หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 316
5 พฤษภาคม 2556 17:36 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม 2556
       
       “สาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (2)”
       
        วิวาทะระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ (ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือพรรคเพื่อไทยซึ่งมีเสียงข้างมากอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรและมีความประสงค์ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ) กับศาลรัฐธรรมนูญเริ่มชัดเจนขึ้นและรุนแรงขึ้นเนื่องมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญ “ก้าวล่วง” เข้าไปใช้อำนาจที่ตัวเองไม่มีโดยการเข้าไป “ขัดขวาง” การแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลทั้งในและนอกรัฐสภากระโดดออกมาเป็นแนวร่วมสนับสนุนการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย ดูแล้วข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องให้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากเพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีฝ่ายใดอยากแพ้ กลเม็ดทุกอย่างคงต้องถูกงัดเอามาใช้เพื่อให้ฝ่ายตนชนะ
        ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก !!!
        กลับมาดูสาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐที่ยังค้างอยู่กันดีกว่าครับ บทบรรณาธิการครั้งที่แล้วจบลงตรงส่วนสุดท้ายของขั้นตอนของการเสนอโครงการซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ คือ คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการที่หน่วยงานของรัฐเสนอ โดยเมื่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐให้ความเห็นชอบหลักการของโครงการใดแล้ว หน่วยงานเจ้าของโครงการก็จะต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 5 ของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐต่อไป แต่ก็มีบางกรณีที่ก่อนจะไปดำเนินการตามหมวด 5 ที่จะต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อน โดยในมาตรา 28 ได้บัญญัติไว้ว่า หากโครงการใดจะต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินหรืองบประมาณของหน่วยงานเจ้าของโครงการ หรือจะต้องมีการก่อหนี้โดยการกู้หรือการค้ำประกันโดยกระทรวงการคลังเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ เมื่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการแล้ว ให้เสนอโครงการนั้นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการและวงเงินงบประมาณรายจ่ายหรือวงเงินที่จะใช้ในการก่อหนี้ของโครงการนั้น
        ในขั้นตอนของการเสนอโครงการซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐนั้นยังมีอีกสองเรื่องที่น่าสนใจและเป็นเรื่องที่บัญญัติไว้ในกฎหมายด้วย เรื่องแรกเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมีอำนาจมากและเหนือกว่าหน่วยงานของรัฐอื่นซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าในขั้นตอนของการพิจารณากฎหมายนี้ได้พิจารณากันอย่างละเอียดรอบคอบแล้วหรือไม่ โดยในมาตรา 29 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเห็นว่าหน่วยงานของรัฐใดมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการของรัฐตามที่แผนยุทธศาสตร์กำหนดว่าสมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนแต่หน่วยงานของรัฐนั้นมิได้เสนอโครงการเพื่อให้เอกชนร่วมลงทุน ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจประเมินความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดทำโครงการเพื่อให้เอกชนร่วมลงทุนและประสานกับหน่วยงานของรัฐนั้นเพื่อให้เสนอโครงการ และเมื่อหน่วยงานของรัฐนั้นในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการได้จัดทำผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการครบถ้วนแล้ว ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้กำหนดเอาไว้ดังที่ได้นำเสนอไปแล้ว ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องของการยกเว้นไม่ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ที่มาตรา 30 บัญญัติให้ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐประสงค์จะจัดทำโครงการที่มีลักษณะของกิจการและอยู่ในประเภทและงานตามที่กำหนดในแผนยุทธศาสตร์ด้วยงบประมาณแผ่นดินหรืองบประมาณของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด หน่วยงานของรัฐนั้นจะต้องทำการเปรียบเทียบต้นทุน ความเสี่ยง และความคุ้มค่าในการดำเนินการเองกับการที่จะให้เอกชนร่วมลงทุนเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพิจารณา หากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเห็นด้วยกับหน่วยงานของรัฐก็ให้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ แต่ถ้าหากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเห็นสมควรให้เอกชนร่วมลงทุน หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐต่อไป
       
        ที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้นคือขั้นตอนของการเสนอโครงการซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
       
