|
|
|
|
ครั้งที่ 337 |
23 กุมภาพันธ์ 2557 21:12 น. |
|
|
|
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 24 กุมพาพันธ์ ถึงวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2557
พอเพื่อชาติ
ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาผมรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเขียนบทบรรณาธิการของ www.pub-law.net มากเพราะไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรดีครับ ตลอดเวลาเกิดประเด็นกฎหมายที่แก้ไม่ตกขึ้นมากมาย นักวิชาการกลุ่มหนึ่งพยายามหาทางออกแต่ก็หาไม่ได้ แล้วก็ยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งพยายามปิดทางออกตลอดเวลา ประเด็นกฎหมายเหล่านี้เกิดขึ้นมามากและทุกครั้งที่มีประเด็นเกิดขึ้นก็จะมีนักกฎหมายทั้งระดับธรรมดา ระดับเก่ง ระดับเก่งมาก และระดับอภิมหาเก่ง ออกมาให้ความเห็นหรือหาทางออกให้กับปัญหาทุกวันวันละหลายรอบ ซ้ำไปซ้ำมาและสร้างความสับสนให้กับประชาชนหรือแม้แต่นักกฎหมายด้วยกันเองจนทำให้ผมรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะฟังและที่จะอ่านเพราะไม่ว่าใครจะให้ความเห็นอย่างไร ดีหรือไม่ดีแค่ไหน เหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไปอย่างไม่มีใครยอมใครและไม่มีใครนึกถึงผลที่จะตามมา
การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 3 เดือนแล้วส่งผลกระทบต่อหลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ มีเสียงพูดกันมากว่าการชุมนุมทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทั้งระบบเหตุเพราะมีการปิดถนนเพื่อชุมนุม มีการประกาศใช้พระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวรวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศด้วยจึงซบเซาทั้งระบบ
ไม่แต่เพียงขาดนักท่องเที่ยวเท่านั้น ประชาชนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในสถานการณ์ต่างก็หมดสนุกหมดสุขไปด้วยเพราะไม่มั่นใจว่าในวันข้างหน้าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น การสลายการชุมนุม หรือไม่ ทำให้การออกมาใช้จ่ายเงินของประชาชนน้อยไปกว่าเดิมมาก
การชุมนุมจึงสร้างความลำบากให้กับคนจำนวนไม่น้อย ประชาชนธรรมดาและคนหาเช้ากินค่ำเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นแต่กลับต้องมารับผลกระทบไปเต็มๆ
มีหลายคนถามกันว่า ปัญหาทางการเมืองครั้งนี้จะจบลงอย่างไร คำตอบพื้นฐานที่ได้ยินก็คือ ไม่ทราบและไม่มีใครคาดเดาได้ แต่พอมองดูแล้วก็คงมีคำตอบโดยปริยายเกิดขึ้นในใจไว้ว่าจะให้จบได้อย่างไรในเมื่อประเด็นของเหตุที่ทำให้คนมาชุมนุมเปลี่ยนไปได้ทุกวัน เมื่อประเด็นของการชุมนุมเปลี่ยนไป ผู้คนจำนวนหนึ่งก็เห็นว่ายัง มีเหตุที่จะชุมนุม อยู่ก็คงชุมนุมกันต่อไป จากประเด็นเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว กลายมาเป็นประเด็นเรื่องจำนำข้าวที่วันนี้ถูกทำให้เป็นประเด็นที่ ชอบธรรม ที่จะชุมนุมต่อไปแล้ว เพราะเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้เรียกนายกรัฐมนตรีมาพบและแจ้งข้อกล่าวหาในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวโดยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ
จริงๆ แล้วปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นจากการจำนำข้าวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหลักของประเทศไทย ปัญหาของการทุจริตคอรัปชั่นที่เป็น เหตุ แรกๆ ที่ กปปส. ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำมาใช้เป็นเหตุในการชุมนุม ในตอนนั้นยังจำได้ว่ามีคนออกมาพูดเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นกันมากจนทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองว่าจะต้องปฏิรูปการเมืองก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง แต่ในปัจจุบันประเด็นเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นได้หายเงียบไปสักพักหนึ่งแล้ว หายไปพร้อมๆ กับข้อเสนอที่ให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้งครับ
