หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 207
2 มีนาคม 2552 14:12 น.
ครั้งที่ 207
       สำหรับวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552
       
       “ไปดูการซ้อมหุ่นตะเลงพ่าย”
       

       เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปชมการซ้อมหุ่นกระบอก เรื่อง “ตะเลงพ่าย” ที่บ้านอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ครับ
       ผมเคยไปชมการซ้อมหุ่นตะเลงพ่ายมาหลายครั้งแล้ว และก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อหน่ายด้วยเหตุผลที่ว่า การเชิดหุ่นกระบอกเป็นศิลปะที่สวยงามมาก สวยงามทั้งตัวหุ่น เครื่องแต่งกายหุ่น เพลงประกอบและท่วงท่าลีลาของการเชิดหุ่น ด้วยเหตุนี้เองที่เมื่อไรก็ตามที่ผมมีเวลาว่างตรงกับวันที่มีการซ้อมหุ่นตะเลงพ่าย ผมก็จะต้องไปชมการซ้อมดังกล่าวครับ หุ่นตะเลงพ่ายนี้อาจารย์จักรพันธุ์ฯ ได้เริ่มโครงการมาหลายปีแล้ว เข้าใจว่าน่าจะประมาณ 4 – 5 ปี โดยการดำเนินการก็ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป เริ่มจากการเขียนบทและสร้างเพลงประกอบพร้อมคำร้องจนครบ จากนั้นค่อย ๆ สร้างหุ่นทีละตัว ใครที่มีโอกาสได้ไปชมก็จะทราบว่า การสร้างหุ่นแต่ละตัวเป็นเรื่องยากมาก หุ่นพระสุพรรณกัลยามีใบหน้าที่สวยงาม แต่งกายด้วยอาภรณ์ที่บรรจงทำอย่างประณีตสวยงาม เช่นเดียวกับหุ่นพระนเรศวรที่ทรงชุดทหารซึ่งมีความสวยงามและดูเข้มแข็ง ผมไม่แน่ใจว่าในวันนี้อาจารย์จักรพันธุ์ฯ ทำหุ่นเสร็จไปแล้วกี่ตัว และจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไรกว่าจะสร้างหุ่นจนครบและสามารถนำออกแสดงอย่างเป็นทางการได้เช่นเดียวกับที่อาจารย์จักรพันธุ์ฯ เคยจัดการแสดงหุ่นเรื่องสามก๊กที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อนครับ
       การซ้อมหุ่นตะเลงพ่ายทำกันที่บ้านอาจารย์จักรพันธุ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่กลางซอยเอกมัย ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตอนกลางวันจะเห็นคนยืนเข้าคิวกันอยู่หน้าบ้านเพื่อขอเข้าชมการซ้อมหุ่นตะเลงพ่าย เข้าชมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แถมยังมีอาหารการกินอย่างเหลือเฟือไว้คอยบริการอีกด้วยครับ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผู้รักศิลปะต่างมุ่งหน้าพากันไปชมการซ้อมหุ่นตะเลงพ่ายกันเป็นจำนวนมากในแต่ละเดือนจนกระทั่งในปัจจุบันต้องมีการกำหนดจำนวนคนที่จะเข้ามาชมการซ้อมหุ่นตะเลงพ่ายในแต่ละเดือนไม่ให้มากจนเกินไป

