หน้าแรก บทความสาระ
รุสโซคือต้นแบบประชาธิปไตยในปัจจุบันจริงหรือ โดย อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง
อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย
24 ธันวาคม 2549 19:46 น.
 
คงไม่ช้าเกินไปสำหรับความเห็นต่อวิวาทะของนักวิชาการสองค่ายในมติชนรายวันฉบับประจำวันที่ ๑๗ และ ๓๐ พ.ย.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการตีความเรื่องเจตจำนงทั่วไป(general will)ของรุสโซ (Jean Jacques Rousseu)ระหว่าง สมชาย ปรีชาศิลปะกุล กับ ไชยันต์ ไชยพร ซึ่งต่างก็เป็นกัลยาณมิตรของผมทั้งคู่
       
       แต่ความเห็นที่ผมจะเสนอคงมิใช่ประเด็นของสมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่ว่า “ในทรรศนะของ Rousseu ถือว่าเสียงข้างน้อยหรือผู้ที่มีความคิดเห็นต่างไปจากเสียงส่วนใหญ่เป็นความของผู้หลงผิด ซึ่งจะต้องถูกบังคับให้ยอมรับและปฏิบัติตามในความถูกต้องที่เป็นของเสียงข้างมาก”หรือประเด็นของไชยันต์ ไชยพร ที่ว่า “ในทรรศนะของ Rousseu ถือว่า...ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างไปจากเจตจำนงทั่วไปเป็นความเห็นของผู้หลงผิด ซึ่งจะต้องถูกบังคับให้ยอมรับและปฏิบัติตามในความถูกต้องของเจตจำนงทั่วไป” แต่จะเสนอความเห็นในประเด็นที่ว่าจริงหรือที่ว่ารุสโซคือต้นแบบประชาธิปไตยในปัจจุบันตามที่นักการเมืองบางคนเคยอ้างเพื่อมารองรับความชอบธรรมของตนเอง
       
       หลักคิดสำคัญของรุสโซมีอยู่หลายประการ เช่น รัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนของเจตจำนงทั่วไปนั้นย่อมมีอำนาจปกครองประเทศโดยสมบูรณ์ แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรจะปล่อยให้เอกชนมีสิทธิเสรีภาพตามสมควรภายในขอบเขตแห่งกฎหมาย หน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่เฉพาะแต่ปกครองและรักษากฎหมายเท่านั้น แต่ต้องมีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพของเอกชน คอยดูแลเอกชนไม่ให้ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตที่วางไว้ในกฎหมายไปกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพหรือการใช้สิทธิเสรีภาพของคนอื่นหรือความมั่นคงของรัฐอีกด้วย
       
       รุสโซมุ่งที่จะให้รัฐบาลที่ดีนั้นรู้จัก “ทำให้ประชาชนมีเสรีโดยการทำให้เป็นผู้อยู่ใต้ปกครองด้วยในขณะเดียวกัน” ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลที่ดีต้องใช้วิจารณญาณในการคุมอำนาจและการให้เสรีภาพแก่บุคคลในสถานการณ์ต่าง ๆ ถ้ารัฐบาลใดสามารถทำให้ประชาชนมีเสรีแล้วในขณะเดียวกันก็เป็นพลเมืองดีด้วยแล้ว รัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลที่ควรถูกยกย่องว่ารู้จักและนำศิลปะในการปกครองที่ยอดเยี่ยมมาใช้
       
       นอกจากนี้รุสโซเชื่อว่าถ้าหากยังต้องมีรัฐบาลและสังคมอยู่ สิทธิเสรีภาพนั้นต้องมีขอบเขต จะไม่มีขอบเขตไม่ได้ ถ้าปล่อยให้คนมีสิทธิเสรีภาพอย่างไม่มีขอบเขต สังคมก็จะสลายตัวไป รัฐบาลก็จะหมดอำนาจลง เป็นเหตุให้เกิดอนาธิปไตยขึ้น การปกครองต้องมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเหมาะสม ไม่ปล่อยให้คนมีเสรีภาพมากเกินไปจนควบคุมไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นรุสโซยังเน้นให้รัฐบาลรู้คุณค่าของสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่า “รัฐบาลจะต้องไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพใด ๆ แก่ราษฎร เว้นไว้แต่เรื่องที่เป็นผลดีต่อสังคมเท่านั้น”
       
       
ในส่วนที่เกี่ยวกับเจตจำนงทั่วไปนั้นเป็นสิ่งที่ยังถกเถียงกันมากว่าจะมีผลในทางปฏิบัติเพียงใด นั่นก็คือหลักที่ว่า เจตนาจำนงทั่วไปจะต้องถูกเสมอ เจตนาจำนงทั่วไปจะไม่มีการทำผิด ทั้งนี้ เพราะรุสโซให้เหตุผลว่าเจตจำนงทั่วไปนั้นจะทำเพื่อผลดีของสังคมเท่านั้น การกระทำอะไรที่เป็นผลดีนั้นเป็นการถูกต้องที่มีมาตรฐานดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ถูกก็คือสิ่งที่ทำโดยเจตจำนงทั่วไป สิ่งใดที่ผิดก็ไม่ใช่เจตจำนงทั่วไป แต่ปัญหาหรือข้อโต้แย้งของผมก็คือว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด
       
