|
|
|
|
ครั้งที่ 136 |
11 มิถุนายน 2549 21:42 น. |
|
|
|
|
ครั้งที่ 136
สำหรับวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 2549
ขออยู่ข้างหลักนิติรัฐและระบบกฎหมาย
วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมาเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของประเทศไทยและประชาชนชาวไทยเพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ครบ 60 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าว มีสมเด็จพระบรมราชาธิบดีและสมเด็จพระบรมราชินีของต่างประเทศจำนวน 28 ประเทศมาร่วมฉลองสิริราชสมบัติด้วย เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็น ความตึงเครียด ทางการเมืองหรือ ความขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ก็เลยจางหายไปเพราะผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับงานพระราชพิธีฉลองครองราชย์ 60 ปีครับ
เนื่องจากผมมีโอกาสได้ไปประชุมบ่อย ๆ ตามคณะกรรมการต่าง ๆ ที่ส่วนราชการตั้งขึ้นมา ก็เลยทำให้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับข้าราชการระดับกลางและระดับสูงรวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ จากการพูดคุยทำให้ทราบว่าหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราในห้วงเวลาที่ผ่านมาได้สร้างความสับสนทางด้านความคิดให้กับผู้คนจำนวนมาก สังเกตได้จากความเห็นหรือบทสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ที่ปรากฏในสื่อมวลชน โดยประเด็นสำคัญที่สุดที่มีการพูดถึงก็คือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ บทบาท ของศาลยุติธรรมในการแก้ไขปัญหาประเทศ ซึ่งมีทั้งนักกฎหมายและไม่ใช่นักกฎหมายที่ แอบ ให้ข้อสังเกตหรือวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ตามที่ต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ ส่วนบทความหรือข้อเขียนที่มีลักษณะเชิงวิจารณ์นั้นไม่ค่อยพบ ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่คง เกรง ที่จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรครับ
ในฐานะนักวิชาการ ผมคงต้องพูดอะไรบ้าง แต่จะพูดได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องลองติดตามดูครับ โดยปกติเวลาเขียนบทบรรณาธิการ ผมจะเขียนด้วยลายมือแล้วให้ผู้ช่วยไปพิมพ์ ในร่างแรกที่เอามาตรวจดูก็จะเป็น ความในใจ หรือ ความรู้สึก ที่มีต่อเรื่องที่เขียนอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาที่สุด แต่พอร่างที่ 2 ร่างที่ 3 บางครั้งก็ไปถึงร่างที่ 4 ความเห็นของผมก็เริ่ม อ่อนลง เพราะไม่ต้องการความรุนแรงหรือไม่ก็เกรงว่าจะเป็นการ จาบจ้วง กันจนเกินไปครับ ดังนั้น ในครั้งนี้ก็คงเป็นเหมือนทุก ๆ ครั้งที่ผมคงต้อง เกลา บทบรรณาธิการให้ดีก่อนปล่อยออกมาครับ!!!
การที่ศาลยุติธรรมเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศในครั้งนี้ ขอให้ทำความเข้าใจ เบื้องต้น ให้ตรงกันก่อนว่าเป็นกรณี ข้อยกเว้น ครับ การเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศไม่ใช่หน้าที่ของศาลยุติธรรมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติหน้าที่ของศาลยุติธรรมเอาไว้ว่า ให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงเว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ซึ่งตรงนี้หากเราไปดูกฎหมายทั้งหมดในสารบบกฎหมายของประเทศไทยก็จะไม่พบกฎหมายใดเลยที่บัญญัติให้ศาลยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวพันกับ การเมือง ดังเช่นที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ฐานของการเข้ามาแก้ปัญหาหรือเข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหาของประเทศของศาลยุติธรรมในครั้งนี้จึงอยู่ที่พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ที่ผ่านมานั่นเองครับ
ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 133 สำหรับวันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมานั้น ผมได้เสนอความเห็นว่า พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นฝ่ายต่าง ๆ ต่างก็ออกมาแปลความเข้าข้างตัวเองก็มี โจมตีฝ่ายตรงข้ามก็มาก แต่อย่างไรก็ตาม แก่น ของพระราชดำรัสคงอยู่ที่การที่ทรงมอบความไว้วางใจในศาลทั้ง 3 ศาล คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ให้เข้ามาร่วมกัน หาทางออก ให้กับประเทศชาติให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้โดยให้ศาลยุติธรรมเป็น แกนกลาง ในการแก้ปัญหา จากวันนั้นถึงวันนี้ เราก็ได้เห็น บทบาท ของศาลทั้ง 3 กันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทในการตัดสินข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติของประเทศ เช่น การที่ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองกลางตัดสินให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นโมฆะ หรือบทบาทในการร่วมกันหาทางออกให้แก่ประเทศชาติของศาลทั้ง 3 ด้วยการมี ข้อเสนอแนะ ออกมา ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นก็คงจะอยู่ในสภาพที่แม้จะมีผู้อยากแสดงความเห็นแต่เนื่องจากฐานความผิด หมิ่นศาล ยังมีอยู่ก็เลยทำให้ไม่ค่อยมีคนกล้าออกมาแสดงความเห็นกันเท่าไรครับ
เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 มีประเด็นที่น่าสนใจเกิดขึ้นประเด็นหนึ่งครับ คงจำกันได้ว่า เมื่อไม่นานมานี้ภายหลังจากที่ประมุขของศาล 3 ศาลได้ประชุมร่วมกันแล้วก็ได้มีการแถลงข่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ยังมีอยู่อีก 3 คนควรจะ ลาออก เพื่อชาติ ไม่กี่วันหลังจากนั้น วุฒิสภาก็ได้มีหนังสือขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดำเนินการตามมาตรา 138(2) แห่งรัฐธรรมนูญคือ พิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างจำนวน 2 คน แล้วเสนอต่อประธานวุฒิสภาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ที่ว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจก็เพราะประการแรกนั้นวุฒิสภาโดยประธานวุฒิสภาก็รู้อยู่แก่ใจเต็มอกแล้วว่า ศาล คงไม่ยอม ร่วมมือ กับวุฒิสภาสรรหาคนเข้าไปเป็นกรรมการการเลือกตั้งอีก 2 คนแน่ ๆ เพราะ ศาล ได้ออกมาเสนอให้กรรมการการเลือกตั้งที่ยังมีอยู่อีก 3 คน ลาออกเพื่อชาติ ไปแล้ว ส่วนประการที่สองในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 เรื่อง เพิกถอน การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ก็ได้ ลงโทษ คณะกรรมการการเลือกตั้งไปแล้วว่า เป็น ส่วนหนึ่ง ของการก่อให้เกิดวิกฤตของประเทศ แต่ประธานวุฒิสภาก็ยัง ดื้อ เสนอขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง 2 คน
เมื่อผมได้รับทราบผลการตัดสินใจของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดังกล่าว ผมก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไรเลยเพราะคาดเดาได้อยู่แล้วว่าผลคงออกมาเช่นนั้น แต่เมื่อผมได้อ่านบันทึกของประธานศาลฎีกาที่ได้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว แม้ส่วนหนึ่งผมจะมีความรู้สึก สะใจ แต่ในอีกส่วนหนึ่งแล้วก็มีความรู้สึก ตกใจ ในถ้อยคำหลาย ๆ ตอนที่ผมค่อนข้างเป็นห่วงว่าในวันข้างหน้า อนุชนรุ่นหลังที่ไม่เข้าใจในเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนี้จะเกิดความเข้าใจผิดในบทบาทของศาลฎีกาครับ
การสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็น หน้าที่ ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่รัฐธรรมนูญมาตรา 138 มอบให้ หน้าที่ดังกล่าวทำให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีสถานะเป็น คณะกรรมการสรรหา ผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญครับ เพราะฉะนั้นการไม่เสนอชื่อบุคคลใดเข้าไปเป็นกรรมการการเลือกตั้งจึงเป็นการดำเนินการในฐานะ คณะกรรมการสรรหา มิใช่ในฐานะ ศาล ที่มีหน้าที่ในการพิพากษาคดี แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่มีการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งก็เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ที่กล่าวว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมาโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดผลการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ
หลาย ๆ ครั้งที่ผมนึกและถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า เราอยู่ในประเทศที่มีการปกครองแบบ นิติรัฐ หรือไม่ เพราะในช่วงหลายๆเดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นที่แสดงให้เห็นถึงการไม่เคารพกฎหมายของประเทศ เช่น ขบวนการพันธมิตรกู้ชาติปิดถนนก็บอกว่าเป็น สิทธิ ที่จะทำได้ เป็นต้น ผมอยากจะถามว่าแล้วกฎหมายที่เป็น ลายลักษณ์อักษร ที่อุตส่าห์เขียนกันมานานร่วมร้อยปีจะมีไว้เพื่อใช้ทำอะไรครับ ผมไม่ได้คิดที่จะเข้าข้างคณะกรรมการการเลือกตั้งเพราะผมไม่เคย ศรัทธา องค์กรนี้ แถมเมื่อมีปัญหาและตนเองก็ทราบอยู่แล้วว่า ข้อเสนอแนะ ของฝ่ายศาลนั้นเป็นสิ่งที่ ควร ปฏิบัติตามหรือร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ หาทางออกที่ดีและสวยงามให้กับประเทศ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งกลับเพิกเฉยและในบางเรื่องบางครั้งก็ยังออกอาการ ท้าทาย อีกด้วย แต่ที่ต้องออกมาเขียนในวันนี้ก็เพราะเป็นห่วงอนาคตของวงการนิติศาสตร์ของเราครับ เพราะเมื่ออ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ดูก็จะพบว่ามี ธงคำตอบ อยู่แล้วก็คือการ ล้มการเลือกตั้ง 2 เมษายน ในขณะที่เหตุผลที่นำไปสู่การล้มการเลือกตั้งกลับกลายเป็นเหตุผลที่ขาด ฐานความผิด ทางนิติศาสตร์อย่างชัดแจ้ง ซึ่งเมื่อทำความเข้าใจในจุดนี้ได้แล้วก็จะพบว่า คงเป็นเหตุที่ยังทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยังคงเหนียวแน่นกับการดำรงตำแหน่งของตนอยู่ เราต้องหาคำตอบในจุดนี้ให้ได้ก่อนว่าในทาง กฎหมาย นั้น สมควรหรือไม่ที่จะ ลงโทษ คณะกรรมการการเลือกตั้งดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาเพราะในวันนี้มีเพียงเหตุผลที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ที่ไม่ใช่เป็นเหตุผลทาง กฎหมาย เท่านั้นที่นำมาใช้เป็น หลัก ในการ กล่าวโทษ คณะกรรมการการเลือกตั้งครับ ที่ผ่านมายังไม่มีการพิพากษาคดีความผิดของคณะกรรมการการเลือกตั้งเลยแม้แต่กรณีเดียว ซึ่งจริงๆแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญ สามารถ วินิจฉัย ล้มการเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลเหล่านั้นได้ก็ น่าจะ วินิจฉัยต่อไปได้ว่าด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งขาดคุณสมบัติพื้นฐานที่ควรมี ตามมาตรา 136 แห่งรัฐธรรมนูญ คือความเป็นกลางทางการเมืองครับ !!! เพราะถ้าวินิจฉัยชี้ชัดว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญขนาดนี้แล้วยัง ดื้อ อีกก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้วครับ !!
ผมมีประเด็นสงสัยหลายประเด็นภายหลังจากที่ได้อ่านบันทึกของประธานศาลฎีกา ประเด็นแรกก็เป็นดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ในประเทศที่มีกฎหมายเป็นหลักแบบบ้านเรา มีศาลที่ทำหน้าที่พิพากษาชี้ขาดความผิด เราสามารถ ลงโทษ คนโดยที่ศาลยังไม่ได้ใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาความผิดได้หรือเปล่าครับ ก็ขนาดอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่ง ถูกศาลสั่งลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญาไว้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำวินิจฉัยว่า การรอการลงโทษมิใช่เป็นการพิพากษาให้จำคุก จึงไม่ถือว่าอดีตรัฐมนตรีคนนั้นต้องคำพิพากษาให้จำคุก จึงไม่ขาดคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรีครับ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 36/2542) !!! แล้วในวันนี้ ในเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาพิพากษาความผิดโดยศาลเลย แต่เราด่วน ตัดสิน กันไปเองก่อนหน้านี้แล้ว ผมไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งที่ ถูกต้อง หรือไม่ครับ ส่วนประเด็นที่สองนั้นเกิดขึ้นจากการที่ผมอ่านพบข้อความตอนหนึ่งที่ว่า แต่ในเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะว่างเว้นรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสงวนรักษาระบอบการปกครองและความสงบสุขแห่งราชอาณาจักรไว้ พระมหากษัตริย์ย่อมทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านทางศาลได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ข้อความนี้ผมสงสัยว่า การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีทั้งรัฐบาลรักษาการกับวุฒิสภารักษาการ จะถือว่าเป็นกรณีที่ประเทศต้องตกอยู่ในภาวะว่างเว้นหรือไม่ และการ อ้าง พระราชดำรัสว่า ศาลสามารถใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ได้ หมายความว่าอย่างไรและจะถือว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใดครับ และประเด็นสำคัญก็คือ เราจะนำมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญมาใช้ได้ในกรณีใดบ้างและอย่างไร ประเด็นข้อสงสัยเหล่านี้คงมาจากนักกฎหมายธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่อ่านบันทึกของประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่ทำหน้าที่พิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง ครับ!
ข้อเขียนของผมในครั้งนี้คงสร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนหนึ่งเพราะคิดว่าผมคงอยู่ข้างรัฐบาลหรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วผมยืนอยู่ข้างหลักนิติรัฐและระบบกฎหมายครับ
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความจำนวนมากส่งเข้ามาร่วมกับเรา ผมคงขอนำมานำเสนอเพียง 3 บทความก่อน บทความอื่นๆขอติดเอาไว้คราวหน้านะครับ เริ่มจากบทความแรกคือ พรรคไหนจะถูกยุบกันแน่? โดยอาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ บทความที่สองคือบทความเรื่อง ภาษาคน ภาษากฎหมาย โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระและบทความสุดท้ายเป็นบทความของคุณสโรช สันตะพันธุ์ นิสิตปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง พระพุทธศาสนากับหลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน ทั้ง 3 บทความนี้เขียนโดยนักวิชาการที่เราคุ้นเคยกันดีเพราะเคยส่งบทความมาร่วมกับเราแล้วหลายครั้งซึ่งผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสามมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่ วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2549
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|