|
|
|
|
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 8 ตุลาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2555
จังหวัดจัดการตนเอง (1)
ในช่วงเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา มีการพูดถึงเรื่องของจังหวัดจัดการตนเองให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้งแต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจังหวัดจัดการตนเองคืออะไร เคยพยายามถามข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนจากกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ทำให้ภาพของจังหวัดจัดการตนเองชัดเจนขึ้น ต่อมา เมื่อคุณชำนาญ จันทร์เรือง เพื่อนสนิทของ www.pub-law.net ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. .... ต่อสาธารณชน ผมจึงได้พยายามทำความเข้าใจร่างกฎหมายดังกล่าวจึงทำให้พอมองเห็นภาพรางๆ ของคำว่าจังหวัดจัดการตนเองอยู่บ้าง แต่พอไปประชุมร่วมกับคณะกรรมการบางคณะที่ผมเป็นกรรมการอยู่ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการจัดทำร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ก็พบว่า ยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอย่างมากเกี่ยวกับจังหวัดจัดการตนเองครับ
ผมไม่ทราบแน่ชัดว่า ฐาน ของความเข้าใจและความคิดในเรื่องของการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเองนั้นมาจากที่ใดเพราะบางความคิดที่อ่านพบก็บอกว่า มาจากความล้มเหลวของการกระจายอำนาจ บางความคิดก็บอกว่ามาจากความแข็งตัวจนเกินไปของราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการกระจายอำนาจในประเทศไทย บางความคิดก็บอกว่าเป็นเจตจำนงของคนในชุมชนที่อยากจะดูแลจัดการชุมชนของตนเอง แล้วก็ยังมีอีกหลายความคิดที่ไม่ตรงกันกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงทำให้คนสับสนกันมากกับคำว่าจังหวัดจัดการตนเองจนมองไม่เห็นภาพว่าคืออะไร มีรูปร่างอย่างไร กันแน่
ตามความเข้าใจของผม จังหวัดจัดการตนเองน่าจะมาจาก บางถ้อยคำ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน โดยในมาตรา 78 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดินได้บัญญัติไว้ใน (3) ของมาตราดังกล่าวว่า กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศรวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น
ถ้อยคำที่ว่า รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของที่มาของแนวคิดเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง
เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุเพียงถ้อยคำข้างต้นเอาไว้โดยไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นๆ จึงมีผู้พยายาม ออกแบบ จังหวัดที่มีความพร้อมที่จะให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่เอาไว้หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ในแต่ละจังหวัดมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่เพียงองค์กรเดียว (มีเพียงองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพียงองค์กรเดียวในพื้นที่จังหวัดและไม่มีเทศบาลกับองค์การบริหารส่วนตำบล) ในแต่ละจังหวัดมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายรูปแบบเหมือนเดิมแต่ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจมากขึ้น ให้ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคในทุกจังหวัดและให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจมากขึ้น หรือไม่ก็กำหนดให้จังหวัดทุกจังหวัดมีสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีส่วนภูมิภาคมากำกับดูแลเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร
ที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่นำมาศึกษาได้ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. .... ครับ เพราะอย่างน้อยร่างกฎหมายดังกล่าวก็เป็นร่างกฎหมาย นำร่อง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องจังหวัดจัดการตนเองในสังคมครับ
เมื่อผมอ่านดูร่างกฎหมายระเบียบริหารราชการเชียงใหม่จนจบฉบับก็พบว่ามีอะไรน่าสนใจอยู่มาก อย่างน้อยแนวความคิดเรื่องการกระจายอำนาจในบ้านเราก็ก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งซึ่งเป็นก้าวที่ใหญ่มาก ในบทบรรณาธิการนี้ผมคงไม่นำเอารายละเอียดทั้งหมดของร่างกฎหมายมาเขียนแล้วก็ไม่วิจารณ์เนื้อหาสาระของร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยแต่จะขอหยิบยกมาดูเฉพาะในส่วนที่ น่าจะ เกี่ยวข้องกับความเป็นจังหวัดจัดการตนเอง นั่นก็คือ โครงสร้างและและอำนาจหน้าที่ รายได้และความสัมพันธ์กับส่วนกลางของเชียงใหม่มหานครตามร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. ....
