หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 184
13 เมษายน 2551 19:40 น.
ครั้งที่ 184
       สำหรับวันจันทร์ที่ 14 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2551
       
       “ฉีกรัฐธรรมนูญเรื่องเล็ก แก้รัฐธรรมนูญเรื่องใหญ่”
       
       ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่สังคมให้ความสนใจกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันมาก ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำเอาเรื่องที่ผมพูดอยู่ตลอดเวลาและพูดไปแล้วหลายครั้งกลับมานำเสนอใหม่อีกครั้งหนึ่ง
       ก่อนที่จะเข้าไปสู่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมขอใช้ “เวที” นี้เป็นที่อธิบายเหตุผลสำคัญเรื่องหนึ่งก่อน เรื่องเดิมคือเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณาจารย์นิติศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 แถลงการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นความคิดริเริ่มของศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550) ซึ่งผมร่วมก็ได้ลงชื่อด้วย ผมได้รับการสอบถามจากบุคคลจำนวนมากถึงเหตุผลที่ผมไปร่วมลงชื่อด้วยซึ่งผมก็ตอบทุกคนไปในเนื้อความเดียวกัน ผมมีสองเหตุผลที่ร่วมลงชื่อครับ เหตุผลแรกก็คือว่าผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ในบางมาตราไม่ว่าจะเป็นมาตราไหนก็ตาม เหตุผลที่ผมไม่เห็นด้วยก็อย่างที่กล่าวไปแล้วทั้งในการให้สัมภาษณ์และในบทบรรณาธิการหลายๆครั้งตลอดเวลาที่มีการรัฐประหาร รวมทั้งบทบรรณาธิการครั้งล่าสุดคือบทบรรณาธิการครั้งที่ 176 ซึ่งเผยแพร่ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ถึงวันที่ 6 มกราคม 2551 ที่ผมเขียนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อการปฏิรูปการเมือง จุดยืนของผมคือควรจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 เนื่องจากผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มีปัญหาความชอบธรรมทั้งกระบวนการจัดทำและเนื้อหา ด้วยจุดยืนนี้เองที่ผมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 บางมาตราเพราะผมคิดว่าเป็นการไม่สมควรที่จะแก้รัฐธรรมนูญบ่อยๆ แต่ควรจะทำการศึกษารัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อให้ทราบว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้างจะได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำใหม่เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และถูกต้องชอบธรรมครับ ส่วนเหตุผลที่สองที่ผมร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าวก็ด้วยความเกรงใจอาจารย์สมคิดฯเป็นการส่วนตัวครับ! ส่วนคนอื่นๆที่ร่วมลงชื่อนั้นผมไม่ทราบเหตุผล แต่ก็น่าสนใจนะครับเพราะผมไม่ทราบเลยว่าหลายๆคนที่ลงชื่อสนใจหรือแตกฉานในประเด็นที่เป็นปัญหาจนถึงขนาดมาร่วมลงชื่อด้วยครับ !!!
       ที่เล่าให้ฟังไปนั้นก็เป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจร่วมลงชื่อกับคณาจารย์นิติศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ เท่าที่ผมประเมินดูรู้สึกจะมีผู้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มากกว่าผู้ที่เห็นด้วยนะครับ จริงๆแล้วมานั่งนึกดูก็แปลกใจนะครับ ทีตอนรัฐประหาร ทหารเข้ามาฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ทิ้งผู้คนก็ไม่ได้สนใจใยดีอะไรกันเลย ไม่มีการต่อต้าน ไม่มีการคัดค้าน มีแต่เสียงหัวเราะชื่นชมการทำรัฐประหาร ตอนนี้พอเรามีรัฐสภาแล้วและผู้ที่มาจากการเลือกตั้งกำลังใช้กระบวนการทางรัฐสภาเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามวิถีทางที่ควรจะเป็นของระบอบประชาธิปไตย กลับมีเสียงคัดค้านกันเต็มไปหมด (รวมทั้งตัวผมเองด้วย) ซึ่งในสภาพปกตินั้นผมก็คงไม่คัดค้านหรอกครับ เพราะก็อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หากใช้ไปแล้วพบว่ามีบทบัญญัติหรือมีกระบวนการที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารหรือต่อการดำเนินงานของรัฐก็ต้องทำการแก้ไขเพื่อให้การบริหารประเทศดำเนินต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด แต่หนนี้ยอมรับจริงๆว่าที่คัดค้านส่วนหนึ่งแล้วเพราะผมเห็นว่าเนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด จึงสมควรที่จะมีทั้งรูปแบบละเนื้อหาที่สง่างาม รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มีที่มาจากคณะรัฐประหาร ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน ก็มีคนที่คณะรัฐประหารส่งมาอย่างเป็นทางการ 10 คน จึงทำให้รูปแบบของการร่างรัฐธรรมนูญไม่สง่างาม แถมมาตรา 309 ยังรองรับการดำเนินการต่างๆของคณะรัฐประหาร ซึ่งแม้จะมีเพียงมาตราเดียวแต่ก็ทำให้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหมดความสง่างามไปด้วยครับ ด้วยเหตุผลดังกล่าวที่ผมพยายามเสนอมาตั้งแต่ต้นว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ครับ
