หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 242
4 กรกฎาคม 2553 22:26 น.
ครั้งที่ 242
       สำหรับวันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2553
       
       “จะปฏิรูปประเทศไทยกันอีกแล้ว”
       

       หลังจากที่ www.pub-law.net ของเรา “มีปัญหา” ไม่สามารถให้บริการในรูปแบบเดิมเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือน ในวันนี้ เรากลับมาใหม่อย่างเต็มรูปแบบแล้ว และก็จะพยายามรักษาคุณภาพของเราไว้ให้ดีเช่นเดิมตลอดไปครับ
       ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 163 ที่เผยแพร่ไปในระหว่างวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2550 ผมได้เขียนถึง “75 ปีประชาธิปไตยไทย” เอาไว้ สรุปความได้ว่า แม้เวลาจะผ่านไปถึง 75 ปีแล้วก็ตาม แต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยก็ยังอยู่ในสภาวะ “ลุ่มๆ ดอนๆ” เนื่องมาจากคนไทยยัง “ขาดความเข้าใจ” และ “ไม่คุ้นเคย” กับระบอบประชาธิปไตยที่ถูกคณะราษฎร “ยัดเยียด” ให้ในขณะนั้น การขาดความเข้าใจและความไม่คุ้นเคยกับระบอบประชาธิปไตยจึงอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน
       ตามความเข้าใจของผมนั้น การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ขาดการเตรียมพร้อมในส่วนที่สำคัญไปส่วนหนึ่งคือ “การสร้างแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” ให้กับประชาชน จริงอยู่ที่แม้มาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกคือฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ที่บัญญัติไว้ว่า “เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตต์ได้สอบไล่วิชชาปถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งและอย่างช้าต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น...” มุ่งหวังที่จะให้คนไทยมีการศึกษาที่สูงขึ้นภายใน 10 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อที่จะยกระดับความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยให้ดีขึ้น แต่การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2519 กลับตอกย้ำให้เห็นว่า แม้เวลาผ่านไปกว่า 40 ปี คนไทยก็ยังคงขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย โดยคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้กล่าวถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ว่า “…แต่เท่าที่ผ่านมาสี่สิบปีเศษ การปกครองในระบอบนี้ก็ยังไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของประชาชนเพราะมิได้มีโครงสร้างที่จะต้องพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช 2517 มีอุปสรรคขัดข้องจนไม่อาจปฏิบัติให้เป็นไปโดยเรียบร้อยได้ ทั้งตัวบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศก็มิได้เคารพต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้นด้วยประการต่าง ๆ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของชาติบ้านเมือง เป็นเหตุให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา และมีท่าทีว่าชาติบ้านเมืองจะถึงซึ่งความวิบัติ จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องกอบกู้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้เหมาะสม โดยจัดให้มีการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับ” ดังนั้นจึงมีการกำหนดระยะเวลาในการพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ยาวนานถึง 12 ปีคือ “ในระยะสี่ปีแรกเป็นระยะฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ในระยะนี้สมควรให้ราษฎรมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินโดยทางสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ในขณะเดียวกันก็จะเร่งเร้าให้ประชาชนเกิดความสนใจและตระหนักในหน้าที่ของตน