หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 146
28 ตุลาคม 2549 22:46 น.
ครั้งที่ 146
       สำหรับวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2549
       
       “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
       
       เดือนเศษหลังรัฐประหาร เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ดำเนินไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและตามทิศทางที่ “ผู้มีอำนาจ” กำหนด วันนี้เรามีสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วและเราก็เพิ่งได้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แม้จะมีเสียงคัดค้านอย่างมากจากหลายภาคหลายส่วนก็ตาม แต่ในที่สุดก็ยังได้รับเลือกเข้ามาเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยคะแนนเสียงข้างมากที่ทิ้งขาดคู่ต่อสู้คือ 167 เสียงจากจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมด 242 คน เหตุการณ์ต่อไปที่ต้องรอชมก็คือ การสรรหาสมัชชาแห่งชาติเพื่อเข้ามาคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญครับ!
       จนถึงวันนี้ คงพอสรุปในเบื้องต้นกันได้แล้วว่า บางส่วนของการรัฐประหารครั้งนี้มีความแตกต่างจากการปฏิวัติรัฐประหารที่มีมาในอดีต จริงอยู่ที่แม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจหัวหน้าคณะรัฐประหารอย่างมากเหมือนธรรมนูญการปกครองแผ่นดินในอดีตที่ทำให้การรัฐประหารครั้งนี้มีความแตกต่างจากการปฏิวัติรัฐประหารครั้งอื่น ๆ ที่ผ่านมาก็ตาม แต่สิ่งที่เหมือนกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็ยังเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ในหลาย ๆ ส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2549 เช่น การที่คณะรัฐประหารได้เปลี่ยนสภาพตัวเองจาก “ผู้ทำลายรัฐธรรมนูญ” มาเป็น “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ที่มีชื่อเรียกว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติรับรององค์กรดังกล่าวไว้ในมาตรา 34 รวมทั้งยังได้กำหนดให้มีอำนาจมากในหลาย ๆ เรื่องรวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “การสร้างรัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ในทุกกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การ “คัดเลือก” บุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ การคัดเลือกรายชื่อของผู้ที่จะเข้ามาเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญที่สมัชชาแห่งชาติเสนอมา 200 คนให้เหลือ 100 คน การเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 คนเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงในตอนท้ายที่หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเหตุที่ไม่สามารถ “คลอด” ออกมาได้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติก็สามารถนำเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่เคยใช้บังคับมาก่อนหน้านี้มาปรับปรุงเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไปได้ครับ เพราะฉะนั้นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่แปลงตนเองมาจากคณะรัฐประหารก็ยัง “แทรกซึม” อยู่ทั่วไปในบทบัญญัติต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยครับ
       ในส่วนของรัฐบาลนั้น วันนี้ก็รู้สึก “เห็นใจ” รัฐบาลทีเดียวที่อุตส่าห์ตั้งใจว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศ แต่ไป ๆ มา ๆ 1 เดือนผ่านไปก็ยังคงคลำหาทิศไม่เจอ ภาคใต้ก็ยังคงมีปัญหาเหมือนเดิม น้ำท่วมก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากนี้แล้ว ด้วยความที่ไม่มี “นักกฎหมาย” ผู้เชี่ยวชาญก็เลยทำให้เกิดปัญหาใหญ่ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ปัญหาแรกคือ การจำกัดอายุผู้ซื้อสุราที่ตั้งใจจะให้มีการห้ามขายสุราแก่ผู้ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี กับประการที่สองคือ อายุของรัฐบาล ซึ่งในเรื่องหลังนี้เป็นประเด็นร้อนของสังคมเพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วตอนต้นว่า ในวันนี้เราเริ่ม “สงสัย” ในการรัฐประหารกันแล้วว่าทำไปทำไม เพราะเหตุแห่งการรัฐประหารที่ระบุไว้ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ยังไม่มีคำอธิบายจากผู้ที่ทำรัฐประหารที่ชัดเจน นอกจากจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมาคณะหนึ่งคอยให้ข่าวอยู่ทุกเวลาและก็ยังมีบางกรณีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีเค้าว่าจะเป็นผู้สร้างปัญหาให้กับสังคมในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอีก เช่น การโยกย้ายข้าราชการประจำจำนวนมาก การ “บีบ” ให้มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งปกติที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตลอดเวลาที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่โดยฝีมือของนักการเมืองที่เราคุ้นเคยกันดีและเราก็วิพากษ์วิจารณ์กันว่านักการเมืองเหล่านั้นโยกย้ายคนเพื่อประโยชน์ของตนหรือเพื่อพวกพ้องของตนครับ!!! ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ผู้คนเริ่มคิดกันว่า คณะรัฐประหารรวมไปถึงรัฐบาลต้องการอยู่ในอำนาจไปอีกนานมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เมื่อมีรัฐมนตรีคนหนึ่งออกมาพูดว่ารัฐบาลจะอยู่ต่อไปอีก 1 ปี 5 เดือน จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่า คณะรัฐประหารเตรียม “ต่อท่อหายใจ” ออกไปอีกระยะหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ในตอนต้นที่ทำรัฐประหารสำเร็จใหม่ ๆ ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่าจะขออยู่ไม่เกิน 1 ปี
       ประเด็นที่ผู้คนวิตกเรื่องอายุของรัฐบาลส่วนหนึ่งแล้วคงมาจากสถานะของรัฐบาลนั่นเอง รัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่เกิดมาจากการทำรัฐประหาร การเกิดขึ้นของรัฐบาลชุดนี้ขัดกับหลักการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ซึ่งก็ส่งผลให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน “ไม่มีความชอบธรรม” ในสายตาของต่างประเทศและในสายตาของประชาชนชาวไทยส่วนหนึ่ง ส่วนที่ว่ารัฐบาลนี้จะเข้ามากู้วิกฤติของประเทศไทยก็ต้องพยายามทำความเข้าใจให้กระจ่างว่า การกู้วิกฤติของประเทศนั้นทำได้แต่สิ่งที่แรกที่ต้องทราบอย่างแน่นอนและชัดเจนก็คือ ประเทศเรามีวิกฤติอะไรบ้าง จากนั้นจึงค่อยหาแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้วิกฤตินั้นจบสิ้นลง ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้คงต้องอยู่ในตำแหน่งให้สั้นที่สุดเพราะประชาชนไม่ได้เลือกรัฐบาลเข้ามาและรัฐบาลเองก็ไม่เคยนำเสนอนโยบายหรือแนวทางในการบริหารประเทศให้ประชาชนให้ความเห็นชอบก่อนที่จะเข้ามาทำงาน ดังนั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงควรอยู่ให้สั้นที่สุด และทำหน้าที่ภายใต้ “กรอบ” สำคัญสามกรอบคือ แก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ แก้ปัญหาที่นำไปสู่การรัฐประหารที่ปรากฏอยู่ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จเรียบร้อยอย่างรวดเร็วที่สุด
       พูดถึงรัฐธรรมนูญใหม่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ ประเด็นที่ห่วงมาก ๆ คงมีอยู่เพียงประเด็นเดียวคือ “คุณภาพ” ของรัฐธรรมนูญ 8 ปีเศษที่ผ่านมาคนไทยเราชินกับสิ่งดี ๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ดังนั้น ปัญหาสำคัญวันนี้ที่เราจะต้องทำให้ได้ก็คือ จัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ซึ่งก็จะต้องเกิดคำถามตามมาว่า จะทำอย่างไรเราถึงจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิม คำตอบสำหรับคำถามนี้คงอยู่ที่ตัวผู้ร่างรัฐธรรมนูญและสาระที่จะต้องมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้นเองครับ
       ในส่วนของตัวผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในวันนี้เราคงทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้กำหนดกลไกและวิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้แล้ว ก็คงต้องฝากความหวังเอาไว้กับบรรดาผู้มีอำนาจในการคัดเลือกตัวบุคคลเหล่านั้นนะครับว่า ขอให้เลือกคนที่มีความรู้ความสามารถจริง ๆ เข้ามาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยครับ แต่สำหรับในส่วนของสาระที่ต้องมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้นเราคงพูดกันได้มากมายหลายเรื่อง เพราะมีสาระต่าง ๆ ที่น่าสนใจจำนวนมากที่เราอาจจะต้องทำการเพิ่มและลดลงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ครับ
       ทำไมผมถึงตั้งต้นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ครับ หลาย ๆ คนคงอาจคิดว่าก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดของไทยเท่าที่เคยมีมา จะพูดอย่างนั้นก็ถูกครับ แต่จริง ๆ แล้วผมไปพบ “เม็ด” ที่มีการ “หมก” เอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวต่างหากครับที่ทำให้ผมเข้าใจว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราวนั้นจะต้องจัดทำโดยการนำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 มาเป็นแบบในการปรับแก้ครับ เราลองพิจารณาดูในวรรคแรกของมาตรา 26 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ว่า “เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้จัดทำคำชี้แจงว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่นั้นมีความแตกต่างกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในเรื่องใดพร้อมด้วยเหตุผลในการแก้ไขไปยังสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ องค์กรและบุคคลดังต่อไปนี้ เพื่อพิจารณาและเสนอความคิดเห็น...” อ่านดูแล้วยังไง ๆ ก็ต้องเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องจัดทำโดย “อิง” รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ครับ!!! ถ้าจะพูดกันให้ชัดกว่านี้ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดจากการนำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 มาแก้ไขปรับปรุงครับ
       
มาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนอาจตั้งคำถามต่อไปว่า ก็ในเมื่อมาตรา 26 เขียนไว้เช่นนี้ ทำไมมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญจึงให้เวลาสภาร่างรัฐธรรมนูญในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนานถึง 6 เดือน? ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ เพราะหากเป็นผมแล้ว ก็อย่างที่เสนอไปในบทบรรณาธิการครั้งก่อนว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 นั้นมีปัญหาอยู่ไม่กี่อย่าง ถ้าเราหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ เราก็บรรจุกลไกดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เท่านี้เราก็ถือว่าทำสำเร็จแล้วครับ ในความเห็นผมนั้นปัญหาที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งที่จะต้องหาทางแก้ก็คือ วุฒิสภาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 กำหนดให้มีอำนาจมากแต่ปัญหาก็คือ มีที่มายังไม่เหมาะสมและไม่เป็นกลางเท่าที่ควร ปัญหานี้แก้ไม่ยากเพราะเรามี “แบบ” ให้ศึกษาได้จากทั้งประสบการณ์ของไทยเองและของต่างประเทศบางประเทศ ก็คงต้องมานั่งศึกษากันก่อนว่า สรุปแล้วเราจะให้วุฒิสภาทำหน้าที่อะไรบ้าง จากนั้นจึงค่อยไปคิดหาวิธีการได้มาซึ่งตัวบุคคลให้สอดคล้องกับหน้าที่ ในส่วนตัวผมเองนั้น ผมชอบรูปแบบวุฒิสภาของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1969 ที่นายพล De Gaulle ได้คิดค้นและนำเสนอให้ประชาชนออกเสียงประชามติ จากข้อเสนอของนายพล De Gaulle นั้นวุฒิสภาจะประกอบด้วยสมาชิกสองประเภท ประเภทแรกคือ ตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องคัดเลือกกันเองตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกับประเภทที่สองก็คือ ตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมซึ่งถูกเสนอชื่อมาจากองค์กรของผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านั้น ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเช่นกันครับ วุฒิสภาในรูปแบบนี้ดู ๆ ก็จะไม่ใช่เลือกตั้งเสียทีเดียวเพราะทั้งสองส่วนมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมครับ แต่ก็เป็น “ตัวแทนของประชาชน” ทั้งจากภาคท้องถิ่นและภาคสาขาอาชีพครับ ผมขอนำเสนอไว้เป็นแนวความคิดครับเพราะถ้าหาก “ผล” ของมาตรา 26 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นไปดังเช่นที่ผมเข้าใจตามที่ได้นำเสนอไปแล้วข้างต้น ก็คงต้องหมายความว่า เราต้อง “ปรับ” ที่มาของวุฒิสภาใหม่เพื่อให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้สามารถเลือกคนดีและเหมาะสมเข้ามาสู่ตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้อย่างเป็นกลางด้วยครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ www.pub-law.net ได้ทำการสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีผู้เป็นหนึ่งในบรรดาบุคคลที่ตกเป็น “จำเลย” ของสังคมอยู่ในวันนี้ ดร.บวรศักดิ์ฯ ได้เล่าให้เราฟังในสิ่งที่ไม่เคยไปพูดที่ไหนมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในการทำงาน รวมไปถึงการถูกกล่าวหาจากสังคมครับ ส่วนบทความที่จะนำเสนอในครั้งนี้ เรามีบทความ 2 บทความด้วยกันคือ บทความเรื่อง “เงื่อนไขการฟ้องคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในระบบกฎหมายฝรั่งเศส” เขียนโดย ดร.บุบผา อัครพิมาน แห่งสำนักงานศาลปกครอง ส่วนบทความที่สองคือบทความเรื่อง “รัฐประหารในระบบกฎหมายไทย” เขียนโดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ สำนักท่าพระจันทร์ ผมต้องขอกราบขอบพระคุณ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ได้กรุณาให้ผมสัมภาษณ์และขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       นอกจากนี้แล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองที่ผู้สัมภาษณ์ได้นำบทสัมภาษณ์ไปลงเผยแพร่ใน www.politic.tjanews.org และในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 27 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน 2549 ก็ได้พูดถึงเรื่องเว็บไซต์ www.pub-law.net ด้วย ผู้สนใจก็ลองหาอ่านดูได้นะครับ ในคราวหน้า ผมจะนำบทสัมภาษณ์เรื่องการปฏิรูปการเมืองมาเผยแพร่ใน www.pub-law.net ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2549 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544