|
|
|
|
|
ครั้งที่ 224
สำหรับวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2552
ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน(3)
ผมกลับมาจากฝรั่งเศสเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอนอยู่ที่นั่นก็ได้รับทราบข่าวสำคัญๆของประเทศอยู่บ้างแต่ก็ไม่ละเอียดเท่าไรนัก ที่เป็นกังวลก็มีอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการนัดหยุดงานของพนักงานขับรถไฟครับ
จริงๆแล้วปัญหาเรื่องการรถไฟแห่งประเทศไทย ผมได้เคยพูดไว้แล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ 216 สำหรับวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม 2552 ในหัวข้อ ปัญหาการจัดทำบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนประเภทรถไฟ สรุปความได้ว่า รถไฟไทยมีปัญหามากมายหลายประการ และเป็นปัญหาที่สะสมมานานจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีปกติธรรมดาทั่วไปแล้วครับ เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลต้องการที่จะให้มีรถไฟในประเทศไทยต่อไปและสามารถใช้ประโยชน์ในการขนส่งสาธารณะได้ดีเช่นประเทศอื่นๆ ก็คงต้องใช้ความกล้าอย่างมากในการรื้อระบบทั้งหมด ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดที่ทำได้และน่าจะเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำได้ก็คือ ให้เอกชนเข้ามาลงทุนดำเนินการ ด้วยวิธีที่ผมได้เสนอไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 216 ส่วน การรถไฟแห่งประเทศไทย นั้น จะเอาอย่างไรก็คงต้องไปทบทวนดูให้ดีโดยต้องพิจารณาและให้ความสำคัญกับ ความรู้ความสามารถ ของบุคลากรที่มีอยู่ว่า สมควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทยคงอยู่ต่อไปในฐานะเป็น องค์กรกำกับดูแล หรือว่าจะ ยุบทิ้ง ไปเลย ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องไปพิจารณาเอาเองครับ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คงต้องมีการดำเนินการบางอย่าง ขืนปล่อยไว้เช่นนี้ก็มีแต่จะสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชนอยู่ตลอดเวลาครับ ลำพังโดยสภาพของ รถไฟไทย ในปัจจุบันก็แย่อยู่แล้ว ยิ่งมาหยุดงานในลักษณะเช่นนี้ก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่นะครับ
ในช่วงที่มีปัญหาการนัดหยุดงานของพนักงานขับรถไฟไทย ที่ฝรั่งเศสเองเมื่อวันอังคารที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมาก็มีการนัดหยุดงานของสหภาพรถไฟของฝรั่งเศสเช่นกัน โดยเมื่อเย็นวันที่ 18 ตุลาคม ก่อนวันที่จะมีการนัดหยุดงาน 1 วัน ผมมีโอกาสดูโทรทัศน์รายการหนึ่ง มีผู้มาให้ความรู้เกี่ยวกับ การให้บริการขั้นต่ำ (minimum service) ในระหว่างการนัดหยุดว่า ในวันอังคารที่ 19 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันนัดหยุดงาน จะมีรถไฟวิ่ง 1 ใน 3 ของรถไฟที่มีอยู่ และจะเป็นเช่นนั้นจนถึงเที่ยงคืนของวันอังคารที่ 19 ตุลาคม ผมไม่ทราบว่า ผู้ที่มาพูดเป็นใคร แต่ก็ดีที่มีการ อธิบาย ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าว่าจะ เจอ กับอะไรบ้างในวันดังกล่าว ซึ่งเมื่อผมเดินทางกลับมาประเทศไทยก็ได้อ่านพบข่าวในลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกันคือ มีความพยายามที่จะหาคนมาขับรถไฟแทนพนักงานที่หยุดงาน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีมากครับ ในเรื่องดังกล่าว ผมมีข้อเสนอที่เคยพูดไปแล้วในหลายๆที่ครับ เข้าใจว่าหลายๆคนคงรู้จักหรือเคยเห็น ทหารหรือตำรวจ ชั้นผู้ใหญ่ ที่ต้องมีทหารหรือตำรวจ ชั้นผู้น้อย ขับรถ เดินตาม ทำงานบ้าน ไปรับลูก ไปซื้อของ ฯลฯ ทหารหรือตำรวจ ชั้นผู้น้อย เหล่านี้ เป็นข้าราชการของรัฐประเภทหนึ่ง ซึ่งได้รับเงินเดือนที่มาจากภาษีอากรของประชาชน แม้จะเป็น ธรรมเนียบปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นมาแล้วเป็นเวลานาน แต่ในวันนี้ คงต้องมาพิจารณากันแล้วว่า สมควรหรือเหมาะสมหรือไม่ ที่จะทำเช่นนั้นต่อไป และการเอาบุคคลากรของรัฐไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวนั้นถือเป็นการทุจริตคอรัปชั่นประเภทหนึ่งด้วยหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้คงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันต่อไป ส่วนข้อเสนอของผมก็คือ แทนที่จะให้ทหารหรือตำรวจ ชั้นผู้น้อย ไปรับใช้ทหารหรือตำรวจ ชั้นผู้ใหญ่ ก็น่าจะให้คนเหล่านี้มาหัดขับรถเมล์ รถไฟทั้งบนบก ใต้ดินและลอยฟ้า เอาไว้ให้คล่อง เมื่อมีปัญหาการนัดหยุดงาน เราก็สามารถแก้ปัญหาได้ง่ายด้วยการให้ทหารหรือตำรวจที่ได้รับการฝึกหัดมาอย่างดี รับใช้ประชาชน แทนครับ
ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้มีขั้นเพื่อ ดูถูก ทหารหรือตำรวจ ชั้นผู้น้อย นะครับ ผมเพียงแต่คิดว่าในเมื่อคนเหล่านั้นรับเงินเดือนซึ่งมาจากภาษีอากรของประชาชนแล้ว น่าจะต้องทำงานตอบแทนประชาชนบ้าง อย่างน้อยก็ยังดีกว่าไปทำงานให้เจ้านายเป็นการส่วนตัวนะครับ !!! ส่วนในวันข้างหน้า ก็คงต้องมีการวางระบบกันให้ชัดเจนไปเลยว่า บริการสาธารณะประเภทสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หากผู้จัดทำหยุดให้บริการ รัฐจะมีมาตราการในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไรเพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ใช้บริการสาธารณะเหล่านั้นต้องได้รับความเดือดร้อนเช่นที่เกิดขึ้นไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ครับ
กลับมาสู่ตอนสุดท้ายของ ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน ในประเทศฝรั่งเศสกันดีกว่า เพื่อเป็นการทบทวนเรื่องดังกล่าว ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 222 ผมได้นำเสนอกระบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศฝรั่งเศสโดยผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ (le Médiateur de la République) และองค์กรอื่น ๆ อีกบางองค์กร ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 223 ผมได้นำเสนอรูปแบบองค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในหลาย ๆ ประเทศ และในบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็จะได้นำเสนอสาระสำคัญบางประการของร่างกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนในประเทศฝรั่งเศสครับ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ 222 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปีค.ศ. 2008 ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นในประเทศฝรั่งเศสอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนตลอดช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือการมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่รับรองหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเอาไว้ เพราะในประเทศฝรั่งเศสนั้น สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดย ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดมาจนปัจจุบัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปีค.ศ. 2008 โดยเพิ่มหมวด 11 ทวิ ว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนเข้าไป ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักการที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายสูงสุดของประเทศเช่นเดียวกับที่เป็นอยู่ในหลาย ๆ ประเทศในสหภาพยุโรป คือ Ombudsman ของสวีเดนและฟินแลนด์ Defensor del pueblo ของเสปนและ Prevedor de Justiça ของโปรตุเกสที่ได้กล่าวกันไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ 223 ครับ
จริงอยู่ที่แม้กฏหมายฉบับปี ค.ศ. 1973 จะแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ (le Médiateur de la République) ขึ้นมาในประเทศฝรั่งเศสซึ่งถือว่าเป็น ความก้าวหน้า ทางด้านความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มากขึ้น ในสมัยนั้น แต่ระบบดังกล่าวก็มีข้อบกพร่องอยู่หลายประการไม่ว่าจะเป็นการตั้งองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐขึ้นมาโดยกฎหมายธรรมดาระดับ รัฐบัญญัติ ซึ่งต่อมาก็มีการตั้งองค์การมหาชนอิสระ (autorité administrative indépendante) อื่นๆ ขึ้นมาโดยกฏหมายธรรมดาเช่นกัน แต่มีการกำหนดให้บางองค์กรมีอำนาจหน้าที่ที่ ทับซ้อน กับผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐกับองค์กรต่าง ๆ นอกจากนี้แล้ว กรณีประชาชนไม่สามารถร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐได้โดยตรงก็ยังเป็นข้อบกพร่องที่สำคัญอีกประการหนึ่ง จึงทำให้ต้องมีการปรับปรุงองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐใหม่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดเมื่อปีค.ศ. 2008 โดยเพิ่มหมวด 11 ทวิ ว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนเข้าไป และในมาตรา 71-7 แห่งรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดให้มีกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยอำนาจหน้าที่และวิธีการร้องเรียนผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน รวมทั้งเงื่อนไขในการมีผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่ในบางหน้าที่ของผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนด้วย