       ความพยายามของผมมีอยู่หลายรูปแบบ ในขณะที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ผมไม่มีโอกาสทำอะไรได้มากนัก หากจำกันได้ ในเวลานั้นบรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญเป็น “พระเอก” กันทั้งนั้น ออกมาให้ข่าวกันตลอด ฝ่ายคัดค้านก็ทำไปแต่ก็ทำได้ในวงจำกัดเพราะไม่มี “เครื่องมือ” ที่จะทำให้ความเห็นของตนบรรลุ เมื่อมีการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนศึกษาก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ผมได้มีโอกาสออกรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญในฐานะผู้คัดค้าน ในวันนั้นผมมองเห็น “ความวุ่นวาย” ที่จะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ประกอบกับความเสียดายเงินจำนวนมากที่จะต้องเสียไปกับการออกเสียงประชามติ ผมจึงได้เสนอผ่านรายการโทรทัศน์ไปว่า หากเป็นไปได้สภาร่างรัฐธรรมนูญควรตกลงกับประธาน คมช.ผ่านสื่อทุกประเภทให้ประชาชนรับรู้ว่าหากสภาร่างรัฐธรรมนูญ “ตีตก” ร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ประธาน คมช.รับปากว่าจะนำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 กลับมาใช้ใหม่ !!! แต่อย่างไรก็ตามข้อเสนอของผมก็เป็นเพียงข้อเสนอครับ !!! ต่อมาภายหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ผมมีโอกาสได้พบผู้ใหญ่ในรัฐบาล ผมก็ได้เสนอแนวคิดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ซึ่งข้อเสนอของผมก็เป็นเพียงข้อเสนออีกเช่นกัน โดยส่วนตัวแล้วผมไม่คิดว่ารัฐบาลนี้จะรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ “รับไปก่อน” เพราะเมื่อตอนเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆนายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้อย่างชัดแจ้งว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 เดือนก่อนครบวาระการทำงานของรัฐบาล แต่ในวันนี้ หลังจากรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ถึง 3 เดือนพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่งก็ประสบปัญหาร้ายแรงถึงขนาดเกรงไว้ล่วงหน้าจะ “แพแตก” ดังนั้นรัฐบาลจึงเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งประเด็นดังกล่าวยากที่จะหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป ตรรกะง่ายๆอยู่ที่ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 มีผลใช้บังคับ เป็นหน้าที่ของ “นักเลือกตั้ง” และ “พรรคการเมือง” ที่จะต้องศึกษาบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้ละเอียด กติกาในรัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่วางเอาไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง หากผู้ใดไม่เห็นด้วยก็ไม่มีสิทธิที่จะฝ่าฝืน ที่ทำได้ก็คือเดินตามกติกาที่ถูกวางเอาไว้ในรัฐธรรมนูญครับ เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วหากกติกาข้อใดสร้างปัญหาก็เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะดำเนินการแก้ไขตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน และเมื่อมีการทำผิดกติกาก็ต้อง “เดินตาม” กระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้เช่นกัน! จะไปหาทางแก้ไขปรับปรุงกติกาดังกล่าวเพื่อไม่ให้ตนต้องรับผิดไม่ได้ครับ อย่าลืมนะครับเมื่อตัดสินใจขึ้นเวทีชก พอแพ้แล้วจะมาบอกว่าเวทีผิดขนาดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นในส่วนของการแก้ไขมาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อ “หนี” การยุบพรรคการเมืองจึง “น่าจะ” เป็นสิ่งที่สร้างข้อขัดแย้งให้กับสังคมมากขึ้นๆครับ
       ผมยังคง “อดไม่ได้” ที่จะฝากข้อเสนอที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ทั้งฉบับ โดยข้อเสนอของผมในครั้งนี้ “มุ่งเน้น” ไปที่องค์กรที่จะเข้ามา “ยกร่าง” รัฐธรรมนูญครับ ที่ผ่านมาเราลองจัดตั้งองค์กรขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญกันหลายรูปแบบแล้ว พลเรือนร่างเองก็มี ทหารร่างให้ก็มี ทหารสั่งให้พลเรือนร่างให้ก็หลายฉบับ เพิ่งมามีฉบับปี พ.ศ. 2540 นี่ล่ะครับ ที่ดูเข้าท่าหน่อย คือมีตัวแทนของประชาชนทุกจังหวัด กับนักวิชาการระดับเซียนและผู้มีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมืองอีกจำนวนหนึ่ง แต่ในส่วนของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 นั้นบอกตรงๆว่าไม่ได้เรื่อง นักวิชาการด้านกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับก็เห็นมีอยู่แค่คนเดียวเท่านั้นเองครับ แถมยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งถูกส่งมาจากคณะรัฐประหารด้วย สรุปสั้นๆก็คือเราลองมาหลายรูปแบบแล้ว ในขณะที่ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้เรายังไม่เห็นหน้าตาที่ชัดเจนขององค์กรที่จะเข้ามามีบทบาทในการศึกษาหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ดังนั้น