หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 107
2 พฤษภาคม 2548 08:35 น.
"ทฤษฎีที่พ้นสมัย"
       ช่วงที่บทบรรณาธิการนี้ออกเผยแพร่เป็นช่วงเวลาที่ผมเดินทางไปเป็น visiting professor ที่คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศสครับ
       หลาย ๆ คนที่เป็น “แฟนประจำ” ของเราคงจะ “ชิน” กับบทบรรณาธิการของผมที่เล่าเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของผม จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ต้องการเขียนเพื่อโฆษณาตัวเองใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นธรรมชาติของเราที่ต้องเริ่มทำอะไรก็ตามจากสิ่งที่ใกล้ตัวก่อนครับ ฉะนั้น อย่างเพิ่ง “หมั่นไส้” หรือ “รำคาญ” ที่ผมมักจะเริ่มต้นจาก “ตัวเอง” ก่อนครับ
       คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nantes เป็นที่ที่ผมคุ้นเคยมากที่หนึ่งใน “ชีวิต” ของผมแม้จะเพิ่งรู้จักที่นี่เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2000 ก็ตามครับ เมือง Nantes เป็นเมืองสงบแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างจาก Paris พอสมควร ถ้านั่งรถไฟด่วนความเร็วสูง (Train à Grande Vitesse หรือ TGV) จาก Paris ก็ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงครับ ผมไปเมือง Nantes มาหลายรอบแล้วครับ เคยไปบรรยายแบบไม่เป็นทางการ 2 ครั้ง เป็น visiting professor (มีค่าตอบแทนและมีชั่วโมงสอน) ครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 3 แล้วครับ นอกจากนี้แล้ว หนังสือของผมอีก 3 เล่มคือ สัญญาทางปกครอง หลักพื้นฐานกฎหมายปกครองฝรั่งเศส และคำอธิบายศัพท์กฎหมายมหาชนฝรั่งเศส-ไทย ก็เขียนที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยระหว่างที่ผมไปเป็น visiting professor ที่นั่น รวมความแล้ว ความ “ก้าวหน้า” ทางวิชาการส่วนหนึ่งในชีวิตของผมเกิดขึ้นที่เมือง Nantes ครับ
       หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า ไปต่างประเทศนาน ๆ ไม่คิดถึงบ้านบ้างหรืออย่างไร ก็เป็นธรรมดาของมนุษย์นะครับที่ต้องรู้สึกเช่นนั้น แต่ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งที่มีขึ้นพร้อม ๆ กันกับความรู้สึกคิดถึงบ้านก็คือความรู้สึกตื่นเต้นยินดีกับ “ที่ใหม่” ที่เราไป แม้ผมจะมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อย แต่ทุกครั้งที่ได้เดินทางก็จะรู้สึก “ตื่นเต้น” เหมือนกันครับ ตื่นเต้นที่จะได้ “อิสระ” กับชีวิตครับ!!! ในชีวิตปกติประจำวันของเรานั้น ต่างคนต่างก็ต้องมี “ภาระ” ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาระเรื่องครอบครัว ภาระเรื่องงาน ภาระทางสังคม ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหัวถึงหมอนในตอนดึก เราต้องพบกันสิ่งต่าง ๆ มากมาย มีเรื่องให้คิดมีเรื่องให้เครียดเยอะไปหมด ผมค่อนข้างโชคดีที่ปีหนึ่งๆ มีโอกาสเดินทางไปสอนหนังสือต่างประเทศสองหน หนละหนึ่งถึงสองเดือน ในช่วงดังกล่าว ผมจึง “หลุดพ้น” จาก “ภาระ” และ “ปัญหา” ทั้งหลาย ไปใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่งที่ไม่สามารถทำได้ที่กรุงเทพฯ เช่น นั่งทำงานได้ทั้งวันโดยไม่มีใครกวน หรือไปไหนมาไหนได้อย่างเสรีโดยไม่มีใครมาวุ่นวาย แถมอากาศ อาหาร และสภาพแวดล้อมก็ยังดีอีกด้วย เพราะฉะนั้น พอจะได้เดินทางไปฝรั่งเศสทีไร ผมก็จะตื่นเต้นยินดีทุกทีครับ
       ไปคราวนี้เป็นเวลา 1 เดือน ผมต้องบรรยาย 2 ครั้งให้นักศึกษาระดับปริญญาเอกฟัง หัวข้อที่กำหนดมาก็คือ “การมีส่วนร่วมทางการเมืองและทางการปกครองของประชาชนชาวไทย” กับ “ระบบศาลคู่และการพิจารณาคดีปกครอง” นอกจากนี้แล้ว ผมก็ยังหอบงานไปทำด้วย คือ ผมกำลังแปลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสเป็นภาษาไทยอยู่ครับ ของเดิมที่ผมได้แปลไว้ให้กับสภาวิจัยแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2540 นั้นล้าสมัยเสียแล้ว เพราะฝรั่งเศสได้แก้รัฐธรรมนูญไปหลายครั้ง ไปหนนี้ก็จะใช้เวลาว่างแปลให้เสร็จครับ ส่วนเวลาที่เหลือนั้น เนื่องจากเกือบทุกครั้งที่ไปเมือง Nantes ผมพักอยู่ กับครอบครัวเพื่อนต่างวัยของผม คือ ศาสตราจารย์ ดร. René Hostiou ดังนั้น จึงแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเวลาว่างเลย เพราะส่วนใหญ่ก็จะนั่งปุจฉา-วิสัชนาทางกฎหมายมหาชนกันเสมอ ไม่ก็ออกไปเดินป่า เดินสวนกับเพื่อน ๆ ของอาจารย์ René ครับ ส่วนตอนเย็นก็จะเป็นอาหารเย็นมื้อใหญ่ที่เจ้าของบ้านมักเชิญเพื่อนอาจารย์คนอื่น ๆ สลับกันเพื่อให้มารู้จักและพูดคุยกับผม ก็ถือได้ว่าโชคดีพอสมควรที่แม้จะไปไกลบ้าน แต่ก็ยังมีความ “อบอุ่น” อยู่อย่างมากครับ
       บทบรรณาธิการคราวหน้า ถ้าเป็นไปได้ ผมจะเขียนส่งมาจาก Nantes ครับ แต่ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็จะขอให้กองบรรณาธิการที่นี่ช่วยเขียนแทนครับ แต่ดู ๆ แล้ว กองบรรณาธิการคงจะไม่ค่อยอยากเขียนเท่าไหร่ ผมปล่อยให้เขียนไปครั้งหนึ่งก็ทำเอาวุ่นวายไปหมด เพราะไปเขียนเรื่องการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าข้าง ๆ วัดและวัง เลยทำให้กลายเป็น “ประเด็นร้อน” ประเด็นหนึ่งของวันนี้ครับ!!
       เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสฟังรายการวิทยุรายการหนึ่ง ผู้จัดรายการพูดได้น่าสนใจดีก็เลยฟังจนจบด้วย  รายการวิทยุดังกล่าวเป็นรายการวิทยุ “กึ่ง” การเมืองที่จัดเป็นประจำครับ ในตอนหนึ่งของรายการ ผู้จัดรายการได้พูดว่า “….ตามหลักที่มงเตสกิเออร์ได้พูดไว้นานแล้วนั้นวันนี้กลับมาเป็นจริงอย่างชัดเจนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนโดยแท้จริง”
       
