละเอียดต่อไปในบทบรรณาธิการครั้งหน้าครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2549 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|