|
|
|
|
ครั้งที่ 111 |
26 มิถุนายน 2548 23:33 น. |
|
|
|
|
"ถึงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วใช่ไหม"
ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ยุ่งมาก ๆ เพราะนอกจากผมจะต้องสอนหนังสือถึง 6 วิชาต่อสัปดาห์แล้ว ก็ยังมีงานอื่น ๆ เข้ามาแทรกหลายงาน จึงทำให้ผมไม่ค่อยจะมีเวลาทำงานส่วนตัวเท่าไรนัก
ในบรรดางานที่เข้ามาแทรก มีอยู่สองงานที่น่าสนใจคือ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เชิญให้ผมไปร่วมอภิปรายสองครั้ง ครั้งแรกเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นเมื่อตอนต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กับครั้งที่สองเป็นการอภิปรายเรื่องปฏิรูปการเมืองกับประชาธิปไตย
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เราคงทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะในที่สุดก็อย่างที่เราทราบกันอยู่ว่าอีกไม่กี่วันรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ก็จะมีผลใช้บังคับโดยมี เนื้อหา ตามที่รัฐบาลเสนอ เราคงจะบอกไม่ได้ว่า เนื้อหา ของรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไขไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่เพราะเป็นเรื่องของการมองของแต่ละคนที่ต่างก็มีมุมมองของตนเอง แต่ในส่วน รูปแบบนั้นผมไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดีนั้นไม่ควรทำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น แต่ควรทำโดยการมองไปข้างหน้าสักเล็กน้อย ผมไม่ได้ต้องการที่จะให้แก้รัฐธรรมนูญสำหรับ 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า แต่ปัญหาที่เกิดจากคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเรื่องที่น่าจะถือได้ว่าเป็น ตัวอย่าง ที่ดีตัวอย่างหนึ่งที่เมื่อเกิดปัญหาประเภท ทางตันขึ้นมาแล้ว แทนที่เราจะพยายามหาทางออกที่ เป็นไปได้ เรากลับเลือกทางออกที่ เป็นไปไม่ได้ ซึ่งก็ส่งผลทำให้เราต้องเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาทางตันนั้น และนอกจากนี้การแก้ปัญหาดังกล่าวก็ยังเป็นการเข้าไปแก้ปัญหาเฉพาะเหตุการณ์นี้เพียงเหตุการณ์เดียว ทั้ง ๆ ที่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ หลายองค์กร ด้วยเหตุนี้เอง ในการอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมจึงได้เสนอไปว่าถ้าหากมีความจำเป็นหรือเห็นว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหานี้ ก็ควรแก้โดยการเพิ่มมาตราเข้าไปเพียงมาตราเดียวโดยมีข้อความในทำนองที่ว่า หากมีเหตุที่ทำให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่ครบจำนวนที่กำหนดไว้ ก็ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบไปด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ การแก้รัฐธรรมนูญในลักษณะนี้จะมีผลเป็นการทั่วไปใช้ได้กับคณะกรรมการสรรหาทุกคณะซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาเป็นการชั่วคราวแต่มีผลครอบคลุมไปถึงอนาคตด้วยครับ เพราะหากในวันข้างหน้ามีเหตุทำให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาไม่ครบ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวอีก เรียกว่าเขียนเพียงมาตราเดียวก็แก้ปัญหาได้ทุกครั้งสำหรับทุกองค์กร ครับ
สิ่งที่เราจะต้องมาดูกันต่อไปก็คือ จะทำอย่างไรดีกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในช่วงที่มีปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้น เราคงได้รับทราบกันไปแล้วว่า มีหลายเสียงเหลือเกินที่ออกมาบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ดีอย่างไร มีปัญหาอย่างไร มีข้อบกพร่องอย่างไร บางคนก็ออกมาเสนอแก้รายประเด็น ส่วนบางคนก็เสนอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปเลยแล้วมาร่างใหม่ ในเรื่องดังกล่าวนี้ผมก็ได้พูดไว้ในการอภิปรายด้วยเช่นกันว่า แม้มาตรา 336 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะบัญญัติไว้ว่า เมื่อครบ 5 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจทำรายงานเสนอความเห็นต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นได้ ซึ่งบัดนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ประกาศใช้บังคับมาเกือบจะ 8 ปีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีองค์กรใดใน 3 องค์กรที่เสนอความเห็นตามมาตราดังกล่าว จึงน่าจะสันนิษฐาน ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังใช้บังคับได้ดีอยู่และไม่มีปัญหาร้ายแรงเพราะถ้ามีปัญหาร้ายแรง องค์กรทั้ง 3 ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญตามรัฐธรรมนูญคงจะไม่ เพิกเฉยมาจนทุกวันนี้ครับ !!!
