|
|
|
|
ครั้งที่ 329 |
4 พฤศจิกายน 2556 09:23 น. |
|
|
|
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 4 ถึงวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
นิรโทษกรรมที่ไร้สติ
ในที่สุด สิ่งที่ผู้คนจำนวนมากคาดเดาเอาไว้ตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมาก็กลายเป็นเรื่องจริงเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งได้เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในวาระที่หนึ่งรับหลักการร่างกฎหมายนิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมได้เสนอขอแก้ไขร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไปในทางที่แตกต่างไปจากร่างเดิมที่เสนอไว้ในตอนต้น การเสนอแก้ไขร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของคณะกรรมาธิการวิสามัญในลักษณะนี้สร้างความวุ่นวายให้กับสังคมอย่างมาก
บทบรรณาธิการครั้งนี้ผมเริ่มเขียนในวันที่ 30 ตุลาคม ขณะที่เขียนความวุ่นวายทางการเมืองยังไม่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ บรรดากลุ่มหรือคณะต่างๆ ก็ยังไม่มีใครออกมาแถลงการณ์หรือออกจดหมายคัดค้าน คงมีเพียงนักวิชาการจำนวนไม่มากที่ให้การสัมภาษณ์ผ่านสื่อประเภทต่างๆ ซึ่งก็รวมถึงตัวผมเองด้วย ในบทบรรณาธิการนี้ผมจะขอนำเอาความเป็นมาและสาระสำคัญของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมมาเสนอเอาไว้เป็นข้อมูลสำหรับใช้อ้างอิงในวันข้างหน้าครับ
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556 คุณวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย พร้อมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยอีกจำนวนหนึ่งได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้นำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาต่อไป ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้มีสาระสำคัญเป็นการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 โดยการนิรโทษกรรมดังกล่าวไม่ครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมจนนำไปสู่การบาดเจ็บและล้มตาย
ยังจำได้ว่าเมื่อคุณวรชัยฯ เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม มีคนออกมาคัดค้านกันมากเพราะในขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในกระแสของการสร้างความปรองดองไม่ว่าจะเป็นตามแนวทางของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) หรือตามแนวทางของสถาบันพระปกเกล้าที่จัดทำ รายงานการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ต่อมาเมื่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีมติรับหลักการร่างกฎหมายนิรโทษกรรม การคัดค้านก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ได้ไปแก้ไขสาระสำคัญหลายประการจนทำให้แตกต่างไปจากร่างกฎหมายเดิมที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการไปแล้ว
เพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเอาไว้ ผมขอนำเอาสาระสำคัญที่เป็นปัญหาที่สุดของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งในส่วนที่คุณวรชัยฯ เสนอและในส่วนที่แก้ไขโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... โดยมีรายละเอียดดังนี้
ร่างของคุณวรชัยฯ
มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว
ร่างของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....
มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคมพ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสุนน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
เมื่อพิจารณาร่างมาตรา 3 ทั้ง 2 แบบจะเห็นได้ว่ามีข้อแตกต่างกันอยู่หลายประการ ข้อแตกต่างประการแรกก็คือ ช่วงเวลาที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรมที่ในร่างกฎหมายเดิมนิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่เกิดขึ้นในวันที่มีการรัฐประหาร ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในขณะที่ร่างของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กำหนดระยะเวลาไว้ว่าตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 เรื่อยมาจนถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556
ในเรื่องดังกล่าว เมื่อย้อนกลับไปดูบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ที่คุณวรชัยฯ เสนอก็จะพบว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้มีที่มา คือ เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะที่สร้างความแตกแยกทางความคิด มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้กับคนในชาติบ้านเมืองจนปัจจุบัน ด้วยสืบเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในความคิดที่ไม่เคารพในระบอบประชาธิปไตย มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาล จนนำไปสู่การยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เหตุการณ์นี้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้เกิดการใช้บังคับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สร้างความรู้สึกสับสนและไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในทางความคิดทางการเมืองของประชาชนเป็นวงกว้าง จึงมีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนจนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง อันนำไปสู่การกล่าวหา และมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมาก ทำให้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพและอิสรภาพในระหว่างการถูกกล่าวหาทางอาญา อันเป็นผลมาจากภาครัฐได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดและขาดความยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวได้เกิดเป็นปัญหาร้าวลึกลงไปสู่สังคมไทยในทุกระดับและนำมาซึ่งความหวั่นไหวขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขของประชาขนทั่วไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติทั้งทางด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งในทางการเมือง อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าว เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ และเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย โดยใช้หลักนิติธรรม อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจของการกระทำที่ประชาชนได้แสดงออกทางการเมือง เพื่อจะทำให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุขเรียบร้อยมีความสมัครสมานสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไปจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ แต่เมื่อพิจารณาช่วงระยะเวลาของการนิรโทษกรรมตามร่างของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้วก็จะพบว่าไม่สอดคล้องกับเหตุผลประกอบร่างกฎหมายเนื่องจากมีการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดที่ก่อนเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สามารถแก้ไขหลักการของร่างกฎหมายเกินกว่ามติของสภาผู้แทนราษฎรที่ให้รับหลักการในวาระแรก ได้หรือไม่
ข้อแตกต่างประการต่อมาก็คือ ตัวบุคคลที่จะได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ยังจำได้ว่าในตอนที่คุณวรชัยฯ เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎร ก็มีคำถามตามมามากมายว่า ที่ใช้คำว่า บุคคล ในร่างมาตรา 3 นั้น รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมจนนำไปสู่การบาดเจ็บและล้มตายด้วยหรือไม่ ซึ่งก็มีการออกมาชี้แจงว่าไม่รวม แต่ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้กลับหลักการดังกล่าวด้วยการบัญญัติให้นิรโทษกรรมตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ ภาษาง่ายๆ ก็คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนนำไปสู่การบาดเจ็บและล้มตาย รวมถึงผู้สั่งการต่างก็ได้รับผลจากการนิรโทษกรรมครั้งนี้ด้วย และเมื่อพิจารณาระยะเวลา รวมไปถึงการใช้ถ้อยคำด้วยแล้ว ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ยังมีผลรวมไปถึงการกระทำต่างๆของนักการเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองอีกด้วย
จริงๆ แล้วร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้ง 2 แบบ ยังมีข้อแตกต่างกันอยู่อีกหลายประการด้วยกัน แต่ผมมองว่า 2 เรื่องที่นำมาเสนอเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่คนจำนวนหนึ่งคาดเดาไว้ หลายปีแล้วว่าจะเกิดสิ่งนี้ขึ้น นั้นก็คือ การล้างผิด ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีคนรักจำนวนมากมายและก็มีคนเกลียดจำนวนมากมายเช่นกันครับ
ในที่สุด เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้รีบเร่งพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ วันที่ 31 ตุลาคม 2556 จนแล้วเสร็จในวาระที่ 2 และ 3 สถานการณ์การเมืองจึงร้อนแรงขึ้นมาอีก !!!
อันที่จริง ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดหรือพวกใดก็ตามว่า การเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ได้เป็นทางออกของปัญหาความขัดแย้งในประเทศและก็ไม่ใช่วิธีการที่จะสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาในบ้านเราเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อนและก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นมาจาก ฐาน ใด พฤติกรรมของนักการเมืองลุที่แก่อำนาจ ทุจริตคอร์รัปชั่น การรัฐประหาร ตุลาการภิวัตน์ การคัดค้านอย่างหัวชนฝาในทุกๆ เรื่องของพรรคฝ่ายค้านและของมวลชนนอกสภา รวมไปถึง สิ่งต่างๆ ที่ตามมาไม่ว่าจะเกิดจากองค์กรหรือหน่วยงานที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นหรือเกิดขึ้นจากผลของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 ล้วนแล้วแต่สร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติ ตราบใดก็ตามที่เรายังไม่ได้คำตอบในเรื่องที่เกิดขึ้น การนิรโทษกรรมก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งนั้นแต่กลับจะสร้างความแตกแยกให้กับสังคมมากขึ้นไปอีก
ลำพังการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนผู้กระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองก็ถูกคัดค้านอย่างมากจากพรรคฝ่ายค้านและมวลชนนอกสภาอยู่แล้ว การแก้ไขร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ไปกลับหลักการเดิมและนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมที่นำไปสู่การบาดเจ็บและล้มตายของประชาชนจำนวนมากทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาคัดค้านเพราะไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้แล้วเมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญไปแก้ไขร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่แต่เดิมนิรโทษกรรมให้กับการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นเริ่มต้นจากวันที่มีการรัฐประหารคือ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ไปเป็นนิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดใดๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ก็ยิ่งทำให้ผู้คนไม่พอใจมากขึ้นไปอีกเพราะผลของการนิรโทษกรรมไปรวมถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นเข้าไปด้วย
อาการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาดังกล่าวจึงทำให้ เจตนา ของการนิรโทษกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องการ ช่วย ประชาชนผู้บริสุทธิ์ มาเป็น ช่วย นักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นและช่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำผิดหรืออาจกระทำผิด พ่วงเข้าไปด้วย !!!
