หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 267
19 มิถุนายน 2554 22:53 น.
ครั้งที่ 267
       สำหรับวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2554
       
       “การหาเสียงเลือกตั้งที่ไร้สาระ”
       
        ขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ การหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคมที่จะถึงเป็นไปอย่างเข้มข้น ผ่านไปทางไหนก็เห็นแต่แผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งเต็มไปหมด ดูแล้วรู้สึกสงสารกรุงเทพมหานคร เลือกตั้งทีไร “เมืองเทวดา” ของเรากลายเป็นเมืองอะไรก็ไม่ทราบ จริง ๆ แล้วผมเคยเสนอเอาไว้เมื่อหลายปีมาแล้วในบทบรรณาธิการบทหนึ่งของผมเกี่ยวกับเรื่อง การกำหนดให้มีสถานที่ติดแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งเอาไว้เป็นการเฉพาะ ดังเช่นที่ในหลาย ๆ ประเทศทำกัน วิธีการดังกล่าวนอกจากจะไม่ทำให้บ้านเมืองสกปรกและก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนแล้ว ยังสามารถ “ควบคุม” ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งได้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งต้องทำเท่ากับจำนวนสถานที่ที่รัฐกำหนดให้ปิดประกาศ จริงๆ แล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งน่าจะลองศึกษาเรื่องดังกล่าวดูสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปนะครับ
       จากแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งที่เห็นอยู่บนถนนในกรุงเทพมหานครที่ผ่านตาผมไปนั้น ผมลองแยกออกดูพบว่ามีอยู่ 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง กลุ่มที่สองเป็นแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกลุ่มที่สามเป็นของกลุ่มที่ออกมารณรงค์ไม่ให้เลือกใครเลย
       ผมพิจารณาดูป้ายหาเสียงเลือกตั้งทั้งหมดแล้วมีข้อสังเกตอยู่ 3 ประการด้วยกัน แต่ก่อนที่จะไปถึงข้อสังเกตของผม เนื้อหาสาระที่ปรากฏอยู่บนแผ่นป้ายทั้งหลายสร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับผมเป็นอย่างมากเพราะแผ่นป้ายส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือของพรรคการเมืองล้วนแล้วแต่เน้นเรื่องประชานิยมเป็นหลัก มีบ้างประปรายที่เห็นกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาของประเทศ เช่น การแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ก็เป็นเพียงข้อความสั้น ๆ ที่ไม่สามารถทำให้มองเห็นได้ว่าจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร ส่วนนโยบายระยะยาวที่จะกำหนดทิศทางของประเทศในวันข้างหน้า เช่น รัฐสวัสดิการนั้น แทบจะไม่เห็นเลยบนแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง สิ่งที่ผมเห็นจึงมีแต่เรื่องของการ “ซื้อ” ประชาชนด้วยการ “แจก” เป็นหลักครับ ส่วนแผ่นป้ายที่สร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ก็คือ แผ่นป้ายของพรรคเพื่อฟ้าดินที่ออกมารณรงค์ให้ “ไม่เลือกใคร” จริงอยู่แม้รูปภาพที่ปรากฏบนแผ่นป้ายจะดู “โหดร้าย” ไปบ้าง แต่เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ลึก ๆ แล้วในบางขณะเราก็มองและคิดแบบนั้นอยู่เหมือนกันไม่มากก็น้อย แผ่นป้ายของพรรคเพื่อฟ้าดินจึงเป็นแผ่นป้ายที่มีความชัดเจนในตัวของตัวเองโดยไม่ต้องมีการสรรหาถ้อยคำอะไรมา “ซื้อใจ” ประชาชนเพราะ “เห็นรูป” ก็ชัดเจนแล้วถึงพฤติกรรมที่ผ่าน ๆ มาของนักการเมืองบางคนครับ
