|
|
|
|
|
ครั้งที่ 171
สำหรับวันจันทร์ที่ 15 ตุลาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม 2550
บทบาทของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ตอนนี้เป็นช่วงปิดเทอมของมหาวิทยาลัยครับ แม้จะดีใจที่ได้พักเกือบเดือนไม่ต้องสอนหนังสือ แต่เมื่อพิจารณาจากงานประจำของตัวเองแล้วพบว่าไม่น่า ดีใจ เลยครับ เฉพาะการตรวจข้อสอบอย่างเดียวก็หนักเอาการแล้วครับ นอกจากนี้แล้วผมก็ยังมีทั้งงานวิจัยและงานประชุมอีกมาก เลยทำให้ปิดเทอมนี้ไม่ได้พักผ่อนตามที่ตั้งใจเอาไว้ครับ
ข่าวสารบ้านเมืองก็ยังคงสับสนวุ่นวายอยู่เช่นเดิม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนั้นคงเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเป็นวันที่ 23 ธันวาคม ครับ แม้จะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 เดือนจะถึงวันเลือกตั้ง แต่ผมก็ยังมองไม่เห็นทางออกที่ดีสำหรับประเทศไทยเลยครับ เพราะเนื่องจากเราฝากความหวังของประเทศไว้กับการเลือกตั้ง กับพรรคการเมือง กับนักการเมือง แต่ในวันนี้ทั้งพรรคการเมืองและบรรดานักการเมืองทั้งหลายก็ยัง จับขั้ว ควบรวมและผสมกันไม่เสร็จเสียที มีแต่การพูดจาเสียดสีฝ่ายตรงข้าม สรรเสริญเยินยอคนที่จะไปอยู่ด้วย หน้าเดิมๆทั้งนั้นครับ และยิ่งแต่ละพรรคการเมืองต่างก็ยังไม่มีนโยบายทางการเมืองที่เป็นของตนเองด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้อดวิตกไปไม่ได้ว่า หลังเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 50 เราจะได้ อะไร มาเป็นรัฐบาลครับ หากจะให้เดาก็คงเดาได้ไม่ยากว่า คงไม่ต่างจากตอนนี้เท่าไหร่ที่บรรดานักการเมืองต่างก็วิ่งเข้าหาพรรคการเมืองที่มี นายทุน หนุนหลังอยู่เพื่อให้นายทุนเหล่านั้นให้ความช่วยเหลือการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้งก็คงต้องให้ความสำคัญกับ นายทุน ต่อไป เข้าทำนองบุญคุณต้องตอบแทนนั่นล่ะครับ ประชาชนจะได้อะไรบ้างคงตอบยากเพราะหากการจัดสรร ประโยชน์ ทางการเมืองยังไม่ลงตัว ประชาชนอย่าไปหวังเลยครับว่าจะ มาก่อน !!!
เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาคือเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองขึ้นเหตุการณ์หนึ่งคือ การพิจารณาญัตติ ปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรมในการบริหารงานของรัฐบาล โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.เป็นผู้อภิปรายซึ่งผมถือว่าเป็นการที่สนช.แสดงถึง อิทธิฤทธิ์ ของตนเองในการ ควบคุม การทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งจริงๆแล้ว ก่อนหน้านี้สนช.ก็เคยแสดง อิทธิฤทธิ์ มาแล้วครั้งหนึ่งตอนที่ได้ถอดถอน คุณจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมาครับ
คำถามที่ผมจะตั้งขึ้นมาสำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวคงมีเพียงคำถามเดียวคือ สนช.มีความ ชอบธรรม หรือไม่ในการดำเนินการดังกล่าวครับ
ผมคงต้องพูดเรื่องการถอดถอนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก่อนที่จะพูดเรื่องญัตติเพราะจริงๆแล้วทั้งสองเรื่องมีความเกี่ยวข้องกันมาก กล่าวคือทั้งสองเรื่องเป็นการแสดงบทบาทอื่นของสนช.นอกเหนือไปจากการจัดทำกฎหมายครับ
ก่อนที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของสนช. ในการดำเนินการทั้งสองเรื่องข้างต้นได้ เราคงต้องมาพิจารณาดูถึงที่มาของทั้งกรรมการสิทธิมนุยชนแห่งชาติ สนช. และรัฐบาลกันก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไรครับ จากนั้นเราค่อยมาวิเคราะห์กันว่า การดำเนินงานของสนช.ในช่วงหลังมีความ ชอบธรรม มากน้อยเพียงใดครับ
คงต้องเริ่มจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก่อน คุณจรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ออกตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ที่ถูกคณะรัฐประหารยกเลิกไป แต่ก็ยัง กรุณา ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังคงอยู่ต่อไปครับ กระบวนการได้มาซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้นเป็นกระบวนการที่ ศักดิ์สิทธิ์ และมีส่วน เชื่อมโยง กับทั้งข้าราชการ ประชาชน และนักการเมือง กล่าวคือมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากหลายภาคส่วน จากนั้นก็ส่งต่อไปให้วุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นผู้คัดเลือกครับ เมื่อผู้ใดได้รับการโปรดเกล้า ฯ เป็นกรรมการสิทธิมุนษยชนแห่งชาติแล้ว ต่อมา ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและของประชาชนหรือไม่เป็นกลาง หรือมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องทางศีลธรรมจรรยาที่อาจมีผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการดำรงตำแหน่งหน้าที่ หรือต่อการส่งเสริมหรือคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือมีส่วนได้เสียในกิจการหรือธุรกิจใดๆที่อาจมีผลกระทบโดยตรงหรือก่อให้เกิดความเสียหายทำนองเดียวกัน หรือเคยมีพฤติการณ์ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผู้นั้นก็อาจถูกถอดถอนได้โดยวุฒิสภาตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นครับ
ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้นเป็นผลพวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 โดยมีที่มาจากการสรรหาโดยคณะรัฐประหาร สนช.ส่วนใหญ่ประกอบด้วยข้าราชการ ทั้งข้าราชการทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และมีบางส่วนที่มาจากภาคเอกชนครับ สนช.มีหน้าที่ในการจัดทำร่างกฎหมาย ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี รวมทั้งเปิดอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงจากคณะรัฐมนตรีด้วย แต่ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2550ใช้บังคับ บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ได้ให้สนช.ทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปก่อนจนกว่าจะมีรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครับ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ เป็นวุฒิสภาในกรณีถอดถอน คุณจรัล ดิษฐาอภิชัย ได้ครับ
คงไม่ต้องกล่าวอะไรมากนัก หากจะพูดถึง ความชอบธรรม ของสนช.ในการถอดถอนคุณจรัลฯ แล้วก็พบว่าทำใจให้ยอมรับได้ลำบากมาก คุณจรัลฯ มีที่มาจากรัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่าดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา มาจากกระบวนการที่ เชื่อมโยง กับทุกภาคส่วนรวมทั้งจากประชาชนด้วย ในขณะที่ สนช.นั้นมาจากรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารเป็นผู้เขียนขึ้น แค่เรื่อง รูปแบบ ของ ที่มา ของคุณจรัลฯก็ กินขาด รูปแบบ และ ที่มา ของสนช.แล้วครับ ดังนั้นในประเด็นนี้คงไม่ต้องพูดกันไปให้มากความว่า การถอดถอนคุณจรัลฯโดยสนช.นั้นมีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด ส่วนในเรื่อง เนื้อหา นั้นยิ่งแล้วใหญ่ โดยทั่วไปแล้วการ ถอดถอน บุคคลออกจากตำแหน่งนั้นสามารถทำได้หากบุคคลนั้นทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ของตนไปกระทำความผิด ซึ่งในกรณีของคุณจรัลฯ นั้น ไม่ว่าจะมองอย่างไรก็เป็นเรื่อง ส่วนตัว ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเลยครับ คงไม่ใช่เรื่องที่ผมจะมา เข้าข้าง หรือ เถียง แทนคุณจรัลฯ นะครับ ผมทราบดีว่าการกระทำของคุณจรัลฯ ที่เป็นเหตุให้นำไปสู่การถอดถอนนั้น เป็น ความผิด ตามกฎหมาย แต่ก็คงจะเอากระบวนการ ถอดถอน มาใช้ไม่ได้ จนกว่าจะได้มีการดำเนินการตามกฎหมายและศาลได้พิพากษาว่า คุณจรัลฯ ผิด จริงเสียก่อน จึงจะเข้าเหตุ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องทางศีลธรรมจรรยาที่อาจมีผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการดำรงตำแหน่งหน้าที่ ให้ถอดถอนได้ครับ
ในเรื่องนี้ อย่างที่กล่าวไปแล้วตอนต้นว่าทำใจลำบากเหลือเกินครับ ไม่ว่าจะมองอย่างไรก็เห็นว่า สนช. นั้น ทำงานเกินขอบอำนาจของตนเอง ครับ
ส่วนเรื่องการอภิปรายญัตติปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม ในการบริหารงานของรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดย สนช. ก็เป็นเช่นเดียวกับกรณีการถอดถอนคุณจรัลฯ ข้างต้นครับ ผมไม่ทราบมูลเหตุแน่ชัดว่า ทำไมจึงเกิดการเสนอญัตติดังกล่าวขึ้นได้ เท่าที่อ่านดูจากหนังสือพิมพ์ ก็ยังพบว่า มี ประเด็นต่างๆ จำนวนหนึ่ง ที่ สนช. หยิบยกขึ้นมา วิพากษ์ รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกรณีรัฐมนตรี 5 คนที่ลาออกไป ถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ปัญหาที่ดิน เขายายเที่ยง ของนายกรัฐมนตรี การบริหารงานต่างๆ ของรัฐบาล ความเป็นธรรมในการโยกย้ายข้าราชการ โดยเน้นที่กระทรวงกลาโหม ปัญหาการทำงานและการทุจริตภายในกระทรวงคมนาคม ฯลฯ จริงๆ ประเด็นเหล่านี้ก็เป็น สิ่งที่ดี นะครับที่ สภา จะยกขึ้นมา ตรวจสอบ การทำงานของ รัฐบาล แต่ด้วยข้อจำกัดที่ทราบกันดีอยู่ว่าทั้ง สนช. และ รัฐบาล ต่างก็ เกิดมาจากการรัฐประหาร เหมือนๆ กัน มีความเป็น พี่น้อง กันอยู่ และนอกจากนี้รัฐบาลนี้ก็เป็นรัฐบาลที่มาจากการ แต่งตั้ง และ ชั่วคราว ที่จะอยู่ทำงานได้อีก 2-3 เดือนเท่านั้นเอง การใช้อำนาจของ สนช. ตรวจสอบรัฐบาลจึงดูเป็นสิ่งที่ แม้ในทางทฤษฎีจะ ดูดี ยังไงก็ตาม แต่จาก สภาพ ของทั้ง สนช.