หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 325
8 กันยายน 2556 20:04 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 9 กันยายนถึงวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2556
       
       “เหตุเกิดที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกแล้ว”
       
                 ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีข่าว “การกระทำผิด” ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องหาข้อยุติที่ชัดเจนให้ได้ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดกรณีลักษณะนั้นขึ้นมาอีก ผมขอนำข่าวที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ในเรื่องกล่าวหา นายบุญส่ง  กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต อนุญาตให้บุตรชายของตน ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในระหว่างลา โดยเรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
                   “ ตามที่นายพิชา  วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทยและเครือข่ายฯ ได้มีหนังสือกล่าวหานายบุญส่ง  กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยแต่งตั้งบุตรของตนเป็นเลขานุการ แล้วอนุญาตให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่ได้มาปฏิบัติงานประจำที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนตามปกติ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว มีมติให้รับเรื่องไว้พิจารณาและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีนายวิชัย  วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ นั้น
                   คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายบุญส่ง  กุลบุปผา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ซึ่งหลังจากเข้ารับตำแหน่งแล้ว เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2551 นายบุญส่ง   กุลบุปผา ได้เสนอให้บุตรชายของตนดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประจำตัว นายบุญส่ง  กุลบุปผา  ศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้มีคำสั่งที่ 5/2551 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 แต่งตั้งให้บุตรชายของนายบุญส่ง  กุลบุปผา ดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (นายบุญส่ง  กุลบุปผา) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551  จากนั้น ประมาณ 7 เดือน นายบุญส่ง  กุลบุปผา ได้อนุญาตให้บุตรชายลาไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโททางกฎหมาย โดยมีการเดินทางเข้า - ออก ราชอาณาจักร รวม 3 ครั้ง คือ ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2552, ระหว่างวันที่ 27 กันยายน 2552 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2553 และระหว่างวันที่ 2 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2553 รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน โดยในระหว่างนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนรายเดือน จำนวน 42,200 บาท และเงินประจำตำแหน่ง จำนวน 4,900 บาท ให้แก่บุตรชายของนายบุญส่ง  กุลบุปผา เป็นประจำทุกเดือนตามปกติ
                   ในเรื่องนี้ นายบุญส่ง  กุลบุปผา ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยลูกจ้างสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2542 หมวด 4 วัน เวลาทำงานและการลาหยุดราชการ ข้อ 16 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตสำหรับการลาของลูกจ้างตามสัญญาจ้างซึ่งประจำตำแหน่งผู้นั้น ดังนั้น เมื่อบุตรชายของตนขอลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ ตนจึงเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตในการลา  ส่วนประเด็นว่าในระหว่างลาจะได้รับค่าตอบแทนทุกเดือนหรือไม่ นายบุญส่ง กุลบุปผา ชี้แจงว่าตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ พ.ศ. 2526 ข้อ 24 กำหนดว่า ส่วนราชการใดมีความจำเป็นที่ต้องสั่งให้ลูกจ้างประจำไปศึกษาในต่างประเทศเกี่ยวกับหน้าที่ราชการที่ลูกจ้างประจำผู้นั้นปฏิบัติอยู่ โดยให้ได้รับค่าจ้างอัตราปกติตลอดระยะเวลาที่ไปให้อยู่ในดุลพินิจของเจ้ากระทรวงที่ผู้นั้นสังกัดอยู่จะพิจารณาอนุญาต ดังนั้น เมื่อนำมาเทียบเคียงกับเลขานุการประจำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งขึ้นตามระเบียบของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ ก็ย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน
                   คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นระเบียบที่นำมาใช้ในการแต่งตั้งบุตรชายนายบุญส่ง  กุลบุปผา ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นี้ ปรากฏว่ามิได้มีบัญญัติไว้ในข้อใดให้สิทธิเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะขออนุญาตลาไปศึกษาในต่างประเทศได้ และก็มิได้มีบัญญัติไว้ในข้อใด ให้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะอนุญาตให้เลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาไปศึกษาในต่างประเทศได้เช่นเดียวกัน ส่วนที่นายบุญส่ง กุลบุปผา อ้างว่า มีอำนาจอนุญาตการลาของลูกจ้างตามสัญญาจ้างประจำตำแหน่งของตน ตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยลูกจ้างสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2542 หมวด 4 ข้อ 16 นั้น ก็ปรากฏว่า ลูกจ้างตามสัญญาจ้างตามระเบียบฯ ดังกล่าว หมายถึง บุคลากรประเภทที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานขับรถยนต์ประจำตำแหน่ง เท่านั้น มิได้หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย แต่อย่างใด และที่อ้างว่า ในระหว่างลาไปศึกษาในต่างประเทศ เลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน โดยอาศัยระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ พ.ศ. 2526 มาเทียบเคียงก็ปรากฏว่า ระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ พ.ศ. 2526 ข้อ 24 ดังกล่าว เป็นเรื่องการอนุญาตให้ลูกจ้างประจำของส่วนราชการไปศึกษาในต่างประเทศ แต่เลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิใช่ลูกจ้างประจำของส่วนราชการ จึงไม่สามารถนำระเบียบนี้มาเทียบเคียงใช้บังคับได้ คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายบุญส่ง  กุลบุปผา ทั้งหมด จึงฟังไม่ขึ้น
                   ดังนั้น การที่บุตรชายของนายบุญส่ง  กุลบุปผา  ขออนุญาตลาไปศึกษาในต่างประเทศโดยไม่มีระเบียบกำหนดให้สิทธิในการลาและการที่นายบุญส่ง  กุลบุปผา ได้อนุญาตให้บุตรชายไปศึกษาในต่างประเทศ โดยไม่มีระเบียบกำหนดให้มีอำนาจอนุญาตได้ จึงเป็นการกระทำโดยพลการ โดยปราศจากอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งแม้จะมีผลให้การกระทำของนายบุญส่ง  กุลบุปผา  มิใช่การกระทำในฐานะเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการก็ตาม แต่พฤติการณ์ของนายบุญส่ง  กุลบุปผา ที่อนุญาตให้บุตรชายลาไปศึกษาในต่างประเทศโดยพลการ โดยมิได้รายงานให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญทราบ หรือแจ้งให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทราบ เป็นเหตุให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังคงเบิกค่าตอบแทนรายเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้ตามปกติ  จึงเป็นเรื่องความรับผิดในทางแพ่งที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จะเรียกให้นายบุญส่ง  กุลบุปผา ชดใช้เงินคืนต่อไป
                   คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติว่า ข้อกล่าวหานายบุญส่ง  กุลบุปผา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่ให้แจ้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องความรับผิดในทางแพ่ง ให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทราบและพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ”
        
