ครั้งที่ 135
สำหรับวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2549
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากขยะและจากนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น
สองอาทิตย์ที่ผ่านมา แม้ผู้คนจำนวนมากในสังคมจะพยายามบอกตัวเองว่า เราหาทางออกให้กับเรื่องยุ่ง ๆ ทางการเมืองได้แล้ว แต่ลึก ๆ เราก็รู้กันอยู่แก่ใจว่าเรายังไม่พบทางออก! แถมยังน่าจะเกิดเรื่องยุ่งมากกว่าเข้าไปอีกเพราะหากรัฐบาลชุดนี้ต้องรักษาการต่อไปจนถึงปลายปี อะไรจะเกิดขึ้นตามมาก็ไม่รู้เพราะหลังจาก ทักษิณ...ออกไป เหตุการณ์ก็พัฒนามาเป็น กกต. ...ออกไป บังเอิญในวันนี้ กกต.ก็ยังไม่ออก แถมทักษิณก็กลับมาอีก กลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้กุมชะตากรรมของประเทศจะ เล่น อะไรอีกก็ไม่ทราบ คาดเดาไม่ได้ครับว่าจะมีหรือไม่มีปัญหาตามมา พอดีผมมีโอกาสไปดูงานที่ญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ก็เลยขอพักการเมืองไว้ชั่วคราวก่อนแล้วก็จะขอเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ผมได้ไปพบมา เผื่อวันข้างหน้า รัฐบาลใหม่สนใจอาจนำไปลองทำดูก็ได้ครับ
ผมเดินทางมาที่เมือง Fukuoka ประเทศญี่ปุ่นกับคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ผมเป็นกรรมการอยู่ด้วย วัตถุประสงค์ของการมาครั้งนี้ก็เพื่อดูโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากนิวเคลียร์ที่เมืองนี้ที่ว่ากันว่าทันสมัยและปลอดภัยมาก แต่อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เสียเที่ยว เขาก็เลยจัดให้เราชมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากขยะด้วยครับ
ก่อนที่จะเข้าสู่รายละเอียด คงต้องเล่าให้ฟังถึงเรื่อง โรงไฟฟ้า กันก่อน โรงไฟฟ้า (power plant) เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าไปใช้ในกิจการต่างๆ แหล่งผลิตไฟฟ้าเหล่านี้จะต้องมีเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า เช่น ถ้าเราใช้น้ำเป็นวัสดุในการผลิต เราจะเรียก โรงไฟฟ้าพลังน้ำ (hydro power plant) ถ้าเราใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมัน, ก๊าซ, ขยะ หรือนิวเคลียร์ ไปเผาในหม้อน้ำร้อนที่มีน้ำบรรจุอยู่ เพื่อทำให้น้ำกลายเป็นไอ เราเรียกโรงไฟฟ้าประเภทนี้ว่า โรงไฟฟ้าพลังความร้อน (thermal power plant) ในภาพรวม แต่เราจะเรียกเจาะจงลงไปของแต่ละประเภทเชื้อเพลิงได้ เช่น โรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง เราจะเรียกว่าโรงไฟฟ้าขยะ (incinery power plant) หรือถ้าเราใช้นิวเคลียร์เป็นเชื้อเพลิง เราจะเรียกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (nuclear power plant) การทำงานของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจะเริ่มจากการเผาเชื้อเพลิงเพื่อไปต้มน้ำที่บรรจุในหม้อน้ำ เมื่ออุณหภูมิของน้ำสูงและเดือดกลายเป็นไอ ไอน้ำจะไหลไปตามท่อเพื่อไปทำหน้าที่ขับเคลื่อน steam turbin generator ให้หมุน และตัว generator จะทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้า การผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากเชื้อเพลิงบางประเภทจะก่อให้เกิดมลภาวะที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิง เช่นถ้าเราใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ก็จะทำให้เกิดก๊าซที่ก่อให้เกิดมลภาวะ คือ ก๊าซคาร์บอนโมน็อกไซด์, ก๊าซซัลเฟอร์ไดอ็อกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนอ็อกไซด์ แต่การผลิตพลังงานความร้อนจากที่ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาระบบป้องกัน ทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ ที่เรียกว่า โรงไฟฟ้าขยะ (incinery power plant) เป็นโรงงาน clean energy นั่นคือ ก๊าซที่ปล่อยออกมาเป็นก๊าซที่สะอาด ไม่มีสิ่งที่ก่อให้เกิดมลภาวะ เช่นเดียวกับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เป็นโรงงานชนิด clean energy เหมือนกัน
