|
|
|
|
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม 2554
เรื่องของทหาร
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก 3 ลำตกในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 คน บาดเจ็บ 1 คน และสูญเสียทรัพย์สินของทางราชการมูลค่าเป็นพันล้านบาทไปอย่างน่าเสียดาย
การที่เฮลิคอปเตอร์ตก 3 ลำในเวลาไม่กี่วันย่อมสร้างความสงสัยให้กับผู้คนว่าเกิดอะไรขึ้น จึงเป็นที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลาย ๆ ลักษณะจนทำให้ผู้บัญชาการทหารบกออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงและลีลาที่ ดุดัน (ที่น่าจะไปใช้กับ ศัตรูของประเทศ มากกว่า คนไทยด้วยกัน) และนอกจากนี้ ในการให้สัมภาษณ์ ผู้บัญชาการทหารบกก็ยังออกมา ตอบโต้ สื่อและนักวิชาการที่ออกมาตั้งข้อสงสัยถึงการทุจริตในระบบการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพบกอีกด้วย
ผมไม่ได้เข้าข้าง สื่อและนักวิชาการ ที่ผู้บัญชาการทหารบกออกมา ตอบโต้ แต่อยากจะบอกว่า หากเรารู้จักประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เราก็จะพบว่าเป็นธรรมดาที่ประชาชนผู้เสียภาษี มีสิทธิ ที่จะตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ ซึ่งมาจากภาษีอากรของประชาชนว่า มีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าหรือไม่ ? มีการทุจริตหรือไม่ ? ก็จะไม่ให้ตั้งข้อสงสัยได้อย่างไร คงจำกันได้ถึงเครื่อง GT 200 หรือเรือเหาะตรวจการณ์ ซึ่งซื้อมาด้วยเงินจำนวนที่สูงมากแต่กลับมีปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการใช้งาน และนอกจากนี้แล้ว กองทัพไทยเองก็ยังใช้งบประมาณจำนวนมากซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อยู่ตลอดเวลาจนทำให้บางครั้งต้องสงสัยว่า จะซื้อไปรบกับใครกัน !!! เพราะฉะนั้น หากเราอยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริง ประชาชนเจ้าของประเทศและเจ้าของภาษีอากรย่อมมีสิทธิที่จะ สงสัย และ ตรวจสอบ การใช้ภาษีอากรของเขาได้ครับ !!!
คงจำกันได้ว่า เมื่อตอนต้นปี พ.ศ. 2554 มีข่าวปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ หลายฉบับถึงการจัดอันดับความเข้มแข็งทางการทหารของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยคำนวณจาก 45 ปัจจัย ปรากฏว่ากองทัพไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 19 ของโลก
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่าประเทศเล็ก ๆ อย่างเราจะมีทหารพร้อมรบ 305,860 คน กองกำลังสำรองพร้อมรบ 245,000 คน งบประมาณด้านการทหาร 156,000 ล้านบาทต่อปี กองทัพบกมีรถถัง 542 คัน รถหุ้มเกราะ 1,005 คัน ปืนใหญ่ลากจูง 741 กระบอก ปืนใหญ่อัตราจร 26 กระบอก จรวดหลายลำกล้อง 60 ชุด ปืน ค. 1,200 กระบอก อาวุธนำวิถีทำลายรถถัง 818 ชุด อาวุธต่อสู้อากาศยาน 378 ชุด ยานยนต์ส่งกำลังบำรุง 4,600 คัน กองทัพอากาศมีเครื่องบินรบ 913 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 443 ลำ เครื่องบินลำเลียง 105 ลำ กองทัพเรือมีเรือรบ 614 ลำ ในจำนวนนี้ประกอบด้วยเรือบรรทุกอากาศยาน 1 ลำ เรือฟริเกต 6 ลำ เรือยามฝั่ง 109 ลำ เรือปราบทุ่นระเบิด 7 ลำ เรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบก 9 ลำ และกองเรือพาณิชย์นาวี 382 ลำ
หากตัวเลขทั้งหมดข้างต้นเป็นจริง วันนี้เราคงเหลือเฮลิคอปเตอร์ 440 ลำแล้ว เพราะตกไป 3 ลำครับ !!!
