หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 342
3 พฤษภาคม 2557 18:41 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 5 ถึงวันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม 2557
        
       “ร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง”
        
                    สองสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองใดเกิดขึ้นแตกต่างไปจากเมื่อเดือนที่แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงอยู่ในสภาวะของการ “รอ” ว่า ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกับศาลรัฐธรรมนูญนั้น ใครจะเป็นผู้ปล่อย “หมัดเด็ด” ออกมา “จัดการ” เก็บรัฐบาลได้ก่อนกัน
                    เนื่องจากผมต้องเดินทางไปสอนหนังสือที่ประเทศฝรั่งเศสตลอดเดือนพฤษภาคม การเขียนบทบรรณาธิการที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในบ้านเราในช่วงเวลาที่ผมอยู่ไกลบ้านอาจมีข้อมูลไม่เพียงพอและยากลำบากในการค้นคว้าเพิ่มเติม เมื่อผมมีโอกาสได้เห็นเอกสารของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คือ ร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารจังหวัดปกครองตนเองแล้ว พบว่าเป็นเอกสารที่น่าสนใจและน่าจะเกิดประโยชน์ทางวิชาการด้านกฎหมายมหาชน  และนอกจากนี้ ผมได้เคยเขียนบทบรรณาธิการเกี่ยวกับจังหวัดจัดการตนเองเอาไว้แล้ว       ๒ ครั้ง คือ บทบรรณาธิการครั้งที่ ๓๐๑ วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ และบทบรรณาธิการครั้งที่ ๓๐๒ วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๕ โดยในตอนเขียนบทบรรณาธิการทั้งสองครั้งนั้น ผมได้นำเอาตัวอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนั้น คือ ร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร มาวิเคราะห์ไว้ในบทบรรณาธิการทั้งสอง  ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ในบทบรรณาธิการครั้งนี้  ผมจะได้นำเอาเอกสารของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารจังหวัดปกครองตนเองมานำเสนอเพื่อให้เห็นภาพอีกภาพหนึ่งของจังหวัดจัดการตนเองหรือจังหวัดปกครองตนเองที่พูดๆ กันอยู่ในสังคมว่าจะมีหน้าตาอย่างไร
                    เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๗๘ (๓) กำหนดให้รัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่น ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จึงได้ทำการศึกษา วิจัย และค้นคว้าทางวิชาการ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และพัฒนาร่างกฎหมายชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. ....” ขึ้นมา
                    ร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง ประกอบด้วยสาระสำคัญ ๑๐ เรื่องใหญ่ด้วยกัน คือ
       ๑)     การจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง
                          ร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง มีลักษณะเป็นกฎหมายกลาง  มีขึ้นเพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบ “จังหวัดปกครองตนเอง”  โดยเมื่อประชาชนในจังหวัดใดมีความพร้อมตามเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น มีสิทธิแสดงเจตนารมณ์เพื่อจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง  อย่างไรก็ตาม หากร่างกฎหมายนี้ได้รับการพิจารณาจากรัฐสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว ก็ไม่ได้มีผลให้ทุกจังหวัดต้องเปลี่ยนแปลงฐานะมาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ทั้งจังหวัดตามรูปแบบ “จังหวัดปกครองตนเอง” โดยทันทีทั้งหมด แต่จะต้องเกิดจากเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น และมีการดำเนินการตามขั้นตอน เช่น มีการจัดทำประชามติ และมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเองเสียก่อน
       ๒)     การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดที่ได้จัดตั้งเป็นจังหวัดปกครองตนเอง
                          เมื่อจังหวัดใดได้จัดตั้งเป็นจังหวัดปกครองตนเองตามร่างกฎหมายนี้ จะทำให้จังหวัดและอำเภอในฐานะที่เป็นราชการส่วนภูมิภาคตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินนั้นยกเลิกไป และถือว่าจังหวัดปกครองตนเองที่ได้ก่อตั้งขึ้นนั้นเป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย       ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีอาณาเขตท้องที่ตามที่จังหวัดนั้นมีอยู่เดิม
       ๓)     หลักการพื้นฐานของการปกครองส่วนท้องถิ่น
                          กำหนดให้จังหวัดปกครองตนเอง เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงิน การคลังและงบประมาณ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่ในเขตพื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน เมื่อส่วนกลางได้กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ส่วนกลางจะคงไว้ซึ่งอำนาจกำกับดูแล โดยการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำเท่าที่จำเป็นและมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ชัดเจนสอดคล้องและเหมาะสมกับรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม
       ๔)  หลักการทั่วไปของจังหวัดปกครองตนเอง
                          -  กำหนดให้การปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัดปกครองตนเองมีสองระดับ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน ได้แก่ จังหวัดปกครองตนเอง มีเขตพื้นที่การปกครองครอบคลุมทั้งจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง ได้แก่ เทศบาลและองค์การบริการส่วนตำบล มีเขตพื้นที่การปกครองบางส่วนของจังหวัด  นอกจากนี้ ยังกำหนดให้จัดตั้งสภาพลเมืองขึ้นภายในจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล
                          -  กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นในจังหวัดปกครองตนเอง เรียกว่า “คณะกรรมการประสานแผนและทิศทางการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เพื่อทำหน้าที่ประสานอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประสานแผนและทิศทางในการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณระหว่างจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลและสภาพลเมือง  ทั้งนี้ ได้กำหนดข้อพิจารณาเพื่อเป็นหลักการของการประสานอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ไว้ว่า การกำหนดโครงการ แผนงานและทิศทางการพัฒนาในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด จะต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นสำคัญ
                          -  กำหนดหลักการพื้นฐานทั่วไปในเรื่องอำนาจหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเองซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน โดยกำหนดให้จังหวัดปกครองตนเองมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะและภารกิจอื่นเฉพาะในส่วนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งพื้นที่การปกครองครอบคลุมทั้งจังหวัด หรือภารกิจที่จังหวัดปกครองตนเองเป็นผู้จัดทำจะก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดและการลงทุนซึ่งเทศบาลไม่สามารถดำเนินการได้เอง หรือหากเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการจะไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการให้จังหวัดปกครองตนเองเป็นผู้จัดทำ หรือให้การสนับสนุนภารกิจของเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลตามที่มีการร้องขอ หรืออาจจัดทำบริการสาธารณะอื่นตามความตกลงร่วมกันกับเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล
                          -  กำหนดหลักการพื้นฐานทั่วไปในเรื่องอำนาจหน้าที่ของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง โดยกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ในการ   จัดทำบริการสาธารณะและภารกิจอื่นเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในเขตพื้นที่ และมีอำนาจขอให้จังหวัดปกครองตนเองสนับสนุนการจัดทำบริการสาธารณะหรือภารกิจอื่นที่จำเป็น หรืออาจจัดทำบริการสาธารณะอื่นตามความตกลงร่วมกันกับจังหวัดปกครองตนเอง
       ๕)     โครงสร้างการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง
                          ประกอบด้วยโครงสร้าง ๓ ส่วน ได้แก่ สภาจังหวัดปกครองตนเอง มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระคราวละ ๔ ปี โดยการกำหนดเขตเลือกตั้งและจำนวนสมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองต้องคำนึงถึงเขตพื้นที่และจำนวนประชาชน  ผู้ว่าการจังหวัด กำหนดให้ผู้ว่าการจังหวัดมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยใช้เขตจังหวัดปกครองตนเองเป็นเขตเลือกตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองวาระไม่ได้ และสภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง โดยกำหนดให้สมาชิกสภาพลเมืองประกอบด้วยบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถประสบการณ์จากองค์กร ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ โดยที่สมาชิกสภาพลเมืองมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปี
                          ขณะเดียวกันร่างกฎหมายได้กำหนดให้การบริหารเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับล่างที่มีอิสระในการจัดทำบริการสาธารณะจากจังหวัดปกครองตนเองประกอบด้วยโครงสร้าง ๓ ส่วนเช่นเดียวกับโครงสร้างการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง
       ๖)  อำนาจหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล
                          จังหวัดปกครองตนเอง มีอำนาจหน้าที่ทุกประการภายในจังหวัด ยกเว้นอำนาจหน้าที่ ๔ ประการ ได้แก่ ด้านการป้องกันประเทศ ด้านการคลังของรัฐและระบบเงินตรา ด้านการศาล และด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  นอกจากนี้ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ในรายละเอียดให้แก่จังหวัดปกครองตนเอง เช่น ให้มีอำนาจหน้าที่ในการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น การฝึกอาชีพ การจัดการศึกษา และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้จังหวัดปกครองตนเองมีอำนาจฝ่ายเดียว หรือร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะที่จัดทำขึ้นภายในเขตพื้นที่ของจังหวัดปกครองตนเองนั้น หรือมีความเกี่ยวเนื่องจังหวัดปกครองตนเองนั้น หรือกรณีจัดทำขึ้นนอกเขตพื้นที่แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่จังหวัดปกครองตนเองนั้น  นอกจากนี้ จังหวัดปกครองตนเองยังมีอำนาจฝ่ายเดียว หรือร่วมประกอบกิจการพาณิชย์กับหน่วยงานของรัฐที่มีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดปกครองตนเองนั้น  ส่วนเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นนิติบุคคล มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร     การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงิน การคลังและงบประมาณ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยเทศบาล ในเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะ การจัดให้มีสาธารณูปโภคในพื้นที่ เป็นต้น  สำหรับอำนาจหน้าที่อื่นนอกเหนือจากนี้          ให้เป็นไปตามความตกลงร่วมกันระหว่างจังหวัดปกครองตนเองกับเทศบาลหรือองค์การบริหาร      ส่วนตำบล แล้วแต่กรณี
       ๗)  ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง
                          ในส่วนของรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามร่างกฎหมายนี้     ให้เป็นไปตามกฎหมาย กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายฉบับนี้ทั้งสามรูปแบบ คือ จังหวัดปกครองตนเอง เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งต่างจากกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบัน กล่าวคือ ในกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในกฎหมายว่าด้วยเทศบาลกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำกับดูแลเทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ส่วนเทศบาลตำบลนั้น กำหนดให้นายอำเภอมีหน้าที่ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดในการกำกับดูแล และในกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลกำหนดให้นายอำเภอกำกับดูแล  สำหรับในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง  เพื่อประโยชน์แก่การจัดทำบริการสาธารณะที่มีความเกี่ยวเนื่องกันหลายท้องถิ่นหรือเพื่อความคุ้มค่าในการจัดทำบริการสาธารณะในท้องถิ่นนั้น ให้จังหวัดปกครองตนเองมีอำนาจทำความตกลงร่วมกับเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่เกี่ยวข้องในการจัดทำบริการสาธารณะภายในเขตพื้นที่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประสานแผน  นอกจากนี้ ยังกำหนดให้จังหวัดปกครองตนเองมีหน้าที่ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน การจัดทำบริการสาธารณะของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลตามที่ได้มีการร้องขอ  จังหวัดปกครองตนเองจัดมีหน้าที่จัดสรรรายได้จากการจัดเก็บให้แก่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลอย่างเพียงพอต่อการจัดทำบริการสาธารณะและภารกิจตามอำนาจหน้าที่ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประสานแผน โดยให้คำนึงถึงการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะ เขตพื้นที่รับผิดชอบ จำนวนประชากรในท้องถิ่น และอำนาจในการจัดเก็บรายได้ของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น  จังหวัดปกครองตนเองจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้กับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลอย่างเพียงพอต่อการจัดทำบริการสาธารณะ โดยคำนึงถึงเขตพื้นที่และลักษณะของพื้นที่ จำนวนประชากร รายได้ของท้องถิ่นนั้น โดยคำนึงถึงหลักความเสมอภาคและเป็นธรรม
       ๘)  การคลังและรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
                          กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องให้การสนับสนุนการจัดทำบริการสาธารณะของจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล โดยคำนึงถึงหลักการจัดทำบริการสาธารณะขั้นต่ำอย่างเท่าเทียมกัน และต้องให้การอุดหนุนงบประมาณแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสามารถในการจัดเก็บรายได้น้อยเพื่อให้สามารถมีรายได้เพียงพอต่อการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้อำนาจจังหวัดปกครองตนเองมีอำนาจหน้าที่หลักในการจัดเก็บภาษีอากรและรายได้อื่นๆ โดยให้จังหวัดปกครองตนเองมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีและรายได้ ซึ่งมีการแบ่งอำนาจการจัดรายได้ออกเป็น ๒ ประเภทหลักๆ คือ ภาษีที่ใช้ฐานร่วมระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือภาษีอื่นที่มิใช่ภาษีท้องถิ่น โดยเมื่อจัดเก็บแล้วให้เก็บไว้เป็นรายได้ของจังหวัดปกครองตนเองไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบของรายได้ทั้งหมด และให้นำส่งรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบเป็นรายได้ของแผ่นดิน  และภาษีท้องถิ่นตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายนี้และตามที่มีกฎหมายกำหนด เมื่อจัดเก็บแล้วให้เก็บไว้เป็นรายได้ของจังหวัดปกครองตนเองทั้งหมด
