หน้าแรก บทความสาระ
การตีความรัฐธรรมนูญ
นพดล เฮงเจริญ
6 มกราคม 2548 21:44 น.
 

       
            
        ในการยกร่างกฎหมายทุกชนิด จำเป็นต้องใช้ภาษาที่เป็นการเฉพาะ ซึ่งเรียกกันว่า "ภาษากฎหมาย" ไม่ใช่การใช้ภาษาที่สละสลวยนิ่มนวล ใช้ถ้อยคำวิชาการที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศ เพราะเมื่อใช้คำเหล่านี้แล้ว ความหมายอาจจะผิดหรือเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ในการยกร่างกฎหมาย จึงนิยมใช้หลักอยู่ 3 ประการ ตามที่ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้เคยอธิบายไว้ คือ

                   
        1. ต้องมีความชัดเจน อย่างน้อยต้องชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้คนทั่วไปเมื่อได้อ่านอย่าง
       พินิจพิเคราะห์แล้ว จะสามารถเข้าใจได้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร

                   
        2. ต้องไม่มีความซ้ำซ้อน เมื่อเขียนเรื่องใดในที่หนึ่งแล้ว ต้องไม่ไปเขียนในที่อื่นอีก
       กฎหมายไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำ

                   
        3. ต้องมีความกะทัดรัด ไม่ฟุ่มเฟือย ถ้อยคำที่ใช้ทุกถ้อยคำต้องมีความหมายตรงตาม
       เจตนารมณ์ของผู้ร่าง คำทุกคำที่ใช้ต้องมีความจำเป็นที่ต้องมีอยู่ เพราะต้องการความหมายของคำ ๆ นั้น ถ้าตัดออกเสียจะทำให้ไม่ได้ความตามที่ต้องการหรือความหมายผิดไป

                   
        อย่างไรก็ดี ในการร่างกฎหมายทั้งหลายอาจมีปัญหาในการยกร่าง โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำภาษา ซึ่งบางกรณีหาความชัดเจนไม่ได้ บางกรณีเกิดช่องว่างทำให้ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ต้องการ บางกรณีผู้ร่างประสงค์จะให้ผู้มีอำนาจได้ใช้ดุลพินิจพิจารณา ดังนั้น การตีความกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

                   
        การตีความกฎหมาย หมายถึง การแปลกฎหมาย การค้นหาความมุ่งหมายของกฎหมาย หลักการตีความกฎหมายทั่วไปจะมีการตีความตามตัวอักษร และการตีความตามเจตนารมณ์

                   
        การตีความตามตัวอักษร เป็นการตีความที่เกี่ยวกับถ้อยคำ ภาษา และไวยากรณ์ ถ้อยคำพิเศษที่ยังไม่เคยมีบัญญัติไว้ในกฎหมายใดมาก่อน และยังไม่มีการวิเคราะห์ศัพท์ไว้

                   
        การตีความตามเจตนารมณ์ ถ้าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดเคลือบคลุม ไม่ชัดเจน ไม่อาจตีความตามตัวอักษรได้ จำเป็นต้องตีความตามความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยต้องค้นหาวัตถุประสงค์ของการยกร่างบทบัญญัตินั้น ของผู้บัญญัติกฎหมายว่ามีความต้องการและจำเป็นอย่างไร เพื่อให้ทราบความประสงค์ที่แท้จริง นอกจากนี้ ต้องอาศัยหลักความเป็นธรรมที่สอดคล้องกับความรู้สึกสำนึกของคนทั่วไปด้วย

                   
        การใช้ถ้อยคำหรือภาษากฎหมายที่ไม่ชัดเจนและตายตัว ก่อให้เกิดการตีความแบบศรีธนญชัย หรือตีความที่ก่อให้เกิดผลประหลาด ตัวอย่างที่ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้เคยให้ไว้เช่น "การทรมานทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้าย หรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้" ในเชิงภาษาต้องอ่านว่า 1) การทรมานด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้ 2) การทารุณกรรมด้วยวิธีการโหดร้าย หรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้ 3) การลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้ และ หากตีความว่า "การทรมานหรือการทารุณธรรมด้วยวิธีการไม่โหดร้ายหรือไม่ไร้มนุษยธรรมย่อมทำได้" ย่อมเป็นการตีความที่ก่อให้เกิดผลประหลาด และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

