|
|
|
|
|
ครั้งที่ 166
สำหรับวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2550
เห็นชอบรัฐธรรมนูญคือเห็นชอบรัฐประหาร ?
อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันออกเสียงประชามติ ครั้งแรก ของไทยแล้วครับ รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องการออกเสียงประชามติหลายครั้ง ซึ่งผมก็ไปร่วมด้วยบ้างตามแต่เวลาจะอำนวย ครั้งหนึ่งเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้จัดให้มีการอภิปรายเรื่องการออกเสียงประชามติครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีผู้อภิปราย 3 คน คือ รมต.ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ผม และ อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล การอภิปรายในส่วนของผม ผมได้พูดถึงหลักและแนวคิดของการออกเสียงประชามติของต่างประเทศและได้ตั้งประเด็นฝากไว้หลายประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก นั้น หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วยกระบวนการออกเสียงประชามติ จำเป็นหรือไม่ที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวทุกครั้งจะต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติด้วย ทั้งนี้เพราะเมื่อประชาชนได้ให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญแล้ว หมายความว่าทุกมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชนให้มีผลใช้บังคับได้ ด้วยเหตุนี้เองที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้งจึงควรต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วย มิฉะนั้นหากพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาทำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยผิดไปจากเจตนารมณ์เดิมที่ประชาชนได้ให้ไว้ ก็จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นเสียความเป็น รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ไปในที่สุดครับ อย่างไรก็ดีประเด็นนี้คงทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ นอกจากนี้ยังมี ผู้มีตำแหน่งสำคัญ บางคนออกมาบอกว่าให้ออกเสียงเห็นชอบรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วค่อยไปแก้เอาทีหลัง ผมว่าข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่ แย่มาก ๆอีกข้อเสนอหนึ่งเพราะเป็นข้อเสนอที่ ทำลาย ความศักดิ์สิทธิ์ของ เสียงประชาชน ไปเลยทีเดียวครับ เป็นไปได้อย่างไรที่ให้ประชาชนหลายสิบล้านคนไปออกเสียงประชามติ เห็นชอบ ในรัฐธรรมนูญทั้ง 309 มาตรา เพื่อให้คนไม่กี่คนไปแก้ไขเพิ่มเติมได้อีกในวันข้างหน้าครับ ! และนอกจากนี้ หากรัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติก็หมายความว่ากระบวนการต่างๆตามรัฐธรรมนูญต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การเกิดขึ้นขององค์กรต่างๆ ทุกอย่างล้วนแต่มี ต้นทุน ในการดำเนินการทั้งนั้น เมื่อกระบวนการต่างๆตามรัฐธรรมนูญเริ่ม ขับเคลื่อน ไปแล้ว ถามจริงๆเถอะครับว่า จะไปแก้เอาตอนไหนกันครับ !!
ประเด็นต่อมา ก็เป็นประเด็นที่ผมได้เคยเสนอไว้นานแล้วแต่ก็ไม่มีผู้ใดขานรับ โชคดีที่มีผู้เอาไปขยายความต่อ เราก็เลยได้คำตอบที่ไม่เป็นทางการออกมาดับกระหายไปได้บ้าง นั่นก็คือประเด็นที่ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในการออกเสียงประชามติ ครม. และ คมช. จะนำเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาปรับปรุงแก้ไขและใช้บังคับ คำตอบแรก ที่ผมได้รับในวันอภิปรายจาก รมต.ธีรภัทรฯ ก็คือ ยังไม่ทราบว่าจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับปรุงแก้ไข โดย รมต.ธีรภัทรฯ ได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 บัญญัติว่า หากประชาชนโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ คมช. ประชุมร่วมกับ ครม. เพื่อพิจารณานำเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงและประกาศใช้บังคับต่อไป ดังนั้น จึงยังตอบไม่ได้ในตอนนั้นและต้องรอผลการออกเสียงประชามติก่อน หากประกาศให้ทราบล่วงหน้าก็ถือเป็นการกระทำที่ไม่ สอดคล้อง กับบทบัญญัติมาตรา 32 ดังกล่าวที่กำหนดให้ต้องทำการเลือกรัฐธรรมนูญหลังจากที่ผลการออกเสียงประชามติออกมาแล้วครับ คำตอบที่สอง ตามมาในเวลาต่อมา โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม ในรายการเปิดบ้านพิษณุโลก ว่า ในฐานะที่เป็นอดีตทหารรบพิเศษมีสโลแกนของเราคือ พลังเงียบเฉียบขาด เราจะไม่ยอมบอกอะไรเลยจนกว่าเมื่อถึงเวลาที่จะทำงาน น่าประทับใจไหมครับกับคำตอบของนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ! ส่วนคำตอบที่สาม เพิ่ง ได้ยินมาเมื่อไม่กี่วันนี้เอง โดยประธาน คมช. ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จะนำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาใช้แต่ไม่ทั้งฉบับ และจะไม่แก้เรื่องระยะเวลาสังกัดพรรคการเมือง นี่คือ 3 คำตอบที่เกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วยวิธีการออกเสียงประชามติ ผู้มีอำนาจจะนำเอารัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับปรุงแก้ไขและประกาศใช้บังคับต่อไป ผมคงไม่วิจารณ์คำตอบของบุคคลทั้งสาม เพราะเป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า การออกเสียงประชามติที่ถูกต้องนั้นประชาชนคงต้อง รับทราบ ข้อมูลทั้งหมดก่อน ประชาชนต้องทราบว่าหาก ไม่รับ รัฐธรรมนูญแล้วตนจะได้อะไร ก็อย่างที่ว่านะครับ คนขนาดนายกรัฐมนตรีเองยังเคยให้สัมภาษณ์ในเรื่องดังกล่าวเอาไว้ว่า ....ของที่ผมเอามาไว้อยู่ในมือข้างหน้ากับของที่ผมซ่อนไว้ข้างหลังจะเลือกเอาอย่างไหน...... แล้วเราจะไปเอาความชัดเจนในเรื่องนี้กับใครครับ ส่วนประเด็นสุดท้ายของการอภิปราย เป็นประเด็นที่ผมได้ ขอฝาก ไว้กับรัฐมนตรีธีรภัทรฯ ในฐานะที่เป็น 1 ใน ครม. ที่จะต้องร่วมประชุมกับ คมช. ในกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยผมได้ขอให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2539 ที่ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาใส่ไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่จะนำเอามาใช้บังคับต่อไปด้วย เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองต่อไปครับ เพราะโครงสร้างของสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวเหมาะสมกว่าโครงสร้างของสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันในหลายๆ ด้านครับ ก็ไม่ทราบว่าคำขอของผมจะเป็นไปได้หรือไม่ครับ
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะนำมาพูดในบทบรรณาธิการครั้งนี้คือเรื่องบรรยากาศของการออกเสียงประชามติครับ ตัวผมเองมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศของการออกเสียงประชามติร่างธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรป เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2005 ซึ่งผมเห็นว่าต่างกับบรรยากาศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในหลาย ๆ ด้าน เริ่มจากการให้ข้อมูลที่เป็นเอกสารกับประชาชนอย่างมาก ทั้งพรรคการเมือง องค์กรต่างๆ สื่อมวลชนทุกรูปแบบที่พากันสรรหาข้อมูลที่เกี่ยวกับ ข้อดี และ ข้อเสีย ของร่างธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปมานำเสนอต่อประชาชน หนังสือพิมพ์บางฉบับทำ หน้าพิเศษ หรือ เล่มพิเศษ ที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติโดยตรง ทางโทรทัศน์ก็มีการเชิญทั้งผู้เห็นด้วยกับผู้ไม่เห็นด้วยมาออกรายการทุกวัน โดยให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงความเห็นในช่วงเวลาเดียวกัน บรรยากาศสนุกมากครับเพราะเราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง จากการฟังและการเห็นข้อมูลต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเองก็มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านมาอภิปรายให้คณาจารย์และนักศึกษาฟัง บทบาทของพรรคการเมืองเองก็มีอยู่มากในการให้ข้อมูลต่าง ๆ กับประชาชน เอาเป็นว่าบรรยากาศในการออกเสียงประชามติร่างธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรป เมื่อกลางปี ค.