หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 158
16 เมษายน 2550 01:45 น.
ครั้งที่ 158
       สำหรับวันจันทร์ที่ 16 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน 2550
       
       “การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส (2)”
       
       ผมอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสได้ 2 สัปดาห์แล้วครับ และก็ได้บรรยายที่สถาบันการศึกษาด้านการเมือง (Institut d’Etudes Politiques) แห่งเมือง Aix-en-Provence และที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Paul Cézanne Aix-Marseille III ไปหลายครั้งแล้ว ผมคงอยู่ที่ฝรั่งเศสอีก 2 สัปดาห์จึงค่อยกลับประเทศไทย อยู่ห่างจากเมืองไทยแม้จะไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารด้านการเมืองและการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างใกล้ชิด แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบ Internet ไร้สายที่นี่ดีมาก ๆ ผมเลยมีโอกาสได้ติดตามข่าวคราวผ่าน website ต่าง ๆ อยู่บ้างก็เลยไม่ค่อย “ตกข่าว” ที่เกี่ยวข้องกับบ้านเราเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะข่าวการร่างรัฐธรรมนูญครับ
       เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็นที่เกิดขึ้น ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย ซึ่งผมก็คงต้องขอออกมาใช้สิทธิเสนอความเห็นบ้าง และถึงแม้ว่าความเห็นของผมจะถูก “เพิกเฉย” จากบรรดา “คนเก่ง” ทั้งหลาย แต่ด้วย “สำนึก” ของความเป็น “นักวิชาการที่ดี” จึงต้องพยายามทำหน้าที่ต่อไป อย่างน้อยก็เป็นการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ให้กับผู้ใช้บริการ website นี้ครับ
       เรื่องแรกคือ เรื่องผู้รักษาการแทนรัฐบาลนั้น มีผู้เสนอความเห็นกันมากมาย สรุปความได้ว่า หากมีการยุบสภาหรือหากสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ รัฐบาลที่ทำหน้าที่อยู่ในขณะนั้นไม่ควรอยู่ในฐานะรัฐบาลรักษาการต่อไปจนกว่ารัฐบาลใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้เนื่องมาจากเกรงว่ารัฐบาลรักษาการจะใช้อำนาจของตนเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองของตนหรือให้พวกพ้องของตนในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น รวมไปถึงการกำหนดนโยบายหรือใช้งบประมาณเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองด้วย ผมไม่ทราบแน่ชัดว่าตกลงแล้วประเด็นนี้จบลงอย่างไร เพราะฝ่ายที่เสนอนั้นก็ไม่มีเหตุผลทางวิชาการมาสนับสนุนอะไรเลยนอกจากจะ “ไม่อยาก” ให้รัฐบาลรักษาการอยู่ในตำแหน่ง จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยที่จะหาเหตุผลทางวิชาการมาสนับสนุน  การศึกษาจากประสบการณ์ต่างประเทศก็เป็นวิธีการหนึ่งครับ  ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ที่เก่งเหลือเกินกันทั้งนั้น ผู้ที่จบกฎหมายมหาชนจากฝรั่งเศสหรือผู้ที่เรียนหรือทำวิจัยเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นควรจะต้องทราบว่า ในฝรั่งเศสนั้นมีระบบตั้ง “ผู้รักษาการ” แทน “สภาเทศบาล” ที่ว่างลงเนื่องมาจากการยุบสภาหรือจากการที่สมาชิกสภาเทศบาลลาออกทั้งคณะหรือจากการที่ศาลปกครองเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล การกำหนดให้มี “ผู้รักษาการ” มีเหตุผลสำคัญคือ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบในระหว่างรักษาการ โดยประมวลกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่นของฝรั่งเศสได้บัญญัติในเรื่องดังกล่าวไว้หลายมาตรา สรุปความได้ว่า ในกรณีที่มีการยุบสภาเทศบาลหรือสมาชิกสภาเทศบาลลาออกทั้งคณะหรือในกรณีที่มีการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลทุกคนหรือในกรณีที่สภาเทศบาลไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ให้มีคณะผู้แทนพิเศษ (une délégation spéciale) ทำหน้าที่สภาเทศบาลแทน โดยคณะผู้แทนพิเศษดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งจากตัวแทนของรัฐประจำจังหวัด (เทียบเท่ากับผู้ว่าราชการจังหวัดของไทย) ภายใน 8 วัน นับแต่วันที่มีการยุบสภาเทศบาลหรือนับแต่วันที่มีการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล หรือนับแต่วันที่มีการรับทราบว่าไม่สามารถจัดให้มีสภาเทศบาลได้ เมื่อมีการแต่งตั้งคณะผู้แทนพิเศษแล้วคณะผู้แทนพิเศษจะต้องเลือก “ประธาน” ขึ้นมาคนหนึ่งจากบรรดาสมาชิกของคณะผู้แทนพิเศษ  คณะผู้แทนพิเศษทำหน้าที่สภาเทศบาลในขณะที่ประธานคณะผู้แทนพิเศษทำหน้าที่นายกเทศมนตรี มีข้อยกเว้นของการใช้อำนาจของคณะผู้แทนพิเศษว่า สามารถใช้อำนาจได้เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามปกติทั่วไปของเทศบาลที่เป็นเรื่องเร่งด่วนเท่านั้น กฎหมายห้ามคณะผู้แทนพิเศษเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเงินและงบประมาณของเทศบาลและของนายกเทศมนตรี รวมทั้งห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องบุคลากรและระบบการศึกษาในเขตเทศบาลดังกล่าวด้วย และนอกจากนี้กฎหมายยังได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานของคณะผู้แทนพิเศษไว้ด้วยว่า เทศบาลที่มีคณะผู้แทนพิเศษจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 2 เดือน นับแต่วันที่สภาเทศบาลชุดเก่าพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุต่าง ๆ ที่กล่าวไปแล้วข้างต้นครับ จากตัวอย่างของกรณีเทศบาลของฝรั่งเศสนี้เอง ที่เราสามารถนำมา “ประยุกต์” หรือ “ปรับใช้” กับกรณีการตั้ง “ผู้รักษาการชั่วคราว” แทนรัฐบาลรักษาการได้ครับ
       เรื่องต่อมาก็คือเรื่อง องค์กรที่จะมาแก้ไขวิกฤตทางการเมือง ที่มีข้อเสนอว่าให้มีการประชุมร่วมของประมุขฝ่ายต่าง ๆ เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาในกรณีประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤตคับขันหรือเกิดสถานการณ์จำเป็น จริง ๆ แล้วในรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปต่างก็บัญญัติถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศไว้โดยมีสาระและรูปแบบที่ต่างกัน  ในที่นี้ผมขอสรุปว่ามี 2 ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ คือ องค์กรที่จะใช้อำนาจดังกล่าวและขั้นตอนในการใช้อำนาจดังกล่าว ผมขอยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศสที่มาตรา 16 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติไว้ให้ประธานาธิบดีเป็นผู้ใช้อำนาจใด ๆ ก็ได้แม้จะไม่มีกฎหมายให้อำนาจหรือเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อกฎหมายในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยมีขั้นตอนที่สำคัญคือ ต้องปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก่อนที่จะใช้มาตรการดังกล่าว รวมทั้งต้องแถลงให้ประชาชนทราบก่อนการใช้อำนาจด้วยครับ ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า การใช้อำนาจในสถานการณ์พิเศษนี้ต้องได้รับการรับรู้ร่วมกัน ทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และจากภาคประชาชนด้วยครับ ใครสนใจลองศึกษาดูนะครับ นอกจากฝรั่งเศสแล้วยังมีอีกหลายประเทศในยุโรปที่มีการให้อำนาจพิเศษกับองค์กรหรือบุคคลในการแก้ไขปัญหาของประเทศครับ
