หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 194
31 สิงหาคม 2551 22:50 น.
ครั้งที่ 194
       สำหรับวันที่ 1 กันยายนถึงวันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน 2551
       
       “1ปี รัฐธรรมนูญ 2550”
       
        เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ใช้บังคับมาครบ 1 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้มีคนให้ความสนใจกันมากนักเพราะนอกจากจะมีรายการเป่านกหวีดหนสุดท้ายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้ว ก็ยังมีข่าวโอลิมปิกมาประกบอีก จึงทำให้ข่าวคราวเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญซึ่งโดยปกติก็ไม่ค่อยมีผู้คนให้ความสนใจอยู่แล้วกลายเป็นข่าวที่แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีใครพูดถึงเลยด้วยซ้ำไปครับ ผมไปพบข่าวเล็กๆอยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ลงข่าวการจัดเสวนาของชมรม ส.ส.ร. 50 เรื่อง “1 ปีกับฤทธิ์เดชของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550” ที่ตามข่าวบอกว่ามี ส.ส.ร. เข้าร่วม 20 คน และก็มีบางคนที่ในวันนี้เข้าไปมีบทบาทและมีตำแหน่งใหญ่โตอยู่ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
        1 ปีที่ผ่านมาของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่เราก็ได้พบเห็นอะไรมากมายพอสมควรจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความแตกแยกทางความคิด” เพราะหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ บรรยายกาศทางการเมืองที่ผ่านมาก็ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ไม่เอื้อประโยชน์ให้มีการพัฒนาความรู้และความคิดที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง คงมีแต่การนำเสนอ “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” ของบทบัญญัติบางมาตราในรัฐธรรมนูญที่ต้องการนำมาใช้จาก “ความรู้สึก” หรือ “สิ่งที่เกิดขึ้น” ที่แต่ละฝ่ายต่างก็พยายาม “สร้าง” ขึ้นมาสนับสนุนแนวคิดหรือความประสงค์ของตน 1 ปีที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จึงถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับ “การกระทำ” ของแต่ละฝ่ายโดยมิได้คำนึงถึงหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเลยครับ นอกจากนี้แล้วเมื่อ “การกระทำ” บางอย่างของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองไปส่งผลใน “ด้านลบ” และในด้านที่ “ตรงกันข้าม” กับรัฐธรรมนูญ ก็เลยเถิดไปจนถึงความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังผลง่ายๆคือเพื่อให้ “การกระทำ” ที่ได้ทำไปแล้วและเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญกลายมาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญครับ
        คงจำกันได้ว่าเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับเสียด้วยซ้ำ วลี “รับไปก่อน แก้ทีหลัง” ของ ส.ส.ร. บางคนยังอยู่ในความทรงจำของนักวิชาการเช่นผมและคนทั่วไปอีกจำนวนมากจนกระทั่งถึงวันนี้ แต่ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ก็ไม่มีใครพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนที่เคยพูดว่าให้ “รับไปก่อน แก้ทีหลัง” ก็เข้าไปมีบทบาทสำคัญในองค์กรต่างๆที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้น รัฐบาลเองเมื่อเข้ารับหน้าที่ใหม่ๆ ก็ยืนยันว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุด เมื่อมีภัย “เกิดขึ้น” กับตัวเอง รัฐบาลจึงมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิได้ให้ความสำคัญกับการบริหารราชการแผ่นดินเท่าที่ควร จนกระทั่งนำมาซึ่งการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากกลุ่มผู้คัดค้านทั้งที่อยู่ในรัฐสภาและนอกรัฐสภาที่เรียกได้ว่ามีพลังที่เข้มแข็งมาก มากจนกระทั่งผมคาดเดาได้ว่าคงจะยากที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเวลา 1-2 ปีนี้ได้ครับ