อย่างไรก็ตาม จาก บรรยากาศ ของการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาว่า การไม่เสนอความเห็นตามมาตรา 336 ขององค์กรทั้ง 3 นั้นหมายความว่า รัฐธรรมนูญไม่มีข้อบกพร่องอะไรเลย หรือว่ามีข้อบกพร่อง มีปัญหา แต่ไม่มีใคร อยาก เปิดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะกลัวว่าจะ ฉุดไว้ไม่อยู่ ด้วยเกรงว่าอาจมีผู้ประสงค์ที่จะแก้รัฐธรรมนูญในหลาย ๆ ประเด็นที่อาจทำให้ กรอบ ของรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร. ได้วางไว้ผิดไป ซึ่งก็จะส่งผลทำให้กลไกต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญเสียไปในที่สุด เรื่องนี้คงต้องไปตามองค์กรทั้ง 3 ดูเอาเองครับว่า คิดอย่างไร ถึงไม่เสนอความเห็นตามมาตรา 336 แห่งรัฐธรรมนูญ
แม้องค์กรทั้ง 3 จะ เงียบกับการเสนอความเห็นเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ผมก็คิดว่า เป็นหน้าที่ของนักวิชาการและประชาชนที่จะต้องให้ความสนใจกับรัฐธรรมนูญของเราบ้าง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีเพียง บางส่วน เท่านั้นที่เป็นปัญหาอันเกิดจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่เขียนไม่ชัด เขียนไม่ละเอียด ซึ่งปัญหาดังกล่าวผมเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะเราคงจำกันได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำขึ้นมาภายใต้กรอบระยะเวลาที่แน่นอนและค่อนข้างจำกัด ข้อผิดพลาดจึงย่อมมีได้เป็นธรรมดา แต่ผมมีความรู้สึกว่าปัญหา ส่วนใหญ่ นั้นเกิดขึ้นจากการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติมากกว่าโดยผมรู้สึกว่าในบางครั้งผู้ปฏิบัติก็ไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญดีพอ หรืออาจ พยายาม ไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้ทำได้อย่างที่ตนต้องการก็เป็นได้ ดังนั้น ก็เลยมีการ โทษ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปต่าง ๆ นานาจนทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดูน่ากลัวเกินไปในบางครั้งครับ
ข้อเสนอที่น่าจะ เหมาะสม ที่สุดของการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำหรับระยะยาวก็คือ ควรทำการศึกษา ภาคปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดในรอบเกือบ 8 ปีที่มีการใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างละเอียด ซึ่งผมคิดว่าคงเป็น งานใหญ่ ที่ต้องหา เจ้าภาพ ครับ การศึกษาจะทำให้เราทราบว่า องค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้น หรือกลไกต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญวางไว้มีปัญหาที่มาจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเอง หรือจากคนที่เข้าไปอยู่ในองค์กรหรือเข้าไปดำเนินการตามกลไกนั้น ไม่ได้เรื่อง กันแน่ !!! การศึกษาที่ผมคิดคงต้องทำอย่างละเอียด รวบรวมข้อมูลทุอย่างให้ครบ เช่น หากเป็นองค์กรประเภท ศาล ก็จะต้องดู ที่มา และ คุณสมบัติของบรรดาตุลาการ วิเคราะห์ นิติปรัชญา จากคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาที่เขียนกันว่าเป็นเช่นไร มีความ เข้าใจ ในปรัชญากฎหมาย ลึกซึ้ง มากน้อยเพียงใด และดูพฤติการณ์ของบุคคลเหล่านั้นประกอบด้วย จากนั้นก็ต้องนำมาวิเคราะห์ทางวิชาการเพื่อดูว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากปัญหา ตัวบุคคลหรือ ข้อกฎหมาย กันแน่ เมื่อทำเช่นนี้สำหรับทุกองค์กรและสำหรับทุกกลไกในรัฐธรรมนูญแล้ว จึงค่อยมาพิจารณาต่อไปว่า สมควรที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากตัดประเด็นที่เกิดจาก พฤติกรรมมนุษย์ ออกไปแล้ว ผมเข้าใจว่าคงแก้ไขไม่มากนักครับ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า ใครจะเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการให้มีการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นครับ
ในสัปดาห์นี้ ผมขอเสนอบทความภาษาฝรั่งเศสอีกบทความหนึ่งของศาสตราจารย์ ดร. René HOSTIOU แห่งมหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส เรื่อง Exception dillégalité et droit à un recours effectif ครับ จริง ๆ ผมอยากแปลบทความนี้มากเพราะเป็นเรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่ง แต่ก็จนใจที่หาเวลาไม่ได้จริง ๆ ครับ นอกจากบทความนี้แล้ว เราก็มีการแนะนำหนังสืออีก 2 เล่มใน หนังสือตำรา ครับ
หนังสือ รวมบทความกฎหมายมหาชน จาก www.pub-law.net เล่ม 4" ที่เราได้ประกาศแจกไปเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาใกล้จะหมดแล้วนะครับ ในวันนี้ ใครที่จะขอหนังสือ ขอความกรุณาโทรศัพท์มาสอบถามก่อน ที่หมายเลข 0-2218-2017 ต่อ 213 ในวันและเวลาราชการครับ ผมไม่แน่ใจว่าหนังสือจะหมดลงในวันใด หากสอบถามแล้วทราบว่าหนังสือยังมีแจกอยู่ก็คงต้องลงชื่อจองไว้ก่อน แล้วก็ส่งเอกสารมาเพื่อขอรับหนังสือครับ
ผมเดินทางไปราชการที่ประเทศเยอรมันและประเทศฝรั่งเศสในระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม ครับ หากผมเห็นอะไรน่าสนใจก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2548 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|