หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 317
19 พฤษภาคม 2556 20:19 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2556
       
       “เมื่อนายกรัฐมนตรีวิพากษ์สถานการณ์ของประเทศ”
       
       ช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมอยู่ต่างประเทศ ก็เลยไม่ค่อยได้รับทราบข่าวสารเกี่ยวกับเมืองไทยเท่าไรนัก เท่าที่อ่านพบจากอินเตอร์เน็ต ก็เห็นมีแต่เรื่องของความพยายามที่จะสร้างข่าวลือในเชิงลบให้กับรัฐบาลหรือกับนายกรัฐมนตรี ข่าวบางข่าวมาจากความพยายามที่จะทำให้การพูดเล่นกลายเป็นเรื่องจริง ซึ่งในบางครั้งผมอ่านดูแล้วก็สงสัยใน “ความเชื่อ” ของคนบางคนว่า ไปเชื่อข่าวประหลาดๆ เหล่านั้นได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ข่าวกระทรวงพาณิชย์สั่งลบเมนูปูผัดผงกะหรี่ออกจากสารบบอาหารไทย เป็นต้น ข่าวแบบนี้ไม่ว่าจะคิดอย่างไรก็ไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ก็ยังมีคนเชื่อแล้วนำไปขยายผลต่อ ที่น่าแปลกใจไปว่านั้นก็คือ มีเพื่อนร่วมวิชาชีพบางคนกับผมก็เอากับเขาด้วย วิพากษ์วิจารณ์ขยายผลต่อไปอีกด้วยความมีอคติและหูเบา แล้วอย่างนี้จะไปสอนหนังสือให้คนเป็นคนดีมีความเป็นกลางได้อย่างไรครับ สังคมทุกวันนี้ก็อยู่กันอย่างลำบากแล้ว แทนที่ครูบาอาจารย์จะเป็นตัวอย่างอันดี สั่งสอนให้เด็กรู้สึกคิด ไตร่ตรองมีเหตุผล กลับลากจูงเด็กเข้ารกเข้าพงไปกับตนเองด้วย ถ้าไม่มีอะไรจะทำแล้วว่างมาก ก็น่าจะเอาเวลาว่างไปสร้างผลงานวิชาการ ปรับตำแหน่งทางวิชาการเพื่อให้ตนเองและครอบครัวภาคภูมิใจ จะเหมาะสมกว่ามานั่งขยายผลด่าคนที่ตัวเองไม่ชอบนะครับ !!!
       ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมสนใจข่าวที่นายกรัฐมนตรีไปแสดงปาฐกถาพิเศษในการประชุมประชาคมประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 ที่ประเทศมองโกเลีย ปาฐกถาดังกล่าวสรุปความได้ว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเพื่อปี พ.ศ. 2549 เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประเทศไทยต้องถอยหลังและสูญเสียความน่าเชื่อถือต่อนานาชาติ หลักนิติธรรมและกระบวนการทางกฎหมายถูกทำลาย โครงการและแผนงานที่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ริเริ่มตามที่ประชาชนต้องการถูกยกเลิก ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพถูกปล้นไป รวมไปถึงเรื่องของการสลายการชุมนุมในเดือน พฤษภาคม 2553 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นภายใต้บรรยากาศของการรัฐประหารไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ทั้งในส่วนของวุฒิสภาและองค์กรอิสระที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต
       ปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีข้างต้นก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ มีคำถามตามมามากมายว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีซึ่งแต่ไหนแต่ไรไม่เคยแสดงท่าทีอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการเมืองไทยและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร 19 นยายน 2549 รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ถึงได้ลุกขึ้นมาพูดเรื่องเหล่านี้ แล้วทำไมนายกรัฐมนตรีถึงได้เลือกที่จะพูดเรื่องเหล่านี้นอกประเทศแทนที่จะพูดในประเทศไทย
       หลังจากการแสดงปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี พรรคฝ่ายค้านอาชีพอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ยอมปล่อยให้โอกาสทองหลุดมือไป รีบออกมาแถลงข่าวว่าปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีบิดเบือนสถานการณ์การเมือง ใส่ร้ายประเทศ อีกไม่กี่วันต่อมา พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ออกแถลงการณ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อ “ตอบโต้” ปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี โดยในตอนหนึ่งของแถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์ได้ “เลือกใช้” คำว่า “ฝ่ายทหารได้เข้าแทรกแซง” แทนที่จะใช้คำว่า “รัฐประหาร”
       ลองอ่านๆ ดูคำปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีฉบับเต็ม และคำแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ดูอย่างละเอียดดีกว่าครับ
       การแสดงปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีมีเรื่องที่ทำให้ต้องคิดตามหลายเรื่องด้วยกัน บางเรื่องที่นายกรัฐมนตรีพูดนั้น ก็เป็นสิ่งที่ทั่วโลกรับรู้อยู่แล้ว คงจำได้ว่า หลังจากที่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และมีการตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาบริหารประเทศ ถ้าจำไม่ผิดรัฐบาลนั้นก็ได้พยายามชี้แจงไปทั่วโลกถึงสาเหตุและความจำเป็นที่ต้องมีการแก้ปัญหาของประเทศด้วยการทำรัฐประหาร ผลก็เป็นอย่างที่เราทราบกันก็คือ ไม่มีประเทศไหนยอมรับการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย คงจำได้ว่ามีประเทศบางประเทศถึงกับตัดการให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในด้านต่างๆ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะฉะนั้น การรัฐประหารจึงเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกต่อต้าน เมื่อนายกรัฐมนตรีออกไปพูดเรื่องการรัฐประหารในประเทศไทย จึงเป็นการพูดในสิ่งที่ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2549
       คำถามจึงอยู่ที่ว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีจึงต้องนำเอาเรื่องที่เกิดขึ้นมาหลายปีและเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้วไปพูดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง หรือว่านายกรัฐมนตรีหวังผลอะไรบางอย่างจากการพูดของตัวเอง
       คำตอบที่ถูกต้องคงต้องมาจากตัวนายกรัฐมนตรีและบรรดา “กุนซือ” ที่เตรียมปาฐกถาคราวนี้ให้กับนายกรัฐมนตรีครับ
       สำหรับตัวผมเองนั้น ทั้งปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีและคำแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่ยังมีอยู่ในสังคมไทยและต้องการให้ประชาคมโลกเข้ามารับรู้อย่างต่อเนื่อง ในปาฐกาถาของนายกรัฐมนตรีนั้น การที่นายกรัฐมนตรีเลือกที่จะพูดวิพากษ์วิจารณ์ส่วนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในอดีตและปัจจุบันก็เพื่อที่จะตอกย้ำให้เห็นว่า ความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบันนั้น มีที่มาจากการแก้ปัญหาที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเช่นที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกทำกัน การที่ประเทศไทยแก้ปัญหาการเมืองไม่ถูกต้องด้วยการทำรัฐประหารและวางกลไกที่ไม่สมบูรณ์เอาไว้ในรัฐธรรมนูญจึงทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นจากการรัฐประหารยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ส่วนในแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในอดีตและปัจจุบันนั้นมีที่มาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และการดำเนินการทั้งหลายที่เกิดขึ้นจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หรือที่เกี่ยวเนื่องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เพียงอย่างเดียวครับ
       ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายคงไม่มีทางแก้ไขได้ ตราบใดที่สองฝ่ายยังมีมุมมองที่ไม่ตรงกันเช่นนี้
       เมื่อตอนต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส มีข่าวปรากฎออกมาทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมทั้งป้ายประกาศที่ติดอยู่ตามสถานที่ต่างๆ แสดงความไม่พอใจในผลการทำงานของนาย François Hollande ประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งมาครบ 1 ปี จากวาระการดำรงตำแหน่งทั้งหมด 5 ปี เอกสารที่เผยแพร่ออกมานั้น ส่วนหนึ่งได้นำเอานโยบายที่นาย Hollande ใช้หาเสียงมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง 1 ปี หลังจากเข้าดำรงตำแหน่ง เพื่อให้ประชาชนได้เห็นและได้ทราบว่า การปฏิบัติหน้าที่ของนาย Hollande มีปัญหาในหลายๆ เรื่องเมื่อเทียบกับการปฏิบัติหน้าที่ของอดีตประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy มีเสียงเรียกร้องให้ประธานาธิบดี Hollande ลาออกจากตำแหน่งก่อนที่จะนำพาประเทศฝรั่งเศสให้ตกต่ำลงไปกว่านี้ แต่ก็มีบางเสียงที่พยายามบอกให้คนฝรั่งเศสอดทนไปอีก 4 ปี เมื่อวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี Hollande สิ้นสุดลง ก็ไม่ต้องเลือกเข้ามาอีก แต่เท่าที่ผมอ่านเจอและได้พูดคุยกับเพื่อนชาวฝรั่งเศส ไม่เห็นมีใครเสนอความเห็นว่าควรให้ทหาร “เข้ามาแทรกแซง” ด้วยการยึดอำนาจประธานาธิบดี แล้วก็ไม่มีใครพยายามลากเรื่องไปให้เข้าเกณฑ์ที่จะนำไปฟ้องต่อศาลอาญาชั้นสูง (La Haute Cour) ของฝรั่งเศสตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปี ค.ศ. 1958 เพื่อถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งเลยครับ ทุกอย่างก็ว่ากันไปตามระบบนะครับ มาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น เว้นแต่ว่าผิดชัดแจ้งและตรงตามประเด็นที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ ถึงค่อยไปใช้กระบวนการถอดถอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด นี่ก็คือตัวอย่างของการ “ยอมรับ” และ “แก้ปัญหา” ด้วยวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย





ส่วนในประเทศไทยนั้น การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นับเป็นบ่อเกิดของความร้าวฉานในสังคมไทยในปัจจุบัน เห็นได้จากฝ่ายที่เกลียดก็เกลียดกันเหลือเกิน ไม่ว่าจะมีเหตุอะไรก็ต้องลากเหตุนั้นเข้าไปโยงกับสิ่งที่ตัวเองเกลียดให้ได้เพื่อโจมตีและทำลายฝ่ายตรงข้าม ส่วนฝ่ายที่ชอบก็ทำทุกอย่างอย่างไม่ลืมหูลืมตาเพื่อที่จะหาจุดชื่นชมและยกย่องฝ่ายที่ตนเองชอบ ความคิดของทั้งสองฝ่ายที่แบ่งออกจากกันอย่างชัดเจนจึงทำให้ประเทศเราต้องอยู่ในสภาพที่น่าวิตกดังเช่นทุกวันนี้
       ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาของประเทศไทยไม่ใช่โจทย์ใหญ่สำหรับวันนี้ เพราะโจทย์ใหญ่จริงๆ คงต้องเริ่มจากจุดที่เล็กที่สุดก่อน คือทำอย่างไรให้คนเลิกเกลียดกันก่อน
       แนวทางของการสร้างความปรองดองที่เสนอกันโดยหลายๆ ฝ่ายน่าจะเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มดำเนินการอย่างเร่งด่วน ส่วนวิธีการสร้างความปรองดองก็ควรจะต้องเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาหรือการเยียวยาให้กับบุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามระบบกฎหมายเสียก่อน
       ในเรื่องของการปรองดองนั้น ผมยังเห็นเหมือนเดิมก็คือ ต้องเริ่มด้วยการปฏิเสธการรัฐประหารก่อนครับ
