หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 234
14 มีนาคม 2553 22:27 น.
ครั้งที่ 234
       สำหรับวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553
       
       “ไม่เสียค่าโง่ แต่เสียอย่างอื่น”
       

       ผมเข้าใจว่านักกฎหมายส่วนใหญ่คงติดตามข่าวคราวของการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษากรณียึดทรัพย์ไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาอย่างใจจดใจจ่อ 1 สัปดาห์หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา ก็ได้ “เห็น” คำพิพากษาฉบับจริงที่มีความยาวถึง 187 หน้า ส่วนคำวินิจฉัยส่วนตัวซึ่งโดยหลักแล้วจะต้องเขียนก่อนคำพิพากษา จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เห็นนำมาเผยแพร่ หลาย ๆ คนรวมทั้งผมด้วย ก็ยังรออ่านความเห็น “ที่แตกต่าง” จากความเห็นที่ปรากฏในคำพิพากษาครับ
       มีหลายคนพยายามสัมภาษณ์ความเห็นผมในเรื่องดังกล่าวแต่ผมก็ได้ปฏิเสธไป เพราะอยากอ่านคำพิพากษาและความเห็นของผู้พิพากษาแต่ละคนที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยส่วนตัวก่อน จึงค่อยนำมาพิจารณาดูความเหมาะสมว่าจะเขียนในประเด็นใดดีครับ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 สัปดาห์หลังจากที่ศาลอ่านคำพิพากษาก็มีทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และนักอื่น ๆ พากันออกมาให้ความเห็นในสื่อทุกประเภทกันเต็มไปหมด ผู้บริโภคข่าวคงจะต้องตั้งสติให้มั่นและพยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ก่อนที่จะไป “หลงเชื่อ” ความเห็นหนึ่งความเห็นใดอย่าง “หัวปักหัวปำ” นะครับ!!!
       ก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียง 2 วัน ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2503/2552 ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่น่าสนใจคำพิพากษาหนึ่งแต่ก็ “ไม่เป็นข่าว” ในส่วนตัวผมมองว่าเป็นคำพิพากษาที่สำคัญและจะส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ อย่างในบ้านเราในวันข้างหน้าครับ ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจึงขอนำคำพิพากษาดังกล่าวมาเล่าให้ฟังครับ
       กรณี “หวยออนไลน์” เป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งผมเองก็ได้เขียนบทบรรณาธิการในเรื่องดังกล่าวไว้ด้วย โดยในบทบรรณาธิการครั้งที่ 230 ซึ่งเผยแพร่ในระหว่างวันที่ 18-31 มกราคม 2553 นั้น ผมได้เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของเรื่องหวยออนไลน์ในปัจจุบันว่ามีที่มาจากโครงการเดิมคือ “โครงการแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายเงินรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติ” ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายบดี จุณณานนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายประพัตร โพธสุธน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการทำสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายเงินรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติกับบริษัท จาโก จำกัด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2539 แต่ต่อมาเมื่อพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี นายอำนวย วีรวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายจาตุรนต์ฯ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ได้สั่งชะลอโครงการนี้ไว้ก่อนเนื่องจากมีการชุมนุมประท้วงของคนพิการที่ขายสลากกินแบ่งธรรมดา พร้อมกันนั้นก็ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) กับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษาถึงผลกระทบของการนำเอาระบบหวยออนไลน์มาใช้ ซึ่งสถาบันวิจัยทั้งสองมีความเห็นว่า การนำเอาระบบหวยออนไลน์มาใช้จะช่วยแก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคาได้เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่า แต่ก็มีผลกระทบคือ เกิดการขยายกลุ่มผู้เล่นการพนันให้กว้างออกไป และกระทบผู้ขายสลากกินแบ่งเดิม นายจาตุรนต์ฯ มีดำริที่จะให้เลิกโครงการดังกล่าวแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคือ นายอำนวย วีรวรรณ เห็นควรให้ทำต่อเพราะการเลิกจะกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศและต่อการลงทุน แต่ให้แก้สัญญาให้รัฐไม่เสียเปรียบและไม่กระทบต่อผู้ค้ารายย่อยเดิม ยังไม่มีการทำอะไรก็มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และนายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังผู้กำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในช่วงเวลานั้น บริษัท จาโก จำกัดได้ใช้สิทธิตามสัญญาที่ยังไม่มีการดำเนินการ ยื่นร้องขอตั้งอนุญาโตตุลาการเรียกค่าเสียหายจำนวนประมาณ 1,500 ล้านบาท จากการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามสัญญา ทำให้บริษัทฯ เสียหายและขาดผลประโยชน์ กระทรวงการคลังจึงเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไปเพราะเกรงว่าจะสร้างความเสียหายให้กับรัฐพร้อมกันนั้นได้ขยายระยะเวลาตามสัญญาออกไปอีก 15 ปีเพื่อ “แลก” กับการที่บริษัทฯ ยอมสละสิทธิ์เรียกค่าเสียหายจากรัฐ
