หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 351
10 ธันวาคม 2560 14:32 น.
ร่างกฏหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

       
 

       
เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ได้เสนอร่างกฏหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายว่าด้วยการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตซึ่งออกตามความในมาตรา 63 และมาตรา 278 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันซึ่งต้องมีการจัดทำกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

       
 

       
ร่างกฏหมายฉบับนี้ประกอบด้วยสาระสำคัญ 6 ประการด้วยกันคือ

       
1.กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (คตป.) คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 3 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 4 คน และกรรมการผู้แทนภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมที่ได้รับการสรรหาจากเครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชนจำนวน 4 คน มีรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.คนหนึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ต่อต้านหรือชี้เบาะแสการทุจริตให้การรับรองและเพิกถอนเครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของภาคประชาชนและกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรวมตัวกันต่อต้านหรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ

       
2.กำหนดให้มีการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยให้เครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชนซึ่งได้รับการรับรอง สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปนี้คือ การรณรงค์ให้ความรู้ การต่อต้านและการชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งในการรณรงค์ให้ความรู้นั้น หน่วยงานของรัฐอาจร่วมกับเครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชนหรือมอบหมายให้เครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชนเป็นผู้ดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ การรวมตัวกันของเครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชนต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฏหมาย กรณีมีการกลั่นแกล้งฟ้องร้องผู้ชี้เบาะแส ให้ภาระการพิสูจน์จึงตกเป็นของผู้ฟ้องคดี ส่วนการชี้เบาะแสตามร่างกฏหมายนี้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการชี้เบาะแสโดยสุจริตและเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะและต้องมีการปกปิดข้อมูลมิให้สามารถระบุถึงตัวผู้ชี้เบาะแสได้

       
3.กำหนดมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือเครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชนเช่น การปกปิดมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่สามารถระบุตัวผู้ชี้เบาะแสได้ การห้ามปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ชี้เบาะแส การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ชี้เบาะแสโดยให้การคุ้มครองเครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชนและบุคคลที่มีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตและให้ความคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสการทุจริตรวมถึงบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้แจ้งเบาะแสด้วย รวมทั้งจัดหาทนายความให้และให้คำปรึกษาเมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

       
4.กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานความร่วมมือต่อต้านการทุจริตขึ้นในสำนักงาน... ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการเครือข่ายต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชน และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อรณรงค์ให้ความรู้ต่อต้านหรือชี้เบาะแส รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการหรือนโยบายของคณะกรรมการเพื่อให้เป็นไปตามร่างกฏหมายนี้

       
5.กำหนดให้รัฐจัดสรรเงินงบประมาณในหมวดเงินอุดหนุนเพื่อให้การส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการณรงค์ให้ความรู้ต่อต้านหรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบรวมทั้งการคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสตามร่างกฏหมายนี้รวมทั้งกำหนดให้กรณีสำนักงาน ป.ป.ท. ได้รับเงินที่มีผู้มอบให้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้านหรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้สำนักงาน ป.ป.ท. จ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันภายในวงเงินที่ได้รับนั้นได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง

       
6.มีบทกำหนดโทษกรณีกระทำความผิดต่อชีวิตร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญาต่อผู้ชี้เบาะแสหรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ชี้เบาะแสโดยเพิ่มโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น กรณีผู้ที่มีอำนาจเหนือการปฏิบัติงานของผู้ชี้เบาะแสกระทำการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงานลักษณะงาน สถานที่ทำงาน ข่มขู่หรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ชี้เบาะแส กรณีแจ้งเบาะแสอันเป็นเท็จ กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดนำข้อมูลของผู้ชี้เบาะแสหรือบุคคลที่มีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตไปเปิดเผยโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและได้กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฏหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

       
 

       
ร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบฉบับนี้ แม้จะมีเนื้อหาที่อ่านดูแล้วน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในบ้านเรา แต่ในชั้นสอบถามความเห็นจากหน่วยงานเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ก็มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่แสดงความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับข้อเสนอของสำนักงาน ป.ป.ท. ซื่งต่อมา คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฏหมายดังกล่าวตามที่สำนักงาน ป.ป.ท. เสนอและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย

       
 

       
คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างกฏหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการทุจริตและประพฤติมิชอบฉบับนี้แล้ว เห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีหลักการซ้ำซ้อนกับร่างกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต.. .... ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้นและอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการที่รัฐได้จัดทำกฎหมายที่รองรับหลักการตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญไว้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการตราร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ. . .... ขึ้นอีกฉบับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้มีความเห็นไปยังคณะรัฐมนตรีว่า หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นควรให้สำนักงาน ป.ป.ท.มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามมาตรการและกลไกที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดขึ้น ก็อาจแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ท. มีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวได้ คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) .. .... ขึ้นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญคือมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน...ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบรวมตลอดทั้งรณรงค์ให้ความรู้ต่อต้านหรือชี้เบาะแสรวมทั้งเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสำนักงาน ป.ป.ท.ในการดำเนินงานดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ท.อาจตั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนเพื่อให้คำเสนอแนะ ช่วยหรือและร่วมมือกันดำเนินการก็ได้

