|
|
|
|
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 2554
ล้มหรือยึด กสทช.
เมื่อวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องกรณีที่มีผู้ฟ้องคณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. ว่า ดำเนินการสรรหา กสทช. ไม่โปร่งใส ในขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ได้แถลงผลการสอบสวนกรณีที่มีผู้ร้องเรียนกระบวนการสรรหา กสทช. โดยระบุว่า ไม่โปร่งใสและขัดต่อกฎหมาย
ในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ ผมไม่ทราบความคืบหน้าของทั้ง 2 กรณีว่าจะมีการดำเนินการกันอย่างไรต่อไป ผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองจะอุทธรณ์หรือไม่ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะทำอย่างไรต่อไป แต่เท่าที่ทราบ วุฒิสภายืนยันว่าจะดำเนินกระบวนการให้ได้มาซึ่ง กสทช. ทั้ง 11 คนต่อไปจนเสร็จ
พร้อม ๆ กับ 2 กรณีที่เกิดขึ้น มีนักวิชาการ สมาชิกวุฒิสภาบางคนและสื่อจำนวนหนึ่งออกมาประสานเสียงกันให้ข่าวว่า มีผู้พยายามล้ม กสทช. ไม่ให้เกิดขึ้นโดยมีเหตุผลสนับสนุนที่สำคัญคือ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนที่ทำให้ไม่เคยมีองค์กรที่ชื่อว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 โดยผู้ให้ความเห็นทั้งหลายมองเพียงด้านเดียวเท่านั้นคือความพยายามที่จะล้มการสรรหา กสทช. แต่ไม่ได้ดูอีกด้านหนึ่งว่า การที่มีผู้ฟ้องศาลปกครองหรือการที่มีผู้ร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรดำเนินการหรือไม่ อย่างไร
ในเรื่องกระบวนการสรรหา กสทช. นี้ ผมได้เคยเขียนบทบรรณาธิการไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คือ บทบรรณาธิการ ครั้งที่ 266 สำหรับวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2554 โดยในบทบรรณาธิการของผม ผมได้ให้ความสำคัญกับระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติโดยวิธีการสรรหา พ.ศ. 2553 เป็นอย่างมาก เพราะผมมองเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการสรรหา กสทช. ทุกวันนี้มีที่มาที่สำคัญส่วนหนึ่งคือ ระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ดังกล่าวที่ไม่ชัดเจนและไม่มีความละเอียดเพียงพอ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นในกระบวนการสรรหา กสทช. ซึ่งถ้าหากเราไปดูในคำพิพากษาศาลปกครองที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น ก็จะพบว่า อย่างน้อยมีอยู่ 2 แห่งคือในหน้า 23 และหน้า 28 ของคำพิพากษาที่กล่าวถึงสิ่งที่ระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ไม่ได้กำหนดเอาไว้
ระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ นี้เป็นระเบียบที่ออกตามความของมาตรา 15 วรรค 4 แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งบัญญัติไว้เกี่ยวกับการได้มาซึ่งรายชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช. โดยวิธีการสรรหาไว้ว่า หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้เป็นไปตามที่เลขาธิการวุฒิสภากำหนด โดยให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับเป็นผู้ได้รับคัดเลือก
ลองมาดูกันว่า เลขาธิการวุฒิสภาออกระเบียบตามที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวอย่างไร ?
ระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติโดยวิธีการสรรหา พ.ศ. 2553 ฉบับนี้มีอยู่ด้วยกัน 14 ข้อ ข้อ 1 และ ข้อ 2 เป็นรูปแบบของระเบียบทั่ว ๆ ไปคือ ชื่อระเบียบและวันมีผลใช้บังคับ ข้อ 3 เป็นคำนิยามของคำที่มีอยู่ในระเบียบ ข้อ 4 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการประกาศรับสมัคร ข้อ 5 และข้อ 6 เป็นเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ข้อ 7 เป็นเรื่องการกรอกใบสมัคร ข้อ 8 เป็นเรื่องจำนวนของผู้สมัครตามมาตรา 6 แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ข้อ 9 เป็นเรื่ององค์ประชุมของคณะกรรมการสรรหา ข้อ 10 เป็นเรื่องการกรอกแบบแสดงความสัมพันธ์ของกรรมการสรรหากับผู้สมัคร ข้อ 11 เป็นวิธีการคัดเลือกผู้สมัครซึ่งมีอยู่ 4 ข้อย่อย ทั้ง 4 ข้อย่อยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกผู้สมัครและการนับคะแนน ข้อ 12 เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องมาจากการดำเนินการตามข้อ 11 เกี่ยวกับผลของการคัดเลือกและระยะเวลาในการคัดเลือก ข้อ 13 เป็นเรื่องการมอบอำนาจให้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบ ส่วนข้อ 14 ข้อสุดท้ายเป็นข้อที่กำหนดให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้รักษาการตามระเบียบดังกล่าว
ตามความเข้าใจของผมนั้น ระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติโดยวิธีการสรรหา พ.ศ. 2553 ควรจะต้องมีรายละเอียดที่สำคัญ 2 ประการคือ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก แต่สิ่งที่ปรากฏอยู่ในระเบียบดังกล่าว กลับไม่ใช่ทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมัคร กสทช. เลย แม้ในข้อ 11 จะใช้ชื่อว่าวิธีการคัดเลือกแต่ก็กลายเป็นวิธีการลงคะแนนและนับคะแนนของกรรมการสรรหาไป
เพื่อให้เกิดข้อเปรียบเทียบที่ชัดเจน ผมขอนำเอาหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก เล็ก ๆ เรื่องหนึ่งมานำเสนอคือ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (พ.ต.ก.) ของสำนักงาน ก.พ. ตามหนังสือที่ นร 1008/ว14 ลงวันที่ 24 เมษายน 2552 มานำเสนอ แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลดังกล่าวมีอยู่ 2 กรณีด้วยกัน ในที่นี้ ผมจึงขอนำเอาเฉพาะ กรณีที่ 2 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้นให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ (พ.ต.ก.) มานำเสนอ โดยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกดังกล่าวมีอยู่ 5 หัวข้อใหญ่ ๆ คือ ผู้ขอรับการคัดเลือก การพิจารณาคัดเลือก เกณฑ์การคัดเลือก แบบการพิจารณาและกรณีการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรซึ่งได้รับ พ.ต.ก. อยู่เดิม และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้นได้รับ พ.ต.ก. แต่ในบทบรรณาธิการนี้ ผมจะขอนำเอาเฉพาะหลักเกณฑ์ที่ 2 และ 3 คือการพิจารณาคัดเลือกและหลักเกณฑ์การคัดเลือกมานำเสนอครับ
ในส่วนของการพิจารณาคัดเลือกนั้น หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกกำหนดไว้ 2 เรื่องคือการตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลและการประเมินความรู้ความสามารถ คุณลักษณะและพฤติกรรมของบุคคล โดยในส่วนของการตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลนั้น หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้กำหนดว่าจะต้องพิจารณาใน 3 ส่วนสำคัญคือ การได้รับประกาศนียบัตรการอบรมหลักสูตรนักกฎหมายภาครัฐหรือหลักสูตรอื่นที่เทียบเท่าซึ่ง ก.พ. รับรอง ระยะเวลาในการปฏิบัติงานด้านกฎหมาย และสัดส่วนการปฏิบัติงานด้านกฎหมาย สำหรับในส่วนของการประเมินความรู้ความสามารถ คุณลักษณะและพฤติกรรมของบุคคลนั้น ในเรื่องของการประเมินความรู้ความสามารถก็ได้มีการกำหนดถึงคุณภาพของผลงานที่นำมาเสนอว่าต้องมีลักษณะอย่างไร มีข้อเสนอที่มีประโยชน์ต่อทางราชการอย่างไร เป็นต้น และสำหรับเกณฑ์การคัดเลือกนั้น ในหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ได้กำหนดเอาไว้ว่า ผู้ขอรับการคัดเลือกจะต้องผ่านการพิจารณาคุณสมบัติก่อน จากนั้นก็จะต้องเป็นผู้ผ่านการประเมินความรู้ ความสามารถ คุณลักษณะและพฤติกรรมตามเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้
นอกจากนี้แล้ว ทั้งในการตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลและการประเมินความรู้ความสามารถ คุณลักษณะและพฤติกรรมของบุคคลทั้งหมดจะต้องถูกบันทึกลงในแบบที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดด้วย โดยในแบบก็จะมีรายละเอียดพอสมควร และในตอนท้ายของแบบก็มีสรุปผลการประเมิน พร้อมทั้งผู้ประเมินต้องลงชื่อด้วย
จริง ๆ ยังมีรายละเอียดอีกมาก แต่ผมจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ ใครที่สนใจก็ลองไปศึกษารายละเอียดจากหนังสือดังกล่าวดูได้ครับ
ส่วนเหตุผลของการมีหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร (พ.ต.ก.) กำหนดไว้ในตอนต้นของหลักเกณฑ์ว่า เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่ง นิติกร (พ.ต.ก.) มีความโปร่งใส เป็นธรรม เป็นที่ยอมรับ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับ ......
