หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 216
4 กรกฎาคม 2552 21:56 น.
ครั้งที่ 216
       สำหรับวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม 2552
       
       “ปัญหาการจัดทำบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนประเภทรถไฟ”
       

       บทบรรณาธิการคราวที่แล้วเป็นเรื่องปัญหาของการให้บริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครที่ในวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะทำอย่างไรระหว่าง “เช่า” – “ซื้อ” หรือจะเชื่อผมโดย “ยุบ” ขสมก. เสีย แล้วก็มอบให้กรุงเทพมหานครไปจัดการทำเอง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีปัญหาใหม่เกิดกับการรถไฟแห่งประเทศไทยและเป็นเรื่องในทำนองเดียวกันกับ ขสมก. ผมก็เลยถือโอกาสเขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้เกี่ยวกับเรื่องปัญหาการจัดทำบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำเสนอวิธีการที่ผมมองว่าอาจจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ รฟท. ได้ครับ
       เดิมนั้น รฟท. เป็นหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคมโดยมีชื่อเดิมคือ กรมรถไฟ เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทยก็มีอำนาจหน้าที่สำคัญที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 (2) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 คือ “จัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟ เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟและธุรกิจอื่นซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ”
       
ในต่างประเทศนั้น รถไฟเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุด สะดวกที่สุดและตรงเวลาที่สุด แต่ในประเทศไทย ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใด รถไฟจึงไม่ค่อยได้รับความนิยมจากประชาชน ผมเข้าใจว่าสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่ใช้บริการรถไฟกันมากน่าจะมาจากการขยายเส้นทางรถไฟให้ครอบคลุมทุกจังหวัดยังไม่สำเร็จจวบจนทุกวันนี้ ดังนั้น จึงทำให้คนหันไปใช้บริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนประเภทอื่นกันมาก นานวันเข้า รถไฟก็เก่าลง สถานีเสื่อมโทรมลง คนใช้บริการน้อยลง รถไฟจึงประสบกับปัญหาการขาดทุนมาตลอด
       ในช่วงเวลา 10 – 20 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาของรถไฟหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ เท่าที่ทราบมีการจ้างหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทำการศึกษาถึงแนวทางในการปรับปรุงการรถไฟแห่งประเทศไทยกันอยู่มาก แต่ก็ไม่เคยมีอะไรแปลกใหม่เกิดขึ้น เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งของรัฐบาลที่พยายามนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหารถไฟ แต่ก็จบลงด้วยการประท้วงของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ใช้บริการรถไฟต้องได้รับความเดือดร้อน
       เรามาดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกันก่อน เท่าที่อ่านพบจากหนังสือพิมพ์ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของการรถไฟแห่งประเทศไทยนัดหยุดงานเพื่อประท้วง “แผนฟื้นฟูกิจการ รฟท.” เพราะมองว่าจะเกิดการนำไปสู่การแปรรูปการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยการนัดหยุดงานดังกล่าวก็คือการหยุดวิ่งรถไฟโดยไม่มีการแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ผลที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลตัดสินใจชะลอแผนฟื้นฟูดังกล่าวออกไปเพื่อให้สหภาพแรงงาน รฟท. กับคณะกรรมการบริหาร รฟท. ไปหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกที่เป็นไปได้ที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อผลของการหารือร่วมกันออกมา สถานการณ์ก็กลับแย่ลงไปอีกเพราะสหภาพแรงงาน รฟท. เรียกร้องให้ปลดผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยออกจากตำแหน่ง พร้อมยื่นข้อเสนออีก 8 ข้อต่อรัฐบาล เช่น ขอให้จัดตั้งรางรถไฟคู่ทั่วประเทศ สร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมืองสำคัญ รวมไปถึงการปรับปรุงการหารายได้จากที่ดินของ รฟท. โดยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เป็นต้น