ในส่วนของโครงสร้างของเชียงใหม่มหานครนั้น ร่างมาตรา 7 กำหนดให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเชียงใหม่มหานครสองระดับคือ ระดับบนกับระดับล่าง โดยระดับบนได้แก่ เชียงใหม่มหานคร ส่วนระดับล่างคือ เทศบาล ร่างมาตรา 7 ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 2 ระดับไว้อย่างชัดเจนว่า เชียงใหม่มหานครมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะเฉพาะภารกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือผลกระทบต่อประชาชนทั้งพื้นที่เชียงใหม่มหานคร หรือภารกิจที่หากเชียงใหม่มหานครเป็นผู้จัดทำจะก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดและการลงทุนซึ่งเทศบาลไม่สามารถดำเนินการได้เองหรือหากดำเนินการจะไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์เท่ากับการจัดทำโดยเชียงใหม่มหานคร ส่วนเทศบาลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะสำหรับภารกิจที่ไม่ยุ่งยากหรือสลับซับซ้อนและไม่ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการมากนักหรือเป็นภารกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนซึ่งอาจแตกต่างกันได้ตามพื้นที่ ที่น่าสนใจก็คือในร่างมาตรา 98 อันเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของเชียงใหม่มหานครที่นอกจากจะกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้คล้ายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วๆ ไปแล้ว ยังได้กำหนดให้ เชียงใหม่มหานครมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการตำรวจและการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเขตเชียงใหม่มหานครด้วย ส่วนในเรื่องรายได้ของเชียงใหม่มหานครนั้น ที่น่าสนใจก็คือในร่างมาตรา 118 ที่กำหนดให้เชียงใหม่มหานครมีอำนาจจัดเก็บภาษีบางประเภทและสามารถเก็บเอาไว้ได้ถึงร้อยละ 70 ส่วนอีกร้อยละ 30 ก็ให้ส่งคืนกระทรวงการคลัง ในเรื่องความสัมพันธ์กับส่วนกลางนั้น เนื่องจากร่างกฎหมายระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครมีวัตถุประสงค์ที่จะยกเลิกการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและให้เหลือเพียงราชการบริหารส่วนกลางและราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงกำหนดให้ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคถ่ายโอนภารกิจ อำนาจและหน้าที่ให้แก่เชียงใหม่มหานครในทุกด้านยกเว้น 4 เรื่องหลักคือ การทหาร ระบบเงินตรา การต่างประเทศและการศาล โดยในร่างมาตรา 17 บัญญัติว่า หน่วยงานจากรัฐส่วนกลางที่จะอยู่ในพื้นที่ให้ประสานงานและทำข้อตกลงในการประสานงานร่วมกัน ซึ่งก็หมายความว่า ในเชียงใหม่มหานครจะไม่มีส่วนภูมิภาค ส่วนกลางทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ส่วนในร่างมาตรา 18 ก็กำหนดให้ เชียงใหม่มหานครทำหน้าที่เป็นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในการบริหารงาน ตัดสินใจ กำหนดนโยบายและจัดทำบริการสาธารณะประเภทต่างๆ ได้อย่างอิสระ รวมทั้งมีอำนาจในการตรากฎมาย ระเบียบและข้อบัญญัติเพื่อใช้บังคับภายในพื้นที่เชียงใหม่มหานครโดยรัฐไม่สามารถแทรกแซงการดำเนินงานดังกล่าวได้ เว้นแต่จะเรื่องที่เกี่ยวกับการทหาร การต่างประเทศ เงินตรา และศาลเท่านั้น
ยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกมากในร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. .... ครับ แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าผมต้องการดูเฉพาะว่าจังหวัดจัดการตนเองคืออะไร เพราะฉะนั้นก็คงต้องจบการกล่าวถึงร่างกฎหมายระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครของคุณชำนาญ จันทร์เรืองไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนครับ
เรื่องใหญ่ที่ต้องมาพิจารณากันก่อนคือความหมายที่ชัดเจนของจังหวัดจัดการตนเองว่า คืออะไร
