หน้าแรก บทความสาระ
อิทธิพลของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 และคำปรารภของรัฐธรรมนูญ ฝรั่งเศส ค.ศ.1946 ที่มีต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์
6 มกราคม 2548 21:44 น.
 

       
            
       ความนำ


                   
        ทุกคนทราบกันดีว่าประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศต้นแบบให้แก่ประเทศต่างๆในเรื่องของการรับรองสิทธิเสรีภาพและจากการศึกษาจะเห็นถึงแนวความคิดในการพัฒนาการรับรองสิทธิเสรีภาพของฝรั่งเศสมีพัฒนาการมาจากแนวความคิดรัฐเสรีนิยมตามที่รับรองสิทธิเสรีภาพปัจเจกชนไปสู่รัฐสวัสดิการที่มุ่งเน้นคุ้มครองสังคมและเศรษฐกิจโดยประสานประโยชน์ของทั้งสองแนวความคิดเข้าไว้ด้วยกันหรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือพัฒนาจากนิติรัฐไปสู่นิติสังคมรัฐ ดังที่ได้เห็นตัวอย่างในรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสปี ค.ศ.1946 และปี ค.ศ.1985 เป็นตัวอย่าง ศาสตราจารย์ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้ให้ข้อสังเกตว่า ในนิติสังคมรัฐมีมิติ 3 มิติซ้อนกันอยู่อย่างแยกไม่ออก คือ1

                   
        1.มิติสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนซึ่งเป็นผลมาจากปรัชญาและกฎหมายในศตวรรษที่18,19 ยังคงได้รับการยืนยันและเคารพเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นหลักความเสมอภาคหรือเสรีภาพ

                   
        2.มิติทางสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากปรัชญาที่พยายามแก้ไขจุดอ่อนของปัจเจกชนนิยมและเสรีนิยมดั้งเดิม ทำให้สังคมต้องลงไปให้ความคุ้มครองป้องกันและหาทางทำให้สิทธิเสรีภาพที่ยอมรับแต่เดิมตามกฎหมายเป็นจริงขึ้นให้ได้ ทั้งนี้เพื่อให้คนที่เท่าเทียมกันและมีเสรีภาพตามกฎหมายแต่มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมด้อยกว่าผู้อื่นสามารถขยับขึ้นมาใกล้เคียงกับคนที่อยู่ในสภาพดีกว่าและสามารถใช้และได้ประโยชน์จากสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคได้ตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้จึงเห็นสิทธิใหม่ๆรวมถึงวิธีการคุ้มครองใหม่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าเรื่องสตรี เด็ก คนชรา คนงาน สิทธิในการศึกษาอบรม เป็นต้น ทั้งนี้ไม่ใช่รับรองแต่สิทธิเสรีภาพใหม่แต่รัฐธรรมนูญยังไปไกลถึงขนาดบังคับให้รัฐต้องหาทางในความเป็นจริงจัดการให้สิทธิเหล่านี้เกิดขึ้นจริงให้ได้

                   
        3.มิติทางระหว่างประเทศ คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองปีค.ศ.1789ที่ได้รับการรับรองและปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี ค.ศ.1946 ได้ขยายไปถึงดินแดนที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศสอีกด้วย เช่นการยอมให้พลเมืองของชาติอาณานิคมเข้ารับราชการและมีสิทธิเสรีภาพได้เหมือนคนฝรั่งเศส เป็นต้น และยังขยายไปยังประเทศอื่นๆที่มิใช่อาณานิคมอีกด้วย เช่น การรับรองสิทธิลี้ภัยทางการเมือง เป็นต้น ในปี 1948 ก็มีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ลงวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1948 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสมัชชาสหประชาชาติและต่อมาก็มีอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งทั้งปฏิญญาสากลและอนุสัญญาดังกล่าวได้รวมสิทธิเสรีภาพในคำประกาศปี 1789 และสิทธิเสรีภาพใหม่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี ค.ศ.1946 เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หลักการและแนวความคิดในการรับรองสิทธิเสรีภาพนั้นเป็นหลักสากลที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติในประชาคมโลกแล้ว ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการรับรองสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างพอสังเขป


                   
       ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน


                   
        ปฏิญญาดังกล่าวได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1948ในความคิดของผู้ร่างปฏิญญาดังกล่าวมีความต้องการให้มีองค์กรหนึ่งในการปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับระหว่างประเทศ และในปี ค.ศ.1966 มีการออกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยปฏิญญาฉบับแรกนั้นให้การรับประกันสิทธิทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและทางวัฒนธรรม ส่วนกติกาฉบับที่สองนั้นให้การรับประกันสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

                   
        ปฏิญญาฉบับนี้ไม่ก่อให้เกิดพันธะทางกฎหมายผูกพันรัฐสมาชิกสหประชาชาติทั้งนี้เพราะปฏิญญาไม่ใช่สนธิสัญญาและจุดมุ่งหมายของสมัชชาสหประชาชาติก็เพียงต้องการให้ปฏิญญาเป็นเอกสารชี้แนะแก่รัฐสมาชิกเพื่อจัดให้มีการรับรองคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศของตน แต่ถึงกระนั้นก็ดี ศาสตราจารย์ เรอเน่ กาสแซงนักกฎหมายชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่างปฏิญญาก็ยืนยันว่าปฏิญญาดังกล่าวมีค่าบังคับมากกว่าเป็นเอกสารชี้แนะอยู่บ้างเพราะในมาตรา 56 ของกฎบัตรสหประชาชาตินั้นรัฐสมาชิกทั้งปวงให้คำมั่นว่าจะดำเนินการร่วมกัน…ในการร่วมมือกับองค์การเพื่อให้บรรลุแห่งความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา 55 ซึ่งที่สำคัญก็คือการส่งเสริมให้มีการเคารพในสิทธิมนุษยชน2 ซึ่งดูเหมือนแล้วประเทศสมาชิกสหประชาชาติมีความเห็นพ้องต้องกันแบบกึ่งเอกฉันท์


       เนื้อหาของปฏิญญา


                   
        ในคำปฏิญญาดังกล่าวขึ้นต้นด้วยคำปรารภเหมือนของคำประกาศรับรองสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ในคำปรารภดังกล่าวได้แสดงเห็นถึงเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของปฏิญญาดังกล่าวพร้อมตามด้วย 30 มาตรา ศาสตราจารย์ เรอเน่ กาสแซง ได้วิเคราะห์เนื้อหาของคำปฏิญญาดังกล่าวดังต่อไปนี้

                   
        1.สองมาตราแรกของปฎิญญารับรองถึงสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน โดยมาตราแรกได้นิยามพื้นฐานทางอุดมการณ์ของคำปฏิญญาว่า "มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสระเสรีและเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรมและควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง" ส่วนมาตราสองนั้นกล่าวถึงขอบเขตของการใช้สิทธิเสรีภาพโดยบัญญัติว่า"บุคคลชอบที่จะมีสิทธิและเสรีภาพที่ประดาที่ระบุไว้ในปฏิญญานี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใดๆ เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมืองหรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่นใด…"3

                   
        2.ตามมาด้วย มาตรา 3-มาตรา 14 ให้ความสำคัญกับสิทธิของบุคคล เช่น สิทธิในร่างกายและเสรีภาพ อิสระจากการเป็นทาส อิสระจาการทรมาน การลงโทษหรือการปฏิบัติที่ต่ำช้า สิทธิที่จะเป็นบุคคลตามกฎหมาย สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเสมอภาคกัน สิทธิได้รับการเยียวยาทางศาลและการถูกละเมิดสิทธิ อิสระจากการจับกุม คุมขังหรือเนรเทศโดยพลการ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมจากการพิจารณาคดี สิทธิในคดีอาญาที่ได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง สิทธิที่จะไม่ถูกแทรกแซงในความเป็นส่วนตัว สิทธิในการเดินทางและย้ายที่อยู่ออกนอกประเทศ