                   
        หากได้พิจารณาหลักการตีความพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า 4 ประการ ที่ว่า

                   
        1. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร
       (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร

                   
        2. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร
       (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร

                   
        3. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร
       (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร

                   
        4. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร
       (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร
       แล้ว จะเห็นว่าเป็นการตีความบนหลักพื้นฐานของเหตุและผลโดยแท้ ดังนั้น การวินิจฉัยตีความกฎหมายใด ๆ หากผู้ที่มีหน้าที่วินิจฉัยตีความไม่เล่นถ้อยคำภาษากันจนเกิดไป แต่คำนึงถึงหลักความสมเหตุสมผล เจตนารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไปแล้ว การตีความแบบศรีธนญชัย หรือการตีความที่ก่อให้เกิดผลประหลาดก็จะไม่เกิดขึ้น

                   
        สำหรับการตีความรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญมาก และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเมื่อมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ก็ย่อมต้องเผชิญกับปัญหาข้อพิพาทที่เกี่ยวกับบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญ รวมทั้งในกรณีที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีความไม่แน่นอน มีข้อสงสัย มีข้อความเคลือบคลุมไม่ชัดเจน หรืออาจแปลความหมายได้หลายนัย หรือมีความหมายกำกวม จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าหาความหมายของถ้อยคำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น ๆ ว่ามีความหมายที่แท้จริงอย่างใด นั่นก็คือการตีความรัฐธรรมนูญนั่นเอง เรื่องนี้เป็นปัญหายุ่งยากขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในการวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทั้งปวง

                   
        การตีความรัฐธรรมนูญ หมายถึง การแปลบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยค้นหาความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ การตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ยังคงยึดถือบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อความไม่ชัดเจนพอ หรือใช้ถ้อยคำแคบเกินไป ซึ่งอาจไม่ตรงตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ การตีความรัฐธรรมนูญยังครอบคลุมถึงการพิจารณาวินิจฉัย โดยนำกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มาใช้ประกอบในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง

                   
        โดยที่รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมได้ยาก เนื่องจากต้องคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ การตีความรัฐธรรมนูญเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยไม่ต้องรอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือต้องถูกยกเลิกไปเมื่อมีปัญหาข้อโต้แย้งหรือข้อสงสัยตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น การตีความรัฐธรรมนูญดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดผลดีในทางปฏิบัติเพื่อให้มีข้อยุติโดยเร็วและเป็นที่สุด แต่อย่างไรก็ดี การตีความรัฐธรรมนูญต้องกระทำโดยระมัดระวังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เป็นกรอบในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

                   
        กฎเกณฑ์ทั่วไปที่เป็นกรอบในการตีความรัฐธรรมนูญที่ควรถือเป็นหลักการพื้นฐานคือ


                   
        ประการแรก การทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งมีข้อความว่า "...สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญโดยมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ…"

                   
        ประการที่สอง การตีความรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงบทบัญญัติที่มาก่อนในมาตราเดียวกัน หรือในมาตราที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งหมายถึง การตีความบทบัญญัติจะต้องสอดคล้องและรับกันกับความหมาย หรือจุดประสงค์ของถ้อยคำในตัวบทบัญญัติที่มาก่อนและอยู่ในมาตราเดียวกันหรือที่อยู่ในมาตราอื่นในหมวดหมู่เดียวกัน หรือแม้กระทั่งอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ซึ่งเรียกหลักการตีความนี้ว่า "หลัก Ejusdem Generis"

                   
        ประการที่สาม การตีความรัฐธรรมนูญจะต้องละเว้นไม่ตีความให้เกิดผลประหลาด หรือเกิดผลอันไม่พึงปรารถนา ซึ่งเรียกหลักการตีความนี้ว่า "หลัก Golden Rule" โดยเฉพาะการตีความตามตัวอักษรอาจเกิดปัญหานี้ขึ้นได้ ซึ่งต้องระมัดระวังเนื่องจากการตีความของศาลรัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยเมื่อใด ก็อาจส่งผลกระทต่อความน่าเชื่อถือของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญขึ้นได้

