หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 332
15 ธันวาคม 2556 21:11 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2556
       
       “บ้านเมืองที่ไร้กติกา”
       
                   เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ความแตกแยกในสังคมทวีความรุนแรงขึ้น  คนจำนวนมากต้องพบกับปัญหาของการ “เลือกข้าง” ที่ไปไกลจนขนาดที่ว่าคนที่อยู่เฉยๆ “ไม่เลือกข้าง” ก็จะถูกผลักไสให้ไปอยู่ “อีกข้างหนึ่ง” โดยปริยาย เป็นแบบนี้แทบจะทุกวงการจนทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว ในที่ทำงานและในหมู่เพื่อนฝูง
                 ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงเวลานี้มีที่มาจากสาเหตุหลายประการ ย้อนหลังไปประมาณ 10 ปีที่แล้ว ช่องว่างระหว่างคนรวย คนจน คนเมือง คนชนบท แม้จะมีอยู่แต่ก็ไม่เป็นปัญหามากนัก ตรงข้ามกับในปัจจุบันที่ช่องว่างดังกล่าวมีมากขึ้นและชัดเจนขึ้นโดยมีเหตุส่วนหนึ่งมาจากการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ทำให้ “การด่าว่ากัน” ทำได้ง่ายขึ้นเพราะไม่เห็นตัว ไม่เห็นหน้าและบางคนก็มี “ลูกสมุน” คอยสนับสนุนเป็นหมื่นๆ คนทำให้เกิดความกล้าที่จะพิมพ์และกดได้ง่ายๆ  ด้วยเหตุนี้ ความไม่พอใจ การดูถูก การไม่ยอมรับ จึงกลายเป็นสิ่งที่แพร่หลายอยู่ในสื่อออนไลน์และทำให้ความขัดแย้งในสังคมมีมากขึ้นและประทุออกมาในที่สุด
                 ที่มาของความขัดแย้งที่สำคัญประการหนึ่งก็คือผลจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549  การรัฐประหารนอกจากจะทำลายรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดในประเทศไทยไปแล้วยังทำลายหลักประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม หลักกฎหมายและหลักต่างๆ ลงไปอีก สิ่งที่คณะรัฐประหาร “สร้าง” ขึ้นมาเป็นสิ่งที่ “ไม่สอดคล้อง” กับกติกาที่ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกนี้ใช้กันอยู่ เมื่อมีคนลุกขึ้นมาจุดประเด็นเหล่านี้ ความขัดแย้งในสังคมจึงมีมากขึ้น ในช่วงต้น คำว่า “สองมาตรฐาน” ถูกนำมาใช้เรียกการกระทำต่างๆ ที่ผู้คน “ฝ่ายหนึ่ง“ ได้รับแต่แตกต่างไปจากที่ “อีกฝ่ายหนึ่ง” ได้รับ อาการสองมาตรฐานทำให้พรรคการเมือง ประชาชน ข้าราชการ แม้กระทั่งศาลก็เกิดความแตกแยกกัน สะสมความไม่พอใจจนพัฒนามาเป็นความเกลียดชังกันในที่สุด
                 สิ่งที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารนั้นสร้างความเจ็บช้ำให้กับคนจำนวนมาก การยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่และเป็นพรรคการเมืองขวัญใจคนชนบท ทำให้คนจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาเป็นปฏิปักษ์กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการยุบพรรคการเมืองไม่มากก็น้อย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยซึ่งเกิดขึ้นจากการยุบพรรคพลังประชาชนก็ยังคงได้รับความนิยมจากคนในประเทศอยู่มาก ต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งสู้อย่างไรก็ไม่ชนะเพราะสามารถครองใจคนได้เฉพาะในบางส่วนของประเทศ วาทกรรมคนชนบทตั้งรัฐบาล จึงถูกนำมาใช้เนื่องจากพรรคเพื่อไทยได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนมากจากคนในชนบทนั้นเอง
                 เมื่อความขัดแย้งในสังคมมีมากขึ้นและการต่อสู้ทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรไม่ประสบผลสำเร็จ ตัวช่วยต่างๆ จึงถูกนำมาใช้ เกิดการแจ้งความ การฟ้องร้องไปยังศาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองให้เข้ามาควบคุมการทำงานของรัฐบาลหรือรัฐมนตรี ฝ่ายค้านแทนที่จะจับผิดรัฐบาลเพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีกว่า กลับกลายเป็นการจับผิดเพื่อทำลายล้างทางการเมือง  ชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร จึงถูกนำมาใช้กับทุกเรื่อง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการดำเนินการต่างๆ แม้จะจริงบ้างเท็จบ้าง แต่ผลที่ออกมาก็ทำให้ทุกวันมีคนเกลียด พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร เพิ่มมากขึ้น การดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาลจึงถูกจับตามองจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านและบรรดาผู้สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือองค์กรต่างๆ เมื่อสบโอกาส ก็จะนำเรื่องดังกล่าวมาใช้เป็นประเด็นทางการเมืองต่อไป