ตามความเข้าใจของผมนั้น การแสวงหาความหมายของคำว่าจังหวัดจัดการตนเองขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือในจังหวัดจัดการตนเอง จะยังคงให้มีราชการส่วนภูมิภาคต่อไปหรือไม่ เพราะหากเรามองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีราชการส่วนภูมิภาค จังหวัดจัดการตนเองก็จะมีรูปแบบที่เราคงสามารถนำเอารูปแบบของ มลรัฐ ในสหพันธรัฐมาเป็นแบบอย่างในการจัดโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของจังหวัดจัดการตนเองได้ แต่ถ้าหากเราคิดว่า ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องมีราชการส่วนภูมิภาคอยู่ต่อไป จังหวัดจัดการตนเองก็จะมีหน้าตาอีกแบบหนึ่งที่อย่างน้อยก็คงมีความคล่องตัวมากขึ้นกว่าการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันที่ไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญกันไปกี่หนหรือแก้กฎหมายไปกี่ฉบับ การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั้งราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคก็ยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงครับ
การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคจึง น่าจะ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดแนวความคิดเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง
ที่ผ่านมา ราชการส่วนกลางออกระเบียบและข้อบังคับตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระในการดำเนินงาน แม้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี พ.ศ. 2540 และ 2550 จะได้กำหนดให้การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาก็มีการออก กฎ หรือ ระเบียบ ซึ่งไม่ใช่ กฎหมาย ที่ผ่านการตราโดยรัฐสภามาใช้บังคับกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนทำให้เกิดปัญหาหลายประการตามมา การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีหลายรูปแบบและวิธีการ การกำกับดูแลตัวบุคคลนั้น ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีอำนาจอยู่หลายประการ อาทิเช่น การให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งได้ อำนาจในการยุบสภาท้องถิ่น อำนาจในการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่นและประธานสภาท้องถิ่น อำนาจในการแนะนำตักเตือนหรือสั่งให้ชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ และที่ร้ายแรงที่สุดก็คืออำนาจในการยุบสภาท้องถิ่น เป็นต้น ส่วนอำนาจของราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคในการกำกับดูแลการกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นก็มีอยู่มากเช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการอนุมัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งบริษัทหรือถือหุ้นในบริษัท อำนาจในการอนุมัติสัมปทานท้องถิ่น อำนาจในการอนุมัติข้อบัญญัติท้องถิ่น อำนาจในการอนุมัติให้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นชั่วคราว อำนาจในการระงับ ยับยั้งหรือเพิกถอนการปฏิบัติการของผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงอำนาจในการเพิกถอนมติสภาท้องถิ่นที่มิใช่ข้อบัญญัติท้องถิ่นด้วย เป็นต้น
การกำกับดูแลหลายรูปแบบที่นำมากล่าวไว้ข้างต้นนี้เป็นเพียง ส่วนหนึ่ง ของการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค ยังมีการกำกับดูแลอีกหลายรูปแบบและหลายวิธีการที่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคสำคัญของการเจริญเติบโตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบ้านเราครับ
