หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 157
2 เมษายน 2550 00:25 น.
ครั้งที่ 157
       สำหรับวันจันทร์ที่ 2 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน 2550
       
       “การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส”
       
       ผมมาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่วันพุธที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาและจะอยู่ที่นี่ตลอดเดือนเมษายนครับ ผมมาฝรั่งเศสในครั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวกับทุกๆปีที่ผ่านมาคือผมได้รับเชิญไปเป็น visiting professor ที่มหาวิทยาลัย Paul Cézanne Aix-Marseille 3 ครับ
       ก่อนที่ผมจะเดินทางมายังประเทศฝรั่งเศสคือ เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ถึงวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับราชบัณฑิตยสถานได้จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง “ประชาธิปไตยกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและความรับผิดชอบ : มุมมองเชิงเปรียบเทียบ” ที่โรงแรมรอยัลคลิฟบีชรีสอร์ท เมืองพัทยา ชลบุรี โดยมีการเชิญนักวิชาการจากต่างประเทศหลายคนมาอภิปรายให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฟัง ผมไม่ได้ไปร่วมในการสัมมนาครั้งนี้เนื่องจากเดินทางไปราชการที่ภาคใต้ แต่ผมมี “เพื่อน” คนหนึ่งคือ Professor Thierry Renoux แห่งมหาวิทยาลัย Paul Cézanne Aix-Marseille 3 ได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรในการสัมมนาครั้งนี้ด้วย ดังนั้น ในตอนเย็นวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม ผมกับเพื่อนคนนี้จึงได้นัดพบกันแล้วก็ไปทานอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร โดยเราได้พูดคุยกันกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งผมก็ได้ประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น จึงขอ “เก็บ” มาเล่าสู่กันฟังครับ
       ทั้งผมและเพื่อน เราต่างก็มีความ “กังวล” ร่วมกันในเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองของไทย เพียงแต่ความกังวลของเรานั้นต่างกันมาก ผมกังวลในฐานะที่เป็น “คนไทย” คนหนึ่งที่กำลังจะได้ “รัฐธรรมนูญ” ที่ “น่ากังวล” ในขณะที่เพื่อนผมซึ่งเป็น “ฝรั่ง” และเป็น “นักกฎหมายมหาชน” ที่ “เข้าใจ” และ “อยู่กับ” ระบบประชาธิปไตย “แท้ ๆ” มาเป็นเวลานาน รวมทั้งยังรู้เรื่องประเทศเราพอสมควรก็ “กังวล” ว่าคนไทยที่ได้ “สูญเสีย” ประชาธิปไตย “แท้ ๆ” ไปเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมาและหวังว่าจะได้ “ประชาธิปไตยแท้ ๆ” ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะ “ฝันสลาย” เพราะสิ่งที่กำลังจะได้กับความเป็นประชาธิปไตยนั้น เป็นคนละเรื่องกันครับ!!!
       มาไล่กันทีละเรื่อง เริ่มจากสิ่งที่ “ฝรั่ง” พบก่อน 3-4 วันที่อยู่ในเมืองไทยและได้อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่ง ฝรั่งก็ตั้งคำถามว่า ทำไมอีก 1 เดือนรัฐธรรมนูญจะร่างเสร็จ แต่ความสนใจของคนไทยที่ได้ยินและได้อ่านจากหนังสือพิมพ์ จึงยัง “วนเวียน” อยู่กับเรื่อง “เล็ก ๆ” เช่น ศาสนาประจำชาติหรือที่มาของนายกรัฐมนตรี วันนี้สิ่งที่ประชาชนควร “ถกเถียง” กันก็คือ โครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่ “ควรจะต้อง” เสร็จแล้วและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบแล้ว ประชาชนควรดูว่า องค์กรต่าง ๆ ที่ “จะมี” นั้นเป็นอย่างไร ควรให้มีหรือไม่ เพราะ “ฝรั่ง” คิดว่า การตั้งองค์กรต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมากไม่น่าจะเกิดผลดีต่อประเทศเพราะนอกจากจะต้องเสียเงินจำนวนมากจากการ “ตั้ง” องค์กรต่างๆเหล่านั้นแล้ว กว่าที่แต่ละองค์กรจะทำงาน “เข้าที่” และ “ดี” รวมทั้ง “ไม่ขัดหรือแย้ง” กับองค์กรอื่น ๆ ก็ต้องใช้เวลานานมากด้วย ซึ่งประเด็นนี้ผมเองก็เห็นด้วยเพราะจากที่ผ่านมาเราใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 มาเกือบ 10 ปี แต่ก็ยังแก้ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ไม่ได้ ถ้าเราตั้งองค์กรใหม่ ๆ อื่นมาอีกก็คงต้องเตรียมใจกันไว้ได้เลยว่า ยุ่งแน่ ๆ ครับ
       ประเด็นเรื่อง “ความยาว” ของรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เรามีความกังวลร่วมกัน ผมทั้งขำทั้งเศร้าใจที่มีผู้ออกมาพูดอย่างภาคภูมิใจเสียเหลือเกินว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีความยาวถึง 500 มาตรา ลองไปสำรวจดูก่อนนะครับว่ามีประเทศที่ “พัฒนาแล้ว” ประเทศใดบ้างที่มีรัฐธรรมนูญยาวเกินกว่า 200 มาตรา หายากครับ แต่ถ้าไปดูรัฐธรรมนูญของประเทศแถว ๆ อเมริกาใต้ก็จะพบความ “เหมือน” กับรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะมีของเรา เพื่อนผมบอกว่า ถ้าคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จะให้ผมสอนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความยาวมาก ๆ ขนาดนั้น (ซึ่งก็คงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเพราะผมไม่ใช่ “คนเก่ง” ที่ไปร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทยครับ!!!) ผมคงต้องลาหยุดงานสัก 1 ปีไปศึกษารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนจึงจะสอนได้ครับ ตลกไม่ออกนะครับ!
       ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเด็นนี้มองตรงกันครับว่า การเขียนรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ต้องใช้ผู้ชำนาญจริง ๆ นะครับ รัฐธรรมนูญถึงจะออกมาดีได้ ผมมีข้อสังเกตว่าตอนนี้มีป้ายโฆษณาเต็มเมืองเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ผมไม่รู้ว่าเป็นฉบับประชาชนตรงไหนกันครับ! นอกจากประชาชนจะถูก “หลอก” ให้ไปออกเสียงประชามติในตอนจบจึงจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไปได้ เพื่อนผมบอกว่า ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ก็ต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนก่อน รวมทั้งต้อง rationalize คือ มีเหตุผลที่ดีด้วย เมื่อประชาชนรับข้อมูลและเข้าใจรัฐธรรมนูญพอที่จะตัดสินใจรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญได้ นั่นแหละครับที่จะถือได้ว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญ
       จริง ๆ แล้วเราคุยกันอีกหลายประเด็น แต่บางประเด็นก็ไม่สมควรเล่าให้ฟังเพราะไม่เหมาะสมและไม่สุภาพเท่าไรนัก ก่อนจบเรื่องนี้ผมอยากจะฝากไว้ถึงบรรดา “คนเก่ง” ที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญอยู่ว่า จากที่ปรากฎเป็นข่าวออกมาในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาถึงประเด็นที่เขียนบทนิรโทษกรรมผู้ทำรัฐประหารไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรก็ตาม ผมมองว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นประเด็นที่ “สนับสนุน” ความเห็นดั้งเดิมของผมที่ได้นำเสนอไปนานแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 นั้นเป็น “รัฐธรรมนูญเฉพาะกิจ” ที่ทำขึ้นเพื่อ “แก้เก้อ” คณะรัฐประหารที่ทำรัฐประหารแล้วไม่รู้จะทำอย่างไรให้เกิดความชอบธรรมให้กับการกระทำของตนเองจึงต้องฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ทิ้ง ผมมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นเพื่อ “แก้ปัญหาของการรัฐประหาร” มากกว่าการ"แก้ปัญหาของประเทศ" น่าแปลกใจกับผู้ที่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวที่มีบางคนเรียกตัวเองว่าเป็นนักกฎหมายมหาชน แต่กลับไม่ “เข้าใจ” เลยว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร ประชาธิปไตยคืออะไร ถ้าใส่บทบัญญัติดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ถ้ารัฐธรรมนูญยาวกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 รัฐธรรมนูญที่คุยนักคุยหนาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับใหม่นี้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่นักวิชาการและผู้มีความเข้าใจในระบบประชาธิปไตยในต่างประเทศคงงงมากว่า เรากำลังทำอะไรกันอยู่ ใส่อะไรกันไว้เลอะเทอะไปหมด แถมยังมีบทเฉพาะกาลที่ยกเว้นความผิดให้กับผู้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน(ของแท้) อีกด้วยครับ! ที่ถูกและเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ที่ควรมีในบทเฉพาะกาลก็คือ กำหนดให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่มีที่มาจากประชาชนจริง ๆ มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ดีจริง ๆ แล้วก็ให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นั่นจึงเป็นสิ่งที่ดี เป็นประชาธิปไตยและเป็นผลงานชิ้นโบแดงของสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ “รู้ซึ้ง” ถึงความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงและ “ไม่ยอมรับ” สิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจนอกระบบครับ
       ในขณะที่เมืองไทยกำลังวุ่นวายอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญ ฝรั่งเศสเองกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ บทบรรณาธิการครั้งนี้และครั้งถัดไปจึงต้องขอ “เว้นวรรค” จากเรื่องยุ่งๆของรัฐธรรมนูญและการเมืองของไทยกันไว้ก่อน ผมจะขอเล่าให้ฟังถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศฝรั่งเศสครับ
       มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ.1958 บัญญัติไว้ว่า ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐต้องดูแลให้มีการเคารพในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และจะต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ดูแลการดำเนินการของสถาบันการเมืองแห่งรัฐให้เป็นไปโดยปกติและให้มีความต่อเนื่องของรัฐ นอกจากนี้แล้ว ประธานาธิบดีก็ยังเป็นผู้ประกันความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดนและการเคารพต่อสนธิสัญญาต่าง ๆ ด้วยบทบัญญัติในมาตรา 5 นี้เองที่ทำให้ประธานาธิบดีเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดของประเทศฝรั่งเศส
       ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้รับการเลือกตั้งโดยการออกเสียงเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนและมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่งเดิมเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1958 ประกาศใช้บังคับนั้น ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยอ้อม แต่ต่อมา ในปี ค.ศ.1962 ก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนสามารถออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีได้โดยตรง เช่นเดียวกับกรณีวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีที่ได้รับการแก้ไขจาก 7 ปีไปเป็น 5 ปีเมื่อปี ค.ศ.2000 ที่ผ่านมานี่เอง
       ผู้มีสิทธิสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้แก่ พลเมืองฝรั่งเศสที่มีอายุเกินกว่า 23 ปี และไม่มีข้อผูกพันด้านการทหาร ผู้สมัครที่เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องมีเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 500 เสียงจากพลเมืองอย่างน้อย 30 จังหวัด (département) โดยมีข้อห้ามว่าจะมีผู้สนับสนุนเกินกว่าจังหวัดละ 10 เสียงไม่ได้ ผู้สมัครจะต้องรวบรวมเสียงสนับสนุนดังกล่าวเสนอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Conseil Constitutionnel) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีตามแบบที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2007 เวลา 18.00 น. เป็นวันปิดรับคำเสนอดังกล่าว จากนั้นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะทำการตรวจสอบคำเสนอว่า เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและตามกฎเกณฑ์ที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วางไว้หรือไม่ ในวันที่ 6 เมษายน 2007 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในรัฐกิจจานุเบกษา (le Journal Officiel) โดยในช่วงระยะเวลาก่อนที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะประกาศรายชื่อนั้น ผู้ที่พบว่าผู้สมัครรายใดมีคุณสมบัติไม่ตรงตามกฎหมายก็สามารถคัดค้านได้ และในวันที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกาศรายชื่อผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้สมัครทุกคนจะต้องส่งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เฉพาะบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเท่านั้นที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะประกาศในรัฐกิจจานุเบกษาภายหลังจากที่ได้มีการประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแล้ว โดยจะทำเป็นประกาศต่อท้ายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
       การหาเสียงเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่มีการประกาศรายชื่อผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไปจนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันศุกร์ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งแต่ละรอบซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ เที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2007 สำหรับการเลือกตั้งรอบแรก และเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2007 สำหรับการเลือกตั้งรอบที่สอง การหาเสียงเลือกตั้งประกอบด้วยหลักใหญ่ ๆ 2 หลักคือ
       • ความเสมอภาคในบรรดาผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากผู้สมัครทุกคนมิได้มีฐานะทางการเงินและความสามารถที่จะสื่อสารแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน รัฐจึงให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สมัครทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถ้าประธานาธิบดีคนปัจจุบันจะสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยหน้า ก็จะต้องเคารพกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหมือนผู้สมัครรายอื่นและมีสิทธิได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐเช่นเดียวกับผู้สมัครรายอื่นคือ สามารถใช้วิทยุโทรทัศน์ในการหาเสียงตามเวลาที่รัฐจัดสรรให้ ได้รับความช่วยเหลือในการจัดทำเอกสารในการหาเสียงไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ แผ่นพับ จดหมายหาเสียงที่รัฐจะจัดส่งให้แก่ประชาชนทุกคน
       • รัฐจะชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเรื่องตั้งให้แก่ผู้สมัครทุกคนที่ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นการช่วยเหลือด้านการเงินให้แก่ผู้สมัครที่ได้ใช้ไปในระหว่างการหาเสียงของตน ซึ่งเงินที่รัฐจะชดใช้ให้นี้เป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง โดยผู้สมัครจะต้องจัดส่งบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของตนให้แก่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน หลังจากที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในรัฐกิจจานุเบกษา
       ระบบการเลือกตั้ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสใช้ระบบการเลือกตั้งโดยตรง (suffrage universel direct) โดยประชาชนชาวฝรั่งเศสที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ดังนั้น หากในการเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับเสียงเกินกว่าร้อยละ 50 ของผู้มาออกเสียง ในอีก 14 วันถัดมา ก็จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งรอบที่สอง โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งนี้กำหนดไว้ให้เป็นวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน 2007 เหตุที่กำหนดให้ ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ก็เพราะต้องการให้ผู้ที่จะมาเป็นประธานาธิบดีชนะการเลือกตั้งด้วย คะแนนเสียงส่วนใหญ่ข้างมากของประชาชน ในประเทศ เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็จะเกิดความไม่มั่นคงในการใช้อำนาจบริหารกิจการของประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดไว้ว่า ถ้าในการออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใดไม่มีผู้ได้คะแนนเสียงข้างมากเกินกว่าร้อยละ 50 ในอีกสองอาทิตย์ต่อมาซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ ในวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2007 จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งในรอบที่สองโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะประกาศรายชื่อของผู้สมัคร 2 คนแรกที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดตามลำดับในการเลือกตั้งรอบแรกให้เข้ามาเป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในรอบที่สองครับ
       ทั้งหมดนี้ก็เป็นกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสอย่างย่อ ๆ ก่อนจะจบเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ผมก็จะขอเล่าให้ฟังอีกเล็กน้อยถึงอำนาจของประธานาธิบดีฝรั่งเศสซึ่งมีอยู่มากมายตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อำนาจโดยตรง ได้แก่ เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (มาตรา 8) เป็นผู้ประกาศให้มีการออกเสียงประชามติในร่างกฎหมายสำคัญ ๆ (มาตรา 11) ยุบสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 12) ใช้อำนาจพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉิน (มาตรา 16) ส่งสาสน์แสดงเจตจำนงต่อรัฐสภา (มาตรา 18) แต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจำนวน 3 คน (มาตรา 56) และร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (มาตรา 54 และมาตรา 61) นอกจากอำนาจโดยตรงดังกล่าว ประธานาธิบดียังมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น เป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (มาตรา 9) เป็นประธานคณะกรรมการตุลาการ (มาตรา 65) เป็นประธานสภากลาโหมและเป็นจอมทัพ (มาตรา 15) ส่วนหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ข้างเคียงที่ต้องทำในฐานะที่เป็นประมุขของประเทศก็คือ การออกกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหาร การแต่งตั้งและการให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง การลงนามในรัฐกำหนดและรัฐกฤษฎีกา การแต่งตั้งข้ารัฐการพลเรือนและข้ารัฐการทหาร การแต่งตั้งทูต การประกาศใช้บังคับกฎหมาย และการอภัยโทษ เป็นต้น
       เมื่อบุคคลใดได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส บุคคลผู้นั้นไม่สามารถประกอบอาชีพใด ๆ ได้ในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
       เพื่อตอบ “โจทย์” ของคนไทยกรณีต้องการให้มี “รัฐบาลรักษาการ” ที่ไม่ใช่รัฐบาลชุดเดิมที่ครบวาระหรือที่มีการยุบสภา ในฝรั่งเศสหากผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีลาออกหรือถึงแก่อสัญกรรม รัฐธรรมนูญมาตรา 7 ก็ได้บัญญัติให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีไปพลางก่อนจนกว่าจะมีประธานาธิบดีคนใหม่ โดยประธานวุฒิสภาผู้รักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดีจะไม่สามารถยุบสภาได้และไม่สามารถนำร่างกฎหมายออกมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้
       เพื่อเป็นการสอดคล้องกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าและกับบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมขอนำเสนอบทความเรื่อง "ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส" ที่เขียนโดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม นักศึกษาระดับปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัย Paris XII สาขากฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ และนอกจากนี้ ก็ยังมีบทความเรื่อง “เดินสู่อิสรภาพ” ของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง มานำเสนออีกหนึ่งบทความ ผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 16 เมษายน 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544