หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 205
1 กุมภาพันธ์ 2552 22:00 น.
ครั้งที่ 205
       สำหรับวันจันทร์ที่ 2 ถึงวันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
       
       “ปัญหาของการนำคนเข้าสู่ตำแหน่ง”
       

       ช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาหลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ แม้เราจะยังมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจนของ “อนาคต” ของประเทศไทยในช่วงเวลา 1 – 2 ปี ข้างหน้าได้ แต่ก็คงพอคาดคะเนได้ในบางเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ว่ากันว่าหนักหนาสาหัสเสียเหลือเกินนั้นเราก็คงได้เห็นมาตรการต่าง ๆ ที่ทยอยออกมานำเสนอต่อประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ส่วนมาตรการเหล่านั้นจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ก็คงต้องเฝ้าดูกันต่อไปครับ
       พูดถึงเรื่องแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น ที่รับทราบดูจะเป็นเรื่อง “การใช้เงิน” เสียเป็นส่วนใหญ่ โครงการทั้งหลายที่รัฐบาลนำเสนอนั้นมีที่มาทั้งจากโครงการของรัฐบาลก่อน ๆ ที่วันนี้รัฐบาลปัจจุบัน “หยิบยืม” มาเสนอต่อ และโครงการใหม่ ๆ ที่รัฐบาลนี้คิดค้นขึ้นมาเองซึ่งทั้งหมดก็เป็นโครงการที่รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากทั้งนั้น ถ้าเราต้องใช้เงินมากแต่ในขณะเดียวกันเรายังมองไม่เห็นทางที่จะหาเงินมาใช้ก็เกิดความรู้สึกหวาดกลัวว่าในวันข้างหน้าเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร รัฐบาลที่มีแผนที่จะใช้เงินเกินกว่าแสนล้านบาทไปแจกชาวบ้านฟรี ๆ ได้นั้นจะต้องมีเงินเท่าไรกันครับ!! วันนี้ฐานะการเงินของประเทศกำลังแย่ แถมหน่วยงานต่าง ๆ ก็พากันออกมาคาดคะเนกันว่าปีนี้จะเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้ากว่าสามหมื่นล้านบาท ผลก็คือการเพิ่มหนี้ก้อนโตให้กับคนไทยทั้งประเทศ ส่วนภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและมรดกที่ตั้งท่ากันว่าจะกำหนดให้เป็นภาษีประเภทใหม่ของประเทศไทยนั้น กว่าจะเริ่มเก็บภาษีประเภทดังกล่าวทั้งหมดได้ก็คงอีกนานและก็คาดการณ์กันว่าน่าจะเก็บได้ปีละ 7 หมื่นล้านบาท ดูตัวเลขรายจ่ายและรายรับที่ (อาจ) มีเพิ่มขึ้นแล้วก็มองเห็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยชัดเจนขึ้นคือ รัฐบาลจะหาเงินมาจากไหนเพื่อสนับสนุนนโยบายอภิมหาประชานิยม อันที่จริงเรื่องประชานิยมนี้ผมได้เคยวิพากษ์ไว้แล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ 143 ที่เผยแพร่ระหว่างวันที่ 18 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2549 บทบรรณาธิการดังกล่าวใช้ชื่อว่า “รัฐสวัสดิการ” เป็นบทบรรณาธิการ “ส่งท้าย” ยุคประชานิยมของคุณทักษิณ ชินวัตร ครับ โดยผมมองนโยบายประชานิยมว่าเป็นนโยบายที่สนับสนุนให้คน “ขี้เกียจ” ไม่ต้องทำงานหาเงินก็มีเงินลอยมาติดที่หน้าประตูบ้าน ยิ่งรัฐบาล “แจก” มากเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งขี้เกียจมากขึ้นเท่านั้น ลองย้อนกลับไปอ่านดูก็จะพบว่ารูปแบบสังคมนิยมหรือรัฐสวัสดิการต่างหากที่เป็นรูปแบบที่ช่วยให้ประเทศต่าง ๆ จำนวนหนึ่งรอดพ้นจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้ว แต่ในทางกลับกันการใช้รูปแบบประชานิยมโดยมานั่งแย่งกันเอาใจ “รากหญ้า” หรือ “คนจน” ด้วยการ “แจกเงิน” “แจกข้าวสาร” และไม่ “หัด” หรือ “หาทาง” ให้คนเหล่านั้นทำมาหากินไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จริงอยู่การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลทำให้ปัญหาสงบลงไปได้บ้าง แต่ในระยะยาวรัฐบาลคงไม่สามารถที่จะใช้นโยบายประชานิยมเลี้ยงคนทั้งประเทศได้ตลอดไปโดยไม่หัดให้คนเหล่านั้นทำมาหากินหรือถ้ารัฐบาลคิดจะเลี้ยงคนทั้งประเทศตลอดไปก็คงต้องคิดหาเงินจำนวนมากมาใช้เลี้ยงคนควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้แล้ว เมื่อมองการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาวคงไม่อยู่ที่ “ประชานิยม” แต่เพียงอย่างเดียวครับ หลายสิ่งหลายอย่างที่ “ประชาไม่นิยม” แต่รัฐบาลก็คงต้องกล้า “ทุบโต๊ะ” เพื่อนำพาประเทศรอดจากวิกฤต ตัวอย่างง่าย ๆ ของโครงการ “ประชาไม่นิยม” ที่ผมมองว่าวันข้างหน้าคงหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการไปไม่ได้ นั่นก็คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนและสร้างภาระทางการเงินให้กับรัฐ จะว่ากันไปแล้วรัฐบาลประชาธิปัตย์ในอดีตเองก็มีส่วนผลักดันในเรื่องนี้อยู่มาก กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้เป็นเครื่องมือในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็เกิดขึ้นในสมัยคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ทราบว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ในยุคนี้จะ “สานต่อ” นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เพราะวันนี้พลังของรัฐวิสาหกิจนั้นมีมากกว่าในอดีตหลายเท่า แต่ก็เอาแน่ไม่ได้นะครับรัฐบาลอาจเดินหน้าต่อก็ได้ ก็ขนาดโครงการ สปก. 4 – 01 อันอื้อฉาวยังขุดเอามาทำต่อได้เลยครับ!!!
       เมื่อพูดถึงรัฐวิสาหกิจก็นึกถึงข่าวเล็ก ๆ ข่าวหนึ่งที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ข่าวว่ามีรัฐวิสาหกิจขาดทุนหลายแห่ง คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งในปี พ.ศ. 2552 น่าจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 27,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเริ่มมีผลขาดทุนบ้างแล้ว ทางแก้ก็คือต้องนำการปรับโครงสร้างองค์กรทั้งการบริหารและการเงิน ข่าวดังกล่าวแม้จะเป็นข่าวเล็ก ๆ แต่ก็ทำให้ผมรู้สึกแย่มาก ๆ ว่าทำไมรัฐวิสาหกิจในบ้านเราถึงได้ขาดทุนกันมากมายขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่มีผู้ใช้บริการกันมากและในกิจการบางประเภทประชาชนมีความต้องการใช้บริการสูงมากจนถึงกับต้องเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานร่วมดำเนินการด้วย เช่น ขสมก. เป็นต้น ผมไม่ทราบว่าในขณะที่ ขสมก. ขาดทุนนั้น รถเมล์เอกชนที่รับสัมปทานเข้ามาวิ่งในเส้นทางเดียวกันนั้นมีผลกำไรหรือไม่ แต่ถ้าขาดทุนเหมือน ขสมก. เอกชนก็คงเลิกกันไปหมดแล้วนะครับ!!!
       การที่รัฐวิสาหกิจมีผลการดำเนินงานขาดทุนนั้นมีสาเหตุมากมายหลายประการ แต่ส่วนหนึ่งแล้วคงมาจาก “ความไม่รู้ระบบ” ขององค์กรต่าง ๆ ในบ้านเราที่เป็นปัญหาสำคัญ การที่รัฐตั้งหน่วยงานในรูปแบบรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเพื่อจัดทำบริการสาธารณะเฉพาะเรื่องก็เพื่อที่จะแยกหน่วยงานเดิมออกมาจากองค์กรของรัฐ กำหนดให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีความเป็นอิสระทั้งทางด้านบุคลากร การเงิน การบริหารจัดการ มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามานำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ แต่ที่ผ่านมากลับไม่เป็นเช่นนั้น ระยะเวลากว่า 70 ปี ที่มีรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้ทำให้ภารกิจของการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบรัฐวิสาหกิจเกิดผลสำเร็จและในทางกลับกันในบางกรณีกลับยิ่งแย่กว่าหน่วยงานที่อยู่ในระบบราชการเสียอีก เพราะรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของทั้งระบบราชการและระบบการเมืองนั้นสามารถถูก “แทรกแซง” ได้โดยง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับที่มาของคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจที่ฝ่ายประจำเป็นผู้เสนอแต่งตั้งและฝ่ายการเมืองเป็นผู้อนุมัติ รัฐวิสาหกิจประเภท “หอมหวาน” ทั้งหลายจึงมีผู้สนใจที่จะเข้าไปเป็นกรรมการกันมาก การเปลี่ยนแปลงกรรมการบ่อยหรือการแต่งตั้งกรรมการที่ไม่เหมาะสมกับงานของรัฐวิสาหกิจจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอและเรียกได้ว่าแทบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ก็จะมีการเปลี่ยนกรรมการรัฐวิสาหกิจตามมา ด้วยเหตุผลง่าย ๆ สั้น ๆ ก็คือจะได้ทำงานร่วมกันได้ ซึ่งเหตุผลดังกล่าวผมได้เคยแสดงความคิดเห็นคัดค้านเอาไว้ในหลาย ๆ โอกาสว่าเป็นเหตุผลที่ “ฟังไม่ขึ้น” เพราะในเมื่อการตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาก็เพื่อแยกหน่วยงานดังกล่าวออกจากระบบราชการ ให้เป็นนิติบุคคลและให้มีอิสระในทุก ๆ ด้าน การบริหารงานจึงต้องทำโดยมืออาชีพเพราะรัฐวิสาหกิจที่สามารถให้บริการได้ก็จะยังชีพอยู่ได้ด้วยการเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ การเข้าไปแทรกแซงรัฐวิสาหกิจของทั้งฝ่ายประจำและฝ่ายการเมือง ทำให้การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีปัญหาเพราะ “ขาด” ผู้มีความรู้ความชำนาญตรงตามภารกิจของรัฐวิสาหกิจเข้าไปเป็นกรรมการครับ เมื่อได้คนที่ “บกพร่อง” ในเรื่องความรู้ความสามารถเข้าไป รัฐวิสาหกิจก็ย่อมต้องประสบปัญหาเป็นธรรมดา ดังนั้น ในวันนี้รัฐวิสาหกิจที่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้บริการบางแห่งจึงตกอยู่ในสภาพ “ขาดทุน” อย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ครับ
       การแต่งตั้งบุคคลให้เข้าไปสู่ตำแหน่งต่าง ๆ เป็นปัญหาสำคัญทั้งระดับประเทศและระดับโลก เพราะหลาย ๆ ประเทศต่างก็พยายามหาวิธีที่ดีเหมาะสมเพื่อให้ได้คนดี อิสระ เป็นกลางและมีความสามารถสูงสุดตรงกับตำแหน่งเข้าไปทำงาน วิธีการหนึ่งที่พบในหลาย ๆ ประเทศก็คือพยายามที่จะไม่ให้อำนาจในการ “หา” คนเข้าสู่ตำแหน่งเป็นของคน ๆ เดียวแต่จะให้เป็นอำนาจของ “องค์กรกลุ่ม” ที่ไม่ใช่องค์กรที่มีลักษณะเป็นองค์กรทางการเมืองแท้ ๆ เช่นคณะรัฐมนตรีแทน ทั้งนี้ ก็เพื่อมิให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจแต่งตั้งคนของตนเข้ามาสู่ตำแหน่งครับ
       ผมมีตัวอย่างล่าสุดที่เกิดขึ้นมานำเสนอ นั่นคือการลดอำนาจประธานาธิบดีฝรั่งเศสในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งบุคคลให้เข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ครับ คงจำกันได้ว่าผมได้เขียนในบทบรรณาธิการหลายครั้งเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองครั้งล่าสุดในประเทศฝรั่งเศสด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยในบทบรรณาธิการครั้งที่ 176 ผมได้เล่าให้ฟังถึงการแต่งตั้ง “คณะกรรมการไตร่ตรองและเสนอแนะแนวทางในการทำให้สถาบันต่าง ๆ ของสาธารณรัฐที่ 5 มีความทันสมัยและสมดุลยิ่งขึ้น” ขึ้นมาเพื่อศึกษาข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1958 พร้อมเสนอแนะแนวทางในการแก้ไข อำนาจของประธานาธิบดีก็เป็นเรื่องหนึ่งที่คณะกรรมการดังกล่าวเสนอแนะว่าต้องมีการทบทวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งซึ่งสามารถแยกออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ การแต่งตั้งข้าราชการประจำกับการแต่งตั้งบุคคลเข้าไปในองค์กรต่าง ๆ เช่น ตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นต้น ซึ่งอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการประจำนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนักเพราะประธานาธิบดีเป็นประมุขสูงสุดของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว การมีอำนาจดังกล่าวก็เป็นเรื่องปกติ แต่อำนาจในการแต่งตั้งบุคคลเข้าไปในองค์กรต่าง ๆ นั้น คณะกรรมการได้เสนอให้ลดอำนาจประธานาธิบดีลงโดยเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญของรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกโดยคำนวณตามสัดส่วนจำนวนที่นั่งในสภาของแต่ละพรรคและกลุ่มการเมือง คณะกรรมาธิการชุดนี้มีหน้าที่ตรวจคุณสมบัติและความเหมาะสมของบุคคลที่รัฐบาลเสนอให้ประธานาธิบดีแต่งตั้ง โดยการพิจารณาของคณะกรรมการต้องเปิดเผย มีการอภิปรายได้ เมื่อคณะกรรมาธิการลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากเลือกบุคคลใดก็จะเสนอชื่อบุคคลนั้นไปให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งต่อไป ข้อเสนอบางประการของคณะกรรมการชุดนี้ได้ถูกนำมาบรรจุไว้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2008 ที่ผ่านมา โดยได้มีการปรับปรุงในบางส่วนสรุปความได้ว่า การแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งการแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งที่เกี่ยวกับการเป็นหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตำแหน่งที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น ก่อนที่ประธานาธิบดีจะทำการแต่งตั้งจะต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 3 ใน 5 ของคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภาก่อน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมากำหนดตำแหน่งต่าง