หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 253
5 ธันวาคม 2553 20:44 น.
ครั้งที่ 253
       สำหรับวันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2553
        
       “ความโชคดีซ้ำซากของพรรคประชาธิปัตย์”
        
                 เมื่อตอนเช้าวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่อให้คู่กรณีแถลงปิดคดีด้วยวาจาในกรณีที่นายทะเบียนพรรคการเมืองร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์จากกรณีการใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์ จากนั้นในตอนบ่ายสองโมง ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 2 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากกระบวนการยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
                 ในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ ผมยังไม่เห็นคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน จึงยังไม่ขอให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว แต่ผมเข้าใจว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องเนื่องมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์เกินระยะเวลาที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด กล่าวคือ เกิดการนับวันไม่ตรงกันระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งนับวันที่ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ฟ้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553 และต่อมา ประธานกรรมการการเลือกตั้งก็ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553 ซึ่งก็อยู่ภายใน 15 วัน ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญกลับถือเอาวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นวันที่ประธานกรรมการการเลือกตั้งเสนอเรื่องให้ที่ประชุมพิจารณา ดังนั้น เมื่อประธานกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553 จึงล่วงพ้นระยะเวลา 15 วัน ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองไปแล้ว
                 แม้จะยังไม่ได้เห็นคำวินิจฉัยฉบับจริง แต่เมื่อได้ฟังคำวินิจฉัยและรับทราบผลคำวินิจฉัยในเรื่องการยุบพรรคประชาธิปัตย์  ในเบื้องต้น ผมมีข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับ 2 องค์กรคือ ศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้งที่คงต้องนำมากล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้ก่อน เมื่อได้อ่านคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวแล้ว หากมีประเด็นน่าสนใจ ก็จะได้ย้อนกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่งครับ
                 องค์กรแรกที่อยากจะกล่าวถึงก็คือศาลรัฐธรรมนูญ มีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญที่อยากจะพูดถึง คงต้องเริ่มจากก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ มีข่าวไม่ดีไม่งามออกมามากมายที่ทำให้เกิดมุมมองในเชิงลบกับศาลรัฐธรรมนูญและกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคน ข่าวไม่ดีไม่งามดังกล่าวมีผู้ให้ความเห็นสรุปได้เป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือ มี “ขบวนการ” จ้องทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ กับแนวทางที่สองคือ ศาลรัฐธรรมนูญเองที่ทำให้องค์กรของตัวเองไม่น่าเชื่อถือ เรื่องดังกล่าวจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้ใดออกมาชี้แจงให้กระจ่างว่าในที่สุดแล้ว ปัญหาเกิดจากใคร และความรับผิดชอบควรตกอยู่แก่ผู้ใด แต่ในช่วงเวลาเดียวกันก็กลับมีการให้ข่าวออกมาว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้น ในปัจจุบัน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ก็ชอบที่ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวจะออกมาชี้แจงหรืออธิบายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้แก่สังคมทราบต่อไปว่า สรุปแล้วเกิดอะไรขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญครับ   
                 เรื่องต่อมาที่ผมมีข้อสังเกตก็คือ เรื่องผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์เนื่องจากมีการยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ผมได้ลองตรวจสอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ดูแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีข้อใดเลยที่กล่าวถึงการตรวจสอบเรื่อง “อายุความในการร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ” แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีระเบียบหรือหลักเกณฑ์อื่นใดที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวไว้หรือไม่ ซึ่งเมื่อเทียบเรื่องดังกล่าวกับวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครองแล้ว ก็จะพบว่าทั้งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กับระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องมีการตรวจสอบคำฟ้องในเบื้องต้นก่อนที่จะรับไว้พิจารณา นอกจากนี้ จากการสอบถามเรื่องดังกล่าวกับพนักงานคดีปกครองทำให้ได้ข้อมูลว่า การตรวจสอบเรื่อง “อายุความ” หรือ “ระยะเวลาในการฟ้องคดี” จะทำกันอย่างจริงจังและหลายขั้นตอน แม้กระทั่งเมื่อตุลาการหัวหน้าคณะจ่ายสำนวนคดีให้กับตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว ตุลาการเจ้าของสำนวนก็จะต้องตรวจสอบความสมบูรณ์ของคำฟ้องก่อนที่จะรับหรือไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณา ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีกระบวนการดังกล่าว ก็ชอบที่จะพิจารณาปรับปรุงข้อกำหนดของตัวเองเสียใหม่เพื่อให้การพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นของคำร้องเกิดประโยชน์มากกว่าพิจารณากันไปตั้งชาติหนึ่งแล้วค่อยมาบอกว่ายื่นคำร้องเกินระยะเวลาครับ !!!
