หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 183
30 มีนาคม 2551 23:11 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน 2551
       
       “ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”
       

       กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้ “เห็นหน้า” ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่จำนวน 4 คน ที่มาจากการ “คัดเลือก” ของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2550 นั้นกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน ที่มาจากศาลฎีกา 3 คน จากศาลปกครองสูงสุด 2 คน และจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 4 คน โดยในจำนวน 4 คนนี้ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิสายนิติศาสตร์ 2 คนและสายรัฐศาสตร์ 2 คน ส่วนคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
       ในการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีการ “เปิดรับสมัคร” ให้บุคคลต่างๆที่ “คิดว่า” ตัวเอง “เหมาะสม” และ “มีความสามารถ” พอที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาสมัครเพื่อที่คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะได้ทำการคัดเลือกต่อไป ในช่วงเวลาของการ “รับสมัคร” ก็มีผู้หวังดีจำนวนหนึ่งมาแนะนำว่าผมมีความเหมาะสมที่จะไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงน่าจะไปสมัครเข้ารับการคัดเลือกซึ่งผมก็ได้ตอบขอบคุณบรรดาผู้หวังดีเหล่านั้นและก็ได้ปฏิเสธไป ผมมีเหตุผลส่วนตัวหลายประการที่ทำให้ผมยังไม่ประสงค์ที่จะสมัครเข้าไปเป็นทั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ เหตุผลของผมนั้นบางเรื่องก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่คงไม่เหมาะที่จะนำมากล่าวถึงในที่นี้ แต่บางเหตุผลก็คงจะกล่าวได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผมยังไม่ต้องการที่จะเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหาให้ดำรงตำแหน่งต่างๆในช่วงเวลานี้ก็คือ “ผมไม่ศรัทธาในรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550” ครับ !!! ผมคิดว่าเหตุผลดังกล่าวแม้จะเป็นเพียงเหตุผลเดียวแต่ก็เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ผมยังรักที่จะทำงานแบบเดิมของผมต่อไปครับ สำหรับในส่วนของผู้ที่ไปสมัครเข้ารับการคัดเลือกนั้นก็พบว่ามีจำนวนไม่มากเท่าไหร่ บางคนเห็นแล้วก็ “เหนื่อย” แทนนะครับ บางคนเห็นแล้วผมก็รู้สึก “ดีใจ” ที่ตนเองไม่ได้ไปสมัครกับเขาด้วยเพราะหากได้รับการคัดเลือกเข้าไปด้วยกันคงทำงานไม่มีความสุขแน่ๆ เพราะการแสดงออกในอดีตที่ผ่านมานั้นเป็นสิ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก นอกจากนี้แล้วก็ยังมีบางคนที่แม้จะไม่มีปัญหาออกมาข้างนอกแต่ภายในหน่วยงานก็รู้ว่าเป็นอย่างไร ไม่วิจารณ์ดีกว่าครับ เอาเป็นว่าวันนี้เราก็ได้ “ว่าที่” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสายนิติศาสตร์และสายรัฐศาสตร์อย่างละ 2 คน มาเรียบร้อยแล้วครับ คงต้องรอดูว่าศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดจะส่งใครมาอีกจำนวน 5 คน ครับ
       ขอย้อนกลับไปที่เมื่อผลการ “คัดเลือก” ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 4 คน ออกมา ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากจากทั้งฝ่ายรัฐบาล และทั้งที่ปรากฏความคิดเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์จำนวนมากถึงความเหมาะสมของ “ตัวบุคคล” เหล่านั้นซึ่งเป็นประเด็นที่ผมคงไม่ขอพูดถึงเพราะจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งในสังคมมากขึ้นแล้วก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไรที่จะไปทำสิ่งต่างๆที่เขาทำกันไปแล้ว ผมมองว่าหากจะต้อง “โทษ” กันจริงๆ แล้ว “ผู้ผิด” ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั่นเองที่บัญญัติถึง “วิธีการได้มา” ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้แบบนั้น มีการมุ่งเน้นที่ตัว “บุคคล” เพียงไม่กี่คนให้เข้ามาเป็นผู้ “ตัดสิน” เลือกคนให้เข้ามาทำงานใหญ่ระดับชาติเช่นการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นถ้าต้องหาตัว “ผู้รับผิด” กันจริงๆก็คงตอบได้ไม่ยากว่ารัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 เป็นต้นเหตุของความผิดพลาดเกิดขึ้นและสมควรที่จะต้องรับโทษ !