เฮลิคอปเตอร์ตก 3 ลำเพราะเหตุใด คงต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่า เกิดจากความบกพร่องของคน ของเครื่อง หรือของสภาพอากาศ เพราะเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 3 ลำเป็นทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อหาว่า ควรอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ใด แต่ถ้าหากผลการสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัย จึงไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบ
ผมไม่ทราบจริง ๆ ว่า กองทัพบกได้มีการดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้วหรือยัง เท่าที่ทราบจากข่าว เห็นว่าจะมีการเลื่อนยศและปูนบำเหน็จให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก 3 ลำโดยยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจนถึงเหตุที่ทำให้เฮลิคอปเตอร์ทั้ง 3 ลำตก หากเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ก็น่าเสียใจแทนข้าราชการประเภทอื่น ๆ เพราะหากอยู่ในเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องสูญเสียทรัพย์สินของทางราชการเหมือนกัน ข้าราชการประเภทอื่นก็จะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ มากมายเพื่อหาข้อยุติให้ได้ก่อนว่า ทรัพย์สินของทางราชการที่สูญเสียไปนั้น ไม่ได้เกิดจากข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของตนเองครับ !!!
ในบ้านเรา เรายอมยกให้ทหารเป็นใหญ่กว่าข้าราชการประเภทอื่นมานานแล้ว อาจเป็นด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ที่แม้ พลเรือน จะเป็น เจ้าของ ความคิด แต่ถ้าหากไม่ได้ พลัง จากทหารมาช่วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันนั้นคงไม่มีทางสำเร็จเป็นแน่ จากจุดนี้เองที่น่าจะทำให้ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองประเทศเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทุกครั้งที่ทหาร คิดว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีปัญหา ทหารก็จะเข้ามาควบคุมประเทศเอาไว้ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยที่ทหารเองก็มีส่วนช่วยให้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2475 อย่างไม่สนใจอะไรทั้งนั้น จากประสบการณ์นี้เองที่ทำให้ ทหาร ในบ้านเรามีความสำคัญถึงขนาด ชี้ อนาคตของประเทศได้ แม้ว่าการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งจะตามมาด้วยความล้มเหลว ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ แถมยังสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศชาติในสายตาประชาคมโลกอีกด้วย แต่ทหารก็ไม่เคยคิดที่จะ หยุด บทบาทในด้านการ ตรวจตรา ประชาธิปไตยในแบบของทหาร และยิ่งทุกครั้งที่เกิดปัญหาหรือวิกฤติขึ้นในประเทศและสื่อประเภทต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับทหารและพยายามมองไปว่าทหารอาจปฏิวัติ ทหารก็เลยเข้ามามีบทบาทในการปกครองประเทศมากขึ้นตามลำดับ ด้วยเหตุนี้เองที่งบประมาณจำนวนมากจึงถูกจัดสรรให้ทหารนำไปใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อย่างมากเพื่อ เอาใจ ทหาร โดยไม่คำนึงถึง ฐานะของประเทศ จนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 19 ของประเทศที่มีความเข้มแข็งทางการทหารของประเทศ ต่าง ๆ ทั่วโลกครับ
เราคงทำอะไรในเรื่องนี้มากไม่ได้เพราะก็อย่างที่ทราบกันอยู่ว่าอะไรเป็นอะไร ในฐานะนักวิชาการ คิดว่ารัฐบาลใหม่ควรต้องทำความเข้าใจกับทหารถึงสิ่งที่เป็นความจริงในโลกปัจจุบัน ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นกันอยู่ก็คือ กรณีพิพาทเรื่องแนวเขตที่ดินระหว่างไทยกับกัมพูชาซึ่งไม่มีทางจบลงได้ด้วยการใช้อาวุธหรือใช้กำลังทหาร เพราะในโลกปัจจุบัน การแก้ปัญหาระหว่างประเทศย่อมต้องเป็นไปตามกลไกของกฎหมายระหว่างประเทศ เราไม่มีทางที่จะใช้แสนยานุภาพของกองทัพไทยที่อยู่ในอันดับที่ 19 ของโลกไปทะเลาะหรือเปิดศึกกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ดังนั้น การ สะสม อาวุธจึงเป็นสิ่งที่ ไม่จำเป็น สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เราคงมีอาวุธเท่าที่จำเป็นไว้เฉพาะการป้องกันตนเอง ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนบริเวณชายแดนมากกว่ามีอาวุธไว้เพื่อทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านครับ
