หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 132
16 เมษายน 2549 23:14 น.
ครั้งที่ 132
       สำหรับวันจันทร์ที่ 17 เมษายนถึงวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2549                        
       “จะปฏิรูปการเมืองกันอย่างไร”
       

       ในช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในระบบการเมืองการปกครองของไทย มีข่าวต่าง ๆ ออกมามากมาย ก็คงต้องตั้งสติกันให้ดี ๆ คิดอะไรให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจ “เชื่อ” ครับ เราได้เห็นความหลากหลาย “รูปแบบ” ของการคัดค้านระบบการเมืองการปกครองของไทยทั้งรูปแบบที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ยังไงก็คงต้องยึดถืออะไรกันไว้บ้างครับ การคัดค้านทำได้ แต่ไม่ควรเลือกใช้วิธีที่ผิดกฎหมาย คงต้องยึดถือกฎหมาย กฎกติกาต่าง ๆ และรักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ แม้เราจะพูดกันมากในช่วงเวลานี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหา แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในวันนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีผลใช้บังคับอยู่ครับ !
       พูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คงไม่ลืมว่าเราดีใจกันแค่ไหนเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลใช้บังคับ เราภูมิใจกันมากว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างกลไกใหม่ ๆ ขึ้นมา สร้างระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ดีที่สุดเพราะมีองค์กรตรวจสอบหลายองค์กร แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับมาระยะเวลาหนึ่ง เราก็พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นซึ่งในส่วนตัวของผมเองแล้วผมก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไรนักว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากตัวรัฐธรรมนูญเองหรือมาจากพฤติกรรมของผู้ใช้รัฐธรรมนูญ หากจะสรุปปัญหา “หนัก ๆ” ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วถูก “โยนความผิด” ไปให้รัฐธรรมนูญ ก็จะพบว่ามีอยู่ 3 ปัญหาด้วยกันคือ ระบบการตรวจสอบฝ่ายบริหารที่ไม่สามารถทำได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ กระบวนการสรรหาผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มาจากการคัดเลือกของวุฒิสภา และการมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของนายกรัฐมนตรีโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นฐานอำนาจเนื่องจากรัฐธรรมนูญสร้างภูมิคุ้มกันให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ไม่ถูกลูกพรรคทรยศได้ง่าย ไม่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ง่าย จึงส่งผลทำให้นายกรัฐมนตรีมีความ “เข้มแข็ง” มากเกินไป !! ปัญหาทั้งสามประการนี้จึงน่าจะเป็นปัญหาหลักและเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในทุกวันนี้ และด้วยปัญหาทั้งสามนี้เองที่ทำให้เกิดความคิดที่ว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใหม่ด้วยการปฏิรูปการเมือง
       ในวันนี้ เราพูดถึงการปฏิรูปการเมืองกันมากเหมือนกับว่าการปฏิรูปการเมืองเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาของประเทศได้ ในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง ผมเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะ “ฉีกทิ้ง” รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มีส่วนดีอยู่มาก ที่คิดว่าควรทำก็คือปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้สมบูรณ์เพื่อแก้ปัญหาทั้ง 3 ประการที่กล่าวไว้ข้างต้นได้ โดยขั้นตอนที่จะต้องทำควรเป็นดังนี้ คือ
       1.จัดให้มีการรวบรวมประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา แล้วนำมาแยกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติผิด ๆ เช่น นำบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาใช้ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตีความหรือให้ความเห็นผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะด้วยความ “ตั้งใจ” หรือด้วยความ “ไม่ชำนาญ” ของผู้ตีความ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่สองคือปัญหาที่เกิดจากข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหารอย่างมากจนทำให้ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เป็นต้น
