|
|
|
|
|
ครั้งที่ 178
สำหรับวันจันทร์ที่ 21 มกราคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551
ว่าด้วยความเป็นกลาง
ผมเขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้ท่ามกลางความไม่ชัดเจนในการเมืองการปกครองประเทศ แม้ว่าเราจะผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วเกือบเดือน แต่เราก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองใดจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกันบ้าง ความไม่ชัดเจนที่ว่านี้มีสาเหตุมาจากหลายๆองค์ประกอบด้วยกันโดยมีองค์ประกอบที่สำคัญก็คือการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
คงไม่ต้องพูดกันมากถึงรายละเอียด อำนาจหน้าที่ และ บทบาท ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีต่อ การเลือกตั้ง ทุกประเภทนะครับ เดิมก่อนที่จะมีการใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 การจัดการเลือกตั้งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขในส่วนนี้เพราะมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าคนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในช่วงที่มีการเลือกตั้งนั้นสามารถ ให้คุณให้โทษ กับการเลือกตั้งได้ ดังนั้นเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงได้แก้ไขปัญหาความไม่เป็นกลางและความไม่สุจริตในการเลือกตั้งให้ดีขึ้น เราจึงได้องค์กรที่ทำหน้าที่จัด ควบคุม ตรวจสอบการเลือกตั้งเข้ามาทำงานดังกล่าวแทนที่กระทรวงมหาดไทย
ในช่วงเริ่มต้นของการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นเป็นช่วงเวลาที่ น่าประทับใจ มาก คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดแรกได้ทำหน้าที่อย่างดี สมบูรณ์แบบ และวางกฎเกณฑ์ต่างๆเอาไว้เป็นบรรทัดฐานอย่างดีจนได้รับการยกย่องและยอมรับไปทั่ว จริงอยู่แม้ในทางวิชาการจะมีปัญหาข้อโต้เถียงบางประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในบางกรณีว่า เป็นที่สุด หรือไม่ แต่ปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เสื่อมถอย หรือ ไม่ได้รับการยอมรับ จากสังคมครับ เพราะฉะนั้นการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดแรกจึงได้ ปูทาง ไว้เป็นอย่างดีให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดต่อมา
คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดก่อนหน้าชุดปัจจุบันนับได้ว่าเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่พบกับ วิบากกรรม มากที่สุดเลยก็ว่าได้ครับ เพราะนอกจากจะถูกกล่าวหาจากสังคมว่าเป็น ก.ก.ต.สีเทา ตั้งแต่เริ่มแรกที่เข้ามารับตำแหน่งแล้ว ผลของ ความไม่เป็นกลาง ยังทำให้ตอนจบเป็นไปอย่างไม่สวยงามอีกด้วย! เราคงจำภาพของกรรมการการเลือกตั้งที่เป็น อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ต้อง ถูกขัง อยู่หลายวันและในที่สุดก็ต้อง ยอม ลาออกจากตำแหน่งได้นะครับ สิ่งที่เกิดขึ้นกับคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดก่อนหน้าชุดปัจจุบันเป็นอุทธาหรณ์อย่างดีให้กับผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูงในองค์กรตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้ว่า เมื่ออยู่ในตำแหน่งดังกล่าวจะ รับชอบ อย่างเดียวไม่ได้ คงต้อง รับผิด ด้วย และโอกาสที่จะ รับผิด ก็มีอยู่มากและ หนัก ด้วยเช่นกันครับ
คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันเข้าสู่ตำแหน่งด้วย วิธีพิเศษ ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2540 ด้วยเหตุที่ว่า องค์กรที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้สรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญนั้นมีไม่ครบ อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นเราก็ยอมรับวิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน และเมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้น คณะรัฐประหารก็ได้ แต่งตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่มาโดย วิธีพิเศษ นี้ให้เข้าสู่ตำแหน่งอย่างสมบูรณ์ นี่ก็คือที่มาอย่างคร่าวๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันที่ประกอบด้วย นักกฎหมาย ที่มาจาก กระบวนการยุติธรรมในระบบกฎหมายเอกชน คือมาจากศาลยุติธรรมและอัยการครับ
คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันเริ่มงานได้ไม่นานเราก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2550) กันครับ ผมเริ่มมีความรู้สึกบางอย่างเมื่อพบว่าในสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีผู้ที่มาจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญเข้าไปอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง รวมไปถึงมีบางคนยังเข้าไปได้จนถึงเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย เราคงยังจำกันได้เช่นกันว่าในตอนที่จะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น สังคมกลัวกันว่านักการเมืองหน้าเก่าๆจะเข้าไปอยู่ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยและจะทำให้รัฐธรรมนูญออกมา ไม่เป็นกลาง และ เอื้อประโยชน์ ให้กับนักการเมือง ดังนั้นจึงเกิดการ กัน นักการเมืองออกจากการร่างรัฐธรรมนูญ ปัญหานี้ผมได้เคยเขียนไว้ในบทบรรณาธิการในช่วงเวลาดังกล่าวหลายต่อหลายครั้งว่าจริงๆแล้วผู้มีส่วนได้เสียในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นไม่ได้มีเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น ผู้ที่อยู่ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญเองก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญด้วย ด้วยเหตุผลนี้เองที่เราจึงไม่สามารถ ยุบเลิก องค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์ที่นอกจากจะไม่มีผลงานดีๆในช่วงเวลาเกือบ 10 ปีที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ใช้บังคับแล้ว ยังมีบางองค์กรที่ผลของการดำเนินงานเป็นไปอย่างไม่เป็นกลาง ผู้คนที่ทำงานบางคนก็ขาดความรู้พื้นฐานทางวิชาการที่ดีพอจนก่อให้เกิดผลเสียหายกับประเทศเป็นอย่างมากซึ่งก็ส่งผลตามมาให้ มีวันนี้ ครับ ก็คนที่มาจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กรเข้าไปอยู่ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญนั่นแหละครับที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางลบกับองค์เหล่านั้น และในที่สุดเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ เราก็ได้เห็นมาตรา 299 ที่กำหนดให้องค์ตามรัฐธรรมนูญบางองค์กรดำรงตำแหน่งอยู่ตำแหน่งอยู่ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด
ผมไม่มีข้อกังขาใดๆทั้งนั้นกับการ ได้ตำแหน่ง และ การดำรงอยู่ในตำแหน่ง เพราะไม่ว่าจะวงการใดก็ตาม การได้ตำแหน่งก็มีทั้งที่ได้มาด้วยความสามารถแท้ๆกับได้ตำแหน่งมาด้วย ความสามารถเฉพาะตัว ที่ต้องยอมทำหลายๆอย่างเพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นมา ซึ่งหากจะว่าไปแล้วก็ทุกวงการก็มีคนประเภทนี้กันทั้งนั้น (อย่างในแวดวงของผมก็ได้พบเห็นสิ่งเหล่านี้เช่นกัน เมื่อก่อนผมเคยภาคภูมิใจกับการดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งของผมอย่างมาก เพราะผมได้ใช้ความตั้งใจและความมานะทางวิชาการอย่างเต็มที่ จึงได้ตำแหน่งนั้นมา แต่ในวันนี้ขอโทษทีครับ บางทีก็มีเรื่อง น่าอาย เกิดขึ้นรอบๆตัว ที่เราไม่ควรพูดกันไป เจ้าตัวเองที่จะต้องรู้ว่าการได้ตำแหน่งของตนนั้นมีความเป็นอย่างไร สมควรภาคภูมิใจหรือคุยโม้โอ้อวดได้หรือไม่ คนรู้เรื่องมีมากนะครับ !! ) ซึ่งในกรณีของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันเราก็เห็นแล้วว่า การทำงานของคณะกรรมการได้รับการยอมรับและได้รับคำชื่นชมว่าดี เหมาะสม และมีความเป็นกลางมาตลอด จนกระทั่งเมื่อมีประเด็นเรื่องเอกสารลับของ คมช. จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งอยู่บ้างซึ่งในกรณีดังกล่าว แม้ผมจะอยากพูดเหลือเกินเนื่องจากผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสอบสวนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นคนแต่งตั้ง แต่ผมก็ ไม่กล้า พอที่จะพูดด้วยเหตุหลายประการครับ ก็เอาเป็นว่าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งก็แล้วกันครับ