                 จริงๆ แล้วโอกาสที่จะ “ทำลาย” พรรคเพื่อไทยนั้นมีอยู่มาก เพราะเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยขาดสิ่งสำคัญที่พรรคการเมืองระดับนี้ควรมีคือ คนเก่ง บุคลากรที่มีอยู่ส่วนหนึ่งขาด ความยั้งคิดและที่สำคัญคือขาดวินัย จึงทำให้เส้นทางเดินของพรรคเพื่อไทยเป็นไปอย่างไร้ระบบและไร้ทิศทาง นึกจะแก้รัฐธรรมนูญตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญก็เขียนขึ้นมาทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่มีข้อบกพร่องร้ายแรงขนาดไหน นึกจะนิรโทษกรรมก็ทำร่างกฎหมายออกมาแปลกๆ ไม่มีคำตอบให้กับสังคมจนกลายเป็นความวุ่นวายระดับชาติ การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมาของพรรคเพื่อไทยจึงถูกมองว่าเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน ทำให้ “คนเมือง” ซึ่งไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว เพิ่มความไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในช่วงเวลา 2 ปี ที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้กับ“คนเมือง” ปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งมีที่มาจากระบบขนส่งมวลชนก็ไม่ได้รับความสนใจที่จะแก้ไขจากรัฐบาลเท่าที่ควร การปรับปรุงและรื้อระบบรถเมล์ซึ่งเป็นขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครที่แม้จะทำได้ง่ายที่สุดและเร็วที่สุด ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลแต่รัฐบาลกลับไปมุ่งเน้นกับการสร้างรถไฟความเร็วสูงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ปัญหามลพิษ หาบแร่แผงลอย ที่เป็นปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานครก็ยังคงอยู่ นอกจากนี้แล้ว นโยบายรถคันแรกของรัฐบาลยังเข้ามาทำให้เกิดปัญหารถติดและมลพิษในเขตกรุงเทพมหานครมากขึ้น พรรคเพื่อไทยจึงขาดการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนเมือง ทำให้การยอมรับและการสนับสนุนจากคนเมืองมีน้อยมาก เมื่อเกิดปัญหาการเมืองขึ้นคนเมืองส่วนใหญ่จึงไม่สนับสนุนรัฐบาล
                 จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่สำคัญที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ความขัดแย้งในวงนักกฎหมายและนักวิชาการมีมากขึ้น โดยฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองและนักการเมือง รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ในขณะนี้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
                 ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้ว ผมได้เขียนถึงการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาไปแล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความแตกแยกด้านความคิดให้กับสังคม เมื่อผมได้มีโอกาสอ่านคำวินิจฉัยดังกล่าวคือคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อไม่กี่วันมานี้เองก็รู้สึกว่า ความขัดแย้งด้านความคิดมีมากกว่าที่คิดและยังฝังรากลึกไปทั่ว แม้กระทั่งในคำวินิจฉัยดังกล่าวก็ยังมีถ้อยคำที่แสดงถึง “ความไม่พอใจ” ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในพรรคเพื่อไทย เช่นในคำวินิจฉัยหน้าที่ 32 วรรคสองตอนท้าย ที่ว่า “...สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามคำร้องนี้ เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยปรากฏแล้วในอดีต เป็นจุดบกพร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อการสูญสิ้นศรัทธาและสามัคคีธรรมของมวลหมู่มหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาของครอบครัว และสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของมวลชนกลุ่มเดียวกัน ทำลายสาระสำคัญของการมีสองสภา นำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจรัฐ ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนหลากสาขาอาชีพ เป็นการเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้กลับมีโอกาสได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้....” เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคการเมืองฝ่ายที่ “ได้ประโยชน์” จะนำเอาสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเขียนไว้ไป “ใช้ประโยชน์” ในการต่อสู้ทางการเมืองจนทำให้บรรดาคนดูและกองเชียร์ เข้าใจไปว่าศาลก็ “เลือกข้าง” ได้เหมือนกัน จุดแตกหักทางการเมืองจึงเกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 ที่เมื่อฝ่ายพรรคเพื่อไทยและนักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา “…เมื่อเนื้อความที่เป็นสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ...” ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อ “...ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550...”  พรรคเพื่อไทยและนักวิชาการจำนวนหนึ่งจึงมีความเห็นว่า ไม่ควรยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าวเนื่องจากเป็นคำวินิจฉัยที่เกิดจากการดำเนินการโดยปราศจากอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญจึงถูกนำมาปลุกกระแสความไม่ไว้วางใจในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจนกระทั่งกลายเป็นเหตุลุกลามบานปลายใหญ่โตไปถึงขนาดมีการยุบสภาและในวันนี้ก็ยังไม่มีทางออกในปัญหาอีกหลายๆ  เรื่อง
                 ภายหลังการยุบสภา นักกฎหมายจำนวนหนึ่งก็เริ่มมองหน้ากันไม่ติด ฝ่ายที่รับไม่ได้กับรัฐบาล ก็เสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากการรักษาการ แต่ฝ่ายที่รับได้กับรัฐบาลก็อ้างมาตรา 181 แห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากหน้าที่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่  เถียงกันมากโดยไม่มีข้อยุติทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วปัญหานี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549  พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นได้ยุบสภาผู้แทนราษฎร มีกระแสของความไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีมากจนทำให้นายกรัฐมนตรีต้องการลาออกจากการรักษาการ แต่เมื่อทำไม่ได้เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องอยู่ในตำแหน่งจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ นายกรัฐมนตรีจึงใช้วิธี“ขอลาพักจากการปฏิบัติหน้าที่” ซึ่งในเรื่องดังกล่าว เลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ ศ.ดร.บวรศักดิ์  อุวรรณโณ ได้ออกหนังสือเวียน ที่ นร 0504/ว.56 ลงวันที่ 7 เมษายน 2549 มีใจความตอนหนึ่งว่า “ ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๙ นายกรัฐมนตรีแจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เนื่องจากได้ทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอย่างเต็มความสามารถต่อเนื่องกันมาถึง ๕ ปีแล้วโดยมิได้มีการพักผ่อน จนเป็นเหตุให้ร่างกายและสุขภาพทรุดโทรม นอกจากนั้น เพื่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ ไม่เป็นที่หวาดระแวงประการใดในหมู่คนจำนวนหนึ่ง จึงขอลาพักจากการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๑๕ วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตลอดไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติว่า โดยที่การขอลาพักจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีถือเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ซึ่งต้องมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ตามนัยมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น จึงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีพลตำรวจเอก ชิดชัย  วรรณสถิตย์  นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  นายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์  นายสุวัจน์  ลิปตพัลลภ  นายสุรเกียรติ์  เสถียรไทย  นายสุชัย  เจริญรัตนกุล  และนายวิษณุ  เครืองาม  เป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีตามลำดับ โดยให้ผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีทุกประการตามนัยมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ยกเลิกความในข้อ ๒ ของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๕๔/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙ (เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีและมอบให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนกัน) ยกเว้น