                   
        3.มาตรา 15-มาตรา17เป็นบทบัญญัติรับรองสถานะส่วนบุคคล เช่น สิทธิในการถือสัญชาติ สิทธิในการสมรสและการสร้างครอบครัว สิทธิที่จะมีทรัพย์สิน เป็นต้น

                   
        4.กลุ่มที่สี่เป็นกลุ่มที่รับรองสิทธิเสรีภาพและเสรีภาพทางการเมืองปรากฏอยู่ในบทบัญญัติมาตรา 18-มาตรา 21 เช่น สิทธิในเสรีภาพการนับถือศาสนา เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก การรับหรือแพร่ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ

                   
        5. กลุ่มถัดมาเป็นกลุ่มที่รับรองสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมปรากฏในมาตรา 22 ถึงมาตรา 27 เช่นสิทธิในสวัสดิการทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรม สิทธิในการทำงานร่วมในสหภาพแรงงาน สิทธิในการพักผ่อนและมีวันหยุด สิทธิมาตราฐานการครองชีพ มารดาและเด็กจะต้องได้รับการดูแลพิเศษ สิทธิในการศึกษา สิทธิในการเข้าร่วมศิลปวัฒนธรรม

                   
        6.กลุ่มสุดท้าย คือมาตรา 28ซึ่งบัญญัติอย่างค่อนข้างกว้างโดยยืนยันถึงสิทธิของทุกคนที่จะได้รับประโยชน์จากระเบียบของสังคม และนอกจากนี้ยังรวมถึงการที่บุคคลต้องมีหน้าที่ต่อชุมชนอีกด้วยและข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพจะถูกจำกัดได้ด้วยกฎหมายเท่านั้นในมาตรา 29


       ลักษณะเด่นของปฏิญญา


                   
        ปฏิญญาดังกล่าวมีความเป็นสากลที่แสดงให้เห็นถึงการสังเคราะห์และการประนีประนอม กล่าวคือเป็นการสังเคราะห์ทางเทคนิคแห่งชาติที่แตกต่างกันในขอบเขตของสิทธิมนุษยชน ส่วนการประนีประนอมนั้นเป็นการประนีประนอมระหว่างสองแนวความคิดคือแนวคิดเสรีนิยมและแนวคิดมาร์กซิส ดังนี้4

                   
        1.การสังเคราะห์แสดงเฉพาะในรูปแบบ จะมีบทบัญญัติส่วนหนึ่งที่แสดงถึงการบัญญัติอย่างกว้างๆโดยระบุอย่างแจ่มชัดและการแจกแจงอย่างสมบูรณ์แบบเท่าที่จะเป็นไปได้ซึ่งเป็นไปตามวิธีการของแองโกลแซกซอน เช่น มาตรา 2 บัญญัติว่า"บุคคลชอบที่จะมีสิทธิและเสรีภาพที่ประดาที่ระบุไว้ในปฏิญญานี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใดๆ เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมืองหรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่นใด…" มาตรา 18 บัญญัติว่า "บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความคิด มโนธรรมและศาสนา สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะเปลี่ยนศาสนา หรือความเชื่อถือและเสรีภาพที่จะแสดงให้ศาสนาหรือความเชื่อถือประจักษ์ในรูปของการสั่งสอน การปฏิบัติกิจความเคารพสักการะบูชา สวดมนต์และการถือปฏิบัติพิธีกรรม ไม่ว่าโดยลำพังตนเองหรือร่วมกับผู้อื่นในประชาคมและในที่สาธารณะหรือส่วนตัว" มาตรา 25 บัญญัติว่า"(1)บุคคลมีสิทธิในมาตราฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับสุขภาพ และความอยู่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาลและบริการสังคมที่จำเป็น…" จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติที่ยกมาข้างต้นเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่แสดงให้เห็นถึงนิยามความหมายทางอุดมคติแต่ไม่ใช่เป็นการกระทำซึ่งถ้าละเลยแล้ว จะได้รับการลงโทษโดยกฎหมาย อนึ่ง ตามแนวคิดของพวกแองโกลแซกซอนได้อธิบายโดยการบัญญัติเล่นคำในบทบัญญัติอย่างใจกว้างในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่รัฐต่างๆที่ยอมรับแนวคิดแบบมาร์กซิสที่จะทำให้ให้สิทธิต่างๆเป็นรูปธรรมและใช้ได้อย่างเป็นจริงเป็นจังในเชิงสังคมและเชิงเศรษฐกิจ