ความเป็นกลางเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราต้องพูดกันในวันนี้ ช่วงเวลาหนึ่งปีเศษที่ผ่านมาเท่าที่ผมได้พบ ความเป็นกลางเป็นสิ่งที่สังคมเราค่อนข้างจะไม่รู้จัก หากเราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเราก็ต้องถูกมองว่า เป็นพวกทักษิณ เช่นเดียวกับในเรื่องอื่นๆที่เกิดขึ้นที่สังคมบังคับโดยปริยายว่าเราต้องอยู่ข้างใดข้างหนึ่งครับ ความเป็นกลางจึงเป็นสิ่งที่หาได้ยากในสภาพการณ์ปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นกลางที่ต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างชัดเจน เที่ยงตรงและตลอดไปในบางอาชีพ เช่นในผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีความเป็นกลางอย่างถาวร หากไม่เป็นกลางเมื่อใดความเสียหายก็ย่อมต้องเกิดขึ้นกับบุคคลอื่นอย่างแน่นอน ความเป็นกลางในที่นี้มีได้ในหลายๆทางไม่ว่าจะมาจากการพูด การคิด และการกระทำครับ เมื่อไรก็ตาม หากผู้คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นกลาง ความยุติธรรมก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ครับ
ผมคงไม่พูดถึง คน ที่อยู่ใกล้กับกระบวนการยุติธรรมที่ในช่วงต้นๆของการรัฐประหารก็ออกมาทำหน้าตาขึงขังจะเอาผิดคนโน้นคนนี้ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ วันนี้สังคมตัดสินคนเหล่านั้นไปแล้วครับว่าสมควรได้รับการเคารพนับถือ สมควรได้รับความเชื่อถือต่อไปหรือไม่ แต่ที่ผมอยากจะขอกล่าวถึงในที่นี้ก็คงเป็นประเด็นเรื่องที่เกี่ยวกับกรรมการการเลือกตั้งคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ มีข่าว บ่อยมากจนทำให้เราเกือบจะไม่รู้จักกรรมการการเลือกตั้งคนอื่นกันเลยครับ เรื่องก็คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีการนำเอาเอกสารขอยืมตัวบุตรของกรรมการการเลือกตั้งให้ไปช่วยราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยปฏิบัติราชการให้แก่รองนายกรัฐมนตรี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ครับ เมื่อแรกที่เห็นเอกสารดังกล่าว ผมรู้สึกตกใจมากเพราะผมไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้ ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะมีใครทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาที่จะเกิดตามมาหลายๆอย่างได้ แล้วเลยคิดไปว่าน่าจะเป็นเอกสารปลอม แต่ต่อมาเมื่อรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้ลงนามในหนังสือขอยืมตัวได้ออกมายอมรับว่าหนังสือดังกล่าวมีอยู่จริง ผมก็เลยต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่เหมือนกับผู้คนทั่วไปจำนวนหนึ่งที่มองถึง ความเป็นกลาง ครับ เพราะในช่วงต้นๆของการปรากฏของเอกสารดังกล่าว ผู้ปกครอง ของผู้ถูกยืมตัวไปช่วยราชการก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ปฏิเสธในเรื่องดังกล่าวรวมไปถึงยังกล่าวถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยโดยมีเรื่องที่จะนำมากล่าวถึงซึ่งผมอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 14 มกราคม 2551 หน้า 3 ก็ได้ลงข้อความว่า การกระทำเช่นนี้เพื่อต้องการให้พรรคพลังประชาชนโดนใบแดงมากๆใช่หรือไม่ เพราะถ้าเล่นข่าวมากๆ การอคติก็ต้องมีกันบ้าง อย่ามากดดันกันมาก คนเราไม่ใช่พระอิฐพระปูน มนุษย์ก็มีขีดจำกัดของตัวเองทั้งนั้น มันไม่ไหวแล้ว
ผมคงต้องอธิบายถึงเรื่อง ความเหมาะสม ก่อนที่จะมาถึง ความเป็นกลาง ครับ ในชีวิตของผมนั้นผมน่าจะเป็นคนหนึ่งที่ถูก ขอยืมตัว ไปช่วยราชการหลายครั้งจนเข้าใจถึงกระบวนการขอยืมตัวไปช่วยราชการได้เป็นอย่างดี ขั้นตอนก็ไม่มีอะไรมากอย่างแรกที่ต้องมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การตกลงกันระหว่าง ผู้ยืม กับ ผู้ถูกยืม ว่าจะยืมตัวไปทำอะไร ในลักษณะไหน เช่น ชั่วคราว บางวัน หรือยืมตัวอย่างถาวร เมื่อทั้งผู้ยืมและผู้ถูกยืมตัวตกลงกันได้ในหลักการแล้ว ต่อมาจึงเป็นขั้นตอนทางเอกสารโดยหน่วยงานที่ประสงค์จะยืมตัวจะต้องมีหนังสือไปที่หน่วยงานของผู้ที่ถูกยืมตัวสังกัดอยู่ครับ จากนั้นถ้าหน่วยงานอนุญาตก็มีหนังสือ ส่งตัว เป็นอันจบครบถ้วนกระบวนการขอยืมตัวไปช่วยราชการครับ