       ข้อมูลที่ผมหามาได้ขาดไปช่วงตรงนี้ครับ อีกทีก็พบว่า รัฐบาลไทยรักไทยโดย นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ยกเลิกสัญญาระหว่างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกับบริษัท จาโก จำกัด ซึ่งต่อมาบริษัทฯ ก็ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากศาลแพ่ง และเท่าที่ทราบ ศาลได้ตัดสินให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจ่ายค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้กับบริษัท จาโก จำกัด เป็นจำนวนประมาณ 4,000 ล้านบาท
       เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษากรณีบริษัท จาโก จำกัด ยื่นฟ้องสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยตัดสินว่า สัญญาระหว่างบริษัท จาโก จำกัด กับ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่มีผลผูกพันคู่สัญญาครับ!!!
       ก่อนที่จะไปถึงผลของคำพิพากษา เรามาดู “สาระ” ของคำพิพากษาดังกล่าวกันก่อน ในคำพิพากษาได้กล่าวถึงเหตุที่นำมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเอาไว้ว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทำสัญญาแต่งตั้งบริษัท จาโก จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติ กำหนดเวลา 10 ปีนับแต่วันเริ่มจำหน่ายสลาก ในสัญญาดังกล่าวระบุว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาด ต่อมาภายหลังการทำสัญญา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามสัญญา บริษัท จาโก จำกัด จึงได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ซึ่งอนุญาโตตุลาการก็ได้มีคำชี้ขาดให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,508,593,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ บริษัท จาโก จำกัด จึงได้ยื่นฟ้องเรื่องดังกล่าวต่อศาลแพ่ง
       ในชั้นการพิจารณาของศาล สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีข้อต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวหลายประการในการที่ตนเองไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อต่อสู้ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องมาจากสัญญาระหว่างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกับบริษัท จาโก จำกัด ต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 คือ ต้องได้รับการอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรีก่อน แต่ในกรณีดังกล่าวมิได้มีการเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติตามขั้นตอน สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันคู่สัญญา
       ศาลชั้นต้นได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วก็ได้พิพากษาให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คือ จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่บริษัท จาโก จำกัด ตามจำนวนข้างต้น
       เนื่องจากพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 บัญญัติถึงเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นกรณีที่คำพิพากษาฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนว่าให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2548
       ศาลฎีกาได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในประเด็นที่สำคัญหลายประเด็น แต่ผมให้ความสนใจในประเด็นหนึ่งก็คือ สัญญาระหว่างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกับบริษัท จาโก จำกัด เป็นสัญญาที่ต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือไม่