ในขณะที่การซ้อมหุ่นตะเลงพ่ายกำลังดำเนินไปอย่างดีและเป็นที่สนใจของผู้คน เจ้าของบ้านและเจ้าของหุ่นกลับตกอยู่ใน “ความทุกข์” เพราะกำลังถูก “คุกคาม” จาก “ความเจริญเติบโตของสังคม” ซึ่งการคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นกับอาจารย์จักรพันธุ์ฯนี้เข้าใจว่าคงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับชาวกรุงเทพมหานครที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร นั่นก็คือการเกิดขึ้นของอาคารสูงข้าง ๆ บ้านที่อยู่อาศัยครับ
       หากจะว่ากันตามตรงแล้ว การก่อสร้างตึกสูงในเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องแปลก ทั่วโลกก็คงเหมือน ๆ กันเพราะเมืองหลวงมีคนอยู่อาศัยมาก ที่ดินมีเนื้อที่ว่างน้อยและมีราคาแพง จึงต้องมีการก่อสร้างอาคารสูงมากเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
       กรณีบ้านอาจารย์จักรพันธุ์ฯ นั้น มีคนมาซื้อที่ดินข้างบ้านอาจารย์เพื่อจะสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่ อาจารย์อยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวมานาน อาจารย์สร้างสรรค์ผลงานที่บ้านหลังนั้นจนได้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” อาจารย์ทำงานอย่างมีความสุขและสงบต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เมื่อทราบข่าวว่าจะมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ข้างบ้าน ความทุกข์จึงเข้ามาเยือนและรบกวนจิตใจอาจารย์อย่างมากตลอดเวลาปีเศษที่ผ่านมา ความทุกข์ที่ว่านี้มาจากหลายสาเหตุด้วยกันไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวลเรื่องงานที่กำลังทำอย่างเร่งรีบหลาย ๆ อย่าง เช่น หุ่นตะเลงพ่าย และการวาดภาพสำคัญ ๆ อีกหลายภาพ เป็นต้น ความกังวลเรื่องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งความเสียหายที่ว่านั้นเป็นได้ทั้งความเสียหายทางด้านทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นตัวบ้านและบริเวณบ้านอันสงบร่มรื่นของอาจารย์ ผลงานศิลปะจำนวนหนึ่งที่ยังเก็บอยู่ในบ้าน รวมไปถึงหุ่นจำนวนมากที่รอเวลาแสดงจริงอย่างเป็นทางการในระยะเวลาอีกไม่นานข้างหน้า หรือความเสียหายทางด้านจิตใจที่คงจะหาความสงบและสมาธิในการทำงานลำบากขึ้น เนื่องจากต้องเผชิญกับการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดมลภาวะทั้งทางเสียงและทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็คงส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้พักอาศัยในละแวกนั้นทุกคน ด้วยเหตุทั้งหมดนี้เองที่สร้างความทุกข์ให้กับอาจารย์จักรพันธุ์ฯ เป็นอย่างมากครับ
       มีผู้คนจำนวนมากเข้าไปให้ความช่วยเหลือและให้ข้อแนะนำในทุก ๆ ด้านกับอาจารย์จักรพันธุ์ฯ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากจะว่ากันไปแล้ว ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ การระงับการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ข้างบ้านอาจารย์จักรพันธุ์ฯ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรม “ระดับชาติ” แต่การระงับการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นเรื่อง “ยาก” ที่จะทำได้ เพราะในเมื่อเอกชนลงทุนซื้อที่ดินด้วยราคาสูงเพื่อก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ หากกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ก็คงไม่มีใครสามารถไป “ระงับ” การก่อสร้างอาคารดังกล่าวได้

ผมเองมีส่วนอยู่บ้างในการ “ให้ความเห็นทางกฎหมาย” กับอาจารย์จักรพันธุ์ฯ ในปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในเรื่องดังกล่าวมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ฉบับคือ พระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งผมคงจะขอนำกฎหมายทั้ง 3 ฉบับมาเล่าให้ฟังครับ
       กฎหมายฉบับแรกคือ กฎหมายว่าด้วยผังเมืองนั้น เมื่อพิจารณาจากกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549 แล้วก็จะพบว่า บ้านอาจารย์จักรพันธุ์ฯ อยู่ในผังเมืองเขตสีน้ำตาล ซึ่งเป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ผลก็คือสามารถก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่ดังกล่าวได้ โดยในที่ดิน 1 ไร่ซึ่งมีพื้นที่ 1600 ตารางเมตร สามารถก่อสร้างอาคารที่มีพื้นที่ได้ไม่เกิน 8 เท่า ส่วนความสูงของอาคารจะเป็นเท่าไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ เช่น ขนาดของพื้นที่ห้องซึ่งก็จะสัมพันธ์กับที่จอดรถในอาคารซึ่งก็ต้องมีด้วยครับ ส่วนกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีบ้านอาจารย์จักรพันธุ์ฯ ในหลาย ๆ เรื่อง รวมทั้งที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ว่า อาคารต้องมีที่ว่างเป็นถนนกว้างรอบอาคาร 6 เมตรเป็นอย่างน้อย สำหรับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้น เข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีการก่อสร้างอาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีห้องพัก 80 ห้องขึ้นไปต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่ออกตามความในมาตรา 46 และมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาและให้ความเห็นชอบก่อนขออนุญาตก่อสร้างอาคาร
       
เมื่อพิจารณากฎหมายทั้ง 3 ฉบับข้างต้นแล้วจะพบว่า กรณีบ้านอาจารย์จักรพันธุ์ฯ เป็นกรณีที่ยากที่จะทำอะไรได้ เพราะกฎหมายว่าด้วยผังเมืองกำหนดให้พื้นที่บ้านอาจารย์อยู่ในเขตที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากซึ่งสามารถก่อสร้างอาคารขนาดสูงได้ หากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการอนุญาตไม่ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารให้กับผู้มาขอก็คงจะลำบากและเกิดความเดือดร้อนตามมาอย่างแน่นอน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การคัดค้านอาจทำได้แต่ต้องก่อนมีการประกาศใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครและต้องเป็นการคัดค้านการกำหนดประเภทของการใช้ที่ดิน โดยในมาตรา 23 – 25 ของกฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ว่า การทำผังเมืองให้ปิดประกาศแผนที่แสดงเขตผังเมืองไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ว่าการเขต ที่ทำการแขวง กรุงเทพมหานคร หากภายใน 90 วันมีผู้คัดค้าน คณะกรรมการผังเมืองก็จะทบทวนและหากเห็นด้วยกับคำคัดค้านก็สามารถแก้ไขหรือยกเลิกประเภทของการใช้ที่ดิน แต่ถ้าหากไม่เห็นด้วยก็ยกคำคัดค้าน และหากพ้นกำหนด 90 วันแล้วสามารถออกกฎกระทรวงใช้บังคับต่อไปได้ ซึ่งกรณีของบ้านอาจารย์จักรพันธุ์ฯ นั้นผ่านพ้นระยะเวลาดังกล่าวไปแล้ว และกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครก็ได้ประกาศใช้บังคับไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 แล้ว จึงมีผลทำให้ผู้ที่จะก่อสร้างอาคารสูงในบริเวณดังกล่าวสามารถทำได้ ส่วนกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะมีผลทำให้บ้านอาจารย์จักรพันธุ์ฯ “ปลอดภัย” จากอาคารขนาดใหญ่ เพียงแต่ช่วยให้อาคารดังกล่าวไม่อยู่ “ชิด” บ้านเกินสมควร สำหรับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หากผู้ก่อสร้างอาคาร “เลี่ยง” ด้วยการก่อสร้างห้องชุดขนาดใหญ่และมีจำนวนไม่ถึง 80 ห้องชุด (เช่น 79 ห้องชุด) ก็ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าหากผู้ก่อสร้างอาคารจะก่อสร้างอาคารเกินกว่า 80 ห้องชุด การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็มีผลเพียง “กายภาพ” เท่านั้น ไม่ได้มีผลถึงเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบของการก่อสร้างอาคารที่มีต่อจิตใจ ความสงบและแม้กระทั่งในกรณีของอาจารย์จักรพันธุ์ฯ คือผลกระทบต่อการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้กับประเทศชาติและสังคม ด้วยเหตุทั้งหมดที่กล่าวมานี้จึงเป็นที่แน่นอนว่า ในบรรดากฎหมายที่มีอยู่และใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ คงยากที่จะ “ยับยั้ง” การก่อสร้างอาคารดังกล่าวได้ หากทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เพราะกฎหมายที่มีอยู่ “เปิดช่อง” ให้ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่ในบริเวณดังกล่าวได้
       เมื่อผมลองศึกษาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ดูแล้วก็พบว่า อาจนำบทบัญญัติบางมาตรามา “ปรับ” ใช้กับเหตุการณ์ของบ้านอาจารย์จักรพันธุ์ฯ ได้ แต่ผมก็ไม่สนิทใจนักเพราะบทบัญญัติในมาตรา 67 วรรคสอง และมาตรา 287 วรรคสองนั้น ดู ๆ แล้วน่าจะเกี่ยวข้องกับ “รัฐ” เสียมากกว่า ลองพิจารณาดูนะครับ
       “มาตรา 67 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม
       การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
       สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง”
       “มาตรา 287 ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดให้มีวิธีการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าวได้ด้วย
       ในกรณีที่การกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นในสาระสำคัญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องแจ้งข้อมูลรายละเอียดให้ประชาชนทราบก่อนกระทำการเป็นเวลาพอสมควร และในกรณีที่เห็นสมควรหรือได้รับการร้องขอจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนการกระทำนั้น หรืออาจจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อตัดสินใจก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
       องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรายงานการดำเนินงานต่อประชาชนในเรื่องการจัดทำงบประมาณ การใช้จ่าย และผลการดำเนินงานในรอบปี เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       ในการจัดทำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามวรรคสาม ให้นำบทบัญญัติมาตรา 168 วรรคหก มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
       
