สำหรับวันจันทร์ที่ 25 มีนาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2556
เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดโครงการสัมมนาสื่อมวลชนประจำปี 2556 ในหัวข้อ การรักษาดุลยภาพทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย
มีข่าวเกี่ยวกับการสัมมนาปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ ว่า ในระหว่างการสัมมนานั้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมา ให้ข้อมูล เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้หลายตอนด้วยกัน การให้ข้อมูลเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญโดยประธานศาลรัฐธรรมนูญทำให้คนภายนอกมีโอกาสได้รับทราบ "วิธีการทำงาน" ของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องดังกล่าวจึงกลายมาเป็นที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ สื่อมวลชน รวมไปถึงบรรดาผู้ที่ไม่ชอบศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว จนกระทั่งต้องมีการออกมา แก้ข่าว และน่าจะตามมาด้วยการฟ้องร้องกันต่อไป
จากที่ปรากฏในข่าวตามสื่อต่างๆ ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมากล่าวถึงคำวินิจฉัยกรณี ชิมไปบ่นไป ที่ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปว่า เป็นคำวินิจฉัยที่ สุกเอาเผากิน มีการนำเอาข้อกฎหมายขึ้นมาวินิจฉัยก่อนแล้วค่อยมาถกเถียงในเรื่องข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และนอกจากนี้ประธานศาลรัฐธรรมนูญก็ยังได้กล่าวถึงคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาและพรรคชาติไทยว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวบ้านเมืองกำลังวุ่นวาย กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บุกบ้านพักของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งหากขณะนั้นบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัฐบาลและฝ่ายค้านจับมือกัน บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เชื่อว่าตุลาการเสียงข้างมากคงจะใช้ดุลพินิจสั่งไม่ยุบพรรคเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ แต่ขณะนั้นบ้านเมืองวุ่นวาย หาทางออกไม่เจอ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องวินิจฉัยเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ....
คงไม่ต้องอธิบายหรือวิจารณ์สิ่งที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวมาข้างต้นเพราะประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ อธิบาย ให้สังคมทราบถึง เบื้องหลัง ของการตัดสินคดีสำคัญของประเทศทั้ง 2 คดีแล้วว่าเป็นอย่างไร ผลของคำวินิจฉัยทั้ง 2 ก่อให้เกิดผลทางการเมืองที่ค่อนข้างร้ายแรงตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองนักการเมืองจำนวนหนึ่ง การทำให้รัฐบาลต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนเวลาอันควร ความแตกแยกและการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายในประเทศรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ผลกระทบที่เกิดจากคำวินิจฉัยทั้ง 2 ยังมีอีกมากที่ไม่สามารถยกขึ้นมากล่าวได้หมด
หากสิ่งที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ใครจะรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นครับ และจะรับผิดชอบอย่างไร
นอกจากข้อมูลของการวินิจฉัยข้างต้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญยังได้กล่าวถึงกระบวนการจัดทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้ด้วยว่า .... มีการเขียนคำวินิจฉัยไว้หลายๆ แบบ หากผลคำวินิจฉัยที่มีการถกเถียงกันเป็นอย่างไร ก็ค่อยนำร่างที่ร่างไว้มาเขียนเป็นคำวินิจฉัย ....
ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมคงไม่นำเอาเรื่องที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ วิจารณ์ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมา วิจารณ์ กลับ เพราะผมเข้าใจว่าสิ่งที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวไป น่าจะเป็นเหตุผลที่ชัดเจนแล้วว่า การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้เป็นไปตามแนวทางที่ควรจะเป็น เพราะขนาดคนอย่างประธานศาลรัฐธรรมนูญออกมาพูดเองแล้วเราจะไม่เชื่อได้อย่างไรครับ และนอกจากนี้ ผลงานของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมาทั้งศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็มีปัญหาในหลายๆ เรื่องและบางเรื่องก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเมืองการปกครองของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยกรณีซุกหุ้นไล่มาจนถึงคำวินิจฉัยกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการตั้ง สสร. เป็นต้น แต่สิ่งที่ผมอยากจะนำมากล่าวถึงในบทบรรณาธิการครั้งนี้คงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดปัญหาทางวิชาการครับ
ปัญหาแรกที่จะกล่าวถึงก็คือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน คำวินิจฉัยส่วนตัวเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดในการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถและความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งรวมท้ังผมด้วยได้เคยพูดเคยเขียนมาหลายครั้งแล้วตั้งแต่สมัยที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ใช้บังคับแต่ก็ไม่มีใครให้ความสำคัญ ลองมาดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับการทำคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนกันก่อน ปัจจุบันขั้นตอนและวิธีการในการพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นกำหนดไว้ใน ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 โดยในข้อกำหนดข้อ 54 ได้กล่าวถึงเรื่องของคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนเอาไว้ว่า
ข้อ 54 ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยในส่วนของตนเป็นหนังสือ พร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ เมื่อการลงมติเสร็จสิ้น ให้ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะจัดทำคำวินิจฉัยของศาล
การทำคำวินิจฉัยของศาลตามวรรคหนึ่ง องค์คณะอาจมอบหมายให้ตุลาการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดทำคำวินิจฉัยตามมติของศาลก็ได้
คำวินิจฉัยของศาลและความเห็นในการวินิจฉัยของตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคน ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้เขียนอะไรให้ซับซ้อนยุ่งยาก อ่านแล้วก็เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมกันเพื่อทำคำวินิจฉัยนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนต่างก็จะต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยในส่วนของตนเป็นหนังสือ เสร็จเรียบร้อยมาแล้ว เมื่อเริ่มประชุม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนก็จะต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม เมื่อทุกคนแถลงเสร็จ จึงค่อยมีการลงมติ จากนั้น องค์คณะอาจมอบหมายให้ตุลาการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดทำคำวินิจฉัยตามมติของศาลได้
แต่เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวถึงกระบวนการจัดทำคำวินิจฉัยเอาไว้ข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่ปรากฎอยู่ในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 เลยครับ
ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่อยู่ในข้อกำหนดกับสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติย่อมส่งผลต่อคำวินิจฉัยไม่มากก็น้อย เพราะที่ในข้อกำหนดวางหลักเอาไว้เช่นนั้นก็เพื่อให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนได้ทำงานอย่างอิสระ มีความคิดของตนอย่างอิสระ จึงได้กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยในส่วนของตนเป็นหนังสือก่อนที่จะมีการลงมติ ซึ่งก็หมายความว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนต้อง ตัดสิน เรื่องดังกล่าวมาเรียบร้อยแล้วก่อนเข้าห้องประชุม การลงมติเป็นกระบวนการของการหา เสียงข้างมาก เพื่อที่จะได้ไปจัดทำคำวินิจฉัยตามแนวทางของเสียงข้างมากต่อไป
เป็นไปได้อย่างไรที่ศาลรัฐธรรมนูญ .... เขียนคำวินิจฉัยไว้หลายๆ แบบ หากผลการวินิจฉัยที่มีการถกเถียงออกมาเป็นอย่างไร ก็ค่อยนำร่างที่ร่างไว้มาเป็นคำวินิจฉัย ....
เป็นเรื่องที่แปลกมากที่มีผู้สามารถเขียนคำวินิจฉัยล่วงหน้าและเผื่อเลือกไว้ได้โดยที่ยังไม่ทราบเลยว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนจะแสดงความเห็นไว้ในคำวินิจฉัยส่วนตัวอย่างไรครับ
หรือว่า ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 54 ยกเลิกไปแล้วครับ !!!
ปัญหาต่อมาคือข้อสงสัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและยังขาดความชัดเจนทางวิชาการแต่ก็ยังไม่มีใครยอมตอบ นั่นก็คือข้อสงสัยที่ว่า วันไหนคือวันที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ
แม้ในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 55 วรรคสองจะกำหนดว่า คำวินิจฉัยของศาลให้มีผลในวันอ่าน แต่ในทางปฏิบัติก็เกิดความสับสนขึ้นทุกครั้งที่มีการอ่านคำวินิจฉัยคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของผู้คน ผมจะขอยกตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยไปแล้ว สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เผยแพร่คำวินิจฉัย(อย่างไม่เป็นทางการ)ในเรื่องดังกล่าวลงใน website ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นเอกสารจำนวน 15 หน้า แต่ต่อมาเมื่อคำวินิจฉัยดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา กลับปรากฎว่าคำวินิจฉัยมีจำนวนหน้าถึง 42 หน้า
ที่สำคัญที่สุดคือ คำวินิจฉัยที่ศาลอ่าน คำวินิจฉัย(อย่างไม่เป็นทางการ)ที่ได้เผยแพร่ใน website และคำวินิจฉัยที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีข้อความที่ไม่ตรงกันครับ
ผู้ที่จะให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือศาลรัฐธรรมนูญ คงมีคนจำนวนมากอยากทราบว่า สรุปแล้วจะต้องยึดถือเอาคำวินิจฉัยที่อ่าน เพราะเป็นคำวินิจฉัยที่ ก่อให้เกิดผล ต่อคดี หรือจะต้องรอไปอ่านคำวินิจฉัยที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาที่ใช้เวลาเป็นเดือนหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยไปแล้วจึงจะประกาศ
ตามความเข้าใจของผมนั้น ในเมื่อคำวินิจฉัยมีผลเมื่ออ่าน เมื่ออ่านอย่างไรก็ควรจะต้องเขียนคำวินิจฉัยไปอย่างนั้น หากจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำให้สละสลวยบ้างก็คงเป็นที่ยอมรับได้ แต่ไม่ใช่เมื่ออ่านแล้วและผลก็เกิดขึ้นแล้วตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 54 ประกอบกับมาตรา 216 วรรค 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่กำหนดให้คำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร แต่พอมาเขียนก็เลยถือโอกาสเขียนเพิ่มเติมขยายความออกไปอีก เรื่องนี้ควรจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนนะครับว่าที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร ต้องยืนยันให้ชัดเจนกันไปเลยว่าคำวินิจฉัยมีผลเมื่ออ่านใช่หรือไม่ อ่านแล้วแก้ไขเพิ่มเติมได้หรือไม่ ถ้าได้สามารถทำได้มากน้อยเพียงใด ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรออกมาอธิบายเรื่องนี้ให้ชัดเจน
ผมยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน จากที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ในวันตัดสินคดี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนต้องเสนอความเห็นของตนต่อที่ประชุมก่อน เมื่อทุกคนเสนอความเห็นเสร็จแล้ว ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นการตรวจดูความเห็นของแต่ละคนในแต่ละประเด็นเพื่อให้ผลออกมาว่า สรุปแล้วเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อยในแต่ละประเด็นเป็นอย่างไร จากนั้นจึงไปทำคำวินิจฉัยกลาง แต่เท่าที่ปรากฏ สาธารณชนไม่เคยได้รับทราบความเห็นส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนในเวลาใกล้เคียงกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย เนื่องจากความเห็นส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนเป็นที่มาของคำวินิจฉัย ก่อนที่จะทราบผลของคำวินิจฉัยกลาง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบความเห็นส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนก่อน หากสามารถเปิดเผยคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนซึ่งต้องมีอยู่แล้วก่อนการวินิจฉัยภายหลังจากที่มีการอ่านคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากและอย่างน้อยก็จะเป็นเกราะป้องกันความเข้าใจผิดหรือข้อครหาต่าง ๆ ที่ตามมาด้วยครับ
ท้ายที่สุด สงสัยมานานแล้วว่า ทำไมการประกาศคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวในราชกิจจานุเบกษาถึงได้ช้าเหลือเกิน บางคำวินิจฉัยอยากจะเขียนวิจารณ์หรือนำมาใช้สอนหนังสือแต่ก็ไม่สามารถทำได้ทันทีเพราะไม่มีรายละเอียด กว่าคำวินิจฉัยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็เลิกล้มความคิดที่จะเขียนแล้วเพราะมีเรื่องอื่นที่ต้องทำ อยากทราบว่าที่ช้านั้น ช้าเพราะต้องมานั่งเขียนคำวินิจฉัยส่วนตัวและคำวินิจฉัยกลางกันใหม่และตรวจกันจนพอใจแล้วจึงค่อยส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือช้าเพราะกระบวนการที่จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาที่ต้อง รอคิว ก็ไม่ทราบได้ครับ
ก่อนที่จะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ ก็ต้องขอขอบคุณประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ได้กรุณาออกมาให้ข้อมูลการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ประชาชนได้มีโอกาสรับรู้การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้นและน่าจะสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญได้ดียิ่งขึ้นครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว คือบทความเรื่อง "การกระทำทางรัฐบาลนำไปฟ้องศาลไม่ได้จริงหรือ?" ที่เขียนโดยคุณวรัญญา ทัศนีศรีวงศ์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขากฎหมายมหาชน จากมหาวิทยาลัย Aix-Marseille ประเทศฝรั่งเศส ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2556 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|