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับทหารนอกไปจากเรื่องงบประมาณทางทหารก็คือเรื่องการยอมรับในอำนาจของพลเรือน ซึ่งผมคิดว่ายังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอยู่ระหว่างหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในเรื่องดังกล่าว สังคมเองก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความสำคัญกับทหารว่า ใหญ่กว่า พลเรือนที่เข้ามาเป็นฝ่ายบริหารของประเทศ มีหลายต่อหลายครั้งที่สื่อต่าง ๆ พยายามถามทหารชั้นผู้ใหญ่ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับการเมือง มีความคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายของรัฐบาล มีความคิดเห็นอย่างไรกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบางคน หรือแม้แต่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมควรเป็นใคร ทั้งผู้ถามและผู้ตอบในบางครั้งก็หลงทางกันไปไกล เราต้องไม่ลืมไปอย่างหนึ่งว่า ในประเทศไทยเรามี 19 กระทรวงและอีก 1 สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหมเป็นหนึ่งใน 19 กระทรวง กระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 คือ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในประเทศ การรักษาผลประโยชน์ของชาติ สนับสนุนการพัฒนาประเทศและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงกลาโหม และนอกจากนี้ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (3) ยังบัญญัติไว้ว่าให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม จากกฎหมาย 2 ฉบับข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า กระทรวงกลาโหมเป็นส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับนโยบายของคณะรัฐมนตรี ส่วนทหารซึ่งเป็นข้าราชการอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมก็เป็นข้าราชการประเภทหนึ่งซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี การที่รัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไร กระทรวงกลาโหมก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น ส่วนในเรื่องของตัวบุคคลนั้น หากนายกรัฐมนตรีจะตั้งใครมาเป็นรัฐมนตรีก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะทำได้ หากทหารสามารถเรียกร้องให้เอาใครมาเป็นรัฐมนตรีได้ ทุกกระทรวงก็คงต้องอยู่ในสถานะที่เหมือน ๆ กัน ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจของพลเรือนที่อยู่เหนือทหารก็คือ รัฐสภาเป็นผู้ออกกฎหมายกำหนดโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม รัฐสภาเป็นผู้ออกกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณของทางทหาร ด้วยเหตุนี้เองที่ประเทศต่าง ๆ ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจริง ๆ ยอมรับว่า พลเรือนเป็นฝ่ายที่มีอำนาจเหนือทหารครับ
ที่กล่าวมาก็เพื่อให้เกิดการ ยอมรับ และ กลับเข้าสู่ระบบ ที่ถูกต้องกันเสียที ทหารมีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ก็ต้องทำหน้าที่ไปตามนั้น การออกมาแสดงแสนยานุภาพบ่อย ๆ นอกจากจะไม่ทำให้สถานะของประเทศดีขึ้นแล้ว ยังอาจเป็นภัยต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ต่อความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี และต่อความมั่นใจของประชาชนคนไทยที่ต้องการเห็นประเทศชาติก้าวเดินไปภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แท้ ๆ อย่างมั่นคงด้วยครับ
งบประมาณทางทหารจึงควรได้รับการทบทวนเพราะแสนยานุภาพกองทัพไทยนั้น น่ากลัว อยู่แล้ว แม้เฮลิคอปเตอร์จะตกไป 3 ลำแต่เราก็ยังมีเฮลิคอปเตอร์อีกตั้ง 440 ลำ ข่าวที่ว่าจะขอซื้อเฮลิคอปเตอร์ใหม่อีก 30 ลำ คงต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่า 440 ลำที่มีอยู่นั้นใช้ได้หรือไม่ได้อย่างไรครับ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนจำนวนหนึ่งมากกว่าหากเอาเงินที่จะซื้อเฮลิคอปเตอร์ใหม่ไปสร้างโรงเรียนหรือโรงพยาบาลในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ เอาไว้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นหรือที่มีอยู่ 440 ลำนั้นใช้ไม่ได้หรือเสียไปสักครึ่งหนึ่งแล้วค่อยคิดจะซื้อยุทธปัจจัยกันใหม่จะเหมาะสมกว่า