                   
        2. การพิจารณาในเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงการประนีประนอมของทั้งสองแนวความคิด ถ้ารัฐต่างๆฝ่ายแนวคิดมาร์กซิสลงมติไม่ยอมรับปฏิญญาดังกล่าว การที่ต้องการความเป็นเอกฉันท์นั้นก็ต้องพยายามที่จะประสานแนวคิดระหว่างมารก์ซิสกับเสรีนิยมเข้าด้วยกัน การประสานดังกล่าวบางครั้งก็ปรากฏในรูปแบบ บางครั้งก็ไม่มีการตอบรับ หรือบางครั้งก็นำกลับไปทบทวนหรือพิจารณากันใหม่ ตัวอย่างเช่น มาตรา 17บัญญัติว่า "(1)บุคคลมีสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยลำพังตนเองและโดยการร่วมกับผู้อื่น…"บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยอมรับแนวคิดกรรมสิทธิ์ของปัจเจกชนและในขณะเดียวกันก็ยอมรับแนวคิดแบบสังคมนิยมด้วยอันเป็นการผสมผสานได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าปรากฏว่าไม่สามารถประสานแนวคิดโดยการเล่นคำดังกล่าวข้างต้นได้แล้ว ปฏิญญาก็จะเงียบในเรื่องนั้นๆโดยไม่กล่าวถึง เช่น เสรีภาพในการนัดหยุดงาน เสรีภาพในพาณิชย์และในอุตสาหกรรม เป็นต้นซึ่งประเทสสหภาพโซเวียตรัสเซียในสมัยนั้นได้ปฏิเสธที่จะยอมรับเสรีภาพดังกล่าวได้ แต่ถ้ามีความเป็นเอกฉันท์แล้วก็คงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามถึงแม้มีความเป็นเอกฉันท์ก็ตามแต่ก็มองต่างมุมกันในเรื่องเดียวกัน เช่น ในเรื่องของการเลือกตั้งที่บอกว่าจะต้องสุจริตและมีเสรีนั้น ประเทศฝ่ายตะวันตกคิดว่าเป็นการลงโทษระบบการเลือกตั้งของประเทศฝ่ายตะวันออกในขณะเดียวกันประเทศฝ่ายตะวันออกว่าเป็นการประณามระบบการเลือกตั้งของประเทศตะวันตกที่มีแต่การโกงการเลือกตั้ง มีการกินสินบาทคาดสินบน

                   
        3. อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อจำกัดต่อเจตนารมณ์ของการประนีประนอมกัน ในคำปรารภของปฏิญญาเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดพื้นฐานของลัทธิมาร์กซิสที่บัญญัติว่า"…โดยเหตุที่ได้มีประกาศปณิธานอันสูงสุดของสามัญชนถึงวาระแห่งโลกแล้วที่มนุษย์จะมีเสรีภาพในความเชื่อถือรวมทั้งเสรีภาพจากความกลัวและความระทมทุกข์…" และในขณะเดียวกันมาตรา 1 ก็ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดของเสรีนิยมโดยบัญญัติว่า"มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสระเสรีและเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรมและควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง"