เป็นไปได้อย่างไรที่เรื่องสำคัญแบบนี้ทำกันโดยไม่คิดให้รอบคอบ เอาคนสั่งจับไปรวมกับคนถูกจับ เอาคนสั่งขัง ไปรวมกับคนถูกขัง เอาคนสั่งฆ่าไปรวมกับคนถูกฆ่า เอาคนทุจริตคอร์รัปชั่นไปรวมกับประชาชนผู้ใช้สิทธิทางการเมือง ถือว่าเป็นสภาผู้แทนราษฎรแล้วนึกจะทำอะไรกันก็ทำโดยไม่มีหลักการ ไม่มีเหตุผล และไม่มีคำตอบสำหรับทุกเรื่องได้อย่างไร !!!
จริงๆแล้วถ้าอยากจะนิรโทษกรรมกันจริงๆก็สามารถเดินตามแนวทางที่ปรากฎอยู่ในรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแหง่ชาติ(คอป.) ได้ โดยในหน้า 246 หัวข้อ 5.2.11 ของรายงานดังกล่าวเขียนไว้ชัดเจนว่า
"๕.๒.๑๑ การนิรโทษกรรมไม่สามารถดำเนินการโดยปราศจากขอบเขต แต่ต้องเป็นไปตามหลัก นิติธรรมและมาตรฐานที่เป็นสากลโดย คอป. เห็นว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะต้องมิใช่การนิร โทษกรรมตนเอง (Self-Amnesty) ที่ผู้มีส่วนในการกระทำความผิดบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการ ยกเว้นความรับผิดของตนเอง หรือการนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมเป็นการทั่วไป (Blanket Amnesty) หรือครอบคลุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยปราศจากเงื่อนไข แต่จะต้องมีการกำหนดความผิดที่จะนิรโทษกรรมและเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมอย่างชัดเจนและเฉพาะเจาะจง โดยพิจารณาแยกแยะลักษณะการกระทำของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตยโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย"
เสียดายโอกาสดีๆ ในการ คืนความเป็นธรรม ให้กับประชาชนจำนวนหนึ่ง โอกาสดีๆ ที่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความสมานฉันท์ในประเทศ
ยังมีอีกมากมายหลายเรื่องที่อยากจะเขียนเกี่ยวกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและกระบวนการในการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ แต่ก็คิดว่าไม่เขียนดีกว่า
เพราะนี่คือการนิรโทษกรรมที่ไร้สติครับ !!!
ในวันนี้ ทำได้เพียงอย่างเดียวก็คือ คัดค้านการนิรโทษกรรมที่ไร้สติ !!!
วุฒิสภาต้องช่วยยับยั้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแล้วส่งคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร สังคมต้องช่วยกันทำให้สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขร่างกฎหมายนิรโทษกรรมกลับไปเป็นเหมือนที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติในวาระที่หนึ่งรับหลักการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคือนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนที่กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ครับ
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของอาจารย์ไกรพล อรัญรัตน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนเรื่อง "การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นตามหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) (ตอนที่ 1)" บทความที่สองเป็นบทความของคุณสยาม ยิ่งทวีหยก ที่เขียนเรื่อง "การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งภายหลังการยุบพรรค" และบทความสุดท้ายเป็นบทความของเพื่อนนักวิชาการจากฝรั่งเศสคุณ Jacques Serba chercheur associé à l''IRIS ที่เขียนเรือง "Les associations humanitaires sont-elles des institutions? ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ ครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2556
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|