ในระยะสี่ปีที่สอง สมควรเป็นระยะที่ให้ราษฎรมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น โดยจัดให้มีรัฐสภาอันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง ทั้งสองสภานี้จะมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเท่าเทียมกัน ในระยะสี่ปีที่สาม สมควรขยายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรให้มากขึ้น และลดอำนาจของวุฒิสภาลงเท่าที่จะทำได้ ต่อจากนั้นไปถ้าราษฎรตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อชาติบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยดีแล้ว ก็อาจยกเลิกวุฒิสภาให้เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎร”
       
ปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไป 78 ปีแล้วก็ตาม แต่สภาพความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของเราก็ยังไปไม่ไกลจากปี พ.ศ. 2475 เท่าไรนักทั้ง ๆ ที่ “จำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตต์ได้สอบไล่วิชชาปถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง” ไปตั้งนานแล้ว ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองหลายครั้งว่าทำไมเราจึงไม่ “ยอมรับ” และไม่ “ยอมเข้าใจ” การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในแบบที่ประเทศต่าง ๆ เขายอมรับกันแต่ก็ไม่เคยได้คำตอบจากตัวเองสักทีครับ
       ลองมองดูสังคมไทยที่เราพูดกันอยู่บ่อยครั้งว่าเป็นสังคมของประชาธิปไตย เป็นสังคมที่เป็นนิติรัฐ กันบ้างว่า สังคมที่ว่านี้มีพัฒนาการมาอย่างไรในรอบ 78 ปีที่ผ่านมา คงพอมองเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่มีขึ้นอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ ชนชั้นต่าง ๆ ในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น เดิมในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกเหนือไปจากกษัตริย์และราชวงศ์แล้ว “ขุนนาง” เป็นกลุ่มบุคคลที่มีสถานะทางสังคมและมีบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศ แต่ต่อมา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทหารเข้ามามีบทบาทสูงเพราะเป็น “ผู้สนับสนุน” คณะราษฎรให้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนสำเร็จ จากนั้นก็เกิดนักการเมืองขึ้น ในเวลาต่อมา ทหาร ข้าราชการ นักการเมืองและนักธุรกิจก็กลายเป็นกลุ่มใหม่ที่ผลัดกันเข้ามามีอำนาจ มีอิทธิพลและมีบทบาทในการปกครองประเทศ การปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งเกิดจากนักการเมืองมีปัญหากับข้าราชการประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “ผลประโยชน์” ทหารซึ่งเข้าใจว่าตนเองเป็น “ผู้พิทักษ์ประเทศไทย” ก็เข้ามา “แก้ไข” ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปกครองประเทศด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งต่อมาทหารเองก็ “ติดกับ” วังวนเรื่องผลประโยชน์ สังเกตได้จากการยึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารและมาจากการรัฐประหาร 2 คน ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะ สามารถหาอ่านได้ตามหนังสือต่าง ๆ มากมาย เป็นข้อมูลที่ทำให้เราได้ทราบว่า ไม่มีใคร “จริงใจ” กับประเทศเราเท่าไรนัก ใครที่เข้ามามีอำนาจก็จ้องที่จะ “ฉกฉวย” ผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น ต่อมาในระยะหลังก็มีคนกลุ่มใหม่เกิดขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่มองการณ์ไกลมากและเป็นกลุ่มที่ “ได้ประโยชน์” จากการ “สนับสนุน” ทหาร ข้าราชการและนักการเมืองให้เข้าสู่อำนาจ คนกลุ่มใหม่นี้สามารถเปลี่ยนฐานะของตนได้อย่างรวดเร็วมากจนไม่น่าเชื่อว่า ภายในชั่วอายุคนทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ มีชื่อเสียง เกียรติยศ ความร่ำรวยและสถานะทางสังคม ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมาจึงเกิด “เศรษฐีใหม่” ขึ้นในสังคมจำนวนมาก และหากศึกษาให้ลึกไปกว่านั้นก็จะพบว่า เศรษฐีใหม่เหล่านี้เกิดขึ้นทุกวัน เพราะเศรษฐีใหม่ “รุ่นเก่า” เป็นตัวอย่างให้คนจำนวนหนึ่งเห็นว่า หากเรา “เลือก” ที่จะให้การ “สนับสนุน” คนที่ถูกต้อง คน ๆ นั้นก็จะนำมาซึ่ง ชื่อเสียง เกียรติยศ ความร่ำรวยและสถานะทางสังคมในวันข้างหน้า ด้วยเหตุนี้เองที่ในปัจจุบัน หากเราเข้าไปในสถานที่ ๆ ประกอบด้วยคนเหล่านี้ เราก็จะรู้สึกคล้าย ๆ กันก็คือ หลุดไปอยู่อีกภพหนึ่ง เป็นภพของคนที่ “มีอำนาจ” เป็นภพที่ทุกคนดูดี แต่งตัวดี ใช้ของดี ๆ ขับรถดี ๆ โดยไม่มีใครสักคนสงสัยว่า “ทรัพย์สินนี้ท่านได้แต่ใดมา”
       
ในขณะที่สังคมเมืองหลวงเต็มไปด้วยเศรษฐีใหม่และคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามากุมอำนาจ คนในชนบทก็ยังคงย่ำอยู่กับที่ คนจนก็ยังคงจนอยู่ ที่ดีขึ้นมาหน่อยก็คือคนชนบทซึ่งมีฐานะดีที่ต่างก็พากันขยับตัวขึ้นมาเป็นนักการเมืองท้องถิ่นเพื่อที่จะสร้างฐานอำนาจเตรียมความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ความเป็นนักการเมืองระดับชาติในวันข้างหน้า ส่วนชาวบ้านก็เป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่จะทำให้คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จดังที่ได้วางแผนเอาไว้
       78 ปีที่ผ่านมาเกิดช่องว่างระหว่างคนกรุงเทพฯ และคนชนบทมาก แม้การสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันการทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยนักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ด้วยวิธีการที่จะทำให้ตัวเองชนะเลือกตั้งได้เข้าสู่ตำแหน่ง การซื้อสิทธิขายเสียงจึงเกิดขึ้นและขยายตัวออกไปเป็นวงกว้าง เมื่อเกิดปัญหาจากนักการเมือง คนชนบทก็จะถูก “ลงโทษ” ว่าเพราะการขายเสียงจึงทำให้นักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบโดยผู้ลงโทษมิได้มองย้อนกลับไปดูเลยว่าผู้ที่ใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องนั้นต่างหากที่เป็นผู้สร้างวัฒนธรรมที่ผิด ๆ ให้กับคนชนบท
       
จะว่าไปแล้ว คนชนบทบ้านเรามีความเป็น “ผู้ดี” อยู่มาก ถูกต่อว่า ถูกกล่าวหามาตลอดระยะเวลา 30-40 ปีก็เงียบไม่มีปากไม่มีเสียง ก้มหน้าก้มตาประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวต่อไปอย่างปกติ ด้วยอุปนิสัยนี้เองที่ทำให้คนกลุ่มที่มีอำนาจย่ามใจ ละเลยไม่ให้ความสำคัญกับคนชนบท ช่องว่างระหว่างชนชั้นจึงเกิดขึ้นและขยายออกไปมากขึ้น เมื่อเกิดกรณี “เสื้อแดง” ขึ้นในประเทศไทย จึงทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสภาวะวิกฤติอีกครั้งหนึ่ง
       ผมได้ยินข่าวของการแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศที่เกิดขึ้นจากกรณี “เสื้อแดง” แล้วก็ยังไม่มีความชัดเจนนักว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าเราจะ “ปฏิรูปประเทศไทย” กันอีกแล้วแต่ก็ไม่ทราบว่า “จะปฏิรูปกันอย่างไร” ครับ จะเหมือนหรือแตกต่างไปจาก “การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2511 ที่ได้นำเสนอไปแล้วข้างต้นหรือไม่ อย่างไร เพราะถ้าเหมือนหรือเป็นไปในทำนองเดียวกัน ก็เป็นที่น่าเสียใจมากว่า 40 ปีเศษที่ผ่านมา เราไม่ได้มีพัฒนาการในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเลยครับ!!!
