หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 130
19 มีนาคม 2549 22:58 น.
ครั้งที่ 130
       สำหรับวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2549
       
       “แล้วเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร”
       
       ผมเขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้ก่อนวันที่ 20 มีนาคม หลายวันเนื่องจากผมต้องเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส ขณะที่ผมกำลังเขียนบทบรรณาธิการนี้อยู่ เรื่องยุ่ง ๆ ทางการเมืองทั้งหลายที่เกิดขึ้นก็ยังไม่มีทางออก ไปไหนมาไหนก็มีคนรู้จักถามตลอดเวลาว่า แล้วเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ?
       
ผมเองก็เหมือนคนจำนวนหนึ่งที่นั่งมองสถานการณ์ของบ้านเมืองด้วยความเป็นห่วง แต่อาจจะห่วงมากกว่าคนอื่นอยู่บ้างก็ตรงที่เป็นนักกฎหมายมหาชนจึงต้องพยายามคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วก็พยายามหาทางออก แต่จนถึงวันนี้ก็จนใจจริง ๆ นะครับ ที่ดู ๆ ไปแล้วยังมองไม่เห็นทางสว่างที่จะใช้ในการแก้ปัญหาเพราะในขณะที่ทุกคนคิดถึงทางออกที่ควรจะเป็นตามกฎหมายหรือตามรัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่สามารถหาทางออกได้ แต่ปัญหาจริง ๆ กลับไม่อยู่ที่กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของ “พฤติกรรม” มนุษย์ที่ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในสังคมทุกวันนี้ครับ
       คงไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไรกันมากมายในเรื่องพฤติกรรมมนุษย์เพราะผมคิดว่าทุกคนคงเข้าใจดีอยู่แล้ว หากเราลองเอาจิตใจของเราไปใส่ไว้ในข้างของพันธมิตรกู้ชาติในวันนี้ เราก็คงยอมแพ้ไม่ได้เพราะแพ้แล้วไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตต่อไป การต่อสู้กับอำนาจรัฐไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดนักหรอกครับโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจรัฐในลักษณะที่ผ่าน ๆ มาที่มี “ผู้นำ” ที่แทบจะเรียกได้ว่าคุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทุกอย่างในประเทศไทย ในขณะที่หากเราลองเอาจิตใจของเราไปใส่ไว้ในข้างของนายกรัฐมนตรี เราก็คงยอมแพ้ไม่ได้เช่นกันเพราะแพ้แล้วก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตต่อไป จะกลับมามีอำนาจรัฐใหม่ได้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ เสียงขู่เรื่อง “ยึดทรัพย์” ก็ฟังดูน่ากลัวเหลือเกิน จริงอยู่แม้นายกรัฐมนตรี (น่าจะ) มีเงินอยู่ต่างประเทศจำนวนมาก แต่บรรดาอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินจำนวนมาก อาคาร หรือสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ เช่น รถยนต์ราคาแสนแพงที่เรามักจะเห็นรูปตามหน้าหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ ว่านายกรัฐมนตรีมหาเศรษฐีของเราขับพาครอบครัวไปเดินห้างในวันหยุด ฯลฯ ทรัพย์สินเหล่านี้มีมูลค่ามหาศาลที่เจ้าของยังต้องเป็นห่วงครับ! อีกสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดที่ทำให้นายกรัฐมนตรีคนเก่งของเราไม่ควรยอมแพ้ก็คือหากถ้ายอมแพ้ง่าย ๆ ก็จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อ ๆ ไปที่พอถูกขับไล่แล้วก็ต้องหนี เหตุผลทั้งหลายที่กล่าวมาก็เลยทำให้ไม่มีใครถอยแล้วก็ต่างหันหน้ามาสู้กัน รอว่าฝ่ายไหนจะเพลี่ยงพล้ำก่อนแค่นั้นเอง นี่แหละครับพฤติกรรมมนุษย์ที่มุ่งจะรักษา “ชีวิต” ตัวเองให้อยู่รอดโดยไม่ดูสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ข้างว่าพังพินาศไปเท่าไหร่แล้ว ขอให้ตัวเองชนะ ตัวเองอยู่รอดได้ก็พอครับ
