กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการอาหารที่เป็นขยะ
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาเป็นความเป็นวันครบรอบสองปีของการใช้บังคับกฎหมายที่สำคัญ ฉบับหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส นั่นคือกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านความฟุ่มเฟือยในเรื่องอาหาร (LOI n° 2016-138 du 11 février 2016 relative à la lutte contre le gaspillage alimentaire)
เป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าชาวฝรั่งเศสนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินเป็นอย่างมาก อาหารแต่ละมื้อมีจำนวนหลายอย่างและใช้เวลาในการบริโภคค่อนข้างนาน บางคนก็บริโภคหมดบางคนก็ไม่หมด แต่เนื่องจากร้านอาหารในประเทศฝรั่งเศสไม่มีธรรมเนียมในการนำอาหารที่บริโภคไม่หมดห่อกลับบ้าน อาหารเหล่านั้นจึงกลายเป็นขยะ ส่วนในซุปเปอร์มาร์เก็ตก็จะมีอาหารหลากชนิดเป็นจำนวนมากซึ่งก็ขายไม่หมดเนื่องจากหมดอายุหรือใกล้หมดอายุ นอกจากนี้ ในแต่ละวันจะมีอาหารเข้ามาใหม่เป็นจำนวนมากและก็มีอาหารจำนวนมากด้วยเช่นกันที่ถูกนำไปทิ้งเนื่องจากขายไม่หมดหรือแม้กระทั่งในบางครั้งมีอาหารใหม่เข้ามาอาหารเก่าซึ่งยังไม่หมดอายุแต่เจ้าของร้านก็นำไปทิ้งเนื่องจากประชาชนไม่ได้สนใจที่จะซื้อไปบริโภคและเจ้าของร้านก็ต้องการพื้นที่ในร้านของตัวเองสำหรับวางสินค้าใหม่ด้วย
เมื่อประมาณกลางเดือนกันยายน ค.ศ. 2015 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มหนึ่งที่มีนาย Guillaume Garot เป็นตัวตั้งตัวตี ได้เสนอร่างกฏหมายเพื่อต่อต้านความฟุ่มเฟือยในเรื่องอาหาร (la loi de lutte contre le gaspillage alimentaire) ต่อสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศส กฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาฝรั่งเศสและมีผลใช้บังคับไปเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2016 กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายสั้นๆที่เข้าไปแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมโดยกำหนดมาตรการต่างๆที่จะนำมาใช้กับอาหารที่เหลือจากการบริโภค วัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ก็คือการต่อต้านและรณรงค์ไม่ให้มีความสิ้นเปลืองในเรื่องอาหารโดยกำหนดเอาไว้เป็นหลักการว่าให้มีการใช้อาหารที่ขายไม่หมดเพื่อการบริโภคของมนุษย์ นำไปทำอาหารสัตว์ นำไปใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรมหรือนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานอื่น ตามลำดับ หลังจากกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อาหารที่ขายไม่หมดเพื่อการบริโภคของมนุษย์ ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดเกิน 400 ตารางเมตร ขึ้นไปจะต้องดำเนินการเพื่อต่อต้านความฟุ่มเฟือยในด้านอาหารโดยกฎหมายกำหนดให้ต้องทำสัญญากับองค์กรสาธารณกุศลเพื่อบริจาคอาหารที่เหลือจากการขายที่ยังไม่หมดอายุต่อองค์กรสาธารณกุศลเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับคนยากจน สำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามกฏหมายก็จะมีโทษปรับสูงสุดอยู่ที่ 3,750 ยูโร
ที่ผ่านมา ซุปเปอร์มาร์เก็ตซึ่งมีอยู่มากมายแทบจะทุกถนนในเมืองใหญ่ทิ้งอาหารที่ขายไม่หมดจำนวนมากที่อยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตของตนเนื่องมาจากอาหารเหล่านั้นหมดอายุ ใกล้หมดอายุ หรือหีบห่อบุบสลาย เป็นต้น มีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนว่างงาน คนเร่ร่อนหรือคนไร้บ้านได้เข้าไปคุ้ยหาอาหารที่ถูกทิ้งในถังขยะของซุปเปอร์มาร์เก็ตตอนกลางคืนเพื่อประทังชีวิต เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คนเหล่านั้นเข้าไปคุ้ยหาอาหารที่ถูกทิ้ง ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งจึงใส่สารฟอกขาวลงไปในถังขยะเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารที่ทิ้งถูกเก็บไปกินต่อ ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งก็ทิ้งอาหารเหล่านั้นลงไปในโกดังที่ล็อกไว้รอให้รถขยะมาเก็บไปทิ้ง สิ่งเหล่านี้จึงถูกมองว่าเป็นความสิ้นเปลืองเพราะอาหารเหล่านี้สามารถนำไปทำให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นได้ หลังจากกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ เจ้าของร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาด 400 ตารางเมตรขึ้นไปจึงต้องทำสัญญากับองค์กรสาธารณกุศลว่าจะบริจาคอาหารให้แก่องค์กรเหล่านั้น จากตัวเลขที่ปรากฏตามสื่อต่างๆทำให้ทราบว่ามีองค์กรสาธารณกุศลร่วม 5,000 แห่งที่ทำสัญญากับซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆเพื่อรับบริจาคอาหาร โดยแต่ละวันจะมีอาสาสมัครจำนวน 100,000 กว่าคนนำอาหารจากซุปเปอร์มาร์เก็ตไปส่งยังสถานที่ต่างๆที่องค์กรสาธารณกุศลเหล่านั้นดูแลรับผิดชอบอยู่ ธนาคารอาหาร (les banques alimentaires) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนและมีสาขาอยู่ทั่วโลกอธิบายว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์และมีความสำคัญมากเพราะเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตนำอาหารมาบริจาคหรือทำให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นแทนที่จะทิ้งอาหารเหล่านั้นไปอย่างไร้ประโยชน์
นาย Guillaume Garot ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างกฏหมายนี้ได้ให้สัมภาษณ์ตั้งแต่ตอนกฎหมายออกมาใหม่ๆว่า การแก้ไขปัญหาขยะที่มาจากอาหารมีความสำคัญระดับชาติคล้ายกับการคาดเข็มขัดนิรภัย กฎหมายฉบับนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการบริหารจัดการอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ ส่วนพ่อค้าและนายทุนที่มีคนมองว่าเอาแต่หาประโยชน์เข้าตัวเองก็จะกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีกด้วย
ในส่วนของร้านอาหารก็มีการตื่นตัวในเรื่องอาหารเหลือ มีร้านอาหารจำนวนหนึ่งที่เตรียมถุง (doggy bag)เอาไว้สำหรับให้ลูกค้าที่ทานอาหารไม่หมดใส่กลับไปทานต่อที่บ้าน
เท่าที่ทราบ มีหลายประเทศพยายามเดินตามแนวทางที่ประเทศฝรั่งเศสได้วางเอาไว้ เข้าใจว่าประเทศอิตาลีก็มีกฎหมายลักษณะนี้ออกมาแล้ว ส่วนประเทศไทยคงจะอีกนานนะครับเพราะว่าอาหารในซุปเปอร์มาร์เก็ตของเราก็ขายกันจนหมดอายุ เราไม่ทราบว่าอาหารเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหนเมื่อมีการเอาออกจากซุปเปอร์มาร์เก็ตไปแล้ว มีคนบอกว่าเอาไปแปรรูปเป็นอาหารในรูปแบบอื่นก็อาจจะใช่เพราะเคยเห็นอยู่บ่อยๆที่ร้านขายขนมปังมักจะมีการนำเอาขนมปังอบกรอบชิ้นเล็กๆโรยน้ำตาลใส่กระป๋องขาย บางครั้งก็อดนึกไม่ได้ว่าพอขนมปังสดหมดอายุก็นำเอาขนมปังสดหมดอายุเหล่านั้นไปทำเป็นขนมปังอบกรอบและเอามาขายได้อีก ส่วนอาหารที่อยู่ตามแผงก็เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าพ่อค้าแม่ค้าก็คงอุ่นขายกันไปได้จนกระทั่งหมด เรื่องวันหมดอายุของอาหารบ้านเราจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีความชัดเจน ใครทราบก็ขอความรู้ด้วยครับ
เป็นบทบรรณาธิการสั้นๆที่เขียนภายใต้เงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่จำกัดมากๆครับ พอดีเห็นข่าวนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสและคิดว่าควรจะนำออกมาเล่าสู่กันฟังเพราะอย่างน้อย บ้านเราก็เป็นบ้านของนักกิน มีอาหารขายกันแทบจะทุกถนน หากเรามีองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องการนำอาหารเหลือไม่ว่าจะเป็นจากร้านค้าริมถนนหรือจากซุปเปอร์มาร์เก็ตไปบริจาคให้กับประชาชนที่มีความต้องการได้ก็จะเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ครับ แต่ต้องทำอย่างจริงจังและเป็นระบบนะครับ
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว คือ บทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "กฎหมายคืออะไรกันแน่" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม 2561 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
|