                 นอกจากนี้ ในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ยังได้ มีการแต่งตั้ง “ตุลาการประจำคดี” คล้าย ๆ กับ “ตุลาการเจ้าของสำนวน” ของศาลปกครองด้วย แต่จำนวนอาจแตกต่างกันเพราะของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในข้อกำหนดฯ ข้อ 25 ว่าให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งตุลาการไม่น้อยกว่า 3 คนเป็นตุลาการประจำคดี แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่ 2 กรณีซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องการยุบพรรคประชาธิปัตย์ และก็มีข้อยกเว้นซ้อนเข้าไปอีกว่า “หรือในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ประธานศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่แต่งตั้งตุลาการประจำคดีก็ได้” ซึ่งข้อยกเว้นหลังนี้ก็ไม่เข้าเกณฑ์กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน คำถามของผมคือ ใครเป็นตุลาการประจำคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และตุลาการประจำคดีได้ทำหน้าที่ของตนในการตรวจสอบว่าการยื่นฟ้องกรณีดังกล่าวเกินระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ อย่างไร ครับ เพราะหากพิจารณาข้อกำหนดฯ ข้อ 29 ก็กล่าวไว้ชัดเจนพอสมควรว่า
       “เมื่อศาลหรือตุลาการประจำคดี แล้วแต่กรณี มีคำสั่งรับคำร้องที่มีคู่กรณีไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ถูกร้อง หรือมีคำสั่งแจ้งผู้ถูกร้องมารับสำเนาคำร้องภายในระยกเวลาที่ศาลกำหนด
                 เมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้อง ให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
                 กรณีผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป”
                 ผมสงสัยจริง ๆ นะครับว่าใครเป็นตุลาการประจำคดีในเรื่องนี้  แล้วทำไมตุลาการประจำคดีถึงได้ไม่หยิบยกเรื่องยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กำหนด มาพิจารณาตั้งแต่ต้น ปล่อยให้เสียเวลาไต่สวนข้อเท็จจริงมาถึงหลายเดือนแล้วก็มาจบลงตรงที่ว่า ยื่นคำร้องเกินระยะเวลาครับ !!!
                 นอกจากนี้แล้ว ผมยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง “อายุความ” กับ “ประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งในอนาคตคงต้องสร้างความชัดเจนให้มากกว่านี้ครับ ผมขอยกตัวอย่างจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 52 ที่ว่า “การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้”
                   การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีมี่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้”
                 ผมคงไม่ต้องอธิบายมาตรา 52 นะครับ แต่จะขอให้ย้อนกลับไปดูกันสักหน่อยว่า การใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนนั้น หากศาลจะรับไว้พิจารณาจะเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือไม่ครับ !!!