       หลาย ๆ คนคงอาจไม่คุ้นเคยกับกฎหมายดังกล่าว ผมจะขออธิบายอย่างสั้น ๆ แล้วกันนะครับว่า ในปี พ.ศ. 2535 ภายหลังจากที่มีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2534 สภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้นได้จัดทำกฎหมายฉบับหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในการดำเนินกิจการของรัฐ ดังปรากฏอยู่ในเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ว่า “เหตุผลในกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการให้สัมปทานหรือให้สิทธิแก่เอกชน หรือการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะกำหนดให้เป็นอำนาจการพิจารณาของบุคคลผู้เดียวหรือหน่วยงานเดียว และในเรื่องสำคัญจะกำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรี ทำให้การพิจารณาอาจเป็นไปโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สัมปทานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2515 ส่วนใหญ่กฎหมายไม่ได้กำหนดวิธีปฏิบัติไว้ ดังนั้น เพื่อให้มีแนวทางการปฏิบัติและใช้บังคับแก่การให้สัมปทานหรือการร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ โดยเฉพาะโครงการที่มีการลงทุนหรือมีทรัพย์สินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไปสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการและต้องการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในโครงการที่หน่วยงานนั้นมีอำนาจหน้าที่ก็ต้องทำตามกฎหมายดังกล่าว กล่าวคือ โครงการที่มีวงเงินลงทุนหรือทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเริ่มต้นกระบวนการด้วยการที่หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการต่อกระทรวงเจ้าสังกัด จากนั้นกระทรวงเจ้าสังกัดต้องพิจารณาเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือกระทรวงการคลังแล้วแต่กรณีว่าเป็นโครงการใหม่หรือเป็นโครงการที่มีทรัพย์สินอยู่แล้วเพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในโครงการใดแล้ว หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการ และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าว แล้วให้คณะกรรมการออกประกาศเชิญชวนและดำเนินการคัดเลือกให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาร่างสัญญาร่วมงานหรือดำเนินการก่อนลงนาม จากนั้น คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องนำผลการคัดเลือกพร้อมเหตุผล ประเด็นที่เจรจาต่อรองเรื่องผลประโยชน์ของรัฐ ร่างสัญญา และเอกสารทั้งหมดเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เมื่อใดที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ จึงค่อยมีการลงนามในสัญญาครับ นี่คือกระบวนการอย่างคร่าว ๆ ของการลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน ซึ่งสัญญาระหว่างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกับบริษัท จาโก จำกัด ไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าว จึงกลายมาเป็นข้อโต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาหวยออนไลน์นี้ครับ
       ในชั้นการพิจารณาของศาลฎีกา บริษัท จาโก จำกัด ได้ต่อสู้ในประเด็นเรื่องของการที่สัญญาดังกล่าวไม่ผ่านกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐว่า ในเรื่องดังกล่าว ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและหัวหน้าสำนักกฎหมายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลให้การสอดคล้องกันว่า ในการยกร่างสัญญา กรรมการคนหนึ่งของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เป็นผู้แทนของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาร่างสัญญาดังกล่าว อีกทั้งสัญญาก็ยังต้องผ่านการพิจารณาโดยกองกฎหมายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและต้องให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ จากนั้นก็ได้ส่งร่างสัญญาดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ก็ไม่ปรากฏว่ามีการทักท้วงหรือท้วงติงว่ากระบวนการทำสัญญาดังกล่าวขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐแต่อย่างใดครับ
       ศาลฎีกาได้พิจารณาถึงกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจกรรมของรัฐแล้ว มีความเห็นว่า กิจการจำหน่ายสลากและจ่ายรางวัลสลากการกุศลแบบอัตโนมัติเป็นกิจการที่เข้าลักษณะเป็น “กิจการของรัฐ” ตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ และมีลักษณะเป็น “โครงการ” ตามกฎหมายดังกล่าว สัญญาระหว่างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกับบริษัท จาโก จำกัด จึงเป็นสัญญาที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ
       ศาลฎีกาได้ให้ “คำตอบ” ของการที่โครงการดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐไว้ว่า การที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาตรวจร่างสัญญา และสำนักงานอัยการสูงสุดในขั้นตอนการตรวจร่างสัญญาเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า สัญญาดังกล่าวมิได้เป็นสัญญาที่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ จึงมิได้ทักท้วงหรือท้วงติง โดยไม่ปรากฏว่าในขั้นตอนของการดำเนินการเกี่ยวกับการทำสัญญาดังกล่าวมีการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หามีผลทำให้สัญญาซึ่งมีเนื้อหาสาระเป็นสัญญาที่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐกลายเป็นสัญญาที่ไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายดังกล่าว การไม่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐส่งผลทำให้สัญญาระหว่างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกับบริษัท จาโก จำกัด เป็นสัญญาที่ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญาและย่อมส่งผลทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดไม่มีผลบังคับใช้ไปด้วย คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจ่ายเงินให้ บริษัท จาโก จำกัด จึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้น ศาลฎีกาจึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจ่ายเงินจำนวน 2,508,593,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ
       อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ประเด็นที่ผมสนใจในเรื่องนี้ก็คือการที่ศาลฎีกาพิจารณาว่า สัญญาระหว่างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกับบริษัท จาโก จำกัด เป็นสัญญาที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ซึ่ง ศาลฎีกาก็ได้ “ชี้ชัด” ลงไปแล้วว่าสัญญาดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ส่วนผลของการไม่ทำตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาก็ได้บอกไว้แล้วเช่นกันว่าสัญญาไม่มีผลผูกพันคู่สัญญาครับ
       เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำพิพากษาเป็นสิ่งที่พึง “หลีกเลี่ยง” เพราะแม้ตั้งใจให้เป็นความคิดเห็นทางวิชาการ แต่ถ้าหากศาลเห็นว่า “ไม่ใช่” โชคร้ายก็กำลังมาเยือนครับ เพราะฉะนั้น ที่ควรจะต้องทำก็คือ “หยุดแสดงความคิดเห็น” ที่มีลักษณะ “สุ่มเสี่ยง” ไปในทำนอง “วิจารณ์” แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อคำพิพากษานี้ได้ “ให้ข้อคิด” บางอย่างเอาไว้ เราจึงสมควรที่จะต้องมาพิจารณาดูสิ่งที่ได้จากคำพิพากษาดังกล่าวครับ
       ประการแรก เป็นที่น่าปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทย “ไม่ต้องจ่ายค่าโง่” ซ้ำซากให้กับเอกชน ก็ต้องขอขอบคุณศาลที่ช่วยประหยัดเงินภาษีอากรของประชาชนไปเกือบ 4,000 ล้านบาท จริง ๆ แล้วเรื่อง “ค่าโง่” เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยเพราะอย่างที่ทราบ กว่าสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด แถมตอนท้ายที่สุดก็ต้องให้ “อัยการ” ซึ่งถือกันว่าเป็นนักกฎหมายภาครัฐที่ “เก่งจริง ๆ” เป็นผู้ตรวจสอบในรอบสุดท้าย แต่ทำไม ! สัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนที่มีปัญหา รัฐถึงได้เสียเปรียบทุกทีก็ไม่ทราบ น่าจะมีใครซักคนรวบรวมและวิเคราะห์ดูว่า ที่ผ่านมานั้น รัฐเสียค่าโง่ให้กับเอกชนไปแล้วทั้งหมดเท่าไหร่ แล้วก็ใครเป็นคนตรวจดูความถูกต้องของสัญญาตั้งแต่ต้นจนถึงตอนสุดท้าย จะได้รู้กันไปเสียทีว่า การเสียค่าโง่นั้นมาจาก “ความบกพร่อง” ในช่วงใดและของใครครับ คงไม่ต้องบอกต่อนะครับว่า สิ่งที่จะตามมาคืออะไร ควรมีใครสักคนที่ต้อง “รับผิดชอบ” กันบ้างนะครับ !!!
       ประการที่สอง กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐเป็นกฎหมายพิเศษ เป็นกฎหมายที่เอกชนถือว่าเป็น “ผู้อยู่ใต้การปกครอง” อย่างแท้จริง เพราะเฉพาะหน่วยงานของรัฐเท่านั้นที่จะดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวได้ ไม่เชื่อก็ลองไปอ่านดูขั้นตอนของกฎหมายที่ผมสรุปไว้ข้างต้นอีกทีครับ หากหน่วยงานของรัฐต้องการทำสัญญากับเอกชนแล้วหน่วยงานของรัฐบอกว่าสัญญาดังกล่าวไม่ต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ก็หมายความว่า เอกชนไม่มีสิทธิที่จะเลือกอะไรทั้งนั้นนอกจากเลือกทำหรือไม่ทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐนั้น ขืนเอกชนไปบอกว่าหน่วยงานของรัฐต้องทำตามกฎหมายดังกล่าวก่อน รับรองได้ว่า เอกชนไม่มีทางได้เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐนั้นแน่ ๆ เมื่อหน่วยงานของรัฐบอกว่าไม่ต้องทำตามกฎหมาย ก็ย่อมเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าไม่ต้องทำตามกฎหมาย เอกชนจะไปอวดรู้มากกว่าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้อย่างไรครับ!!!