        ขั้นตอนที่สอง ที่กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐกำหนดก็คือขั้นตอนของการดำเนินโครงการ
        ในกฎหมายเดิมคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 12 และมาตรา 13 ว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในโครงการใดแล้ว หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องจัดทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการร่างขอบเขตของโครงการและเงื่อนไขสำคัญที่ต้องมีในสัญญาร่วมงานหรือดำเนินการ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการ ร่างขอบเขตของโครงการและเงื่อนไขสำคัญที่จะต้องมีในสัญญา กำหนดหลักประกันซองและหลักประกันสัญญา รวมทั้งพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการด้วย แต่ในกฎหมายใหม่นั้น เมื่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการหรือเมื่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้อนุมัติในโครงการใดแล้ว ส่วนแรกที่ต้องดำเนินการคือ หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องจัดทำเอกสาร 3 ชิ้น ได้แก่ ร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน ร่างขอบเขตโครงการ และร่างสัญญาร่วมลงทุนในส่วนของโครงการที่เป็นการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยในการประกาศเชิญชวน เอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน วิธีการประกาศเชิญชวน วิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือก การกำหนดหลักประกันซองและหลักประกันสัญญา รวมทั้งหลักเกณฑ์อื่นที่จำเป็นในการให้เอกชนร่วมลงทุนนั้นจะต้องเป็นไปตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจที่ออกโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ส่วนร่างสัญญาร่วมลงทุนก็เช่นเดียวกันกับประกาศเชิญชวนคือ จะต้องประกอบด้วยข้อกำหนดมาตรฐานของสัญญาร่วมลงทุนที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยในมาตรา 34 แห่งกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้กำหนดกรอบของข้อกำหนดมาตรฐานของสัญญาร่วมลงทุนไว้ว่าอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาของโครงการ การให้บริการและการดำเนินโครงการ อัตราค่าบริการวิธีการชำระเงินของเอกชนหรือหน่วยงานเจ้าของโครงการหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่เอกชนต้องให้แก่หน่วยงานเจ้าของโครงการ การเปลี่ยนลักษณะการให้บริการของโครงการ การเปลี่ยนตัวคู่สัญญา ผู้รับเหมา ผู้รับเหมาช่วงและการโอนสิทธิเรียกร้อง สินทรัพย์ของโครงการซึ่งรวมถึงกรรมสิทธิ์และการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์ของโครงการ เหตุสุดวิสัยและการดำเนินการกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย รวมทั้งการชำระค่าตอบแทน เหตุแห่งการเลิกสัญญา วิธีการบอกเลิกสัญญาและการชำระค่าเสียหาย การค้ำประกัน การประกันภัยและการชดใช้ค่าเสียหายและการระงับข้อพิพาท จากนั้นสิ่งต่อมาที่ต้องดำเนินการก็คือ หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 9 คน ทำหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 36 เช่น พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน ร่างขอบเขตของโครงการและร่างสัญญาร่วมลงทุนกำหนดหลักประกันซองและหลักประกันสัญญา เจรจาและพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เรียกให้หน่วยงานเจ้าของโครงการหรือเอกชนเข้าชี้แจงหรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
        โดยปกติแล้ว การคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุนจะต้องเป็นการคัดเลือกโดยวิธีการประมูล แต่มาตรา 38 แห่งกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้บัญญัติ “ข้อยกเว้น” ของการคัดเลือกโดยวิธีการประมูลเอาไว้ว่า หากหน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะกรรมการคัดเลือกมีความเห็นตรงกันว่าไม่ควรใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีการประมูล ก็ให้เสนอเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณา หากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเห็นพ้องด้วยก็ให้เสนอคณะกรรมการชุดใหญ่คือคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่หน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะกรรมการคัดเลือกมีความเห็นไม่ตรงกันว่าควรหรือไม่ควรใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีประมูล ก็ให้เสนอเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณา หากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมีความเห็นว่าควรใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีการประมูลก็จะต้องใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีการประมูล แต่ถ้าหากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเห็นว่าไม่ควรใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีการประมูล ให้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดต่อไป
        เมื่อได้ดำเนินกระบวนการคัดเลือกให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเสร็จเรียบร้อยแล้ว มาตรา 40 แห่งกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้บัญญัติสิ่งสุดท้ายของขั้นตอนการดำเนินโครงการเอาไว้ว่า ภายใน 15 วัน นับแต่เมื่อได้ผลการคัดเลือกเอกชนและผลการเจรจา และได้จัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมลงทุนแล้วเสร็จ คณะกรรมการคัดเลือกจะต้องนำผลการคัดเลือกเอกชน ประเด็นที่เจรจาต่อรองเรื่องผลประโยชน์ของรัฐ ร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการเจรจากับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกและเอกชนที่เกี่ยวข้องเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อดำเนินการให้ความเห็นเกี่ยวกับผลการคัดเลือกเอกชนและภาระการเงินการคลังภาครัฐต่อคณะรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดภายใน 45 วันนับแต่วันที่ได้รับผลการคัดเลือก นอกจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกจะต้องส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการเจรจากับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาโดยมาตรา 40 (2) กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาร่างสัญญาให้แล้วเสร็จและเสนอร่างสัญญานั้นต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดภายใน 45 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างสัญญา รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดจะต้องพิจารณาเสนอความเห็นประกอบเรื่องทั้งหมดแล้วนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายใน 30 วันดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 41 และท้ายที่สุดของขั้นตอนการเสนอโครงการ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาผลการคัดเลือกภาคเอกชน ภาระการเงินการคลังของรัฐ ร่างสัญญาและความเห็นของรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดแล้ว หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก็ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนนั้น แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยก็ให้ส่งเรื่องคืนไปยังรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อแจ้งให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาทบทวนแล้วนำผลการพิจารณาเสนอให้คณะรัฐมนตรีตัดสินชี้ขาดต่อไป
        ขั้นตอนที่สาม ตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้แก่ขั้นตอนของการกำกับดูแลติดตามผล
       
        การกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะหมายถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของโครงการ ในกฎหมายเดิมคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติไว้ในหมวด 4 มาตรา 22 – 24 ถึงเรื่องการกำกับดูแลและติดตามผลว่า เมื่อได้มีการลงนามในสัญญาแล้ว หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานขึ้นมาเพื่อติดตามกำกับดูแลให้มีการดำเนินงานตามที่กำหนดในสัญญาและรายงานผลการดำเนินงาน ความคืบหน้า ปัญหาและแนวทางในการแก้ไขต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อทราบ หากปรากฏว่าหน่วยงานเจ้าของโครงการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อผูกพันของสัญญาที่ลงนามไปแล้ว ให้ผู้แทนกระทรวงการคลังที่อยู่ในคณะกรรมการประสานงานทำรายงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป คณะกรรมการประสานงานประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นประธาน และมีกรรมการอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดรวมกันแล้วไม่เกิน 9 คน ในขณะที่กฎหมายใหม่ ก็ยังคงยืนยันหลักการที่ว่าจะต้องมีการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยในหมวด 6 มาตรา 43 – 46 ได้บัญญัติไว้ว่า เมื่อมีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลขึ้นมาเพื่อติดตามกำกับดูแลโครงการให้มีการดำเนินงานตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน แผนการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนและแผนการจัดการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดจากการดำเนินโครงการ พิจารณาเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการต่อหน่วยงานเจ้าของโครงการ เรียกหน่วยงานเจ้าของโครงการหรือเอกชนคู่สัญญาเข้าชี้แจงหรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการดำเนินงาน ความคืบหน้า ปัญหาและแนวทางการแก้ไขต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อทราบ และพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และนอกจากนี้ หากปรากฏว่าหน่วยงานเจ้าของโครงการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุน คณะกรรมการกำกับดูแลจะต้องทำรายงานพร้อมความเห็นเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดสั่งการให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุน หากรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดไม่ดำเนินการ คณะกรรมการกำกับดูแลก็จะรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพิจารณาต่อไป ในกรณีที่เป็นเรื่องร้ายแรง ให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเสนอเรื่องหรือความเห็นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา คณะกรรมการกำกับดูแลมีผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงเจ้าสังกัดซึ่งมีตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงและมิใช่เจ้าของหน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นประธาน กับกรรมการโดยตำแหน่งและผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดแต่งตั้ง รวมแล้วไม่เกิน 8 คน
        ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างการกำกับดูแลตามกฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่คือ กฎหมายใหม่มีคณะกรรมการที่มีชื่อชัดเจนคือคณะกรรมการกำกับดูแล มีอำนาจและหน้าที่ที่มากขึ้นและชัดเจนขึ้น
        ส่วนขั้นตอนสุดท้าย เป็นขั้นตอนใหม่ที่ไม่มีในกฎหมายเดิม ได้แก่ ขั้นตอนของการแก้ไขสัญญาและการทำสัญญาใหม่ที่บัญญัติไว้ในหมวด 7 การแก้ไขสัญญาและการทำสัญญาใหม่ มาตรา 47 – 48
        การแก้ไขสัญญาและการทำสัญญาใหม่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากในสมัยที่มีการดำเนินการตามกฎหมายเดิมคือ เมื่อมีการแก้ไขสัญญาหรือทำสัญญาใหม่ที่เป็นส่วนเกี่ยวเนื่องหรือขยายสัญญาเดิมจะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายในขั้นตอนต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่งหรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามกฎหมายเก่า มาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 จึงได้วางเกณฑ์เอาไว้อย่างชัดเจนถึงขั้นตอนและวิธีการในการแก้ไขสัญญาเอาไว้ว่า หากต้องมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องเป็นผู้เริ่มดำเนินการโดยการเสนอเหตุผลและความจำเป็นในการขอแก้ไขสัญญาต่อคณะกรรมการกำกับดูแลเพื่อพิจารณา หากคณะกรรมการกำกับดูแลเห็นว่าการแก้ไขสัญญาตามที่เสนอมานั้นเป็นการแก้ไขสัญญาในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ คณะกรรมการกำกับดูแลก็จะแจ้งต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อทราบต่อไป แต่ถ้าหากคณะกรรมการกำกับดูแลเห็นว่า ข้อเสนอขอแก้สัญญาเป็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ก็ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอประเด็นที่ขอแก้ไขและผลกระทบจากการแก้ไขสัญญาพร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลเพื่อพิจารณา ในกรณีที่คณะกรรมการกำกับดูแลเห็นด้วยกับการแก้ไข ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนส่งความเห็นของคณะกรรมการกำกับดูแลพร้อมทั้งร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่ที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้วไปยังรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี
        นอกจากนี้ มาตรา 48 ยังได้กำหนดถึงเรื่องการทำสัญญาใหม่ในกรณีที่สัญญาร่วมลงทุนเดิมสิ้นสุดลงเอาไว้ด้วยว่า ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำแนวทางการดำเนินกิจการของรัฐภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลงโดยเปรียบเทียบการดำเนินกิจการของรัฐกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเองและกรณีให้เอกชนร่วมลงทุน โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องเสนอแนวทางดังกล่าวต่อกระทรวงเจ้าสังกัดล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปีก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง จากนั้นรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดก็จะพิจารณานำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป หากคณะรัฐมนตรีมีมติให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินกิจการของรัฐภายหลังสัญญาสิ้นสุดลงและโครงการดังกล่าวมีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการเสมือนหนึ่งเป็นโครงการใหม่คือ เริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่การเสนอโครงการตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
        ที่กล่าวมาทั้งหมดคือขั้นตอน 4 ขั้นตอนสำหรับนำมาใช้กับการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐครับ
       