                   
        ประการที่สี่ ต้องถือว่า การตีความรัฐธรรมนูญก็มีหลักการพื้นฐานเหมือนกับการตีความกฎหมายทั่วไปที่มีความมุ่งหมายในทางที่จะให้กฎหมายใช้บังคับได้ ในกรณีที่มีความสงสัยซึ่งสามารถตีความได้สองทาง ทางหนึ่งจะมีผลให้รัฐธรรมนูญใช้บังคับได้ กับอีกทางหนึ่งจะทำให้รัฐธรรมนูญไร้ผลบังคับ ก็ต้องถือว่ารัฐธรรมนูญนั้นมีความมุ่งหมายที่จะให้บทบัญญัตินั้น ๆ ขึ้นมามีผลบังคับให้มากที่สุด มิฉะนั้น ก็คงไม่บัญญัติขึ้นมา

                   
        ประการที่ห้า เพื่อคุ้มครองป้องกันรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดให้เกิดเสถียรภาพ จำเป็นต้องมีทางออกให้แก่องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ประสบปัญหาจากการใช้รัฐธรรมนูญ สามารถที่จะตีความรัฐธรรมนูญเพื่ออุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญ เป็นผลให้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ และโดยที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรสูงสุดในการวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพัน ผลการตีความของศาลรัฐธรรมนูญจะช่วยวางบรรทัดฐานของการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงมีนักวิชาการบางท่านเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยน่าจะพิจารณาวินิจฉัยเกินคำขอได้ แม้บางประเด็นจะไม่ได้ขอมาในคำร้องก็ตาม โดยเฉพาะในคดีที่ขอให้วินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะทั่วไป

                   
        ประการที่หก ต้องคำนึงถึงความเป็นเอกภาพของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ การตีความรัฐธรรมนูญจะตีความออกมาอย่างไร จะต้องไม่ไปกระทบถึงหลักอื่น ๆ ให้เสียไป

                   
        ประการที่เจ็ด ในคดีรัฐธรรมนูญ หากมีข้อสงสัยในข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จะต้องตีความเป็นประโยชน์แก่สิทธิเสรีภาพของประชาชน และหากเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องตีความอย่างแคบ


                   
        นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ทั่วไปดังกล่าวที่เป็นกรอบในการตีความรัฐธรรมนูญแล้ว องค์กรที่รับผิดชอบในการตีความรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญจะต้องอาศัยหลักการดังต่อไปนี้เป็นแนวทางในการวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญ คือ


                   
        1. หลักการตีความรัฐธรรมนูญตามลายลักษณ์อักษร เป็นการตีความตามตัวอักษรในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะใช้หลักนี้เมื่อถ้อยคำชัดเจน ภาษาที่ใช้ไม่กำกวม สำหรับถ้อยคำที่ยังไม่ชัดเจนหรือยังไม่มีการวิเคราะห์ศัพท์ไว้ก่อน หรือยังไม่เคยมีบัญญัติไว้ในกฎหมายใดมาก่อน จะเอาวิธีการตีความตามลายลักษณ์อักษรมาใช้โดยเฉพาะไม่ได้ ต้องพิจารณาจากหลักการอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น หลัก Ejusdem Generis ดังตัวอย่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543 เรื่อง ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยตีความคำว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ในมาตรา 109 (11) เป็นการตีความบทบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. และ สว. ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความอย่างแคบ การตีความถ้อยคำที่มีลักษณะเช่นนี้ควรถือว่า คำทั่วไปมีความหมายในแนวเดียวกันกับคำเฉพาะที่มาก่อน หมายความว่า ในกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายมีถ้อยคำเฉพาะตั้งแต่สองคำขึ้น และมีถ้อยคำที่เป็นคำทั่วไปตามหลังคำเฉพาะ คำทั่วไปนั้นต้องมีความหมายแคบกว่าความหมายธรรมดาของคำนั้น โดยจะต้องมีความหมายเฉพาะในเรื่องและประเภทเดียวกันกับคำเฉพาะที่มาก่อนหน้าคำทั่วไปนั้น สำหรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 109 (11) ที่บัญญัติว่า "เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" นั้น คำว่า พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น เป็นถ้อยคำที่เป็นคำเฉพาะสามารถบ่งบอกได้ว่าหมายถึงบุคคลใดบ้างอย่างชัดเจน ส่วนคำว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" เป็นถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นคำทั่วไป ยังไม่อาจบ่งชี้ได้ว่าหมายถึงบุคคลใดบ้าง การตีความคำว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ซึ่งเป็นคำทั่วไป จึงต้องตีความโดยให้มีความหมายคล้ายคลึงกันหรือในแนวเดียวกันกับคำว่า "พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น" นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 126 (4) ประกอบมาตรา 109 (11) เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว. จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด


                   
        2. หลักการตีความตามเจตนารมณ์ เมื่อมีปัญหาการตีความตามลายลักษณ์อักษร เมื่อถ้อยคำไม่ชัดเจน ภาษาที่ใช้ยังกำกวม การตีความตามลายลักษณ์อักษรอาจจะนำไปสู่ผลเสีย และไม่ส่งเสริมการปฏิรูปการเมือง ดังนั้น การตีความรัฐธรรมนูญโดยอาศัยเจตนารมณ์จึงถือเป็นส่วนสำคัญโดยเฉพาะสำหรับกฎหมายมหาชน

                   
        การตีความตามเจตนารมณ์นั้น มีอยู่ด้วยกัน 4 ลักษณะ คือ

                   
        2.1 การตีความตามเจตนารมณ์ของคำปรารภที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีข้อความว่า "...สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญโดยมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น..." ดังนั้น การตีความรัฐธรรมนูญจึงต้องระมัดระวังมิให้เป็นการตีความอย่างเคร่งครัดตามตัวบทกฎหมายอาญา เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ปรากฏอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวินิจฉัยตีความบทบัญญัติใด ๆ ของรัฐธรรมนูญที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรอง จะต้องระมัดระวังในการวินิจฉัยตีความให้แคบที่สุด

                   
        2.2 การตีความตามเจตนารมณ์ที่ปรากฏในตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่อยู่ใน
       บทมาตราเดียวกัน หรือที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน หรือที่อยู่ในเรื่องเดียวกัน หรืออยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน รัฐธรรมนูญมีมาตราหลายมาตราจึงย่อมมีมาตราบางมาตราที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน หากดูเพียงมาตราเดียวอาจทำให้ตีความเจตนารมณ์คลาดเคลื่อนไปได้ โดยเฉพาะการพิจารณาข้อยกเว้นในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ก็จะช่วยทำให้เข้าใจเจตนารมณ์ของบทบัญญัติซึ่งมีลักษณะเป็นหลักเกณฑ์ได้

                   
        2.3 การตีความตามเจตนารมณ์ของผู้ร่าง หรือผู้พิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในชั้นการพิจารณาของรัฐสภา กรณีนี้อาจตรวจสอบดูจากความคิดเห็นของผู้ร่างที่ได้อภิปรายในการยกร่างตามรายงานการประชุมที่ได้บันทึกไว้ หรือตรวจสอบดูจากการอภิปรายแสดงความคิดเห็นในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องตามรายงานการประชุมที่ได้บันทึกไว้ อย่างไรก็ตาม การยึดหลักเกณฑ์นี้โดยเคร่งครัด อาจเกิดผลเสีย เนื่องจากจะมีผลให้การวินิจฉัยตีความค่อนข้างจะคับแคบ

                   
        2.4 การตีความตามเจตนารมณ์ของผู้แทนปวงชน ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อันอาจกล่าวได้ว่า เป็นเจตนารมณ์ของปวงชน การวินิจฉัยตีความว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของผู้แทนปวงชนที่ได้พิจารณาเห็นชอบให้ตรากฎหมายนั้นขึ้นมาใช้บังคับ หากเป็นไปเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีผลปฏิบัติเป็นรูปธรรม หรือเพื่อให้เกิดการตรวจสอบกลั่นกรองการปฏิบัติให้รอบคอบโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ ต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรอง ต้องคำนึงถึงการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนด้วย

