หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 163
24 มิถุนายน 2550 22:19 น.
ครั้งที่ 163
       สำหรับวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2550
       
       “ 75 ปี ประชาธิปไตยไทย”



เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 75ปี ของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ใช้กันอยู่ในประเทศต่างๆจำนวนมากในขณะนั้น การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบที่ มิได้มีการเตรียมการมาก่อน จริงอยู่แม้กลุ่มบุคคลผู้ทำการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจะได้ “เริ่มคิด” ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสโดยกลุ่มนักเรียนไทยในยุโรปซึ่งได้รับทราบสถานการณ์ทางการเมืองของยุโรปในขณะนั้นที่ระบอบกษัตริย์ของประเทศต่างๆ ถูกประชาชนปฏิวัติโค่นล้มลงไปในหลายๆประเทศและมีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงและมีส่วนในการปกครองประเทศเข้ามาแทนที่ แต่การ “เริ่มคิด” ดังกล่าวเป็นการ “เริ่มคิด” ที่มิได้มีการตระเตรียมสำหรับสิ่งที่จะตามมา “ภายหลัง” จากที่มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ การเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นมาจากกลุ่มนักเรียนไทยในยุโรปได้นำเหตุการณ์และสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนั้นไป “เปรียบเทียบ” กับเหตุการณ์และสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในยุโรปในขณะนั้น ทั้งๆ ที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากมีความแตกต่างทางด้านพัฒนาการทางการเมือง วัฒนธรรมและสังคม ลองนึกดูง่ายๆ ก็ได้ว่าในวันที่ประชาชนชาวอเมริกันมีรัฐธรรมนูญใช้ในปี ค.ศ.1776 (พ.ศ. 2319) ประเทศไทยยังอยู่ในสมัยกรุงธนบุรีอยู่เลยครับ ดังนั้น เมื่อการมองในเชิง “เปรียบเทียบ” เกิดขึ้นในสภาพการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงเป็นระบอบที่ “ล้าหลัง” สำหรับนักเรียนไทยในยุโรปกลุ่มดังกล่าวที่มองว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมากเกินไป และชนชั้นนำของสังคมไทยในขณะนั้นคือพวกเจ้านายทั้งหลายก็มีอภิสิทธิ์มากเกินไป ส่วนประชาชนนั้นแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลย นักเรียนไทยกลุ่มดังกล่าวจึง “เริ่มคิด” ว่าถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับประเทศต่างๆแล้ว ประเทศไทยก็จะสามารถก้าวไปสู่จุดที่ทัดเทียมนานาอารยะประเทศได้อย่างไม่ยากนัก จากแนวคิดของนักเรียนไทยในเบื้องต้นจำนวน 2 คน ก็ได้กลายเป็น 7 คนในเวลาต่อมาซึ่งเราเรียกบุคคลกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มผู้ก่อการ” เมื่อกลุ่มผู้ก่อการเดินทางกลับประเทศไทยและเข้ารับราชการก็ได้ “ขยายฐานสมาชิก” ออกไปอีก แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เนื่องจากในบรรดากลุ่มผู้ก่อการนั้นยังขาด “กำลัง” สำคัญที่จะนำไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ นั้นก็คือ “กำลังทหาร” นั้นเอง จนกระทั่งเมื่อกลุ่มผู้ก่อการได้ชักชวนนายทหารชั้นผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งให้เข้าร่วมกับผู้ก่อการได้ในปลายปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการเริ่มประชุมวางแผนยึดอำนาจอย่างเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น แผนการยึดอำนาจในเบื้องต้นถูกกำหนดให้ใช้กำลังทหารเข้ามาเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยไม่ต้องการให้มีการนองเลือด แต่เนื่องจากกลุ่มผู้ก่อการไม่มีกำลังทหารเพียงพอ กลุ่มผู้ก่อการที่เป็นทหารจึงต้องใช้วิธีตระเวนไปยังกรมกองทหารต่างๆ ก่อนวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 1 วัน เพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะมีการซ้อมรบด้วยวิธีการใหม่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในเวลา 6 โมงเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จึงขอให้ผู้บังคับบัญชานำทหารจากหน่วยต่างๆ มาร่วมด้วยในเวลาดังกล่าว พอตอนเช้าวันที่ 24 มิถุนายน คณะผู้ก่อการทั้งหมดก็รวมตัวกันตั้งแต่เวลา 04.00 น. แล้วก็แบ่งกำลังกันออกไปดำเนินการต่างๆ เช่น ตัดการสื่อสารทั้งหมดเพื่อไม่ให้เกิดการสื่อสารกันได้ เป็นต้น ต่อมาเมื่อเวลา 06.00 น. กำลังทหารจากหน่วยต่างๆก็ทยอยกันมาจนเต็มลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อจัดแถวทหารเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าคณะผู้ก่อการก็ได้อ่านประกาศยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากนั้นก็มีการส่งกำลังทหารออกไปรักษาความสงบตามสถานที่สำคัญๆ ของทางราชการต่างๆ รวมทั้งแยกย้ายกันไป “จับกุม” บุคคลสำคัญของประเทศมาขังไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อเป็น “ตัวประกัน” ส่วน “ฝ่ายกฎหมาย” ของกลุ่มผู้ก่อการก็ได้จัดทำแถลงการณ์เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยเพื่อนำมาใช้เป็น “กติกา” ในการปกครองประเทศหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง



สำหรับการดำเนินการและความเป็นไปต่อจากนี้ก็คงไม่ขอเล่าต่อเพราะเข้าใจว่าทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้ว
       ที่ผมได้เล่าไปข้างต้นก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี พ.ศ. 2475 นั้นเป็นการดำเนินการที่มีการเตรียมการในบางส่วนโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการ “ยึดอำนาจ” ครับ แต่การดำเนินการต่อมาหลังจากนั้นไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยให้กับสามัญชน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24มิถุนายน จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ “ขาดการเตรียมพร้อม” ในส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การปกครองประเทศที่ดีในเวลาต่อมา นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบที่ประชาชนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง
       แม้คณะผู้ก่อการจะพยายามแก้ปัญหาการที่ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา แต่การดำเนินการดังกล่าวก็ไม่ราบรื่นนัก หากพิจารณาดูรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยคือฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ก็จะพบว่า คณะผู้ก่อการ มีความ “วิตก” ในเรื่องของการที่ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยไม่มากก็น้อย สังเกตได้จากในมาตรา 10 ที่ได้กำหนดถึงการมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ว่า “ เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตต์ได้สอบไล่วิชชาปถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งและอย่างช้าต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น...........” บทบัญญัติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงระดับ “การศึกษา” ของชาวไทยในสมัยนั้นซึ่งคณะผู้ก่อการเล็งเห็นแล้วว่าในช่วงเวลาแรกหากปล่อยให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คงจะต้องเกิดปัญหาต่างๆตามมาเพราะคนไทยยัง “คุ้นเคย” อยู่กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และยังขาดความรู้ความเข้าใจในหลักและแก่นสารของ “ระบอบประชาธิปไตย” ที่เพิ่งเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้เองที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีการทอดระยะเวลาออกไปช่วงหนึ่งก่อนที่จะให้สภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมุ่งหวังว่าในช่วงเวลาดังกล่าวคงจะสามารถทำให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยได้ดีขึ้นและมีความพร้อมที่จะลงมา “เล่นการเมือง” ในระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ เพราะระบอบประชาธิปไตยนั้น ผู้เล่นทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และฝ่ายผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องมีความรู้และความเข้าใจในกติกาอย่างชัดเจนก่อนในเบื้องต้นและตามมาด้วยการเล่นตามกติกาครับ
       แต่อย่างไรก็ตาม หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยก็มีปัญหามาตลอด การปฏิวัติรัฐประหารที่เป็นวิถีทางนอกระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งโดยมีเหตุผลที่ซ้ำกันคือ เกิดการทุจริตในการดำเนินกิจการทางการเมืองของนักการเมืองและประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย ภาพของการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยให้กับคนไทยเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ก็อ้างเหตุผลว่าประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย ที่ชัดเจนที่สุดก็คือการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2519 ที่ตามมาด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2519 ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้กล่าวถึงการด้อยความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของคนไทยไว้ตอนหนึ่งว่า “....แต่เท่าที่ผ่านมาสี่สิบปีเศษ การปกครองในระบอบนี้ก็ยังไม่บรรลุตามเจตนารมณ์ของประชาชนเพราะไม่ได้มีโครงสร้างที่จะต้องพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช 2517 มีอุปสรรคขัดข้องจนไม่อาจจะปฏิบัติให้เป็นไปโดยเรียบร้อยได้ ทั้งตัวบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามีเสียงในการปกครองประเทศก็มิได้เคารพต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้นด้วยประการต่างๆ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของชาติบ้านเมือง เป็นเหตุให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา และมีท่าทีว่าชาติบ้านเมืองจะถึงความวิบัติ จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องกอบกู้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้เหมาะสม โดยจัดให้มีการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับ
       ในระยะสี่ปีแรกเป็นระยะฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ในระยะนี้สมควรมีให้ราษฎรมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินโดยทางสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ในขณะเดียวกันก็จะเร่งเร้าให้ประชาชนเกิดความสนใจและตระหนักในหน้าที่ของตน ในระยะสี่ปีที่สอง สมควรเป็นระยะที่ให้ราษฎรมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น โดยจัดให้มีรัฐสภาอันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง ทั้งสองสภานี้จะมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเท่าเทียมกัน ในระยะที่สี่ปีที่สาม สมควรขยายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรให้มากขึ้น และลดอำนาจของวุฒิสภาลงเท่าที่จะทำได้ ต่อจากนั้นไปถ้าราษฎรตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อชาติบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยดีแล้ว ก็ยกเลิกวุฒิสภาเหลือแต่สภาผู้แทนราษฎร” คำปรารภดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในช่วงเวลาดังกล่าว แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจะผ่านไปเป็นเวลา 40 ปีเศษแล้วก็ตาม แต่ “ผู้เล่น” ในระบอบประชาธิปไตยทั้งสองฝ่ายก็ยังคงไม่เข้าใจกฎ กติกา ที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย ต่อมาอีก 30 ปีจากปีพ.ศ.2519 จนถึงพ.ศ. 2549 เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นในเดือนกันยายน 2549 ที่ผ่านมาความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยของคนไทยก็ยังไม่แตกต่างไปจากเดิมเท่าไรนัก เหตุแห่งการรัฐประหารเหตุหนึ่งจึงมาจากการที่ “ผู้เล่น” ฝ่ายหนึ่งไม่รู้จักกฎ กติกาของระบอบประชาธิปไตยดีพอ ส่วนผู้เล่นอีกฝ่ายคือ ประชาชนส่วนหนึ่งไปแสดงความยินดีปรีดากับการรัฐประหารถึงขนาดนำดอกไม้ไปมอบให้ทหารที่เข้ามาทำการรัฐประหาร ก็ยิ่งทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนขึ้นไปอีกว่า “ผู้เล่น” อีกฝ่ายหนึ่งก็ยังไม่รู้จักระบอบประชาธิปไตยดีพอเช่นกัน มิฉะนั้นคงไม่ไปแสดงความยินดีกับ “ผู้ทำลายระบอบประชาธิปไตย” เช่นที่เกิดขึ้นเป็นแน่ครับ !
       