       
จริง ๆ แล้ว ผมเป็นคนหนึ่งที่ค่อนข้างที่จะ “ไม่สนใจทฤษฎี” บางอย่างเท่าไหร่ เพราะในบางกรณี “ทฤษฎี” เหล่านั้นก็ “พ้นสมัย” ไปแล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น ทฤษฎีว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจ (principe de séparation des pouviors) ที่ Montesquieu เขียนไว้ในหนังสือ De l’Esprit de Lois เมื่อปี ค.ศ.1748 (พ.ศ.2291) นั้นก็เป็นหลักที่เรายังเรียนยังสอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัยพร้อม ๆ กับเป็นสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ที่เกือบจะเรียกได้ว่าทุกประเทศทั่วโลกยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทุกวันนี้ ลองนึกดูแล้วกันว่าหากเราจะเปลี่ยนระบบการปกครองกลับไปเป็นแบบเดิมคือ การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คน ๆ เดียว ก็คงเป็นเรื่องทั้งยุ่งและยากพอสมควรที่จะทำได้เพราะเราเคยชินและอยู่ภายใต้ระบบการแบ่งแยกอำนาจในการปกครองประเทศออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว (เกิน 200 ปีในต่างประเทศและกว่า 70 ปีในประเทศไทย) ดังนั้น “ทฤษฎี” บางอย่างสำหรับผมจึงเป็น “ทฤษฎี” ที่พ้นสมัยไปแล้ว (แต่ก็ยังเรียนกันอย่างคร่ำเคร่งเอาเป็นเอาตายครับ!!) เพราะได้รับการนำมาปฎิบัติจนเกิดผลดีวิเศษ
       จนไม่สามารถย้อนกลับไปสู่จุดเดิมก่อนที่จะมีการสร้างทฤษฎีเหล่านั้นขึ้นมาครับ!!
       
       
เพื่อให้ความกระจ่างกับข้อความที่ผมได้ฟังจากรายการวิทยุดังกล่าวกล่าวไว้ข้างต้น และเพื่อขยายความ หากผู้ใดสนใจค้นคว้าเพิ่มเติมทฤษฎีว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจ ของ Montesquieu หรือผู้ใดสนใจทราบทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนของ Jean Jacques Rousseau หรือทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติของ Sièyes ก็ลองหาอ่านดูได้ในหนังสือ “คำอธิบายกฎหมายมหาชน” เล่ม 1-3 ของ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือหนังสือ “หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชนว่าด้วยรัฐ รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย” ของ รศ.ดร. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ ครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ ผมขอแนะนำหนังสือจำนวนหนึ่งที่ติดค้างไม่ได้แนะนำเอาไว้เสียนานใน “หนังสือตำรา” ครับ ส่วนบทความเราก็มีบทความเรื่อง “บรรทัดฐานใหม่ทางกฎหมายจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” โดย คุณนพดล เฮงเจริญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และบทความเรื่อง “บทบาทของคริสตศาสนจักรโรมันคาธอลิกในระบบการเมืองยุโรปยุคกลาง” โดย คุณสโรช สันตะพันธุ์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาวิชากฎหมายมหาชน) ผมต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้ง 2 ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       ผมยังติดใจสิ่งที่ได้ฟังจากรายการวิทยุดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นครับ ก่อนจบบทบรรณาธิการนี้เพื่อให้เกิดความ “สมบูรณ์ครบถ้วน” ผมขอนำเอาคำกล่าว “อมตะ” ที่คนมักพูดถึงกันบ่อย โดยเฉพาะในท่อนที่ว่า “ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” มาให้อ่านกันเล่นๆ ครับ
       “ … That this nation, under God, shall have a new birth of freedom, and that government of the people, by the people, for the people shall not perish from the earth”
       ที่ไม่เป็น “ภาษาฝรั่งเศส” ก็เพราะเป็นคำที่ประกาศที่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ Abraham Lincoln (1809-1965) ได้กล่าวไว้ที่เมือง Gettysburg เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.1863 ครับ!!
       
       
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544