                 ภายหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงข่าวเรื่องของนายบุญส่งฯ ข้างต้นออกไปก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายโดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ทำไมการกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเมื่อไม่เป็นความผิดแล้วทำไมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเรียกเงินคืนจากนายบุญส่งฯ !!!
                 เมื่อผมได้ยินเรื่องข้างต้นผมก็บอกกับตัวเองว่า เอาอีกแล้ว.... ศาลรัฐธรรมนูญอีกแล้ว.... พร้อมกับสงสัยอยู่ในใจว่าทำไมเรื่อง “แปลกๆ” แบบนี้ถึงได้ “จงใจ” มาเกิดที่ศาลรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่ไม่ควรเกิดเพราะองค์กรนี้เป็นองค์กร “ระดับสูง” ด้านกฎหมาย ประกอบด้วยนักกฎหมาย “ระดับสูง” เป็นส่วนใหญ่ที่ตุลาการแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ “ระดับสูง” ในการพิจารณาพิพากษาคดี ชี้ถูกชี้ผิดมาแล้วคนละหลายสิบปี จึงไม่น่าจะเกิดเรื่องประเภทที่ไป “คาบเกี่ยว” กับประเด็นของการทุจริตต่อหน้าที่หรือต่อตำแหน่งราชการได้
                 ผมจะไม่ขอพูดถึงประเด็นที่ว่า นายบุญส่งฯ  กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในครั้งนี้ เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้ “ช่วย” ชี้แจงไปแล้วในข่าวข้างต้น แต่ผมจะขอพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับ ความเหมาะสม ที่เกิดขึ้นและที่ได้พบจากกรณีของนายบุญส่งฯ
                 เรื่องแรกที่อยากจะพูดก็คือ การเอาลูกชายของตัวเองมาเป็นเลขานุการส่วนตัวครับ
                   ข้อ 9 ของระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ได้กล่าวถึงหน้าที่ของเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญและเลขานุการศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่า  มีหน้าที่ประสานการปฏิบัติงานในภารกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี การค้นคว้าทางวิชาการเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง..... จากหน้าที่ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าในส่วนของการประสานงานนั้น คงไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความสามารถพิเศษอะไรมากนัก ในส่วนของการค้นคว้าทางวิชาการเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง ต่างหากที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถทางวิชาการซึ่งในระเบียบ ข้อ 7(3) ก็กำหนดไว้ถึงคุณสมบัติของเลขานุการเอาไว้แบบหลวมมากๆ ว่าต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี หรือมีคุณสมบัติพิเศษ..... และเมื่อมาดูถึงค่าตอบแทนรายเดือนและเงินประจำตำแหน่งของเลขานุการก็จะพบว่า เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญและเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีรายได้เดือนละ 47,100 บาท นอกจากนี้ใน ข้อ 12 ของระเบียบข้างต้นก็ยังกำหนดให้เลขานุการได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่ง มีประกันสุขภาพที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้จ่ายให้ เดินทางไปราชการก็ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญระดับ 10 หรือเทียบเท่า เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบเคียงหน้าที่การงานกับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับ บุคคลที่จะเข้ามาเป็นเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึง “น่าจะ” เป็นบุคคลที่มีทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิในระดับสูงพอสมควรอย่างน้อยก็ไม่น่าจะ “ด้อย” ไปกว่าข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในระดับ 10 หรือเทียบเท่ามากนัก !!!
                