ไม่มีเสียงตอบรับจากผู้เกี่ยวข้องที่จะหาช่องทางในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ การทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องจริงจังและจริงใจในการป้องกันและปราบปราม แม้เราจะมีทั้งองค์กร กลไกและกระบวนการในการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นมากมายทั้งภาครัฐและเอกชน แต่การคอรัปชั่นก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่แล้วก็เป็นเหตุที่ถูกนำมาใช้ในการปฏิวัติรัฐประหารและในการชุมนุมทางการเมืองแทบจะทุกครั้ง และยิ่งในปัจจุบัน การเผยแพร่ข้อมูลตามสื่อต่างๆ เป็นไปอย่างไม่ยาก จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่จะกล่าวหาใครสักคนว่าเป็นคนทุจริต การกล่าวหาในสังคมเราส่วนใหญ่เกิดมาจากการใช้ความรู้สึกเข้ามาตัดสิน กล่าวหากันไปได้ 2-3 วันก็เงียบไป บางทีก็มีการนำเอาข้อมูลที่เกี่ยวข้องออกมาเสนอตามสื่อต่างๆ ข้อมูลเหล่านั้นเชื่อได้บ้างไม่ได้บ้าง แม้ในกรณีนี้เป็นการกล่าวหากันโดยไม่มีหลักฐานแต่ก็ทำให้มีผู้ทำให้แพร่หลายจนคิดกันว่าเป็นเรื่องจริงและถูกนำไปใช้เป็นประเด็นการเมืองซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความระมัดระวังกันเป็นพิเศษเพราะมีข่าวออกมาหรือมีการกล่าวหากันลอยๆ เกิดขึ้น ข้อกล่าวหาเหล่านั้นก็จะถูกนำมาขยายผลและใช้เป็นประเด็นโจมตีทำร้ายกัน รวมไปถึงถูกใช้เป็นเหตุในการชุมนุมด้วย วิธีการเหล่านี้ถูกนำมาใช้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา สร้างความร้าวฉานให้กับสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจนกลายมาเป็นวิกฤตของประเทศในปัจจุบัน
เป็นที่ชัดเจนแล้วเช่นกันว่า การแก้ปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้ทำได้ยากมาก เพราะเท่าที่ผ่านมาคงมองเห็นกันแล้วว่า ไม่มีใครยอมใคร ฝ่ายรัฐบาลเองก็ยังยืนยันว่าสิ่งที่ตนทำอยู่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ฝ่าย กปปส. ผู้ชุมนุมก็อ้างความชอบธรรมที่จะใช้สิทธิของความเป็นพลเมืองคว่ำรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นและรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม
มองคนละจุดทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดี่ยวกันแบบนี้ คงไม่มีทางยุติปัญหาวิกฤตของประเทศได้ง่ายๆ เป็นแน่
กลับมาถึงคำถามยอดนิยมของคนไทยก็คือ แล้วเรื่องนี้จะจบลงอย่างไรกัน
จบได้หลายอย่างแล้วแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะเลือกครับ รัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะทำให้การชุมนุมยุติลงได้แล้วเพราะยืดเยื้อมาเป็นเวลานานและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอื่นๆ ส่วนฝ่ายของ กปปส. เองก็สามารถยุติการชุมนุมได้แล้วเพราะการชุมนุมที่เกิดขึ้นทำให้สถานะของรัฐบาลสั่นคลอนได้มากขนาดที่เป็นอยู่ในวันนี้
แต่ก็ไม่เห็นมีใครอยากจบเรื่องนี้กันเลยครับ
ในมุมมองของผมนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้เลย ผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมายทุกอย่างแต่ก็ไม่มีใครทำอะไรได้ ปล่อยให้ผู้ชุมนุมเพิ่มระดับการกระทำผิดกฎหมายมากขึ้นๆ ทุกวัน กระทบสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและกระทบถึงความเป็นรัฐจนกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่ไม่มีกฎหมายใช้บังคับแล้ว
ยิ่งในวันนี้ เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ 275/2557 ไปเมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ ว่าเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไปแล้วว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงไม่มีผลบังคับต่อผู้ชุมนุม ผลที่เกิดขึ้นก็คือรัฐไม่สามารถใช้กำลังหรืออาวุธมาสลายการชุมนุมได้รวมทั้งในคำพิพากษาดังกล่าวศาลก็ยังห้ามรัฐบาลดำเนินการต่างๆ อีก 9 ประการ แถมยังมีการนำเอาหมายศาลในเรื่องดังกล่าวไปปิดไว้หน้าประตูทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย จึงน่าจะส่งผลทำให้การชุมนุมในแบบที่ปัจจุบันศาลทั้ง 2 ศาลถือว่า เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ดำเนินต่อไปไม่ทราบว่าจะอีกนานขนาดไหน ถ้าผู้พิพากษาเป็นคนกรุงเทพมหานครเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครแล้วก็ยังมีข้อห้ามดังกล่าวออกมาอีก คนกรุงเทพมหานครก็คงทำใจแล้วล่ะครับว่าคงหันหน้าไปพึ่งใครไม่ได้อีกแล้ว !!!