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากขยะที่เมือง Fukuoka นี้มีความทันสมัยมาก เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัทผลิตไฟฟ้าชื่อ Kyushu Electric Power Co.,Inc (KEPCO) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในเมือง Fukuoka กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งเมือง Fukuoka โดย KEPCO ถือหุ้นร้อยละ 49 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือหุ้นร้อยละ 51 ความเป็นมาของการตั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากขยะก็คือ รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นว่ามีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากมายเหลือเกิน และขยะก็เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญประการหนึ่ง เพราะทุกเวลาจะมีขยะที่เกิดจากการกระทำทั้งของมนุษย์และของธรรมชาติ การกำจัดขยะด้วยวิธีทั่ว ๆ ไปที่ใช้กันอยู่ เช่น การเผา หรือการฝังก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่กลับจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีกเพราะเผาขยะก็เกิดมลพิษทางอากาศ ฝังขยะก็เกิดมลพิษต่อดินและน้ำ ด้วยเหตุนี้เองที่การกำจัดขยะจึงต้องใช้วิธีที่ไม่ทำให้เกิดมลพิษเพิ่มขึ้นมาอีก จึงเกิดการตั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากขยะขึ้นมาครับ การตั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากขยะนี้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก รัฐบาลญี่ปุ่นจึงให้เงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งด้วย ส่วนการดำเนินงานก็ไม่มีอะไรยุ่งยากสลับซับซ้อนเท่าไรนัก จุดเริ่มต้นก็อยู่ที่ว่า เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการกำจัดขยะอยู่แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมทุนกับบริษัท KEPCO ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาคือบริษัทโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากขยะชื่อว่า Fukuoka Clean Energy Co.,Inc โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอนุญาตให้บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นเข้ามาทำหน้าที่กำจัดขยะในเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งเมือง Fukuoka องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ได้ร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่ต้องจ่ายค่ากำจัดขยะให้กับบริษัทใหม่นี้ด้วยเพราะการกำจัดขยะเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ทำเองจึงต้องไปว่าจ้างบริษัทใหม่ให้ทำแทนตน ในขณะที่บริษัท KEPCO ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไปทำสัญญากับบริษัทใหม่เพื่อซื้อไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากขยะผลิตได้ ส่วนบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นคือ Fukuoka Clean Energy Co.,Inc ก็จะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับKEPCOครับ ผมสรุปง่าย ๆ ก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องกำจัดขยะอยู่แล้ว ก็เลยชวนเอกชนที่มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้ามาร่วมลงทุน ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการ ทำลาย ขยะก็คือ ได้กระแสไฟฟ้าเอามาขายครับ
ได้ถามทางบริษัทโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากขยะว่า มีกำไรหรือขาดทุน คำตอบก็ไม่ค่อยชัดเท่าไหร่เพราะเพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อปี ค.ศ.2005 นี้เอง แต่ก็เข้าใจว่า คงขาดทุนเพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจ้างเอกชนเก็บขยะจากบ้านมา ทิ้ง ที่โรงไฟฟ้า ส่วนกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะก็ยุ่งยากพอสมควรเพราะต้องมีการแยกขยะบางอย่างออกไปก่อน จากนั้นก็เผาขยะด้วยความร้อนสูงแล้วก็ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ดังที่เล่าไปแล้วข้างต้น เพื่อให้ออกมาเป็นไฟฟ้าและนำไปจำหน่ายให้กับประชาชนซึ่งในทางปฏิบัติขยะนี้ก็ยังผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาไม่มากนัก
