หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 364
10 มิถุนายน 2561 19:53 น.
กฎหมายที่มีผลเป็นการทดลอง (loi d’expérimentation) 

       ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์ผู้ใหญ่คนหนึ่งถึงเรื่องรูปแบบต่างๆของกฎหมายและมีการพูดไปถึงกฎหมายประเภทหนึ่งของประเทศฝรั่งเศสที่รัฐสภาออกมาเพื่ออนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎของฝ่ายบริหารได้ภายใต้วัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อทดลองดูว่า การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎของฝ่ายบริหารนั้นจะก่อให้เกิดผลดีในด้านต่างๆกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ หากเกิดผลดีก็จะทำการออกเป็นกฎหมายเพื่อใช้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป แต่ถ้าทดลองใช้ ไปแล้วไม่เกิดผลดีดังที่คาดเอาไว้ก็ยกเลิกมาตรการที่ให้ท้องถิ่นทดลองทำนั้นกฎหมายลักษณะแบบนี้เป็นเรื่องใหม่ที่บ้านเรายังไม่เคยมี อาจารย์ผู้นั้นก็แนะนำว่าผมน่าจะเขียนบทความเรื่องดังกล่าวก็เลยเป็นเหตุให้เขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้ครับ
       เมื่อพูดถึงคำว่ากฏหมาย หลายร้อยปีที่ผ่านมา มีการให้คำนิยามของคำว่ากฏหมายเอาไว้ตามแนวความคิดของ Jean-Jacques Rousseau ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง Le contrat social ou Principes du droit politique (สัญญาประชาคม) ว่า กฎหมายคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากเจตจำนงร่วมกันของประชาชน แนวคิดดังกล่าวประกอบด้วยสองความหมายด้วยกันก็คือ กฎหมายต้องมาจากประชาชน กับกฏหมายต้องใช้กับประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากแนวความคิดดังกล่าว กฎหมายจะมีความเป็นสูงสุดเพราะมาจากประชาชน สูงสุดทั้งในแง่รูปแบบและในแง่เนื้อหาด้วย แนวความคิดนี้เองทำให้รัฐสภากลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการจัดทำกฎหมาย กฏหมายที่เกิดจากรัฐสภาจึงถือว่าเกิดจากเจตจำนงร่วมกันของประชาชน หน้าที่ของรัฐสภาไม่ใช่แค่จัดทำกฎหมายออกมาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รัฐสภาต้องรับผิดชอบในเนื้อของกฎหมายด้วยว่าจะต้องไม่ขัดหรือแย้งหรือกระทบต่อสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของการใช้ชีวิตของประชาชนด้วย กฎหมายที่ออกมาและใช้ได้ดี ประชาชนก็มีความสุข แต่ถ้ากฎหมายออกแล้วใช้ไม่ได้หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของการใช้ชีวิตของประชาชน ประชาชนก็จะได้รับความเดือดร้อน ด้วยเหตุนี้เองที่ในเวลาต่อมา เกิดแนวความคิดเรื่องการประเมินผลของการออกกฏหมายซึ่งการประเมินผลของการออกกฏหมายนี้ทำให้กฎหมายที่ออกมาใช้บังคับจะต้องถูกประเมินว่าได้ผลตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐสภาหรือไม่ หรือมีปัญหาก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างไร นอกเหนือไปจากเรื่องการประเมินผลของการออกกฏหมายแล้วในประเทศฝรั่งเศสยังมีแนวความคิดเรื่องการออกกฏหมายมาเพื่อทดลองใช้ในบางเรื่องและในบางพื้นที่ก็เหมือนเป็นการทดลองก่อนที่จะออกกฏหมายจริงมาใช้บังคับเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของการใช้ชีวิตของประชาชน ในประเทศฝรั่งเศสเรียกกฎหมายประเภทนี้ว่า กฎหมายที่มีผลเป็นการทดลอง(loi d’expérimentation) และเรียกกระบวนการในการใช้กฎหมายประเภทนี้ว่า กระบวนการทดลองทางนิติบัญญัติ ( l’expérimentation législative) การทดลองทางนิติบัญญัตินับได้ว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการประเมินผลการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวคือหากมีการออกกฏหมายที่มีผลใช้บังคับเป็นการชั่วคราวเพื่อทดลองการดำเนินการบางอย่างแล้วประสบผลสำเร็จ ก็ค่อยไปออกเป็นกฎหมายในเรื่องที่ทดลองนั้นให้เป็นการถาวรต่อไป แต่ถ้าหากใช้บังคับไปแล้วมีปัญหาก็ยกเลิกหรือแก้ไขการทดลองนั้น กระบวนการทดลองทางนิติบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการประเมินก่อนที่จะมีการใช้บังคับอย่างเป็นการถาวรของกฎหมายนั้นๆและเป็นวิธีการทางกฎหมายที่ใช้เพื่อศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปหรือจากกฎหมายที่บังคับใช้กับคนจำนวนหนึ่งภายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งและภายในระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งซึ่งในปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ ค.ศ. 2003 ได้นำเรื่องนี้มาใช้โดยมีฐานมาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2003 ที่ได้นำเอาแนวคิดเรื่องการทดลองทางนิติบัญญัติมาใช้กับการกระจายอำนาจ