ที่ผมต้องยกตัวอย่าง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้นให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งนิติกร ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ขนาดเรื่องเล็ก ๆ แค่เพิ่มเงินประจำตำแหน่งให้กับข้าราชการนั้น หน่วยงานของรัฐอื่นก็ยังมีการวางหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกที่เป็นระบบ ชัดเจน มีความโปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้คนที่จะถูกคัดเลือกเป็นคนที่ ใช่ ที่สุด เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนครับ แต่ทำไม ระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติโดยวิธีการสรรหา พ.ศ. 2553 ซึ่งสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นระเบียบที่มีความสำคัญมากสำหรับ อนาคตของประเทศ จึงไม่มีสาระอะไรเลยที่กำหนดถึง หลักเกณฑ์และวิธีการ ในการได้มาซึ่งบุคคลดังเช่นที่มาตรา 15 วรรค 4 แห่งกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ได้แสดงความประสงค์เอาไว้
ถ้ามองด้วยใจเป็นธรรม คงเห็นเหมือน ๆ กันว่า หลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกของ ก.พ. นั้น ชัดเจนกว่า ดีกว่า เป็นธรรมกว่า และโปร่งใสกว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อย่างชนิดที่เรียกได้ว่าเทียบกันไม่ติดเลยทีเดียวครับ
สงสัยจริง ๆ นะครับว่าเวลาร่างระเบียบ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาไม่ได้ตรวจสอบดูบรรดาอนุบัญญัติอื่น ๆ ที่มีลักษณะเช่นนี้ก่อนเลยหรือ จึงได้เขียน หลักเกณฑ์และวิธีการ ที่ไม่มีความชัดเจนและไม่โปร่งใสให้กับประเทศชาติ !! หรือตั้งใจที่จะ ยก หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกทั้งหมดให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาครับ !!!
ผลที่เกิดขึ้นจากระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติโดยวิธีการสรรหา พ.ศ. 2553 ก็คือ การให้ดุลพินิจอย่างไม่มีขอบเขตกับกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. ที่จะ ทำอย่างไรก็ได้ กับการสรรหา กสทช. ซึ่งว่าไปแล้วก็คือ ไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเลย
ในเมื่อระเบียบดังกล่าวไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเอาไว้ จึงมีคำถามว่า แล้วคณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. ใช้ อะไร มาเป็นหลักในการคัดเลือกบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกไปทั้งหมด ก็อย่างที่ผมเคยได้เขียนไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ 266 ว่า คณะกรรมการสรรหา กสทช. นั้น กฎหมายกำหนดให้เป็นบุคคลที่มาจากผู้ดำรงตำแหน่ง ไม่ได้กำหนดให้มาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ในขณะที่ ผู้สมัครเข้ารับการสรรหา กฎหมายกำหนดให้เป็นบุคคลที่มาจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในหลาย ๆ ด้าน จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่กรรมการสรรหาทุกคนจะมีความรู้มากพอที่จะ เลือก ผู้สมัครได้โดยไม่มี หลักเกณฑ์และวิธีการ ในการคัดเลือกครับ
ผมคงไม่ขอกล่าวถึงเรื่องความรู้ความสามารถของคณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. มากไปกว่านี้เพราะอาจกลายไปเป็นการ ดูถูก ความรู้ความสามารถของกรรมการสรรหาบางคนไปก็ได้ คงไม่ใช่ความผิดของกรรมการสรรหาเพราะกฎหมายกำหนดให้เขามาเป็นกรรมการสรรหา ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า การเป็นผู้มีตำแหน่งกับการเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นคนละเรื่องกัน
ผมเข้าใจว่า ในเมื่อกฎหมายกำหนดให้บุคคลที่มาเป็นกรรมการสรรหามีที่มาจากผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้เองกฎหมายจึงได้กำหนดให้มี หลักเกณฑ์และวิธีการ เอาไว้เพื่อใช้เป็นกติกาในการคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาเป็น กสทช. เมื่อไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือก ปัญหาจึงเกิดขึ้นในวันนี้และก็คงไม่ยุติง่าย ๆ เพราะกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แถลงออกมาแล้วว่า กระบวนการสรรหา กสทช. ไม่โปร่งใสและขัดต่อกฎหมายครับ
ผมไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงว่า ทำไมระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติโดยวิธีการสรรหา พ.ศ. 2553 จึงไม่มีการกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือก เอาไว้ ไม่รู้ จริง ๆ ว่าจะ เขียน อย่างไร หรือว่า ตั้งใจ ที่จะให้เป็นอย่างนั้นก็ไม่ทราบ แต่ที่แน่ ๆ หากกระบวนการสรรหา กสทช. ไม่โปร่งใสและขัดต่อกฎหมายจริง ก็คงต้องมีผู้รับผิดชอบและหากจะต้องมีผู้รับผิดชอบ ก็สมควรจะเป็น ผู้ทำ ระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติโดยวิธีการสรรหา พ.ศ. 2553 ครับ
แล้วทีนี้ เราจะแก้ปัญหาของกระบวนการสรรหา กสทช. ได้อย่างไร ?