       
 

       
กล่าวโดยสรุปสำหรับข้างต้นทั้งหมดก็คือ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกร่างกฏหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะต้องมี แต่เมื่อส่วนราชการไปดำเนินการยกร่างกฏหมาย ผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆ มาแล้ว เช่น การรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องในหลายๆรูปแบบ เป็นต้น การกลับปรากฏในเวลาต่อมาว่า ร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้นมาใหม่นั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีเพราะมีหลักการซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่อยู่ในระหว่างการจัดทำของหน่วยงานอื่น

       
 

       
ปัญหาของระบบกฎหมายของเราในวันนี้ก็คือเรามีกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมากที่เกิดขึ้นมาเรื่องบางเรื่องไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบัญญัติเป็นกฎหมายใหม่เพราะมีกฎหมายฉบับอื่นที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องในทำนองเดียวกันอยู่แล้วเพียงแต่แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้นก็สามารถใช้บังคับได้แต่ก็ติดขัดที่ว่าในปัจจุบันเรามีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงานแต่ละหน่วยงานต่างก็อยากมีกฎหมายเป็นของตัวเองอยากมีอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายของตัวเองบัญญัติไว้หน่วยงานจึงรีบเร่งทำกฎหมายเพื่อให้เรื่องที่อยู่ในรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของตนร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นตัวอย่างอันดีของการจัดทำร่างกฏหมายที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญว่าแม้หน่วยงานจะเห็นว่าฎหมายที่จะต้องออกตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญควรจะเป็นกฎหมายใหม่แยกออกมา แต่ในที่สุดแล้ว เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาและสาระสำคัญองสิ่งที่จะมาเป็นกฎหมายใหม่ เราสามารถนำเนื้อหาและสาระสำคัญเหล่านั้นไปบัญญัติไว้ในกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วด้ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว็คงต้องทำงานเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อย  การจัดทำกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้หน่วยงานใหม่จะทำให้จำนวนกฏหมายในประเทศไทยเรามีมากขึ้นแต่ก็จะมีเนื้อหาที่ไปเกี่ยวพันหรือควรอยู่ในกฎหมายอื่นสร้างความสับสนและยุ่งยากให้กับผู้ใช้กฎหมายครับ !!!

       
 

       
ในส่วนที่ผมรับผิดชอบอยู่ตอนนี้ก็เจออาการแบบเดียวกันคือมีกฎหมายใช้บังคับในเรื่องนั้นอยู่แล้วแต่เป็นกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานหนึ่ง เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีกฎหมายในอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวพันกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่นั้น แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นคนละหน่วยงานกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่โดยไม่หาทางที่จะแก้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมเรื่องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีเพิ่มขึ้นโดยมีเหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคนละหน่วยงานกัน รัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัติควรจะเป็นคนละคนกัน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่แยกออกมาครับ!!!

       
 

       
เมื่อประเทศไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คงจะต้องมานั่งสำรวจกันอย่างจริงจังแล้วว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมาเรามีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่แล้วไปกี่ฉบับ แก้โดยคำสั่ง คสช. แก้โดยมาตรา 44 หรือแก้โดยกระบวนการนิติบัญญัติ และเรามีกฎหมายใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกกี่ฉบับแยกเป็นกฎหมายที่เกิดจาก คสช. เกิดจากการใช้มาตรา 44 เกิดจากรัฐธรรมนูญและเกิดจากกระบวนการนิติบัญญัติโดยการเสนอของหน่วยงานที่รับผิดชอบ

       
 

       
พอคาดเดาได้ครับว่ามีจำนวนมหาศาล !!!

       
 

       
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกันครับ บทความแรกเป็นบทความของผู้ช่วยศาสตราจารย์ อานนท์ มาเม้า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง "คำถามต่อเกณฑ์ขอ ผศ. รศ. ศ. ใหม่" บทความที่สอง เป็นบทความตอนที่ 2 ของ อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง คณะนิติศาสตร์ มหาวิยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง "ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. ... ตอนที่ 2 บทความที่สามเป็นบทความเรื่อง "เข้าใจการเลือกตั้ง ส.ส. แบบง่ายๆ" ที่เขียนโดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกคนไว้ ณ ที่นี้ครับ

       
 

       
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2560 ครับ

       
 

       
ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์



 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544