       ในอดีต กระบวนการทดลองใช้กฎหมาย กฎ ระเบียบในบางพื้นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศฝรั่งเศสแต่เป็นการทดลองทางบริหารหรือเป็นการทดลองทางปกครองโดยในปี ค.ศ. 1962 ถึง 1964 มีการทดลองจัดโครงสร้างของภูมิภาคใน 5 จังหวัด เมื่อผลออกมาใช้ได้ดี จึงมีการออกรัฐกฤษฎีกาตามมาในภายหลังคือในปี ค.ศ. 1964 นี่ก็คือการทดลองใช้กระบวนการบางอย่างในบางพื้นที่และในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะมีการใช้จริงทั้งประเทศอย่างถาวร ส่วนกระบวนการทดลองทางนิติบัญญัตินั้น เดิมไม่สามารถทำได้เพราะกฏหมายต้องใช้กับประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน กฎหมายจะออกมาใช้เฉพาะกับบางคนหรือบางพื้นที่ไม่ได้ แต่ก็เคยมีกฎหมายบางฉบับที่ออกมาและมีผลใช้บังคับในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่น 5 ปี แต่กฎหมายลักษณะดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นกฎหมายที่มีผลเป็นการทดลองเพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับทั่วทั้งประเทศ เพียงแต่มีสภาพบังคับเพียงช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายที่มีผลเป็นการทดลองที่เป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับในบางพื้นที่และในบางช่วงเวลาซึ่งก็มีนักกฎหมายจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่มีผลเป็นการทดลองเพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่มีปัญหาเกี่ยวกับความเสมอภาคของประชาชนที่มีต่อกฎหมายเพราะฝ่ายนิติบัญญัติต้องปฏิบัติตามหลักที่ว่ากฏหมายต้องใช้กับประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 ของปฏิญญาสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ลงวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1789 ที่ว่า “รัฐบัญญัติคือการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชน ประชาชนทุกคนมีสิทธิมีส่วนร่วมด้วยตนเองหรือโดยผ่านผู้แทนของตนในการตรารัฐบัญญัติ รัฐบัญญัติต้องใช้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองหรือการลงโทษ ประชาชนทุกคนย่อมเสมอภาคกันในรัฐบัญญัติและมีสิทธิได้รับเกียรติยศศักดิ์ศรี ตลอดจนฐานะและตำแหน่งหน้าที่ในการทำงานกับรัฐโดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถของแต่ละคนโดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆนอกจากการแบ่งแยกด้วยคุณงามความดีและความสามารถพิเศษของแต่ละคน”
       แต่อย่างไรก็ตาม มีนักกฎหมายอีกจำนวนหนึ่งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายที่มีผลเป็นการทดลองเพราะกฎหมายดังกล่าวจะออกมาใช้กับคนในพื้นที่บางพื้นที่และในช่วงเวลาอันจำกัดทำให้สามารถประเมินได้ว่า หากกฎหมายดังกล่าวออกมาใช้กับคนทั้งประเทศอย่างเป็นการถาวรจะเกิดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานหรือในการบริหารงานหรือไม่อย่างไร การออกกฎหมายมาเพื่อการทดลองได้ก็จะทำให้เกิดความชัดเจนและความถูกต้องในการดำเนินการต่างๆ ซึ่งก็เป็นเหมือนกับการประเมินผลของกฎหมายล่วงหน้าว่าหากกฎหมายนั้นออกมาใช้บังคับกับคนทั้งประเทศจะเป็นอย่างไร เพียงแต่กระบวนการทดลองจะดีกว่าเพราะหากทดลองแล้วเกิดผลเสียมากกว่าผลดีก็สามารถยกเลิกกระบวนการดังกล่าวได้และผลเสียที่เกิดขึ้นก็จะเกิดขึ้นในแวดวงที่จำกัดกว่าการออกกฏหมายมาใช้บังคับกับคนทั้งประเทศแล้วเกิดผลเสียจนทำให้ต้องยกเลิกกฎหมายนั้น