และ รัฐบาล ทำให้การตรวจสอบครั้งนี้ดู แปลกๆ ครับ ยิ่งเมื่อมีข่าวออกมามากมายถึงความขัดแย้งระหว่างบุคคลในรัฐบาลกับ สนช. ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ดูไม่ดีมากขึ้นไปอีก ที่ถูกที่ผมอยากเห็นน่าจะเป็น การตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญของประเทศได้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ หรือ ปัญหาภาคใต้ ครับ ซึ่งปัญหาหลังก็มีเรื่อง น่าเบื่อหน่าย เกิดขึ้น คือ คมช. ที่ คุยนักคุยหนา ว่าทำรัฐประหารเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ นายกรัฐมนตรีที่ คุยนักคุยหนา ว่า จะแก้ปัญหาภาคใต้ให้ได้ แต่ในวันนี้ก็ยังทำอะไรไม่ได้ ที่ น่าสงสัย ก็คือตัวประธาน คมช. เองที่หลังการทำรัฐประหารมาจนถึง 30 กันยายน นั้น มีอำนาจมากมายอยู่ในมือแต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้ พอเกษียณอายุแล้วมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้านความมั่นคง จะไปทำอะไรได้ครับ !! นอกจากนี้แล้ว ปัญหาที่สำคัญที่อยากจะยกไว้ในที่นี้ก็คือเมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันขึ้นซึ่งผมก็จำไม่ได้แล้วว่ามีจำนวนกี่คน คณะรัฐมนตรีจำนวนเท่าที่มีอยู่ในตอนต้นก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญต่างๆของประเทศได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาความมั่นคงที่เห็นกันอยู่ชัดๆว่าทั้งรัฐบาลและคมช.ต่างก็ไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหลายได้ แต่ในวันนี้จำนวนรัฐมนตรีก็ลดลงไปอีก ถึงจะมีเข้ามาใหม่เพียงอีก 1 คนก็คงพอเดาได้ว่าไม่น่าจะทำอะไรได้มากนักเพราะขนาดตอนเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารและเป็นประธาน คมช.ที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือเกือบเด็ดขาดก็ยังทำอะไรไม่ได้เลยครับ และที่น่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือการที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย รวมทั้งยังมีรัฐมนตรีอีกหลายคนที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง ผมไม่ทราบจริงๆว่าท่าน เก่ง มาจากไหนกันถึงจะ ควบ ตำแหน่งเหล่านี้ได้และไม่ทราบว่าท่านจะทำให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองได้อย่างไรครับ การที่คิดกันว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่อีกเพียง 3 เดือนเป็นความคิดที่ ไม่รอบคอบ อย่างมากเพราะจริงๆแล้วหากจะรอให้รัฐบาลชุดใหม่ทำงานเข้าที่เข้าทางได้ก็คงเข้าไปเกือบกลางปีหน้า ผมเห็นว่าในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อีกไม่กี่เดือนก่อนที่จะมีทั้งรัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมอยากเห็น สนช. ทำงานให้ตรงตามหน้าที่ของ สภา คือ รีบเร่งพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญๆ ที่ยังค้างอยู่ใน สนช.ครับ ร่างกฎหมายหลายฉบับ เป็น ร่างกฎหมายที่สำคัญ และ บางฉบับก็ เชื่อขนมกินได้ เลยว่า ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ครับ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติแทนที่จะมานั่งอภิปรายเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงานของรัฐบาล ผมว่าน่าจะมาร่วมกันดูว่าจะต้อง รีบ ทำอะไรบ้างเพื่อ วางหลัก สำคัญให้กับประเทศชาติครับ !!
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความที่เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "วัฒนธรรมทางการเมือง อำนาจการเมืองและรัฐธรรมนูญ" ส่วนบทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง "รายงานผลการดำเนินการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ.2007โดยคณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดี" โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม (นักศึกษาระดับปริญญาเอก ประเทศฝรั่งเศส) ผมขอบคุณเจ้าของบทความทั้ง 2 ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2550 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|