       2. นำประเด็นทั้งสองกลุ่มมาวิเคราะห์แยกให้เป็นหมวดหมู่ ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติผิด ๆ สามารถแก้ไขได้ด้วยการวางกฎเกณฑ์ หรือไม่ก็แก้ไขด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญขยายความให้ชัดเจนขึ้น ส่วนปัญหาที่เกิดจากข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญก็จำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเพื่อหาช่องทางที่จะ “ปิดประตู” ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นได้
       3. มีส่วนที่ต้องเพิ่มเอาไว้ในรัฐธรรมนูญหลายประการ เช่น
       ก) กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ คงจะต้องมีการยกเครื่องใหม่ครับ! ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติให้ความผิดฐานโกงแผ่นดินเป็นความผิดที่  “ไม่มีอายุความ” เมื่อใดก็ตามที่พิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินของนักการเมืองผู้ใดได้มาโดยมิชอบ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ลูกหรือหลานนักการเมืองผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นจะต้อง “รับผิดชอบ” ต่อบ้านเมืองครับ กระบวนการนี้หากเราสามารถออกแบบและสร้างกลไกในการตรวจสอบที่ดีและได้ผลจริงจัง ก็คงทำให้การใช้อำนาจของนักการเมืองเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวลดน้อยลงไปได้อีกมากครับ
       ข) ปัญหาเรื่องการทุจริตของผู้มีอำนาจ เราพบว่า 5 ปีของรัฐบาลทักษิณนั้นประสบความ “ล้มเหลว” ในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะเกิด “ปัญหา” ขึ้นกับคณะกรรมการป.ป.ช.และระบบตรวจสอบโดยสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากฝ่ายค้านมีจำนวนเสียงที่จะขอเปิดอภิปรายไม่มากพอ คงต้องหามาตรการใหม่ที่ได้ผลกว่ามาตรการที่มีอยู่และก็จะต้องวางมาตรการให้เป็นระบบให้รวมไปถึงการที่เอกชนทำผิดเรื่องทุจริตร่วมกับนักการเมืองก็จะต้องใช้มาตรการเดียวกัน ในเรื่องนี้ประเทศฝรั่งเศสได้แก้ไขรัฐธรรมนูญไปเมื่อปี ค.ศ.1993 และตั้งศาลพิเศษขึ้นมาเพื่อพิจารณาความผิดทางอาญาของรัฐมนตรีและผู้ร่วมกระทำการครับ นอกจากนี้ คงต้องหาทาง “ป้องกัน” การคอร์รัปชั่น “ทางนโยบาย” ด้วยครับ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ กำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไว้ให้สามารถทำได้ไม่ยากครับ
       ค) ผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง ควรศึกษาให้ละเอียด วางกลไกให้ดีและกำหนดให้มีโทษทางอาญาสูง ๆ เพื่อให้คนที่ตัดสินใจเข้ามาเล่นการเมืองต้องตัดสินใจ “ทิ้ง” ธุรกิจของตนอย่างจริงจังครับ คงต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันมาแล้ว
       ง) ที่มาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาคำว่า “สีเทา” ถูกนำมาใช้กับบุคคลที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกจากวุฒิสภาให้เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีข้อสงสัยว่าวุฒิสภา “ไม่เป็นกลางทางการเมือง” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกคงต้องเปลี่ยนระบบสรรหาหรือคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญใหม่ให้ปลอดจากการแทรกแซงของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร คงต้องมีการนำเอาข้อบกพร่องต่าง ๆที่เกิดขึ้น มาศึกษาวิเคราะห์ ทั้งข้อบกพร่องของวิธีการได้มาและข้อบกพร่องด้านคุณสมบัติ (เช่น นักกฎหมายมหาชนที่มีคนจำนวนมาก “อ้าง” ว่าตนเองคือนักกฎหมายมหาชน!!!) เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้บังคับก็ล้มกระดานเสียแล้วหาคนใหม่ด้วยกระบวนการใหม่เข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญครับ
       จ) ทบทวนสถานะขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ คงต้องมานั่งทบทวนกันใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กรที่ “ไม่มีอำนาจ” เป็นของตนเองเช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาหรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น สมควร “มีอยู่” ต่อไปหรือไม่ ถ้าจะให้มีอยู่ต่อก็น่าที่จะเพิ่ม “เขี้ยวเล็บ” ให้บ้างเพื่อที่จะได้มีอำนาจในการดำเนินงานสำคัญๆได้
       นอกจากนี้แล้ว ก็สมควรทบทวนบทบาทขององค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กรที่มีอยู่แต่ผลการดำเนินงาน “ไม่เข้าตา” ประชาชน ยกตัวอย่างเช่น ศาลรัฐธรรมนูญที่แม้จะให้ข่าวว่าในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาจะมีคำร้อง 630 คำร้องและพิจารณาแล้วเสร็จไปเกือบหมด แต่คำถามที่ตามมาก็คือ การพิจารณาคำร้องจำนวนมากเสร็จจนแทบจะไม่มีเรื่องค้างซึ่งถือเป็นการทำงานในเชิง “ปริมาณ” นั้นมีความสัมพันธ์กับคำวินิจฉัยที่ดี มีตรรกะทางกฎหมายและมีการสร้างหลักกฎหมายมหาชนใหม่ๆขึ้นมาที่สังคมและนักวิชาการยอมรับ ซึ่งถือเป็นการทำงานในเชิง “คุณภาพ” มากน้อยเพียงใดครับ !!! ผมเข้าใจว่า “คุณภาพ” น่าจะเป็นสิ่งที่สังคม “ยกย่อง” มากกว่า “ปริมาณ” นะครับ !!! จริงๆแล้วผมมีประเด็นอื่นอีกมากมายที่เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายที่จะวิพากษ์แต่ก็ของติดเอาไว้ก่อนครับ
       ฉ) การให้สิทธิประชาชน “ตรวจสอบ” การใช้อำนาจรัฐ ผมมีข้อเสนอว่าควรเพิ่มการให้ประชาชนสามารถนำคดีที่มีมูลชัดแจ้งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง กระบวนการนี้หากเป็นไปได้ก็จะเพิ่ม “เขี้ยวเล็บ” ให้กับการตรวจสอบโดยประชาชนมากขึ้น แต่ก็ต้องวางระบบกลั่นกรองเรื่องที่จะเข้าสู่กระบวนการให้ดีๆ มิฉะนั้นก็จะไปสร้างภาระที่ไม่จำเป็นให้กับศาลทั้งสองครับ
       ช) การมีส่วนร่วมของประชาชน แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะบัญญัติไว้ในมาตรา 59 ถึงกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่จนกระทั่งปัจจุบันเราก็ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว จึงควรแก้ไขเรื่องดังกล่าวเสียใหม่ด้วยการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิ่งที่ “ต้อง” ทำในกรณีที่สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน และควรกำหนดให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นกฎหมายระดับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นกฎหมายสำคัญและนอกจากนี้ก็เพื่อ “บังคับ” ให้ฝ่ายนิติบัญญัติต้องรีบออกกฎหมายนี้โดยเร็วด้วยครับ
       ซ) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ ด้าน ผมคิดว่าเราอาจเลียนแบบฝรั่งเศสก็ได้ครับ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือฉบับปี ค.ศ.1958 ฝรั่งเศสกำหนดให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องทำโดยกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาเท่านั้น มีเหตุผลสำคัญก็คือ รัฐวิสาหกิจเป็นสมบัติของประเทศชาติ การจะ “ขาย” จึงต้องทำโดยรอบคอบและผ่านการ “อนุมัติ” จากตัวแทนประชาชนคือ รัฐสภาครับ
       ส่วนประเด็นอื่นๆที่เป็นประเด็นซึ่งเกี่ยวข้องในลักษณะ “เอื้อ” หรือ “ไม่เอื้อ” ประโยชน์ต่อนักการเมืองโดยตรงแต่ก็ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนมากนัก ตัวอย่างเช่น ประเด็นการ “ปลดล็อก 90 วัน” เป็นต้น ก็คงแล้วแต่ว่าจะแก้ไขกันหรือไม่ เพราะประเด็นดังกล่าวถูกสร้างขึ้นจากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาเพื่อไม่ให้เกิดการต่อรองทางการเมืองและเพื่อให้ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่ในเวลานี้ บางคนกลับมองว่าเป็นการกักขังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากจะแก้ไขประเด็นนี้คงต้องตรองกันดูดีๆว่า บรรยากาศอาจกลับไปเหมือนเดิมคือ เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยใช้เกมการเมืองเป็นเครื่องมือต่อรอง แล้วถึงตอนนั้นก็คงต้องหาวิธีแก้ปัญหาใหม่อีกรอบหนึ่ง ซึ่งก็คงต้องย้อนกลับมาสู่จุดเดิมเหมือนเช่นในวันนี้ คือ กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่าต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ??? วันครับ !!!