ข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะแห่งนี้คือ ไม่มีกลิ่นหรือไม่มีควันพิษออกมาจากโรงงาน ตัวโรงงานตั้งอยู่กลางหุบเขาห่างไกลจากชุมชนครับ ผมเองคิดว่าน่าสนใจพอสมควรหากเราจะทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะทำโรงงานลักษณะนี้ แต่ก็ต้องให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้เพราะลำพังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองแล้วคงเอาตัวรอดลำบากครับ
|
|
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากนิวเคลียร์ก็น่าสนใจมาก จากข้อมูลที่ทางญี่ปุ่นมอบให้ ทราบว่าในโลกนี้มีโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์อยู่ทั้งหมด 439 แห่ง โดยอยู่ในสหรัฐอเมริกา 104 แห่ง ฝรั่งเศส 60 แห่ง ส่วนในเอเชียก็มีญี่ปุ่น 54 แห่ง เกาหลีใต้ 20 แห่ง และในจีนอีก 9 แห่ง เป็นที่น่าสนใจมากว่าทำไมญี่ปุ่นซึ่งยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะถูกสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงใส่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ทำให้มีคนตายจำนวนมากจึงได้เลือกที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากนิวเคลียร์ เหตุผลก็คงเพราะญี่ปุ่นไม่มีวิธีการอื่นที่ดีกว่าในการผลิตไฟฟ้า ไม่มีที่ดินมากพอจะสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าจากแรงดันของน้ำ และนอกจากนี้จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าก็ทราบว่า การผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนจากนิวเคลียร์มีต้นทุนค่าไฟถูกกว่าวิธีอื่นมากครับ
ในประเทศไทยถ้าผมจำไม่ผิด เราเคยพูดกันถึงเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากนิวเคลียร์กันหลายครั้ง แต่ก็มีการต่อต้านและไม่ยอมรับกันโดยประเด็นสำคัญก็คือเรื่องมลพิษและความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นที่ผมไปดูงานมาก็คือ Kyushu EPCo., Genkai Nuclear Power Station ได้เล่าให้ผมฟังว่า การรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญมาก โรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากนิวเคลียร์จะเปิดทำงานเป็นเวลา 13 เดือน จากนั้นก็จะต้องหยุดเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของระบบทั้งหมดและของอาคารทุกส่วน เกณฑ์ดังกล่าวเป็นเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายของญี่ปุ่นครับ ส่วนเรื่องผู้คนวิตกกันมากก็คือ กาก ของนิวเคลียร์นั้นก็ทราบว่า แร่ยูเรเนียมที่นำมาใช้ในโรงไฟฟ้านั้น โดยปกติสามารถใช้งานได้ 3 ปี หลังจาก 3 ปี เนื่องจากต้องผ่านการทำให้ความร้อนมากเป็นเวลานาน จึงต้องทำให้ยูเรเนียมเย็นตัวลงก่อนด้วยการนำไปแช่น้ำไว้ในสถานที่ที่ก่อสร้างไว้ในโรงงานเป็นเวลา 5 ปีเพื่อให้แร่ยูเรเนียมเย็นลง จากนั้นก็จะนำแร่ยูเรเนียมไปปรับสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ซึ่งแต่เดิมมีประเทศฝรั่งเศสเพียงประเทศเดียวที่สามารถปรับสภาพแร่ยูเรเนียมให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ในปัจจุบันญี่ปุ่นสามารถทำได้แล้วเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาเรื่องกากหรือของเสียที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนจากปรมาณู
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากนิวเคลียร์ที่ผมได้ไปเยี่ยมชมอยู่ที่เมือง Genkai ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง Fukuoka เพียง 2 ชั่วโมงนี้ เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าทั่ว ๆ ไปของญี่ปุ่นครับ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากนิวเคลียร์ที่เมือง Genkai นี้ มีอยู่ 4 โรงด้วยกันและอยู่ในบริเวณเดียวกันทั้งหมด โรงแรกสร้างในปี ค.