       ข้อสังเกตประการแรกของผมที่มีต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 กรกฎาคมที่จะถึงนี้คือเรื่องของผู้สมัครรับเลือกตั้งครับ ที่ผ่านตาในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงที่ผมไปก็จะเห็นแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งของนักการเมืองเจ้าของพื้นที่และผู้ท้าชิง ในครั้งนี้ ผมเห็นผู้สมัครรับเลือกตั้งหน้าตา “เด็ก ๆ” เป็นจำนวนมากที่ไม่ทราบว่า “เด็กจริง” หรือรูปถ่ายทำให้ดู “เด็ก” กันแน่ และก็มีการประชาสัมพันธ์ของพรรคการเมืองบางพรรคถึงการส่ง “คนรุ่นใหม่” เข้าสมัครรับเลือกตั้ง
       ในระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่นั้น มีข้อถกเถียงกันมากว่า ใครดีกว่ากัน แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องมาถกเถียงกันสำหรับผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ต่างก็ต้องทำหน้าที่เหมือนกันคือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีสองภารกิจสำคัญที่ต้องทำคือ พิจารณาร่างกฎหมายและควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร
       การพิจารณากฎหมายเป็นหน้าที่หลักและเป็นหน้าที่ดั้งเดิมของฝ่ายนิติบัญญัติมาตั้งแต่ครั้งที่มีการแบ่งแยกอำนาจเกิดขึ้นมาในโลกของเราแล้ว การพิจารณาร่างกฎหมายต้องทำโดยผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความชำนาญทางวิชาการ รวมทั้งยังต้องมีความเข้าใจและมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่จะตามมาภายหลังจากร่างกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว และต้องมีความเข้าใจเป็นอย่างดีกับผู้ที่จะได้รับผลจากการบังคับใช้กฎหมาย ด้วยเหตุนี้เองที่ผู้ที่จะเข้าไปทำงานร่างกฎหมายจึงควรมีประสบการณ์ในการทำงานระดับสูงในภาครัฐหรือภาคเอกชนมาแล้วเป็นอย่างดี และจะต้องมีความรู้ความสามารถที่ได้จากการศึกษามาแล้วในระดับที่สามารถเข้าใจกลไกต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน ความรู้และประสบการณ์จึง “เป็นสิ่งที่พึงมี” สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนเพราะหาไม่แล้ว ประชาชนกว่า 60 ล้านคนจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่ผู้เขียนกฎหมายขาดความรู้และประสบการณ์ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นอย่างมากได้ นอกจากนี้แล้ว แนวคิดทางการเมืองยังเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีติดตัวมาก่อนสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพราะแต่ละพรรคการเมืองต่างก็มี “จุดยืน” ของตัวเองที่ชัดเจน การสมัครเข้าพรรคการเมืองใดจึงไม่ใช่การ “หาที่ลง” ให้กับตัวเองเพื่อจะได้มีโอกาสสมัครรับเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นไปเพราะตนเองมีอุดมการณ์เดียวกับพรรคการเมืองนั้นด้วย
       คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสมัครรับเลือกตั้งจึงควรมีคุณสมบัติเหล่านี้อย่างครบถ้วนก่อนที่จะเข้ามาสมัครรับเลือกตั้งครับ
       ในระบบที่ถูกต้องและควรจะเป็น คนรุ่นใหม่ที่ “สนใจ” จะเข้ามา “เล่นการเมือง” ควรจะเริ่มต้นจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองระดับท้องถิ่นก่อน การทำงานการเมืองในระดับท้องถิ่นจะช่วยให้การเข้าถึงและเข้าใจประชาชนได้เป็นไปอย่างดี ได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย คนรุ่นใหม่ควรหาประสบการณ์จากท้องถิ่น ไต่เต้าขึ้นมาจากสมาชิกสภาท้องถิ่นขนาดเล็กไปถึงสมาชิกสภาท้องถิ่นขนาดใหญ่ เป็นผู้บริหารท้องถิ่นระดับเล็กไปจนถึงผู้บริหารท้องถิ่นระดับใหญ่ สร้างสมประสบการณ์ไว้ให้มาก พอได้เวลาอันสมควรก็กระโดดเข้ามาเล่นการเมืองระดับชาติ เอาประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้สะสมไว้มาใช้ในการทำงานระดับชาติ ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับท้องถิ่นที่ตนเคยอยู่มาแล้วได้อย่างดีโดยไม่ต้องไปใช้เวลาในการศึกษาเลยครับ
