หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 176
23 ธันวาคม 2550 21:05 น.
ครั้งที่ 176
       สำหรับวันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2550 ถึงวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2551
       
       “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อการปฏิรูปการเมือง”
       

       บทบรรณาธิการนี้เป็นบทบรรณาธิการครั้ง “สุดท้าย” ของปี พ.ศ.2550 และเป็นบทบรรณาธิการครั้ง “แรก” ของปี พ.ศ. 2551 ครับ ก็เป็นธรรมดาของผมที่พอใกล้จะถึงวันสิ้นปีก็จะต้อง “ทบทวน” ดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของผมในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีสิ่งดีและสิ่งไม่ดีอะไรเกิดขึ้นบ้าง พร้อมทั้งหา “เหตุ” ที่เป็นที่มาของสิ่งต่างๆเหล่านั้นเพื่อนำมาปรับใช้กับชีวิตในวันข้างหน้าต่อไป เมื่อทบทวนสิ่งต่างๆที่ผ่านมาจบแล้วก็พยายามมองไปข้างว่าปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนั้น จะทำอะไรต่อไปครับ
       คงไม่จะต้องบอกเล่า “เรื่องส่วนตัว” ให้ฟังทั้งหมดนะครับ ที่ผ่านมาบรรดาคนใกล้ชิดก็คงทราบแล้วว่าเกิดอะไรกับผมบ้าง ความก้าวหน้าทางวิชาการของผมก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องครับ ผมสำเร็จการศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(วปอ.) โดยได้รับรางวัลที่ 1 ของรุ่นคือ ได้รับรางวัลเอกสารวิจัยส่วนบุคคลดีเด่น นอกจากนั้นก็ได้เป็น “เมธีวิจัยอาวุโส” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งผมเป็นนักนิติศาสตร์คนแรกของประเทศที่ได้รางวัลนี้ครับ เรื่องอื่นๆคงไม่กล่าวถึงนะครับ ส่วนปีหน้าก็จะยังคงทำงานวิชาการอย่างต่อเนื่องต่อไปครับ ตั้งใจไว้ว่ากลางปี พ.ศ.2551 จะออกหนังสือเล่มใหม่ 1 เล่ม เป็นหนังสือด้านกฎหมายมหาชนแต่ยังไม่อยากบอกว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร ใครสนใจก็คงต้องรอติดตามกันนะครับ
       ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองนั้น ปี พ.ศ. 2550 มีอะไรต่อมิอะไรเกิดขึ้นอย่างมากมายนับไม่ถ้วนรวมทั้งการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แม้ทั้งรูปแบบและเนื้อหาจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ถูกสร้างภาพให้เห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยครับ คงไม่ต้องย้อนกลับไปเล่ากันใหม่นะครับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มีรูปแบบและเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร ลำพังการให้ประชาชนออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญคงไม่ทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยไปได้หรอกครับ
       ในช่วงก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น คงจำกันได้ว่ามีผู้คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญอยู่เป็นจำนวนมาก มีข้อคัดค้านบางประเด็นที่ฝ่ายผู้ร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และคมช.เองก็ไม่สามารถหาคำอธิบายที่มีเหตุผลมารองรับได้ ในที่สุดก็มีหลายฝ่ายเสนอออกมาว่าให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ไขเอาทีหลัง แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีเองก็ยังออกมาพูดเช่นนั้น แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ กระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็เงียบหายไปครับ ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมเราครับ !
       ผมติดตามดูการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆมาช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งผมเห็นว่าบรรดาพรรคการเมืองต่างๆให้ความสำคัญกับ “กติกาสูงสุดในการปกครองประเทศ” กันน้อยมาก เท่าที่ได้อ่านพบ มีพรรคการเมืองอยู่เพียงไม่กี่พรรคที่พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นการให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขในประเด็นปลีกย่อย เช่นที่มาของวุฒิสภา การเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนในทางการเมืองมากขึ้นเป็นต้น นอกจากนี้ ก็ยังมีหัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรคก็ออกมาบอกว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญกันมากทีเดียว ในขณะที่หัวหน้าพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งก็บอกว่ารัฐธรรมนูญดีอยู่แล้ว มีเพียงพรรคการเมืองเดียวที่หัวหน้าพรรคการเมืองออกมาเสนอว่าควรจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกรรมการควรประกอบด้วย พรรคการเมือง องค์กรทางวิชาการและภาคประชาชน สรุปในภาพรวมแล้วก็ยังถือว่าพรรคการเมืองแสดงความสนใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกันน้อยมาก
       ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่จะต้องเข้าไป “แตะ” รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่ผ่านการออกเสียงประชามติจากประชาชนครับ! ในทางวิชาการเราคงมีคำตอบได้มาก ไม่ว่าจะเป็นคำตอบในลักษณะ “ภาพรวม” หรือ “รายละเอียดปลีกย่อย” ครับ ในภาพรวมนั้น เราคงจำกันได้ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2549 ที่เกิดจากการรัฐประหาร ส่วนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน35 คน ก็มีที่มาโดยตรงจากคณะรัฐประหาร 10 คน ตลอดเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญก็มีข่าวที่ “ไม่เป็นมงคล” ต่อรัฐธรรมนูญและต่อหลักการประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จึงอยู่ในบรรยายกาศของการ “รีบเร่ง” ที่ขาดการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและขาดฐานสนับสนุนทางวิชาการ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้บทบัญญัติจำนวนหนึ่งในรัฐธรรมนูญไม่สมบูรณ์และน่าจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาในทางปฏิบัติ เช่นในส่วนที่เกี่ยวกับ ระบบรัฐสภา เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีบทบัญญัติบางมาตราที่ “ไม่มีคำตอบ” ว่า “มาอยู่ในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร” และ “เพื่ออะไร” เช่น มาตรา 309 อันเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญเป็นต้น
       ผมค่อนข้างแน่ใจว่าไม่นานหลังจากที่ “การเมือง” ลงตัวคือ มีรัฐสภาและมีรัฐบาลแล้ว กระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะเริ่มดังขึ้นมาอีก ถึงตอนนั้นคงจะต้องมานั่งพิจารณากันอีกรอบหนึ่งว่าจะ “แก้ไข” รัฐธรรมนูญ หรือ “จัดทำ” รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งถ้าผมเดาไม่ผิดคงจะต้องมีกระแสเรียกร้องให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างแน่นอนด้วยเหตุผลสำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มีที่มาจากรัฐประหารครับ ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามที่ผมคาดเดา ก็คงต้องมีการจัดตั้ง องค์กรพิเศษ ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอย่างแน่นอนเพราะคงไม่มีใครไว้วางใจให้รัฐสภาในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นผู้ทำแน่นอนครับ
       เพื่อเป็นการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ผมอยากจะขอเสนอรูปแบบขององค์กรที่เข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไว้ก่อน แต่ก่อนที่ผมจะเสนอ “รูปแบบ” ขององค์กรพิเศษที่จะเข้ามาเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ผมอยากจะขอนำสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมามาเล่าให้ฟังกันก่อน อย่างน้อยก็เพื่อนำมาเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาว่า เราควรกำหนดวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรากันอย่างไรครับ
       รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของฝรั่งเศสนั้นประกาศใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 แล้วครับ ในตอนนั้นรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ เช่นสงครามกลางเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล เป็นต้น รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่มีสาระทั้งหมดเกี่ยวกับโครงสร้างสถาบันทางการเมืองและอำนาจรัฐ ในวันนี้พอเรามาอ่านรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสเราก็จะรู้สึกได้ทันทีว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ “ขาด” สิ่งสำคัญๆไปหลายสิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนครับ แม้ฝรั่งเศสจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปหลายครั้งในช่วงเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่แล้วการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เน้นไปที่เรื่องการจัดโครงสร้างสถาบันทางการเมืองและอำนาจรัฐเช่นเดิมครับ ด้วยเหตุนี้เองที่ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในตอนต้นปีที่ผ่านมา ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหลายคนจึงพยายามเสนอที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มี “ความทันสมัย” มากขึ้น ตัวประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy เองในระหว่างการหาเสียงก็ได้เสนอที่จะให้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีความทันสมัยและมีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น 2 เดือนต่อมาหลังการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ประธานาธิบดี Sarkozy จึงได้ออกรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งชื่อ “คณะกรรมการเพื่อการไตร่ตรองและเสนอแนะแนวทางในการทำให้สถาบันต่างๆของสาธารณรัฐที่ 5 มีความทันสมัยและสมดุลยิ่งขึ้น” (la Comité de réflexion et de proposition sur la modernisation et rééquilibrage des institutions de la Ve République) โดยรัฐกฤษฎีกาได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ว่าให้ทำการศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งกำหนดให้เสนอผลการศึกษาต่อประธานาธิบดีก่อนวันที่ 1พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการก็มีไม่มากครับ มีอดีตนายกรัฐมนตรี Edouard Baladur เป็นประธาน อดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพนะครับ เพราะเดิมก่อนหน้านี้ก็เป็นนักวิชาการที่เขียนหนังสือการเมืองการปกครองจำนวนมาก เคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยหลายแห่งและเคยเป็นสมาชิกสภาแห่งรัฐ(Le Conseil d’Etat)ด้วย ส่วนรองประธานอีก 2 คน ก็คือนาย Jack Lang อดีตรัฐมนตรี อดีตสมาชิกรัฐสภา และเป็นอดีตอาจารย์สอนกฎหมายมหาชนในมหาวิทยาลัยปารีส 10 รองประธานคนที่สองคือ นาย Pierre Mazeaud อดีตประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ส่วนกรรมการอื่นอีก 10 คน นั้น เป็นอาจารย์สอนกฎหมายมหาชนในมหาวิทยาลัยของรัฐ จำนวน 6 คน อีก 4 คน มาจาก ตัวแทนสภายุโรปและจากอาจารย์สอนด้านรัฐศาสตร์ครับ จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการชุดนี้มีจำนวนไม่มาก แต่ทุกคนมีความสามารถและเหมาะสมที่จะเข้ามาทำการศึกษาว่าจะแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญอย่างไรครับ ที่เขียนเช่นนี้ไม่ใช่ “เข้าข้าง” นักกฎหมายมหาชนและนักรัฐศาสตร์นะครับ แค่อยากจะชี้ให้เห็นว่า “นักกฎหมายมหาชน” และ “นักรัฐศาสตร์” นั้นถูกฝึกมาให้ “รู้จัก” โครงสร้างของรัฐมากกว่า “ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์อื่นๆ” ครับ !
       เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เสนอรายงานชื่อ “สาธารณรัฐ ที่ 5 ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” ต่อประธานาธิบดี Sarkozy รายงานดังกล่าวมีจำนวนถึง 162 หน้า และประกอบด้วยส่วนสำคัญๆ 3 ส่วน ด้วยกันคือ การควบคุมการใช้อำนาจบริหารที่ดีกว่าเดิม รัฐสภาที่มีอำนาจมากขึ้น และสิทธิใหม่ๆ สำหรับพลเมือง นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังประกอบด้วยภาคผนวกอีก 5 เรื่อง คือ ความคิดเห็นส่วนบุคคลของกรรมการบางคน รัฐกฤษฎีกาตั้งคณะกรรมการ ตารางข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 77 ข้อ ของคณะกรรมการ ตารางเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกับมาตราที่จะขอแก้ไขใหม่ และภาคผนวกสุดท้ายคือรายชื่อบุคคลที่คณะกรรมการได้เชิญมาพูดคุยสอบถามความคิดเห็นซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญๆ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หัวหน้าพรรคของทุกพรรค ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงขององค์กรของรัฐ เช่น ศาลปกครองสูงสุด ศาลยุติธรรม ศาลตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมไปถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วยครับ !!!
       หัวใจสำคัญของรายงานชุดนี้คงอยู่ที่สาระสำคัญ 3 ส่วนและข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 77 ข้อ เป็นหลัก เนื่องจากเรามีเนื้อที่จำกัดผมจึงขอสรุปสาระสำคัญใน 3 ส่วนอย่างสั้นๆ โดยในส่วนที่ว่าด้วยการควบคุมการใช้อำนาจบริหารที่ดีกว่าเดิมนั้น คณะกรรมการเสนอให้ทำการทบทวนอำนาจของฝ่ายบริหารทั้งหมด รวมไปถึงอำนาจ 7 ประการของประธานาธิบดีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วยครับ ( อย่าลืมว่าประธานาธิบดีเป็นผู้ ตั้งคณะกรรมการชุดนี้นะครับ !!! ) ในส่วนที่ว่าด้วยรัฐสภาที่มีอำนาจมากขึ้นคณะกรรมการก็ได้เสนอปรับปรุงระบบการจัดวาระการประชุมสภา วิธีการประชุมสภาและกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมาย ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิใหม่ๆ สำหรับพลเมืองนั้น ก็มีการเสนอให้ปรับปรุงสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ปรับปรุงระบบตัวแทนของประชาชนในรัฐสภา เช่น ตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนของชาวฝรั่งเศสที่อยู่นอกประเทศ ตัวแทนกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในรัฐสภา เป็นต้น รวมถึงการเสนอสิทธิใหม่ๆ ให้กับประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และนอกจากนี้ในส่วนสุดท้ายนี้ยังได้พูดถึงการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยครับ
       รายงานดังกล่าวเมื่อส่งถึงมือประธานาธิบดี ในวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีก็สั่งให้เผยแพร่รายงานนี้ต่อสาธารณชนและส่งให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความเห็น เข้าใจว่าคงต้องการให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันในแวดวงต่างๆในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อน จากนั้นคงมีการนำเอาข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้มาพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญกันอีกครั้งก่อนที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปครับ
       ที่เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ล่าสุดของฝรั่งเศส ก็เพื่อต้องการให้ “สังคม” เห็นวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ “นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน” เข้ามาศึกษาปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไข จากนั้นก็ปล่อยเวลาให้บุคคลทั่วไปได้ทำการศึกษาบทบัญญัติดังกล่าวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้ววิธีการนี้เป็นวิธีการที่นักวิชาการไทยกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งพยายามนำเสนอมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ด้วยซ้ำแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเนื่องจากผู้คนจำนวนหนึ่งมองว่าประชาชนจากทุกสาขาวิชาชีพควรเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจนถึงวันนี้เราก็ลองมา 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรก สสร.40 ก็มีการคัดเลือกตัวแทนประชาชนกับตัวแทนนักวิชาการ ครั้งที่สอง สสร. 50 ก็มีการคัดเลือกตัวแทนอะไรบ้างก็ไม่รู้กับตัวแทนคณะรัฐประหาร ผมคงไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไรทั้งนั้นว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ชุดนั้น ทำงานประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวขนาดไหนครับ แต่สิ่งที่ผมอยากจะขอนำเสนอก็คือ ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เราควรจะลองคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรูปแบบใหม่ที่ประกอบด้วยคนจำนวนน้อย แต่มีความเชี่ยวชาญมากหรือไม่ครับ หรือจะกลับไปใช้ของเดิมแบบที่เราใช้ตอนร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540 ถ้าคิดว่าควรลองแบบใหม่ ผมขอนำเสนอ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 โดยเพิ่ม “หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง” เข้าไปเป็นมาตรา 291/1 ถึง มาตรา 291/21 ครับ ร่างรัฐธรรมนูญหมวด 16 นี้แปลงมาจากร่างเดิมของนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เป็นหัวหน้าทีม ครับ ในเบื้องต้น จึงขอฝากร่างรัฐธรรมนูญหมวด 16 “การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง” เอาไว้ ณ ที่นี้ก่อน ส่วนคำอธิบายนั้นหากใครสนใจก็มีผู้ยินดีไปบรรยายหรืออภิปรายให้ฟังได้ครับ ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญหมวด 16 นี้ หากนักการเมืองและพรรคการเมืองใดสนใจก็สามารถนำไปใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาตใดๆ ทั้งนั้นครับ ผมคงต้องขอจบเรื่องการปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้แค่นี้ก่อนนะครับ โอกาสหน้าถ้ามีคนสนใจก็จะนำมาอธิบายเล่าสู่กันฟังต่อไป
       ในสัปดาห์นี้ นอกจากเราจะนำเสนอ “ร่างรัฐธรรมนูญ หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง” แล้ว เรายังมีบทความอีก 2 บทความ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ร่วมกันครับ บทความแรกเป็นบทความของคุณฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์ นิสิตปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ในครั้งนี้ส่งบทความเรื่อง “ประชาธิปไตยแบบพอเพียง : การสถาปนาสังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” มาร่วมกับเรา ส่วนบทความที่สองคือบทความเรื่อง “คำถามถึงสื่อมวลชนไทยกรณีร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ” ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ก็ต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ขณะที่ผมเดินเล่นอยู่ที่ Paris พบภาพน่าประทับใจเกี่ยวกับการฉลองเทศกาลคริสต์มาส ก็เลยนำเอามาฝากผู้ใช้บริการ www.pub-law.net แห่งนี้ครับ สุขสันต์วันคริสต์มาสนะครับ



ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2551 ที่กำลังจะมาถึง ผมขออวยพรให้ผู้ใช้บริการทุกคนมีแต่ความสุข ประสบความสำเร็จในชีวิตและมีสุขภาพที่ดีแข็งแรงครับ
       
       พบกันใหม่ วันจันทร์ที่ 7 มกราคม 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544