        บทบรรณาธิการครั้งนี้ขออุทิศให้กับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่เจอวิบากกรรมมาตั้งแต่ยังไม่มีผลใช้บังคับครับ คงต้องเริ่มต้นจากในขณะยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น สภาพสังคมและการเมืองแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย ก่อนมีการออกเสียงประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการรัฐประหารล้มรัฐบาลคุณทักษิณฯ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารซึ่งรวมเอานักวิชาการจำนวนหนึ่งเข้าไปด้วยก็เป็นฝ่ายไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเองก็อยู่ในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ด้วยเหตุผล 2 ประการหลักคือ ที่มาขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารและส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญเพียงพอที่จะมายกร่างรัฐธรรมนูญ กับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติบางมาตราที่ขัดกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น มาตรา 309 เป็นต้น แต่ในที่สุดแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านการออกเสียงประชามติโดยมีผู้มาออกเสียงเห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วย รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จึงมีผลใช้บังคับมาจนทุกวันนี้
        จากการใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 มาครบ 1 ปี สังคมไทยเราได้รับรู้ถึง “ข้อเสีย” ของรัฐธรรมนูญมากกว่า “ข้อดี” โดย “ข้อเสีย” ของรัฐธรรมนูญนั้น ผมเข้าใจว่าผมเจอเข้ากับตัวเองก่อนคนอื่น คือเมื่อผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจสอบเอกสารลับของ คมช. ที่เกี่ยวข้องกับการสกัดกั้นพรรคการเมืองบางพรรค แม้กรรมการทุกคนเห็นว่า คมช. ผิดจริง แต่กรรมการส่วนหนึ่งก็นำเอามาตรา 309 แห่งรัฐธรรมนูญมาใช้ จึงทำให้การกระทำของ คมช. ในครั้งนั้นไม่มีความผิดครับ !! ต่อมา เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ก็เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันถึงการตรวจสอบการเลือกตั้งที่เข้มงวดอย่างมาก มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถอยหลังไปสู่ความ “ล้าหลัง” รวมทั้งที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นไปของบ้านเมืองและไม่สะท้อนให้เห็นถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ตามมาด้วยการมีรัฐบาลที่อ่อนแอ ไม่สามารถทำอะไรได้มาก ถูกฟ้องร้องต่อทุกองค์กรจนแทบจะทำงานไม่ได้เลย เมื่อเกิดคดี “ยุบพรรค” อันเป็นผลพวงของมาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงลุกขึ้นมาจุดพลุการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยให้ความสนใจใดๆเลย ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลถูกมองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อตนเอง จึงถูกคัดค้านอย่างมากจากทั้งภายในรัฐสภาเองและจากพลังนอกสภาจนกระทั่งรัฐบาลต้องยอม “ถอย” จากนั้น เสียงของการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากฝ่ายรัฐบาลก็เริ่มแผ่วลง แต่ต่อมาเมื่อมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญออกฤทธิ์ การตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลโดยสภาผู้แทนราษฎรส่งผลให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี จึงมีความพยายามที่จะ “เดินหน้าเต็มตัว” เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง รวมความแล้ว แม้รัฐธรรมนูญจะใช้บังคับมาเพียง 1 ปี แต่เราก็พอมองเห็น “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติบางส่วนในรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะทำการศึกษาวิเคราะห์กันต่อไปอย่างละเอียดว่า “ปัญหา” เหล่านั้น จริงๆแล้วเกิดจาก “ข้อบกพร่อง” ของตัวบทบัญญัติหรือเกิดจาก “การกระทำ” ไป “ขัด” กับบทบัญญัติดังกล่าวครับ
        จริงๆแล้วถ้าจะว่ากันตามสภาพที่เกิดขึ้นในสังคมในช่วงเวลาที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็คงจะเห็นตรงกันว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 นั้นมีความไม่เหมาะสมหลายประการ แถมยังจัดทำขึ้นในบรรยากาศของการรัฐประหารและความไม่ไว้วางใจนักการเมืองและพรรคการเมือง จึงไม่น่าแปลกใจที่ 2 มาตราที่เกิดปัญหาใหญ่ในวันนี้มีที่มาจากแนวคิดดังกล่าว โดยมาตรา 237 นั้นมีขึ้นเพื่อปราบปรามนักการเมืองที่ “แย่” ในขณะที่มาตรา 190 ก็มีขึ้นเพราะความ “ไม่ไว้วางใจ” รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารประเทศ หากเป็นดังที่ผมคิดก็ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 นั้น ประสบผลสำเร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือในมาตราอื่นๆ ที่ยังไม่ได้นำมาใช้บังคับ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมี “ทีเด็ด” อะไรตามมาอีกครับ