       
รุสโซเห็นว่า เจตจำนงทั่วไปเกี่ยวข้องเฉพาะการกระทำที่สำคัญ ๆ ไม่เกี่ยวกับคนใดคนหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับให้เอกชนมีสิทธิตัดสินในสิ่งที่ถูก ที่ผิด ในบางครั้งรุสโซเห็นว่าเจตจำนงทั่วไปก็คือมติของเสียงข้างมาก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้แล้วก็หมายความว่าเสียงข้างมากย่อมถูกเสมอไปนั่นเอง ซึ่งผมเห็นว่าไม่จริงเพราะเสียงข้างมากก็อาจจะผิดได้
       
       นอกจากนี้รุสโซยังได้นำเอาเจตจำนงทั่วไปมาปรับเข้ากับหลักการปกครองประชาธิปไตยอยู่หลายตอนดังจะเห็นได้จากความเชื่อของรุสโซที่ว่า เจตจำนงทั่วไปหรืออำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของประชาชน ซึ่งเป็นการยอมรับทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนนั่นเอง
       
       แต่รุสโซเห็นว่า อำนาจอธิปไตยนั้นมีผู้แทนหรือตัวแทนในการปกครอง คือรัฐบาล รัฐบาลจะมีอำนาจมากเพียงใดนั้นอยู่ที่อำนาจอธิปไตยซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของมอบให้ และจะต้องแสดงเจตจำนงไปยังประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่จะสั่งการ ซึ่งในเรื่องอำนาจของรัฐบาลนี้ รุสโซเห็นว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจที่ได้รับมอบหมายไว้แน่นอนตายตัว(vested power)
       
       รัฐบาลในทัศนะของรุสโซนั้นมีฐานะเป็นเพียงคณะกรรมการ (committee) ของประชาชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตยซึ่งหมายความว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ประชาชนจะเห็นสมควรมอบหมายให้ ส่วนระบอบการปกครองนั้นรุสโซไม่นิยมการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีผู้แทนราษฎร คือไม่ชอบรัฐบาลโดยผู้แทน (representative government) หรือรัฐบาลโดยรัฐสภา (parliamentary government) หรือการปกครองประชาธิปไตยทางอ้อม (indirect democracy) รุสโซนิยมในประชาธิปไตยโดยตรง (direct democracy) รุสโซเรียกประชาธิปไตยที่มีผู้แทนราษฎรว่า elective aristocracy
       
       รุสโซมีความนิยมชมชอบประชาธิปไตยโดยตรงของนครรัฐกรีกเป็นอย่างมาก และสนับสนุนว่านั่นคือประชาธิปไตยแท้ เพราะประชาชนสามารถเข้าร่วมประชุมในสภาประชาชนเพื่อออกกฎหมายได้โดยตรงโดยไม่ต้องมีผู้แทนราษฎร รุสโซเป็นผู้เกลียดพรรคการเมืองหรือกลุ่มบุคคลในการเมืองมาก รุสโซเห็นว่าถ้าหากมีการเลือกตั้งหรือมีรัฐบาลหรือผู้แทนราษฎร ก็จะทำให้เกิดการจัดตั้งพรรคการเมืองและจะทำให้การปกครองยุ่งยากเพราะมีการขัดแย้ง และต่อสู้กันระหว่างพรรคการเมืองซึ่งมุ่งแต่มีอำนาจแต่ไม่มีความรับผิดชอบ
       
       แต่ เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) กลับมีความเห็นต่างกับรุสโซมาก เบิร์กเห็นว่าพรรคการเมือง “เป็นคณะบุคคลที่รวมกันและการดำเนินงานร่วมกันนั้นขึ้นอยู่กับหลักการบางหลักที่คณะบุคคลนั้นตกลงกันไว้” โดยเบิร์กเห็นว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยต้องเป็นแบบที่มีผู้แทนราษฎร การปกครองรูปแบบนี้อยู่ที่การเลือกตั้งของประชาชน ประชาชนจะมีเสรีในการเลือกตั้ง มีบุคคลหลายคณะและนโยบายหลายนโยบายเพื่อให้ประชาชนเลือกได้ตามพอใจ เบิร์กเห็นว่าประชาธิปไตยต้องมีพรรคการเมือง (presence of party) ไม่ใช่การขาดพรรคการเมือง (absence of party) ดังที่รุสโซเชื่อถือ
       
       กล่าวโดยสรุปก็คือ รุสโซนั้นเชื่อในประชาธิปไตยโดยตรง ส่วนเบิร์กนั้นเชื่อในประชาธิปไตยโดยผู้แทนนั่นเอง ส่วนว่าเราจะเชื่อใครหรือจะเลือกใช้ในรัฐธรรมนูญใหม่แบบไหน อย่างไร ก็อยู่ที่เราผู้เป็นประชาชน
       
       
อย่าปล่อยให้คนเพียงไม่กี่คนมากำหนดชะตาชีวิตเรา เพราะอำนาจอธิปไตยแท้ที่จริงแล้วเป็นของประชาชน แม้ว่าในบางครั้งจะถูกฉกชิงไปชั่วคราวด้วยอำนาจของเผด็จการทหารหรือเผด็จการพลเรือนก็ตาม แต่ในที่สุดแล้วไม่มีใครสามารถฝืนเจตจำนงของประชาชนได้หรอกครับ
       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544