                 จากข้อเท็จจริงนี้ปรากฏในคำแถลงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้างต้น นายบุญส่งฯ แต่งตั้งลูกชายของตนมาเป็นเลขานุการ และต่อมาก็ได้อนุญาตให้บุตรชายลาไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโทด้านกฎหมาย ข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า เลขานุการของนายบุญส่งฯ น่าจะเพิ่งจบปริญญาตรีมาไม่นาน และอายุก็ไม่น่าจะเกิน 30 ปี
        
                 คำตอบที่ผมอยากทราบก็คือถ้าไม่ได้เป็นบุตรชายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาไม่นานจะมีโอกาสเข้ามาทำงาน “ในระบบราชการ” ที่มีค่าตอบแทนสูงถึงเดือนละเกือบ 50,000 บาท มีสิทธิเดินทางไปราชการในระดับเดียวกับข้าราชการระดับ 10 หรือเทียบเท่าหรือไม่ครับ ใครช่วยตอบผมทีครับ !!!
                 จริงอยู่เรื่องนี้แม้ว่าการแต่งตั้งลูกชายของตัวเองเข้ามาเป็นเลขานุการของตัวเองจะ “ไม่ผิด” อะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย กฎ ระเบียบ แต่ลองไปเดินถามความคิดเห็นประชาชนทั่วไปดูก็ได้ว่า ควรหรือไม่ ครับ
                 ถ้าจะให้ชัดไปกว่านั้น ลองไปถามเพื่อนรุ่นๆ เดียวกันที่เรียนจบมาพร้อมๆ กันด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิแบบเดียวกันดูก็ได้ว่ามีใคร “ได้เหมือน” เลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบ้างครับ !!!
        