       ขอบเขตของคำปฏิญญา


                   
        ปฏิญญาสากลไม่ใช่บทบัญญัติทีมีสภาพบังคับทางกฎหมายเพราะว่าคณะกรรมการ่างปฏิญญาดังกล่าวมีมติให้จัดทำในรูปแบบของปฏิญญาที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายโดยเห็นว่าจะต้องจัดทำตราสารที่มีผลผูกพันเป็นกฎหมายในรูปอนุสัญญาต่อไปดังนั้น ปฏิญญาดังกล่าวจึงเป็นรูปแบบของการประนีประนอมกันมากกว่าเพราะด้วยความเป็นสากลของตัวปฏิญญาเอง เป็นประการแรก ระบบกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างกันตามสภาพวัฒนธรรมและการเมืองของแต่ละประเทศ เป็นประการที่สอง นอกจากนี้การจัดทำเป็นปฏิญญานั้นเป็นการง่ายกว่าการจัดทำตราสารเพราะการจัดทำตราสารต้องการความละเอียดและพิถีพิถัน เป็นประการสุดท้าย5 แม้ว่าปฏิญญาจะมีลักษณะเป็นเอกสารชี้แนะ รัฐจำนวนมาก็รับแนวทางไป บางรัฐก็มีรัฐธรรมนูญอ้างถึงปฏิญญาโดยตรง บางรัฐก็เอาหลักการบางประการไปกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของตนที่สำคัญคือปฏิญญาไม่ได้แยกสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองออกจากกันหากแต่กล่าวถึงสิทธิทั้งสองประการรวมกันไป6

                   
        อย่างไรก็ตาม ปฏิญญาสากลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการระดับหนึ่งที่ค่อนข้างเด็ดขาดในประวัติศาสตร์ของการรับรองสิทธิมนุษยชน กล่าวคือปฏิญญาได้ยืนยันถึงสิทธิของทุกคนที่จะได้รับการรับรองสิทธิมนุษยชนในเอกสารระดับชาติและในมิติระหว่างประเทศด้วย สิทธิที่ได้รับการรับรองในปฏิญญานี้เป็นสิทธิที่ทุกรัฐต้องยอมรับและถือว่าปฏิญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมระหว่างประเทศที่วางหลักการดังกล่าวไว้ เช่น มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า "ทุกๆคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่า ณ ที่ใด" มาตรา 13 บัญญัติว่า "(1) บุคคลมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย และในถิ่นที่อยู่ภายในขอบเขตดินแดนแต่ละรัฐ (2) บุคคลมีสิทธิที่จะเดินทางออกจากประเทศใดๆรวมทั้งของตนเองและที่จะกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน" มาตรา 15 บัญญัติว่า"(1) บุคคลมีสิทธิในการถือสัญชาติ(2)การถอนสัญชาติโดยพลการหรือการปฏิเสธที่จะเปลี่ยนสัญชาติของบุคคลใดนั้นจะกระทำมิได้"และมาตรา 19 บัญญัติว่า "บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความเห็นโดยปราศจากการสอดแทรกและที่จะแสวงหารับ ตลอดจนแจ้งข่าวรวมทั้งความคิดเห็นผ่านสื่อใดๆและโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน" เป็นต้น