ศ.1975 โดยในขณะนั้นทางองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัดได้ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจตั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากนิวเคลียร์เสนอโครงการซึ่งบริษัท Kyushu Electric Power Co.,Inc หรือ KEPCO ก็ได้งานนี้มาทำ โดยโรงไฟฟ้าโรงแรกเปิดทำการในปี ค.ศ.1975 ต่อมาโรงที่สองเปิดทำการในปี ค.ศ.1981 โรงที่สามในปี ค.ศ.1994 และโรงที่สี่ในปี ค.ศ.1997 จากการสอบถามทราบว่า รัฐบาลมีนโยบายให้มีการจัดสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากนิวเคลียร์อยู่แล้ว จึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนใจไปจัดทำโครงการและหาตัวผู้ดำเนินการ เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตัวผู้สนใจก็จะเสนอโครงการให้รัฐบาลพิจารณา โครงการที่เสนอต่อรัฐบาลต้องมีรายละเอียดสำคัญ ๆ เช่น สถานที่ตั้ง มาตรการในการรักษาความปลอดภัย สถานะทางการเงินของผู้เสนอโครงการ เป็นต้น เมื่อรัฐบาลเห็นด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไปทำสัญญากับผู้เสนอโครงการเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ต่อไป
|
|
สำหรับหลักเกณฑ์ในการเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากนิวเคลียร์นั้น หลักสำคัญก็คือต้องตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นหินแข็ง เนื่องจากญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวง่าย และนอกจากนี้ก็ต้องตั้งอยู่ใกล้ทะเล เนื่องจากต้องนำน้ำทะเลมาใช้ในระบบหล่อเย็นในโรงงาน สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าต้องเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่มาก แต่ก็ต้องไม่ไกลจากชุมชนมากนักเพราะต้องขายไฟที่ผลิตได้ให้กับประชาชนในละแวกใกล้เคียงได้ ส่วนกระบวนวิธีผลิตไฟฟ้าก็คือ ทำให้ยูเรเนียมที่อยู่ในเตาปฏิกรณ์ร้อน เมื่อมีน้ำไหลผ่านด้านนอกเตา น้ำก็จะร้อน (ประมาณ 360°C ) เกิดไอน้ำไปหมุนเครื่องปั่นไฟแล้วก็เกิดกระแสไฟฟ้า ฟังดูแล้วไม่ยากแต่พอเข้าไปดูข้างในแล้วยุ่งยากและสลับซับซ้อนมากครับ เพราะตัวเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้นต้องฝังอยู่ใต้ดินค่อนข้างลึก แต่ก็มีบางส่วนอยู่เหนือพื้นดิน ผนังเตาหนา 1.30 เมตร เรียกว่าป้องกันเต็มที่ไม่ให้เกิดการรั่วได้ ส่วนยูเรเนียมที่ใช้แล้วประมาณ 3 ปี และได้ผ่านการนำมาแช่น้ำเย็นไว้ 5 ปี ก่อนนำไปปรับสภาพนั้น ผมได้เข้าไปดูในบ่อแช่น้ำในโรงงานก็น่ากลัวมากครับ มีลักษณะเหมือนสระว่ายน้ำขนาดยักษ์ แต่ลึกหลายสิบเมตรเลยครับ
|
|
ก็ต้องขอขอบคุณการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)เป็นอย่างมากที่ได้จัดให้ผมไปดูงาน ที่ได้ความรู้มากเหลือเกินครับ สำหรับผู้ที่ต้องการทราบรายละเอียดมากกว่านี้ผมมีข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษอยู่ด้วย ใครสนใจก็มาขอถ่ายเอกสารเอาไปได้นะครับ
เนื่องจากในสัปดาห์นี้เรามีบทความนำเสนอ 3 บทความครับ ด้วยเหตุนี้ ผมยังขอเก็บบทความเรื่อง สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญเวเนซุเอลา ของผมเอาไว้ก่อน บทความในสัปดาห์นี้ บทความแรกนั้นไม่ได้เป็นบทความแต่เป็นเอกสารที่ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการปาฐกถาในงานรำลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2549 ที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง เราจะตั้งชื่อระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ว่าระบอบอะไร บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง ความผิดที่ถึงขั้นจะต้องยุบพรรคการเมือง โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง และบทความสุดท้ายเป็นบทความของนักศึกษาระดับปริญญาเอก ณ ประเทศฝรั่งเศส คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ ที่หายไปจากเราเสียนาน คราวนี้กลับมาใหม่ด้วยสุดยอดบทความ เรื่อง ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (ตามหลัก équité) ผมขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2549
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|