                 เรื่องต่อมาที่คงต้องนำมาพูดในที่นี้ก็คือ ความเข้าใจในเรื่องตัวบทกฎหมาย
        
                   จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในข่าวการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ข้างต้น นายบุญส่งฯ ชี้แจงข้อกล่าวหาว่า ตนเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตในการลาไปศึกษาต่อต่างประเทศของบุตรชายของตน ส่วนเรื่องค่าตอบแทนระหว่างลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ นายบุญส่งฯ ได้นำเอาระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกข้างของส่วนราชการ พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นระเบียบกลางของลูกจ้างของส่วนราชการทั่วๆ ไปมาใช้ ซึ่งในกรณีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจงของนายบุญส่งฯ ดังปรากฏรายละเอียดข้างต้น ซึ่งในประเด็นนี้เอง ผมไม่เข้าใจว่า ทำไม นายบุญส่งฯ ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในระเบียบศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องก็มิได้มีการกล่าวถึงการให้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะอนุญาตให้เลขานุการลาไปศึกษาต่างประเทศได้และให้สิทธิได้รับค่าตอบแทนในระหว่างลาได้ด้วย จึงไม่ดำเนินการ “ภายใน” ศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนเสียก่อน ตัวอย่างเช่น เพื่อความโปร่งใส ควรหารือไปยังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่าทำอะไรได้มากน้อยเพียงใดหรือถามไปยังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังที่ปรากฏในข้อ 4 ของระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ที่ว่า “ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้” ก่อนที่จะอนุญาตให้ลูกชายตัวเองเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่กลับเลือกใช้วิธีอนุญาตด้วยตัวเอง แล้วไม่ได้แจ้งให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนทราบ
                   ไม่ทราบเหมือนกันว่า เลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เดินทางไปต่างประเทศและมีการเดินทางเข้า-ออก 3 ครั้งในกรณีนี้ ได้ใช้สิทธิเบิกจ่ายค่าเดินทางจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ ครับ!!!
                 ผมไม่แน่ใจว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้จะกลายเป็น “บรรทัดฐาน” ในวันข้างหน้าหรือไม่ เพราะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้สรุปไว้ในตอนท้ายว่า การที่นายบุญส่งฯ อนุญาตให้บุตรชายซึ่งเป็นเลขานุการไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยไม่มีระเบียบกำหนดให้มีอำนาจอนุญาตได้ เป็นการกระทำโดยพลการ โดยปราศจากอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายแต่ไม่ใช่การกระทำในฐานะเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ บทสรุปดังกล่าว “น่าจะ” ทำให้การกระทำในลักษณะนี้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมได้
                 ผมอ่านไม่เจอว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ลงไปพิจารณาในประเด็นที่ว่า ทำไมนายบุญส่งฯ ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเลขานุการของตนไปศึกษาต่อต่างประเทศ จึงไม่แจ้งไปยังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญให้ “ระงับ” การจ่ายเงินค่าตอบแทนในขณะที่เลขานุการของตนอยู่ต่างประเทศและไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการในระหว่างนั้น เพราะเมื่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ก็ยังคงจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับเลขานุการของนายบุญส่งฯ ต่อไป และในระหว่างที่เลขานุการของนายบุญส่งฯ เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศนั้น นายบุญส่งฯ ทำงานอย่างไรโดยไม่มีเลขานุการ ซึ่งหากทำงานได้โดยไม่ต้องมีเลขานุการแล้วจะจ้างเลขานุการมาทำไมให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนครับ
        
                 นักกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเพิ่งเรียนจบหรือเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ด้านกฎหมายมาแล้วหลายสิบปี หาก “ตั้งใจ” ที่จะ “มองข้าม” ความถูกต้อง ความยุติธรรม หาก “ตั้งใจ” ที่จะ “มองข้าม” ประโยชน์ของรัฐโดยคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว
        
                 เราจะทำอย่างไรกันดีกับ “นักกฎหมาย” เหล่านี้ครับ !!!
        
                 มีเสียงเรียกร้องให้คุณบุญส่งฯ ลาออกอยู่บ้างแต่ถ้าให้ผมเดาคงยากครับ ศาลรัฐธรรมนูญมี “ประสบการณ์” แบบนี้มาตลอด มีเรื่องแล้วก็ปล่อยให้เงียบ ตัวเองก็ยังมีงานทำต่อ มีเงินเดือน มีรถประจำตำแหน่ง มีเลขานุการ ฯลฯ เยอะแยะไปหมด จะลาออกไปทำไมกัน
        
                 สงสารประเทศไทยนะครับ คงไม่ใช่แต่นักการเมืองเท่านั้นที่จะต้องถูก “ปฏิรูป” แล้วครับ !!!
        
                 ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกคือบทความเรื่อง “ข้อสังเกตบางประการต่อมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรณีสั่งยกคำกล่าวหาคดีท่านบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ที่เขียนโดย คุณไกรพล อรัญรัตน์ นิสิตระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “โค้งสุดท้ายก่อนเสนอร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานคร” ที่เขียนโดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง  ผมขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองบทความไว้ ณ ที่นี้ครับ
        
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2556 ครับ
        
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์
        


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544