ในส่วนที่เกี่ยวกับ บุตร ของกรรมการการเลือกตั้งนั้น ไม่มีใครทราบว่ามีการเจรจากันก่อนหน้าที่จะมีหนังสือขอยืมตัวไปช่วยราชการหรือไม่ แต่ถ้าไม่มีก็คงเป็น เรื่องแปลกมาก และอาจสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการขอยืมตัวโดยมีแผน ทำลาย ความเป็นกลางของผู้ปกครองก็ว่าได้ครับ เพราะฉะนั้น ในเรื่องดังกล่าวหน่วยงานที่ขอยืมตัวออกมายอมรับว่าได้มีหนังสือดังกล่าวจริง หน่วยงานที่ได้รับหนังสือขอยืมตัวคือสำนักงานศาลยุติธรรมก็ได้ออกมายอมรับว่าได้รับหนังสือดังกล่าวจริง จึงเป็นเรื่องของคนไม่กี่คนที่จะต้องออกมาชี้แจงให้สังคมรับทราบว่าเกิดอะไรขึ้น คนที่ว่านี้คงไม่ใช่ ผู้ปกครอง อย่างแน่นอนครับ แต่ที่ถูกควรจะเป็น ผู้ยืม กับ ผู้ถูกยืม ต่างหาก ส่วนผู้ปกครองนั้นเป็นเพียง ผู้รับผล ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยืมตัวเท่านั้นเองครับ เรื่องนี้คำชี้แจงที่มีเหตุผลอาจผ่อนหนักเป็นเบาได้ แต่คงไม่ใช่ คำชี้แจง ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐนำมาลงดังได้กล่าวไปแล้ว เพราะผลของ คำชี้แจง ดังกล่าวทำให้เกิดความ ไม่เป็นกลาง ขึ้นมาแล้วในสายตาของประชาชนซึ่งจะต้องส่งผลทำให้การดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ได้ในวันข้างหน้า อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาในตัวองค์กรในที่สุดครับ คงไม่ลืมนะครับว่าหากสถานการณ์พลิกกลับไปเป็นเช่นเดิมหลังการจัดรัฐบาล ไม่ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นครับ เราเคยเห็นวิบากกรรมที่เกิดขึ้นกับสังคมบ้างกับ การกระทำ ที่เกิดขึ้นและจาก คำพูด ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อองค์กรของตนครับ การมีตำแหน่งและการดำรงตำแหน่งได้ดีเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับครับ มิเช่นนั้นก็คงต้องดำรงอยู่ในตำแหน่งแบบไม่ได้รับการยอมรับซึ่งก็จะไม่เกิดผลดีกับใครทั้งสิ้นครับ
เหนื่อยนะครับ ที่จะต้องมานั่งคิดปัญหาง่ายๆเช่นนี้ ในบางครั้งการไม่มีตำแหน่งก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีอีกสิ่งหนึ่งในชีวิต หากการมีตำแหน่งแล้วคนวิพากษ์วิจารณ์กันว่าไม่สมควรดำรงตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าคนมีความเหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าว !
เมื่อตอนก่อนวันขึ้นปีใหม่ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจได้ขอสัมภาษณ์ผมในเรื่องประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเมือง บทสัมภาษณ์ดังกล่าวลงหนังสือพิมพ์ฉบับวันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2550 วันพุธที่ 2 มกราคม 2551 ซึ่งก็มีหลายคน พลาด การอ่านเนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ผมก็เลยขอบทสัมภาษณ์จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจมาลงไว้ในเว็บไซด์ของเราด้วยครับ ใครสนใจก็ลองอ่านดูได้ใน บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ในส่วนของบทความนั้น เราได้เพิ่มสารบัญบทความของ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เรื่อง สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (กรณีศึกษา case study : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๐)) เพื่อให้ผู้สนใจบทความดังกล่าวได้อ่านและค้นคว้าได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้เรามีบทความนำเสนออีกหนึ่งบทความ คือบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง "เข้าใจการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างง่ายๆ" ขอขอบคุณ คุณชำนาญ ที่ส่งบทความมาให้เราอ่านกันครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|