กรณีที่มีภารกิจเฉพาะเจาะจงหรือมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยตนเอง ก็ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ ในระหว่างนี้ขอให้ผู้รักษาราชการแทนปฏิบัติหน้าที่และคณะรัฐมนตรีสามารถตัดสินใจได้เต็มที่ โดยไม่ต้องปรึกษาหรือขอความเห็นชอบในเรื่องใดๆ จากนายกรัฐมนตรีก่อน ” ปัญหาเรื่องการขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจึงไม่มีความแตกต่างไปจากปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับพี่ชายมาแล้วในอดีต
                 นอกจากปัญหาเรื่องการลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการซึ่งเป็นปัญหาเก่าแล้วเรื่องเก่าๆ อีกหลายเรื่องก็ถูกยกขึ้นมาปัดฝุ่นเสนอใหม่ เช่น เรื่องการนำมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญมาใช้กับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนนอก ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเช่นเดียวกับที่ในตอนนั้นก็เหมือนเรื่องแรก คือ มีคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า ทำไม่ได้ ส่วนข้อเสนอเรื่องสภาประชาชน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นข้อเสนอใหม่ที่ยังไม่มีความชัดเจนแต่ก็ยังอุตส่าห์มีนักกฎหมายระดับศาสตราจารย์พิเศษ ออกมาให้ความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีสามารถออกพระราชกำหนดตั้งสภาประชาชนได้ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ระหว่างยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกพระราชกำหนดได้หรือไม่ ถ้าทำได้มาตราใดในรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ และนอกจากนี้ “ตรรกะ” ของการออกพระราชกำหนดในช่วง “รักษาการ” ก็ยังขัดกันเองอย่างรุนแรงเพราะผู้รักษาการนั้น มาตรา 181 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตราดังกล่าว
                 ไม่น่าแปลกใจ ที่มีข้อเสนอจำนวนมากจากพรรคการเมืองและมาจากบรรดาผู้สนับสนุนที่ “ขัดหรือแย้ง” กับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย แต่ก็น่าแปลกใจมาก ที่ข้อเสนอส่วนหนึ่งนั้นแม้จะมาจาก นักกฎหมาย แต่ก็เป็นข้อเสนอที่ “ขัดหรือแย้ง” กับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายครับ
                 ไม่ทราบเหมือนกันว่า สิ่งที่บรรดานักกฎหมายเหล่านั้น สอนในห้องเรียน กับสิ่งที่บรรดานักกฎหมายเหล่านั้น นำเสนอต่อสาธารณะ เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ ใครทราบช่วยบอกทีครับ !!!
                 เขียนมาเสียยาว ก็เพื่อบอกว่า กติกาสำหรับบ้านเมืองยังมีอยู่ รัฐธรรมนูญยังคงใช้บังคับอยู่และเป็นกฎหมายที่สูงสุดที่ทุกคนต้องยึดถือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ใครไม่เดินตามรัฐธรรมนูญคงไม่ได้ แต่ถ้านักกฎหมายจำนวนหนึ่งออกมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องเดินตามรัฐธรรมนูญแล้ว ความวุ่นวายก็คงเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ กติกาต่างๆ คงมีคนละเมิดและไม่ปฏิบัติตามโดยมีข้ออ้างว่านักกฎหมายเห็นว่าหรือให้ความเห็นว่าทำได้ !!!
                 ความสงบสุขในบ้านเมืองจะกลับมาได้หากทุกคนหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกัน นำกติกาที่มีอยู่มาใช้และยึดถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดครับ
       
                 บ้านเมืองที่ไร้กติกาคงไม่ใช่สถานที่ที่เราจะมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบหรือปล่อยให้ลูกหลานของเราโตขึ้นมาในที่แบบนั้นครับ.
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน สองบทความแรกเป็นบทความของคุณปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เขียนเรื่อง “การปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อส่งเสริมการค้าเสรีและขจัดการทุจริต” และเรื่อง "มาตรา 7 ความเป็นมาและวัตถุประสงค์"  บทความที่สามเป็นบทความเรื่อง “ประชาธิปไตยกำลังทำงานอยู่ (Democracy is Working)” ที่เชียนโดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2556
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544