ศ. 2005 นั้นมีความคึกคักและน่าสนใจเป็นอย่างมาก ผิดกับที่เกิดขึ้นในวันนี้ในบ้านเราที่เริ่มต้นก็ออกมา สร้างความน่ากลัว ให้กับประชาชน ด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับการไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญว่าจะมีความผิดตามกฎหมาย การให้ข้อมูลผิด ๆว่าหากร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากประชาชนก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งซึ่งจริง ๆแล้วแม้ประชาชนจะไม่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งก็ต้องมีขึ้นโดยเร็วเช่นกัน ฯลฯ บรรยายกาศด้านการเมืองเองก็ยังอยู่ในสภาพที่แย่เพราะในวันนี้ พรรคการเมืองที่มีอยู่ก็ไม่ได้แสดงจุดยืนทางวิชาการ ที่ชัดเจนของการ เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ นักการเมืองบางกลุ่มก็ยังวุ่นวายอยู่กับการตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือหาพรรคการเมืองสังกัดเนื่องจากเหตุผลหลายประการรวมทั้งการยุบพรรคการเมืองเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ด้วย นอกจากนี้เรายังมีประชาชนที่อยู่ในจังหวัดต่าง ๆกว่า 30 จังหวัดที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก บรรยากาศทางการเมืองในขณะนี้จึงไม่ สดใส และไม่ เหมาะสม ที่จะมีการออกเสียงประชามติ ส่วนบรรยายกาศด้านวิชาการนั้นก็แทบจะเรียกได้ว่ามีน้อยมาก ในหนังสือพิมพ์แม้ว่าจะพบ บทความ เกี่ยวกับ ข้อดี และ ข้อเสีย ของร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ แต่ข้อมูลเหล่านั้นก็นับได้ว่า น้อยมาก ครับ จริงๆแล้ว เจ้าภาพ ควรจะต้องดำเนินการให้ข้อมูลกับประชาชนให้มากกว่านี้ ซึ่งจนถึงวันนี้ผมยังไม่ทราบเลยว่าใครคือ เจ้าภาพ ที่แท้จริงของการออกเสียงประชามติระหว่าง คมช. รัฐบาล สสร. และกกต. เพราะผมเห็นทั้ง 4 องค์กรต่างก็เข้ามามี บทบาท ในการออกเสียงประชามติครั้งนี้กันทั้งนั้น ตามความเข้าใจของผมนั้น สสร. ควรออกมาเป็นเจ้าภาพในฐานะที่เป็น เจ้าของร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะนำมาเสนอให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ในฐานะเจ้าภาพ สสร.คงต้องจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นในร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางทั้งในรูปแบบของการอภิปราย การบรรยาย และการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่ถูกทำให้ ง่าย แก่การเข้าใจของประชาชน จริงอยู่ที่ในปัจจุบัน สสร.ก็ดำเนินการต่างๆอยู่บ้าง แต่หากจะถามว่าเพียงพอหรือไม่ก็คงตอบได้ไม่ยากว่าไม่เพียงพอ เพราะแม้ขนาดส่วนตัวผมเองที่เป็นข้าราชการ เป็นนักกฎหมาย และอยู่ในสถานะที่จะได้ข้อมูลต่าง ๆได้อย่างง่ายดาย ผมยังไม่เคยได้รับเอกสารใดๆที่อธิบายถึงข้อดีหรือข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญเลยครับ ก็ไม่ทราบว่า สสร. มองเรื่องการให้ข้อมูล ง่ายๆ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนอย่างไรบ้างครับ ส่วนรัฐบาลกับกกต.นั้น ควรวางตัวเป็นกลางในการออกเสียงประชามติเพราะในทางนิตินัยนั้นรัฐบาลไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับร่างรัฐธรรมนูญ ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ค่อยเป็นกลางและไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนเท่าใดนัก ลองพิจารณาดูจากคำพูดที่วันหนึ่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยให้ข้อมูลกับประชาชนว่ารัฐธรรมนูญทั่วโลกล้วนมาจากการปฏิวัติรัฐประหารทั้งนั้น จะว่าถูกก็ถูกครับ แต่ไม่ใช่เรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะต้องออกมาพูด และนอกจากนี้แล้ว หากยังคิดจะพูดก็ควรจะต้องพูดให้จบโดยต้องให้ข้อมูลต่อไปด้วยว่า รัฐธรรมนูญทั่วโลกล้วนมาจากการปฏิวัติรัฐประหารโดยประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือรับไม่ได้กับการปกครองในระบอบเดิมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยครับ ไม่ใช่การปฏิวัติรัฐประหารโดยทหารเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตยนะครับ ท่านนายกรัฐมนตรี!!!!! ส่วนกกต.เองก็มีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาจาก สสร. ให้เป็นผู้จัดให้มีการออกเสียงประชามติ กกต.จึงต้องออกมาให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติกับประชาชน ไม่ใช่ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะตามมากากร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากการลงประชามติครับ! และสำหรับคมช. นั้นยิ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรใหญ่ ที่ถูกควรสงบนิ่งอยู่เฉย ๆไม่ควรออกมาให้ความเห็นใด ๆทั้งสิ้น แค่ทำรัฐประหารและอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ก็ หนักหนาสาหัส พออยู่แล้วครับ !!!