       วันที่ 24 มิถุนายน 2550 เป็นวันครบรอบ 75 ปี ของการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ถ้าเราจะต้องทำการ “ประเมิน” ผลการดำเนินการตลอดระยะเวลา 75 ปี ที่ผ่านมาของระบอบประชาธิปไตยกัน ก็คงจะประเมินได้ไม่ยากนัก การปฏิวัติรัฐประหารซึ่งเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยตรง การที่ผู้เล่นฝ่ายการเมืองไม่เข้าใจถึงแนวคิดเรื่องประโยชน์สาธารณะ (public interest) จึงได้เกิดการทำทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการส่วนตัวและพวกพ้อง การที่ประชาชนส่วนหนึ่งยังเห็นแก่ได้เล็กๆน้อยๆ ยอมรับ “สินจ้าง” ปิดหูปิดตาเลือกคนไม่ดีเข้ามาสู่ระบบการเมือง สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุที่ทำให้การประเมินผลการดำเนินการ 75 ปี ที่ผ่านมาของระบอบประชาธิปไตยไทย “ติดลบ” ครับ!
       สิ่งที่น่าสนใจสิ่งหนึ่งก็คือ “เป้าหมาย” ของคณะราษฎร์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ของคณะราษฎร์ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร์ได้วางหลักใหญ่ๆในการบริหารประเทศไว้ 6 หลักด้วยกัน
       1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
       2.จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
       3.จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงสร้างเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ประชาชนอดอยาก
       4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
       5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
       6.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
       จากวันนั้นถึงวันนี้ 75ปีผ่านไปไม่ทราบว่าเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร์ได้บรรลุถึงจุดที่ควรจะเป็นหรือยังครับ ?
       ความรู้สึกส่วนตัวของผมเนื่องในโอกาสครบรอบ 75ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองคงมีเพียงการแสดงความ “ไว้อาลัย” ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ที่แม้ระยะเวลาจะผ่านไปถึง 75 ปี แล้วก็ตามแต่เราก็ยังเดินไปไม่ถึงไหนเลยครับ !!!!!
       
       เรามีบทความมานำเสนอ 5 บทความด้วยกันครับ บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “ขอให้ประชาชนไทยได้เป็นคนเลือก ‘ส.ว.’ ” โดย คุณณัฐกร วิทิตานนท์ บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “ตุลาการภิวัฒน์กับทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจการปกครอง” โดย คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ 5 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ บทความที่สามเป็นบทความเรื่อง “ข้อค้างคาใจในคำวินิจฉัยคดียุบพรรค” โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง บทความที่สี่เป็นบทความเรื่อง “ใช้กฎหมายย้อนหลังเพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเมื่อยุบพรรคการเมือง” โดย คุณวัส ติงสมิตร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 3 และบทความที่ห้าเป็นบทความเรื่อง “วิธีพิจารณาคดีอาญาตามระบบไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” โดย คุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์ ผมขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งห้า ณ ที่นี้ด้วยครับ นอกจากนี้แล้วเรายังมีผู้ส่งบทความมาร่วมกับเราอีกมากซึ่งบทความอื่นๆที่ยังไม่ได้นำเสนอในครั้งนี้ ผมจะทยอยนำมาเสนอในครั้งต่อไปครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544