ๆ อีกฉบับหนึ่ง รวมไปถึงการมีกฎหมายแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญต่าง ๆ ที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลให้เข้าดำรงตำแหน่งแต่ละประเภทด้วย ส่วนการแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คนซึ่งเดิมเป็นอำนาจเฉพาะตัวของประธานาธิบดีที่จะแต่งตั้ง 3 คน ประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้ง 3 คนและประธานวุฒิสภาแต่งตั้งอีก 3 คน ก็ต้องนำเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นมาใช้สำหรับ 3 คนที่ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งด้วย ส่วนอีก 6 คนที่มาจากการแต่งตั้งของประธานสภาทั้ง 2 นั้น ก็เป็นอำนาจของคณะกรรมาธิการสามัญของแต่ละสภาที่จะให้ความเห็นชอบเป็นเด็ดขาดตามที่ประธานของแต่ละสภาเสนอขึ้นมาครับ
       ในประเทศไทยนั้นการแก้ปัญหาเรื่องวิธีการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในระดับชาติ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ก็ได้สร้างสรรค์วิธีการ “คัด” คนเข้ามาสู่ตำแหน่งเอาไว้โดยฝากหน้าที่ให้กับวุฒิสภาซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในทางปฏิบัติที่ผ่านมาเกิดปัญหาตามมามากมายโดยเฉพาะปัญหาของการ “เล่นพรรคเล่นพวก” รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ก็เลยพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการตั้งคณะกรรมการสรรหาซึ่งประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ของประเทศ เช่น ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าเป็นไม่ได้ ตัวแทนอันแท้จริงของประชาชนแต่เข้ามาใช้อำนาจแทนประชาชนครับ ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องวิธีการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ๆ นั้น ที่เห็นได้ชัดก็คือ ความพยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องวิธีการได้มาซึ่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยในช่วงของการรัฐประหารที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แก้ไขพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 เสียใหม่ในเรื่องการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจที่มิใช่กรรมการโดยตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสากิจโดยกระทรวงการคลัง และให้ผู้มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจอื่นที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่งจากบัญชีรายชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอื่นของรัฐวิสาหกิจนั้น ซึ่งก็หมายความว่า กรรมการรัฐวิสาหกิจอื่นที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 1 ใน 3 ต้องมาจากบัญชีรายชื่อ ส่วนอีก 2 ใน 3 ก็ยังเป็นการแต่งตั้ง “ตามอัธยาศัย” ของผู้มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งอยู่ดีครับ จะอย่างไรก็ตามก็ยังดีนะครับที่มีความพยายามในการแก้ปัญหา ก็อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นนะครับว่าปัญหาของรัฐวิสาหกิจในบ้านเรานั้นมีอยู่มากและต้องรีบแก้ปัญหาก่อนที่เราจะประสบปัญหามากไปกว่านี้ การหยุดแทรกแซงรัฐวิสาหกิจทั้งจากฝ่ายประจำและฝ่ายการเมือง การได้คนที่เหมาะสมที่สุดและมีความสามารถที่สุดเข้าไปเป็นคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง น่าจะเป็น “ทางรอด” เพียงทางเดียวของรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ครับ!
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณฐิตตะวัน เฟื่องฟู เรื่อง “ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการชำระค่าธรรมเนียมศาลปกครองกรณีการฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ” บทความที่สองคือบทความเรื่อง "เสรีภาพในการชุมนุม(Versammlungsfreiheit) ในระบบกฎหมายเยอรมัน" ที่เขียนโดย คุณนรินทร์ อิธิสาร และบทความสุดท้าย คือบทความเรื่อง "ประชาธิปไตยกับการเมืองภาคประชาชน" โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ นอกจากนี้เรายังมีแนะนำหนังสือใหม่อีกหนึ่งเล่มครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544