       แต่ที่เห็นตามแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งในวันนี้ ภาพของคนรุ่นใหม่ที่เห็น ส่วนใหญ่ไม่ใช่แบบที่ผมได้กล่าวไปแล้ว แทนที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะเน้นความสามารถเฉพาะตัวที่มีมาจากการทำงานการเมือง เรากลับเห็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์คุณสมบัติส่วนตัวที่เป็นคุณสมบัติเฉพาะ เช่น การเป็นลูกนักการเมือง เป็นลูกเศรษฐี เป็นดารา เป็นนักร้อง เป็นนักกีฬา เป็นต้น และนอกจากนี้ เท่าที่ทราบ บางคนก็อายุน้อยเหลือเกิน จริงอยู่แม้มาตรา 101 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันจะกำหนดให้บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้งเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ตัวผู้สมัคร พ่อแม่ และผู้สนับสนุน ควรมองประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักด้วย ไม่ใช่มองแต่เพียงว่า “คนของตน” เหมาะสมที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ได้มองอีกด้านหนึ่งเลยว่า หาก “คนของตน” ชนะการเลือกตั้งได้เข้าไปอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้วจะทำงานได้ดีกว่าคนที่ต้องแพ้การเลือกตั้งด้วยเหตุอื่นที่ไม่ใช่เหตุเกี่ยวกับความสามารถเฉพาะตัวหรือไม่ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเทศชาติและประชาชนกว่า 60 ล้านคนโดยตรงครับ
       ข้อสังเกตประการแรกของผมจึงจบลงตรงที่ว่า ผิดหวังกับผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคนที่เข้าใจผิดในสาระสำคัญอย่างร้ายแรงที่คิดว่า คนรุ่นใหม่คือคนอายุน้อยแค่เพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่โดยอาชีพ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ควรจะต้องมีประสบการณ์อย่างมากติดตัวมาก่อนที่จะมาสมัครรับเลือกตั้งครับ ผิดหวังครับ
       ข้อสังเกตประการที่สองของผมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองโดยตรง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ พรรคการเมืองมีบทบาทน้อยมากในการสร้างนโยบายทางการเมืองของพรรคการเมืองและในการนำเสนอนโยบายทางการเมืองของพรรคการเมือง ที่เห็นอยู่ในวันนี้ ตามแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ส่วนใหญ่ (ยกเว้นพรรคเพื่อฟ้าดินที่นำเสนอนโยบายที่ชัดเจน นโยบายเดียวคือ “ไม่เลือกใคร”) แข่งกันนำเอานโยบายประชานิยมมานำเสนอเต็มไปหมด
       ลองมาดูตัวอย่างนโยบายพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคที่ปรากฏอยู่ในเอกสารที่ กกต. แจกให้กับประชาชนกันดีกว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยคือ “สานต่อนโยบายแก้ความยากจน ยาเสพติด ทุจริตคอร์รัปชัน เดินหน้านโยบายใหม่ : ก้าวข้ามวิกฤตสู่สังคมสันติสุข : รับจำนำข้าวและออกบัตรเครดิตเกษตรกร : กองทุนตั้งตัวได้ คืนภาษีบ้านหลังแรก / รถคันแรก : พัฒนาโครงข่ายระบบราง : เพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี / ค่าแรงขั้นต่ำ ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาไทย - คอมพิวเตอร์ฟรี - อินเตอร์เน็ตฟรีในที่สาธารณะ - เพิ่มกองทุน ICL - 1 อำเภอ 1 ทุนต่างประเทศ : สร้างเมกะโปรเจคท์กระตุ้นเศรษฐกิจ - ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ / ภาคกลาง - พัฒนาระบบน้ำทั้งประเทศ - สะพานเชื่อมเศรษฐกิจภาคใต้” ส่วนนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์คือ “ครอบครัวต้องเดินหน้า เพิ่มรายได้และลดรายจ่ายด้วยการมอบเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุทุกคน มีไฟฟ้าฟรีให้ผู้ที่ใช้น้อย ตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม เพิ่มเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเพื่อการศึกษา และจัดการปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาด เศรษฐกิจต้องเดินหน้า ยกระดับความเป็นอยู่ด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มเงินกำไรในการประกันรายได้เกษตรกร ปรับโครงสร้างหนี้นอกระบบ ให้เกษตรกรมีที่ทำกิน และมีบำเหน็จบำนาญให้ประชาชนทุกคน ประเทศต้องเดินหน้า พัฒนาศักยภาพประเทศด้วยการเร่งจัดหาพลังงานทดแทน สร้างเขตเศรษฐกิจเพื่อยกระดับสินค้า มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกรุงเทพฯ และภูมิภาค และจัดหาแหล่งน้ำ”
       เป็นอย่างไรบ้างครับกับนโยบายของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ผมยังคงคิด “แบบเดิม” ว่า นโยบายของพรรคการเมืองนั้นน่าจะมีการนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ให้กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เช่น นโยบายการกระจายอำนาจอย่างเป็นระบบว่าจะทำอย่างไรที่จะให้งานและเงินกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มากกว่านี้ นโยบายเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการที่จะเปลี่ยนประเทศเป็นรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าหรือแบบเฉพาะกลุ่ม และจะเอาเงินที่ไหนมาจัดทำสวัสดิการเหล่านั้น หรือแม้กระทั่งนโยบายปรองดองเองก็ตามที่หลาย ๆ พรรคการเมืองกล่าวถึงเอาไว้ แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าต้องทำอย่างไร รัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็พยายามสร้างความปรองดองในแบบของรัฐบาล หมดเงินหมดทอง เปลืองตัวกันไปตั้งเยอะแต่ก็ไม่สามารถสร้างความปรองดองในสังคมได้ พรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายปรองดองจึงควรนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมว่าจะทำอย่างไรด้วยเช่นกัน
       แต่ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ เราแทบจะไม่ได้เห็นนโยบายสำคัญ ๆ ที่จะแก้ปัญหาของประเทศในระยะยาวจากพรรคการเมืองเลย พรรคการเมืองในบ้านเราจึงเป็นพรรคการเมืองแต่เพียงรูปแบบ ขาดจุดเชื่อมโยงกับประชาชนและประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ปัญหาของประเทศในระยะยาวและทิศทางที่ประเทศจะเดินต่อไปอย่างยั่งยืนครับ
       ข้อสังเกตประการสุดท้ายของผมคือ เรื่องการหาเสียงเลือกตั้ง มีประเด็นอยู่สองประเด็นด้วยกันคือ ประเด็นที่เกี่ยวกับตัวบุคคลกับประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งที่นำมาใช้ในการหาเสียง เอาประเด็นเรื่องตัวบุคคลก่อน ตอนกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมอยู่บนถนนหรือกลุ่มคนเสื้อเหลืองชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล นักการเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นฝ่ายรัฐบาลต่างก็ตั้งอยู่ในที่มั่นกันอย่างเหนียวแน่น ไม่ค่อยยอมออกมา “สัมผัส” กับพี่น้องประชาชนของคุณ ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านั้นก็เป็นคนไทยเหมือนกับคุณแต่อาจไม่ชอบคุณ ก็แค่นั้นเอง แต่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทุกอย่างเป็นไปอย่างตรงกันข้าม นักการเมืองสำคัญ ๆ ระดับหัวหน้าพรรคการเมืองต่างก็ลงพื้นที่กันหมด บางคนไปช่วยชาวบ้านทำไร่ไถนา (ประมาณ 2 นาที) บางคนนั่งรถอีแต๋น บางคนไปร่วมพิธีทำบุญและพิธีไสยศาสตร์กับชาวบ้าน บางคนนุ่งผ้าขาวม้านอนกับชาวบ้าน กินข้าวกับชาวบ้าน ฯลฯ เอาเป็นว่าทำได้ทุกอย่างที่ไม่เคยทำในยามปกติครับ
       คำถามที่ตามมาก็คือ ทำแบบนั้นกันไปทำไม หรือเพื่อให้หนังสือพิมพ์รายวันถ่ายรูปมาลงหน้าแรก !!!