                   
        นอกจากนี้มีผู้กล่าวว่าปฏิญญาสากลดังกล่าวรับรองแต่สิทธิของบุคคลแต่ไม่พูดถึงหน้าที่ของบุคคลจึงเป็นเพียงหลักการในอุดมคติซึ่งในความเป็นจริงแล้วบุคคลต้องมีหน้าที่ด้วย ซึ่งเมื่อเทียบกับคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ก็เช่นกันมีผู้วิจารณ์ว่ารับรองแต่สิทธิแต่ไม่ได้พูดถึงหน้า7ที่ เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าสิทธิและหน้าที่นั้นเป็นสิทธิตามธรรมชาติอยู่แล้วตามสายตาของนักกฎหมายฝ่ายธรรมชาติและอยู่เหนือกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองดังนั้นจึงไม่บัญญัติถึงหน้าที่ไว้ ในความเป็นจริง คำประกาศสิทธิมนุษยชนก็ได้กล่าวถึงหน้าที่ไว้ด้วยเช่นกันโดยการตีความ เช่น หน้าที่ที่ต้องไม่กระทำการรบกวนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น (มาตรา 4) ส่วนในปฏิญญาสากลก็ได้บัญญัติถึงหน้าที่ของบุคคลไว้เช่นกัน ในข้อที่ 29 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าทุกคนต้องมีหน้าที่ต่อสังคม และยอมรับว่าการใช้สิทธิต้องมีขอบเขตจำกัดและขอบเขตที่จำกัดสิทธินั้นจะต้องมีความชัดเจนมิใช่กำหนดขึ้นตามใจผู้ปกครอง

                   
        ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รูปแบบการตกลงของปฏิญญาดังกล่าวได้เป็นจริงเป็นจังมากขึ้นในระดับโลกมาตรแม้นว่าแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและทางด้านจารีตประเพณีก็ตามโดยให้ปฏิญญาดังกล่าวมีคุณค่าทางด้านจริยธรรมร่วมกัน ช่องว่างระหว่างอุดมการณ์ที่ระบุในปฏิญญากับการปฏิบัติในความเป็นจริงของประเทศต่างๆที่บางครั้งก็ขัดแย้งกับอุดมการณ์ดังกล่าวก็ก่อให้เกิดความประหลาดใจ จึงน่าตั้งคำถามว่าที่ไหนและเมื่อไหร่ที่จะพบว่ามีการปฏิบัติตามอุดมการณ์ที่ระบุในปฏิญญาได้บ้าง อย่างไรก็ตามประเทศที่ละเลยหรือไม่ใส่ใจในอุดมการณ์ก็จะได้รับการประณามจากประชาคมโลก มีข้อน่าสังเกตว่าประเทศใหม่ๆที่เกิดขึ้นหลังปฏิญญาดังกล่าวได้ยอมรับอุดมการณ์ดังกล่าวและนำไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศตนเอง

                   
        ความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของอุดมการณ์ที่บริสุทธิ์และที่เป็นเจตนารมณ์เฉพาะของผู้ร่างคำประกาศชาวฝรั่งเศสได้กลายมาเป็นความเชื่ออย่างเป็นทางการของสังคมระหว่างประเทศ ถึงแม่ว่าเงื่อนไขที่ปรากฏนั้นอาจจะไม่พอเพียงแต่ก็ถือว่ามีความสำคัญเพื่อที่ว่าสิทธิต่างๆเหล่านี้สามารถก้าวผ่านขอบเขตของอุดมการณ์ไปสู่ความเป็นจริงได้


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       *. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

       [กลับไปที่บทความ]


       
       
                   
       1. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชน เล่ม 1วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่างๆ,กรุงเทพ,นิติธรรม,2538,หน้า111

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. โภคิน พลกุล,ปัญหาและข้อคิดบางเรื่องในรัฐธรรมนูญ,กรุงเทพ,หน้า91

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3. แปลและเรียบเรียงโดย คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO)

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4. Jean Rivero,Les libert?s publiques Tome 1 Les droits de l'homme,Paris,puf,1997,p.89-90

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5. วิชัย ศรีรัตน์,สิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย,กรุงเทพ,โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , 2543

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       6. โภคิน พลกุล,อ้างแล้ว, หน้า91

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       7. วิชัย ศรีรัตน์,อ้างแล้ว,หน้า92

       [กลับไปที่บทความ]


       
       


       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2545


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544