       กรณีหวยออนไลน์นี้ ได้ความเป็นที่ชัดเจนปรากฏอยู่ในคำพิพากษาที่ฝ่ายบริษัท จาโก จำกัด กล่าวอ้างว่า ทั้งผู้อำนวยการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและหัวหน้าสำนักกฎหมายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต่างให้การสอดคล้องกันว่า ในการยกร่างสัญญา กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้แทนของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาร่างสัญญา และร่างสัญญาก็ได้ผ่านกองกฎหมายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ผ่านการตรวจพิจารณาโดยสำนักงานอัยการสูงสุด ก็ไม่ปรากฏว่ามีการทักท้วงหรือท้วงติงว่ากระบวนการทำสัญญาขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ศาลฎีกาก็ได้ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวเอาไว้ว่า กรณีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและสำนักงานอัยการสูงสุดในขั้นตอนการตรวจร่างสัญญาเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสัญญาดังกล่าวมิใช่สัญญาที่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ จึงไม่ทักท้วงหรือท้วงติง โดยไม่ปรากฏว่าในขั้นตอนของการดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวมีการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น หามีผลทำให้สัญญาซึ่งมีเนื้อหาสาระเป็นสัญญาที่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐกลายเป็นสัญญาที่ไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายดังกล่าวดังที่ บริษัท จาโก จำกัด กล่าวอ้างในคำแก้อุทธรณ์ไม่
       ผมเห็นด้วยกับ “เหตุผล” ของศาลที่ว่าการไม่ทำตามกฎหมายเนื่องมาจาก “ความเข้าใจคลาดเคลื่อน” ของ “ฝ่ายรัฐ” ไม่ทำให้สัญญาดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายไปได้ แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่า “ความเข้าใจคลาดเคลื่อน” ของ “ฝ่ายรัฐ” คือจุดเริ่มต้นของการทำให้สัญญาดังกล่าวไม่ได้ทำตามขั้นตอนและวิธีการของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้เราจะทำอย่างไรกันดีครับ เพราะการดำเนินการหรือไม่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐนั้น ขึ้นอยู่กับ “หน่วยงานของรัฐ” แต่เพียงฝ่ายเดียว ต่อแต่นี้ไป เอกชนจะมีหลักประกันอย่างไรในการทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ สมควรเชื่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่ เพราะหน่วยงานของรัฐที่ต้องเป็นผู้ “รับผิดชอบ” ต่อโครงการที่ตนเองต้องจัดทำอาจมี “ความเข้าใจคลาดเคลื่อน” ได้นะครับ!!!
       หากเป็นสัญญาตามปกติที่คู่สัญญายังต้องการปฏิบัติตามสัญญาอยู่ ก็คงไม่ลำบากอะไรมากนัก เพราะขั้นตอนตรงไหนบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ ก็ไปแก้ไขตรงนั้นให้สมบูรณ์ แต่ในสัญญานี้ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ต้องการปฏิบัติตามสัญญาตั้งแต่ต้น บริษัท จาโก จำกัด จึงฟ้องเรียกค่าเสียหาย การแก้ไขความบกพร่องของสัญญาให้สมบูรณ์จึงไม่มีประโยชน์อันใด คงเป็นเรื่องค่าเสียหายอย่างเดียวที่จะเป็นประเด็นปัญหาต่อไปอีก “ความเข้าใจคลาดเคลื่อน” ที่ศาลฎีกากล่าวไว้คงเป็น “ฐาน” ให้บริษัท จาโก จำกัด เรียกค่าเสียหายอีกแน่ๆครับ !!!
       ประการที่สาม ผมสงสัยจริง ๆ นะครับ ที่ในคำพิพากษาเขียนว่า “สัญญาไม่มีผลผูกพัน” นั้น หมายความว่าอย่างไร เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นคือเป็นโมฆะหรือไม่ และที่สำคัญก็คือสัญญาไม่มีผลผูกพันนั้นมีที่มาจาก “ความเข้าใจคลาดเคลื่อน” ของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะในเมื่อหน่วยงานของรัฐมี “ความเข้าใจคลาดเคลื่อน” ในการทำสัญญาจนทำให้ “สัญญาไม่มีผลผูกพัน” ความเสียหายของเอกชนที่มีอยู่ไม่มากก็น้อยใครจะเป็นผู้รับผิดชอบครับ และผู้ที่มี “ความเข้าใจคลาดเคลื่อน” ในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง จะต้องมีความรับผิดชอบอย่างไรบ้างครับ ใครจะตอบตรงนี้ได้ครับ!!!