ขอฝากรัฐบาลใหม่ไว้อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ได้อ่านพบในหน้าหนังสือพิมพ์คือ มีบริษัทผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ที่เป็นคู่ค้ากับกองทัพไทยจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะผูกขาด เพื่อความโปร่งใสในการใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ควรที่จะเปิดเผยรายชื่อและรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเหล่านั้นต่อสาธารณะ เช่นเดียวกับการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพไทยควรทำโดยวิธีปกติเหมือนกับการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เพื่อที่จะได้สามารถตรวจสอบได้ จะได้ไม่ต้องมีใครมาสงสัยหรือกล่าวหากันอีกต่อไปว่ามีการทุจริตในระบบจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพไทยครับ
ข้อสำคัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ซึ่งน่าจะลองให้พลเรือนเป็นดู เพราะอย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียใด ๆ ทั้งสิ้น ควรคิดที่จะปฏิรูปกองทัพให้มีขนาดกระทัดรัดเหมาะสมกับขนาดประเทศและจะต้องเข้าไปตรวจสอบอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่กองทัพไทยมีอยู่อย่างละเอียดทั้งหมดว่าใช้ได้หรือไม่ อย่างไร รวมทั้งควรเข้าไปตรวจสอบการซ่อมบรรดายุทโธปกรณ์เหล่านั้นด้วยว่า มีความคุ้มค่ากับงบประมาณที่ต้องเสียไปหรือไม่ เพราะในบางครั้ง หากต้องเสียเงินซ่อมจำนวนมหาศาลแล้วใช้งานไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เอาเงินไปทำอย่างอื่นจะดีกว่าครับ
การปฏิรูประบบทหารทั้งระบบมีความจำเป็นหรือไม่ เป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องคิดทบทวนอย่างรอบคอบและมีคำตอบที่ชัดเจนครับ โลกปัจจุบันเปลี่ยนไปมากแล้ว เราจะย่ำอยู่ที่เดิม พูดจาแบบเดิม ๆ ทำแบบเดิม ๆ เหมือน 70 ปีที่แล้วมาคงไม่ได้ครับ !!!
ความจริงผมไม่อยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับ ทหาร เท่าไรนัก ก็อย่างที่ทราบกันอยู่ว่า ทหารนั้นมี อำนาจ ในตัวของตัวเอง แต่เมื่อพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว เห็นว่า จำเป็นต้องเขียน เพราะถ้าไม่เขียนก็อาจเกิดผลเสียตามมาในวันข้างหน้าได้ ถ้าบทบรรณาธิการนี้ไปกระทบกระเทือนความรู้สึกใครก็ต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
ท้ายที่สุด ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของข้าราชการทุกคนที่เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกรณีของข้าราชการทหารและพลเรือน 17 คนจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก 3 ลำ รวมทั้งข้าราชการทุกประเภททั้งในภาคใต้และภาคอื่น ๆ ที่ต้องเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่เอาไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ !!!
ในสัปดาห์นี้ เรามีนักวิชาการส่งบทความมาให้เราเผยแพร่รวม 5 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง ปัญหาการอุทธรณ์คำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ที่เขียนโดย คุณศุภวัฒน์ สิงห์สุวงษ์ แห่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา บทความที่สองเรื่อง แนวคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ไม่ผูกพันตน ไม่ผูกพันคู่ความ กระทบคุณภาพความน่าเชื่อถือหรือไม่ ที่เขียนโดย คุณสมศักดิ์ พิทักษ์มงคลกุล บทความที่สามเรื่อง ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับระยะเวลาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ของคุณนิธินันท์ สุขวงศ์ บทความที่สี่เรื่อง วาระการดำรงตำแหน่งผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษา โดย รองศาสตราจารย์ เจริญศักดิ์ ศาลากิจ แห่งคณะสัตว์แพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตร และบทความสุดท้ายบทความเรื่อง นิติธรรม ไม่ใช่ นิติทำ ที่เขียนโดย คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความไว้ ณ ที่นี้ครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 2554
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|