นอกจากเรื่องการกำกับกับดูแลอย่างเข้มงวดแล้ว เรื่องเงินก็ยังเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดปัจจัยในการทำงาน แม้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี พ.ศ. 2540 และ 2550 จะบัญญัติไว้ให้กฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดการจัดสรรรายได้ระหว่างราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง รวมทั้งกำหนดให้มีกฎหมายรายได้ท้องถิ่นเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีและรายได้อื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ จึงทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดปัจจัยในการทำงาน ความเติบโตและก้าวหน้าจึงไปอย่างช้า
ด้วยเหตุนี้เองที่มีผู้คนจำนวนหนึ่งฝากความหวังไว้กับจังหวัดจัดการตนเองว่าหากทำได้สำเร็จ จังหวัดจัดการตนเองจะกลายเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจในตัวของตัวเอง ปราศจากการกำกับดูแลจากราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค มีอิสระในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนาพื้นที่ของตัวเองควบคู่ไปกับการจัดเก็บรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อให้สามารถนำรายได้เหล่านั้นมาจัดทำกิจกรรมต่างๆ อันเป็นการพัฒนาจังหวัดของตนเองได้
จังหวัดจัดการตนเองจึงหมายความถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ตามมาตรา 78 (3) แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีความเป็นอิสระคล่องตัวในการบริหารจัดการในด้านการเงินการคลังและในด้านบุคลากรมากกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันครับ
ในความคิดของผมนั้น ก่อนที่จะเกิดการที่จังหวัดต่าง ๆ พากันยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นจังหวัดจัดการตนเองของตัวเองออกมา รัฐควรพิจารณากำหนดกรอบของความเป็นจังหวัดจัดการตนเองให้ชัดเจนก่อน รัฐสภาเองก็อาจออกกฎหมายกำหนดกรอบของความเป็นจังหวัดจัดการตนเองออกมาก็ได้ หาไม่แล้วจังหวัดจัดการตนเองก็จะเหมือนบรรดามหาวิทยาลัยนอกระบบที่ต่างคนต่างออกกฎหมายของตนเองมาจนไม่มีความเป็นเอกภาพและเกิดความเหลื่อมล้ำกันในบางเรื่องครับ
กรอบประการแรกที่จะต้องพิจารณาคือ จะยังคงราชการส่วนภูมิภาคไว้หรือไม่ ถ้าจะไม่ให้มีราชการส่วนภูมิภาคก็จะต้องวางเกณฑ์ของความสัมพันธ์ต่าง ๆ ระหว่างราชการส่วนกลางกับจังหวัดจัดการตนเองเอาไว้อย่างชัดเจนเพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามจังหวัดจัดการตนเองก็ยังคงเป็น ส่วนหนึ่ง ของประเทศไทยที่จะต้องเดินหน้าไปตามแนวทางที่รัฐบาลได้วางเอาไว้ แต่ถ้าจะให้มีราชการส่วนภูมิภาคอยู่ต่อไป จะปรับปรุงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนภูมิภาคอย่างไรที่จะไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางความเป็นจังหวัดจัดการตนเองได้
กรอบประการที่สองก็คือ อำนาจหน้าที่ของจังหวัดจัดการตนเอง ต้องวางกรอบให้ชัดเจนว่า ในจังหวัดจัดการตนเองซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กอื่น ๆ เช่น เทศบาล ซ้อนอยู่ข้างในด้วยหรือว่าจะยุบเลิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดที่อยู่ในจังหวัดจัดการตนเองแล้วเหลือเพียงจังหวัดจัดการตนเองเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่แต่เพียงองค์กรเดียวในพื้นที่นั้น เรื่องนี้ต้องมีความชัดเจนและต้องให้เป็นเอกภาพในทุกจังหวัดจัดการตนเอง หาไม่แล้วก็จะมีปัญหาเรื่องการทับซ้อนของภารกิจและอำนาจหน้าที่ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วก็จะต้องมาพิจารณาต่อไปว่า จังหวัดจัดการตนเองมีอำนาจแค่ไหน ควรรับผิดชอบเรื่องตำรวจหรือไม่ ควรมีอำนาจในการกำหนดอัตราภาษีที่ใช้ในจังหวัดของตนเองได้หรือไม่ สัดส่วนของการแบ่งภาษีอากรต่างๆ ระหว่างรัฐกับจังหวัดควรเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือที่จะทำให้จังหวัดจัดการตนเองเดินหน้าไปได้อย่างดีและมั่นคงครับ จากนั้นก็คงจะต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจนถึงสวัสดิการประเภทต่างๆ ที่จังหวัดจัดการตนเองจะต้องรับผิดชอบดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสาธารณสุข การศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถานฝึกอบรม เป็นต้น