       มีหลาย ๆ คนถามว่าผมอยู่ข้างไหนระหว่างข้างพันธมิตรกู้ชาติกับข้างรัฐบาล ผมไม่มีคำตอบในเรื่องนี้เพราะจริง ๆ แล้วคงไม่จำเป็นที่จะต้อง “เลือกข้าง” หรอกครับ เราอยู่ในสังคมที่เป็น “นิติรัฐ” ก็คงต้องมีชีวิตอยู่โดยดูว่าการกระทำใดเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งเราก็ต้องยึดถือแนวทางที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นหลัก เพราะหากจะเลือกข้างด้วย “อารมณ์” หรือ “ความรู้สึกร่วม” แล้วโอกาสที่จะละเลยหรือมองข้ามความเป็นนิติรัฐของประเทศไทยก็มีอยู่มาก ไม่ว่าจะเลือกอยู่ข้างพันธมิตรกู้ชาติหรือข้างรัฐบาลก็ตามครับ
       ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ข้อคิดหลาย ๆ อย่างจากการติดตามสถานการณ์ “ทักษิณ....ออกไป” ครับ ปัญหาต่าง ๆ รุมเร้าเข้ามามากมายแบบไม่น่าเชื่อ แล้วปัญหาแต่ละปัญหาต่างก็เป็นปัญหาที่ “น่ากลัว” ทั้งนั้นครับ เรื่องแรกที่ผมวิตกมากที่ในวันนี้ยังไม่มีการพูดถึงแต่ก็เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ บทเรียนจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกองทุนต่างชาติเป็นสิ่งที่สมควรศึกษา สมควรจดจำ สมควรหาทางแก้และสมควรป้องกันไว้ล่วงหน้าครับ กรณีดังกล่าว แม้จะมีผู้ออกมายืนยันว่าการขายหุ้นชินคอร์ปเป็นการขาย “แค่หุ้นชินคอร์ป” ไม่ได้ขายสัมปทานดาวเทียม ไม่ได้ขายสัมปทานมือถือ แต่ข้อเท็จจริงในวันนี้ก็คือ บริษัทชินคอร์ปที่มีกองทุนต่างชาติคือกองทุนเทมาเซกแห่งประเทศสิงคโปร์ได้เข้าเป็นเจ้าของหุ้นรายใหม่ในบริษัทชินคอร์ปเกือบ 100% แล้ว ซึ่งหมายความว่า ได้ครอบครองสัมปทานดาวเทียม สัมปทานมือถือที่บริษัทชินคอร์ปได้สัมปทานมาจากรัฐไทยครับ! ที่ผมวิตกในวันนี้และขอให้เราช่วยกันคิดหาทางแก้ไว้สำหรับกรณีในอนาคตก็คือ ในวันข้างหน้าหากมีการดำเนินการในลักษณะเดียวกับที่บริษัทชินคอร์ปทำ คือ บริษัทของไทยเป็นผู้ไปขอสัมปทานจากรัฐแล้วต่อมาขายหุ้นในบริษัทของตนให้คนต่างชาติหรือบุคคลอื่นที่ “คุณสมบัติ” ไม่ถึงขั้นที่จะเป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐไทย หรืออาจเป็นกรณีที่แย่ไปกว่านั้นคือมีการตั้ง “บริษัทตัวแทน” ของคนต่างชาติเข้าไปประมูลเพื่อให้ได้รับสัมปทานจากรัฐไทยมาในลักษณะเช่นกรณีที่เกิดขึ้น อนาคตสัมปทานบริการสาธารณะทั้งหลายของประเทศไทยก็จะตกไปอยู่ในมือของต่างชาติหมดครับ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ยากนะครับ เพราะขนาดนายกรัฐมนตรีซึ่งโดยหน้าที่จะต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างเต็มที่ยัง “ปล่อย” ให้ครอบครัวของตนขายหุ้นในบริษัทที่เป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐให้กับต่างประเทศได้ แล้วเราจะไปเอาอะไรกับนักธุรกิจธรรมดา ๆ ครับ!!!
