หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 212
10 พฤษภาคม 2552 20:07 น.
ครั้งที่ 212
       สำหรับวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2552
       
       “การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย”
       
       ผมกลับมาจากประเทศฝรั่งเศสได้ 2 – 3 วันแล้วครับ แม้ว่าจะไม่อยู่ประเทศไทยเป็นเวลาเกือบเดือน แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเราก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่และไม่มีท่าทีว่าจะ “เลิกรา” ได้ง่าย ๆ และแม้ว่าจะมี “ตัวละคร” เพิ่มมากขึ้น แต่ผลที่ออกมาก็คงไม่มีอะไรไปเปลี่ยนแปลงความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ครับ จนปัญญาจริง ๆ ครับ ไม่ทราบว่าทำอย่างไรเราถึงจะพบ “ทางออก” ที่แท้จริง
       บทบรรณาธิการครั้งนี้ผมคงไม่เขียนเรื่องเกี่ยวกับ “การเมือง” เพราะนอกจากจะไม่มีอะไรใหม่ ๆ มานั่งพูดคุยกันแล้ว การที่ผมไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเกือบเดือนก็ทำให้ผมรู้สึก “เบื่อ” กับการเมืองและปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก บทบรรณาธิการครั้งนี้จึงขอ “เลี่ยง” ไปพูดเรื่องอื่นที่น่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่ามานั่ง “จมปลัก” อยู่กับปัญหาการเมืองครับ
       สืบเนื่องจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติสิทธิใหม่ ๆ ทางการเมืองให้กับประชาชน รวมไปถึงสิทธิในการให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมาของช่วงเวลาเกือบ 10 ปี ที่มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 พบว่าการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเพราะทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีบทบัญญัติที่ส่งผลทำให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนเกิดอุปสรรคทั้งทางด้านรูปแบบและวิธีการ ดังนั้น เมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงได้พยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เคยได้เกิดขึ้นมาในกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนเพื่อให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมาตรา 163 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ลดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะเข้าชื่อเสนอกฎหมายจากเดิม 50,000 คน เหลือเพียง 10,000 คน กำหนดให้มีผู้แทนการเสนอกฎหมายเข้าชี้แจงหลักการของร่างกฎหมาย และกำหนดให้มีผู้แทนของผู้เสนอร่างกฎหมายเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด และนอกจากนี้ยังกำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายอันเป็นองค์กรใหม่ที่เกิดขึ้นตามมาตรา 308 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ให้ความช่วยเหลือประชาชนในการยกร่างพระราชบัญญัติและบันทึกประกอบร่างพระราชบัญญัติ รวมทั้งให้คำแนะนำและสนับสนุนการดำเนินการร่างกฎหมายของประชาชน
       เมื่อปีที่ผ่านมา สถาบันพระปกเกล้าได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายของประชาชน” ขึ้นมาเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 โดยมีผมเป็นประธานกรรมการและมีนักวิชาการอื่นอีกจำนวนหนึ่ง คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการดำเนินการทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากการยกร่าง “พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ....” จากนั้นก็นำไปจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ รวม 7 ครั้ง โดยในครั้งแรกเป็นการสัมมนารับฟังความคิดเห็นในประเด็นคำถามซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณากำหนดขึ้นจากปัญหาที่เกิดขึ้นมาในอดีตและจากแนวคิดและการดำเนินการในเรื่องเดียวกันในต่างประเทศ เมื่อได้รับฟังความคิดเห็นครั้งแรกไปแล้ว คณะกรรมการฯ ก็ได้พิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และก็ได้นำไปรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายดังกล่าวจากประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ จนกระทั่งในปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในสภาพ “สมบูรณ์” และพร้อมที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้แล้ว
       สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... มีดังนี้คือ
       1. บุคคลผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งตามร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญแหง่ราชอาณาจักรไทย และต้องไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ม.6 ประกอบ ม.4)
       2. ช่องทางการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติมี 2 ช่องทาง คือ
       2.1 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 คน ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยตรงต่อประธานรัฐสภา (ม.12)
       2.2 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ร้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ โดยจะยื่นต่อประธานกรรมการการเลือกตั้งโดยตรงหรือยื่นผ่านประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดก็ได้ (ม.16)
       การเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติทั้งกรณีตาม (2.1) และ (2.2) ต้องมีร่างพระราชบัญญัติพร้อมบันทึกประกอบแนบไปพร้อมการเข้าชื่อด้วย
       3. การจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
       เมื่อได้รับคำร้องขอ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการประกาศให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกจังหวัดทราบว่ามีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายใด และเปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมอบหมาย ตามวิธีการและภายในระยะเวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่า 90 วันนับแต่วันประกาศ (ม.17)
       ในการนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งประสงค์จะใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ ต้องมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาเอกสารอื่นที่ทางราชการออกให้ที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชนของตนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมอบหมาย ซึ่งหากตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ผู้นั้นเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ (ม.18)
       4. มาตรการหรือกลไกช่วยเหลือทางวิชาการและการเงิน
       4.1 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 100 คนขึ้นไป อาจร้องขอให้องค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย หรือคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายช่วยเหลือในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติหรือบันทึกประกอบ หรือให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติหรือบันทึกประกอบได้ โดยที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ (ม.8) โดยหลักเกณฑ์และวิธีการร้องขอและกระบวนการให้การสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนี้ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกำหนด ซึ่งต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน
       4.2 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายจากกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ม.9)
       5. เอกสารหลักฐานการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (ม.12)
       ในการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติและผู้แทนการเข้าชื่อ ต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่ ลายมือชื่อ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาเอกสารอื่นที่ทางราชการออกให้ที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งการแสดงรายละเอียดดังกล่าว ให้เป็นไปตามแบบที่ประธานรัฐสภากำหนด
       6. การเสนอร่างพระราชบัญญัติและบันทึกประกอบ (ม.11)
       การเสนอกฎหมายของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาต้องจัดทำในรูปแบบของร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องมีหลักการเกี่ยวกับเรื่องที่บัญญัติในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยแบ่งเป็นมาตราที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่ามีความประสงค์จะตรากฎหมายในเรื่องใด และมีหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นอย่างไร และต้องมีบันทึกประกอบดังต่อไปนี้
       - หลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ
       - เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ
       - บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
       7. ประธานรัฐสภามีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการเก็บรักษาและการจัดการเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อให้เป็นระบบฐานข้อมูลสำหรับการอ้างอิงและใช้ประโยชน์ในอนาคต (ม.10)
       8. เมื่อได้รับเรื่องการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ ให้ประธานรัฐสภาตรวจสอบให้เสร็จภายใน 45 วันนับแต่วันได้รับเรื่อง กรณีพบว่ามีข้อบกพร่อง หรือปรากฏว่ามีจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติไม่ครบ 10,000 คน ให้แจ้งผู้แทนการเสนอกฎหมายเป็นหนังสือ เพื่อดำเนินการแก้ไข หรือดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อให้ครบถ้วนภายใน 90 วันนับแต่วันที่รับแจ้ง หากไม่สามารถดำเนินการได้ภายในเวลาที่กำหนดให้ประธานรัฐสภาสั่งจำหน่ายเรื่อง (ม.13)
       9. กรณีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายถูกต้องครบถ้วน ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประกาศรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยปิดประกาศไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ว่าการผู้ใหญ่บ้าน และเขตชุมชนหนาแน่น ในเขตท้องที่ที่ผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายแต่มีชื่อในประกาศดังกล่าว ยื่นคำร้องคัดค้านการเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อประธานรัฐสภาหรือบุคคลที่ประธานรัฐสภามอบหมายเพื่อขีดชื่อของตนออกจากบัญชีรายชื่อ ภายใน 20 วันนับแต่วันประกาศ ทั้งนี้ โดยประธานรัฐสภามีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเขตชุมชนหนาแน่น (ม.14 และ ม.15)
       10. กรณีประธานรัฐสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการเงิน ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อขอคำรับรองภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้น โดยที่ในการพิจารณาให้คำรับรองนั้น ให้นายกรัฐมนตรีคำนึงถึงความรวดเร็วและความสำคัญของการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยประชาชน (ม.21)
       11. การจัดระเบียบวาระการประชุมร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรคำนึงถึงความรวดเร็วและต่อเนื่องในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและประชาชนทั่วไป (ม.22 วรรค 1)
       12. ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัตินั้นและประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง โดยอย่างน้อยต้องเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศของสภาผู้แทนราษฎร (ม.22 วรรค 2)
       13. กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและประชาชนทั่วไปไปประกอบการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่สอง (ม.22 วรรค 3)
       เมื่อยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จเรียบร้อย ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปก็คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาอย่างรวดเร็วของรัฐสภาได้ เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่สำคัญมากและเป็น “ประตู” ไปสู่การใช้สิทธิต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอีกประตูหนึ่งครับ!!!
       จากเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้มองเห็นประเด็นต่าง ๆ ตรงกันว่า เนื่องจากมาตรา 163 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่ประชาชนเสนอ ดังนั้น หากจะให้ร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ ก็สามารถใช้กลไกของการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามมาตรา 163 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายคงต้องเป็นไปตาม “พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2542” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยอาศัยหลักการตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่แม้จะมีความแตกต่างในสาระสำคัญบางประการแต่ก็ “มีทางเป็นไปได้” ที่จะนำมาใช้กับ “การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อให้มีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 กำหนด
       ในวันนี้ โดยความร่วมมือของสภาพัฒนาการเมืองซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญตามฉบับปี พ.ศ. 2550 จึงได้เกิดการดำเนินการเพื่อรวบรวมรายชื่อจำนวน 10,000 รายชื่อ เพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายครับ โดยผู้ที่มีความประสงค์จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายดังกล่าว สามารถพิจารณารายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่ และสามารถลงชื่อในแบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่ และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ที่นี่เช่นกันครับ ก็ต้องขอเชิญชวนให้ผู้สนใจทั้งหลายมาร่วมสร้างประวัติศาสตร์ของการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 คือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... ครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ว่างเว้นจากการเขียนบทความ "วิพากษ์" นักวิชาการ นักการเมืองและระบบการเมืองการปกครองของไทยไปเสียนาน ในวันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้ส่งตอนแรกของบทความเรื่อง "คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง” ได้อย่างไร" มาเผยแพร่ และนอกจากนี้ เรายังมีบทความเรี่อง "สิ่งที่ถูกมองข้ามกรณีการปฏิรูปการเมืองไทย" ของ อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มานำเสนอด้วย ซึ่งผมต้องขอขอบคุณศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ และอาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ไว้ ณ ที่นี้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544