       เพียงข้อเสนอที่นำมากล่าวข้างต้นก็ “น่ากลัว” แล้วว่ารัฐบาลจะทำได้หรือไม่ อย่างไร และหากรัฐบาล “ไม่ยอมทำ” จะเกิดอะไรตามมาถ้าสหภาพแรงงาน รฟท. เองก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับรัฐบาล ผมค่อนข้างแน่ใจว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ อาจเข้ามาช่วยสหภาพแรงงาน รฟท. และเมื่อเป็นเช่นนั้น รับรองได้ว่า รัฐบาลคงจะอยู่ลำบากอย่างแน่นอนครับ ดังนั้นการแก้ปัญหา รฟท. ในวันนี้คงไม่ใช่เรื่อง “เล่น ๆ” ที่จะทำกันสบาย ๆ ให้ผ่านไปวัน ๆ และคงไม่ใช่รัฐบาลที่จะทำเพียงลำพังด้วยการ “ยอม” สหภาพรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง “อย่างไม่มีเหตุผล” ครับ !! โดยผมมองว่ารัฐบาลน่าจะหา “ตัวช่วย” มาแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งตัวช่วยที่ดีที่สุดก็คือ “ประชาชน” นั่นเองครับ
       ก่อนที่จะมาดูว่าเราจะแก้ปัญหา รฟท. กันอย่างไร คงต้องตั้งคำถามกันก่อนว่า รถไฟเป็นขนส่งมวลชนที่ดีที่ควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ก่อน คำถามนี้ หากไปถามผู้ใช้บริการรถไฟในยุโรป ญี่ปุ่นและอีกหลาย ๆ ประเทศ ก็คงได้คำตอบที่ไม่แตกต่างกันเท่าไรนักว่า ควรมีอยู่ต่อไป เพราะการเดินทางโดยรถไฟมีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา เข้ามาถึงใจกลางเมือง สามารถบรรทุก คน สัตว์ สินค้า มีความสิ้นเปลืองน้อยกว่าขนส่งมวลชนประเภทอื่น ๆ และก็ก่อให้เกิดมลพิษน้อยกว่าการขนส่งมวลชนประเภทอื่น ๆ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว แม้เราจะมีรถไฟมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่เท่าที่ผมจำความได้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมไม่เห็นกิจการรถไฟมีการปรับปรุงอะไรที่ผิดแผกแตกต่างไปจากเมื่อเริ่มจัดตั้งกรมรถไฟขึ้นมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวเมื่อมองดูกิจการรถไฟของประเทศฝรั่งเศสสมัยที่ผมเรียนหนังสืออยู่จนกระทั่งปัจจุบันก็พบว่ามีพัฒนาการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาครับ จนในวันนี้ รถไฟฝรั่งเศสกลายเป็นขนส่งมวลชนประเภทที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดครับ นอกจากที่กิจการรถไฟของไทยไม่มีพัฒนาการเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว ปัญหาที่เราได้ยินบ่อยที่สุดของ รฟท. ก็คือ การขาดทุน ก็จะไม่ขาดทุนได้อย่างไรในเมื่อสภาพของรถไฟก็มีปัญหา การบริการก็มีปัญหา แถมยังมีเส้นทางไม่ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศอีกด้วยครับ คนก็เลยหันไปใช้บริการขนส่งประเภทรถเมล์หรือรถโดยสารกันหมด ส่วนปัญหาอีกประการหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทยก็คือ แม้จะมีทรัพย์สินที่เป็นที่ดินมากมายแต่การบริหารจัดการก็ไม่เป็นระบบ จึงทำให้ไม่อาจหารายได้จากทรัพย์สินเหล่านั้นได้เท่าที่ควรจะได้ครับ เพราะฉะนั้นหากจะถามคำถามข้างต้นว่า รถไฟเป็นขนส่งมวลชนที่ดีที่ควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ คำตอบจากผมก็คือ แม้มีปัญหามากอย่างไรก็ตาม เราก็ควรมีรถไฟต่อไปเพราะสะดวก รวดเร็วและประหยัดกว่าขนส่งมวลชนอื่น ๆ ครับ
       หากเราคิดว่า ยังคงมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยที่จะต้องมีการขนส่งมวลชนประเภทการรถไฟอยู่ต่อไป ก็จะต้องมาหาหนทางกันว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้กิจการรถไฟไทยประสบผลสำเร็จ เรื่องดังกล่าวผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องยากนัก เพียงแต่ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดที่จะให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟอย่างดีที่สุดครับ
       เราลองมาพิจารณาสภาพการณ์ปัจจุบันของ รฟท. กันก่อน เป็นที่แน่นอนว่า ในวันนี้ไม่ว่าตัวรถไฟหรือรางรถไฟที่มีอยู่คงไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด 100 % สถานีก็ต้องปรับปรุงใหม่ เส้นทางเดินรถก็ต้องขยายให้ครบทุกจังหวัดและเข้าไปถึงเมืองใหญ่ ๆ หรือเมืองสำคัญ ๆ ของทุกจังหวัด แค่นี้ก็คงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องตอบแล้วว่าจะทำอย่างไรและจะเอาเงินมาจากไหนครับ
       
ผมไม่คิดว่า การปฏิรูปกิจการรถไฟที่รัฐบาลนี้จะทำจะสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้ทั้งหมด เพราะการปฏิรูปคือการทำให้ดีกว่าเดิมซึ่งใช้ไม่ได้สำหรับกิจการรถไฟของไทยที่เราต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ เหมือนกับการสร้างกิจการขนส่งมวลชนประเภทใหม่ขึ้นมา จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น หากเราต้องการให้มีรถไฟในประเทศไทยต่อไป สิ่งที่ต้องทำก็คือต้องรื้อของเก่าทิ้งและเอาของใหม่ที่ดีกว่ามาใช้ซึ่งวิธีการที่จะทำได้นั้น ผมมองว่ามีทางทำได้ 3 วิธีการ วิธีแรก ก็คือรัฐทำเอง ซึ่งก็ต้องลงทุนสูงมากและคงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว วิธีที่สองก็คือให้สัมปทานกับเอกชนตามวิธีการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็คงไม่แตกต่างกับวิธีการแรกเท่าไรนัก เพราะในเมื่อระบบการให้สัมปทานของไทยเรายังคงเป็นแบบเดิม ๆ ที่เอกชนผู้ลงทุนต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับรัฐเพื่อแลกกับสิทธิที่จะได้สัมปทาน เอกชนก็ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากซึ่งก็ส่งผลให้ค่าโดยสารมีราคาสูงขึ้นและคงไม่สามารถทำได้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศเท่าที่ควรจะเป็น สองวิธีดังกล่าวจึงไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่น่าจะนำมาใช้กับกิจการรถไฟของไทย ดังนั้น ผมจึงขอเสนอวิธีที่สามซึ่งผู้อ่านบทบรรณาธิการของผมครั้งที่ผ่านมาคือครั้งที่ 215 คงจะเห็นความคล้ายคลึงกันในข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา ขสมก. ของผม ข้อเสนอของผมก็คือ ควรให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ทำกิจการรถไฟในประเทศไทยทั้งหมดด้วยการให้สัมปทานแต่เป็นการให้สัมปทานที่มีลักษณะเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นวิธีการที่ผมจะขอนำเสนอดังต่อไปนี้คือ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า รฟท. มีที่ดินอยู่เป็นแสนไร่ ที่ดินจำนวนหนึ่งนั้นเป็นที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์โดยตรงในกิจการรถไฟ เช่นที่ดินที่ในปัจจุบัน รฟท. นำไปให้เอกชนเช่าทำศูนย์การค้า โรงแรม และอื่น ๆ อีกมากมาย หากเรายอมให้สิทธิในการหาประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟแก่เอกชนที่จะเข้ามาสร้างกิจการรถไฟใหม่เพื่อแลกกับการที่เอกชนจะเข้ามาจัดวางระบบรางรถไฟใหม่ให้เป็นสากล เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ รถไฟเป็นระบบความเร็วสูง ขยายเส้นทางให้ครอบคลุมทุกจังหวัดและสถานที่สำคัญ ๆ ของประเทศ ค่าโดยสารที่เอกชนต้องคิดในอัตราที่ถูกมาก ๆ เพื่อให้คนสามารถใช้บริการได้อย่างไม่ลำบาก ผมคิดว่าน่าจะมีเอกชนสนใจมาลงทุนนะครับ พูดง่าย ๆ ก็คือ ยกที่ดินของการรถไฟให้เอกชนเข้ามาหาประโยชน์เพื่อแลกกับการที่เอกชนเข้ามาจัดทำรถไฟให้เราทั้งระบบ ส่วนรัฐก็เปลี่ยนสถานะจากผู้ให้บริการมาเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งในกรณีหลังนี้อาจใช้วิธีตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการขนส่งขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าวแล้วก็ยุบ รฟท. เสียครับ
       ผมเสนอข้อเสนอข้างต้นก็เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีและรัฐก็ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เอกชนลงทุนให้แต่ก็ต้องไม่คิดค่าโดยสารแพงเพราะเอกชนผู้ลงทุนก็จะมีรายได้สำคัญส่วนหนึ่งมาจากทรัพย์สินของการรถไฟที่เรายอมยกให้เอกชนไปหาประโยชน์เพื่อแลกกับการจัดทำรถไฟใหม่ทั้งระบบให้กับประเทศไทยและคิดค่าโดยสารในอัตราที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้บริการได้ตลอดอายุของการให้สัมปทานครับ
       ส่วนวิธีการที่จะทำนั้น ผมคิดว่าหากรัฐบาลเสนอเรื่องดังกล่าวออกไปก็ต้องถูกโจมตีอย่างแน่นอนจากทั้งฝ่ายค้านและจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้เองที่ในตอนต้นของบทบรรณาธิการนี้ผมได้เสนอให้รัฐบาลต้องนำประชาชนมาใช้เป็น “ตัวช่วย” ในเรื่องดังกล่าวว่าหากรัฐบาลจะทำเช่นนี้ประชาชนจะเห็นด้วยไหม คงไม่ต้องถึงขนาดทำประชามติระดับชาติหรอกครับ แต่ทำประชาพิจารณ์ในหลาย ๆ พื้นที่จังหวัดที่สำคัญก็คงหาคำตอบได้แล้วครับ
       ท้ายที่สุดถ้าหากข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปได้ ก็คงต้องหามาตรการที่ดีที่สุด โปร่งใสที่สุดมาใช้กับการดำเนินการดังกล่าวทั้งหมด เพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นและเพื่อให้ประชาชนมีบริการสาธารณะดี ๆ ใช้กับเขาเสียทีครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ 3 บทความมานำเสนอ บทความแรกเป็น "ตอนต่อ" ของบทความขนาดยาวที่เขียนโดยศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เรื่อง “คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง” ได้อย่างไร (ตอนที่ 3)” บทความที่สองเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่ในคราวนี้เขียนเรื่อง “องค์กรอิสระหรือรัฐอิสระ” มาร่วมกับเรา บทความสุดท้ายเป็นบทความเรื่อง “ข้อควรคำนึงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550” ของคุณชนินทร์ ติชาวัน ครับ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้ง 3 ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544