ข้อสรุปสำหรับบทบรรณาธิการครั้งนี้คงอยู่ที่ว่า เราจะแสดงความเห็นอย่างไรดีกับการออกเสียงประชามติในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม นี้ครับ ผมเห็นว่า เรา คนไทย คงไม่มีทางเลือกอะไรมากมายนัก หากเราให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็หมายความว่า เราต้องยอมรับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รวมถึงมาตราสุดท้าย คือร่างมาตรา 309 ของร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าใครเป็นผู้เสนอหรือผู้สั่งการให้นำมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ!!!!) ที่ให้ความชอบธรรมกับการทำรัฐประหาร และการดำเนินการต่างๆอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าหากเราไม่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป เพราะฟังจากทั้งนายกรัฐมนตรีและประธาน คมช. แล้วก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่า เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับไหน จะแก้ไขประเด็นใดบ้าง ผมคิดว่า เรากำลังไปถึง ทางตัน สำหรับอนาคตทางการเมืองของคนไทยและประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งแล้วครับ
อยากฝากไว้เป็นประเด็นสุดท้ายถึงผู้เกี่ยวข้องด้วยว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน และ ครม.กับ คมช.นำเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อประกาศใช้บังคับต่อไป กรุณาอย่านำเอาข้อความในร่างมาตรา 309 ที่สร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหารใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญนะครับ ผมไม่รู้จะตอบตัวเอง ตอบลูกศิษย์ และแม้กระทั่งตอบคนต่างชาติยังไงถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีมาตราดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย น่าอายครับ! รัฐธรรมนูญไม่ใช่ที่ ๆ จะนำบทบัญญัติที่มีผลเป็นการรับรองการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยมาใส่เอาไว้ครับ
หนังสือ รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub.law.net เล่ม 6 เริ่มทยอยส่งไปให้กับผู้ใช้บริการที่ขอมาแล้วนะครับ ใครต้องการมีไว้เป็นเจ้าของก็รีบ ๆติดต่อมานะครับ
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้เขียนบทความใหม่เรื่อง สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย: สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการเมือง ครั้งที่2 (กรณีศึกษา case study : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่สอง (พ.ศ. 2550))" เนื่องจากบทความดังกล่าวเป็นบทความขนาดยาวมาก ผมจึงได้นำลงเผยแพร่ล่วงหน้าไปก่อนบางส่วน และในครั้งนี้ก็ได้นำบทความอีกส่วนมาผนวกรวมเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้า หากผู้เขียนได้เขียนบทความต่อไปอีกก็จะค่อยๆนำทยอยลงต่อไปเรื่อยๆนะครับ ใครสนใจก็หมั่นเข้ามาดูบ่อยๆนะครับ นอกจากบทความขนาดยาวบทความนี้แล้ว เรายังมีบทความที่น่าสนใจมานำเสนออีก บทความหนึ่งคือ บทความของคุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์ เรื่อง ปํญหาการแสวงข้อเท็จจริงแห่งคดีในกระบวนวิธีพิจารณาคดีปกครอง ครับ ก็ต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2550 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|