       4. องค์กรที่จะเข้ามาทำการปฏิรูปการเมือง ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันแล้วว่าองค์กรที่จะเข้ามาทำการปฏิรูปการเมืองจะต้องเป็นคนกลางซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่สำหรับผมแล้ว คนที่จะเข้ามาอยู่ในองค์กรที่จะทำการปฎิรูปการเมืองจะต้องเป็นผู้รู้จักและเข้าใจระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และมีความเข้าใจในระบบการเมืองการปกครองและการบริหารประเทศอย่างดี ผมไม่คิดว่าตัวแทนสาขาวิชาชีพทั่วไปจะเข้ามาเป็นผู้ “ร่าง” รัฐธรรมนูญได้ แต่ก็จะต้องให้ตัวแทนสาขาวิชาชีพเหล่านั้นรวมทั้งประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นครับ
       กระบวนการที่น่าจะเหมาะสมที่สุดก็คือ หาคนกลางที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเข้ามาแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ จากนั้นก็จะต้องวางกรอบของการแก้ไขหรือยกร่างให้เสร็จ กำหนดประเด็นที่สำคัญ ๆ เพื่อถามประชาชนก่อนด้วยวิธีออกเสียงประชามติ (consultative referendum) (เช่น รัฐสภาสมควรเป็นระบบสภาเดียวคือมีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว หรือเป็นระบบสองสภา คือมีวุฒิสภาด้วย เป็นต้น) เมื่อได้ฉันทานุมัติจากประชาชนแล้วก็นำมาแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วก็นำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติอีกครั้งหนึ่ง แค่นี้เราก็ได้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านการจัดทำโดยคนกลางที่มีความรู้ความสามารถและมีประชาชนเป็นผู้ให้ความเห็นชอบแล้วครับ จากนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญใหม่มีผลใช้บังคับก็ต้องปรับระบบใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งก็คงจะต้องทำการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาใหม่และทำการสรรหาผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดครับ
       ส่วนระยะเวลาในการแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ผมคิดว่าไม่ควรกำหนดให้ทำให้เสร็จเร็วเกินไป ประสบการณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ให้เวลา สสร.น้อยเกินไปทำให้เกิดข้อบกพร่องตามมามากมายครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำกันหลายปี ควรคำนวณเวลาให้ดี ๆ ครับน่าจะเป็นสัก 9-12 เดือนจะเหมาะสมกว่าเพราะการรวบรวมปัญหา วิเคราะห์ปัญหา แล้วทำการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมกับการทำประชามติถึง 2 ครั้ง ก็คงต้องใช้เวลานานพอสมควรทีเดียวครับ
       
       ทั้งหมดก็คงเป็น “ข้อเสนอ” ของผมเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ครับ ก็ขอฝากไว้อีกประเด็นว่าจริง ๆ แล้วเราคงไม่ต้องรอให้เกิดรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนจึงจะมีผลเป็นการปฏิรูปการเมืองได้ เราสามารถทำได้ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันพุธที่ 19 เมษายนนี้เลยครับ ที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพราะเรามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับการเมือง สภาผู้แทนราษฎรและทักษิณ....ออกไป แต่พอทักษิณ....ออกไปจริง ๆ แล้ว เราก็เข้าสู่บรรยากาศของวันหยุดยาวในช่วงวันสงกรานต์ พอผ่านวันสงกรานต์ก็ถึงวันเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา อาจมีหลายคนที่ “ละเลย” ความสนใจในเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาไปบ้าง คงต้องช่วยกัน “เลือก” คนที่สมควรเข้าไปนะครับเพราะอย่างที่ทุกคนทราบดีว่าวุฒิสภามีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะมีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายแล้ว ยังมีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ เป็นผู้เลือกและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นผู้ถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ด้วยอำนาจที่มีมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนี้เองที่เราต้องพิจารณาให้ความสำคัญกับองค์กรวุฒิสภาให้มากๆด้วยการเลือกคนที่อิสระจากการเมือง เป็นกลาง และสุจริต ไม่เป็นร่างทรงของฝ่ายการเมืองหรือผู้ใด แล้วก็ต้องพิจารณาเป็นพิเศษในกรณีที่ผู้สมัครเป็นญาตินักการเมืองหรือญาติสมาชิกวุฒิสภาชุดที่ผ่านมาด้วยครับเพราะวุฒิสภาไม่ได้เป็นของนักการเมืองหรือไม่ได้เป็นมรดกตกทอดของผู้ใดทั้งสิ้น
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ2 บทความมานำเสนอครับ บทความแรกคือบทความเรื่อง "สัตยาเคราะห์" โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง ส่วนบทความที่สองเป็นบทความที่ส่งมาจากนักศึกษาไทยในประเทศฝรั่งเศส คือบทความเรื่อง "La France : Le pays où la rue joue le rôle important (เสียงเรียกร้องจากท้องถนน)" ที่เขียนโดย นางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม ผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2549 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544