เพื่อเป็นแนวคิดทางเลือกให้กับสังคม ผมขอเสนอรูปแบบที่ผมพยายามเสนอมาหลายต่อหลายปีแล้วเพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ โดยรูปแบบที่ผมขอเสนอนั้นมีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน รูปแบบทั้งสองผมเคยเสนอเอาไว้แล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ 176 ครับ รูปแบบแรกเป็นรูปแบบที่ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ประกอบด้วยบุคคล 7 คน โดย 5 คนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ มาจากการเสนอชื่อขององคมนตรี 2 คน วุฒิสภา 1 คน และสภาผู้แทนราษฎร 2 คน ส่วนอีก 2 คน เป็นผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองอันได้แก่อดีตนายกรัฐมนตรี โดยอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งจะต้องทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติด้วยครับ กรรมการทั้ง 7 คนจะเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญพร้อมคำอธิบายสาระสำคัญและกลไกของรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดให้เสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน จากนั้นก็จะส่งให้รัฐสภาให้ความเห็น เมื่อได้ความเห็นของรัฐสภาก็ต้องทำการเผยแพร่ความเห็นของทั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติและความเห็นของรัฐสภาต่อประชาชน ท้ายที่สุด หลังจากปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามความเห็นของทุกฝ่ายแล้วก็จะต้องมีการนำร่างรัฐธรรมนูญพร้อมกับกำหนดประเด็นที่มีทางเลือกหลายทางไปขอความเห็นจากประชาชนด้วยการออกเสียงประชามติ เมื่อผ่านการออกเสียงประชามติและได้รับความเห็นชอบจากประชาชนแล้ว คณะกรรมการพิเศษฯก็จะปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญตามประเด็นที่ประชาชนออกเสียงและจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนด สมาชิกภาพของรัฐสภาก็จะสิ้นสุดลงและมีการเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อได้รัฐสภาชุดใหม่แล้ว วาระการดำรงตำแหน่งของบุคคลในองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ต้องสิ้นสุดลงเช่นกันและจะต้องนำกระบวนการได้มาซึ่งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้ เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น ทั้งองค์กรและกลไกต่างๆที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มทำงานก็ถือได้ว่าการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วครับ ส่วนรูปแบบที่สองเป็นรูปแบบที่ทำอยู่ในประเทศฝรั่งเศส โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อการไตร่ตรองและเสนอแนะแนวทางในการทำให้สถาบันต่างๆของสาธารณรัฐที่ 5 มีความทันสมัยและสมดุลขึ้น ขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อดีตรัฐมนตรีและอดีตประธานตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นรองประธาน กรรมการอื่นอีก 10 คน เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายมหาชน 6 คน อีก 4 คน เป็นตัวแทนสภายุโรปและอาจารย์สอนด้านรัฐศาสตร์ จากองค์ประกอบที่เน้นหนักไปทางด้านวิชาการนี้เอง ผมจึงขอนำมาแปลงเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศแบบไทยๆคือ เราน่าจะลองตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยนักวิชาการจำนวนไม่เกิน 15 คน ซึ่งต้องเป็นนักกฎหมายมหาชนเป็นส่วนใหญ่ และมีนักรัฐศาสตร์อยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง ส่วนคนที่จะมาเป็นประธานนั้นควรเป็นผู้มี “บารมี” และมีความเป็น “นักวิชาการ” ด้วยครับ คณะกรรมการชุดนี้มีเวลาไม่เกิน 6 เดือน ในการศึกษาปัญหาและอุปสรรคของรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งจะต้องประกอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายเหตุผลในการแก้ไขทุกมาตราและทุกกลไก เมื่อคณะกรรมาธิการฯทำงานเสร็จแล้ว ก็ถือว่าจบหน้าที่ ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนใน “สังคม” ที่จะวิพากษ์วิจารณ์และให้ข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญ โดยรัฐสภาหรือรัฐบาลจะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อรวบรวมความเห็นต่างๆที่มีขึ้นเอาไว้ให้ครบ จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของรัฐสภาหรือรัฐบาลที่จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเห็นที่ได้รับมาภายใต้หลักนิติรัฐและนิติธรรมโดยจะต้องมีการอธิบายเหตุผลต่างๆ ที่เป็นเหตุให้แก้ไขร่างที่คณะกรรมาธิการศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จัดทำครับ เรียกกันว่าต้องหาเหตุผลที่เหมาะสมมา “ล้าง” เหตุผลของผู้ยกร่างให้ได้ ตอนท้ายก็เสนอรัฐสภาแก้ไขและก็นำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ถ้าประเด็นไหนมีข้อขัดแย้งก็ให้กำหนดประเด็นให้ประชาชน “เลือก” ด้วยครับ !!!