                   
        อย่างไรก็ดี ต้องแยกออกให้ชัดเจนในความแตกต่างระหว่างคำว่า "เจตนารมณ์ของปวงชน" กับ "กระแสปวงชน" เนื่องจากกระแสเป็นสิ่งที่สะท้อนจากอารมณ์หรือความรู้สึกร่วมในสิ่งใด หรือเรื่องใด ที่มาจากข้อมูลข่าวสารที่แพร่ในสังคมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งต่อมาก็จะผ่อนคลายหรือสลายไป แต่ เจตนารมณ์นั้นเป็นความตั้งใจมุ่งหมาย หรือเป็นความจงใจในสิ่งที่เป็นเหตุผลเป็นคุณค่าของสังคมและดำรงอยู่ยาวนาน


                   
        3. หลักการตีความตามประเพณีการปกครอง เมื่อเกิดปัญหาการตีความตามลายลักษณ์
       อักษร หรือความไม่กระจ่างชัดในการตีความตามเจตนารมณ์ หรือเพื่อให้การตีความตามเจตนารมณ์มี
       น้ำหนักยิ่งขึ้น หรือในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใด ๆ ก็จำเป็นต้องใช้หลักการตีความตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยอาศัยหลักปรัชญาของระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบสากลมาประกอบการวินิจฉัยตีความด้วย

                   
        เมื่อพิจารณาความหมายของประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา-
       กษัติรย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ควรแยกพิจารณาตามถ้อยคำ ดังนี้

                   
        ประเพณี หมายถึง สิ่งที่นิยมถือปฏิบัติสืบ ๆ กันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือจารีตประเพณี

                   
        การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นรูปแบบการปกครองตามแนวคิดของประเทศตะวันตก ซึ่งถือหลักการประชาธิปไตยในเรื่องความเสมอภาค ความเป็นอิสระเสรีและเหตุผลนิยม ค่านิยามระบอบประชาธิปไตยที่ยอมรับกันมากที่สุด คือ การเป็นรัฐบาลหรือการปกครองที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

                   
        การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการนำหลักการประชาธิปไตยที่เป็นสากล มาหลอมรวมกับการปกครองแผ่นดินที่ยอมรับพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขของรัฐ เพื่อรักษาพระราชอำนาจหลายประการตามโบราณราชนิติประเพณี พระราชอำนาจใดที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยก็ยังคงบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเชิดชูและเป็นการผดุงไว้ซึ่งพระเกียรติยศ ซึ่งหลักการเช่นนี้ยังคงมีอยู่เป็นส่วนใหญ่ในประเทศต่าง ๆ ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

                   
        ดังนั้น ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจึงหมายถึง สิ่งที่นิยมถือปฏิบัติและเป็นที่ยอมรับสืบต่อกันมาจนเป็นแบบแผนในการปกครองภายใต้หลักการประชาธิปไตย ซึ่งยอมรับพระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ


                   
        4. หลักการตีความกฎหมายมหาชนที่มุ่งประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์แห่งรัฐ การตีความรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน ต้องคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นของรัฐและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะการตีความรัฐธรรมนูญใด ๆ ต้องไม่ปล่อยให้เกิดช่องว่างทางอำนาจ หรือ สูญญากาศทางการเมือง หรือก่อให้เกิดทางตันทางการเมือง จนอาจนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจก่อให้เกิดวิกฤติการณ์รัฐธรรมนูญตามมา หรือนำไปสู่การปกครองในรูปแบบอื่นที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นได้


                   
        สรุป การตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องกระทำด้วยความระมัดระวังรอบคอบ อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เป็นกรอบในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะต้องตีความอย่างแคบที่สุด เพื่อมิให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งในทางวิชาการ และปัญหาการขยายเขตอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ จนส่งผลกระทบไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ


       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2545


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544