       เรื่องที่สองที่ผมวิตกก็คือ “วิธีคิด” ของคนไทยบางกลุ่มครับ จากการติดตามข่าวในหนังสือพิมพ์และจากการพูดคุยกับหลาย ๆ คน ทำให้ทราบว่ามีเพื่อนร่วมชาติจำนวนหนึ่งคิดอะไร ทำอะไร หลาย ๆ ประการ “นอก” กรอบของกฎหมาย “นอก” กรอบของความชอบธรรม และ “นอก” กรอบของความถูกต้อง โดยการที่บุคคลเหล่านั้นคิดหรือทำสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้องก็มิได้มีเจตนาที่มุ่งร้ายหรือต้องการทำลายชาติ แต่เป็นการกระทำเพื่อ “ต่อต้าน” ผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบันคือนายกรัฐมนตรีคนนี้ครับ!! ตัวอย่างที่เกิดขึ้นมีมากมาย เช่น คาดหวังว่าจะมีการ “ปฏิวัติ” เกิดขึ้นโดยมีหลาย ๆ ฝ่ายที่กำลังนั่งรอนอนรออยู่ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ เป็นต้น จริง ๆ แล้วผมคิดว่าผมเข้าใจความรู้สึกของคนกลุ่มนี้พอสมควร บ้านเมืองวุ่นวายไม่มีทางออก ทุกอย่างทำไม่ได้เนื่องมาจากกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำให้ติดขัดไปหมด รัฐธรรมนูญที่เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เองมีผู้ออกมา “รับรอง” ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด 1 ใน 10 ของโลก แต่ในวันนี้ไม่เห็นมีใครออกมาพูดกันเลยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีอย่างไร ดังนั้น เมื่อกลไกทั้งหลายตามรัฐธรรมนูญไม่เอื้อประโยชน์ให้แก้ปัญหาได้ ก็เลยเกิดแนวคิดว่า “น่าจะ” มีใคร “ที่มีอำนาจ” ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสียที จริง ๆ แล้ว วิธีคิดในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและค่อนข้าง “ย้อนยุค” นอกจากเรื่องปฏิวัติแล้วเราก็ยังพบ “สิ่งไม่ถูกต้อง” หลาย ๆ สิ่งเกิดขึ้นในปรากฏการณ์ “ทักษิณ....ออกไป” ครับ เราพบว่ามีการเสนอให้ใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญที่ดู ๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่ยัง “ไม่ชัดเจน” เท่าไหร่ว่าจะใช้ได้ในกรณีใดบ้าง การที่ผู้นำรัฐวิสาหกิจประกาศหยุดเก็บค่าน้ำค่าไฟให้ประชาชนใช้น้ำใช้ไฟฟรี การที่ผู้นำบางกลุ่มประกาศชวนประชาชนไม่ให้จ่ายภาษีเงินได้ประจำปีให้กับสรรพากร หรือแม้กระทั่งการที่เลขาธิการ สนนท.ดึงเอานักศึกษาต่างชาติขึ้นเวทีสนามหลวงขับไล่นายกรัฐมนตรีไทย ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นที่กล่าวมานี้บางสิ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและบางสิ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่เป็นผลดีกับบ้านเมืองครับ ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเราอยู่ในประเทศที่เป็นนิติรัฐ การส่งเสริมให้คนไทยไม่เคารพกติกา เอาเปรียบผู้อื่นหรือการร่วม “ทำลาย” ประเทศของเราเองจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นครับ
       นึก ๆ ดูแล้วก็รู้สึก “เสียใจ” และ “ผิดหวัง” ค่อนข้างมากกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาที่ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีมีการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 209 ซึ่งมีผลทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 216(6) แห่งรัฐธรรมนูญ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวก็เป็น “ส่วนหนึ่ง” ที่ทำให้เหตุการณ์ในสังคมของเราบานปลายวุ่นวายมากขึ้นครับ เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา เราก็ยังพอมองเห็น “ทางสว่าง” อยู่บ้างในการแก้ปัญหาวุ่น ๆ ที่เกิดขึ้น ผมคงไม่ “ก้าวล่วง” เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวเพราะมีผู้ให้ความเห็นกันมากมายแล้ว แต่ที่ยกขึ้นมาก็เพื่อจะกล่าวถึงสิ่งหนึ่งที่ผมอยากพูด ที่ผ่านมามีการพูดถึงการนำรัฐธรรมนูญมาตรา 7 มาใช้ในการแก้ปัญหาซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นว่าทำได้และฝ่ายที่เห็นว่าทำไม่ได้ มีเสียงเรียกร้องให้พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ ในเรื่องนี้เองที่แม้ผมจะวิตกแต่ผมก็แอบมองเห็นทางสว่างอยู่บ้างครับ ผมคิดว่าเราควรจะอยู่ “นิ่ง ๆ” กันดีกว่าครับ เพราะผม “มั่นใจ” ว่า “เมื่อถึงเวลา” ที่เหมาะสมก็จะเกิด “สิ่งดี ๆ” ขึ้นมา ผมมีกรณีตัวอย่างกรณีหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานนี้เองคือกรณีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินครับ กรณีคุณหญิงจารุวรรณฯ นั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้คุณหญิงฯเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแต่ต่อมาอีกเกือบ 2 ปีศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัย “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ไปเมื่อ 6 กรกฎาคม 2547 ว่า กระบวนการได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวค้างคากันมาเป็นปีโดยฝ่ายแรกยืนยันว่าตนเองได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ กับฝ่ายที่สนับสนุนศาลรัฐธรรมนูญก็อ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์และตามมาตรา 268 แห่งรัฐธรรมนูญก็บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด ผูกพันทุกองค์กร กรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนี้สร้างความร้าวฉานให้กับสังคมค่อนข้างมาก นักวิชาการ สมาชิกวุฒิสภาและประชาชนมีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ฝ่าย ไม่มีใครยอมใคร ในที่สุด วันหนึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง คตง. ถึงการเข้าเฝ้าฯและได้รับพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องปัญหาดังกล่าว ทำให้ในเวลาต่อมา คตง.ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณฯยังมีผลอยู่ ไม่มีการยกเลิกเพิกถอนหรือมีเหตุตามกฎหมายใดมาลบล้าง ซึ่งก็หมายความว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547 และมาตรา 268 แห่งรัฐธรรมนูญนั้น “ไม่มีผลใช้บังคับ” กับกรณีนี้ ซึ่งดู ๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้” แต่ก็เป็นไปแล้วครับ คงต้องรอดูกันต่อไปนะครับว่าจะเกิด “ปาฏิหาริย์” ขึ้นกับกรณีความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับกรณีคุณหญิงจารุวรรณฯหรือไม่ครับ
       แล้วตอนนี้เราจะทำอย่างไรกันดีครับ? ก็อย่างที่ผมบอกไปแล้วในตอนต้นว่าเราอยู่ในระบบ “นิติรัฐ” ครับ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยทุกฝ่ายล้วนแต่มีสิ่งที่ผิดและสิ่งที่ถูกคละกันไป คงสรุปไม่ได้ว่าฝ่ายใดถูกหรือฝ่ายใดผิด วันนี้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน ที่จะถึงนี้เป็นวันเลือกตั้ง ในเมื่อการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ก็คงต้องไปใช้สิทธิกันครับ แม้ว่าเราจะคาดเดาได้ว่าพรรคไทยรักไทยจะชนะเลือกตั้งอย่างแน่นอน แต่เราก็ต้องไปใช้สิทธิครับ ชอบก็เลือก ไม่ชอบก็ไม่เลือก เมื่อตั้งรัฐบาลใหม่แล้วคงต้อง “หาทาง” ทำให้การปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าไปได้อย่างดีและรวดเร็ว เราคงต้อง “จับตา” ดูกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันให้ดีนะครับว่าไม่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของผู้ใดผู้หนึ่งหรือพรรคใดพรรคหนึ่งครับ ผมคิดว่าถึงตอนนั้นคงต้องไป “แสดงพลัง” กันอย่างพร้อมเพรียงสำหรับ “อนาคตใหม่” ของประเทศไทยครับ!
       ว่าแต่ว่า จะมีเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนนี้ไหมครับ แล้วเราจะมีรัฐบาลใหม่ได้เมื่อไหร่กันครับ ก็ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 20/2543 ลงวันที่ 26 เมษายน 2543 เอาไว้แล้วว่า “สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการเลือกตั้งไม่ครบสองร้อยคนจึงไม่ครบองค์ประกอบเป็นวุฒิสภา ไม่อาจดำเนินการให้มีการประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้” แล้วในเวลานี้ก็ “ส่อ” เค้าว่า เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรงวดนี้จะไม่ครบ 500 คนด้วย หากคำวินิจฉัยดังกล่าว “ถูกนำมา” เป็นบรรทัดฐานในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ รับรองได้เลยครับว่า “ยุ่งแน่ ๆ”
       
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความ 2 บทความ บทความแรกเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง “คำถามถึงศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบกล่าวหากับระบบไต่สวน” ส่วนบทความที่สองคือบทความเรื่อง “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาวุธทรงพลังในหมู่ลูกแกะ” นั้น เขียนโดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ผมขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองไว้ ณ โอกาสนี้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2549 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544