       ผมไม่คิดว่า ชาวบ้านจะโง่พอที่จะไม่เข้าใจว่า นี่คือการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นภาพมายาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่นาทีแล้วก็ผ่านไป ทุกคนสามารถทำทุกอย่างได้ภายในช่วงเวลาสั้น ๆ ถ้าแน่จริงก็ควรไปช่วยชาวบ้านทำนาสัปดาห์ละ 1 วันเต็ม ๆ ตลอดชีวิตไม่ว่าจะได้เข้าไปอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ไม่ว่าจะเข้าไปอยู่ในฝ่ายบริหารหรือไม่ครับ !!! กล้าทำไหมล่ะครับ !!!
       ลองมาดูกันดีกว่าว่า เมื่อคนเหล่านี้เข้าไปเป็นฝ่ายบริหาร ชาวบ้านที่เคยได้สัมผัสโดยตรงอย่างใกล้ชิดในช่วงเวลาของการหาเสียงเลือกตั้งจะมีโอกาสหรือได้โอกาสแบบเดิมอีกไหมครับ หรือว่าจะต้องรอไปจนถึงการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไป
       
       ประชาชนกลายเป็นบันไดให้นักการเมืองเหยียบขึ้นไปสู่จุดที่ตัวเองต้องการ พออยู่ข้างบนแล้วใครจะพบก็คงยากเป็นธรรมดา
       
       ผมไม่คิดนะครับว่าประชาชนจะโง่และหลงเชื่อภาพมายาที่กำลังพยายามทำกันอยู่ !!
       
       ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งที่นำมาใช้ในการหาเสียงนั้นยิ่งแล้วใหญ่ ถ้อยคำที่อยู่บนแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งต่าง ๆ สร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับผมเป็นอย่างมาก ลองไปดูกันเล่น ๆ ว่ามีอะไรบ้าง ตัวอย่างนะครับ กองทุนพัฒนาสตรีจังหวัดละ 100 ล้านบาท / เกิดวันนี้ 20 ปีมีเงินล้าน / เงินกู้รายละ 1 ล้าน / ทำงาน 5 ปีแรกไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา / เงินเดือนข้าราชการเท่ากับเอกชน / เรียนฟรี 19 ปี / เริ่มทำงานเว้นภาษี 5 ปีแรก / สร้างที่ทำกิน 1 ล้านคน / สร้างถนนปลอดฝุ่นทั่วประเทศ / คืนภาษีรถคันแรก / เพิ่มเงินเดินปริญญาตรี 15,000 บาท / ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน / สร้างงาน 100,000 อัตรา / ถมทะเลตื้นออกไป 10 กิโลเมตร / หยุดไฟฟ้าปรมาณู ชูพลังงานทดแทน ฯลฯ
       ผมเห็นสิ่งที่บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองนำมาใช้ในการหาเสียงแล้วก็รู้สึกสมเพชและโกรธ ที่ต้องสมเพชก็เพราะแทบจะทุกเรื่องที่นำมาใช้ในการหาเสียงเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้มีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ แค่นึกอะไรได้ก็เอามาเขียนให้คนเห็น ยกตัวอย่าง สองเรื่องสุดท้ายคือ ถมทะเลตื้นออกไป 10 กิโลเมตร กับหยุดไฟฟ้าปรมาณู ชูพลังงานทดแทน ผมอยากถามเจ้าของความคิดพวกนี้ว่า จะมีวิธีการทำอย่างไร และในระหว่างทำหรือเมื่อทำไปแล้วจะกระทบกับอะไรบ้าง แค่นี้ก็ตอบไม่ได้แล้วครับ ส่วนนโยบายอื่น ๆ ที่เป็นประเภทประชานิยมคือ แข่งกันเสนอให้สวัสดิการต่างๆ แล้วก็แข่งกันลดภาษี ถามจริง ๆ เถิดครับว่า จะเอาเงินที่ไหนมาจัดทำสวัสดิการที่นำเสนอมา รัฐบาลก่อนหน้านี้ก็กู้เงินต่างประเทศและออกพันธบัตรไปจำนวนมากเพื่อไปจัดทำประชานิยม แค่ที่ผ่านมาเรายังไม่ทราบตัวเลขที่ชัดเจนเลยว่า ประเทศไทยเรามีหนี้อยู่เท่าไรและเมื่อใดจะใช้หนี้หมด ถ้าหากปล่อยให้พวกคุณได้เข้ามาบริหารประเทศแล้วพวกคุณต้องทำตามที่ได้สัญญาไว้ทั้งหมดกับประชาชน
       
       ประเทศไทยล้มละลายแน่ครับ !!!