       เรื่องที่สามคือเรื่อง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ผมสนับสนุนความเห็นที่จะมีการบัญญัติเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่คงต้องศึกษารายละเอียดดูเพราะมีหลายประเทศเหลือเกินที่บัญญัติเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไว้ในรัฐธรรมนูญ และแต่ละประเทศก็บัญญัติไว้ไม่เหมือนกันครับ ประเทศที่ใช้นโยบาย “ชาตินิยม” หน่อยก็กำหนดห้ามทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไว้ในรัฐธรรมนูญ บางประเทศแม้ให้ทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้แต่ก็ห้ามขายหุ้นรัฐวิสาหกิจให้กับคนต่างชาติ ที่ผมคิดว่าน่าจะดีที่สุดและเพียงพอที่สุดสำหรับประเทศไทยในขณะนี้ก็คือ ควรกำหนดให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องทำเป็นพระราชบัญญัติครับ แค่นี้ก็คงเพียงพอแล้วสำหรับการวางกลไกที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ
       เรื่องสุดท้ายที่จะพูดก็คือ เรื่องที่มีผู้เสนอกว่าให้กำหนดความผิดฐานทรยศต่อประเทศชาติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ  โดยอ้างถึงบทบัญญัติดังกล่าวที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส ประเด็นนี้ผมอดคิดถึงที่ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบรูณ์ ได้กล่าวถึงบ่อย ๆ ถึง “ความล้าหลังทางวิชาการ” ของนักวิชาการไทยไม่ได้ครับ! ผมไม่อยากวิจารณ์ “ใคร” ทั้งนั้น เพราะก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าที่ยกประเด็นต่าง ๆ มาพูดนั้นมีน้อยคนนักที่จะ “อ่าน” จากต้นฉบับของจริงและศึกษาประเด็นอย่างละเอียด ส่วนใหญ่ที่เห็นก็คือ “จำเขามาพูด” บ้างหรือ “ไปอ่านจากที่ต่างๆที่เขาแปลกันมา” แล้วก็ “เอามาพูดต่อ” บ้าง คงต้องขอ “แนะนำ” กันหน่อยนะครับว่า นักวิชาการที่ดีต้องศึกษาประเด็นต่าง ๆ ให้ละเอียดรอบคอบจากฐานข้อมูลหลัก (primary source) ครับ ซึ่งประเด็นเรื่องการทรยศต่อประเทศอย่างร้ายแรง (haute trahison) ของประเทศฝรั่งเศสที่มีผู้เสนอนั้น ถ้าติดตามอย่างใกล้ชิดก็จะพบว่า มีข้อเสนอของศาสตราจารย์ Pierre Avril ในฐานะประธานกรรมาธิการการศึกษาเรื่องโทษทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 แล้ว และเมื่อต้นปี ค.ศ. 2007 นี้เอง ที่ประเทศฝรั่งเศสได้แก้รัฐธรรมนูญใหม่โดย “ยกเลิก” ฐานความผิดเรื่องการทรยศต่อประเทศไปแล้วครับ !!! เหตุผลในการแก้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 2007 นี้เป็นไปตามข้อเสนอของศาสตราจารย์ Avril ในปี ค.ศ. 2002 ครับ ถ้าจะ “อ้าง” ว่าอ่านภาษาต่างประเทศไม่ออก เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม นักศึกษาระดับปริญญาเอกคนหนึ่ง ก็ได้เขียนบทความเรื่อง “ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส” มาลงใน www.pub-law.net ด้วย ซึ่งก็ได้อธิบายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสเมื่อต้นปี ค.ศ. 2007 เอาไว้ด้วยครับ ต้องขยันหาความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมกันหน่อยนะครับ จะได้ไม่ “เผลอ” นำเสนอ “สิ่งที่เขาเลิกใช้ไปแล้ว” เพราะว่า “มีปัญหามากเหลือเกิน” มาใช้ในรัฐธรรมนูญของไทยครับ !!!