       แต่ไม่ว่านักกฎหมายจะเห็นไม่ตรงกันอย่างไรก็ตามในที่สุดก็มีความพยายามที่จะนำกระบวนการทดลองทางนิติบัญญัติมาใช้กับการกระจายอำนาจ จริงๆแล้วนับแต่มีการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางไปยังส่วนท้องถิ่นในปี ค.ศ.1982 เป็นต้นมา ประเทศฝรั่งเศสก็ยังไปไม่ถึงจุดที่การกระจายอำนาจเป็นไปอย่างสมบูรณ์เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจที่ออกมาก็มีการตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบที่เหมือนๆกันทั่วประเทศคือ เทศบาล จังหวัดและภาค ในขณะที่ประเทศฝรั่งเศสยังมีดินแดนที่เป็นของตัวเองแต่อยู่นอกประเทศคือดินแดนโพ้นทะเล ( territoires d’outre-mer )และจังหวัดโพ้นทะเล ( départements d’outre-mer) โดยในส่วนที่เป็นดินแดนโพ้นทะเลนั้น รัฐบาลก็จะส่งข้ารัฐการระดับสูงจากส่วนกลางไปเป็นผู้ปกครองในขณะที่จังหวัดโพ้นทะเลมีการจัดตั้งให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ในประเทศ การให้รูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตั้งอยู่นอกประเทศมีรูปแบบและอำนาจหน้าที่ที่เหมือนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ในประเทศอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้เพราะบางพื้นที่อาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นกระบวนการทดลองทางนิติบัญญัติจึงถูกนำมาใช้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในตอนแรก มีความพยายามที่จะใช้ที่เกาะ Corse โดยร่างรัฐบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในปี ค.ศ. 2002 กำหนดว่า หากสภาของเกาะ Corse เห็นว่ากฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่หรืออยู่ในกระบวนการร่างจะทำให้การใช้อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสบปัญหาเนื่องมาจากความมีลักษณะพิเศษของเกาะ สภาของเกาะ Corse อาจขอให้รัฐบาลแจ้งไปที่ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศให้ออกกฎหมายเปิดช่องทางให้มีการทดลองโดยยกเว้นหรือไม่ใช้บังคับกฎหมาย กฎ ระเบียบที่มีผลใช้บังคับอยู่ในประเทศในดินแดนของเกาะ Corse ได้โดยสามารถออกกฎที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศได้ แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (le Conseil constitutionnel) ก็ได้วินิจฉัยว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากขัดต่อหลักว่ากฎหมายต้องใช้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ร่างกฎหมายนั้นจึงตกไป ต่อมา เพื่อให้เกิดกระบวนการทดลองทางนิติบัญญัติได้ รัฐบาลจึงได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนสำเร็จและมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ.2003 โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของประเทศฝรั่งเศสคือรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1958 แก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ลงวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2003 ได้กำหนดถึงกระบวนการทดลองทางนิติบัญญัติเอาไว้สองมาตราด้วยกัน คือ
       มาตรา 37-1 รัฐบัญญัติและกฎของฝ่ายบริหารอาจประกอบด้วยบทบัญญัติที่มีผลเป็นการทดลองดำเนินการได้ภายใต้วัตถุประสงค์และระยะเวลาที่จำกัด
       มาตรา 72 วรรคสี่ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และยกเว้นกรณีที่อาจกระทบต่อเงื่อนไขที่สำคัญในการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือต่อสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองเอาไว้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือการรวมกลุ่มขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐบัญญัติหรือกฎของฝ่ายบริหารซึ่งควบคุมการใช้อำนาจหน้าที่ของตนได้ในกรณีที่รัฐบัญญัติหรือกฎของฝ่ายบริหารได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทดลองโดยมีวัตถุประสงค์และระยะเวลาที่จำกัด
       ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับ รัฐสภาฝรั่งเศสก็ได้ออกรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ 2003-704 ลงวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2003 เกี่ยวกับการทดลองโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทดลองโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถที่จะหลีกเลี่ยงไม่นำเอารัฐบัญญัติหรือกฎที่ใช้บังคับอยู่ภายในประเทศมาใช้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตนภายใต้วัตถุประสงค์และระยะเวลาที่จำกัด กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีเพียงสองมาตรา ทั้งสองมาตราเข้าไปแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       