       ในความเห็นผมนั้น การปฏิรูปประเทศไทยที่ถูกต้องและควรเป็นคงไม่ใช่การปฏิรูปประเทศไทยด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือด้วยการหาทางปรองดอง แต่การปฏิรูปประเทศไทยควรเริ่มต้นจากการทำให้สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยทุกคนอยู่ในสภาพที่เท่าเทียมก่อน หากเรามองย้อนไปในอดีตทั้งของประเทศไทยและของหลาย ๆ ประเทศ ความวุ่นวายในประเทศส่วนหนึ่งเกิดจากการแบ่งชนชั้นที่ชัดเจนและเกิดการเปรียบเทียบ การเอารัดเอาเปรียบระหว่างชนชั้น หากสภาพสังคมไทยเป็นไปดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็คงต้องเริ่มจากการทำให้ตัวแทนประชาชนทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นรู้บทบาท หน้าที่และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งที่ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน ต่อมา คงต้องทำการ “ปล่อย” คนชนบทหลังจากที่สภาพสังคมของเรา “กด” คนเหล่านี้ไว้เสียนาน ต้องเพิ่มพื้นที่ของการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศให้กับคนชนบทให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องเรียนรู้ที่จะ “ดูแล” คนจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันด้วย โดยมีจุดสำคัญคือ ต้องทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นปกติ มิเช่นนั้นก็จะเหมือนทุก ๆ ครั้งที่มีปัญหาขึ้นในประเทศที่ผู้มีอำนาจพยายามหาทาง “แก้ปัญหาเฉพาะหน้า” ให้จบไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่นาน ปัญหาเหล่านั้นก็วนกลับมาอีกเพราะไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างถาวร ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำในสังคม” ที่เกี่ยวกับเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข การเกษตร การค้าขาย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
       ส่วนเรื่องสองมาตรฐานที่กล่าวอ้างอยู่เสมอ ๆ นั้นควรเป็น “จุดเริ่มต้น” ที่สำคัญของระบบราชการของไทยที่ทุกหน่วยงานควรที่จะต้องนำกลับไปทบทวนดูว่า จะหาทางแก้ไขเรื่องดังกล่าวอย่างไร วันนี้ คำว่าสองมาตรฐานแพร่หลายออกไปไกลมากเกินกว่าที่จะหยุดยั้งได้แล้ว การแก้ไขคงไม่สามารถทำได้ด้วย “การปรองดอง” แต่จะต้องมีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่า กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าสองมาตรฐานนั้นอยู่ในระหว่างการดำเนินการอย่างไร มีขั้นตอนที่จะต้องทำต่อไปอย่างไร ใช้เวลาเท่าไร และจะจบเมื่อใด และทำไมถึงได้ถูกนำมากล่าวหาว่าสองมาตรฐาน เรื่องสองมาตรฐานนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะทำให้ข้อขัดแย้งในสังคมลดน้อยลงครับ
       การปฏิรูปประเทศไทยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องทำก็คือปฏิรูปความคิดของนักการเมืองและพรรคการเมืองเพื่อให้คนเหล่านี้เข้ามาทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง หยุดละโมบทั้งอำนาจ ทรัพย์สินเงินทอง เข้าใจถึงภารกิจและหน้าที่ที่ถูกต้องของตน หากนักการเมืองดี ประเทศชาติและประชาชนก็ดีตามไปด้วย หากนักการเมืองให้ความสนใจกับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ช่วยกันผลิตกฎหมายออกมาเพื่อดูแลคุ้มครองคนชนบทให้มากขึ้น วันหนึ่งความเหลื่อมล้ำในสังคมก็จะหมดลงไปเช่นเดียวกันครับ
       การปฏิรูปประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553 จึงต้องเป็นการปฏิรูปเพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญคือ การทำให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองครับ
       การปฏิรูปประเทศไทยจึงไม่ใช่การตั้งคณะกรรมการหรือสมัชชาใด ๆ ขึ้นมาทั้งนั้น แต่การปฏิรูปประเทศคือการ “สั่งการ” ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน รวมไปถึงการปฏิรูปอีกองค์กรหนึ่งที่ผมยังไม่ได้ยิน “เสียง” ใด ๆ จากผู้มีอำนาจในขณะนี้กล่าวถึงเลยคือ ต้อง “ปฏิรูปรัฐบาล” ไปพร้อม ๆ กันด้วย ผู้ที่ไม่มีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่ง ผู้ที่มีพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใส คนเหล่านี้ต้องถูก “ปฏิรูป” ออกไป เหลือไว้แต่คนดี มีความรู้ความสามารถตรงกับงานที่ตนเองรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์สุจริต และนึกถึงประเทศชาติเป็นหลักครับ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว คือบทความเรื่อง"ทำไมมันถึงเรียกว่าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน"ที่เขียนโดยคุณกฤษณ์ วงศ์วิเศษธร นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544