       
       ผมรู้สึกโกรธกับสิ่งที่ทั้งพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งนำมาเสนอทั้งหมดเพราะนี่คือ การดูถูกประชาชนอย่างร้ายแรง สิ่งที่นำมาเสนอเป็นเพียงแค่ความคิดที่คิดกันมาเพื่อให้ “ชนะ” การเลือกตั้งได้เพราะ “มั่นใจ” ว่า ประชาชน “โง่” พูดอะไรก็เชื่อหมด ประชาชน “ละโมบ” ต้องนำเอาสารพัดสิ่งมาล่อประชาชนเพื่อให้เลือกตนเองหรือพรรคการเมืองของตน นี่คือการดูถูกประชาชนอย่างร้ายแรงครับ
       น่าเสียดายโอกาสของพรรคการเมืองและนักการเมืองเหล่านี้ แทนที่จะใช้เวลาที่มีอยู่หลายปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง “คิด” ทุกอย่างอย่างเป็นระบบเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน กลับคิดแต่เพียงจะ “เอาชนะ” พรรคการเมืองอื่น ๆ ด้วยการนำเสนอสิ่งที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการคิดและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบโดยไม่คำนึงเลยว่า หากต้องทำสิ่งที่ได้นำเสนอไปทั้งหมดจะเกิดผลกระทบอย่างไรตามมา
       วันที่ 3 กรกฎาคม จึงไม่น่าจะใช่วันเริ่มต้นของการปฏิรูปการเมืองตามที่หลาย ๆ คนกำลังพูด จึงไม่ใช่วันที่เราจะได้นักการเมืองดี ๆ เข้ามาสู่ระบบ จึงไม่ใช่วันสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
       แต่ควรเป็น “วันพิพากษา” นักการเมืองที่หลอกลวงประชาชน นักการเมืองที่คิดว่าประชาชนโง่ รวมทั้งผู้ที่อยากเป็นนักการเมืองทั้ง ๆ ที่ขาดความรู้และประสบการณ์ขั้นพื้นฐานของนักการเมือง
       คงต้องไปร่วมแรงร่วมใจกัน “ลงโทษ” นักการเมืองเหล่านี้เพราะหากขืนปล่อยให้เข้ามา คงต้องเริ่มนับถอยหลังกันได้เลยเพราะประเทศไทยคงต้องล้มละลายแน่หากต้องทำทุกอย่างให้เป็นไปตามที่พรรคการเมืองและนักการเมืองได้โฆษณาหาเสียงเอาไว้
       แต่ถ้าพรรคการเมืองและนักการเมืองกลับลำบอกว่าไม่ทำทั้งหมด นี่ก็คือการโกหกประชาชนอีกเช่นกันครับ
       ใช้วิจารณญาณกันให้ดี ๆ นะครับ อนาคตของชาติอยู่ในมือของพวกเราทุกคนครับ !!!
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณศุภวัฒน์ สิงห์สุวงษ์ นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เขียนเรื่อง "การแจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง : หลักเกณฑ์ทั่วไปหรือเงื่อนไขความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครอง ?" บทความที่สองเป็นบทความของคุณปฐมพงษ์ พิพัฒนธนากิจ ที่เขียนเรื่อง "คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550" บทความสุดท้ายเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "ต้องออกไปเลือกตั้ง เพื่อยับยั้งอำนาจที่ไม่พึงประสงค์" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆบทความครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2554
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544