เนื้อหาสาระที่สำคัญของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องการเข้าสู่กระบวนการทดลองจะต้องได้รับมติจากสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพร้อมเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องการที่จะเข้าสู่กระบวนการทดลอง จากนั้นก็จะต้องส่งมติดังกล่าวไปยังตัวแทนของรัฐ ( représentant de l’Etat )ในพื้นที่ ตัวแทนของรัฐจะต้องพิจารณาและให้ความเห็นว่า ข้อเสนอขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ขัดหรือแย้งกับเนื้อหาของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อตัวแทนของรัฐให้ความเห็นแล้ว ก็จะต้องส่งความเห็นต่อไปยังรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากนั้นรัฐบาลก็จะนำไปพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หากรัฐบาลเห็นด้วยกับมติของสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะขอหลีกเลี่ยงไม่นำเอารัฐบัญญัติหรือกฎที่ใช้บังคับอยู่ภายในประเทศในเรื่องใดบ้างมาใช้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตน ก็จะออกรัฐกฤษฎีกาประกาศรายชื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทดลอง
       องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่กระบวนการทดลองมีอำนาจที่จะออกกฎที่มีลักษณะเป็นการทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบต่างๆของประเทศได้ตามที่ได้รับอนุญาต แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกกฎที่มีลักษณะดังกล่าวแล้ว จะต้องส่งกฎนั้นไปยังตัวแทนของรัฐเพื่อประกาศในรัฐกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับ ตัวแทนของรัฐอาจสั่งให้มีการระงับการใช้กฎดังกล่าวไว้ก่อนได้หากเห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดและจะต้องยื่นคำร้องไปยังศาลปกครองเพื่อให้ชี้ขาด หากศาลปกครองไม่พิจารณาให้เสร็จภายในหนึ่งเดือน กฎดังกล่าวก็จะมีผลใช้บังคับ
       ก่อนครบระยะเวลาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับอนุญาตให้ทดลอง รัฐบาลต้องทำการประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเสนอรายงานต่อรัฐสภาซึ่งรัฐสภาและรัฐบาลก็จะเป็นคนตัดสินว่าจะขยายระยะเวลาทดลองออกไปอีก จะเปลี่ยนจากการทดลองให้เป็นมาตรการทั่วไปที่มีลักษณะถาวร คือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำตามกฏหมาย กฏ ระเบียบต่างๆของประเทศในเรื่องที่ได้ทำการทดลองไปแล้วเป็นผลสำเร็จและเกิดผลดีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือจะยกเลิกการทดลองนั้น รายงานการประเมินดังกล่าวจะต้องมีผลที่เกิดขึ้นจากการยกเว้นไม่ทำตามกฏหมาย กฎ ระเบียบ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่ามีผลดีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างไร ในกรณีที่ต้องมีการขยายระยะเวลาในการทดลอง รัฐบาลอาจขอขยายระยะเวลาในการทดลองออกไปได้แต่ไม่เกินสามปี 
       หลังจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ ก็ยังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับอื่นตามมาอีกหลายฉบับเพื่อเปิดโอกาสให้มีการทดลองในบางเรื่องในบางพื้นที่ ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 ก็ได้มีการออกรัฐบัญญัติเพื่อให้มีการทดลองแก้ปัญหาเกี่ยวกับการตกงาน โดยเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติถึงการแก้ไขปัญหาการตกงานของประชาชนชาวฝรั่งเศสอย่างยั่งยืนโดยกำหนดให้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวในพื้นที่ที่สมัครใจภายในระยะเวลาห้าปี มีการกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหาตกงาน มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการตกงานในพื้นที่ดังกล่าว มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการแก้ปัญหาการตกงานอย่างเป็นรูปธรรม
       จริงๆแล้วยังมีรายละเอียดอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถนำมาอาจเล่าให้ฟังให้หมดได้ในที่นี้ ถ้ามีโอกาส ผมจะนำเรื่อง กฎหมายที่มีผลเป็นการทดลอง (loi d’expérimentation) นี้มาเขียนเป็นบทความขนาดยาวต่อไปครับ
       ในครั้งนี้เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่ครั้งนี้เขียนเรื่อง "อนาคตใหม่ของการกระจายอำนาจ" ผมขอขอบคุณคุณชำนาญฯไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544