        นอกจากนี้แล้ว ยังมีบทบัญญัติใหม่ ๆ อีกจำนวนหนึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยในหมวด 8 มาตรา 49 – 57 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการเสนอโครงการที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ การจัดทำผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ การจ้างที่ปรึกษา กองทุนมีรายได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ค่าธรรมเนียมประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนและค่าธรรมเนียมการลงนามในสัญญาร่วมลงทุน เป็นต้น กองทุนนี้บริหารโดยคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกองทุน
        ส่วนในหมวดก่อนสุดท้ายของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หมวด 9 บทเบ็ดเตล็ดนั้น มีบางมาตราที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเอาไว้ โดยในกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้กำหนดไว้เป็นหลักว่า ในโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แต่ก็ได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ในหมวด 9 มาตรา 58 ว่า ให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐจัดทำประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทเพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตาม โดยหากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเห็นว่า โครงการที่จะให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐโครงการใดแม้จะมีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทแต่เป็นโครงการที่มีความสำคัญหรือสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และสมควรดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
        อีกมาตราหนึ่งที่น่าสนใจมีที่มาจากในอดีตมีหน่วยงานของรัฐจำนวนหนึ่ง “หลีกเลี่ยง” ที่จะไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 แล้วเกิดปัญหาทางกฎหมายว่าจะทำอย่างไรต่อไป มาตรา 60 แห่งกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐจึงได้บัญญัติแนวทางในการแก้ไขปัญหาเอาไว้ว่า ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจว่า โครงการใดไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในส่วนของการเสนอโครงการและการดำเนินโครงการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจจะต้องแจ้งให้หน่วยงานเจ้าของโครงการชี้แจงข้อเท็จจริงและแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อพิจารณาสั่งการ โดยต้องคำนึงถึงความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะและผลกระทบต่อประชาชน หากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเห็นสมควรยกเลิกหรือแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ก็ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ และหากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเห็นควรให้ดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุนต่อไปโดยไม่มีการแก้ไขหรือมีการแก้ไข สัญญาร่วมลงทุนดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและติดตามผลตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐต่อไป คือ ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลขึ้นมาดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนในมาตรา 64 ก็เป็นเรื่องอำนาจของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐที่จะประกาศกำหนดลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐและบุคคลที่ไม่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา โดยเอกชนหรือบุคคลที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐประกาศกำหนดไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
        ส่วนในบทเฉพาะกาลก็ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการได้มาซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเอาไว้ในมาตรา 67 ว่า ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐใช้บังคับ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีและให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันออกประกาศ
        ทั้งหมดนี้ก็คือสาระสำคัญของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เปรียบเทียบเท่าที่เปรียบเทียบได้กับพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535
        ขณะเขียนบทบรรณาธิการ กฎหมายเพิ่งมีผลใช้บังคับไปได้ไม่กี่วันและยังคงอยู่ในขั้นตอนของการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ดังนั้น การเขียนครั้งนี้จึงไม่มีข้อเท็จจริงใด ๆ มานำเสนอ นอกจากบทบัญญัติของกฎหมายครับ
       
        ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกได้แก่บทความเรื่อง "อำนาจและศักดิ์ศรีของรัฐสภาไทย" ที่เขียนโดย ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ​​​​​อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความที่สองเป็นบทความของ ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง "นโยบายในการจัดการขนส่งมวลชนสาธารณะแห่งเมืองสตาร์บูค (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ครับ
       
        พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2556 ครับ
       
        ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544