หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 261
27 มีนาคม 2554 21:47 น.
ครั้งที่ 261
       สำหรับวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน 2554
        
       “มาตรการที่น่าสนใจในกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่”
        
                   สองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องน่าสนใจเกิดขึ้นสองเรื่องคือ เรื่องของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเรื่องของการที่นายกรัฐมนตรีออกมายืนยันว่าจะยุบสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม
                 การอภิปรายไม่ไว้วางใจสำหรับผมนั้น ไม่ว่าจะกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็เหมือนกันหมด ฝ่ายค้านก็เสกสรรปั้นแต่งข้อมูลขึ้นมาเพื่อให้ดูดีมีน้ำหนัก ฝ่ายรัฐบาลก็เสกสรรปั้นแต่งข้อมูลขึ้นมาเพื่อหักล้างข้อกล่าวอ้างของฝ่ายค้าน ทั้งข้อมูล วิธีการพูดจาและท่าทางของทั้งสองฝ่ายดูขึงขังน่ากลัวเมื่ออยู่ในห้องประชุม แต่พอจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็จบลงด้วยเช่นกัน น้อยครั้งที่เราจะได้ยินว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐนำเอาข้อมูลที่ได้ยินได้ฟังมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปดำเนินการสานต่อจนกระทั่งจบ น้อยครั้งนักที่เราจะได้ยินเจ้าหน้าที่ของรัฐออกมาสรุปให้ฟังในภายหลังว่าฝ่ายใดให้ข้อมูลที่“เป็นเท็จ”  เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้ว การอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เป็นเพียง “ละคร” อีกฉากหนึ่งที่มีผู้คนกลุ่มหนึ่งให้ความสนใจเท่านั้นเองครับ ส่วนเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น ก่อนอื่นก็ต้องขอแสดงความดีใจกับ “ความถูกต้อง” ที่เกิดขึ้นก่อนคือ รัฐบาลเลือกที่จะ “รอ” รัฐสภาพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งแทนที่จะไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งออกประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม การเลือกใช้วิธีนี้ทำให้ระบบกฎหมายยังคงเป็นระบบกฎหมายอยู่แม้จะมีผู้พยายามเสนอ “ทางเลือก” ที่ไปทำลายระบบกฎหมายก็ตาม ก็ต้องขอแสดงความชื่นชมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ  แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ต้องขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาไว้อีกครั้งหนึ่ง ตราบใดก็ตามที่เรายังแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคมไม่ได้ การเลือกตั้งก็ไม่ได้ช่วยอะไรทั้งนั้นครับ เลือกตั้งเข้ามาไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ต้องมีอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ยอมรับอยู่ดี สู้เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีใหม่ให้คนที่มีความสามารถในการปรองดองเข้าไปสร้างความสมานฉันท์ พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่แล้วค่อยยุบสภา เลือกตั้งใหม่และเริ่มต้นกันใหม่ น่าจะดีกว่านะครับ อย่างน้อยก็ช่วยประเทศชาติประหยัดเงินไปกว่า 4 พันล้านบาทครับ
                 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งข้อมูลที่ถูกนำเสนอในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรามักจะได้ยินว่า การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยมีมากขึ้นจนน่ากลัว ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในบ้านเราเป็นปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และพ.ศ. 2550 จะพยายามทั้งตั้งองค์กรและกลไกต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ก็ไม่ง่ายที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวหมดสิ้นไปจากประเทศไทย  ที่ผ่านมา ได้ยินว่าการทุจริตคอร์รัปชันลดน้อยลงไปบ้างก็รู้สึกดีใจและขอบคุณรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่สร้างระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขึ้นมาแต่ในช่วงปัจจุบันกลับได้ยินหนาหูมากขึ้นมาอีกว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันกันมากเหลือเกินโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
                   นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ขึ้นและต่อมาก็ได้มีการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ประเทศไทยเราก็ก้าวเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ที่ทั้งรัฐธรรมนูญและกลไกต่าง ๆ ถูกออกแบบมาเพื่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
                 10 กว่าปีที่ผ่านมา การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง การทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็เช่นเดียวกันที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าในบางช่วงก็ทำงานได้ผลดีแต่ในบางช่วงก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งจริง ๆ แล้วปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมิได้เกิดจากเหตุใดเหตุหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดจากทุกเหตุที่สามารถนำไปสู่ “ผลประโยชน์” ได้ ด้วยเหตุนี้เองที่หากเราจะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้สำเร็จก็จะต้องอาศัยทุกมาตรการเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการต้นทางเพื่อป้องกันไปจนถึงมาตรการปลายทางเพื่อปราบปราม