       ประการสุดท้าย เป็นความห่วงใยในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศเรามีปัญหาเกิดขึ้นมากมายที่มีผลกระทบต่อ “ความเชื่อมั่น” ในการลงทุน กรณีเพิกถอนการแปลงสภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยย้อนหลังไปตั้งแต่ต้น กรณีมาบตาพุด กรณีทุจริตเชิงนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศหวาดระแวงในการ “ติดต่อ” กับภาครัฐ ผมคงไม่ต้องมานั่งแจงนะครับว่าหวาดระแวงอะไรกันบ้างเพราะจากการประมวลดูข่าวต่าง ๆ ก็พอทราบได้ว่า ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ล้วนแล้วแต่ “ผลิต” สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งนั้น
       ถึงแม้ว่าเราจะรอดไม่ต้องเสีย “ค่าโง่” ให้กับบริษัท จาโก จำกัด แต่ที่กล่าวไปแล้วคงจะพอมองเห็นว่า เราต้องเสียอะไรไปอีกหลายอย่าง เสียความรู้สึกที่ดีต่อหน่วยงานของรัฐที่ตอนทำสัญญาก็ทำกันอย่างดี แต่พออยากเลิกสัญญาก็ยกเอาข้อบกพร่องที่เกิดจากการกระทำของตัวเองมาเป็นเหตุเลิกสัญญา เสียความรู้สึกที่ดีต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ศาลบอกว่ามี “ความเข้าใจคลาดเคลื่อน” ทั้งๆที่เป็นหน้าที่ของตนเองที่ต้องมี “ความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้อง” เสียความรู้สึกที่ดีที่มีต่อความเชื่อมั่นในการทำงานของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว แล้วก็ท้ายที่สุด เราอาจเสียคนจำนวนหนึ่งที่คงไม่กล้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพราะ “ระบบ” การทำงานของเราเป็นระบบที่ “ล้าหลัง” แถมยังคุ้มครองหน่วยงานของรัฐและบุคลากรของรัฐอย่างมากเกินไปอีกด้วยครับ !!!
       ในวันที่ประเทศชาติกำลังมีปัญหาและมีความสับสนวุ่นวายทางการเมืองจนทำให้เศรษฐกิจถดถอย ควรหรือไม่ที่จะ “ช่วยกัน” สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบ???? “ความเข้าใจคลาดเคลื่อน” ของภาครัฐที่ส่งผลกระทบต่อเอกชนโดยภาครัฐไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบ ให้กับประเทศ ให้กับอำนาจนิติบัญญัติ ให้กับอำนาจบริหาร และให้กับอำนาจตุลาการ
       ที่เขียนมาไม่ได้มีเจตนาที่จะวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาดังกล่าวนะครับ แค่อยากจะขอใช้สิทธิในฐานะคนไทยที่ห่วงประเทศชาติห่วงภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐต่างๆอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ และคิดว่าเรื่องประเภทนี้คงไม่เกิดขึ้นในประเทศ อื่นๆเป็นแน่ อย่าเพิ่งถอดใจหนีไปลงทุนที่อื่นกันหมดนะครับ
       ในสัปดาห์นี้เพื่อนต่างวัยของผมคือ ศาสตราจารย์ ดร. René Hostiou นักกฎหมายมหาชนชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส ได้ส่งบทความใหม่ล่าสุดเรื่อง “Le juge administratif gardien de la propriété privée ? ” มาร่วมเผยแพร่กับเราครับ บทความเป็นภาษาฝรั่งเศสนะครับ จริงๆผมอยากแปลเป็นภาษาไทยด้วยแต่ก็จนใจที่ไม่มีเวลาทำครับ นอกจากนี้แล้ว เรายังมีบทความอีก 2 บทความคือ บทความของคุณสมชาย เหล่าพิทักษ์วรกุล ปลัดเทศบาล เทศบาลตำบลพะวง เรื่อง “นิติรัฐvsนิติธรรม” และบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง “ป๋วย อึ้งภากรณ์ กับการเรียกร้องหาคนดีในปัจจุบัน” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้ง 3 ไว้ ณ ที่นี้ครับ
       นอกจากบทความทั้ง 3 แล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ส่งแถลงการณ์เรื่อง “บทวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน" มาให้เผยแพร่ใน www.pub-law.net ครับ
       ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ได้สัมภาษณ์ผมในเรื่อง"ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!" และนอกจากนี้ ก็ยังได้สัมภาษณ์ อาจารย์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ webmaster ของเราเกี่ยวกับเรื่อง "เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ" อีกด้วย ผมจึงได้ขออนุญาตหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ นำบทสัมภาษณ์ทั้งสองมาลงเผยแพร่ไว้ใน www.pub-law.net ด้วยครับ ใครสนใจสามารถเข้าไปอ่านดูได้ใน "บทสัมภาษณ์" ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544