       ไม่ว่าจะใช้ถ้อยความสวยงามว่าเป็นการแทรกแซงฝ่ายทหาร หรือจะใช้ถ้อยคำที่คนทั่วไปเรียกกว่า การรัฐประหาร ก็ตาม การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิด ผิดทั้งรูปแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผิดทั้งกฎหมายภายในประเทศ ผิดทั้งในแง่กติกาสากลระหว่างประเทศ รวมทั้งผิดในแง่ของสามัญสำนึกของคนทั่วๆ ไปด้วย แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่า ความเกลียดชังในตัวบุคคลหนึ่งสามารถปิดหูปิดตาคนจำนวนหนึ่งให้เห็นว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ทำได้ คนจำนวนหนึ่งในที่นี้มีทั้งศาลที่เคยตัดสินยอมรับการทำรัฐประหารแล้วก็ยังยึดแนวคำตัดสินในอดีตมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน พรรคการเมืองบางพรรคการเมืองที่แม้จะเจริญเติบโตมาในประเทศที่พยายามปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่วายที่จะ “เห็นด้วย” กับการรัฐประหารเพราะเข้าใจเพียงว่า การรัฐประหารช่วยทำลายคู่แข่งทางการเมืองของตนมากกว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ทำลายประเทศชาติ ประชาชนบางพวกที่แม้บางคนจะเรียนหนังสือมามากแต่ก็มีอคติบังตา ทำให้มองเห็นไปว่า การรัฐประหารเท่านั้นคือทางออกของสังคมไทย ช่วยยุติความไม่ถูกต้องของนักการเมืองบางคนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอไปจนกว่านักการเมืองคนนั้นจะครบวาระการดำรงตำแหน่งของตน
       ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนเหล่านั้นหันกลับมามองในสิ่งที่ถูกต้องด้วยระบอบประชาธิปไตย และสอดคล้องกับประประชาคมโลกได้ครับ
       ปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีและคำแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะทั้งหมดที่อยู่ในเอกสารทั้งสองชิ้น คือ “ความจริง” ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องอยู่ในสภาวะของความขัดแย้งมาจนกระทั่งวันนี้ครับ !!!
       ส่วนทางออกสำหรับความขัดแย้งในสังคมไทยจะเป็นอย่างไรนั้น คงไม่มีใครบอกได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คงต้องมีฝ่ายหนึ่งเริ่มต้นที่จะหยุดก่อน จากนั้นก็ต้องค่อยๆ ร่วมมือกันดึงสิ่งที่ผิดกลับมาอยู่ในที่ที่ควรอยู่อย่างไม่มีอคติและไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น แต่ก็อย่าไปคาดหวังอะไรมากนักเพราะเคยมีความพยายามจากหลายฝ่ายทั้งจากฝ่ายวิชาการ และฝ่ายการเมืองที่พยายามจะเสนอรูปแบบที่จะนำความสงบสุขกลับมาสู่สังคมไทยไม่ว่าจะเป็นการปรองดองการสร้างความสมานฉันท์หรือแม้กระทั่งการนิรโทษกรรม แต่ก็ไม่มีใครทำได้สำเร็จ เพราะทุกข้อเสนอถูกลากเข้าไปโยงกับเรื่องคุณทักษิณ ชินวัตร หมด
       
       ทางออกอีกทางที่น่าจะต้องรีบดำเนินการหาทางทำให้เกิดขึ้นให้ได้ก็คือ การเดินกลับเข้าสู่ความถูกต้องของแต่ละองค์กรด้วยตัวขององค์กรเอง เช่นศาลต้องปฏิเสธการรัฐประหาร นักการเมืองและพรรคการเมืองรวมทั้งประชาชนต้องเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยครับ !!!
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกันครับ บทความแรกเป็นบทความของ ดร. ปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ จากสำนักงานศาลปกครอง ที่เขียนเรื่อง "บันทึก เรื่อง การเยียวยาความเสียหายทางจิตใจ" บทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง "แนวทางการพัฒนากฎหมายจักรยานของสหภาพยุโรป" ที่เขียนโดย อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร บทความที่สามเป็นบทความของอาจารย์เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนเรื่อง "สังคมบอด" บทความสุดท้ายเป็นบทความของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "วิกฤติรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญจะจบอย่างไร" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2556 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544