ผมไม่คิดว่าควรปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปง่าย ๆ ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินจำนวนมากมายมหาศาลอาจตกไปอยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดได้อย่างง่ายดาย จากการติดตามข่าวสารและจากที่มีผู้ส่งเอกสารมาให้จำนวนหนึ่ง เข้าใจว่ามีการกล่าวอ้างว่ามีกลุ่มทุนและกลุ่ม NGOs พยายามเข้าไป ยึด กสทช. ตั้งแต่เริ่มต้นในการยกร่างกฎหมายเพื่อให้มี คณะกรรมการสรรหา กสทช. ตามแบบที่ตนต้องการ จากนั้นก็มีการตั้งองค์กรต่าง ๆ ขึ้นมารองรับสถานะของตนเองเพื่อให้มีโอกาสได้เข้าไปเป็น คณะกรรมการสรรหา เพื่อจะได้คัดเลือก กสทช. ตามที่ตนเองต้องการ หากเป็นเช่นนั้นจริง ผมว่าเรื่องดังกล่าว ร้ายแรงยิ่งกว่าบรรดาหลาย ๆ เรื่องที่เรากล่าวหารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสียอีกว่าทุจริตเชิงนโยบาย คงต้องมีใครทำการสืบสวนหรือทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะถ้าเป็นจริง ในวันข้างหน้า การ ยึด ประเทศไทยคงเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากนักครับ !!!
ในเวลานี้ เราคงไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะหากจะบอกว่าต้องเปลี่ยนคณะกรรมการสรรหา กสทช. ใหม่ก็คงทำไม่ได้เพราะองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กสทช. กำหนดไว้ในกฎหมาย แต่ถ้าจำเป็นต้องทำกันจริง ๆ ก็คงทำได้ด้วยการแก้กฎหมายซึ่งก็อาจไม่ทันการ เว้นแต่ว่า ถ้าจะให้ทันการก็อาจต้องออกเป็นพระราชกำหนด แต่เรื่องการแก้กฎหมายคงต้องพิจารณากันให้ละเอียดรอบคอบกว่านี้ เพราะปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าจะตั้งใครมาเป็นกรรมการสรรหา ถ้าคิดไม่ออกจริงๆ ก็คงต้องยืม คณะกรรมการสรรหา 7 คน ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาใช้ไปพลางก่อน แต่ถ้าจะไม่ แตะ คณะกรรมการสรรหา กสทช. เพื่อความเป็นธรรมกับทุกคน ควรต้องย้อนกลับไปเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะต้องจัดทำระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติโดยวิธีการสรรหา พ.ศ. 2553 ขึ้นมาใหม่ให้มีความชัดเจน โปร่งใส เป็นธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับเป็นสำคัญเพื่อให้คณะกรรมการสรรหา กสทช. ปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์และวิธีการ ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ปล่อยให้คณะกรรมการสรรหาใช้ดุลพินิจอย่างไม่มีขอบเขตเหมือนเช่นในระเบียบที่ใช้อยู่ครับ
การ ล้ม กระบวนการสรรหา กสทช. ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือน่ากลัวอะไรทั้งนั้น หากเป็นการ ล้ม เพื่อทำให้เกิดกระบวนการใหม่ที่ถูกต้อง โปร่งใส และยุติธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่งแท้จริง การ ไม่ล้ม กระบวนการสรรหา กสทช. ที่ไม่ถูกต้อง ไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรมต่างหากที่อาจเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ เพราะหากกระบวนการเดิมมีความไม่ถูกต้อง มีการเล่นพรรคเล่นพวกจริงตามข้อกล่าวอ้าง ก็จะนำไปสู่การ ยึด กสทช. โดยคนกลุ่มหนึ่งในที่สุดครับ
สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณสันติ รัศมีธรรม ที่เขียนเรื่อง "ผลทางกฎหมายในการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่" ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "ศาลปกครองไม่มีอำนาจออกคำบังคับต่อวุฒิสภา" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2554
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|