                 ผมไม่อยากโต้เถียงประเด็นนี้กับ “นักกฎหมายใหญ่” บางคนที่รีบออกมาให้ความเห็นสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่พิจารณายกคำร้องกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์เนื่องจาก “ขาดอายุความ” ว่าเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกทำกันคือต้องดูว่าถูกต้องตามกระบวนการตามกฎหมายหรือไม่ก่อน ซึ่งจริง ๆ แล้วในเรื่องดังกล่าว หากถามนักกฎหมายมหาชน “แท้ ๆ ” ก็จะได้คำตอบไม่ต่างกันเท่าไรนัก เพราะหัวใจสำคัญของกฎหมายมหาชนคือ การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะซึ่งก็คือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชนนั่นเอง หากศาลซึ่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะอ้างว่า กระบวนการของการยื่นคำร้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วปฏิเสธไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ศาลก็จะเป็นผู้บกพร่องต่อหน้าที่ที่ต้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเสียเองครับ
                 ข้อสงสัยยังมีอีกว่า ข้อผิดพลาดทางเทคนิคคือการยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะกลายเป็น “ข้อยกเว้น” ที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่พิจารณาวินิจฉัย “ข้อเท็จจริง” ที่ถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อแผ่นดินได้หรือไม่ครับ ซึ่งเรื่องนี้ผมก็จะขอพูดต่อไปเลยและเป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีคำอธิบายจากศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 50 ได้กล่าวไว้ว่า การพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยทุกประเด็นที่ศาลกำหนด โดยตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคนจะงดออกเสียงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ศาลกำหนดมิได้ นั้น ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นเอาไว้ถึง 5 ประเด็นด้วยกัน แต่จากการฟังการอ่านคำวินิจฉัยเมื่อบ่ายวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในประเด็นแรกเพียงประเด็นเดียวคือ กระบวนการยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นอื่นซึ่งก็เป็นประเด็นที่สำคัญมากโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชน ดังนั้นจึงชอบที่ประชาชนจะต้องได้รับทราบคำตอบที่ถูกต้องว่า การใช้จ่ายเงินภาษีอากรของประชาชนดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร ซึ่งในเรื่องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้วินิจฉัยทั้ง ๆ ที่ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญเอง “บังคับ” ไว้แล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำ
                 คำถามต่อเนื่องก็คือ จะทำอย่างไรกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญกระทำการ “ฝ่าฝืน” ข้อกำหนดของตัวเองครับ !!!
                 ผมไม่แน่ใจว่า ที่ผมถามไปทั้งหมด จะได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญหรือจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร หรือจะเป็นเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญคือ “silence is golden” แต่ก็อยากจะขอฝากไว้ให้กับ “พลเมือง” ทุกคนให้ช่วยกัน “ผลักดัน” ให้เราได้รับคำตอบเหล่านี้ต่อไปครับ
                 องค์กรต่อมาที่ผมคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งครับ ปัญหาทั้งหมดของเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์เกิดขึ้นจากการกระทำของนายทะเบียนพรรคการเมืองกับประธานกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคน ๆ เดียวกันแต่ทำสองหน้าที่
                 คงไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่า เกิดความสับสนในหน้าที่ระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมืองกับประธานกรรมการการเลือกตั้ง หรือเกิดความสับสนในกฎหมายที่จะนำมาใช้ระหว่างกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่กับกฎหมายพรรคการเมืองฉบับเก่า คนที่ “สมัครใจ” เข้ามาทำงานระดับนี้ ในตำแหน่งนี้ ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนแล้วว่า ต้องรู้จริง ต้องทำงานได้ดีและไม่ผิดพลาด ตำแหน่งเหล่านี้ไม่ใช่ที่ “เรียนรู้งาน” เพราะเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อระบบต่าง ๆ และต่อระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ฉะนั้น เมื่อทำงานผิด ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องไม่ควรผิด เช่นสับสนในหน้าที่หรือสับสนในกฎหมาย เราจะทำอย่างไรกันดีกับ “คนพวกนี้” ครับ !!
                 จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากเป็นผม ผมลาออกไปแล้วครับ สง่างามกว่าอยู่ทำงานต่อไป เพราะ “พลเมือง” อย่างพวกเราคงไม่มีอะไรเป็นหลักประกันอีกแล้วว่า ในการทำงานต่อ ๆ ไปคุณจะไม่ “สับสนในหน้าที่” หรือ “สับสนในกฎหมาย” อีก
                 แต่ถ้าให้ผม “เดา” ผมคิดว่าคงไม่มีใครลาออกแน่  จะลาออกกันไปทำไมครับ มีตัวอย่าง ที่เห็น ๆ กันอยู่หลายเรื่อง ล่าสุดที่เคยเกิดขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เถียงกันว่าการสอนหนังสือเป็นการรับจ้างหรือไม่ หรือกรณีล่าสุด กรณีเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ทุกคนเงียบ ไม่ลาออก ไม่ชี้แจง ปล่อยให้เวลาผ่านไป ไม่ช้าเรื่องก็เงียบ ตัวเองก็มีงานทำ มีเงินใช้ มีอำนาจวาสนาบารมีต่อไปครับ !!!