       
ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาทางการเมืองเรื่องอื่นเกิดขึ้นซึ่งก็นำไปสู่กระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากฝ่ายการเมืองที่พยายามออกมาชี้ให้เห็นว่าต้องแก้ไขประเด็นใดบ้าง และนอกจากนักการเมืองแล้วก็ยังมี นักวิชาการบางคนออกมาผสมโรงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญด้วย แต่ก็ไม่บอกว่าจะแก้ประเด็นใด ด้วยเหตุผลใดและใครจะเป็นผู้แก้ บางครั้งผมก็รู้สึก “เบื่อ” คนเหล่านี้ที่ชอบออกมาพูดไปทั่ว แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่ได้เสนอทางออกอะไรทั้งนั้นครับ ผมไม่ทราบจะทำอย่างไรดีถึงจะให้คนเหล่านั้น “รับทราบ” หน้าที่ที่แท้จริงของนักวิชาการได้ว่าอย่างน้อยเมื่อวิจารณ์ว่าอะไรไม่ดีแล้วก็ควรจะต้องเสนอทางออก ทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมและผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบต่อสังคม เพื่อปฏิเสธหรือต่อต้านสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ออกมาตำหนิติเตียนเพียงอย่างเดียวครับ
       เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ผมได้เสนอมาหลายครั้งแล้ว ครั้งสุดท้ายอยู่ในบทบรรณาธิการครั้ง 176 ที่ลงเผยแพร่ระหว่างวันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2550 ถึงวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2551โดยผมได้นำร่างรัฐธรรมนูญหมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองมานำเสนอเอาไว้ด้วย ใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีใดก็สามารถ “หยิบยืม” ไปใช้ได้นะครับ ไม่ว่ากันครับ !
       เพื่อให้สอดคล้องกับการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งและกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมขอนำเสนอ “ความหลากหลาย” ของที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศจำนวน 7 ประเทศด้วยกันคือ ฝรั่งเศส เยอรมัน ออสเตรีย เบลเยี่ยม สเปน อิตาลี ลักเซมเบอร์ก เพื่อประกอบมุมมองของการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในประเทศไทย โดยผมจะไม่ขอวิเคราะห์วิจารณ์หรือเสนอแนะอะไรทั้งนั้น ผมจะทำเพียงนำเสนอข้อมูลอย่างสั้นๆให้ผู้สนใจไปศึกษาค้นคว้าต่อหากเห็นว่าระบบของประเทศใดน่าสนใจครับ
       คงต้องเริ่มต้นกันที่ประเทศฝรั่งเศสก่อน รัฐธรรมนูญฉบับปีค.ศ.1958 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (le Conseil Constitutionnel) ของฝรั่งเศสประกอบด้วยตุลาการ 2 ประเภท คือตุลาการโดยตำแหน่งกับตุลาการที่มาจากการแต่งตั้ง ตุลาการโดยตำแหน่งได้แก่อดีตประธานาธิบดีทุกคน ส่วนตุลาการที่มาจากการแต่งตั้งนั้นมีจำนวน 9 คนมีที่มาจากการเสนอชื่อให้ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเองมีสิทธิเสนอได้จำนวน 3 คน ประธานสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 3 คน และประธานวุฒิสภาจำนวน 3 คน สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ปรากฏว่ามีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายใดๆเลยซึ่งก็หมายความว่า ผู้เสนอชื่อทั้ง 3 คน สามารถแต่งตั้งใครก็ได้เข้าไปเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติเท่าที่ผมอ่านเจอส่วนใหญ่ผู้เสนอชื่อทั้ง 3 คนก็จะคัดเลือกเอานักกฎหมายมหาชนระดับหัวกะทิของประเทศเข้าไปเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญครับ สำหรับประเทศต่อมาคือประเทศเยอรมัน นั้น รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปีค.ศ. 1951 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ (la Cour Constitutionnelle) ประกอบด้วยตุลาการจำนวน 16 คน ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งจากการเสนอชื่อสภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) และสภาสูง (Bundesrat) โดยมีกระบวนการได้มาคือ ในส่วนที่มาจากการเสนอของสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 8 คนนั้น สภาผู้แทนราษฎรจะต้องทำการคัดเลือกคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่เป็น “คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” คณะกรรมาธิการประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 12 คน มาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองต่างๆ คณะกรรมาธิการจะทำหน้าที่คัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 8 คน และเสนอชื่อให้ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกจะต้องได้คะแนนเสียงจากกรรมาธิการไม่ต่ำกว่า 8 เสียง และสำหรับในส่วนที่มาจากการเสนอของสภาสูงจำนวน 8 คนนั้น สภาสูงจะทำการคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกจะต้องได้คะแนนเสียงข้างมาก 2ใน 3 ของสภาสูง ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่สภาทั้ง 2 จะคัดเลือกให้เข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ต้องจัดทำหนังสือแนะนำตัว ต้องได้รับประกาศนียบัตรว่ามีความถนัดในการทำงานเป็นตุลาการ และอย่างน้อยสำหรับบุคคลที่แต่ละสภาจะคัดเลือกจำนวน 3 คน รวม 6 คน จะต้องมาจากตุลาการศาลใดศาลหนึ่งใน 5 ศาลสูงสุดของสหพันธรัฐ คือ ศาลยุติธรรมแห่งสหพันธรัฐ ศาลปกครองแห่งสหพันธรัฐ ศาลการคลังแห่งสหพันธรัฐ ศาลแรงงานแห่งสหพันธรัฐ และศาลระงับข้อพิพาททางสังคมแห่งสหพันธรัฐ (la Cour fédérale du contentieux social) ในทางปฏิบัติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะมาจากผู้ประกอบอาชีพตุลาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย และก็มีบางส่วนมาจากสมาชิกพรรคการเมือง
       ประเทศต่อมาคือ ประเทศออสเตรีย รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปีค.ศ. 1953 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ (la Cour Constitutionnelle) ประกอบด้วยตุลาการจำนวน 14 คนที่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นผู้แต่งตั้งจากการเสนอชื่อของรัฐบาลจำนวน 6 คน จากสภาผู้แทนราษฎร ( le Conseil National) จำนวน 3 คน และจากสภามลรัฐ (le Conseil Fédéral) อันเป็นสภาที่ประกอบด้วยตัวแทนของมลรัฐ ( Länder) ต่างๆทั้ง 9 มลรัฐอีกจำนวน 3 คน ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานอีก 1 คน นั้นรัฐบาลเป็นผู้เสนอชื่อต่อประธานาธิบดีโดยตรง คุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคืออายุขั้นต่ำต้องไม่ต่ำกว่า 35 ปี ต้องจบการศึกษากฎหมายหรือเศรษฐศาสตร์ และต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านดังกล่าวมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ส่วนประธาน รองประธานและตุลาการที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอชื่อนั้นจะต้องมีที่มาจากตุลาการ ข้ารัฐการระดับสูงหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนประเทศเบลเยี่ยม นั้นรัฐธรรมนูญและกฎหมายพิเศษลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1989 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ (la Cour Constitutionnelle) ประกอบด้วยตุลาการจำนวน 12 คน ได้รับการแต่งตั้งจากการที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้คัดเลือกจากบัญชีรายชื่อที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นผู้เสนอจำนวน 2 เท่า ของตำแหน่ง บัญชีที่แต่ละสภาจะเสนอมาให้พระมหากษัตริย์ทรงคัดเลือกนั้นจะต้องได้รับการออกเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มาประชุม คุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้สองประเภท ประเภทแรกต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี และต้องทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด (le Conseil d’Etat) หรือเป็นนักกฎหมายผู้ช่วยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนประเภทที่สองต้องเป็นสมาชิกรัฐสภาหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งกฎหมายก็ได้กำหนดไว้ว่าตุลาการประเภทแรกต้องมีจำนวนมากกว่าตุลาการประเภทหลัง