บทบัญญัติทั้ง 2 มาตราข้างต้นเป็นบทบัญญัติ “ข้างเคียง” ที่ผมไม่แน่ใจว่าอาจนำมาปรับใช้กับกรณีบ้านอาจารย์จักรพันธุ์ฯ ได้หรือไม่ เพราะในมาตรา 67 ดู ๆ แล้วเนื้อหาของมาตราดังกล่าวก็ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับมาตรา 287 แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 287 อาจถูกนำมาใช้ได้หากสามารถ “ตีความ” ได้ว่า การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่ข้างบ้านอาจารย์จักรพันธุ์ฯ เป็น “การกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ตามนัยมาตราดังกล่าว ซึ่งหากผลของการตีความเป็นไปในทางบวก ก็หมายความว่า ก่อนที่จะออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่ข้างบ้านอาจารย์จักรพันธุ์ฯ กรุงเทพมหานครต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวก่อนครับ
       แต่อย่างไรก็ตาม เราคง “พึ่ง” บรรดาตัวบทกฎหมายทั้งหมดทั้งที่ได้กล่าวถึงไปแล้วและไม่ได้กล่าวถึงไม่ได้ เพราะเราไม่ได้สร้างกฎหมายเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อ “รองรับ” ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้านของอาจารย์จักรพันธุ์ฯ ครับ และในวันนี้ ประเทศไทยเราก็ยังไม่มีกฎหมายที่มีผลเป็นการส่งเสริม สนับสนุน ดูแล ปกปักรักษาศิลปินให้สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ครับ

ในฐานะ “นักกฎหมาย” ที่สนใจและชื่นชมงานศิลปะ ผมรู้สึก “ละอายใจ” ที่ไม่สามารถใช้ตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ช่วยอาจารย์จักรพันธุ์ฯ ได้ ในขณะเดียวกันก็รู้สึก “ละอายใจ” ที่ทำไมเราจึงไม่ได้รับการปลูกฝังและอบรมสั่งสอนกันมาตั้งแต่เด็กถึงคุณค่าและความสวยงามของงานศิลปะ การขาดพื้นฐานทางด้านศิลปะทำให้เรา “ไร้จิตวิญญาณ” จนผลิตกฎหมายที่ “ไร้จิตวิญญาณ” ออกมามากมายและท้ายที่สุด กฎหมายที่ไร้จิตวิญญาณเหล่านั้นก็ย้อนกลับมาทำลายศิลปวัฒนธรรมของเราเอง
       ปัจจุบัน แม้การซ้อมหุ่นตะเลงพ่ายจะทำให้ผู้เข้าชมมีความสุข แต่เจ้าของบ้านก็ยังคงจมอยู่ในความทุกข์อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาหลาย ๆ เดือนที่ผ่านมาและพยายามหาทางออกให้กับปัญหาของตนเอง ประเทศไทยเรายังมี “ช่องว่าง” ของตัวบทกฎหมายอยู่มาก ในขณะที่กฎหมายที่ออกมาใหม่ ๆ ก็มุ่งเน้นที่จะสนับสนุน “วัตถุนิยม” มากกว่า “ศิลปะ” หรือ “วัฒนธรรม” กฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายที่ไม่มี “จิตวิญญาณ” ไม่มี “ขนบธรรมเนียม” และไม่มี “รสนิยม” ในเวลาเดียวกัน ก็คงโทษใครไม่ได้เพราะไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษาหรือระบบการบริหารประเทศของเราที่มีมาช้านานไม่เคยสอนให้คน “รัก” ศิลปะ “รัก” ของเก่า ในเมื่อเราไม่มี “ศิลปะ” อยู่ในหัวใจ จึงทำให้เรามองไม่เห็น “คุณค่า” ของงานศิลปะ และคุณค่าของ “ศิลปิน” ที่สร้างสรรค์งานศิลปะครับ
       ในวันข้างหน้า ก็ได้แต่คาดหวังว่า บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายที่เข้าไปทำงานในรัฐสภาจะช่วยกันคิด ช่วยกันอนุรักษ์งานศิลปะและศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ ด้วยการผลิตกฎหมายดี ๆ สักฉบับเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ดูแล ปกปักรักษาศิลปินให้สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้อย่างสบายกาย สบายใจและไร้กังวลครับ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความเพียงบทความเดียว คือบทความเรื่อง “ระบอบกึ่งประธานาธิบดี” ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการขาประจำของเราครับ ผมต้องขอขอบคุณ คุณชำนาญฯ ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544