                 ไม่ทราบว่า กรรมการการเลือกตั้งคนอื่นจะรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้บ้างนะครับ น่าจะลองแนะนำนายทะเบียนพรรคการเมืองให้ลาออกเนื่องจากบกพร่องต่อหน้าที่ทำให้เกิดผลเสียตามมาหลายอย่าง รวมทั้ง “ตอกย้ำ” ความแตกแยกในสังคมให้มากยิ่งขึ้นไปด้วย
                 จริง ๆ แล้วประเด็นนี้ สื่อมวลชนน่าจะลองไปรื้อข้อมูลที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมาเสนอต่อสาธารณะให้ทราบว่า ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการฟ้องไม่ฟ้องมาหลายครั้งแล้ว จนกระทั่ง “เสื้อแดง” บุกไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องจึงออกจาก กกต. ไปที่อัยการ จำกันได้ไหมครับ !
                 มีข้อสงสัยสุดท้ายที่คาใจอยู่ก็คือ ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดจากความไม่รู้ หรือเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดจากความตั้งใจครับ…..
                 ก่อนที่จะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมต้องขอฝากเป็นข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์เป็นปัญหาที่ “นักกฎหมาย” ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งก็มาจากนักกฎหมายที่มีระดับ เช่น ผู้พิพากษา  อัยการซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นนักกฎหมายใหญ่ ศาลรัฐธรรมนูญเองก็มาจากนักกฎหมายและมาจากผู้พิพากษาจำนวนหนึ่ง ทำไมคนทั้งหมดซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าอยู่ในวงการเดียวกันแต่กลับมองหรืออ่านกฎหมายไม่เหมือนกัน เรื่องนี้คงไม่ต้องการคำตอบว่าการมองของใครถูกต้องที่สุดเพราะในเมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด ผูกพันทุกองค์กร อย่างไรเสียก็ต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะ “คิดว่า” เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญถูกหรือผิดก็ตาม
                 ท้ายที่สุด ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ “โชคดีซ้ำซาก” รอดพ้นจากทุกเหตุการณ์ไปได้อย่างง่ายดายครับ จริงอยู่ แม้จะมีคนออกมาตั้งข้อสงสัยในความ “โชคดีซ้ำซาก” ของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถ “สลัด” ข้อกังขาที่เป็นประเด็นให้หลุดไปได้ แต่ไม่ช้าไม่นานคนก็จะลืมกันไปเองเหมือนกับทุก ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา และยิ่งถ้ามีข่าว “เหมือนเดิม” ออกมา เช่น ข่าวการลอบทำร้าย หรือข่าวหมิ่นต่าง ๆ คนก็จะหันไปสนใจเรื่องเหล่านั้นจนไม่สนใจว่า การ “รอด” จากการถูกยุบพรรคด้วยข้อผิดพลาดทางเทคนิคนั้น เป็นความ “สง่างาม” หรือเป็นความ “ถูกต้อง” ที่พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศโดยควรจะ “ภูมิใจ” หรือไม่ เพราะข้อกล่าวหาว่า ใช้เงินภาษีอากรของพี่น้องประชาชนผิดประเภท ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ให้กระจ่างครับ !!!
        
                 ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกคือบทความ เรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” ที่เขียนโดย คุณมนูญ  โกกเจริญพงศ์  นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบังคับคดี บทความต่อมาคือบทความ เรื่อง “เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ศาล” โดยคุณณัฏฐ์ ภัคคภัทรกุล และบทความสุดท้าย เรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญกับมาตรฐานมโนสำนึก” โดยคุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกคนครับ
        
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม 2553 ครับ
                
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544