                 มีความพยายามที่จะแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรามการทุจริตมาเป็นเวลานานเพื่อปรับปรุงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับทั้งการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้ได้ผลดีมากกว่าเดิมแต่ก็ไม่สำเร็จ คงจำกันได้ว่าเมื่อปลายปี พ.ศ. 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารได้พิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจนเสร็จ แต่ต่อมาก็ได้มีการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมาเช่นกันพิจารณาว่า ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวตราขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การประชุมเพื่อลงมติในวาระที่หนึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงไม่ครบองค์ประชุมและไม่อาจถือเป็นมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ ทำให้กระบวนการตราร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผลก็คือร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตกไป ไม่สามารถประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
                 ต่อมาภายหลังการเลือกตั้งและมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ 2 ชุด ก็อย่างที่ทราบกันว่ารัฐบาลเหล่านั้นแทบจะทำงานไม่ได้เพราะมีความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ารับตำแหน่ง กระบวนการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. จึงเริ่มต้นขึ้นใหม่ ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ผ่านการตรวจสอบจากศาลรัฐธรรมนูญ และในวันนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์แล้วและอยู่ในระหว่างการนำเสนอเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้บังคับต่อไป
                 ผมมีโอกาสได้เห็นร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ที่แก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับปี พ.ศ. 2542 แล้วเห็นว่ามีสาระที่น่าสนใจ จึงขอนำบางเรื่องที่ผมชอบมาเล่าให้ฟังเป็นการล่วงหน้าก่อนกฎหมายจะมีผลใช้บังคับครับ
                 เรื่องแรกที่ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการ “ตรวจสอบ” ทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็คือ เรื่องการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนึ้สินที่ในร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 32 วรรคสองว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่อยู่ในต่างประเทศด้วย และจะต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม  สองเรื่องนี้เป็นสองเรื่องที่สำคัญแล้วก็เป็นที่รับรู้กันทั่วว่ามีคนจำนวนมากที่ใช้วิธี “ฝากเงิน” หรือ “รับเงิน” ที่ต่างประเทศซึ่งในกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับเดิมไม่ได้พูดเรื่องดังกล่าวเอาไว้ ทำให้เป็นช่องว่างของการตรวจสอบที่ต่อมาก็มีคนใช้ช่องว่างเหล่านั้นกันมากเพื่อ “ซ่อน” ทรัพย์สินของตัวเองให้พ้นจากการตรวจสอบ ส่วนอีกกรณีหนึ่งก็คือการซ่อนผ่าน “nominee” ที่ “ขอ” ให้ช่วยดูแลรักษาทรัพย์สินและในบางกรณีอาจช่วย “รับ” ผลประโยชน์อื่น ๆ แทนตัวเอง แต่ในวันนี้ โดยผลของกฎหมายฉบับใหม่ ของที่ “ซ่อน” เอาไว้จะต้องถูก “ขุด” ขึ้นมาตรวจสอบ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะ “มีวิธีการอย่างไร” ที่จะทำให้ทราบได้ว่า ใครมีทรัพย์สินอยู่ที่ต่างประเทศ หรือใครให้ nominee ดูแลทรัพย์สินของตนเอง ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะรู้เรื่องเหล่านี้ได้นะครับ 
                 เรื่องต่อมาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน คือเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สิน เดิมกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับปี พ.ศ. 2542 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์และหนี้สินของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่อสาธารณชนทราบ ส่วนบัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน แต่ในร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่นี้กำหนดไว้ในร่างมาตรา 35 วรรคสองให้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต่อสาธารณชน เรื่องนี้คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกระบวนการตรวจสอบที่มีการเพิ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปด้วยเพราะบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่ “มีอำนาจทางการเมือง” แอบแฝงอยู่มากดังที่ทราบกันอยู่ครับ  นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ในส่วนของการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนี้ยังมีมาตรการใหม่ที่น่าสนใจอีกมาตรการหนึ่งก็คือ การให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะมีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นผิดปกติไว้เป็นการชั่วคราวได้ในระหว่างที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่มีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดิน มาตรการนี้ก็มีขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปยังบุคคลอื่นในระหว่างทางนับตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติไปจนกระทั่งเรื่องถูกส่งไปอยู่ในมือของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครับ
                 เรื่องที่ผมชอบมากที่สุดได้ถูกบัญญัติไว้ในร่างมาตรา 74/1 ในส่วนของการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ผ่านมาเคยมีผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปและรอให้หมดอายุความก่อนจึงกลับมา ร่างมาตรา 74/1 จึงได้กำหนดมาตรการในการ “ดัดหลัง” พวกชอบหนีไว้โดยกำหนดว่า ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี มิให้นับระยะที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็สอดคล้องกับแนวคิดของผมที่ได้เคยนำเสนอผ่านบทบรรณาธิการไปหลายต่อหลายครั้งแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมาก็คือ ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชันควรเป็นคดีที่ไม่มีอายุความ โดยผมประสงค์ที่จะให้ผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชันต้องถูกตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินได้ตลอดไปไม่ว่าจะตกไปอยู่ในมือลูกหลานกี่ชั้นก็ตามตลอดชีวิต ทรัพย์สมบัติที่โกงมาหรือได้มาโดยมิชอบก็จะต้องถูกตามล่าเอากลับคืนมา ซึ่งสิ่งที่ผมได้เสนอไปนั้นก็ไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ ทั้งนั้น แต่พอมาเห็นร่างมาตรา 74/1 เข้าก็รู้สึก “ดี” ที่อย่างน้อยเราก็ยังมีมาตรการใหม่เกิดขึ้นเพื่อจัดการกับบรรดา “ผู้ร้าย” ของสังคมที่อาศัยบทบัญญัติทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองครับ
                 มาตรการต่อมาคือการกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติซึ่งเดิมต้องกระทำในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ไปแล้วไม่เกิน 2 ปี  วันนี้ ร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ขยายระยะเวลาดังกล่าวจาก 2 ปีออกไปเป็น 5 ปีแล้วนะครับตามร่างมาตรา 75  เพราะฉะนั้น บรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่คิดจะเสวยสุขหลังจากพ้นตำแหน่งไปแล้ว 2 ปีก็ต้องระวังตัวไว้ให้ดีเพราะเวลาเสวยสุขเหล่านั้นถูกขยายออกไปเป็น 5 ปีแล้วครับ
                 มาตรการสุดท้ายที่จะขอนำมาเล่าให้ฟังในบทบรรณาธิการครั้งนี้เป็นมาตรการที่ข้าราชการจำนวนมากกลัวกันเหลือเกินคือ มาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติเอาไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับนั้น มาตรการดังกล่าวมีช่องโหว่อยู่บ้างเพราะคำว่าเจ้าพนักงานนั้นไม่ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท รวมทั้งลูกจ้างด้วย ร่างมาตรา 123/1 ของร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่จึงได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ด้วยการกำหนดว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมาตรา 123/1 แห่งร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ แม้จะมี “โครงสร้าง” ที่คล้ายกับมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็มีข้อแตกต่าง 2 ประการ ประการแรกก็คือ ตัวบุคคลผู้กระทำความผิดจะครอบคลุมมากกว่าเพราะคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามกฎหมาย ป.ป.ช. นั้นหมายความถึง “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ  พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ  ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่  และให้หมายความรวมถึงกรรมการ  อนุกรรมการ  ลูกจ้างของส่วนราชการ  รัฐวิสาหกิจ  หรือหน่วยงานของรัฐ  และบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ  รัฐวิสาหกิจ  หรือกิจการอื่นของรัฐ” ส่วนโทษก็มีการเพิ่มโทษปรับให้มากขึ้นจากสูงสุด 20,000 บาท เป็นสูงสุด 200,000 บาท
                 ที่กล่าวมานี้เป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของสิ่งใหม่ ๆ ที่ปรากฏอยู่ในกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ครับ ยังมีอีกมากมายที่หากมีโอกาสก็จะนำมาเล่าให้ฟังในบทบรรณาธิการครั้งต่อ ๆ ไปครับ
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอสามบทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความขนาดยาวตอนที่ 3 ของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เรื่อง "กรณีศึกษา - case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) ตอนที่ 3" บทความต่อมาเป็นบทความเรื่อง "ผู้มีอำนาจกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 66 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เฉพาะกรณีเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 50441790" ที่เขียนโดย คุณเฉลิมพล สุมโนพรหม ประธานคณะผู้ทำงานทางด้านกฎหมายของเครือข่ายพลังราม ส่วนบทความสุดท้ายเป็นบทความของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "สื่อต้องทำหน้าที่" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความด้วยครับ
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 11 เมษายน 2554 ครับ
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544