ผมมีโอกาสได้เห็นร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา เข้าใจว่าเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วมีผลใช้บังคับ ก็คงไม่แตกต่างๆไปจากร่างนี้เท่าไรนัก จึงขอนำมาเล่าให้ฟัง โดยในส่วนแรกของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนได้กล่าวถึงวิธีการได้มาซึ่งตัวผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนโดยได้นำเอา เนื้อความ ของมาตรา 71-1 วรรคท้ายแห่งรัฐธรรมนูญมาบัญญัติไว้ว่า ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี โดยคณะกรรมการธิการสามัญ (la commission permanante) ของสภาผู้แทนราษฏรและของวุฒิสภาจะต้องลงมติเลือกบุคคลดังกล่าวมาแล้วด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของแต่ละคณะกรรมาธิการ จากนั้นก็จะเสนอชื่อให้คณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอไปยังประธานาธิบดีเพื่อออกรัฐกฤษฏีกาแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้เป็นผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนต่อไป กระบวนการคัดสรรบุคคลให้เข้าดำรงตำแหน่งสำคัญเหล่านี้ แต่เดิมเป็นอำนาจเฉพาะตัวของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ แต่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี ค.ศ. 2008 ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาทั้ง 2 ให้ทำหน้าที่ คัดสรร บุคคลต่าง ๆ แทนประธานาธิบดี นอกจากนี้แล้ว ในตอนต้นของร่างกฎหมายดังกล่าวยังได้กล่าวถึงความเป็นอิสระในการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนว่าไม่อยู่ในอาณัติของผู้ใดหรือขององค์กรใด รวมทั้งไม่อาจถูกจับกุม คุมขัง ดำเนินคดีหรือถูกศาลพิพากษาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ รวมทั้งยังได้กล่าวถึงลักษณะต้องห้ามของผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนไว้ว่า ห้ามเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ห้ามเป็นกรรมการในคณะกรรมการตุลาการ ห้ามเป็นสมาชิกสภาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ห้ามดำรงตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ห้ามเป็นข้ารัฐการ และห้ามเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระต่าง ๆ ทุกประเภท
เรื่องสำคัญ 3 เรื่องที่อยู่ในร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน เรื่องแรกก็คือวิธี การร้องเรียนผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน นั้น ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตนจากการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายปกครอง สามารถนำเรื่องมาร้องเรียนต่อผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนได้ นอกจากนี้แล้ว หากเอกชนผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับจรรยาบรรณทางวิชาชีพของตน ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตนจากการกระทำของเอกชนดังกล่าวก็สามารถนำเรื่องมาร้องเรียนต่อผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนได้เช่นกัน สมาชิกรัฐสภาก็สามารถนำเรื่องที่ตนเองเห็นว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเสนอให้ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนพิจารณาได้ เช่นเดียวกับที่ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนสามารถยกเรื่องขึ้นพิจารณาเองได้หากเห็นว่าเรื่องดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ อำนาจหน้าที่ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน นั้น ร่างกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนกำหนดให้ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนมีอำนาจในตัวเองอย่างสมบูรณ์ที่จะให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยที่ถูกร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามที่ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนได้ให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะไป หากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนดังกล่าวไม่ปฏิบัติตาม ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนก็มีอำนาจในการออกคำบังคับ (injonction) ให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนดังกล่าวให้ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ หากยังไม่ปฏิบัติตามอีก ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนก็จะทำรายงานซึ่งประกอบด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้น คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาของผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน คำบังคับและการดำเนินการหรือไม่ดำเนินการของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนดังกล่าวเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะต่อไป สำหรับในกรณีเรื่องร้องเรียนที่พบว่ามีการทำผิดวินัยเกิดขึ้น ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนก็สามารถเสนอขอให้มีการดำเนินการสอบสวนทางวินัยต่อผู้กระทำผิดได้ หากไม่ปฏิบัติตามก็เป็นเช่นเดียวกับกรณีทั่ว ๆ ไปคือ ออกคำบังคับและจัดทำรายงานเพื่อเผยแพร่สาธารณะต่อไป ส่วนการที่ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนพบว่า ปัญหาเกิดจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหาร ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนสามารถขอให้สภาแห่งรัฐ (Conseil dEtat) ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้ นอกจากนี้แล้วผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนยังสามารถเสนอรัฐบาลให้แก้ไขกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหารที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ และทุก ๆ ปีผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนจะต้องจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อประธานาธิบดี รัฐสภา และเผยแพร่ต่อสาธารณรัฐด้วย
เรื่องต่อมาคือ ผู้ช่วยปฏิบัติงานของผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน นั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการปฏิบัติหน้าที่บางอย่างที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนต้องปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับผู้อื่นใน 2 กรณีด้วยกันคือ กรณีที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณด้านวิชาชีพของการรักษาความปลอดภัย กับกรณีด้านสิทธิเด็ก ที่ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนจะต้องทำร่วมกับผู้ช่วย 3คน ที่มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี 1 คน ประธานสภาผู้แทนราษฏร 1 คน และประธานวุฒิสภาอีก 1 คน จากผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านดังกล่าว ทั้งนี้ เรื่องจากเรื่องทั้ง 2 เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน
ในตอนท้ายของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ผู้ถูกร้องเรียนต้องให้ความร่วมมือกับผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนในการชี้แจง ให้ข้อมูล ตอบคำถาม รวมทั้งการเข้าไปตรวจสถานที่ที่เป็นปัญหาได้ด้วยครับ
ก็ขอจบเรื่อง ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน ในประเทศฝรั่งเศสไว้เพียงแค่นี้นะครับ ใครสนใจรายละเอียดมากกว่านี้ก็มาเอาเอกสารจากผมไปอ่านดูได้ครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอถึง 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง มาตรการทางกฎหมายของอังกฤษในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่เขียนโดยคุณปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง การเสียค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ในคดีปกครอง กรณีค่าทดแทนในการเวนคืน โดยคุณนิธินันท์ สุขวงศ์ อัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานอัยการจังหวัดยโสธร บทความที่สามเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่ในคราวนี้เขียนเรื่อง เมื่อกฎหมายไร้ประสิทธิภาพและขาดความเป็นธรรม ส่วนบทความสุดท้ายเป็นบทความที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ได้แก่บทความเรื่อง การใช้สิทธินัดหยุดงานกับบริการสาธารณะ ที่เขียนโดย อาจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผมขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้ง 4 คนที่สละเวลาเขียนบทความมานำเสนอใน www.pub-law.net ครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|