       ก็ไม่ทราบว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนสำหรับกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผมเสนอไป ผมมีข้อสังเกตที่จะเรียนไว้ให้ทราบด้วยว่าวิธีที่ผมได้นำเสนอนั้นเน้นตัวผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถทางด้านกฎหมายมหาชนเป็นหลัก นอกจากนี้หากพิจารณาดูตัวผู้ทำหน้าที่เป็นประธานแล้วจะพบว่าของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์นั้นกำหนดให้อดีตนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นประธาน ซึ่งตรงนี้ท่านอาจารย์อมรฯได้อธิบายเหตุผลให้ฟังว่าต้องการให้ประธานมีภาวะผู้นำ (leadership) ซึ่งความเห็นดังกล่าวก็ตรงกับของฝรั่งเศสครับ ส่วนนักวิชาการอื่นๆหรือประชาชนทั่วไปนั้นจะเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะได้ครับ สมาชิกรัฐสภาก็เช่นเดียวกันคือจะเข้ามาให้ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะและเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่าลืมนะครับว่าเราลองกันมาหลายแบบแล้ว ดูตัวอย่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ที่ปฏิเสธไม่ให้นักการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยกร่าง ผลออกมาก็อย่างที่เห็นๆกันครับ คือนักการเมืองลำบากกันไปหมด กระดิกตัวทำอะไรก็แทบจะไม่ได้ ในขณะที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เปิดโอกาสให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญเข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญ กลับมีบทบัญญัติเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับองค์ตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กร แถมยังมีการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้บุคคลในบางองค์กรดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีกจนครบวาระที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่อีกด้วยครับ ตัวอย่างของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำให้เราเห็นว่าไม่ว่าใครก็ตามที่มี “ส่วนได้เสีย” กับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้นไม่ควรให้เข้ามาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้เองที่ผมอยากเสนอขอให้ “ลอง” ให้นักวิชาการที่ไม่มีส่วนได้เสียในรัฐธรรมนูญและองค์กรของตนก็ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ยกร่างรัฐธรรมนูญ “ต้นแบบ” ครับ ส่วนการปรับแก้และให้ความเห็นชอบยังเป็นหน้าที่ของรัฐสภาอยู่ครับ ก็ขอฝากเอาไว้ด้วยนะครับ ท้ายที่สุดที่จะฝากเอาไว้ก็คือรัฐบาล อย่าไปแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเองเลยครับ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มหมวด 16 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองเพื่อตั้งองค์กรขึ้นมายกร่างจะเหมาะสมกว่าครับ อย่ายกร่างรัฐธรรมนูญเองเลยนะครับ เพราะยังไงก็คงหนีไม่พ้นความขัดแย้งในสังคมไปได้ ตั้งคนกลางเข้ามายกร่างดีกว่าครับ รายละเอียดทั้งหมดที่เขียนในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดเข้าไปดูบทบรรณาธิการครั้งที่ 176 สำหรับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส และร่างรัฐธรรมนูญหมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ครับ
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นตอนต่อของบทความขนาดยาวของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เรื่อง “สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2” ส่วนอีกสองบทความนั้นเป็นบทความที่มีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับบทบรรณาธิการครั้งนี้ คือ บทความเรื่อง “ทำไม ? ถึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ (ทั้งฉบับ)” ที่เขียนโดยอาจารย์ณัฐกร วิทิตานนท์ และบทความเรื่อง “ต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเท่านั้น จึงจะแก้ปัญหาความแตกแยกในชาติได้ ” โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544