กรอบประการที่สามก็คือ การกำกับดูแล อย่างที่ได้กล่าวไปหลายครั้งแล้วในบทบรรณาธิการนี้ว่า ปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดจังหวัดจัดการตนเองก็คือเพื่อที่จะหนีไปให้พ้นจากการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อจังหวัดจัดการตนเองยังคงเป็น ส่วนหนึ่ง ของประเทศไทย คงปฏิเสธการกำกับดูแลไปไม่ได้ แต่กรอบของการกำกับดูแลควรต้องเปลี่ยนไปจากการกำกับดูแลโดยราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค โดยอาจต้องทำการศึกษาจากประสบการณ์ของต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศสที่ให้ศาลปกครองเป็นผู้ควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคเป็นผู้ตรวจสอบการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ สำหรับในประเทศไทยที่มีปัญหาการทุจริตมากอาจต้องดูความจำเป็นของการตรวจสอบการทุจริตที่หากจะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ควรจะต้องมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดจัดการตนเองด้วย เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้บริหารจังหวัดจัดการตนเองเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล เช่น เรื่องการถอดถอนผู้บริหารหรือสมาชิกสภา ควรเพิ่มบทบาทภาคประชาชนให้มากขึ้นให้สมกับความเป็นจังหวัดจัดการตนเอง
กรอบสุดท้าย ที่ผมอยากจะกล่าวถึงไว้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็คือ ควรจะต้องหาวิธีการที่จะทำให้ได้คนดีที่สุด เก่งที่สุด ซื่อสัตย์ที่สุดเข้ามาทำงานในจังหวัดจัดการตนเองครับ ผมไม่อยากเห็นผู้บริหารจังหวัดจัดการตนเองเป็นคนของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นหัวคะแนนของพรรคการเมืองระดับชาติดังที่เป็นอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายๆ แห่งในปัจจุบัน ผมไม่อยากเห็นคนแย่งกันเข้ามาเป็นผู้บริหารจังหวัดจัดการตนเองที่เข้ามาเพื่อจัดสรรผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง วิธีการได้มาซึ่งผู้บริหารจังหวัดจัดการตนเองทั้งหมดรวมไปถึงสมาชิกสภาและบุคคลากรระดับสูงจึงควรเป็นไปอย่างดีที่สุดแต่จะเป็นวิธีการใดนั้นผมคิดไม่ออกเพราะทุกวันนี้ผมเองก็รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากกับบรรดาผู้คนที่เข้ามาอยู่ในองค์กรต่างๆ ที่ดูแล้วไม่ใช่คนที่ควรจะต้องเป็นทั้งนั้นเลยครับ
กรอบที่กล่าวมาข้างต้นเป็นโจทย์ใหญ่ที่ควรจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลหรือรัฐสภาก่อนที่จะมีการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเองครับ
จริงๆ แล้ว อาจไม่ใช่จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้ที่จะเป็นจังหวัดจัดการตนเองแห่งแรก ในบทบรรณาธิการครั้งต่อไป ผมจะลองนำเสนอ จังหวัดอื่นมาเป็นจังหวัดนำร่องของจังหวัดจัดการตนเองนะครับ
สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเขียนโดยคุณนิจจารีย์ ภาคินปริพรรห์ เรื่อง "ปัญหากฎหมายในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น" บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง "การนำหลักเกณฑ์กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มาใช้กับพนักงาน บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่เขียนโดย คุณ เบญจมาศ แก้วไวยุทธิ์ บทความที่สามเป็นบทความของ คุณสุชัย เลยะกุล ที่เขียนเรื่อง " การแก้ไขปัญหาการจัดตั้ง และควบคุมการดำเนินงานสถานตรวจสภาพรถเอกชน โดยวิธีการทางกฎหมายแห่งรัฐ" บทความสุดท้าย เป็นบทความเรื่อง " นิติวิธีกฎหมายมหาชน มีจริงหรือไม่" ที่เขียนโดยคุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2555
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|