       ก็คงต้องขอจบเรื่องรัฐธรรมนูญไทยไว้เพียงเท่านี้นะครับ กลับมาดูเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสกันดีกว่าครับ เมื่อวันจันทร์ที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นวันแรกของการเริ่มต้นหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ  การหาเสียงจะสิ้นสุดลงในตอนเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 20 เมษายน และการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายนนี้ครับ  การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในครั้งนี้มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 12 คน การหาเสียงของผู้สมัครทุกคนต้องเป็นไปตามที่รัฐกำหนดและรัฐให้การสนับสนุนซึ่งทุกอย่างก็ตั้งอยู่บนหลักว่าด้วยความเสมอภาค กล่าวคือ รัฐได้จัดสรรเวลาการออกอากาศทั้งทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุให้ผู้สมัครทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ คนละ 45 นาที นอกจากนี้รัฐยังจัดส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัครทุกคนให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง  รวมไปถึงการปิดประกาศโฆษณาหาเสียงให้ที่หน้าหน่วยลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทุกหน่วยด้วย  การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้มีการหาเสียงส่วนหนึ่งที่ผมเห็นว่า “แปลก” คือผู้สมัครรายใหญ่หลายคนออกหนังสือของตนเองที่เขียนถึง “อนาคต” ของประเทศที่ควรจะเป็นเอาไว้ ซึ่งก็คือการนำเสนอนโยบายทางการเมืองของตนโดยผ่านข้อเขียนทางวิชาการอันเป็นการเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งนั่นเองครับ  มากไปกว่านั้นผู้สมัครบางคนยังลงทุนเดินทางไปตามเมืองใหญ่ ๆ เพื่่อแนะนำหนังสือของตนเอง และเซ็นต์ชื่อในหนังสือให้แก่้ผู้ซื้อหนังสือด้วย นี่คืออีกรูปแบบหนึ่งของการหาเสียงเลือกตั้งที่ไม่แน่ว่าในวันข้างหน้าจะมีผู้นำมาใช้ในบ้านเราหรือเปล่า และถึงจะมีผู้นำมาใชั ก็ไม่แน่ว่าจะได้ผลหรือไม่ เพราะเราไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือกันครับ แต่ถึงจะชอบอ่านก็ไม่แน่ว่านักการเมืองของเราจะผลิตหนังสือที่มีสาระดี ๆ ได้หรือไม่ เพราะนักการเมืองของเรากับของเขานั้นต่างกันมาก โดยเฉพาะในด้านคุณวุฒิทางการศึกษาและประสบการณ์ทางการเมืองการปกครองที่แต่ละคนก็สะสมกันมานานไม่ต่ำกว่า 20 ปี ครับ!
       ประเด็นการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของเขาก็ไม่แตกต่างจากของเราเท่าไรนัก มีการยกเอา “ข้อบกพร่อง” ของทั้งประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งรวมทั้งข้อบกพร่องของรัฐบาลมาวิจารณ์และเสนอแนวทางในการแก้ไข รวมทั้งนำเสนอนโยบายประชานิยมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อโน้มน้าวจิตใจประชาชนให้มาเห็นดีเห็นงามไปกับตนด้วย ข้อเสนอต่าง ๆ มีมากมายจนกระทั่งอดีตประธานาธิบดี Valérie Giscard d’Esteing ต้องออกมา “ชี้แนะ” ให้กับประชาชนว่า ประชาชนฟังข้อเสนอเหล่านั้นได้ รับทราบได้ แต่อย่าเชื่อ เพราะสิ่งที่ผู้สมัครหลายคนเสนอนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้เนื่องจากไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีที่จะทำหรือจัดให้มีครับ ! ดู ๆ แล้วก็ไม่ต่างอะไรจากบ้านเราเท่าไรนัก โดยเฉพาะในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาที่ผู้สมัครทุกคนเสนอการแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานครหลาย ๆ วิธี แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่มีใครสามารถทำได้ เพราะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้นครับ
       มีข้อเสนอของผู้สมัครหญิงคนหนึ่งที่ว่ากันว่า “อาจจะ” มีโอกาสใด้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฝรั่งเศสได้ ข้อเสนอนั้นก็คือ การนำประเทศฝรั่งเศสเข้าสู่สาธารณรัฐที่ 6 ครับ
       คงเป็นเรื่องยุ่งยากและยาวนานพอสมควรที่จะอธิบายถึงการเกิดขึ้นของแต่ละสาธารณรัฐของฝรั่งเศส ผมขอสรุปง่าย ๆ ว่า ปัจจุบันฝรั่งเศสอยู่ในสาธารณรัฐที่ 5 การเกิดขึ้นของสาธารณรัฐที่ 5 ก็เนื่องมาจากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนและปรับปรุงระบอบการปกครองของประเทศใหม่ในปี ค.ศ. 1958 ให้แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิม การที่จะเปลี่ยนจากสาธารณรัฐที่ 5 ไปสู่สาธารณรัฐที่ 6 นั้นหมายความว่า “น่าจะ” มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีสาระแตกต่างไปจากฉบับเดิมอย่างมากจนต้องเข้าสู่สาธารณรัฐใหม่กันเลยทีเดียวครับ