        ๙)  หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน
                          ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล มีสิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในเรื่องต่างๆ ได้ เช่น สิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง     สิทธิในการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น สิทธิการมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สิทธิในการได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดในกรณีที่การกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นในสาระสำคัญ เป็นต้น
        ๑๐)  คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง มี ๓ ชุดด้วยกัน คือ คณะกรรมการบริหารภาษีระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่จัดทำแผนการจัดเก็บภาษีอากรและรายได้อื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บภาษีอากรและรายได้อื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำกับการจัดแบ่งภาษีอากร และรายได้อื่นระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นต้น  คณะกรรมการตรวจสอบ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการดำเนินงานภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี การใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างประสิทธิภาพ     การบริหารงาน การตรวจสอบภายในอื่น พิจารณาข้อร้องเรียนจากประชาชนในท้องถิ่นและสภาพลเมืองเกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง  และคณะกรรมการส่งเสริมการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง ทำหน้าที่ในการเสนอจัดโครงสร้างองค์กร การแบ่งส่วนงาน การจัดระบบบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ
                    เมื่อได้อ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารจังหวัดปกครองตนเองจบ ความรู้สึกแรกที่มีก็คือ ร่างกฎหมายนี้ “ไม่ใช่” ร่างกฎหมายที่จะนำมาใช้จัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศเป็นอย่างมาก รายละเอียดบางส่วนคล้ายกับร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร แล้วยิ่งพอกำหนดให้การจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเองทำโดยกฎหมายระดับพระราชกฤษฎีกาซึ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ง่ายมาก ก็เลยทำให้คุณค่าและสถานะของจังหวัดปกครองตนเองด้อยกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบัน
                    ผมคงไม่ขอวิจารณ์อะไรมากไปกว่านี้ เนื่องจากไม่มีเวลา เอาเป็นว่าในบทบรรณาธิการนี้ ผมขอนำรายละเอียดเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารจังหวัดปกครองตนเองของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมาเสนอ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการครับ
                    ผมไม่แน่ใจว่า จะเขียนบทบรรณาธิการครั้งหน้าได้ทันวันที่ 19 พฤษภาคมหรือไม่ เพราะมีตารางการทำงานที่ต่างประเทศค่อนข้างแน่น หากเขียนไม่ทันก็ต้องขอเลื่อนไปครับ
         
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอสี่บทความด้วยกัน บทความแรก เป็นบทความของคุณปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เขียนเรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการจัดทำร่างกฎหมาย” บทความที่สองเป็นบทความของคุณศุภวัฒน์ สิงห์สุวงษ์ นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ ฝ่ายพัฒนาหลักกฎหมายปกครอง สำนักกฎหมายปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  ที่เขียนเรื่อง “ข้อพิจารณาบางประการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง” บทความที่สามเป็นบทความของ ดร. ฤทัยรัตน์ ปทุมานนท์ พนักงานคดีปกครอง สำนักงานศาลปกครอง ที่เขียนเรื่อง “การวางตัวเป็นกลางทางการเมืองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ” บทความที่สี่เป็นบทความเรื่อง “การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งลงโทษทางวินัย : พัฒนาการจากแนวคำพิพากษาของศาลปกครองในประเทศฝรั่งเศส” ที่เขียนโดย คุณพัฒน์พงศ์ อมรวัฒน์ พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ สำนักงานศาลปกครอง  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสี่บทความไว้ ณ ที่นี้ครับ
       
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2557 ครับ
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544