นอกจากที่กล่าวไปแล้ว เมื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาทำให้คาดเดาได้ว่าถ้าไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น คงอีกสัก 2 เดือนกว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสร็จเรียบร้อยและสามารถประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ ช่วงเวลา 2 เดือนนี้ก็น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่แตกต่างไปจากปัจจุบันคือไม่มีใครยอมใคร การชุมนุมคงมีอยู่ต่อไป และอาจหนักขึ้นกว่าเดิมได้เพราะศาลมีคำสั่งข้างต้นไปแล้ว
ในเมื่อทหารก็ไม่ทำรัฐประหาร การต่อสู้บนถนนก็ยังไม่ชนะทั้งๆ ที่มีตัวช่วยมากมาย เรื่องก็ยังคงจบไม่ได้ การเจรจาจึงน่าจะเป็นวิธีดีที่สุดที่จะทำได้ในเวลานี้ครับ
เพื่อให้ประเทศชาติกลับเข้าสู่สภาวะที่ปกติหรือเกือบปกติ ตัวละครผู้เกี่ยวข้องกับความวุ่นวายทางการเมืองต่างๆ คงจะต้องมานั่งทบทวนดูแล้วว่า พอหรือยัง โดยนำเอาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนมาเทียบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากยังคงดึงดันที่จะเป็นฝ่ายชนะ มีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายควรถอยคนละก้าว
วิธีที่จะถอยอย่างไม่มีผู้แพ้ก็คือ ในเมื่อนายกรัฐมนตรีไม่สามารถนำความสงบให้กลับมาสู่สังคมได้ ก็ควรจะลาพักการทำงานเหมือนกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชิวัตร เคยทำมาแล้วในปี พ.ศ. 2549 แล้วให้คนที่เหมาะสมมาทำหน้าที่แทน คุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตผู้พิพากษาซึ่งปัจจุบันเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลน่าจะเป็นผู้ที่ดูดีที่สุดที่จะเข้ามาแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในภาวะวิกฤติเช่นนี้ครับ ดูๆ แล้วคุณพงศ์เทพฯ น่าจะเป็นคนที่เจรจากับฝ่าย กปปส. ได้ไม่ยากนัก ถ้าทุกอย่างลงตัวและการเลือกตั้งสามารถดำเนินการได้ครบถ้วนเรียบร้อยรัฐบาลใหม่ก็ควรที่จะต้องรีบเร่งปฏิรูปการเมืองโดยหาทางทำให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด
ถ้าทำได้ก็น่าจะดีนะครับ เพียงแต่ว่า คู่ขัดแย้งและบรรดากองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายจะยอมหรือไม่ ครับ
เห็นแก่ประเทศชาติกันบ้างนะครับ พอได้แล้วครับ แค่นี้ทั้งประเทศชาติและประชาชนได้รับความเสียหายอย่างมากจนไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไรกว่าเราจะกลับไปสู่จุดเดิมที่เคยเป็นได้ !!!
แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว ระบอบประชาธิปไตย กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่หายไปจากสังคมไทยเป็นเวลานาน จะกลับมาใช้ได้เหมือนเดิมหรือไม่ หรือคนไทยจะต้องอยู่ภายใต้การปกครองที่มีผู้ชุมนุมเป็นผู้ชี้นำและกำหนดทางเดินของประเทศต่อไป !!!
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของอาจารย์ไกรพล อรัญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนเรื่อง ผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญา บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง ภาษีห้องนอน ที่เขียนโดย อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บทความที่สามเป็นบทความเรื่อง ปฏิรูปอะไร ปฏิรูปอย่างไร ที่เขียนโดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามบทความไว้ ณ ที่นี้ครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2557 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|