       อะไรคือสาระสำคัญที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงไปมากจนถึงขนาดที่ต้องนำประเทศเข้าสู่สาธารณรัฐที่ 6 สำหรับผู้สนใจและผู้เคยอ่านรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสก็จะพบว่ารัฐธรรมนูญประเทศฝรั่งเศสเป็นรัฐธรรมนูญที่สั้นและค่อนข้าง “แข็งกระด้าง” บทบัญญัติจำนวนไม่ถึง 100 มาตรากล่าวถึงแต่เรื่องโครงสร้างต่าง ๆ ของรัฐและการดำเนินงานขององค์กรของรัฐ ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ที่มักจะมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของพลเมืองเอาไว้ด้วย เนื่องมาจากในรัฐสมัยใหม่นั้นประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศมากกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้เองรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปัจจุบันที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ.1958 เพื่อแก้ปัญหาการเมืองของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลในขณะนั้น จึงกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ “ล้าสมัย” ในวันนี้ เพราะขาดบทบัญญัติว่าด้วยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ดังนั้นผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีรายนี้จึงได้นำเสนอรูปแบบการปกครองประเทศที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบพลเมืองมีส่วนร่วม (la démocratie participative) ครับ
       อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลาย ๆ คนคงนึก “ภูมิใจ” กับรัฐธรรมนูญของไทยว่า “ทันสมัย” กว่ารัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ก็ถูกครับเพราะตั้งแต่ปีค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) แล้วที่รัฐธรรมนูญของไทยเรานั้นเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของพลเมืองในทางการเมืองหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชื่อเสนอกฎหมายในระดับชาติ  การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น  การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น  รวมไปถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยครับ
       ผมซื้อหนังสือเกี่ยวกับสาธารณรัฐที่ 6 และประชาธิปไตยแบบพลเมืองมีส่วนร่วมมาหลายเล่ม เมื่อใดที่อ่านจบก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ แต่ตอนนี้คงต้องรอดูกันต่อไปว่า หากผู้สมัครหญิงดังกล่าวได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดี จะทำอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเท่าที่ทราบในการหาเสียงเธอได้กล่าวว่า หากได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีก็จะรีบดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (un conseil consultatif constituant) ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนของสมาชิกรัฐสภา  ตัวแทนของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม  ตัวแทนของนักการเมืองท้องถิ่น  นักกฎหมายมหาชนด้านรัฐธรรมนูญ  และตัวแทนของภาคประชาชนที่จะมาจากการจับฉลาก (tirage au sort) แบบเดียวกับที่ใช้ในระบบประชาธิปไตยดั้งเดิมของเอเธนส์ครับ ผู้สนใจก็ต้องคอยติดตามความคืบหน้ากันต่อไปครับ
       ผมยังอยู่ที่ฝรั่งเศสอีกสองสัปดาห์ เพราะฉะนั้น บทบรรณาธิการครั้งหน้าผมคงจะนำบรรยากาศของการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสมาเล่าให้ฟังต่อไปครับ เพราะวันเลือกตั้้งผมยังอยู่ที่ฝรั่งเศสครับ
       เรามีบทความจำนวน 2 บทความมานำเสนอในครั้งนี้ บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “A Coup for the Rich” ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง และบทความที่สองคือบทความเรื่อง “จากรัฐประหารสู่ประชามติ : ปัญหาและข้อคิดบางประการสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ของ อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ครับ ผมขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้ง 2 ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       คงไม่สายเกินไปที่จะอวยพรวันสงกรานต์นะครับ ขอให้ผู้ใช้บริการ www.pub-law.net ทุกคนพร้อมครอบครัวและผู้ใกล้ชิดมีความสุขกาย สบายใจ มีสุขภาพที่ดี และประสบความสำเร็จสมปรารถนาทุกประการตลอดไปครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544