        ส่วนมาตราที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ข้อดี” ของรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 ที่ “เด่นที่สุด” และคงจะไม่มีมาตราใดเด่นเกินไปกว่ามาตรานี้ได้ “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” มีที่มาจากวรรคแรกของมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดโดยเฉพาะกับการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ยืดเยื้อมาร่วม 3 เดือนแล้ว นอกจากนี้บทบัญญัติดังกล่าวยังถูกขยายความออกไปมากอย่างที่ไม่มีที่ใดในโลกจะสามารถทำเช่นนี้ได้ ส่งผลทำให้บทบัญญัติดังกล่าวมีสภาพบังคับเหนือบทบัญญัติอื่นในรัฐธรรมนูญทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น การอยู่อาศัยในเคหสถานโดยปกติสุข เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ฯลฯ มีสภาพบังคับเหนือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติของบุคคล เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายเกี่ยวกับความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มีสภาพบังคับเหนือสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างสงบ สิทธิในการพักผ่อน ฯลฯ นอกจากนี้แล้ว บทบัญญัติในมาตรา 63 วรรคแรกก็ยังมีสภาพบังคับเหนือการกระทำทั้งหลายของฝ่ายปกครองที่ไม่ว่าผู้ชุมนุมจะชุมนุมกันบนถนนสาธารณะ เดินขบวนกันไปทั่วเมือง กีดขวางการจราจร บุกเข้าไปสถานที่ราชการ ฝ่ายปกครองซึ่งรวมทั้งรัฐบาล กรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าของพื้นที่และตำรวจก็ไม่สามารถทำอะไรได้ คงต้องปล่อยให้การใช้สิทธิตามมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญเป็น “สิ่งสูงสุด” ของบ้านเมืองที่ทุกคนต้องให้ความเคารพ นับถือ ยำเกรง และต้องยอมรับต่อไปครับ รวมความแล้วมาตรา 63 จึงเป็นมาตราที่ในวันนี้ถือได้ว่าเป็นมาตราที่เด่นที่สุดของรัฐธรรมนูญที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดและสมควรที่จะถูกยกย่องให้เป็น “นางเอก” ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันครับ!!!
        ผมขอสรุปแล้วกันนะครับว่า 1 ปีของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 แม้จะเป็นระยะเวลาที่ไม่ยาวนานนัก แต่ปัญหาอุปสรรค และข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นทำให้สภาพบังคับใช้รัฐธรรมนูญและสถานะของรัฐธรรมนูญ “ล้มลุกคลุกคลาน” ไปบ้าง และข้อสำคัญประการหนึ่งที่พบก็คือ มีบทบัญญัติจำนวนหนึ่งที่แม้จะอยู่ในรัฐธรรมนูญและควรเป็นบทบัญญัติที่ “ส่งเสริมประชาธิปไตย” แต่บทบัญญัติเหล่านั้นกลับกลายเป็นบทบัญญัติที่มีส่วนในการ “ทำลายประชาธิปไตย” และสร้างปัญหาให้กับการบริหารราชการแผ่นดินครับ
        ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความที่ “สอดคล้อง” กับ “นางเอก” ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 คือบทความของ อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย เรื่อง “บุกยึดเอ็นบีทีครั้งนี้รัฐธรรมนูญคุ้มครองจริงหรือ?” บทความที่สองคือบทความของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง “สามก๊ก 2551” ส่วนบทความที่สามและสี่ เป็นบทความที่เราได้นำเผยแพร่ไปล่วงหน้าแล้ว 1 สัปดาห์ คือบทความเรื่อง "คำสั่งศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำ ที่ 984/2551 ถูกต้องหรือไม่ ?? (การกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวกรณีฟ้องขอเพิกถอนคำแถลงการณ์ร่วมไทย – กัมพูชา ขึ้นทะเบียน “ปราสาทพระวิหาร”)" โดย ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ และ บทความเรื่อง"การกระทำทางรัฐบาลกับคำสั่งศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำ ที่ 984/2551 (กรณีศาลปกครองกลางรับฟ้องคดีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา เรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกและมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา)" โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ บทความ 2 บทความหลังเป็นบทความที่นักกฎหมายมหาชนควรให้ความสนใจอย่างมาก เพราะเป็นบทความที่ ”อธิบาย” ได้ดีมากถึงทฤษฎีเกี่ยวกับการกระทำทางรัฐบาล (acte de gouvernement) ครับ
       
        พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2551 ครับ
       
        ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544