       ในประเทศสเปน นั้นรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ (le Tribunal constitutionnel) ประกอบด้วยตุลาการจำนวน 12 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์จากการเสนอชื่อของสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 4 คน วุฒิสภาจำนวน 4 คน รัฐบาลจำนวน 2 คน และจากคณะกรรมการตุลาการ (le Conseil général du pouvoir judiciaire) จำนวน 2 คน โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่าจะต้องเป็นนักกฎหมายที่มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับเท่านั้น โดยนักกฎหมายเหล่านี้มีที่มาจากตุลาการศาลยุติธรรม อาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย ข้าราชการหรือทนายความ ส่วนในประเทศอิตาลีนั้นรัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ (la Cour Constitutionnelle) ประกอบด้วยตุลาการจำนวน 15 คน มาจากการเสนอชื่อของประธานาธิบดีจำนวน 5 คน จากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา 5 คน จากฝ่ายตุลาการจำนวน 5 คน โดยแบ่งเป็นจากตุลาการศาลฎีกาจำนวน 3 คน จากตุลาการศาลปกครองสูงสุด (le Conseil d’Etat) จำนวน 1 คน และจากตุลาการศาลตรวจเงินแผ่นดิน (la Cour des Comptes) จำนวน 1 คน ส่วนคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอิตาลีจะต้องเป็นนักกฎหมายเท่านั้นโดยเป็นนักกฎหมายจากตุลาการศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองที่ยังทำหน้าที่อยู่หรือเกษียณอายุแล้วก็ได้ จากอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือจากทนายความที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ส่วนประเทศสุดท้ายที่ผมจะขอนำเสนอคือประเทศลักเซมเบอร์ก รัฐธรรมนูญและกฎหมายฉบับปีค.ศ. 1997 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ (la Cour Constitutionnelle) ประกอบด้วยตุลาการจำนวน 9 คน ที่พระมหากษัตริย์ (Grand-Duc) เป็นผู้แต่งตั้ง โดยกฎหมายเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1997 ได้กำหนดให้มีตุลาการรัฐธรรมนูญ 2 ประเภท ประเภทแรก จำนวน 4 คน ได้แก่ตุลาการระดับสูงของประเทศเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง ส่วนประเภทที่ 2 จำนวน 5 คน ได้รับการแต่งตั้งจากการเสนอชื่อจากการคัดเลือกในการประชุมร่วมกันศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด ส่วนคุณสมบัติของตุลาการทั้ง 2 ประเภทนั้นกฎหมายกำหนดไว้เป็นเช่นเดียวกันคือต้องเป็นตุลาการ
       เป็นอย่างไรบ้างครับ ที่มาและคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของ 7 ประเทศในสหภาพยุโรป รวมๆแล้วจะเห็นว่าส่วนใหญ่ก็จะใกล้เคียงกันคือประมาณ12 คน มีที่มาจากการคัดสรรของฝ่ายการเมืองที่กระบวนการยังมีความหลากหลายกันอยู่ ส่วนคุณสมบัตินั้นนอกจากกรณีของฝรั่งเศสแล้ว ส่วนใหญ่จะกำหนดให้ผู้ที่มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องมาจากผู้ประกอบอาชีพด้านกฎหมายเป็นหลักครับ
       ก็ขอฝากให้ดูกันนะครับ ใครสนใจจะค้นคว้าเพิ่มเติมแล้วไม่มีข้อมูลก็มาแจ้งมาที่ผมได้นะครับ ผมมีข้อมูลค่อนข้างครบแต่เป็นภาษาฝรั่งเศสครับ
       เพื่อให้สอดคล้องกับข่าวดังเรื่อง “การยุบพรรคการเมือง” (อีกแล้ว)!!! ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับการยุบพรรคและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่เขียนโดยคุณชนินทร์ ติชาวันส่วนบทความที่สองคือ “ยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิเลือกตั้ง” ของคุณวัส ติงสมิตร ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       สุขสันต์วันสงกรานต์และพบกันใหม่วันจันทร์ที่ 14 เมษายน 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544