|
|
ครั้งที่ 157 2 เมษายน 2550 00:25 น.
|
ครั้งที่ 157
สำหรับวันจันทร์ที่ 2 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน 2550
การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส
ผมมาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่วันพุธที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาและจะอยู่ที่นี่ตลอดเดือนเมษายนครับ ผมมาฝรั่งเศสในครั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวกับทุกๆปีที่ผ่านมาคือผมได้รับเชิญไปเป็น visiting professor ที่มหาวิทยาลัย Paul Cézanne Aix-Marseille 3 ครับ
ก่อนที่ผมจะเดินทางมายังประเทศฝรั่งเศสคือ เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ถึงวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับราชบัณฑิตยสถานได้จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง ประชาธิปไตยกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและความรับผิดชอบ : มุมมองเชิงเปรียบเทียบ ที่โรงแรมรอยัลคลิฟบีชรีสอร์ท เมืองพัทยา ชลบุรี โดยมีการเชิญนักวิชาการจากต่างประเทศหลายคนมาอภิปรายให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฟัง ผมไม่ได้ไปร่วมในการสัมมนาครั้งนี้เนื่องจากเดินทางไปราชการที่ภาคใต้ แต่ผมมี เพื่อน คนหนึ่งคือ Professor Thierry Renoux แห่งมหาวิทยาลัย Paul Cézanne Aix-Marseille 3 ได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรในการสัมมนาครั้งนี้ด้วย ดังนั้น ในตอนเย็นวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม ผมกับเพื่อนคนนี้จึงได้นัดพบกันแล้วก็ไปทานอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร โดยเราได้พูดคุยกันกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งผมก็ได้ประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น จึงขอ เก็บ มาเล่าสู่กันฟังครับ
ทั้งผมและเพื่อน เราต่างก็มีความ กังวล ร่วมกันในเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองของไทย เพียงแต่ความกังวลของเรานั้นต่างกันมาก ผมกังวลในฐานะที่เป็น คนไทย คนหนึ่งที่กำลังจะได้ รัฐธรรมนูญ ที่ น่ากังวล ในขณะที่เพื่อนผมซึ่งเป็น ฝรั่ง และเป็น นักกฎหมายมหาชน ที่ เข้าใจ และ อยู่กับ ระบบประชาธิปไตย แท้ ๆ มาเป็นเวลานาน รวมทั้งยังรู้เรื่องประเทศเราพอสมควรก็ กังวล ว่าคนไทยที่ได้ สูญเสีย ประชาธิปไตย แท้ ๆ ไปเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมาและหวังว่าจะได้ ประชาธิปไตยแท้ ๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะ ฝันสลาย เพราะสิ่งที่กำลังจะได้กับความเป็นประชาธิปไตยนั้น เป็นคนละเรื่องกันครับ!!!
มาไล่กันทีละเรื่อง เริ่มจากสิ่งที่ ฝรั่ง พบก่อน 3-4 วันที่อยู่ในเมืองไทยและได้อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่ง ฝรั่งก็ตั้งคำถามว่า ทำไมอีก 1 เดือนรัฐธรรมนูญจะร่างเสร็จ แต่ความสนใจของคนไทยที่ได้ยินและได้อ่านจากหนังสือพิมพ์ จึงยัง วนเวียน อยู่กับเรื่อง เล็ก ๆ เช่น ศาสนาประจำชาติหรือที่มาของนายกรัฐมนตรี วันนี้สิ่งที่ประชาชนควร ถกเถียง กันก็คือ โครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่ ควรจะต้อง เสร็จแล้วและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบแล้ว ประชาชนควรดูว่า องค์กรต่าง ๆ ที่ จะมี นั้นเป็นอย่างไร ควรให้มีหรือไม่ เพราะ ฝรั่ง คิดว่า การตั้งองค์กรต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมากไม่น่าจะเกิดผลดีต่อประเทศเพราะนอกจากจะต้องเสียเงินจำนวนมากจากการ ตั้ง องค์กรต่างๆเหล่านั้นแล้ว กว่าที่แต่ละองค์กรจะทำงาน เข้าที่ และ ดี รวมทั้ง ไม่ขัดหรือแย้ง กับองค์กรอื่น ๆ ก็ต้องใช้เวลานานมากด้วย ซึ่งประเด็นนี้ผมเองก็เห็นด้วยเพราะจากที่ผ่านมาเราใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 มาเกือบ 10 ปี แต่ก็ยังแก้ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ไม่ได้ ถ้าเราตั้งองค์กรใหม่ ๆ อื่นมาอีกก็คงต้องเตรียมใจกันไว้ได้เลยว่า ยุ่งแน่ ๆ ครับ
ประเด็นเรื่อง ความยาว ของรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เรามีความกังวลร่วมกัน ผมทั้งขำทั้งเศร้าใจที่มีผู้ออกมาพูดอย่างภาคภูมิใจเสียเหลือเกินว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีความยาวถึง 500 มาตรา ลองไปสำรวจดูก่อนนะครับว่ามีประเทศที่ พัฒนาแล้ว ประเทศใดบ้างที่มีรัฐธรรมนูญยาวเกินกว่า 200 มาตรา หายากครับ แต่ถ้าไปดูรัฐธรรมนูญของประเทศแถว ๆ อเมริกาใต้ก็จะพบความ เหมือน กับรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะมีของเรา เพื่อนผมบอกว่า ถ้าคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จะให้ผมสอนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความยาวมาก ๆ ขนาดนั้น (ซึ่งก็คงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเพราะผมไม่ใช่ คนเก่ง ที่ไปร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทยครับ!!!) ผมคงต้องลาหยุดงานสัก 1 ปีไปศึกษารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนจึงจะสอนได้ครับ ตลกไม่ออกนะครับ!
ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเด็นนี้มองตรงกันครับว่า การเขียนรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ต้องใช้ผู้ชำนาญจริง ๆ นะครับ รัฐธรรมนูญถึงจะออกมาดีได้ ผมมีข้อสังเกตว่าตอนนี้มีป้ายโฆษณาเต็มเมืองเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ผมไม่รู้ว่าเป็นฉบับประชาชนตรงไหนกันครับ! นอกจากประชาชนจะถูก หลอก ให้ไปออกเสียงประชามติในตอนจบจึงจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไปได้ เพื่อนผมบอกว่า ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ก็ต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนก่อน รวมทั้งต้อง rationalize คือ มีเหตุผลที่ดีด้วย เมื่อประชาชนรับข้อมูลและเข้าใจรัฐธรรมนูญพอที่จะตัดสินใจรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญได้ นั่นแหละครับที่จะถือได้ว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญ
จริง ๆ แล้วเราคุยกันอีกหลายประเด็น แต่บางประเด็นก็ไม่สมควรเล่าให้ฟังเพราะไม่เหมาะสมและไม่สุภาพเท่าไรนัก ก่อนจบเรื่องนี้ผมอยากจะฝากไว้ถึงบรรดา คนเก่ง ที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญอยู่ว่า จากที่ปรากฎเป็นข่าวออกมาในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาถึงประเด็นที่เขียนบทนิรโทษกรรมผู้ทำรัฐประหารไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรก็ตาม ผมมองว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นประเด็นที่ สนับสนุน ความเห็นดั้งเดิมของผมที่ได้นำเสนอไปนานแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 นั้นเป็น รัฐธรรมนูญเฉพาะกิจ ที่ทำขึ้นเพื่อ แก้เก้อ คณะรัฐประหารที่ทำรัฐประหารแล้วไม่รู้จะทำอย่างไรให้เกิดความชอบธรรมให้กับการกระทำของตนเองจึงต้องฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ทิ้ง ผมมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นเพื่อ แก้ปัญหาของการรัฐประหาร มากกว่าการ"แก้ปัญหาของประเทศ" น่าแปลกใจกับผู้ที่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวที่มีบางคนเรียกตัวเองว่าเป็นนักกฎหมายมหาชน แต่กลับไม่ เข้าใจ เลยว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร ประชาธิปไตยคืออะไร ถ้าใส่บทบัญญัติดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ถ้ารัฐธรรมนูญยาวกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 รัฐธรรมนูญที่คุยนักคุยหนาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับใหม่นี้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่นักวิชาการและผู้มีความเข้าใจในระบบประชาธิปไตยในต่างประเทศคงงงมากว่า เรากำลังทำอะไรกันอยู่ ใส่อะไรกันไว้เลอะเทอะไปหมด แถมยังมีบทเฉพาะกาลที่ยกเว้นความผิดให้กับผู้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน(ของแท้) อีกด้วยครับ! ที่ถูกและเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ที่ควรมีในบทเฉพาะกาลก็คือ กำหนดให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่มีที่มาจากประชาชนจริง ๆ มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ดีจริง ๆ แล้วก็ให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นั่นจึงเป็นสิ่งที่ดี เป็นประชาธิปไตยและเป็นผลงานชิ้นโบแดงของสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ รู้ซึ้ง ถึงความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงและ ไม่ยอมรับ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจนอกระบบครับ
ในขณะที่เมืองไทยกำลังวุ่นวายอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญ ฝรั่งเศสเองกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ บทบรรณาธิการครั้งนี้และครั้งถัดไปจึงต้องขอ เว้นวรรค จากเรื่องยุ่งๆของรัฐธรรมนูญและการเมืองของไทยกันไว้ก่อน ผมจะขอเล่าให้ฟังถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศฝรั่งเศสครับ
มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ.1958 บัญญัติไว้ว่า ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐต้องดูแลให้มีการเคารพในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และจะต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ดูแลการดำเนินการของสถาบันการเมืองแห่งรัฐให้เป็นไปโดยปกติและให้มีความต่อเนื่องของรัฐ นอกจากนี้แล้ว ประธานาธิบดีก็ยังเป็นผู้ประกันความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดนและการเคารพต่อสนธิสัญญาต่าง ๆ ด้วยบทบัญญัติในมาตรา 5 นี้เองที่ทำให้ประธานาธิบดีเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดของประเทศฝรั่งเศส
ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้รับการเลือกตั้งโดยการออกเสียงเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนและมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่งเดิมเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1958 ประกาศใช้บังคับนั้น ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยอ้อม แต่ต่อมา ในปี ค.ศ.1962 ก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนสามารถออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีได้โดยตรง เช่นเดียวกับกรณีวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีที่ได้รับการแก้ไขจาก 7 ปีไปเป็น 5 ปีเมื่อปี ค.ศ.2000 ที่ผ่านมานี่เอง
ผู้มีสิทธิสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้แก่ พลเมืองฝรั่งเศสที่มีอายุเกินกว่า 23 ปี และไม่มีข้อผูกพันด้านการทหาร ผู้สมัครที่เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องมีเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 500 เสียงจากพลเมืองอย่างน้อย 30 จังหวัด (département) โดยมีข้อห้ามว่าจะมีผู้สนับสนุนเกินกว่าจังหวัดละ 10 เสียงไม่ได้ ผู้สมัครจะต้องรวบรวมเสียงสนับสนุนดังกล่าวเสนอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Conseil Constitutionnel) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีตามแบบที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2007 เวลา 18.00 น. เป็นวันปิดรับคำเสนอดังกล่าว จากนั้นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะทำการตรวจสอบคำเสนอว่า เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและตามกฎเกณฑ์ที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วางไว้หรือไม่ ในวันที่ 6 เมษายน 2007 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในรัฐกิจจานุเบกษา (le Journal Officiel) โดยในช่วงระยะเวลาก่อนที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะประกาศรายชื่อนั้น ผู้ที่พบว่าผู้สมัครรายใดมีคุณสมบัติไม่ตรงตามกฎหมายก็สามารถคัดค้านได้ และในวันที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกาศรายชื่อผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้สมัครทุกคนจะต้องส่งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เฉพาะบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเท่านั้นที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะประกาศในรัฐกิจจานุเบกษาภายหลังจากที่ได้มีการประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแล้ว โดยจะทำเป็นประกาศต่อท้ายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
การหาเสียงเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่มีการประกาศรายชื่อผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไปจนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันศุกร์ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งแต่ละรอบซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ เที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2007 สำหรับการเลือกตั้งรอบแรก และเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2007 สำหรับการเลือกตั้งรอบที่สอง การหาเสียงเลือกตั้งประกอบด้วยหลักใหญ่ ๆ 2 หลักคือ
ความเสมอภาคในบรรดาผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากผู้สมัครทุกคนมิได้มีฐานะทางการเงินและความสามารถที่จะสื่อสารแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน รัฐจึงให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สมัครทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถ้าประธานาธิบดีคนปัจจุบันจะสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยหน้า ก็จะต้องเคารพกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหมือนผู้สมัครรายอื่นและมีสิทธิได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐเช่นเดียวกับผู้สมัครรายอื่นคือ สามารถใช้วิทยุโทรทัศน์ในการหาเสียงตามเวลาที่รัฐจัดสรรให้ ได้รับความช่วยเหลือในการจัดทำเอกสารในการหาเสียงไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ แผ่นพับ จดหมายหาเสียงที่รัฐจะจัดส่งให้แก่ประชาชนทุกคน
รัฐจะชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเรื่องตั้งให้แก่ผู้สมัครทุกคนที่ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นการช่วยเหลือด้านการเงินให้แก่ผู้สมัครที่ได้ใช้ไปในระหว่างการหาเสียงของตน ซึ่งเงินที่รัฐจะชดใช้ให้นี้เป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง โดยผู้สมัครจะต้องจัดส่งบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของตนให้แก่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน หลังจากที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในรัฐกิจจานุเบกษา
ระบบการเลือกตั้ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสใช้ระบบการเลือกตั้งโดยตรง (suffrage universel direct) โดยประชาชนชาวฝรั่งเศสที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ดังนั้น หากในการเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับเสียงเกินกว่าร้อยละ 50 ของผู้มาออกเสียง ในอีก 14 วันถัดมา ก็จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งรอบที่สอง โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งนี้กำหนดไว้ให้เป็นวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน 2007 เหตุที่กำหนดให้ ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ก็เพราะต้องการให้ผู้ที่จะมาเป็นประธานาธิบดีชนะการเลือกตั้งด้วย คะแนนเสียงส่วนใหญ่ข้างมากของประชาชน ในประเทศ เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็จะเกิดความไม่มั่นคงในการใช้อำนาจบริหารกิจการของประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดไว้ว่า ถ้าในการออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใดไม่มีผู้ได้คะแนนเสียงข้างมากเกินกว่าร้อยละ 50 ในอีกสองอาทิตย์ต่อมาซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ ในวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2007 จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งในรอบที่สองโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะประกาศรายชื่อของผู้สมัคร 2 คนแรกที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดตามลำดับในการเลือกตั้งรอบแรกให้เข้ามาเป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในรอบที่สองครับ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสอย่างย่อ ๆ ก่อนจะจบเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ผมก็จะขอเล่าให้ฟังอีกเล็กน้อยถึงอำนาจของประธานาธิบดีฝรั่งเศสซึ่งมีอยู่มากมายตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อำนาจโดยตรง ได้แก่ เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (มาตรา 8) เป็นผู้ประกาศให้มีการออกเสียงประชามติในร่างกฎหมายสำคัญ ๆ (มาตรา 11) ยุบสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 12) ใช้อำนาจพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉิน (มาตรา 16) ส่งสาสน์แสดงเจตจำนงต่อรัฐสภา (มาตรา 18) แต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจำนวน 3 คน (มาตรา 56) และร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (มาตรา 54 และมาตรา 61) นอกจากอำนาจโดยตรงดังกล่าว ประธานาธิบดียังมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น เป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (มาตรา 9) เป็นประธานคณะกรรมการตุลาการ (มาตรา 65) เป็นประธานสภากลาโหมและเป็นจอมทัพ (มาตรา 15) ส่วนหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ข้างเคียงที่ต้องทำในฐานะที่เป็นประมุขของประเทศก็คือ การออกกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหาร การแต่งตั้งและการให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง การลงนามในรัฐกำหนดและรัฐกฤษฎีกา การแต่งตั้งข้ารัฐการพลเรือนและข้ารัฐการทหาร การแต่งตั้งทูต การประกาศใช้บังคับกฎหมาย และการอภัยโทษ เป็นต้น
เมื่อบุคคลใดได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส บุคคลผู้นั้นไม่สามารถประกอบอาชีพใด ๆ ได้ในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
เพื่อตอบ โจทย์ ของคนไทยกรณีต้องการให้มี รัฐบาลรักษาการ ที่ไม่ใช่รัฐบาลชุดเดิมที่ครบวาระหรือที่มีการยุบสภา ในฝรั่งเศสหากผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีลาออกหรือถึงแก่อสัญกรรม รัฐธรรมนูญมาตรา 7 ก็ได้บัญญัติให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีไปพลางก่อนจนกว่าจะมีประธานาธิบดีคนใหม่ โดยประธานวุฒิสภาผู้รักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดีจะไม่สามารถยุบสภาได้และไม่สามารถนำร่างกฎหมายออกมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้
เพื่อเป็นการสอดคล้องกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าและกับบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมขอนำเสนอบทความเรื่อง "ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส" ที่เขียนโดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม นักศึกษาระดับปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัย Paris XII สาขากฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ และนอกจากนี้ ก็ยังมีบทความเรื่อง เดินสู่อิสรภาพ ของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง มานำเสนออีกหนึ่งบทความ ผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 16 เมษายน 2550 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1075
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:59 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|